เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระบบเผด็จการขุนนางพระกับ "ภาวะไร้ความรับผิดชอบ"

บางท่านเห็นคำว่า "ระบบเผด็จการขุนนางพระอาจไม่พอใจว่าผมใช้คำ "แรงไป แต่ที่จริงเป็นคำที่ระบุถึง "ข้อเท็จจริงตรงๆ คือ องค์กรปกครองสงฆ์ปัจจุบันที่เรียกว่า "มหาเถรสมาคม" (มส.) นั้นเป็นองค์กรที่สถาปนาขึ้นโดยกฎหมายเผด็จการยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ที่ตราขึ้นเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับประชาธิปไตย2484 ดังนั้น โครงสร้างองค์กรปกครองสงฆ์จึงไม่สอดรับกับระบบการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบ และวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้น บันไดไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจปกครองคณะสงฆ์คือ "ระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์" พึงเข้าใจว่าการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ทางฝ่ายฆราวาสวิสัยนั้นสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การสถาปนาฐานันดรศักดิ์ของพระสงฆ์ยังคงมีต่อมา ฉะนั้น องค์กรปกครองสงฆ์ที่สถาปนาขึ้นจาก "กฎหมายเผด็จการ + ระบบฐานันดรศักดิ์" จึงเท่ากับ "ระบบเผด็จการขุนนางพระ"

ปัญหาระดับพื้นฐานสำคัญมากที่สุดของระบบที่ว่านี้คือ

ประการแรก ขัดแย้งอย่างถึงรากกับระบบการปกครองสงฆ์สมัยพุทธกาล เพราะระบบสังคมสงฆ์ยุคพุทธกาลเป็น "ระบบรองรับการสลายชนชั้น" ไม่มีฐานดรศักดิ์ แม้พุทธะเองก็สละฐานันดรศักดิ์แล้ว ไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ยกย่องสถานะของพุทธะให้สูงส่งเป็นพิเศษ พุทธะคือศาสดาหรือครูที่ให้เสรีภาพแก่ชาวพุทธทั้งพระและฆราวาสวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบท่านได้ คณะสงฆ์ก็มีความเสมอภาคภายใต้ธรรมวินัย ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือคนนอกวรรณะกาลกิณีอย่างจัณฑาล เมื่อบวชเป็นพระก็มีสถานะเสมอภาคกัน เคารพกันตามลำดับการบวชก่อน-หลัง และแม้จะอาวุโสต่างกันแต่ก็มีเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันและกันตามหลักธรรมวินัยภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
แต่ก็มีบางคนอ้างว่า การแต่งตั้งสมณศักดิ์ในยุคนี้ก็อ้างอิงจากการแต่งตั้ง "เอตทัคคะ" ในสมัยพุทธกาล แต่ความจริงแล้วจะอ้างอิงเช่นนั้นไม่ได้เลย เพราะการมีเอตทัคคะด้านต่างๆ นั้น เป็นการยกย่องความรู้ความสามารถที่เชียวชาญหรือเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของพระภิกษุ เช่น พระอุบาลีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวินัยก็ถูกยกย่องว่าเป็น "เอตทัคคะด้านวินัย" เป็นต้น ผู้ประกาศยกย่องก็คือพุทธะซึ่งมีสถานะเป็นศาสดาหรือครูของพุทธบริษัท แต่สมณศักดิ์นั้นสถาปนาโดยผู้มีอำนาจรัฐ และมีลักษณะเป็นฐานันดรศักดิ์อันควรแก่ความปรารถนาชื่นชมตามธรรมเนียมโลกวิสัย หาใช่สมณวิสัยพึงนิยมยินดีไม่ แต่เมื่อเมื่อมีระบบเช่นนี้ขึ้นมาแล้ว และสมณะก็เกิดไปนิยมยินดีเข้า กระทั่งหลงตัวเองด้วยฐานันดรศักดิ์นั้น จึงเกิดเสียงติฉินจากชาวบ้านมาแต่โบราณว่า เหตุใดบรรดาพระๆ จึงยึดติดใน "ยศช้างขุนนางพระ" กันนักหนา!

ประการที่สอง ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบสังคมสงฆ์สมัยพุทธกาลเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยด้วยปัญญาและเมตตาระหว่างครูกับศิษย์ สมาชิกสังคมสงฆ์มีพันธะรับผิดชอบต่อตนเองด้วยการศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส มีพันธะรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วยการรักษาธรรมวินัยและการเผยแผ่พุทธศาสนา ความสัมพันธ์ดังกล่าวคือการอยู่ร่วมกันแบบครูกับศิษย์ แบบพี่แบบน้อง (ภราดรภาพ) โดยต่างยึดหลักการส่งเสริมการศึกษา/ปฏิบัติธรรมของกันและกันเพื่อการมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ

วัฒนธรรมของสังคมสงฆ์ดังกล่าวนี้ทำให้สมาชิกสังคมสงฆ์รับฟังกันและกัน และเปิดใจรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงจากชาวบ้าน พุทธะไม่บัญญัติวินัยสงฆ์ 227 ข้อ ด้วยการใช้อำนาจเผด็จการ แต่บัญญัติขึ้นจากการรับฟังเสียงท้วงติงจากชาวบ้านและจากสมาชิกสังคมสงฆ์ อีกทั้งยังให้หลักการความมีใจกว้างหรือมี "ขันติธรรม" ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์แก่ชาวพุทธไว้ว่า"หากใครติเตียน โจมตี วิพากษ์วิจารณ์พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ก็อย่าโกรธ แต่พึงมีสติชี้แจงไปตามเป็นจริง"

แต่ระบบเผด็จการขุนนางพระได้สถาปนา "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ขึ้นมาแทนที่ "ความสัมพันธ์ด้วยปัญญาและเมตตา" เปลี่ยนความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์มาเป็นผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง กฎหมายปกครองสงฆ์ได้สถาปนา "ผู้ปกครอง" สงฆ์ตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไปจนถึงประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ให้มีสถานะเป็น "เจ้าพนักงานของรัฐ" ที่มีอำนาจตามกฎหมายบัญญัติ และภายในระบบนี้มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่ง ใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่าง ไม่ใช่ระบบการปรึกษาหารือดังวัฒนธรรมสงฆ์แบบพุทธกาล

ดังนั้น ระบบสังคมสงฆ์ปัจจุบันจึงเป็นระบบที่ไม่เปิดใจรับฟังกันและกัน มิใยต้องพูดถึงการเปิดใจรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ ปัญญาชน นักวิชาการ หรือชาวบ้าน เพราะคณะสงฆ์ยึดติดในวัฒนธรรมทางความคิดว่า ตนเองมีทั้งอำนาจทางกฎหมาย อำนาจความเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา และอำนาจทางศีลธรรมจนเกินกว่าที่จะเปิดใจรับฟังเสียงของความเห็นต่าง หรือเสียงท้วงติงข้อผิดพลาดบกพร่องใดๆ จากชาวบ้านผู้อยู่ในสถานะต่ำกว่าทุกด้าน

ประการสุดท้าย ด้วยปัญหาระดับรากฐานในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมอำนาจ วัฒนธรรมทางความคิดดังกล่าว ทำให้ระบบเผด็จการขุนนางพระตกอยู่ใน "ภาวะไร้ความรับผิดชอบ"หมายความว่า การไร้ความรับผิดชอบ หรือ "ความไม่รับผิดชอบ" ไม่ใช่แค่เรื่องของความจงใจที่จะไม่รับผิดชอบ แต่เป็น "ภาวะ" "สภาพ" หรือ “nature” ของระบบนี้เลยทีเดียว ซึ่งเห็นได้จากการไม่สามารถแก้ปัญหาภายในของตนเองได้โดยลำพัง (ต้องคอยพึ่งอำนาจรัฐแทบทุกเรื่อง) ตั้งแต่ปัญหาความประพฤติผิดของพระเป็นรายบุคคล ปัญหาการจัดการทรัพย์สิน ผลประโยชน์จากการเช่าที่ธรณีสงฆ์ การกำหนดนโยบายเผยแผ่ธรรมที่ชัดเจนเป็นประโยชน์แก่สังคมและอื่นๆ

โดยเฉพาะการศึกษาสงฆ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของพระภิกษุสามเณรให้มีความสามารถเผยแผ่ธรรมอย่างข้าใจปัญหาและเข้าถึงสังคมสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า การศึกษาภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของคณะสงฆ์คือ "ระบบการศึกษานักธรรม-บาลี"นั้น (ยกเว้นมหาวิทยาลัยสงฆ์) เป็นระบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรและตำราเรียนเลย

ระยะหลังมีการพูดกันหนาหูว่า การจัดสอบนักธรรม-บาลีในปัจจุบันมีการทุจริตแบบโจ่งแจ้งชนิดที่เปิดตำราลอกกันในห้องสอบ หรือกระทั่งกรรมการคุมสอบเขียนคำเฉลยให้ดูกันบนบอร์ดหน้าห้องสอบเลยทีเดียว ปัญหาพวกนี้เป็นที่รู้ๆ กันในวงการสงฆ์ แต่ก็ไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับปัญหาการบวชภิกษุณี-สามเณรี คณะสงฆ์ก็เลี่ยงที่จะรับผิดชอบโดยปฏิเสธการรับรองสถานะของภิกษุณี-สามเณรีที่บวชมาจากศรีลังกา เสมือนว่าพระผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีตัวตนในสายตาคณะสงฆ์ไทย ขณะที่มีการรณรงค์ให้จัดบวชพระผู้ชายเป็นแสนรูปทั้งในเทศกาลเข้าพรรษาและเทศกาลวันสำคัญต่างๆ เสมือนว่าการบวชมีความหมายอย่างยิ่งกับชีวิตทางธรรมและการสืบทอดพุทธศาสนา แต่กรณีที่สตรีมีศรัทธาจะบวชกลับบอกว่าเป็นฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องบวช บางทีผมก็อดถามไม่ได้ว่า ท่าทีเช่นนี้ของคณะสงฆ์คือท่าทีที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็น "คนชายขอบทางพุทธศาสนา" และจะผลักไสให้พวกเขาไปนับถือศาสนาอื่นหรืออย่างไร

กรณีที่ไม่รับรองสถานะของภิกษุณี-สามเณรี อย่าอ้างเรื่องธรรมวินัยเลย ถ้าอ้างธรรมวินัยเถรตรงกันจริงๆ พระรับเงิน รับสมณศักดิ์ บวชหน้าไฟ บวชแทนคุณ บวชเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ ก็ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะวินัยไม่ได้บัญญัติไว้ ที่บัญญัติไว้ตรงๆ เลยคือให้ "บวชเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง" เท่านั้นครับ ภายหลังธรรมยุตินิกายก็ตัดคำว่า"บวชเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง (นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย)” ออกไปจากคำกล่าวในพิธีบวชแล้ว ทำไมคณะสงฆ์ทำได้ครับ เพราะนั่นคือการ "ตัดจุดประสงค์หลัก" ของการบวชในธรรมวินัยของพุทธะออกไปเลย แต่กรณีที่สตรีจะบวชปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์กลับไม่ยอมรับสิทธิและสถานะความเป็นภิกษุณีของพวกเขา นี่คือ "ตลกร้าย"ภายในวงการสงฆ์ไทยภายใต้ระบบเผด็จการขุนนางพระ

ฉะนั้น การปฏิรูปใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมทางความคิดของสงฆ์ไทย จึงเป็นเรื่องจำเป็น มิเช่นนั้นสถาบันพุทธศาสนาเชิงนามธรรมที่อยู่ภายใต้ "ภาวะไร้ความรับผิดชอบ" ของระบบเผด็จการขุนนางพระรังแต่จะอ่อนแอ จนเสื่อมสิ้นพลังทางปัญญาและจิตวิญญาณในที่สุด!

2 ความคิดเห็น:

  1. เสียดายที่บทความนี้เขียนขึ้นก่อนเหตุการณ์ ๆ หนึ่งในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา
    เพราะความมักง่ายการเมือง จึงมีการแต่งตั้งพระรูปหนึ่งซึ่งบวชเพียง 2 สัปดาห์ขึ้นเป็น "พระครูปลัด" เพียงเพราะพระรูปนั้นเป็นน้องชายของผู้มีอำนาจ...

    หรือนี่เป็น "การปฏิรูป" วงการสงฆ์ที่เราถวิลหา ?

    ตอบลบ
  2. วิธีใช้ spaceplus 888 ควาสำหรับครอบครัวที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด การใช้งาน spaceplus 888 PG SLOT รวดเร็วเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา