เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

การเมืองของโลกสมัยปัจจุบัน จากธรรมมะกับการเมืองของท่านพุทธทาส

“โลกนี้ถูกครอบงำอยู่ด้วยระบบการเมืองหลายรูปแบบ, แล้วก็พัวพันกันยุ่ง มีปฏิกิริยาต่อกัน คือการทำลายล้างกัน จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ; .... แต่ที่มันแน่ และมีอยู่แล้วรูปแบบเดียวก็คือว่า การเมืองชนิดนั้น ทั้งหมดนั้น มัน เป็นเพียงปฏิกิริยา ที่มัน กระเด็นออกมา จากการพยายามของกลุ่มที่มีอำนาจ. กลุ่มที่มีอำนาจ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็เรียกว่า กลุ่มนายทุน ; โดยเฉพาะสมัยปัจจุบันนี้ กลุ่มนายทุนมีอำนาจมากที่สุดในโลก, เขาบันดาลอะไรได้ทั้งนั้น แล้วก็อยู่หลังฉากด้วย ไม่แสดงตัวให้เห็น.
“ทีนี้อำนาจที่มาจากบุคคลเหล่านี้ บันดาลให้เกิดเป็นอะไรขึ้นมา เป็นปฏิกิริยาต่อโลก ; นั่นแหละคือการเมืองของโลกในสมัยนี้ ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรม, แล้วก็ไม่เป็นการเมืองที่เป็นไปตามเหตุผลตามธรรมชาติ, หรือตามที่มันควรจะเป็นไป. แต่มันได้เป็นไป ภายใต้อำนาจของการบันดาลของกลุ่มที่ทรงอำนาจอย่างยิ่ง คือกลุ่มนี้.
“อย่าเข้าใจว่า เราจะมานั่งนินทาด่าว่านายทุน เรากำลังพูดให้เห็นความจริงว่า โลกปัจจุบันนี้ มัน อยู่ในกำมือของนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ; คำว่านายทุนมันก็หลายรูปแบบ : นายทุนตรงๆ เป็นพวกค้าเงิน นี้ก็มี, นายทุนอำนาจผูกขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มี ; นี้เป็นส่วนใหญ่ที่มีอยู่เป็นส่วนมาก.
“ทีนี้ อีกทางหนึ่ง มันก็เป็นการเมือง ปฏิกิริยาของการต่อต้านพวกนายทุน หรือพวกที่ทรงอำนาจ. พวกนี้ไม่ยอม ที่จะให้นายทุนแสดงบทบาท, เขาพยายามที่จะต่อต้านนายทุน ; แต่แล้วก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า คนพวกต่อต้านนี้ เมื่อต่อต้านสำเร็จแล้ว ตนเองจะไม่กลับเป็นนายทุน ในแบบใดแบบหนึ่งไปเสียอีก : เป็นนายทุนทางการเงิน, หรือนายทุนศักดินา, หรือนายทุนชนิดไหนก็ตาม, มันมีอยู่หลายรูปแบบ....
“นี่คือการเมืองของโลกสมัยปัจจุบัน”

หากพิจารณาข้อความที่ยกมาข้างต้น เราจะเห็นความเข้าใจของท่านพุทธทาส ที่มีต่อ “การเมืองของโลกสมัยปัจจุบัน” อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นนัยสืบเนื่องว่า เพราะเหตุใด ท่านจึงปฏิเสธ “เสรีประชาธิปไตยเอกัตตนิยม” ที่มีทุนเป็นพื้นฐานและคุณค่าหลัก หรือที่ท่านให้สมญาว่า “ประชาธิปไตยกอบโกย” พร้อมทั้งนำเสนอธัมมิกสังคมนิยม อันมีหลักการและองค์ประกอบดังที่เราได้พิจารณามาแล้ว
ถึงกระนั้น ส่วนท้ายข้อความข้างต้น ก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเช่นกัน ว่า ธัมมิกสังคมนิยม ไม่ใช่เรื่องเดียวกับสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ที่เป็น “ปฏิกิริยาของการต่อต้านพวกนายทุน” ท่านพุทธทาสเห็นว่า สังคมนิยมอย่างที่เป็นอยู่หรือยึดถือกันในปัจจุบัน (อย่างน้อยสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน) เป็นสังคมนิยมที่ไม่ใช่ “ธรรมิก” ซ้ำยังมีโลกทัศน์ที่เน้นวัตถุนิยม ไม่ต่างอะไรจากทุนนิยม แม้จะอ้างว่าเป็นวัตถุนิยมเชิงปรัชญา แต่สำหรับท่าน ก็ไม่ต่างอะไรโดยแก่นสาร
ท่านพุทธทาสตั้งคำถามต่อไปว่า “ทำไมนายทุนจึงอาละวาด” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คำตอบก็คือ “เพราะเป็นทาสของเงิน”.... แล้ว “ทำไมจึงเป็นทาสของเงิน” ก็เพราะ “เป็นทาสของอายตนะ หรือเป็นทาสของสัมผัสที่เป็นสุขเวทนา”…. ด้วยเหตุนี้ “อำนาจสูงสุด (จึง) อยู่ที่อำนาจเงิน เลยไม่มีอำนาจของธรรมะ”
การเป็นทาสของอายตนะ การเป็นทาสของสัมผัสหรือผัสสะ ก็คือการเป็นทาส “กามารมณ์” (ตามความหมายที่ครอบคลุมสัมผัสทั้งหมด ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านเพศรส)
อันที่จริงแล้ว ตามธรรมชาติ คนเรามีข้อจำกัดในการที่จะตกเป็นทาสผัสสะหรืออายตนะนี้ แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถขยายสุขเวทนา กามารมณ์ และความเป็นทาสเหล่านี้ต่อไปได้ไม่รู้จบ ก็คือ ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ของมนุษย์
ในทัศนะของท่าน “ความเจริญ ที่เรียกกันว่า civilization ของโลกปัจจุบันนี้ ไม่มีอะไรเลย นอกจากส่งเสริมเหตุปัจจัยของกามารมณ์” องค์ความรู้ วิชาการ และวิทยาการทั้งหลายในปัจจุบัน จึงเป็นการศึกษา ค้นคว้า พัฒนา เพื่อตอบสนอง “ความเจริญ” ในแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ สนับสนุนโหมเร่งให้ “เหตุปัจจัยของกามารมณ์” เฟื่องฟู ทำให้ “มีผลเป็นโลกที่ไร้ศีลธรรมอย่างที่เห็นอยู่”
ท่านมิได้ต่อต้านหันหลังให้กับความรู้วิชาการเหล่านี้ แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า มนุษยชาติ “ต้องมีการก้าวหน้า วิชาการทางวัตถุที่ดีกว่า” และหากมนุษย์รู้จักทำให้ก้าวหน้าอย่างสอดคล้องกับคุณค่าที่กอปรด้วยธรรม “นี่มันก็จะกลายเป็นของมีประโยชน์.... ให้พบวิธี ที่เราจะกินอยู่กันอย่างถูกต้อง ไม่ส่งเสริมกามารมณ์ และให้ประหยัดที่สุด”
ท่านจึงกล่าวเชิงแนะนำขอร้องว่า “ขอให้ผู้มีปัญญา มีความรู้ มีความก้าวหน้าทางวัตถุ คือพวกนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้าทั้งหลายนี้ ไปช่วยคิดค้นกันเสียใหม่ ให้พบระบบกิน ระบบใช้ ระบบเป็นอยู่ ระบบอะไร ทางวัตถุนี่ ที่ไม่ส่งเสริมกามารมณ์ ให้ถูกต้อง ที่มนุษย์จะมีชีวิต”
ในแง่ของการดำรงชีวิตและการบริโภค ท่านกล่าวไว้เมื่อสามสิบปีที่แล้วอย่างตรงประเด็นสมัยนี้ ว่า “เดี๋ยวนี้เรามีวิธีกิน อย่างที่ว่า เสียค่าเปลือกนั่นน่ะ มากเหลือเกิน ค่ากระป๋อง ค่าขวด ค่าอะไร.... ปีหนึ่งไม่รู้ว่าเท่าไรต่อเท่าไร.... มันทิ้งไปปีหนึ่ง มหาศาลเท่าไร.... ต้องหาวิธีอื่นที่ไม่ต้องเสียสิ่งเหล่านี้”
กล่าวโดยรวม วิชาการทางวัตถุควรมุ่งช่วยให้มนุษย์เป็นอยู่ “อย่างถูกต้องตามธรรมชาติและประหยัด” และ “ให้วิชาการทางวัตถุมาช่วยเหลือ การที่คนเราไม่ต้องเป็นทาสของอายตนะให้มากขึ้น” แนวทางดังกล่าวนี้ ท่านพุทธทาสเห็นว่า ยัง “คิดกันว่าทำไม่ได้” แต่ที่จริงแล้ว เป็นความก้าวหน้าของวิชาการทางวัตถุในอีกแนวทางหนึ่ง “ซึ่งจะต้องค้นกันใหม่ เพราะเดี๋ยวนี้กำลังไม่มี”
ข้อเสนอของท่านในเรื่องนี้ คือประเด็นว่าด้วย “กระบวนทัศน์” (paradigm) ในการแสวงหาและสร้างความรู้ทางวิชาการนั่นเอง เป็นการเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ “ทางวัตถุ” (ซึ่งรวมสาขาวิชาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ “วัตถุ” โดยตรงด้วย) ค้นหาความก้าวหน้าในอีกแนวทางหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” (paradigm shift) ได้ในที่สุด
แน่นอนว่า เมื่อทิศทางของความรู้และวิชาการเปลี่ยนไป วิทยาการหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย คือเปลี่ยนจากที่เคยรับใช้กามารมณ์จนห่างไกลสมดุลธรรมชาติ ไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ชนิดที่ทำให้สังคมมนุษย์ “อยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติ”
เทคโนโลยีปัจจุบัน “ทำให้เราต้องเสียทรัพยากรในโลกมากเกินไป” กลายเป็น “การพัฒนาที่ผิดทาง เปลืองมากไป ได้ผลน้อยเกินไป” เพราะเน้นไปที่การ “ทำให้คนเราไกลจากธรรมชาติ….สร้างวิมานแข่งกับเทวดา” การพัฒนาเช่นนี้ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่มนุษย์จะต้องทำ แต่มนุษย์ก็ “บ้ามากเกินไป มันจึงขยายความที่ไม่ต้องทำออกไปมากขึ้น แล้วถือเป็นความต้องทำ”
วิทยาการก็ดี เทคโนโลยีก็ดี เครื่องจักรต่างๆ ก็ดี ต้องทำให้มนุษย์อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีชีวิตที่สมดุล ทั้งในการอยู่ด้วยตนเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่น และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ จะต้องไม่เบียดเบียนให้ “คนไม่มีงานทำ” เพราะเทคโนโลยีควรมีไว้ช่วยมนุษย์ทำงาน ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้มนุษย์ (พวกหนึ่ง) ไม่มีงานทำ และ (อีกพวกหนึ่ง) ไม่ต้องทำงาน
ประเด็นเรื่องความรู้และวิทยาการนี้ แม้ท่านพุทธทาสจะไม่ได้รวมไว้ในองค์ประกอบของธัมมิกสังคมนิยม แต่ผมเห็นว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ จนอาจถือเป็นองค์ประกอบข้อที่แปดได้เลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา