ในเรื่องความหมายของการเมือง และการให้ความหมายของการเมืองอย่างสอดคล้องกับความหมายของธรรมะ ท่านพุทธทาสกล่าวสรุปไว้อย่างชัดเจนว่า
“ขอ ให้นึกถึงความหมายของ ธรรมะ ใน 4 ความหมาย : ธรรมะคือปรากฏการณ์ทั้งปวง, ธรรมะคีอกฎของธรรมชาติ, ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ, ธรรมะคือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ, นี่มันเกี่ยวกับโลกนี้อยู่อย่างแยกกันไม่ออก.
“บ้านเมือง ทั้งหลาย นี่คือปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ; เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ; แม้เป็น ปัญหาทางการเมือง, มัน เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ. มนุษย์มี หน้าที่ ที่จะต้องสะสางมัน : เรื่องการเมือง เรื่องปฏิบัติทางการเมือง นี้ก็ เพื่อจะสะสางปัญหาของมนุษย์ให้หมดไป, คือขจัดความทุกข์ ความยาก ลำบาก ให้มันหมดไป แล้วในที่สุดก็ ได้รับความสงบสุข ซึ่งก็ เป็นธรรมะอีกความหมายหนึ่ง.
“ฉะนั้นทุกคนมันหลีกไปจากกฎเกณฑ์อันนี้ไม่ได้ ; เราจะหลีกไปจากการกระทำ ที่กำลังกระทำอยู่เพื่อสิ่งนี้ก็ไม่ได้. ขอให้ มองดูในแง่ลึก ถึงขนาดนี้เป็นอย่างน้อย ก็จะรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่า การเมือง นั้น มัน มีอยู่แก่คนทุกคน ; กระทั่งว่าคนทุกคน มีส่วนแห่งการเป็นนักการเมืองไม่มากก็น้อย. นี้เป็นสิ่งที่ต้องทบทวน ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว.”
(เครื่องหมายวรรคตอน และการเน้นตัวเอนตัวหนา ในข้อความข้างต้นนี้ ผมคงไว้ตามต้นฉบับของท่านพุทธทาสอย่างเคร่งครัด)
และจากแนวการพิจารณาดังกล่าวนี้ ท่านพุทธทาสจึงให้คำจำกัดความ “การเมือง” ว่า หมายถึง “ระบบการจัดหรือการกระทำ เพื่อคนจำนวนมากจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา” คำว่า “อาชญา” ในที่นี้ หมายถึง การใช้ความรุนแรง ดังนั้น วลีที่ว่า “โดยไม่ต้องใช้อาชญา” ผมเข้าใจว่า ย่อมหมายถึงสิ่งที่นักรัฐศาสตร์และนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมาก เรียกว่า “การไม่ใช้ความรุนแรง” หรือ “สันติวิธี” หรือ “non-violence” นั่นเอง
ดังที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ว่าคำจำกัดความดังกล่าวนี้ ทำให้การเมือง มีความหมายครอบคลุมเป็นอย่างยิ่ง เพราะ “ระบบการจัดหรือการกระทำ” นั้น เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือพื้นที่ของการกระทำของมนุษย์ได้มากมาย ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่กับเฉพาะ รัฐ รัฐบาล หรือนักการเมือง ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อความข้างต้นและที่เคยกล่าวมาในครั้งก่อนๆ เรายังเห็นได้อีกว่า ท่านพุทธทาส ยกเอาสถานะของ “การเป็นนักการเมือง” ขึ้นเป็นนามธรรมอย่างกว้าง ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวนักการเมือง หรือบุคคลที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง หรือเล่นการเมือง ตามรูปธรรมที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในระบอบการเมืองปัจจุบัน ดังนั้น คนทุกคนจึงมีและต้องมีความเป็นนักการเมือง ไม่มากก็น้อย
ใน “ธรรมะกับการเมือง” เมื่อท่านพุทธทาสกล่าวถึง นักการเมือง คุณสมบัติของนักการเมืองที่ดี ไปจนถึง “นักการเมืองสัตบุรุษ” “นักการเมืองโพธิสัตว์” หรือ “นักการเมืองของพระเจ้า” ท่านจึงไม่ได้มุ่งไปที่นักการเมืองที่เราเห็นๆ กันอยู่ทั่วไป แต่เน้นที่นามธรรมของความเป็นนักการเมือง ที่คนทุกคน สร้างให้เกิดขึ้นได้ในตัวเองได้ และเป็นบรรทัดฐานให้กับความเป็นผู้นำในทุกกลุ่มทุกสังคม
ผมเห็นว่า หากเรา “แปล” ความหมายหรือคำจำกัดความของการเมืองที่ท่านพุทธทาสให้ไว้นี้ ตามภาษาทางการเมืองหรือรัฐศาสตร์ร่วมสมัย อาจกล่าวได้ว่า การเมืองตามความหมายนี้ ใกล้เคียงกับแนวความคิดเรื่อง “ประชาสังคม” และ “ทุนทางสังคม” เป็นอย่างยิ่ง
ประชาสังคม หรือ civil society หมายถึง การรวมตัว การจัดระบบความสัมพันธ์ การจัดการทรัพยากร การสร้างวิถีชีวิตและระบบการแก้ไขปัญหาของสังคม โดยสมาชิกของสังคมหนึ่งๆ ในลักษณะที่ไม่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ และไม่ได้อิงอาศัยกลไกตลาด หรือการซื้อขายด้วยเงินตรา
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในทุกสังคม ล้วนมีวิธีการในการรวมตัว ประสานงานเพื่อจัดการสิ่งต่างๆ และแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่สามแนวทางใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ อำนาจรัฐ กลไกตลาด และประชาสังคม การเป็น “สังคม” ที่ไม่ได้อิงอาศัยอำนาจรัฐและกลไกตลาดเป็นหลักนั้น ย่อมรวมอยู่ในประชาสังคมทั้งสิ้น แม้จะมีขนาดหรือความเข้มแข็งแตกต่างกันออกไปก็ตาม
ประชาสังคมจึงเริ่มตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุด อย่างครอบครัว เครือญาติ กลุ่มมิตรสหาย ชุมชนและองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับกลาง เช่น วัด (และเครือข่ายศาสนิกชนที่สัมพันธ์กับวัดนั้นๆ) โรงเรียน (หมายถึงส่วนที่เป็นการรวมตัวกันของครู นักเรียน ผู้ปกครอง อย่างสมัครใจ) องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (NGO) มูลนิธิ สถาบัน เครือข่ายหรือสมาคมของผู้ที่มีความสนใจ หรือเจตนารมณ์บางอย่างร่วมกัน รวมทั้งสหกรณ์ สหภาพแรงงาน และอื่นๆ
ส่วนระดับใหญ่ ก็เช่น สมัชชาระดับประเทศของผู้เรียกร้องในสิ่งเดียวกัน องค์กรร่วมของสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ สมาคมนักวิชาการซึ่งครอบคลุมในสาขาวิชาหนึ่งๆ การรวมตัวเป็นองค์กรอย่างกว้างขวางเพื่อต่อสู้ทางการเมือง หรือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยสมัครใจ เครือข่ายผู้ฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยสื่อมวลชนสมัยใหม่ เช่น ผ่านวิทยุ โทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เน็ต เป็นต้น
และในระดับใหญ่กว้างขวางออกไปอีก ประชาสังคมจำนวนไม่น้อยยังมีลักษณะของการเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นระดับระหว่างประเทศหรือระดับโลกเลยทีเดียว เช่น องค์การสาธารณกุศล องค์การดำเนินกิจกรรมทางสังคมการและสิ่งแวดล้อม หรือการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการค้าเสรี เป็นต้น
แต่การรวมตัวกันอย่างที่กล่าวมานี้ ใช่ว่าจู่ๆ วันดีคืนดี จะนึกรวมตัวกันขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้หรอกครับ จำต้องอาศัยพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องในระยะเวลาและพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องมีอัตลักษณ์บางประการร่วมกัน มีทั้ง “ภาษา” แนวความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกร่วม ความคุ้นเคยสนิทสนม มากบ้างน้อยบ้าง
ยิ่งถ้ามีความสืบเนื่องผ่านชุมชน จารีต ขนบประเพณี แบบแผนของการกระทำและความสัมพันธ์ ตลอดจนวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ก็จะทำให้การรวมตัวเพื่อจัดการวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหาร่วมกันในลักษณะ “ประชาสังคม” มีความเป็นไปได้และมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
พื้นฐานทางสังคมที่เป็นศักยภาพให้กับประชาสังคมนี้ คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ทุนทางสังคม” หรือ social capital นั่นเอง (ซึ่งไม่ได้หมายถึงทุนในแบบเงินๆ ทองๆ เป็นหลักนะครับ เพราะความสำคัญของทุนในแบบนั้น เป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในกลไกตลาด ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม)
ประชาสังคม และ ทุนทางสังคม จึงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน การมีทุนทางสังคมย่อมทำให้ประชาสังคมเกิดขึ้นได้ง่าย และดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็ง ในทำนองกลับกัน ประชาสังคมที่เข้มแข็งย่อมทำให้ทุนทางสังคมสืบเนื่องยั่งยืน มีพลวัตสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป
แต่ทุนทางสังคม หรือการรวมตัวกันในประชาสังคม มีลักษณะที่ต้องแยกแยะให้ชัดเจนอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การไม่ใช้ความรุนแรง หรือหากกล่าวตามคำของท่านพุทธทาส คือการไม่ใช้อาชญา
ทั้งนี้เพราะมาเฟีย กลุ่มอาชญากร เครือข่ายค้ามนุษย์ค้ายาเสพติด แก๊งซิ่ง ก๊วนอันธพาล บ่อนการพนัน เหล่านี้ ไม่อาจถือเป็นประชาสังคมหรือทุนทางสังคมได้ คำว่า civil ซึ่งแปลเป็นไทยในความหมายของความเป็นพลเมือง หรือประชาชนนั้น ยังหมายถึง ความมีอารยะ มีหลักจริยธรรมหรือศีลธรรมบางประการกำกับอยู่ด้วย
ในแง่นี้ ประชาสังคม จึงต้องเป็น “อารยะสังคม” ด้วยเช่นกัน และทุนทางสังคม จึงต้องเป็นทุนที่มีบรรทัดฐานทางศีลธรรมประกอบอยู่ด้วย ส่วนใครจะแย้งว่า แม้แต่หมู่โจรก็ยังมีสัจจะได้ ก็จริงอยู่หรอกครับ แต่สัจจะในหมู่โจรนั้นตั้งอยู่ได้ไม่นาน ครั้นพอละเมิดสัจจะกัน บางทีแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีวิธีจัดการกันอยู่วิธีเดียว คือ ทุบหรือกำจัดทิ้งไปจากโลกนี้เสีย
ด้วยความเข้าใจที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมจึงเห็นว่า “การเมือง” ตามคำจำกัดความที่ท่านพุทธทาสให้ไว้ โดยเชื่อมโยงกับความหมายของธรรมะ เน้นการไม่ใช้อาชญาหรือความรุนแรง ขยายขอบข่ายของมันให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งขยายรวมเอาทุกๆ คนเข้าไว้ ในฐานะที่เป็น “นักการเมือง” จึงมีนัยของ “ประชาสังคม” และ “ทุนทางสังคม” อยู่เป็นพื้นฐาน
หากจะลอง “แปล” คำจำกัดความของ “การเมือง” ดังที่ท่านพุทธทาสให้ไว้ เป็นภาษาร่วมสมัย ผมคิดว่า น่าจะกล่าวได้ว่า
“การเมือง คือ การรวมตัวกันของผู้คนในสังคม เพื่อจัดระบบการกระทำและความสัมพันธ์ด้านต่างๆ อันจะยังผลให้คนจำนวนมากอยู่ร่วมกันโดยปราศจากปัญหา ด้วยวิธีการไร้ความรุนแรง”
เมื่อแปลความออกมาเช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ชัดว่า แนวความคิดของท่านพุทธทาส ยัง “เข้าประเด็น” ร่วมสมัยของเราเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าท่านจะนำเสนอมาตั้งแต่ปี 2519 โน้นก็ตาม
ความเป็นมาของการเมือง
แม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติ การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เกี่ยวข้องกับศีลธรรม และเป็นระบบจัดการกับปัญหาในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า การเมืองในแบบที่สังคมมนุษย์จำเป็นต้องมี และจำเป็นต้องจัดทำขึ้นนี้ มีอยู่แล้วตามธรรมชาติแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ได้หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอไป และมิได้หมายความว่า ศีลธรรมของมนุษย์จำเป็นต้องมีลักษณะเป็น “การเมือง” ตามแบบที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทัศนะของท่านพุทธทาส ยุคสมัยแห่ง “การเมือง” หรือการที่มนุษย์จำต้องมีการเมืองนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้มีมาพร้อมกำเนิดสังคมมนุษย์ ดังที่ท่านกล่าวว่า “ระบบการปกครอง อย่างนี้มันเพิ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นมาพร้อมกันกับมนุษย์”
หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า แม้คนเราต่างมีความรู้สึกเกี่ยวข้องกับการเมือง และมีความเป็นนักการเมืองอยู่ในตน มากบ้างน้อยบ้าง แต่ความรู้สึกและภาวะดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยบางอย่าง ที่เกิดขึ้นตาม “วิวัฒนาการ” หรือความเป็นมาในภายหลังของสังคมมนุษย์เท่านั้น
ท่านพุทธทาสจึงวิเคราะห์อธิบายความเป็นมาของการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากอดีต มาจนปัจจุบัน จนถึงการขยายตัวของการเมืองครอบคลุม ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันทั่วโลก และตามมาด้วยการเมืองในแบบที่ “สกปรก” ที่พบเห็นได้ง่ายโดยทั่วไป
คงเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักศึกษาพุทธศาสนาว่า คำอธิบายเกี่ยวกับกำเนิดมนุษย์ สังคมมนุษย์ ทรัพย์สินเอกชน การเมือง รัฐ ผู้ปกครอง และการแบ่งงานกันทำในสังคมนั้น มีอยู่ในพระสูตรที่ชื่อว่า “อัคคัญญสูตร”
แม้ว่าท่านพุทธทาสจะไม่ได้เอ่ยชื่อเรียก และเล่ารายละเอียดของพระสูตรบทนี้ แต่ท่านก็ใช้เค้าโครง คำอธิบายและหลักการของ “อัคคัญญสูตร” เป็นจุดเริ่มต้น
หากจะกล่าวอย่างย่นย่อ ในพระสูตรบทนี้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายความเป็นมาของสังคม การเมือง ความเป็นกษัตริย์ และระบบวรรณะ ให้กับสามเณรสองรูปฟัง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความไร้แก่นสารของความยึดติดถือตัวในวรรณะ จนก่อให้เกิดปัญหาต่อบุคคลและส่วนรวม อย่างที่ดำเนินอยู่ในสังคมอินเดียสมัยพุทธกาล
อัคคัญญสูตร กล่าวถึง สิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่า “วิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์” ซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยต้นเหตุจากการลองลิ้มรส “วัตถุ” ภายนอกเท่าที่ปรากฏมีอยู่ในวิวัฒนาการของธรรมชาติ และเริ่มยึดติดในผัสสะ
การริเริ่ม “เสพ” สิ่งที่ปรากฏตามธรรมชาติจนเกิดความเพลินในรสชาตินี้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของคนบางคน จากนั้นก็มักจะแพร่ขยายไปสู่คนหมู่มากได้โดยง่าย และเมื่อกระทำกันไปในคนหมู่มาก ก็ย่อมตามมาด้วยปัญหา ทั้งต่อสภาพของธรรมชาติภายนอก สภาพจิตภายใน และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของมนุษย์
เพราะฉะนั้น เป็นธรรมดาของสังคมมนุษย์ ที่จะมีบางคนลองหาบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้นรสชาติทางผัสสะ (ความเอร็ดอร่อยทางอายตนะทั้งหลาย) ครั้นแล้วก็จะมีผู้ลองกระทำตาม จนในที่สุดก็เลียนแบบพฤติกรรมนี้กันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นกระแสยึดติด ต้องหามาบริโภค หามาสร้างความเอร็ดอร่อยทางอายตนะมากขึ้นๆ เรื่อยๆ
จนในที่สุดสิ่งที่หามากระตุ้นนั้น ก็เริ่มขาดแคลน ขณะเดียวกันผลของการบริโภค ก็จะก่อให้เกิดความแตกต่างทางร่างกาย ความเป็นอยู่ ฯลฯ ออกไปด้วย ซึ่งก็จะตามมาด้วยการแบ่งพวกพ้อง ยึดติดในอัตลักษณ์ที่มีร่วมกันหรือต่างกัน นำไปสู่การดูหมิ่นเหยียดหยามกัน การแตกแยก และการทะเลาะวิวาทในที่สุด
เมื่อสิ่งที่เคยเสพเคยบริโภคขาดแคลนลง มนุษย์ก็จะเริ่มหาสิ่งใหม่จากธรรมชาติ (หรืออีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติก็จะแปรเปลี่ยนให้กำเนิดสิ่งใหม่ออกมา) แล้วมนุษย์ก็ลองแสวงหามาตอบสนองความต้องการรสชาติทางผัสสะ หมุนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวิวัฒนาการอยู่เช่นนี้
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในอัคคัญสูตรนั้น อยู่ตรงที่ว่า เมื่อถึงช่วงหนึ่งของวิวัฒนาการ มีคนบางคนเริ่มสะสมผลผลิตจากธรรมชาติไว้เป็น “ส่วนเกิน”
ครั้นเมื่อมีคนหนึ่งเริ่มสะสมส่วนเกิน ก็เป็นธรรมดาที่คนอื่นจะเริ่มทำตามบ้าง จากนั้นก็กลายเป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบกันไปทั่ว แล้วก็เริ่มขยายการสะสมส่วนเกินนั้นมากขึ้นตามลำดับ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด ฯลฯ
ในที่สุดจึงเกิดความขาดแคลน ชนิดที่ไม่อาจรอคอยผลิตผลตามธรรมชาติอีกต่อไปได้ จึงต้องมีการแบ่งที่ดินและผลผลิตจากธรรมชาตินั้นให้เป็น “กรรมสิทธิ์” ของใครของมัน ไม่อาจล่วงละเมิดกันได้ ทรัพย์สินส่วนตัวหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเริ่มปรากฏมีขึ้น
กระนั้นก็ตาม ความต้องการสะสมส่วนเกินก็ยังไม่หมดไป จึงเกิดการ “สงวน” ส่วนของตนไว้ ไม่บริโภค แต่กลับไปลักเอาของผู้อื่นมาบริโภค เป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น นี่เองที่เป็นที่มาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม หรือถ้ากล่าวอย่างสมัยปัจจุบัน ก็คือ ปัญหาของการจัดสรรทรัพยากร และปัญหาของการสะสมส่วนเกิน ซึ่งย่อมจบลงด้วยการต้องเอารัดเอาเปรียบกัน และความขัดแย้งกันในที่สุดนั่นเอง
ความขัดแย้งนี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ใช้กำลังเข้าทำร้าย ประหัตประหารกัน จนถึงกับ “รุมประชาทัณฑ์” กันก็มี เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงหรือรอดพ้นจากสภาวะขัดแย้งอย่างรุนแรงเข้าขั้น “สงคราม” เช่นนี้ คนเราจึงต้องมาทำความตกลงกัน เพื่อที่จะตั้งใครสักคนขึ้นมา เพื่อยับยั้งการลักขโมย ระงับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และลงโทษผู้กระทำความผิด
นี่คือที่มาของ “กษัตริย์” หรือ “ราชา” หรือ “ผู้ปกครอง” ซึ่งก็คือที่มาของ “รัฐ” และ “การเมือง” นั่นเอง และความเป็นกษัตริย์นี้ จึงนับเป็นการ “สมมติ” ขึ้น กล่าวคือ เกิดจากมติร่วมกันของผู้คนในสังคมหรือประชาคม มิได้มาจากชาติกำเนิด หรือจากการดลบันดาลของเทพยดาฟ้าดินแต่อย่างใด
อาจกล่าวได้ว่า ตามคำอธิบายของอัคคัญญสูตร รัฐ การเมือง การปกครอง และผู้ปกครอง ก็คือผลลัพธ์ของการทำ “สัญญาสังคม” หรือ “สัญญาประชาคม” (social contract) ของบรรดาสมาชิก เพื่อที่จะลดทอนและขจัดข้อขัดแย้งและความรุนแรงอันสืบเนื่องมาจากการมีทรัพย์สินเอกชน และความต้องการสะสมส่วนเกิน จนนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบกันนั่นเอง
ที่ผมกล่าวมานี้ เป็นเนื้อหาโดยย่อของพระสูตรบทนี้ และนักศึกษาพุทธศาสนา รวมทั้งผู้ศึกษาประวัติการปกครองหรือกฎหมายของรัฐที่ผู้ปกครองเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็พบว่า นี้เป็นเรื่องราวและหลักการที่มักปรากฏอยู่ทั่วไป ในการอธิบายความชอบธรรมของผู้ปกครอง และกำเนิดของกฎหมายหรือกระบวนการจัดการปกครอง
ท่านพุทธทาสได้หยิบยกเอาเนื้อหาของพระสูตรบทนี้มากล่าวถึงโดยคร่าว และเสนอแนวความคิดประการหนึ่งเพื่อบัญญัติเรียกสภาวะบางอย่าง
สภาวะนี้คือ การที่มนุษย์ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการเมือง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางระงับข้อขัดแย้งหรือปัญหา อันสืบเนื่องมาจากการจัดสรรและแย่งชิงทรัพยากร ทั้งนี้เพราะการสะสม “ส่วนเกิน” นั้นมิได้มีอยู่ หรือมีก็มิได้ถึงขั้นโลภขั้นแสวงประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการเอารัดเอาเปรียบกัน
สภาวะดังกล่าวท่านใช้คำว่า “สนันตนธรรม” และกล่าวว่า
“สนันตนธรรม นี้คือว่า ธรรมที่มีมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ เมื่อสมัยที่มนุษย์ไม่มีคำว่า ‘การเมือง’ ใช้”
สนันตนธรรมจึงเป็นเสมือนธรรมของชุมชนหรือสังคมดั้งเดิมตั้งแต่โบราณกาล ที่ความยึดติดในทรัพย์สิน ในการสะสมส่วนเกิน ในการแย่งชิงทรัพยากร และการลักขโมยหรือเอารัดเอาเปรียบกัน ยังไม่ปรากฏแพร่หลาย ทั้งนี้เพราะเหตุปัจจัยภายนอกจากธรรมชาติก็ดี และเหตุปัจจัยภายในอันเนื่องมาแต่ความอยาก ความยึดติด หรือ “วัตถุนิยม” ยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้เกิดขึ้น ก็ไม่มากพอที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และอาจถูกบรรเทาระงับลงได้ไม่ยากนัก
ด้วยเหตุนี้ ท่านพุทธทาสจึงเชื่อว่า สังคมมนุษย์นั้นมีกำเนิดและความเป็นมาที่ดีแต่แรกเริ่ม และหากเรามองย้อนกลับไป ในบางที่บางแห่ง แม้จะไม่ต้องย้อนให้ไปไกลในอดีตมากนัก เราก็อาจพบเห็น “สนันตนธรรม” นี้ดำรงอยู่ได้
ท่านจึงเห็นว่า “ทีแรกเราดีอยู่แล้ว เราเพิ่งเลวทีหลัง”
“ความเลว” ที่เกิดขึ้นและขยายตัว “ทีหลัง” นี้ มีลักษณะเป็นอย่างไร และนำมาซึ่งการเมืองในแบบที่เรามีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร เป็นประเด็นสำคัญยิ่ง
และคำอธิบายของท่านพุทธทาสต่อประเด็นนี้ เป็นการวิพากษ์การเมืองปัจจุบัน ทั้งในระดับย่อย ไปจนถึงระดับโลก ได้อย่างแหลมคมยิ่ง
วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา