เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

องค์ประกอบของการสื่อสาร

สาระสำคัญ:
1. ความหมายของการสื่อสาร
2. องค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสาร และกระบวนการสื่อสาร

ความคิดรวบยอด:
"การสื่อสาร คือกิจกรรมที่เป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับ
สารซึ่งกระทำเป็นกระบวนการ เริ่มจากการกำหนดสารแล้วส่งออกไป โดย
อาศัยเป็นพาหนะพาสารนั้นไปยังฝ่ายรับสาร ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่าย
รับเข้าใจความหมายในสารและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง อัน
เป็นเครื่องชี้วัดว่า มีการสื่อสารเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ"

รายละเอียด:
1. ความหมายของการสื่อสาร
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความหมายของการสื่อสารแบบต่อหน้า (แบบแรก) และแบบไม่เห็นหน้ากัน (แบบหลัง) ระหว่างฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับสาร แตกต่างกัน คือ (1) ระยะทาง (2) เวลา (3) โอกาส (4) ปริมาณของสาร (5) ความสลับซับซ้อนของสาร หรือ การเข้ารหัสการถอดรหัส และ (6) คุณภาพของพาหนะ

ด้วยระยะทางที่ห่างไกล ทำให้การติดต่อปฏิสัมพันธ์กันระหว่างฝ่ายส่งสารกับฝ่ายรับสาร ไม่สามารถกระทำซึ่งหน้ากันได้ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการเดินทางของสารอีกด้วย การปล่อยเวลาให้ยืดนานออกไป อาจทำให้การสื่อสารเข้าใจกันได้ดีขึ้น มีเวลาที่จะทบทวนในการเข้ารหัสและถอดรหัสกันได้ รวมทั้งมีโอกาสในการเลือกเวลาในการสื่อสารกันได้ ยิ่งในการส่งสารคราวละปริมาณมากๆ และสารนั้นมีความสลับซับซ้อน ยิ่งจะทำให้เกิดอุปสรรคในการถ่ายทอดความหมาย การมองเห็นหน้ากัน จะช่วยให้เกิดการทบทวนในการสื่อความหมายกันได้ดีกว่า ตัวแปรสุดท้ายที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือ คุณภาพของพาหนะที่ส่งสารไป อาจมีสิ่งรบกวนระหว่างส่งสาร ทำให้เกิดการแปลความหมายที่ผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้น การติดต่อกันแบบซึ่งหน้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
สังคมมนุษย์ในปัจจุบัน มีความสลับซับซ้อนสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณของข่าวสารมีปริมาณมากเกินขีดความสามารถในการรับรู้ของคน ดังนั้น โอกาสในการติดต่อสื่อสารกันแบบซึ่งหน้าจึงไม่สามารถกระทำได้ในทุกๆ โอกาส ยึ่งในยุคโลกไร้พรมแดน (Globalization) ด้วยแล้ว จำเป็นต้องยอมรับตัวแปรที่ทำให้การสื่อสารมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ระยะทาง เวลา โอกาส ปริมาณของสาร ความซับซ้อนของสาร และ คุณภาพของช่องทางในการสื่อสาร ดังนั้น การให้ความหมายของการสื่อสาร จึงเปลี่ยนไป มีความหมายกว้างขวางไปจากเดิม นั่นคือ คำว่า Communication ไม่ใช่เพียงการสื่อสารกันแบบต่อหน้าอีกต่อไป แต่จะหมายถึง การสื่อสารแบบไม่ต้องเห็นหน้ากัน เรียกว่า การสื่อสารมวลชน (Mass Media Communication) หรือ การสื่อสารทางไกล (Telecommunication)
การสื่อสารภายในบุคคล
การสื่อสารระหว่างบุคคล แบ่งออกเป็น
ระดับกลุ่มบุคคล
ระดับองค์กร อาจเป็นองค์กรขนาดเล็ก กลาง หรือขนาดใหญ่
ระดับมวลชน
ระดับประเทศ หรือ การสื่อสารระหว่างประเทศ
เพื่อให้ความหมายของการสื่อสารสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือปัจจัยส่งเสริมให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ องค์ประกอบต่าง ๆ ของกระบวนการสื่อสารซึ่งประกอบด้วย (1) ปัจจัยของผู้ส่งสาร และผู้รับสาร (2) ปัจจัยของสาร (3) ปัจจัยของสื่อ

1. ปัจจัยของผู้ส่งสารและผู้รับสาร ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารเปลี่ยนแปลง ได้แก่
1.1 ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skill) ประกอบด้วย
1.1.1 ทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน หรือทักษะในการใช้ภาษา หรือสัญลักษณ์ เป็นเครื่องมือ (Tool) ในการถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิดของตนให้ผู้อื่น (ผู้รับสาร) เข้าใจ
1.1.2 ทักษะในการเข้ารหัส และถอดรหัส
1.1.3 ทักษะในการคิดหรือใช้เหตุผล
1.1.4 ทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสาร ได้แก่ ทักษะในการใช้ภาษา สัญลักษณ์ทางคอมพิวเตอร์ ในการรวบรวมองค์ความรู้เดิม อย่าง เป็นระบบ เพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่น (ผู้รับสาร) เข้าใจในความคิดใหม่ของตน ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ตามทฤษฎีการถ่ายทอดความรู้ของผู้เรียนผ่านคอมพิวเตอร์ โปรแกรมภาษาโลโก และอุปกรณ์ Lego ของศาตราจารย์แซมมวล แพบเพิร์ท แห่ง MIT)
1.1.5 ทักษะในการใช้อารมณ์ (Used Emotion Skill) อารมณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการสื่อสาร (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2548) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หมายถึง การควบคุมความต้องการส่วนเกินของตน ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และใจ มิให้รบกวนการรับรู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผู้ส่งสารหรือผู้รับสาร (ดู สมณะโพธิรักษ์, อีคิวโลกุตระ เรียนรู้อารมณ์อันวิเศษของพุทธ, บจก.ฟ้าอภัย, 2544 หรือ ที่ http://www.asoke.info/ 09Communication/ DharmaPublicize/Book/BOOK014/index.html)
ทักษะต่างๆ เหล่านี้ จะมีผลต่อความสามารถในการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ (Purposes) และเจตนารมณ์ (Intention ) ของตนในการสื่อสาร ทั้งฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับสาร และมีอิทธิพลต่อความสามารถในการเข้ารหัส หรือการผลิตสารในรูปแบบต่างๆ
1.2 ทัศนคติ (Attitude) เกิดจากการรู้จักควบคุมอารมณ์ของตน ในการแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อการรับรู้ของฝ่ายตรงข้าม
นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะเพิ่มหรือลดประสิทธิผลของการสื่อสาร ดังนั้น อารมณ์และทัศนคติเป็นปัจจัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ทัศนคติที่ดี ย่อมเกิดจากการมีอารมณ์ในเชิงบวก (ยินดี พอใจ ที่ได้ "เสียเปรียบ" หรือ "เสียสละ") ส่วนทัศนคติที่ไม่ดี เช่น การคิดเอาเปรียบผู้อื่น หรือการคิดเบียดเบียนผู้อื่น เกิดจากการมีอารมณ์ในเชิงลบ (ยินดี พอใจ ที่ "ได้เปรียบ")
1.2.1 ทัศนคติต่อตนเอง (Attitude toward self: self-evaluation, self-confidence) เป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์มิให้เป็นทาส ของอารมณ์ โลภ โกรธ หลง เห็นประโยชน์ คุณค่าของการอยู่เหนืออารมณ์เชิงลบ ทัศนคติเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความยินดี พอใจ ยอมรับ และเข้าใจในสารต่างๆ และพร้อมที่จะเลือกเสพ หรือส่งสารที่เป็นสาระ หรือเป็นคุณค่าแก่ชีวิต และสรรพสิ่งแวดล้อม
1.2.2 ทัศนคติต่อเรื่องที่จะสื่อสาร (Attitude toward subject matter) เป็นผลต่อเนื่องจาก ข้อ 1.2.1 เพราะถ้าควบคุม หรืออยู่เหนือ อารมณ์เชิงลบได้มากเท่าใด ก็จะส่งผลให้เกิดการเลือกสรรที่จะเสพ (รับสาร) หรือส่งสาร ไปยังเป้าหมาย
1.2.3 ทัศนคติต่อผู้รับสาร (Attitude toward receiver) เป็นผลต่อเนื่องมาจาก ข้อ 1.2.1 เช่นกัน เพราะคนทุกคนมักจะคิด หรือ ยึดถือ "ตน" เป็นศูนย์กลางของจักรวาล (ถ้าทำได้) หากไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ให้อยู่เหนืออำนาจใฝ่ต่ำของตน ย่อมจะส่งผลต่อพฤติกรรมในการรับรู้สารและการส่งสาร ซึ่งอาจทำให้การสื่อสารล้มเหลว
ที่เป็นเช่นนี้มิใช่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง แต่เกิดจากการมุ่งเอาชนะกัน หรือข่มกัน จนไม่สามารถยอมรับสื่อ และสาระของฝ่ายตรงข้าม (แม้จะดี ถูกต้องตามสัจจะ แต่ก็ไม่ดี หรือผิดจากความเห็นของตน)
1.3 ความรู้ (Knowledge) ผู้ส่งสารที่มีความรู้ดี ย่อมสื่อสารได้ดีมีประสิทธิผลมากกว่า ความรู้ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.3.1 ความรู้ในเรื่องที่จะสื่อสาร (Subject matter) ได้แก่ องค์ความรู้ที่เกิดจากเรียนรู้ และการค้นคว้า รวมทั้งการจัดหมวดหมู่ของเรื่อง ราว พร้อมที่จะส่ง (Knowledge Package) ไปยังเป้าหมาย
1.3.2 ความรู้เรื่องกระบวนการสื่อสาร (Communication Process)
1.3.3 ความรู้เรื่องเครื่องมือที่จะใช้สื่อสาร (เช่นเดียวกับข้อ 1.1.4 ทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสาร) โดยเฉพาะในเรื่องของ IT และ World Wide Web หรือ Internet ซึ่งปัจจุบันถือเป็นความรู้พื้นฐานที่คนในสังคมควรต้องรู้ หากต้องการจะอยู่ในสังคมไอทีอย่างผาสุก
1.3.4 ความรู้เรื่องอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ (Used Emotion Knowledge) (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2548) ซึ่งจัดเป็นความรู้ในระดับโลกุตระ (หรือ ความรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ) เพราะมีหลายกรณี ที่ความรู้ดีๆ และมีสาระ มีคุณค่า ถูกส่งออกไปยังเป้าหมาย แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะทั้งผู้ส่งสาร และหรือผู้รับสาร ถูกครอบงำด้วยอำนาจใฝ่ต่ำทางอารมณ์ (กิเลส ตัณหา อุปาทาน) ทำให้เกิดการเสพ และ ส่ง สาระ (Mass) หรือองค์ความรู้ (โลกียะ) ที่เป็นโทษภัยต่อคน สัตว์ สรรพสิ่งแวดล้อม ตลอดจน วัฒนธรรมอันดีงาม เช่น การรับรู้ การเรียนรู้ และการยอมรับสื่อลามกต่างๆ
[สื่อลามก หมายถึง สื่อใดๆ ที่ผู้เสพ หรือผู้รับสาร เสพหรือสัมผัสทางตา (เกิดรูป หรือ Visible Objects) หู (เกิดสัททะ หรือ Sound) จมูก (เกิดคันธะ หรือ Smell) ลิ้น (เกิด รสะ หรือ Taste) สัมผัสทางกาย (เกิดโผฎฐัพพะ หรือ Tangible Objects) และ ใจ (เกิดธรรมารมณ์ หรือ Mind Objects) แล้ว จิตเกิดยึดหน่วง เป็นอารมณ์ ราคะ (คิดอยากละเมิดของรักของหวงของคนอื่น จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิทางเพศ) โลภะ (คิดยากได้ทรัพย์ของคนอื่น คิดเอาเปรียบคนอื่น จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดทางทรัพย์สิน แรงงาน ปัญญาของคนอื่น) โทสะ (คิดอาฆาต พยาบาท เบียดเบียน จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการทำร้าย ทำลาย ด้วยกาย วาจา) โมหะ (คิดเบียดเบียนตนเองด้วยของมึนเมา มอมเมา มัวเมา จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการทำร้ายสติสัมปชัญญะของตน และผู้อื่น)]
1.4 สถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรม (Position with in Social-Culture System) ซึ่งประกอบด้วย ตำแหน่ง บทบาท หน้าที่ ศักดิ์ทางสังคม ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ตลอดจนค่านิยมต่างๆ ในสังคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเข้าสู่กระบวนการสื่อสาร การสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงาม จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ย่อมต้องอาศัย คุณสมบัติ ความเชื่อถือ และพฤติกรรมของถ่ายทอดวัฒนธรรม และผู้รับวัฒนธรรม เช่น ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน, ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ, สามัคคี คือพลังพังโลก สามัคคีธรรม คือ พลังสร้างโลก เป็นต้น

2. ปัจจัยของสาร ที่มีส่วนในการกำหนดประสิทธิภาพของสาร และส่งผลต่อประสิทธิผลของการสื่อสาร มีอยู่ 3 ประการ คือ
2.1 รหัสสาร (Message code) การเข้ารหัสและการถอดรหัส ต้องมีความเข้าใจกันระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร สัญลักษณ์ของรหัสขึ้นอยู่กับตัวสาร ตลอดจนเทคนิคในการเข้ารหัสและการถอดรหัส หากใช้อย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดความเที่ยงตรง รวดเร็ว ครบถ้วน และมีพลัง
2.1.1 ตัวสารที่ใช้รหัสรูปภาพ และรูปสัญลักษณ์ เป็นสิ่งที่สัมผัสเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น สิ่งพิมพ์ แผ่นป้าย โลโก้ สัญรูป (Icon) ต้องมีความชัดเจน รูปทรงถูกต้อง ขนาดพอเหมาะ ออกเผยแพร่ตรงวาระ ตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื้อหาไม่ยากเกินไป ความสั้นยาวของสาระ ความถี่ในการส่ง ต้องให้พอเหมาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ก่อนที่จะผลิตตัวสาร และส่งสารออกไป
การใช้รหัสรูปภาพ (image) และรูปสัญญลักษณ์ (logo, icon) จะสื่อความหมายได้ลึกซึ้ง กินใจมากกว่า รหัสที่เป็นข้อความ (text) “ภาพเพียงหนึ่งภาพ มีความหมายมากกว่าบรรยายด้วยคำพูด หรือข้อความเป็นพันหน้า”
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ และสัญลักษณ์ ได้แก่ mode color (RGB, CMYK, Gray, Black and White), brightness, contrast, threshold, blur, sharpen,
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อความ ได้แก่ font, font style, font size, font color, font effect, paragraph, paragraph spacing, line spacing, alignment, indent, tab
รูปภาพ และรูปสัญลักษณ์ ถูกนำไปใช้ประกอบในเอกสารสิ่งพิมพ์ และมวลชนอื่นๆ ภาพที่เกิดจากกล้องถ่ายภาพฟิล์มจะให้คุณภาพไม่ดีเท่ากล้องถ่ายภาพดิจิตอล แต่ภาพจากฟิล์มจะให้สุนทรีย์ศิลป์ทางอารมณ์ดีกว่าภาพจากกล้องดิจิตอล
ปัจจุบัน ภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ นิยมจัดเก็บด้วยรหัสดิจิตอล เพราะจัดเก็บได้คงทนกว่า คุณภาพของภาพคงที่ ในสื่อที่มีพื้นที่จัดเก็บน้อยแต่สามารถบรรจุภาพได้ปริมาณมากกว่า ราคาถูกลงขณะที่เทคโนโลยีสูงขึ้น

2.1.2 ตัวสารที่ใช้รหัสเสียง เช่น เสียงพูด (สื่อความหมายด้วยคำพูด) เสียงสัญญาณ (สื่อความหมายด้วยเสียง) เสียงดนตรี (สื่อความหมายด้วยสุนทรียศิลป์) เสียงกระทบ (สื่อความหมายด้วยประสบการณ์การได้ยิน เช่น เสียงรถยนต์ เสียงฟ้าร้อง เสียงเด็กหัวเราะ) และ เสียงรบกวน (สื่อความหมายไม่ได้ หรือ เป็นความหมายที่ไม่ต้องการจะสื่อออกไป) รหัสเสียงอาจถูกจัดเก็บด้วยระบบอนาล็อก จะมีคุณภาพของเสียงต่ำกว่า การจัดเก็บด้วยระบบดิจิตอล

2.1.3 ตัวสารที่ใช้รหัสแสง ได้แก่ ภาพที่เกิดจากการฉายด้วยอุปกรณ์กำเนิดแสง สร้างสัญลักษณ์ทางแสงแล้วฉายออกไปกระทบกับฉาก ให้เกิดภาพ หรือสัญลักษณ์ ที่ใช้สื่อความหมายกัน การใช้แสงจากหลอดไฟฟ้า แสงจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากการเผาไหม้ของวัตถุ จะให้คุณภาพต่างกัน เช่น ภาพยนตร์ระบบ 16 มม.ที่ใช้แสงจากไส้หลอดไฟฟ้า จะให้คุณภาพแสงต่ำ ภาพยนตร์ระบบ 35 มม. ที่ใช้แสงจากการเผาไหม้ของแท่งถ่าน จะให้คุณภาพแสงดีกว่าแบบไส้หลอด เป็นต้น
เครื่องฉายภาพที่ยังคงใช้เทคโนโลยีเก่า เช่น เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายฟิล์มสตริป เครื่องฉายภาพโปร่งใสหรือเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead) ไม่ได้รับความนิยมแล้ว เพราะมีเครื่องฉายภาพระบบดิจิตอล ที่เรียกว่า Projector และ เครื่องฉายภาพเสมือน หรือ Visualized Projector ซึ่งสามารถฉายภาพแบบโปร่งใส หรือ ทึบแสงก็ได้ ส่วน Projector ใช้เป็นอุปกรณ์ถอดรหัสของเครื่องคอมพิวเตอร์ วิดีโอ ได้พร้อมๆกัน นับเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและราคาถูกลง
ปัจจุบันการสร้างรหัสแสงจากหลอดไฟฟ้า จะคุวบคุมด้วยอุปการณ์หรือกลไก (Mechanic) ที่ได้รับคำสั่งจากโปรแกรมดิจิตอล ทำให้เกิดความแม่นยำในการเข้ารหัส-ถอดรหัสได้ดีกว่า

2.1.4 ตัวสารที่ใช้รหัสคลื่นแม่เหล็ก ได้แก่ เสียง และวิดีโอ ที่บันทึกลงบนเทป บันทึกและจัดเก็บด้วยระบบอนาล็อก ทำให้คุณภาพในการคัดลอกตัวสารเสื่อมลงเรื่อยๆ หากมีการทำซ้ำหลายๆ ครั้ง การบันและจัดเก็บด้วยระบบนี้นับวันจะไม่นิยมใช้ แต่ไปใช้ระบบดิจิตอลแทน
2.1.5 ตัวสารที่ใช้รหัสเลขฐานสอง (Digital Signal) สามารถสื่อความหมายได้ทั้งภาพและเสียงพร้อมกัน (เรียกสื่อประเภทนี้ว่า Multimedia) คุณภาพความคมชัดของภาพ-เสียง และความเที่ยงตรงในการรักษาคุณภาพสูงกว่าสื่อแบบอื่น ทำให้การคัดลอกข้อมูลจากต้นฉบับไปสู่สำเนา ทำได้โดยคุณภาพของภาพและเสียงเทียบเท่าหรือเหมือนต้นฉบับทุกประการ (ไม่มีสัญญาณ drop)
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) การสร้างสารหรือจัดเก็บสาร การเผยแพร่สาร จะใช้วิธีการเข้ารหัสถอดรหัสของสื่อ (midium) ด้วยรหัสเลขฐานสองทั้งสิ้น ไม่ว่าสารนั้นจะเป็นสื่อสารมวลชน หรือสื่อโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ หรือสื่อปราศรัย โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ต นับเป็นสื่อดิจิตอลโดยสมบูรณ์

2.2 เนื้อสาร (Message content) มีปัจจัยที่นำมาพิจารณาประกอบ คือ
2.2.1 ประเภทของสาร แบ่งออกเป็น
-ข่าวสาร (NEWS)
-การประชาสัมพันธ์ (Public Relations)
-การโฆษณา (Advertising)
-การรณรงค์ (Strategic Campaign)
-การจัดวาระสาร (Agenda Setting)
2.2.2 วัตถุประสงค์ในการกำหนดเนื้อสาร ดูจากประเภทของสารว่า เป็นสารประเภทใด ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกัน เช่น การจัดสถานการณ์รณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงาน ก็ควรใช้วิธีการโฆษณา และการณรงค์ ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อโน้มน้าวใจ จะได้ผลดีที่สุด กลุ่มเป้าหมายคือคนเมือง เนื้อสารก็ต้องสร้างให้คนเมืองอ่าน มิใช่คนชนบทอ่าน วัตถุประสงค์แบ่งออกเป็น
-ให้ข้อมูล ความรู้ทั่วไป
-การศึกษา เรียนรู้
-ความบันเทิง
-การโน้มน้าวใจ
-การแสดงความคิด หรือประชามติ
-การตรวจสอบอำนาจรัฐ

2.2.3 เวลา พื้นที่ในการนำเสนอ (Times & Area for Presentation) ได้แก่ จำนวนเวลา (นาที, ชั่วโมง, วัน, เดือน) วันเวลา (เวลา วัน เดือน ปี เริ่มต้น - สิ้นสุด) วาระและโอกาส ความถี่ ปริมาณพื้นที่ในการแสดงผล ขึ้นอยู่กับช่องทางการสื่อสารว่าจะใช้สื่อประเภทใด เช่น หนังสือพิมพ์ คิดเป็น ตารางนิ้ว หรือจำนวนหน้า, วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ คิดเป็นวินาที นาที อัตราในการนำเสนอ วันละกี่ครั้ง หรือสัปดาห์ละกี่วัน หรือกี่ครั้ง, แผ่นป้าย (Cutout, Buildboard) คิดเป็นเนื้อที่ ตร.นิ้ว หรือ จำนวนแผ่น หรือจำนวนจุดที่ติดตั้ง, แผ่นพับ ใบปลิว ใบปิดโฆษณา คิดเป็นจำนวนแผ่น หรือชุด ตามขนาดที่ต้องการ, กิจกรรม คิดเป็นจำนวนครั้งต่อวัน หรือจำนวนวันต่อครั้ง หรือ จำนวนครั้งต่อ 1 พื้นที่ หรือจำนวนพื้นที่ต่อครั้ง
2.3 การจัดสาร (Message treatment) หมายถึงการจัดลำดับสารในการ นำเสนอสาร หรือส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้รับสาร โดยใช้กลยุทธ์การจัดลำดับสาร (Message Organization ของ Monroe: 1945) Attention > Need > Satisfaction > Visualization > Action

3. ปัจจัยของสื่อ ในที่นี้ หมายถึงช่องทางในการส่งสาร หรือพาหนะที่จะพาสาร (Message) ไปยังเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร สื่อ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2544) คือ (1) สื่อบุคคล
(2) สื่อวัตถุ (3) สื่อกิจกรรม พิธีกรรม (4) สื่อเอกสาร สิ่งพิมพ์ (รวมถึงสื่อสารมวลชน ประเภทเอกสาร สิ่งพิมพ์) ได้แก่ สื่อที่ใช้เขียน และ อ่าน มีการเข้ารหัสและถอดรหัสอย่างถูกวิธี จึงจะสื่อความหมายได้ถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ (5) สื่อมัลติมีเดีย หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อไอที (6) สื่อโทรคมนาคม (รวมถึงสื่อสารมวลชน ประเภทโทรคมนาคม) ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียง (7) สื่อปราศรัย ได้แก่ การบรรยาย ปราศรัย
3.1 ความถูกต้องเที่ยงตรง (Accuracy) ซึ่งบ่งบอกถือคุณภาพของสิ่งที่เป็นพาหะ แม้ว่าจะมีสิ่งรบกวนต่างๆ มาเป็นอุปสรรค ก็ไม่ทำให้คุณสมบัติ หรือคุณค่าในความเป็นสื่อที่เที่ยงตรงสูญเสียไป
3.2 สิ่งรบกวน (Noise) ได้แก่ โรคต่างๆ เสียง แสง คลื่น (คลื่นไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็ก) วัตถุ ตลอดจน อารมณ์ และทัศนียภาพต่างๆ
3.3 คุณสมบัติ (Properties and Qualification) ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพ เช่น สื่อที่ถูกจัดเก็บในระบบดิจิตอล มีความเที่ยงตรงและปริมาณในการจัดเก็บสูงกว่า สื่อระบบอนาล็อก สื่อบุคคล มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนสูงกว่าสื่อประเภทอื่น เป็นต้น

2. องค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสาร และกระบวนการสื่อสาร
การสื่อสาร เป็นกิจกรรมร่วมกันที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร หมายความว่า การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน คือ
(1) ผู้ส่งสาร หรือผู้กำหนดสาร (Sender, Source Creator)
(2) สาร (Message, Information)
(3) สื่อ หรือพาหนะ หรือช่องทางในการนำสาร ส่งไป (Media หรือ Channel)
(4) ผู้รับสาร (Receiver)
(5) ปฏิกิริยา หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หลังส่ง-รับสาร (Feed Back)
เมื่อมีองค์ประกอบครบพร้อม ต่อไปดูว่าเกิดกระบวนการต่อไปนี้หรือไม่ คือ (1) มีการกำหนดสาร (Message Design & Source Data) โดยผู้ส่งสาร อาจต้องมีการเข้ารหัสของสารด้วย ขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของสาร (2) สารถูกส่งไปยังผู้รับ (Process) โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของสาร (3) สารที่ส่งออกไปถึงผู้รับปลายทาง และผู้รับก็รับรู้ถึงสารที่ส่งมานั้น (Awareness) และเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ อาจเป็นเชิงบวก (เห็นด้วย ยอมรับ) หรือเชิงลบ (ขัดแย้ง ไม่ยอมรับ) หรือเชิงซ่อน (รู้สึกเฉยๆ ยังไม่ลงความเห็น หรือตัดสินใจในเวลานั้น)
นี่คือ Model พื้นฐานที่ใช้อธิบายรูปแบบการสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงบูรณาการ (Integrated Communication) การสื่อสารการตลาด-ธุรกิจ (Bussiness & Marketing Communication) การสื่อสารมวลชน (Mass Media Communication) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) การสื่อสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Communicaton) การสื่อสารเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ (Conditional Health Communication) และการสื่อสารการศึกษา (Educational Communication)
โดยปกติ ผู้ส่งสาร และผู้รับสาร จะประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ส่งสาร และฝ่ายผู้รับสาร หากผู้ส่งสาร และผู้รับสารเป็นบุคคลคนเดียวกัน เรียกว่า การสื่อสารภายในบุคคล และผู้ส่งสารมักจะเป็นผู้กำหนดสารที่จะส่งไป และสาร หรือ message ที่จะส่งไป มักจะถูกกำหนดขึ้นทั้งจากผู้ส่งสารเอง และจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของวจนภาษา หรือ อวจนภาษา ก็ตาม
กรณีที่ผู้กำหนดสาร และผู้ส่งสาร เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ สารที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น (Knowledge) หรือปรุงแต่งขึ้นเป็นองค์ความรู้ (Create) หรือผุดขึ้นโดยประจักษ์ (Insight) ของผู้ส่งสารนั่นเอง แล้วต้องการจะส่งสารนั้นไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้รับสาร
กระบวนการส่งสาร จะเริ่มตั้งแต่การบรรจุสารเข้าไปในระบบการส่ง (Message Input & Sourse Input) ซึ่งประกอบด้วย สาร สื่อ เวลา โอกาส โดยอาศัยช่องทางต่างๆ เป็นพาหะพาสารไปยังผู้รับ (Process) สาร ดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปของภาษาพูด สัญลักษณ์ อักขระ สื่อ หรือช่องทางที่ใช้ในการส่ง ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อสารนั้นจะอยู่ในรูปใด

ในการส่งสาร จะต้องกำหนดเวลา เพื่อให้ผู้รับสาร มีโอกาสในการรับ เวลา หมายถึง จำนวนเวลา (วินาที, นาที, ชั่วโมง) และระยะเวลา (Time หรือ ครั้ง) โอกาส หมายถึง ช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีที่ผู้รับสาร สามารถรับรู้ถึงสาร การสื่อสารจะสำเร็จสมบูรณ์ ต่อเมื่อผู้ส่งสารรับทราบถึงปฏิกิริยาของผู้รับสาร หลังจากรับสารนั้นแล้ว
การสื่อสารจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อ ผู้รับสารเกิดการรับรู้ (Awareness) เกิดองค์ความรู้ (Knowledge) เกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่น จนยอมรับข้อเสนอหรือเงื่อนไขในสารนั้น (Acceptation) หรือเกิดการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (Decision) ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior) [ดูรายละเอียดในหัวข้อ 3. คุณสมบัติและสถานภาพของการสื่อสาร]


Communication หรือการสื่อสาร ถูกเรียกรวมเข้ามาในภายหลัง จากเมื่อก่อนนี้เราจะได้ยินแค่คำว่า IT หรือ Information Technology เท่านั้น ต่อมาได้นำตัว C หรือ Communication เข้ามาร่วมด้วย อันเนื่องจากเหตุผลของเทคโนโลยีการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างมากและรวดเร็ว จนสามารถที่จะนำสื่อเข้าไปสื่อสารในเทคโนโลยีนี้ได้ สื่อที่ว่านี้ก็คือสารสนเทศนั้นเอง ในตอนต่อไปจะได้กล่าวว่าสารสนเทศถูกนำพาเข้าไปสื่อสารด้วยเครื่องมือที่เราเรียกว่าคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร ในตอนนี้ก็จะขอกล่าวถึงการสื่อสารเบื้องต้นพอสังเขป และจะได้กล่าวอย่างละเอียดในบทเรียนเรื่องการสื่อสารข้อมูลต่อไปเช่นกัน
องค์ประกอบการสื่อสาร
การสื่อสารที่เกิดขึ้นมากมาย บ้างก็สำเร็จ บ้างก็เกิดปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้อย่างประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบดังต่อไปนี้

1. หน่วยส่งข้อมูล (Sending Unit) หรือ ผู้ส่งข่าวสารหรือแหล่งกำเนิดข่าวสาร (Source) อาจจะเป็นสัญญาณต่าง ๆ เช่น สัญญาณภาพ ข้อมูล และเสียงเป็นต้น ในการติดต่อสื่อสารสมัยก่อนอาจจะใช้แสงไฟ ควันไฟ หรือท่าทางต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดข่าวสาร จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้เช่นกัน
2. ช่องทางการส่งข้อมูล (Transmission Channel) ในที่นี้อาจจะหมายถึงสื่อกลางหรือตัวกลางที่ข่าวสารเดินทางผ่าน อาจจะเป็นอากาศ สายนำสัญญาณต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งของเหลว เช่น น้ำ น้ำมัน เป็นต้น เปรียบเสมือนเป็นสะพานที่จะให้ข่าวสารข้ามจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง
3. หน่วยรับข้อมูล (Receiving Unit) หรือผู้รับข่าวสาร เป็นจุดหมายปลายทางของข่าวสาร ซึ่งจะรับรู้จากสิ่งที่ผู้ส่งข่าวสาร หรือแหล่งกำเนิดข่าวสารส่งผ่านมาให้ตราบใดที่ การติดต่อสื่อสารบรรลุวัตถุประสงค์ ผู้รับสารหรือจุดหมายปลายทางของข่าวสารก็จะได้รับข่าวสารนั้น ๆ

วัตถุประสงค์การสื่อสาร
1. เพื่อรับข้อมูลและสารสนเทศจากแหล่งกำเนิดข้อมูล
2. เพื่อส่งและกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
3. เพื่อลดเวลาการทำงาน
4. เพื่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งข่าวสาร
5. เพื่อช่วยขยายการดำเนินการองค์การ
6. เพื่อช่วยปรับปรุงการบริหารขององค์การ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา