โดย วีระ สมบูรณ์
(เรียบเรียงจากปาฐกถาเรื่อง “การเมืองต้องเป็นเรื่องศีลธรรม” ในรายการ พุทธทาส ๑๐๐ ปี: ร้อยใจ ฟื้นไทย ให้คืนธรรม สวนโมกข์เสวนา ครั้งที่ ๑๐ วันเสาร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ณ ห้องประชุม ๓๐๕ อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) จัดโดย เครือข่ายธรรมโฆษณ์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ถึง กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
“ทุกคนเป็นนักการเมืองโดยความรู้สึก”
“ธรรมะกับการเมือง” เป็นคำบรรยายที่ท่านพุทธทาสภิกขุ แสดงที่สวนโมกขพลาราม ณ บริเวณ ลานหินโค้ง เชิงเขาพุทธทอง โดยเป็นการบรรยายประจำทุกวันเสาร์ ในช่วงที่ท่านกำหนดให้เป็นการบรรยาย ภาคอาสาฬหบูชา ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2519 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2519 รวม 11 ครั้ง
ต่อมา ธรรมทานมูลนิธิ จึงตีพิมพ์คำบรรยายนี้ออกมาเป็นหนังสือเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2522 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาสภิกขุ อันดับที่ 18 จ.
ผมมีข้อสังเกตในเบื้องต้นอยู่สองประการเกี่ยวกับหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” นี้
ประการแรก ธรรมบรรยายเรื่องนี้มีเนื้อหาเกือบ 600 หน้า ว่าด้วยความคิดความเข้าใจและข้อเสนอเกี่ยวกับการเมือง อย่างครอบคลุมกว้างขวาง และแม้ท่านพุทธทาสจะได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมืองในที่อื่นๆ หลายแห่งด้วยกัน แต่ผมเห็นว่า “ธรรมะกับการเมือง” นี้ มีความละเอียดพิสดาร และมีข้อเสนอที่ชัดเจนในประเด็นต่างๆ มากที่สุด
ผมจึงอยากจะถือว่า งานชิ้นนี้เป็นงานหลักชิ้นหนึ่งของท่านพุทธทาส ในด้านที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และอาจกล่าวได้เช่นกันว่า เป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองโดยพระมหาเถระแห่งคณะสงฆ์ไทย พุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่มีเนื้อหาละเอียดซับซ้อนที่สุดแหล่งหนึ่ง
ประการที่สอง ขอให้สังเกตว่า ธรรมบรรยายเรื่องนี้ ท่านพุทธทาสแสดงจบลงในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงสิบวันเท่านั้น จึงเป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในทางความคิดและปฏิบัติการ กำลังเขม็งเกลียวจนถึงขีดสุด เป็นช่วงที่ความระส่ำระสายทางการเมืองเกิดขึ้นทั่วเมืองไทย รวมทั้งในคาบสมุทรอินโดจีน และอีกหลายแห่งหลายมุมในโลก
ในแง่นี้ เราจึงต้องอ่านและทำความเข้าใจงานชิ้นนี้ โดยคำนึงถึงบริบทของสถานการณ์ในช่วงนั้นด้วย เพราะสิ่งที่ท่านนำเสนอนั้น เป็นทั้งผลลัพธ์และการนำเสนอภายใต้พัฒนาการของวาทกรรมทางการเมืองในเมืองไทย ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 และหากจะมองขยายให้กว้างออกไป ก็ต้องรวมถึงวาทกรรมทางการเมืองของเอเชีย ในช่วงภาวะขีดสุดของสงครามเย็นด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ คำที่ท่านเลือกใช้ ความหมายที่ท่านนำเสนอ รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ ทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ จึงไม่สามารถพิจารณาลอยๆ โดยไม่คำนึงถึงบริบทดังกล่าวนี้ได้ มิเช่นนั้น แล้วหลายต่อหลายเรื่อง เราไม่อาจเข้าใจได้ว่า เหตุใดท่านจึงนำเสนอเช่นนั้น และในหลายกรณี ก็อาจเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้
ในข้อเขียนชิ้นนี้ สิ่งที่ผมจะนำเสนอ ก็คือ การอ่าน การทำความเข้าใจ และอภิปรายเนื้อหาในประเด็นหลักๆ จากหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” นี้ ตามแนวทางของคนที่เรียนทางสังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นในประเด็นที่ผมเห็นว่า น่าจะมีความสำคัญต่อข้อคิดและข้อถกเถียงในปัจจุบัน (คำหรือข้อความใด ที่ผมอ้างอิงมาจากหนังสือ ผมจะใส่ไว้ในเครื่องหมายคำพูด)
ในภาพรวมทั้งหมด ผมมีประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องการอภิปรายจากความคิดและข้อเสนอของพุทธทาสภิกขุ ในหนังสือเล่มนี้ อยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรกเกี่ยวกับ ท่าทีพื้นฐานต่อธรรมะและการเมือง
ประเด็นที่สองเกี่ยวกับ ความหมายและความเป็นมาของการเมือง
ประเด็นที่สามเกี่ยวกับ ข้อเสนอต่อระบบและองค์ประกอบของการเมือง
และประเด็นที่สี่เกี่ยวกับ นัยสำคัญต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ในประเด็นแรกนั้น เป็นเรื่องของท่าทีพื้นฐาน ซึ่งท่านพุทธทาสแสดงไว้ในตอนต้นของหนังสือ ว่าพุทธบริษัทควรมีท่าทีพื้นฐานอย่างไร ต่อสิ่งที่เรียกว่า การเมือง
เรื่องนี้สำคัญมากแน่นอน เพราะคนไทยทั่วไปมักเห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เรื่องของผลประโยชน์ และบางทีก็สรุปฟันธงไปเลยว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ห่างจากธรรมะ ห่างจากศีลธรรม ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์ด้วยแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรใส่ใจ ไม่ควรข้องเกี่ยว
แต่สิ่งที่ท่านพุทธทาสนำเสนอนับแต่แรก ก็คือ การตอบโต้ต่อทัศนะที่มองการเมืองด้านเดียวแต่ในแง่ร้ายในลักษณะดังกล่าวนี้ ท่านกลับเห็นว่า การเมืองคือ สิ่งที่ทุกคนต้องสนใจ และพุทธบริษัทก็ต้องสนใจ ทั้งนี้เพราะเรื่องของการเมืองกับเรื่องของศีลธรรมนั้น ไม่อาจแยกขาดจากกันได้เลย
โดยพื้นฐาน ท่านพุทธทาสเห็นว่า พุทธบริษัทควรมองการเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ของมนุษย์ในโลก เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมในโลกนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง “รู้จักรับผิดชอบ รู้จักกตัญญูกตเวที ต่อสิ่งที่มันมีประโยชน์แก่เรา หรือว่าเราได้อาศัยมาก่อนแล้ว”
และการเมืองก็คือส่วนหนึ่งของวิถีทางที่ประโยชน์ได้เกิดกับเรา และก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางที่จะทำประโยชน์ตอบแทนแก่เพื่อนร่วมสังคม เพื่อนร่วมโลก รวมทั้งเพื่อทำให้โลกและระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในโลกมีความปรกติ มีความสงบ และอยู่ในภาวะที่ดียิ่งๆ ขึ้นได้
ความเป็นปรกตินี้เอง ที่เป็นสาระสำคัญของศีลธรรม
เมื่อกล่าวถึงศีลธรรม เราอาจนึกถึงศีลห้า ศีลแปด หรือศีลของพระภิกษุ สามเณร และอื่นๆ ท่านพุทธทาสต้องการเน้นให้แก่นสารของศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า อยู่ที่ความเป็นปรกตินั่นเอง การสมาทานถือศีลธรรมชุดใด ก็เป็นการตั้งจุดมุ่งหมายและดำเนินวิถีชีวิตของตนเองและหมู่คณะให้เกิดความเป็นปรกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งนั่นเอง
กล่าวโดยรวมก็คือ “สิ่งใดที่อาจจะทำให้ปรกติได้ สิ่งนั้นย่อมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม”
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านพุทธทาสยังเน้นย้ำว่า ศีลธรรมไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องเฉพาะกับคนแต่ละคนเท่านั้น ศีลธรรมมีได้หลายระดับ นับแต่ศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ศีลธรรมของสังคม “ที่ผูกพันกันเป็นหมู่ย่อมๆ เรียกว่าสังคมหนึ่งๆ” และ “ศีลธรรมของโลกทั้งโลก”
และไม่ว่าจะในระดับไหน ก็ล้วนแล้วแง่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ทั้งนี้เพราะ “การเมืองมันก็ต้องการทำให้เกิดความสงบ แล้วศีลธรรมก็คือตัวการทำความสงบ”
ในเมื่อศีลธรรมทุกระดับล้วนเป็นไปเพื่อความเป็นปรกติ เป็นไปเพื่อความสงบ และการที่จะให้บรรลุความเป็นปรกติหรือความสงบนี้ ไม่อาจปราศจากการเมืองได้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่คนทุกคนจึงเกิดความสนใจทางการเมือง
ดังที่ท่านกล่าวสรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “เราเป็นคน คนหนึ่งในโลก ก็ต้องสนใจ เรื่องของโลก ซึ่งมันเกี่ยวมาถึงตัวเรา เราควรจะถือว่า ประชาชนทุกคนเป็นนักการเมือง.... ทุกคนมันเป็นนักการเมืองอยู่โดยความรู้สึก”
หากเข้าใจพื้นฐานของการเมืองในลักษณะนี้ แม้แต่พระก็คงต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่มิใช่การเมืองที่ “หมายถึงการต่อสู้ทางการเมือง ของพวกนักการเมืองที่เขาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของคนแต่ละคน แต่ละพวก ถ้าอย่างนี้แล้ว พระอย่าไปเกี่ยวข้องเลย”
ผมเห็นว่า การที่ท่านพุทธทาสขยาย “พื้นที่” ความหมายของการเมืองให้กว้างขวางครอบคลุมนี้ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะเท่ากับท่านดึงเอาการเมืองออกมาจากการผูกขาดของนักการเมือง ของรัฐบาล หรือแม้การผูกขาดของรัฐ รวมทั้งดึงเอาข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเมืองออกมาจากสภาพการณ์ ที่มักทำให้การเมืองเป็นเรื่องร้าย เป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องของอำนาจหรือผลประโยชน์ดิบ
ยิ่งการที่ท่านเสนอให้เราถือว่า “ประชาชนทุกคนเป็นนักการเมือง” และ “ทุกคนเป็นนักการเมืองโดยความรู้สึก” ด้วยแล้ว เท่ากับว่า ความเป็นประชาชนก็ดี ความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดก็ดี ก็คือรากฐานของการเมืองนั่นเอง
การเมืองจึงไม่อาจแยกจากธรรม ไม่อาจแยกจากศีลธรรม และการเมืองก็คือส่วนหนึ่งของความพยายาม ในการสร้างความเป็นปรกติของมนุษย์ทุกรูปนาม ทุกหมู่เหล่า รวมตลอดไปถึงมนุษย์ทั้งมวล
วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา