ทฤษฎี โกลาหล Seven Life Lessons of Chaos
Seven Life Lessons of Chaos : Spiritual wisdom from the science of change
ผู้แต่ง จอห์น บริกกส์ และ เอฟ เดวิด พีต
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ประเภท วิทยาศาสตร์ จิตวิญญาณ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ เพเรนเนียล
แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล
ในทางวิทยาศาสตร์นั้น เชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนมีกำเนิดมาจากการระเบิดครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “บิ๊กแบง” ไม่กี่วินาทีหลังการระเบิดนั้น มีอนุภาคจำนวนมหาศาลบังเกิดขึ้น ต่างอยู่อย่างกระจัดกระจายเต็มไปหมด ก่อนจะก่อรูปรวมตัว กลายเป็นอนุภาคขนาดใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น กลายเป็นดวงดาว โลก สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ความเป็นระเบียบที่ปรากฏขึ้นในความรับรู้ของเราในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลของภาวะแห่งความปั่นป่วนยุ่งเหยิงนี้
ปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายต่อหลายอย่าง ดังเช่น ฟ้าผ่า เฮอริเคน แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล ดูแล้วเหมือนเป็นสิ่งที่ปราศจากโครงสร้างแน่นอน และดูเหมือนปราศจากกฏเกณฑ์ แต่หากใช้เวลาในการสังเกตดูสักระยะหนึ่งก็อาจพบได้ว่า สิ่งเหล่านี้มีโครงสร้างที่ซ้ำๆ กัน เรียกได้ว่ามีระเบียบบางอย่างซ่อนอยู่ในการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เหล่านั้น
ปรากฏการณ์ไร้ระเบียบเหล่านี้อยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์มายาวนาน และมีความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว จนในที่สุดก็ก่อร่างขึ้นเป็นชุดทฤษฎีต่างๆ มีทั้ง ทฤษฎีโกลาหล ทฤษฎีซับซ้อน ทฤษฎีระบบ ทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีก องค์ความรู้เหล่านี้แรกเริ่มเดิมทีถูกมองว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียม แต่เมื่อเวลาผ่านไปสามสิบกว่าปี ก็มีนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจแนวคิดเหล่านี้มากขึ้น ทั้งมีหนังสือหลายเล่มตีพิมพ์เรื่องดังกล่าว
นักเขียนมือทองอย่างจอห์น บริกกส์ และนักฟิสิกส์ทฤษฎีชั้นยอดอย่างเอฟ เดวิด พีต ซึ่งเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่เล่ม Turbulent Mirror หนังสือว่าด้วยผลกระทบของทฤษฎีโกลาหลต่อแนวคิดทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ และกลายเป็นหนังสือขายดีประเภทงานสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ในยุคแรกๆ ที่ได้รับการยกย่องค่อนข้างมาก ส่วนเล่ม Seven Life Lessons of Chaos: spiritual wisdom from the science of change ถือเป็นภาคขยายว่าด้วยการเชื่อมโยงแนวคิดจากทฤษฎีโกลาหลกับวิถีการดำเนินชีวิตปรกติ เหมาะกับนักอ่านทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในโลกทัศน์ทางจิตวิญญาณ ผ่านปัญญาญาณของวิทยาศาสตร์ใหม่
หนังสือหนาราวสองร้อยหน้านี้ถือว่าไม่หนาและไม่บางจนเกินไป ท่วงทำนองในการเขียนเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน มีการยกตัวอย่างหลากหลายมาประกอบเพื่ออธิบายทฤษฎี ทำให้เข้าใจเนื้อหาได้แจ่มชัดขึ้น หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการถอดบทเรียน ๗ ข้อ จากทฤษฎีโกลาหลมาปรับใช้เป็นทัศนะทางจิตวิญญาณ จึงแบ่งออกเป็น ๗ บท จาก ๗ บทเรียน ดังนี้
๑. เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์
๒. ใช้พลังแห่งปีกผีเสื้อ
๓. ไปสู่ความเลื่อนไหล
๔. ค้นหาความหมายระหว่างกลาง
๕. มองเห็นศิลปะของโลก
๖. อยู่กับเวลา
๗. หวนคืนสู่องค์รวม
ทั้งนี้ มีบทนำและบทตาม ทำหน้าที่เสมือนวงเล็บเปิดวงเล็บปิด อยู่ที่หัวและท้ายเล่ม เพื่อช่วยนำและสรุปประเด็น
ในช่วงแรก นักเขียนพาเราไปพบกับโลกของความโกลาหลซึ่งอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความตระหนักรู้ว่า ความโกลาหลเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสรรพสิ่ง มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เช่นเดียวกับในชีวิต ในโลกของกระบวนทัศน์แบบเก่า ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ การวัดปริมาณ ความสมมาตร และความเป็นกลไก แต่ในโลกของความโกลาหล ทุกสิ่งปราศจากการควบคุม ปราศจากความคาดหมาย วัดปริมาณไม่ได้ ไม่มีรูปทรงสมบูรณ์พร้อม และมีแต่ความไหลเลื่อนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
ทฤษฎีโกลาหลแม้มีอายุไม่มากนัก หากได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดทางวิทยาศาสตร์หลากสาขา และกำลังขยับไปสู่การเป็นอุปลักษณ์ – metaphor ทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์โดยรวม ท่าทีของเราต่อความรู้ใหม่นี้ จึงควรประกอบไปด้วยความตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ควรหันมาชื่นชม และพิจารณาให้ให้เข้าถึงความจริงที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น
บทเรียนแรก: จงเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ – นักเขียนชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่มีผู้คนมีต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ว่า เป็นเรื่องของพรสวรรค์ เป็นความบ้าคลั่ง ใช้กับเรื่องศิลปะเท่านั้น และต้องเป็นของใหม่ แต่แท้จริงแล้วปรากฏการณ์ทั้งหลายในธรรมชาติล้วนเป็นความโกลาหล แต่สรรพสิ่งต่างก็มีการจัดการตัวเองได้อย่างเหมาะสม ฉะนั้น พวกเราทุกคนจึงประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยพื้นฐานของธรรมชาติเดิมนี้
การเข้าถึงความจริง จึงเป็นการนำพาตนเอง เข้าไปสู่ภาวะแห่งความลังเลสงสัย ไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความสับสน จนกระทั่งถึงจุดที่จะนำพาตนเองไปสู่อิสรภาพ ผ่านจิตใจที่กล้าเสี่ยง พร้อมรับความผิดพลาด มองเห็นโอกาสรายรอบตัว ในภาวะที่ความคิดสร้างสรรค์บังเกิดขึ้น ก็จะประกอบด้วยความแจ่มใส ชัดเจน ปราศจากความกังวล ดื่มด่ำกับงาน เวลาหายไป ตัวตนหายไป หลอมรวมไปสู่สรรพสิ่ง และสัมผัสกับสัจจะที่ไม่อาจอธิบายด้วยถ้อยคำ เช่นเดียวกับคนทำขนมปังที่ทำขนมปังชนิดเดียวกันเพื่อขายทุกเช้า ขนมปังเหมือนเดิม วิธีการเหมือนเดิม แต่รสชาติดีทุกครั้ง
บทเรียนที่สอง: ใช้พลังแห่งปีกผีเสื้อ – นักเขียนเล่าเรื่องเมื่อครั้งที่เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์กำลังทดสอบโปรแกรมทำนายสภาพอากาศ เขาพบว่าการเปลี่ยนตัวเลขทศนิยมเพียงเล็กน้อย กลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมหาศาล การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่นี้กลายเป็นที่มาแรกเริ่มของทฤษฎีโกลาหล และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องอำนาจ
นักเขียนแสดงให้เห็นว่า จากเดิมที่เชื่อว่าต้องมีอำนาจเสียก่อน จึงจะเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรในโลกได้ แต่ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ดังที่เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์ค้นพบ ตลอดจนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายประการ ดังเช่น การเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีในอเมริกา ที่เริ่มจากผู้หญิงธรรมดาอย่างโรซา พาร์ก ยืนยันว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลง คนไร้อำนาจก็มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีโกลาหลบอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ได้ในที่สุด ดุจเดียวกับการขยับปีกของผีเสื้อที่มุมหนึ่งของโลก อาจเป็นเหตุให้เกิดพายุหมุนขนาดใหญ่ในอีกฟากโลกหนึ่ง
บทเรียนที่สาม: ไปสู่ความเลื่อนไหล – ตัวอย่างเรื่องเล่าในบทนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการตัวเองในรังปลวก หรือในระบบแจกจ่ายอาหารบนเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ล้วนเป็นเครื่องแสดงถึงพลังของสมุหภาพ
ชีวิตของปัจเจกที่โดดเดี่ยวแปลกแยก มีพื้นฐานมาจากฐานคิดทางทุนนิยมและเชื่อว่าการแข่งขันเป็นหัวใจของวิวัฒนาการ แต่เดิมเราคิดว่าองค์กรต้องมีผู้นำ ต้องมีอำนาจ แนวคิดเหล่านี้นำไปสู่การเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง มีความเครียดจากการงานและการดำเนินชีวิต แต่แนวคิดของทฤษฎีโกลาหลเชื่อว่า หัวใจของวิวัฒนาการ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างบรรสานสอดคล้อง มีความเป็นสมุหภาพ ดังที่ธรรมชาติรอบตัวเรา รวมทั้งระบบร่างกายเราได้แสดงให้เห็น
สิ่งที่น่าสนใจในบทนี้ คือ การเล่าประสบการณ์จากวงสุนทรียสนทนา ที่ได้นำพาผู้คนเข้าไปสู่ภาวะความเลื่อนไหล สัมผัสกับความเป็นสมุหภาพของผู้คนในวง
บทเรียนที่สี่: ค้นหาความหมายระหว่างกลาง - ในบทนี้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าชีวิตประกอบไปด้วยความเรียบง่าย และความซับซ้อน ที่แฝงฝังอยู่ในทุกอณู ในสังคมประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลายจำนวนมาก เราจำต้องระมัดระวังความคิดเรื่องการแบ่งแยก ไปให้พ้นจากความคิดความเห็นแบบเดิมๆ ด้วยการนำพาตนเองเข้าสู่ภาวะโกลาหล เพื่อนำพาสมองให้พ้นไปจากความซ้ำซากจำเจ นำไปสู่การสร้างสรรค์ และการจัดการตนเองในที่สุด
บทเรียนที่ห้า: มองเห็นศิลปะของโลก – ในบทนี้ว่าด้วยการชื่นชมสุนทรียภาพจากความโกลาหล มีภาพงามๆ หลายภาพ ของรูปทรงแบบส่วนเสี้ยว ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาพชายฝั่งทะเล ต้นไม้ โครงสร้างดีเอ็นเอ จุลินทรีย์ ไปจนถึงจักรวาล ความงามในชิ้นส่วนย่อย ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับชิ้นส่วนใหญ่เหล่านี้ ดูสับสน กระจัดกระจาย ผู้เขียนชี้ว่าเป็นความงามแบบหยิน เป็นความเชื่อมโยงระหว่างความงามเชิงเหตุผลแบบอพอลโล กับความงามเชิงสุนทรียภาพแบบไดโอนีซุส ที่นำไปสู่ใจอันเปิดกว้าง พร้อมตอบรับความมหัศจรรย์
บทเรียนที่หก: อยู่กับเวลา – ทัศนะที่มีต่อเวลาก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อมองจากโลกทัศน์แบบโกลาหล เวลาไม่ได้กลายเป็นเส้นตรงอีกต่อไป หากเป็นชิ้นส่วนประกอบซ้ำในมิติต่างๆ เวลาไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันกับนาฬิกา เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์กลายเป็นชั่วขณะหนึ่งของชีวิต แม้ในชิ้นส่วนขนาดเล็กต่างก็มีเวลาของตนเอง เป็นต้นว่า เซลล์ สมอง หัวใจ ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกันจนก่อเกิดเป็นเวลาร่วมกัน
ผู้ชายคนหนึ่งสั่งเก้าอี้นอนมาไว้ในห้องทำงาน และต้องต่อรองกับหัวหน้างานอย่างหนัก ทั้งที่เขามีผลงานวิจัยมากกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นหลายเท่า ภาวะที่เต็มไปด้วยความผ่อนคลาย แท้จริงแล้ว ก็คือการอยู่กับเวลาอย่างเต็มที่ เวลาทำงานสร้างสรรค์ของศิลปิน ล้วนตั้งอยู่บนฐานของเวลาเช่นนี้ ทุกขณะล้วนสัมผัสถึงความจริง บางครั้งดูเหมือนไม่ได้ทำงาน หากแต่แท้จริงแล้วเป็นการทำงานตลอดเวลา
บทเรียนสุดท้าย: หวนคืนสู่องค์รวม - บทนี้ว่าด้วยการเชื่อมโยงชิ้นส่วนแยกย่อยในตัวเราเข้ากับผู้คนรอบข้างและโลก ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าโลกทัศน์แบบองค์รวมนั้นมีอยู่นานแล้วในศาสตร์เก่าแก่ทั้งตะวันออกและตะวันตก เป็นต้นว่า ในศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู อี้จิง เป็นต้น แต่ปัจจุบันผู้คนกำลังประสบกับวิกฤติในการรับรู้ จึงทำให้เกิดการมองแบบแยกส่วน
ความรู้ใหม่ๆ ในวิทยาศาสตร์ก็กำลังนำพาผู้คนกลับไปสู่ทัศนะแบบองค์รวมเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกายา โลกในฐานะระบบจัดการตัวเองขนาดใหญ่ ดาวเคราะห์ในฐานะสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกันกับระบบนิเวศน์ของป่า มหาสมุทร แม้ในระดับเซลล์ แบคทีเรียชนิดหนึ่งก็มีโครงสร้างทางพันธุกรรมเช่นเดียวกับเซลล์สมองของมนุษย์ ความรู้เหล่านี้ยืนยันว่า มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับโลก มีบรรพบุรุษร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ทัศนะแบบองค์รวม นำไปสู่การมองปัญหาแบบเชื่อมโยง ไม่แยกพิจารณาเฉพาะปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ปัญหาสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ย่อมหาหนทางแก้ไขได้ดีขึ้นเมื่อทุกคนในสังคมสามารถมองเห็นเชื่อมโยงกับตนเอง
ในบทตาม จอห์น บริกกส์ และเอฟ เดวิด พีต ยอมรับว่า กระบวนวิธีทำงานโดยนักเขียนสองคนอาจจะทำให้ชิ้นส่วนข้อมูลบางอย่างหลุดหายไปได้ ความบกพร่องดังกล่าวย่อมไม่อาจทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์พร้อมได้ หากสามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับทฤษฎีทั่วไป เขาทั้งสองไม่ยอมสรุปเนื้อหาโดยรวมของหนังสือ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป หากแต่เชิญชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามสืบค้น อันเป็นต้นทางของภาวะโกลาหลต่อ - “เราจะถามอะไรดี?”
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้สนใจแนวคิดวิทยาศาสตร์ใหม่ ที่ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในตำราเรียน ถึงแม้จะเป็นแนวคิดที่รู้จักกันค่อนข้างแพร่หลายแล้ว ในวงการที่เปิดกว้างตอบรับนวัตกรรมใหม่ๆ ดังเช่น วงการธุรกิจ เป็นต้น
แนวคิดองค์กรจัดการตนเอง เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การทำความเข้าใจระบบที่ประกอบด้วยความซับซ้อน เหล่านี้ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องทฤษฎีโกลาหล และคงต้องใช้เวลาพอควร ในการคัดง้างกับกระบวนทัศน์แบบกลไก ที่เชื่อในเรื่องของอำนาจ การควบคุม การจัดการ
ชีวิตล้วนประกอบไปด้วยความโกลาหล ปราศจากทิศทางในการควบคุม วิทยาศาสตร์ว่าด้วยทฤษฎีโกลาหลกำลังบอกเราว่า นั้นแหละคือความจริง และเราย่อมยอมรับ ชื่นชม และใช้ให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา