สื่อมวลชนเป็นแหล่งความรู้ ความคิดที่นำไปสู่พฤติกรรมของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพราะมนุษย์จะมีความคิดได้นั้น มีสาเหตุหลายประการ เช่น จากการได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็น สัมผัส จากสื่อมวลชน และความคิดเห็นของคนอื่น เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้บทบาทของสื่อมวลชนได้กระตุ้นให้คนมีแนวความคิดมีพฤติกรรมต่าง ๆ ได้มาก อันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์
สื่อมวลชน คือ สถาบันที่แสดงความคิด ความเคลื่อนไหวในรูปร่าง ข่าวสาร ปรากฏการณ์ของประชาชนต่อรัฐบาลและของรัฐต่อประชาชน ตลอดถึงเป็นแหล่งสื่อสารระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกัน สื่อมวลชนจึงมีความสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันถือว่าเสียงประชาชนหรือปรากฏการณ์ของประชาชนคือเสียงสวรรค์หรือสวรรค์บันดาล ฉะนั้นสื่อมวลชนในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเปรียบเสมือน “หน้าต่างประชาชน” โดยทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นขา เป็นแขนของประชาชนในทุกกรณี ประชาชนสามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดหรือเข้าถึงรัฐบาลโดยผ่านสื่อมวลชน ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลก็สามารถแจ้งข่าวสารและเข้าถึงประชาชนได้โดยอาศัยสื่อมวลชนแต่ละแขนงได้เป็นอย่างดี สื่อมวลชนที่มีความสำนึกต่อวิชาชีพและมีความรับผิดชอบสูงนั้นมีความสำคัญมากที่จะช่วยจรรโลงความเป็นประชาธิปไตยในสังคม ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลจักออกกฎระเบียบรับรองการมีและการประกอบอาชีพสื่อมวลชนได้อย่างกว้างขวาง ยอมให้สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่แสดงบทบาทต่อบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตระเบียบที่ให้ไว้
ความหมายของสื่อมวลชน
สื่อมวลชน คือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ประกาศข่าว ความรู้และความคิดเห็นให้แก่ผู้สนใจไปพร้อมกัน จะทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เช่น เสนอแต่ข่าวไม่เสนอความคิดเห็น นอกจากนั้นสื่อมวลชนยังมีหน้าที่เป็น Watch Dog หรือสุนัขเฝ้าบ้าน อันหมายถึงการเฝ้าผลประโยชน์ของรัฐบาลของประชาชน และต้องเป็นการเฝ้าด้วยความเป็นธรรมด้วย หรือสื่อมวลชนคือผู้เสนอข่าวคราวและความคิดเห็นต่อประชาชน และหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ทั้ง 4 อย่างนี้รวมกันเรียกว่า สื่อมวลชน ตามที่นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของสื่อมวลชนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นพอจะสรุปองค์ประกอบที่สำคัญของสื่อมวลชนได้ ดังนี้
1. ผู้เสนอข่าวสาร
2. เนื้อหาสาระของข่าวสาร
3. ชนิดหรือช่องทางการสื่อสาร
4. ผู้รับข่าวสาร
ประเภทของสื่อมวลชน
กมล สมวิเชียร ได้แบ่งประเภทของสื่อมวลชนได้กว้าง ๆ เป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทสิ่งพิมพ์ (Printed Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน วารสาร นิตยสาร เป็นต้น
2. ประเภทแสงเสียง (Electronic Media) ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ เป็นต้น
บทบาทของสื่อมวลชน
สื่อมวลชนมีบทบาทหรือมีอิทธิพลทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สำหรับบทบาทของสื่อมวลชนในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นมีดังนี้
1. บทบาทในด้านการเมือง สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถเสนอแนวความคิด ถ่ายทอดความรู้ทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนจะเป็นสื่อการสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เพื่อที่จะให้รู้ว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังทำอะไร ดำเนินการอย่างไรในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และรัฐบาลจะทราบความทุกข์ร้อน ความต้องการของประชาชนจากสื่อมวลชน นอกจากนั้นสื่อมวลชนยังเป็นเครื่องมือในทางการเมืองโดยตรง เช่น คราวที่ทำการปฏิวัติหรือทำรัฐประหารจะเห็นว่าสื่อมวลชนมีความสำคัญ ถ้าฝ่ายก่อการสามารถยึดสื่อมวลชนทุกประเภทได้ความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อม หรือคราวที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสื่อมวลชนจะมีบทบาทมาก ตัวอย่างการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2531 พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มีโอกาสแถลงนโยบายทำความเข้าใจกับประชาชนทางโทรทัศน์ ทุกพรรคที่ส่งสมาชิกพรรคลงรับสมัครเลือกตั้ง ในด้านหนังสือพิมพ์รายวันก็ได้เสนอชื่อผู ้สมัครทุกพรรคประกอบทั้งประมวลเหตุการณ์ คะแนนนิยมของแต่ละคนแต่ละพรรคการเมืองมิได้ขาดแต่ละวัน ทำให้ประชาชนได้ศึกษาความเคลื่อนไหวสถานการณ์ทางการเมืองโดยตลอดจากสื่อมวลชนนั้น
ส่วนสมพงศ์ เกษมสิน และจรูญ สุภาพ ได้ประมวลบทบาทของสื่อมวลชนในทางการเมืองไว้ดังนี้
1. สามารถรายงานและสอดแทรกความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์การเมืองให้ประชาชนให้ทราบ
2. สามารถถ่ายทอดความคิดเห็นทั้งในด้านการสนับสนุนและคัดค้านการกระทำของรัฐบาล กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ได้
3. สามารถรายงานความเคลื่อนไหวในทางการเมืองให้ประชาชนได้ทราบอย่างรวดเร็ว
4. เป็นปากเป็นเสียงแทนปวงชน ในลักษณะที่ทำให้เกิดความคิดเห็นของประชาชนเป็นพลังที่เป็นปึกแผ่นได้
5. สามารถถ่ายทอดความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศให้รัฐบาลได้ทราบและสนองความต้องการนั้นได้อย่างถูกต้อง
6. กลุ่มมวลชน สามารถแสดงออกได้ในลักษณะที่เป็นกลุ่ม เช่น ความเห็นของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถทำให้เกิดน้ำหนักและมีอิทธิพลที่รัฐบาลต้องยอมรับและปฏิบัติตาม เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมได้
7. สื่อมวลชน สามารถรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่กระจัดกระจายกันอยู่ในลักษณะของความเห็นในอาณาบริเวณที่โดดเดี่ยวเข้ามาเป็นความคิดเห็นที่สามารถเข้าถึงได้อันเป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
จากบทบาทและอิทธิพลของสื่อมวลชนหลายประการดังที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง สื่อกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาลหรือระหว่างประชาชนกับรัฐนั่นเอง ประการสำคัญที่สื่อมวลชนเป็นปัจจัยผลักดันที่ให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาททางการเมืองการปกครอง
2. บทบาทในด้านเศรษฐกิจ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของประเทศจะถูกถ่ายทอดไปสู่ประชาชนได้โดยผ่านสื่อมวลชนมากที่สุด การกำหนดราคาสินค้าแต่ละวัน ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างไร ประชาชนทราบได้โดยผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งโทรพิมพ์ โทรทัศน์ โดยเฉพาะสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจะเสนอข่าวความเคลื่อนไหวราคาสินค้าต่อประชาชนทุกวัน
3. บทบาทในด้านสังคม การเคลื่อนไหวของประชาชนสังคมหนึ่งอาจถ่ายทอดสู่อีกสังคมหนึ่ง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของสื่อมวลชน เช่น การแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 5 ธันวาคมและวันที่ 12 สิงหาคมของทุก ๆ ปี จะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์สู่ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ วิทยุทุกสถานี จะเสนอข่าวในวันนี้ จะทำให้คนทั้งชาติได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ อันเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในชาติได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย หรือการเสนอข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรม สื่อมวลชนก็ได้ช่วยมากมาย เช่น งานประเพณีบุญบั้งไฟที่จังหวัดยโสธร วานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี งานประเพณีแสดงของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ งานประเพณีรดน้ำดำหัวที่จังหวัดภาคเหนือ งานประเพณีชักพระที่จัง หวัดภาคใต้ และแม้ข่าวเกี่ยวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่ประเทศไทยได้คืนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2532 เป็นต้น สื่อมวลชนก็ได้เสนอข่าวเป็นอย่างดี
หน้าที่ของสื่อมวลชน
ตามที่กล่าวถึงบทบาทและอิทธิพลของสื่อมวลชนมานั้น จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนและทุกอาชีพ มีทั้งที่ก่อให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดความเสียหายได้ถ้าเลือกใช้ไม่เป็น โดยเฉพาะบทบาทในด้านการเมืองถ้าผิดพลาดก็หมายถึงความเสียหายทั้งชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้นสื่อมวลชนจะต้องสำนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมคือ ประชาชนและประเทศชาติ โดยมิได้มุ่งแต่ทางธุรกิจการค้าเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นสื่อมวลชนควรจะได้มีบทบาทหน้าที่ของตนโดยเฉพาะ ซึ่งพอสรุปประเด็นหน้าที่สำคัญ ๆ ได้ดังนี้
1.ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข่าวสารที่มีสาระและความเป็นจริงต่อประชาชนทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ข่าวที่ให้นี้ต้องมีความเป็นจริงหรือเชื่อว่าให้ข่าวด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นความจริง ถ้าหากสื่อมวลชนให้ข่าวที่ไม่มีความเป็นจริงหรือไม่บริสุทธิ์ใจแล้วอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ในขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดผลเสียแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นที่เป็นส่วนรวมได้ตลอดถึงประเทศชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยประชาชนจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินเพื่อเข้าร่วมทางการเมืองอย่างถูกต้องและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
2. ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้และข้อคิดเห็นต่าง ๆ แก่ผู้อ่าน ผู้ชม และผู้ฟัง เพราะสื่อมวลชนจะต้องให้ข่าวความรู้ ข้อคิดเห็น หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สอดแทรกลงไปในสื่อพร้อม ๆ กันไป สำหรับความรู้และข้อคิดเห็นต่าง ๆ นี้อาจจะเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมควบคู่กันไป
3.ทำหน้าที่เป็นผู้คอยทักท้วงผู้มีอำนาจหรือมีบทบาทในการตรวจการปฏิบัติหน้าที่
4. ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการติดต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชน สื่อมวลชนจะเป็นผู้ติดตามเหตุการณ์เสนอข่าวสาร ทัศนะทางการเมือง เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างเพียงพอ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหรือนักการเมือง ในขณะเดียวกับประชาชนก็เสนอความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการเมืองไปสู่รัฐบาลโดยผ่านสื่อมวลชนได้
5. ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมความสำนึกความเป็นประเทศชาติในการเสนอข่าวสารและข้อคิดเห็นต่าง ๆ แก่สาธารณชนของสื่อมวลชนเป็นประจำนั้น สื่อมวลชนผู้เชื่อมประสานคนที่อยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มีความรู้สึกร่วมกันถึงความเป็นชาติเดียวกัน
6. ทำหน้าที่ในการรวบรวมกลั่นกรองข้อเรียกร้อง ต้องการตลอดจนช่วยแก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มในสังคม เนื่องจากในสังคมหนึ่ง ๆ ย่อมมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่เกิดจากความเรียกร้องต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่มซึ่งมักไม่เหมือนกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงแต่เนื่องจากรัฐบาลมีหน้าที่ต้องกระทำอยู่มากแล้ว สื่อมวลชนก็จะทำหน้าที่เป็นกลไกแทนรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและเป็นการป้องกันมิให้รัฐบาลต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความขัดแย้งหรือเรียกร้องกันอยู่ ประการสำคัญจะต้องรวบรวมกลั่นกรองข้อเรียกร้องความต้องการต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มที่แท้จริง
7. ทำหน้าที่ในการเลือกสรรทางการเมือง เนื่องจากการเมืองจะเข้าไปเกี่ยวพันกับองค์กรของรัฐ และแต่ละองค์กรของรัฐจำเป็นต้องมีบุคคลเพื่อเข้าดำเนินงานในองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ นี้ สื่อมวลชนก็จะสามารถเลือกสรรด้วยในระดับหนึ่ง
8. ทำหน้าที่ในเรื่องสังคมการณ์ทางการเมือง (Political Socialization) นั่นคือสื่อมวลชนจะเป็นตัวการ (Agent) ที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนได้มีการเรียนรู้ทางการเมืองหรือสื่อมวลชนจะมีอิทธิพลต่อทัศนะคติ ความเชื่อ หรือการประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อองค์กร หรือกระบวนการทางการเมืองในฐานะที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ในสังคมการเมืองนั้น
9. ทำหน้าที่ช่วยให้ประชาชนสามารถมีอำนาจหรืออิทธิพลต่อรัฐบาล การที่ประชาชนทั่ว ๆ ไปจะมีอำนาจในการโน้มน้าวชักจูงรัฐบาลให้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความต้องการของตนนั้น จำเป็นต้องกระทำในรูปของกลุ่มพลัง ซึ่งสื่อมวลชนจะเป็นเครื่องมือช่วยได้อย่างดีในการกระตุ้นให้ประชาชนรวมกลุ่มกัน เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาล
10. ทำหน้าที่เป็นจักรกลของกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งสื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญหลายประการ เช่น ในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองการบริหารประเทศของรัฐบาล และการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น
จากหน้าที่ของสื่อมวลชนดังกล่าวนี้จะเห็นว่าสื่อมวลชนในฐานะที่เป็นสถาบันอันหนึ่งในสังคม มีบทบาทหน้าที่สำคัญยิ่งในการปลูกฝังและพัฒนาความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา