เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ

ศึกษาลักษณะการปกครองของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นแนวทางทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบันที่นำลักษณะการปกครองของประเทศต่างๆ เข้ามาปรับปรุงในการร่างรัฐธรรมนูญ

การปกครองประเทศอังกฤษ : ระบบรัฐสภา
รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่กระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบต่างๆ กันในรูปของพระราชบัญญัติต่างๆ บ้าง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี ค.ศ.1689 พระราชบัญญัติสืบสันตติวงศ์ ปี 1701 เป็นต้น หรือในรูปของข้อตกลงและขนบธรรมเนียม เช่น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไม่มีกฎหมายฉบับไหนบ่งบอกให้มีการจัดตั้ง แต่คณะรัฐมนตรีวิวัฒนาการจากภาคปฏิบัติจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมที่ยอมรับกกันมาเกือบ 300 ปีแล้ว

รัฐธรรมนูญของอังกฤษ จึงเป็นเรื่องราวของวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมือง เกิดขึ้นหรือเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการร่วมมือ และการขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์และขุนนาง และกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยดังเช่นปัจจุบันก็ต้องผ่านสงครามปฏิวัติถึง 2 ครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 17 และยังจะต้องมีการปฏิรูปกันขนานใหญ่ในศตวรรษที่ 19 และ 20 ถึงจะประกฎในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยดังที่ปรากฏ การต่อสู้ดิ้นรนระหว่างขุนนางอังกฤษและมหากษัตริย์ในอดีต เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นของตนเองและตามแนวความคิดเชื่อถือตามลัทธิศาสนา แต่ผลของการต่อสู้เรื่องนี้ชักนำให้เกิดระบบการปกครองที่กลายเป็นพื้นฐานของระบบการปกครองประชาธิปไตยในสมัยต่อมา

การปกครองของอังกฤษมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในลักษณะที่ชัดเจน

หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law)
หลักการปกครองโดยกฎหมายของอังกฤษ เป็นหลักที่มีความหมาย 3 ประการ คือ
1. ต้องไม่ใช้กำลังปกครอง ต้องใช้กฎหมายปกครอง ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย
2. คนอังกฤษถูกปกครองโดยกฎหมายและโดยกฎหมายเท่านั้น การจะลงโทษหรือจับกุมคนอังกฤษโดยปราศจากการไต่สวนตามกระบวนการของกฎหมายและโดยไม่มีความผิดตามที่ระบุไว้ในกฎหมายจะกระทำมิได้
3. อำนาจของพระมหากษัตริย์และรัฐมนตรีนั้นมีต้นกำเนิดมาจากพระราชบัญญัติของรัฐสภา

ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษยังมีหลักการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองนี้กับหลักสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นหลักประกันให้เกิดระบบเผด็จการ ซึ่งมาจากการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ ปี ค.ศ.1688 โดยได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Bill of Rights) ปี ค.ศ.1689 และพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดข้อจำกัดของอำนาจพระมหากษัตริย์ที่จะกระทำการใดๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภาไม่ได้

หลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliament)
อำนาจสูงสุดหรืออธิปไตยเป็นของรัฐสภา หมายความว่า รัฐสภามีสิทธิที่จะออกกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ได้ และไม่มีผู้ใดในอังกฤษที่จะเพิกเฉย หรือละเมิดต่อกฎหมายของรัฐสภา หลักของอำนาจสูงสุดของรัฐสภานี้หมายความว่า ในระบบการปกครองของอังกฤษ อธิปไตยอยู่ที่องค์กรรัฐสภาอันประกอบด้วย สภาขุนนาง สภาผู้แทน และพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น แม้ว่าจะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ คือ คณะรัฐมนตรีในฐานะเป็นคณะรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่บริหาร แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา ซึ่งสามารถควบคุมการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสามารถทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดด้วย การทำหน้าที่เป็นศาลสูงนั้นเป็นบทบาทในส่วนของสภาขุนนาง (House of Lords)
รัฐธรรมนูญอังกฤษนั้นจึงไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตย แต่เป็นการแบ่งบทบาทหน้าที่ ฉะนั้นจึงมีกระบวนการ รวมอำนาจไว้ที่รัฐสภา (Fusion of Power) แต่ก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันที่เรียกว่า Organic Link โดยสถาบันรัฐสภา
การที่รัฐสภาอังกฤษวิวัฒนาการในรูปนี้ เป็นเรื่องของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มิได้มีความจงใจจะให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด อำนาจของรัฐสภามีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเพียงให้ความร่วมมือในการเพิ่มภาษีของพระมหากษัตริย์ ต่อมากลายเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ต่อมาอีกรัฐสภาก็เริ่มมีอำนาจในด้านออกกฎหมาย ซึ่งเริ่มต้นเป็นการตรากฎหมาย เพื่อแก้ไขขจัดข้อเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น ต่อมาขยายไปเป็นอำนาจนิติบัญญัติทั่วไป
ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาจาการที่พระเจ้ายอร์จที่ 1 (George I) แห่งราชวงศ์ Hannover ซึ่งทรงได้รับการเชิญให้มาปกครองประเทศอังกฤษในช่วง ค.ศ.1715 ซึ่งราชวงศ์นี้มาจากเยอรมันนี พระองค์จึงทรงไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ได้ทรงมอบหมายงานการประชุมสภาเสนาบดีให้แก่ เซอร์โรเบิร์ต วอลโปล ทำหน้าที่เป็นประธาน นี้คือจุดกำเนิดของตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้น เซอร์โรเบิร์ต วอลโปล ได้รับสมญานามภายหลังว่า “Primus Inter Pares” หรือ First among Equals คือ ผู้อันดับ 1 ในจำนวนผู้ที่เท่ากัน นั้นคือตำแหน่ง Prime Minister ซึ่งเป็นชื่อเรียกสมัยต่อมา ในการคัดเลือกรัฐมนตรีก็คัดเลือกจากบุคคลที่จะได้รับเสียงสนับส่วนใหญ่จากรัฐสภา นี้คือจุดเริ่มต้นระบบคณะรัฐมนตรี ซึ่งเปรียบเสมือนคณะกรรมการของรัฐสภาที่สมาชิกเลือกขึ้นมา เพื่อทูลเกล้า ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง
ผลของการปฏิบัติดังกล่าว ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยต่อๆ มา สมัยนี้ธรรมเนียมปฏิบัติจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา และเมื่อนายกรัฐมนตรีคนไหนไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา ก็จะต้องเชิญหัวหน้า ฝ่ายค้าน ซึ่งได้รับเสียงส่วนมากเข้าจัดตั้งรัฐบาลแทน และรัฐบาลต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อนโยบาย หากผู้ใดไม่เห็นชอบด้วยกับนโยบาย ต้องลาออก ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ขนบธรรมเนียมนี้ค่อยๆ วิวัฒนาการมาจากภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งยึดถือปฏิบัติ ท่านอื่นๆ ในภายหลังก็ปฏิบัติตาม

การขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนทั่วไป
ในศตวรรษที่ 18 รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างออกมายังเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงเป็นชนชั้นผู้มีทรัพย์สมบัติ ในปลายศตวรรษที่ 18 ได้เริ่มเกิดขบวนการปฏิรูปรัฐสภา และขบวนการของพวก Radlicals ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมตามแผนการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่สงครามนโปเลียนที่ยืดยาว ทำให้ขบวนการปฏิรูปพบกับอุปสรรคและแรงต้านทานจากชนชั้นต่างๆ จนกระทั่ง ค.ศ.1830 เหตุการณ์จึงเปลี่ยนแปลงไป และรัฐสภาได้ยอมรับแนวคิดการปฏิรูปโดยผ่าน พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ.1832 (Great Reform Act) ซึ่งขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ชนชั้นกลางระดับสูง และได้ปรับเขตการเลือกตั้งให้เมืองอุตสาหกรรมใหม่ได้มีผู้แทน ต่อมาในปี ค.ศ.1867 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีก โดยให้สิทธิการเลือกตั้งแก่กรรมกรในเมืองอีกหนึ่งล้านคน ใน ค.ศ.1884 ได้ให้สิทธิ์แก่กรรมกรในเขตชนบท ค.ศ.1918 ชายทุกคนอายุ 21 ปีขึ้นไป มิสิทธิ์ และสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป ปี ค.ศ.1928 สตรีอายุ 21 ปีขึ้นไปจึงมีสิทธิ์
ต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปี ประชาชนผู้มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ทุกคนจะมีสิทธิ์ ประชาธิปไคยอังกฤษใช้เวลานานมากในการย่างก้าวไปสู่การบรรลุนิติภาวะ จากการที่ขยายสิทธิทางการเมืองอย่างช้าๆ เช่นนี้ มีผลอย่างหนึ่ง คือ ทำให้ผู้ที่จะได้สิทธิ์ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ทุกๆ ขั้นตอน และเมื่อได้มาแล้วก็รู้จักใช้สิทธิ์อย่างผู้รับผิดชอบ ฉะนั้น ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 จะไม่เคยได้ยินได้ฟังปัญหาของการซื้อเสียงอีกเลย


ความสัมพันธ์ระหว่างสภาขุนนาง และสภาสามัญ
ภายหลังการปฏิวัติรัฐสภา ปี ค.ศ.1688 สภาขุนนางเป็นสภาที่มีอิทธิพลสูงสุด ซึ่งควบคุมการดำเนินการทางการเมืองของสภาสามัญ ผู้แทนฯ ในสภาสามัญส่วนใหญ่ ก็คือ ญาติพี่น้อง หรือผู้ใกล้ชิดของขุนนางส่วนมาก และตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนหนึ่งก็มาจากสภาขุนนาง ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้มีคุณสมบัติเลือกตั้ง ขยายสิทธิให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และชนชั้นกลางจากเมืองอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามามีเสียงในสภาสามัญ อิทธิพลของสภาสามัญเริ่มสูงมากขึ้น จนในที่สุดอำนาจในสภาขุนนางในการที่จะยับยั้งกฎหมาย และพระราชบัญญัติการเงินได้เริ่มลดลง ใน ค.ศ.1911 ได้มีพระราชบัญญัติลดอำนาจสิทธิการยับยั้ง ของสภาขุนนางไว้อย่างชัดเจน
นับตั้งแต่นั้นมา ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมาจากสภาสามัญศูนย์กลางของการเมืองจึงอยู่ที่สภาสามัญ (House of Commons)

ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
รัฐสภาเป็นศูนย์กลางของการปกครอง อำนาจอธิปไตยอยู่ที่สถาบันนี้ในเวลาปกติที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ส่วนอย่างเด็ดขาด การแบ่งแยกเป็นบทบาทและหน้าที่มากกว่า เมื่อรูปแบบการปกครองมีลักษณะดังกล่าวประเด็นคำถามที่ตามมา ก็คือ จะป้องกันมิได้เกิดเผด็จการทางรัฐสภาได้หรือไม่
คำตอบก็คงจะเป็นว่า เผด็จการทางรัฐสภาคงไม่เกิดขึ้น แต่รูปแบบนี้ช่วยส่งเสริมให้รัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภาบริหารงานตามเป้าหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่จะบริหารงานอย่างราบรื่น มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองซึ่งบังเอิญของอังกฤษเป็น ระบบสองพรรค คือมีพรรคใหญ่ๆ 2 พรรค
เมื่อพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน
ฉะนั้น จึงมักกล่าวกันว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้น เมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองของตนซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาแล้ว จะมีอำนาจบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าประธานาธิบดีของสหรัฐเสียอีก
แต่อำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งดูจะมีมากตามระบบนี้ ก็ยังมิใช่อำนาจเผด็จการ ทั้งนี้ เพราะขนบธรรมเนียมได้ยอมรับให้มีฝ่ายค้านในรัฐสภา โดยหัวหน้าพรรคของฝ่ายค้านจะได้รับการยอมรับว่าเป็น นายกรัฐมนตรีเงา ได้รับเงินเดือนมาเป็นพิเศษสูงกว่าผู้แทนราษฎร
พรรคฝ่ายค้านนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งมิให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิดใครถูก โดยเฉพาะในสมัยเลือกตั้งซึ่งจะต้องมีขึ้นทุกๆ 5 ปี หรือภายในเวลา 5 ปี ฝ่ายค้านจึงเป็นกลไกของการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายรัฐบาล

รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่วิวัฒนาการตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อังกฤษ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้คิดถึงสิทธิหรืออุดมการณ์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตรง แต่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออำนาจและประโยชน์ของชนชั้นของตนเอง

การปกครองประเทศสหรัฐอเมริกา : ระบบประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่เก่าแก่ที่สุดในโลกปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้แทนของรัฐต่างๆ 12 รัฐที่มาประชุมกันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ปี ค.ศ.1787 นั้นโดยเจตนาจะมาเพื่อแก้ไขมาตราของรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐเดิม แต่เมื่อมาถึงแล้วกลับกลายมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยทั้ง 55 คนที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ส่วนมากมีพื้นเพจากชนชั้นที่มีทรัพย์ ส่วนมากจะเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม มีความเกรงกลัวเรื่องผลของความรุนแรงจากพลังประชาธิปไตย อันที่จริงเขาเหล่านี้พื้นเพเดิม คือ มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากอังกฤษ จึงได้รับการศึกษาแบบอังกฤษ ความคิดทางการเมืองของนักปรัชญา เช่น จอห์น ล็อก และมองเตสกิเออร์ มีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้นำเหล่านี้มาก นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำเหล่านี้ยังได้ผ่านสงครามกู้อิสรภาพปลดแอกจากอังกฤษ ฉะนั้น จึงรู้คุณค่าของอิสรภาพเป็นอย่างดี และซาบซึ้งว่าการปกครองมิใช่เรื่องการให้เสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อจะบริหารประเทศได้ รูปแบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐขณะนั้น ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเลยมีแต่สภาคองเกรส ซึ่งสภาคองเกรสจะผ่านพระราชบัญญัติใดๆ ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุน 9 จาก 13 เสียง และถ้าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากทุกรัฐ
ในเมื่อระดับประเทศไม่มีรัฐบาลกลางที่จะมาจัดเก็บภาษี และไม่มีกองทัพของชาติที่จะปกป้องประเทศ สหรัฐจึงประสบปัญหาในการบริหารมากมาย เช่น ปัญหาของการใช้หนี้สงครามที่ผ่านไป ปัญหาต่างประเทศ ปัญหาการป้องกันประเทศ ปัญหาภัยจากเผ่าอินเดียนแดง ปัญหาของการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เป็นต้น
ฉะนั้น กลุ่มผู้นำจาก 12 รัฐ ที่มาประชุม (ขาดผู้แทนรัฐโรด ไอซ์แลนด์ 1 รัฐ) จึงเป็นผู้มีอุดมคติและมีประสบการณ์ที่ค่อนข้างลบจากรูปแบบการปกครองสมาพันธรัฐ เขาเหล่านั้นจึงเปลี่ยนใจจากเดิมที่มีเจตนามณ์จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิม ก็กลายเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในบรรดาผู้นำ 55 คนนี้ มีนักคิด นักปรัชญา และรัฐบุรุษในอดีตและอนาคตหลายท่าน เช่น ยอร์จ วอชิงตัน เบนจามิน แฟรงคลิน และเจมส์ เมดิสัน
เมดิสันนั้นถือกันว่า เป็นผู้สะท้อนความคิดของคนสมัยนั้นมากที่สุด จากการที่เขามีแนวความคิดก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่หลงใหลหรือหลงละเมอกับคำว่า “เสียงของประชาชน” เสมอไป เขาคิดว่า มนุษย์เรามักเข้าข้างตนเอง สามารถทำความชั่วได้เสมอ ฉะนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการที่จะเป็นสองอย่างควบคู่กันไป คือ ประการแรก จะต้องหาวิธีการสร้างรัฐบาลกลางให้เข็มแข็งพอที่จะปกครองคนได้ และประการที่สอง จะต้องหาวิธีการที่จะสร้างกลไกเพื่อให้รัฐบาลควบคุมตนเอง ในการสร้างรัฐบาลเพื่อให้มนุษย์ปกครองมนุษย์กันเอง ความยากลำบากจึงอยู่ที่ว่า ประการแรก จะต้องให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางเพื่อที่จะสามารถควบคุมผู้อยู่ใต้ปกครองได้ กำหนดให้รัฐบาลสามารถควบคุมตนเองได้ และจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นไว้เพื่อป้องกันผลเสียหาย
เสรีภาพและเสถียรภาพมั่นคงระหว่างการสร้างรัฐบาลชาติให้มีอำนาจปกครองประเทศได้ ขณะเดียวกันธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพของมลรัฐที่จะปกครองตนเองในระดับหนึ่ง

หลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
1) รัฐธรรมนูญสร้างระบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (Federation) เป็นรูปแบบที่มีทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของมลรัฐต่างๆ ประเด็นคือ จะแบบอำนาจกันอย่างไรระหว่างสองระดับนี้
มาตรา 1 ส่วนที่ 8 ได้กำหนดอำนาจของสภาคองเกรสไว้อย่างชัดเจน เช่น อำนาจที่จะจัดเก็บภาษีอากร ใช้หนี้รัฐบาล จัดการป้องกันประเทศ การกู้ยืมหนี้สิน การออกระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศและระหว่างมลรัฐต่างๆ อำนาจที่จะผลิตเงินตราและกำหนดค่าของเงินตรา จัดตั้งกองทัพ ประกาศสงคราม และออกพระราชบัญญัติ “ที่จำเป็นและเหมาะสม” เพื่อดำเนินการตามนโยบายและอำนาจหน้าที่ดังกล่าว
ในขณะเดียวกันใน มาตรา 1 ส่วนที่ 10 ก็ได้จำกัดอำนาจของมลรัฐในหลายๆ เรื่อง เช่น ห้ามมิให้มลรัฐทำสัญญากับต่างประเทศ ห้ามผลิตเงินตรา เป็นต้น
ต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 10 กำหนดว่า อำนาจที่มิได้กำหนดให้เป็นของสหรัฐ และยังมิได้เป็นข้อห้ามสำหรับมลรัฐให้เป็นอำนาจของมลรัฐ นี่คือหลักที่เรียกกันว่า “อำนาจที่ยังคงเหลือ” ของรัฐ (Residual Power)
ขณะเดียวกันในมาตรา 6 ส่วนที่ 2 ของรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้อีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้และกฎหมายของรัฐที่จะออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาในทุกๆ มลรัฐจะต้องยึดถือกฎหมายเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติ เรียกกันว่า หลักของกฎหมายสูงสุด (Supremacy Clause)
นอกจากนั้น ยังมีการประนีประนอมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งระหว่างมลรัฐด้วยกันอง โดยกำหนดให้สภาคองเกรสประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สำหรับสภาผู้แทนราษฎรจะใช้หลักการเลือกตั้งโดยตรง บนพื้นฐานของจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ ส่วนวุฒิสภากำหนดให้แต่ละรัฐส่งสมาชิกให้รัฐละ 2 คน
2) รัฐธรรมนูญสร้างระบบการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่พอใจเพียงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐเท่านั้น ยังต้องแยกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยกำหนดให้สภาคองเกรสมีอำนาจนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีอำนาจบริหาร และศาลมีอำนาจตุลาการ ตามหลักของมองเตสกิเออร์
ในการแบ่งแยกอำนาจนี้ยังได้แยกสถาบันฝ่ายบริหารออกจากสภานิติบัญญัติค่อนข้างจะเด็ดขาด กล่าวคือ ทั้งสองสถาบันมีฐานอำนาจแยกกัน ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระสมัย 4 ปี แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของท่านเอง สภาคองเกรสไม่มีอำนาจจะล้มรัฐบาล ส่วนสภาคองเกรสก็เช่นกัน ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระสมัย 2 ปี และ สำหรับวุฒิสภามีวาระสมัย 6 ปี ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาคองเกรสได้

3) รัฐธรรมนูญสร้างระบบตรวจสอบและคานอำนาจ (Checks and Balance) นอกจากจะแบ่งแยกอำนาจแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการตรวจสอบหรือคนอำนาจซึ่งกันและกันได้ เช่น สภาคองเกรสมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีมีสิทธิที่จะยับยั้งได้ (Veto)
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดีได้ใช้สิทธิยับยั้งแล้ว หากร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสเป็นครั้งที่สอง โดยได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ก็จะออกเป็นกฎหมายได้
ในทางกลับกันประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจ แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดและรัฐมนตรี แต่การเสนอเพื่อแต่งตั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน ผู้พิพากษานั้นเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว แต่สภาคองเกรสก็สามารถที่จะกล่าวโทษผู้พิพากษาได้เมื่อมีเหตุหรือมลทินมัวหมอง ในทำนองเดียวกันว่าศาลสูงสุดมีอำนาจที่จะประกาศว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญ

4) รัฐธรรมนูญยึดหลักของการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หลักการที่เป็นแม่บทการปกครองของรัฐธรรมนูญสหรัฐ คือ หลักของการปกครองโดยความยินยอมเห็นชอบของประชาชน หลักการนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ต่อเมื่อจัดให้มีระบบการเลือกตั้งในทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชนให้มาเลือกประธานาธิบดี ส่วนผู้แทนราษฎรในสภาล่างและวุฒิสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเช่นกัน ผู้พิพากษาอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งมาก และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนนี้จะเป็นรัฐบาลที่เลวน้อยที่สุด เพราะทุกคนที่ได้รับการเลือกตั้งย่อมต้องมารับผิดชอบต่อผู้เลือกตนในสมัยการเลือกตั้งครั้งต่อไป

5) หลักของสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน หลักของสิทธิเสรีภาพเป็นหลักขั้นมูลฐานที่จะอำนวยให้ระบบการปกครองแบบเลือกตั้งได้เป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์แบบ

โดยสรุป รูปแบบการปกครองของสหรัฐ อาจจะเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยพหุนิยม (Pluralist Democracy) คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายอยู่หลายขั้วหลายศูนย์ นอกจากนั้นยังมีรูปแบบของระบบประธานาธิบดีซึ่งรวมบทบาทของประมุขและของนายกรัฐมนตรีไว้ในคนๆ เดียวกัน จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณสมบัติตรงที่มีความเรียบง่าย (Simplicity) ไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย แต่เปิดทางกว้างๆ ไว้เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา