เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

กฎหมายคืออะไร ? อะไร คืออำนาจสูงสุดในประเทศไทย

การที่เราจะอ่านหนังสือกฎหมาย หรือ จะเรียนกฎหมาย ถ้าหากเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เรา จะอ่าน จะเรียน คืออะไร เสียก่อน ก็เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจในสิ่งนั้น.
วิธีแก้ความทุกข์ เรื่องไม่รู้ว่ากฎหมายคืออะไร ?
ทำได้โดยเราต้องค้นคว้าหาความหมาย ให้ทราบเสียก่อนว่า กฎหมายคืออะไร?
คำว่า "กฎหมาย" เป็นคำศัพท์ ภาษาไทย ที่สำคัญคำหนึ่ง ซึ่งทางราชการ บัญญัติขึ้น และได้ให้คำนิยามความหมายไว้. ดังนั้น คู่มือ ที่เราจะใช้ค้นคว้าที่ดีที่สุด คือ หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่ากฎหมายไว้
กฎหมาย
๐ บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ได้ตราขึ้นไว้ เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง และบังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ หรือต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑)
จากคำนิยามความหมายดังกล่าว คำว่า กฎหมาย สามารถแยกองค์ประกอบ ออกได้เป็น ๔ ข้อคือ
๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
๓. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง).
๔. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม.
ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป
๑. กฎหมายเป็น บทบัญญัติ.
บทบัญญัติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมาย การที่เราจะทราบว่า บทบัญญัติ คืออะไร เราคงต้องดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมาย ของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ว่า

“บท” ๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความเรื่องหนึ่งๆ หรือ ตอนหนึ่ง
“บัญญัติ” ๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความที่ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือ เป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย.
“ข้อบังคับ” หรือ “กฎข้อบังคับ” หมายความว่า บทบัญญัติที่เป็นชั้นข้อบังคับ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย.

“บังคับ”
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.

“บทบัญญัติ” หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ในกฎหมาย.

“ลายลักษณ์” หมายความว่า ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายเป็นรูปต่างๆ.

“อักษร” หมายความว่า ตัวหนังสือ, เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด.
จากคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า บทบัญญัติ คือข้อความ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการบังคับ หรือใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ และจะต้องบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การที่ กฎหมาย ต้องบันทึกไว้เป็น ตัวอักษร ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่จะยกขึ้นมาอ้างอิงได้ในภายหลัง หากไม่มีลายลักษณ์อักษรก็จะต้องใช้วิธีจำเอาไว้ ซึ่งอาจหลงลืม หรือจำผิดเพี้ยนกันไป อันเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.

๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
การที่เราจะทราบว่าใครบ้างเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เราต้องทราบเสียก่อนว่า อำนาจคืออะไร?
คำว่า “อำนาจ” มีหลายความหมาย คือ
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความสามารถ หรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์.
๐ กำลัง, ความรุนแรง, เช่นชอบใช้อำนาจ.
๐ ความบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.
“สิทธิ สิทธิ์”
๐ เป็นคำในกฎหมาย หมายความว่า อำนาจที่จะทำการใดๆได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย เช่น สิทธิบัตร.
ที่มาของอำนาจ
อำนาจ ที่จะบังคับแก่บุคคลทั่วๆไปได้ จะต้องมาจากจากบทบัญญัติของกฎหมาย บัญญัติรับรองไว้.
อำนาจตามกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ อำนาจของบุคคล (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล) และ อำนาจสูงสุดของประเทศ (อำนาจของทางราชการ)
ที่มาของอำนาจของบุคคล ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น อำนาจปกครองของบิดามารดา ที่มีต่อบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา ๑๕๖๖) อำนาจของผู้อนุบาล อำนาจของผู้พิทักษ์ .
อำนาจของบุคคล กฎหมายมักจะใช้คำว่า สิทธิ เพราะเป็นอำนาจที่ใช้บังคับกันภายในสถาบันของตน จะนำไปใช้กับบุคคลภายนอกไม่ได้.
ที่มาของอำนาจสูงสุดของประเทศ ได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓ บัญญัติว่า
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทาง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญนี้.
อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของรัฐเอกราช ที่ใช้ในการปกครองประเทศ แบ่งออกเป็น ๓ อำนาจ คือ
(๑) อำนาจนิติบัญญัติ. (๒) อำนาจบริหาร. (๓) อำนาจตุลาการ.
อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย หรือ ตรากฎหมาย ที่เรากำลังพูดถึง.
สำหรับประเทศไทย ซึ่งในอดีตมีการปกครองด้วย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหลายครั้ง ระหว่างปฏิวัติ คณะปฏิวัติได้ออก ประกาศของคณะปฏิวัติใช้เป็นกฎหมายหลายฉบับ กฎหมายที่บัญญัติไว้เดิม ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และบัญญัติโดย คณะปฏิวัติ หลายฉบับ ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้.

ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย จึงได้แก่ สถาบันต่างๆ ๖ สถาบัน คือ
(๑) พระมหากษัตริย์. (๒) คณะปฏิวัติ หรือรัฐประหาร. (๓) สภาผู้แทนราษฎร. (๔) รัฐสภา. (๕) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ. (๖) คณะรัฐมนตรี.

(๑) พระมหากษัตริย์ หรือ พระเจ้าแผ่นดิน หมายความถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน.
เนื่องจากประเทศไทย ในอดีตมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว พระราชโองการ หรือพระบรมราชโองการ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ มาจาก พระดำรัสสั่งของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นกฎหมาย และมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “พระราชบัญญัติ” ซึ่งหมายความถึงกฎหมาย มีใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ปวงชนชาวไทยได้ถวายอำนาจอธิปไตยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้ ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ ทางสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร) ทรงใช้อำนาจบริหาร ทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล.

(๒) คณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารคือ คณะบุคคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงรัฐบาล.
ประเทศไทยมีการ รัฐประหารครั้งแรก เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาภายหลังได้มีการรัฐประหารอีกหลายครั้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เรียกชื่อคณะรัฐประหารแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ , คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, เป็นต้น.
คณะบุคคลเหล่านี้ เมื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้แล้ว ก็ประกาศยกเลิก รัฐธรรมนูญ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วออกประกาศ เรียกว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย และมีการยอมรับกันจนเป็นประเพณีนิยม ทั้ง ศาล และ รัฐบาล ก็ยังถือปฏิบัติ และ บังคับบัญชาให้อยู่จนปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่ประการใด. เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ เป็นต้น.

(๓) สภาผู้แทนราษฎร คือสถาบัน หรือองค์การของรัฐ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ขณะนั้นมีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว ยังไม่มี วุฒิสภา จึงไม่มีรัฐสภา). กฎหมายที่บัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ยังใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เช่น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙

(๔) รัฐสภา คือสถาบัน หรือองค์การของรัฐ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ ทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือบัญญัติกฎหมายประกอบด้วย ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ.

(๕) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี สภานิติบัญญัติสภาเดียว ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายแทนรัฐสภา (ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ)

(๖) คณะรัฐมนตรี คือคณะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และบัญญัติให้มีอำนาจ ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือในกรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือ เงินตรา ซึ่งจะต้องรับการพิจารณาโดยด่วน และลับ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร เรียกว่า “พระราชกำหนด”.


๓. บทบัญญัติที่เป็นกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)

(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
ก่อนที่จะรู้ว่าบทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมืองคืออะไร เราจะต้องทราบเสียก่อนว่า การบริหารบ้านเมืองคืออะไร ?
การทำความเข้าใจในเรื่องนี้จำเป็นจะต้อง ทราบนิยามความหมายที่เป็นภาษาราชการ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของถ้อยคำต่างๆดังต่อไปนี้เสียก่อน คือ
“บริหาร” หมายความว่า จัดการ ดำเนินการ ปกครอง.
“ปกครอง” หมายความว่า ดูแล คุ้มครอง.
“คุ้มครอง” หมายความว่า ป้องกันรักษา ระวังรักษา ปกป้องรักษา.
“ดูแล” หมายความว่า เอาใจใส่ ปกปักรักษา ปกครอง.
“จัดการ” หมายความว่า สั่งงาน ควบคุมงาน ดำเนินงาน.
“สั่ง” หมายความว่า บอกไว้เพื่อให้ทำ หรือปฏิบัติ.
“แผ่นดิน” หมายความว่า รัฐ.
“รัฐ” หมายความว่า แว่นแคว้น บ้านเมือง ประเทศ.
“รัฐบาล” หมายความว่า องค์กรที่ใช้อำนาจบริหารในการปกครองประเทศ.
“คณะรัฐมนตรี” หมายความถึง คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๓๕ คน เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐).
“บ้านเมือง” หมายความว่า ประเทศชาติ รัฐ.
“ประเทศ” หมายความว่า ชุมนุมแห่งมนุษย์ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในดินแดนอันมี อาณาเขตแน่นอน มีอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ได้อย่างอิสระ และ มีการปกครองอย่างเป็นระเบียบ เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ที่อยู่รวมกันนั้น.
“ราชการ” หมายความว่า การงานของรัฐบาล หรืองานของพระเจ้าแผ่นดิน.
“ข้าราชการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจาก งบประมาณรายจ่าย หมวดเงินเดือน เช่น ข้าราชการพลเรือน, ข้าราชการการเมือง, ข้าราชการทหาร, ข้าราชการครู, ข้าราชการฝ่ายตุลาการ. เป็นต้น.
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับแต่งตั้ง ให้ ปฏิบัติราชการ ไม่ว่าเป็นประจำ หรือชั่วคราว และหมายความรวมถึงบุคคลผู้ทำหน้าที่ช่วยราชการ ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานเฉพาะกรณีด้วย.
“รับ” หมายความว่า ตกลงตาม เช่นรับทำ.
“ปฏิบัติ” หมายความว่า ดำเนินการไปตามระเบียบแบบแผน เช่น ปฏิบัติราชการ.
“การเมือง” เป็นคำนาม มีความหมายหลายความหมาย ได้แก่.
๐ งานที่เกี่ยวกับรัฐ หรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมือง ได้แก่วิชาว่าด้วยรัฐ การจัดส่วนแห่งรัฐ และ การดำเนินการแห่งรัฐ.
๐ การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับ นโยบายในการบริหารประเทศ เช่นการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่การดำเนิน นโยบายระหว่างประเทศ.
๐ กิจการอำนวย หรือ ควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน เช่นตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อำนวยการบริหารแผ่นดิน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี หรือ ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร
๐ ภาษาปาก (ภาษาพูด) เป็นคำกริยาวิเศษณ์ หมายความว่า มีเงื่อนงำ , มีการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่, เช่นป่วยการเมือง.
(ในสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะพวกที่เรียกตนเองว่า “นักการเมือง” และ บรรดา สื่อมวลชน จะพูดถึงคำว่าการเมือง ในความหมายของภาษาพูด จึงทำให้คำว่าการเมืองมีความหมายไปในทางที่ไม่ดี ทำให้คนไทยเข้าใจความหมายผิดๆ)
การบริหารบ้านเมือง จึงหมายความถึง การจัดการ สั่งการ ควบคุมดูแล กิจการงาน ทั้งหลายของบ้านเมือง หรือ ประเทศ หรือ แผ่นดิน หรือ รัฐ ซึ่งตามกฎหมายใช้คำว่า “ การบริหารราชการแผ่นดิน”
ราชการแผ่นดิน มีมากมายหลายประเภท หลายลักษณะ ไม่สามารถทำโดยบุคคลคนเดียว หรือ คณะเดียวได้ เพราะต้องการความรู้ความสามารถ หรือความชำนาญเฉพาะแต่ละงาน เช่น

งานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร, งานเกี่ยวกับการเงิน การคลัง, งานด้านที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ, การเกษตร, การประมง, การปศุ-สัตว์, การคมนาคม, การขนส่ง, การพาณิชย์, การบำบัดทุกข์บำรุงสุข, การรักษาความสงบเรียบร้อย และ การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ, การศาล, การศาสนา, การศึกษา, การแพทย์, การสาธารณสุข, การอุตสาหกรรม เป็นต้น.
งานต่างๆเหล่านี้ เป็นงานของบุคคลผู้มี ตำแหน่งทางราชการ ซึ่ง มีหน้าที่ และ มีอำนาจ ตามกฎหมาย ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และ ให้บริการแก่ปวงชนชาวไทย (รธน.มาตรา ๗๐)
การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของใคร?
การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่ ของ คณะบุคคล คณะหนึ่ง เรียกว่า “ คณะรัฐมนตรี” แต่ รัฐมนตรี จะบริหารราชการตามอำเภอใจไม่ได้ จะต้อง บริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และ ตามนโยบาย ที่ได้แถลงไว้ต่อ รัฐสภา และต้อง รับผิดชอบ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในหน้าที่ของตน รวมทั้ง ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต่อรัฐสภา ในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๐๑, ๒๑๑, และ ๒๑๒)

ในการปฏิบัติหน้าที่ บริหารราชการแผ่นดิน ผู้มีหน้าที่ จะต้องมี อำนาจ สำหรับ ใช้บังคับบุคคลผู้อยู่ใต้อำนาจบริหารให้จำต้องปฏิบัติตาม และ อำนาจนั้นต้องเป็นอำนาจที่มีกฎหมายรับรอง ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายบัญญัติให้ อำนาจ กำหนดหน้าที่ และ ความรับผิดชอบ ของเจ้าพนักงานผู้ที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และ กฎหมายจะต้อง กำหนดระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน และ ความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลธรรมดา กับ เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ด้วย
ลักษณะของความสัมพันธ์ หรือ เกี่ยวพันของบุคคล ในเรื่องการบริหารประเทศ หรือ บริหารบ้านเมือง เป็น ความสัมพันธ์ ระหว่าง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ ให้มีหน้าที่ ปฏิบัติราชการ ซึ่งเรียกว่า เจ้าพนักงาน กับ สามัญชน หรือบุคคลธรรมดา หรือ ความสัมพันธ์ ระหว่าง ผู้มีอำนาจปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง

กฎหมายที่ใช้บริหารราชการแผ่นดิน หรือ ปกครองประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายแม่บท ในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ และ จะต้องมี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา, และ พระราชบัญญัติต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน , พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม , พระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การต่างๆของรัฐ, เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายต่างๆ, พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง , พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เป็นต้น.
คำว่า “บริหาร” มีความหมายอีกความหมายหนึ่งว่า “ปกครอง” กฎหมาย ที่บัญญัติเพื่อ ใช้ในการบริหารบ้านเมือง หรือ บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชน หรือเรื่องส่วนบุคคล ในทางวิชาการ เรียกกันว่า “กฎหมายปกครอง”

สรุป
กฎหมายสำหรับริหารราชการแผ่นดิน (กฎหมายปกครอง) เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นกรอบบังคับให้ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ ซึ่งเรียกว่า ข้าราชการ มีหน้าที่ ต้องปฏิบัติราชการ ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด เพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และ ให้บริการแก่ปวงชนชาวไทย (รัฐธรรมนูญๆ มาตรา ๗๐) (ไม่ใช่ให้มาทำตัวเป็นนายปวงชนชาวไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา