สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุ ท่าทีพื้นฐานประการสำคัญที่สุดในการพิจารณาประเด็นธรรมะกับการเมือง คือสิ่งที่ท่านเรียกว่า “อิสรภาพในการใช้สติปัญญา”
การที่เราไม่มีอิสรภาพหรือเสรีภาพในการใช้สติปัญญานั้น เกิดขึ้นเพราะ “เราถูกกระทำให้เป็นทาสทางสติปัญญา อย่างไม่มีอิสรภาพ หรือไม่มีเสรีภาพ” และโดยพื้นฐานแล้ว อิสรภาพทางสติปัญญานี้ “มีความสำคัญทั้งทางฝ่ายโลกและฝ่ายศาสนา”
ในฝ่ายศาสนา ท่านพุทธทาสหมายถึง การที่พุทธบริษัทไม่สามารถหรือไม่กล้าพอที่จะใช้วิจารณญาณของตน เมื่อพบว่าสิ่งที่ตนเข้าใจ ปฏิบัติ หรือได้รับผลนั้น ขัดกับแนวทางที่ยอมรับกันอย่างงมงาย ส่วนในทางโลกนั้น คือการตกอยู่ในสภาพ “เป็นทาสทางสติปัญญา อย่างไม่มีอิสรภาพ” เพราะเห็นว่าเขาว่ามาอย่างนั้น หรือนิยมกันมาอย่างนั้น ท่านพุทธทาสยืนยันเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า
“ถ้าท่านไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพในการคิดนึก นอกไปจากที่เคยเรียนมาอย่างปรัมปรา ท่านก็ไม่อาจเข้าใจความจริงแท้ใดๆ ได้ ถึงที่สุด”
ในเรื่องนี้ สำหรับพุทธบริษัท หากยอมตกเป็นทาสทางสติปัญญาเสียแล้ว ย่อมถูกตีกรอบ จำกัดประเด็น จนไม่กล้าแสวงหาแนวทางของตน เป็นการยอมจำนนอย่างขัดกับหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวพุทธ ได้แก่ หลักโพชฌงค์เจ็ดประการ ซึ่งประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ “ธัมมวิจัย”
“เรื่องใหญ่หลวงของพุทธบริษัท คือ ความไม่มีอิสรภาพในการใช้ความคิดนึก เลือกเฟ้น อย่างที่เรียกโดยชื่อว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์… (ซึ่งหมายถึง) การเลือกเฟ้นธรรมซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้”
ความมีอิสรภาพในการใช้ความคิดนึก หรือ อิสรภาพในการใช้สติปัญญาแก้ปัญหา จึงเป็นท่าทีพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องโลกุตระ (เหนือความเป็นไปทางโลก) หรือในเรื่องโลกิยะ (เนื่องด้วยความเป็นไปในโลก) โดยเฉพาะในกรณีนี้ ก็คือ การเมือง
“ดังนั้น ต้องทำตนให้เป็นคนกล้า กล้าหาญ แล้วก็มีอิสรภาพในการที่จะพินิจพิจารณา โดยไม่ต้องกลัวขนบธรรมเนียมประเพณี ที่จะมามองดูกันเดี๋ยวนี้ว่า การเมืองนั้นมันคือธรรมะ”
อิสรภาพในการใช้สติปัญญา จึงนับเป็น ความกล้าหาญทางสติปัญญา ด้วยเช่นกัน
ใน ธรรมะกับการเมือง พุทธทาสภิกขุ หยิบยก “กาลามสูตร” มาอธิบายเสริมประเด็นเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ โดยแยกแยะให้คำนิยามองค์ประกอบแต่ละข้อของหลักการตามกาลามสูตรทั้งสิบประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังนี้
หมวดที่หนึ่ง เป็นหมวดว่าด้วย “ความรู้ ความคิด ความเห็นเก่าๆ” หรือที่นำเสนอตามๆ กันมา ได้แก่
ข้อที่ 1 อย่าเชื่อเพราะฟังตามๆ กันมา
ข้อที่ 2 อย่าเชื่อเพราะปฏิบัติตามๆ กันมา
ข้อที่ 3 อย่าเชื่อเพราะกำลังเล่าลือกระฉ่อน
ข้อที่ 4 อย่าเชื่อเพราะการอ้างตำรา
หมวดที่สอง เป็นหมวดว่าด้วย “ความรู้สึกนึกคิดปัจจุบันของตน” ได้แก่
ข้อที่ 5 อย่าเชื่อเพราะเหตุแห่งตรรก (วิธีของตรรกวิทยา)
ข้อที่ 6 อย่าเชื่อเพราะเหตุแห่งนัยะ (การอนุมานตามวิธีของปรัชญา)
ข้อที่ 7 อย่าเชื่อเพราะการตรึกตามอาการ (สามัญสำนึก หรือ common sense)
ข้อที่ 8 อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทิฏฐิหรือความเห็นของเรา
ส่วนหมวดที่สาม เป็นหมวดว่าด้วย “บุคคลที่มาเกี่ยวข้องด้วย” ได้แก่
ข้อที่ 9 อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นคนน่าเชื่อ
ข้อที่ 10 อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา
และที่ท่านพุทธทาสอ้างถึงกาลามสูตร 10 ข้อนี้ ท่านให้เหตุผลประกอบว่า
“เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยการเมือง....อย่าหลับหูหลับตาไปตะครุบเอาลัทธิการเมืองนั่นนี่ แบบนั้น แบบนี้ มาอย่างน่าสังเวช ลองใช้กาลามสูตรดูบ้าง”
กาลามสูตรเป็นหลักวินิจฉัยเพื่อเตือนให้เห็นอาการของการเชื่ออย่างรวบรัด หรือสรุปโดยปราศจากวิจารญาณ ขาดการศึกษา ทำความเข้าใจ ทดลองให้ประจักษ์ และวินิจฉัยประโยชน์ด้วยตนเองให้ถ่องแท้เสียก่อน
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับ “ธรรมะกับการเมือง” ท่านพุทธทาสยังนำเสนอหลักการที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมสำหรับเรื่องนี้อีกชุดหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็น “อิสรภาพในการใช้สติปัญญาทางการเมือง” หรือ “อิสรภาพตามความเหมาะสม” 4 ขั้นตอน
ดังที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ว่าธรรมบรรยายเรื่องนี้ ท่านแสดงในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่นานนัก ฉะนั้น การกล่าวถึง “อิสรภาพ” 4 ขั้นตอนนี้ ท่านพุทธทาสคงมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นถึงบรรยากาศของการใช้สติปัญญา (ทางการเมือง) ในช่วงนั้น และต้องการเตือนให้ทุกฝ่าย (รวมทั้งคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สนใจงานของท่าน และบางคนก็ลงไปศึกษาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม) สลัดทิ้งความคับแคบ ไร้เสรีภาพ ที่มาพร้อมกับการ “หลับหูหลับตาไปตะครุบเอาลัทธิการเมืองนั่นนี่”
อย่างที่ท่านพูดถึง “ความเป็นทาสสติปัญญาในทางโลก” ว่า “ถ้าเราไปติด ไปยึดในตำรา ในทฤษฎี ในอุดมคติ แนวไหน สายไหนเสียแล้ว เราไม่มีทางที่จะไปรวบรวมอันอื่นมาวินิจฉัย เพราะเราเป็นทาสทางสติปัญญาของทฤษฎีสายนั้นเสียแล้ว แล้วก็ชอบยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา คือปรัชญาทางการเมือง สายนั้น สายนี้ แขนงนั้น แขนงนี้ ของคนนั้น คนนี้.... เป็นทาสทางสติปัญญา แก่ลัทธิการเมืองแนวใดแนวหนึ่ง...”
อิสรภาพ 4 ขั้นตอนนี้ ประกอบด้วย
หนึ่ง อิสรภาพในการรวบรวมมาวินิจฉัย ข้อนี้ ท่านพุทธทาสหมายถึง การไม่ด่วนผูกมัดตนเองกับลัทธิการเมือง แต่จะต้องพยายามศึกษาอย่างรอบด้าน ประมวลแนวทางทั้งหลายมาเท่าที่จะกระทำได้ เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นจากประสบการณ์ในอดีต แนวทางร่วมสมัย รวมทั้งจากแหล่งที่ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ “ข้อเท็จจริงของธรรมชาติทั้งหลาย.... เป็นการเมืองที่ธรรมชาติจัดให้ ตามระบบของธรรมชาติ”
สอง อิสรภาพในการวินิจฉัย ในข้อนี้ “เราจะมีความเป็นอิสระแก่ตัวเอง ของตัวเอง ทำการวินิจฉัย” ไม่สยบต่อความน่ายำเกรง ที่ติดมากับแนวคิดและวิถีต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากขนบประเพณี ความนิยมของโลก หรือการตัดสินของอำนาจใดๆ นอกจากนี้ อิสรภาพในข้อนี้ ยังรวมถึง อิสรภาพในการตั้งประเด็นและแง่มุมเพื่อพิจารณา ชนิดที่หลุดจากกรอบหรือแง่มุมอันจำกัด ตามที่มักร่ำเรียนยึดถือกันมาด้วย กล่าวคือ “ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาตามที่เขาเขียนให้เราเรียน”
สาม อิสรภาพในการเลือก ในข้อนี้ ท่านอธิบายว่า “เมื่อเราวินิจฉัยมันไปทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมแล้ว เราจะเลือกอันไหน แง่มุมไหน เราก็จะต้องเป็นอิสระด้วยเหมือนกัน” กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเลือกแนวทางทางการเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในกรอบของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง แต่ควรจะมีเสรีภาพในการ “เลือก” มาผสมผสาน หรือสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ตามที่ “มันเหมาะแก่ปัญหาของเรา หรือมันเหมาะแก่เรา”
สี่ อิสรภาพในการปฏิบัติ ท่านหมายถึง การตระหนักถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ต้องยึดติดว่า เมื่อสมาทานลัทธิหรือแนวทางหนึ่งใดแล้ว จะต้องทำตามอย่างที่เขานิยมยึดถือกันมา ดังนั้น “เราต้องมีอิสระในการปฏิบัติเท่ากับที่เราได้เลือก... อยู่ที่ความสามารถของเรา แล้วเราต้องรู้จักตัวเราให้ดี ว่าเรามันอยู่ในสภาพอย่างไร มีความสามารถเท่าไร แล้วจะได้ปฏิบัติพอดีกับความสามารถ”
ประเด็นเรื่อง “การรู้จักตัวเอง” นี้ ท่านพุทธทาสเน้นว่า “เพราะเราไม่รู้จักตัวเอง จึงไม่รู้ว่า อะไรเหมาะแก่ปัญหาของเรา” และ “ปัญหาของประเทศไทยเล็กๆ อย่างนี้ ไม่เหมือนกับปัญหาของประเทศรัสเซีย อินเดีย จีน อเมริกา อะไรก็ได้ มันเหมือนกันไม่ได้ เราอย่าหลับหูหลับตางมงาย โดยไม่ดูเสียว่า ไอ้เรานี่มันเป็นอย่างไร”
ส่วนประเด็นในเรื่องความสามารถนั้น ท่านไม่ได้หมายเพียงการศึกษาหรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เท่านั้น หากรวมถึงฐานทรัพยากร ภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ท่านยังวิพากษ์สืบเนื่องว่า “ทรัพยากรของเรามีสำหรับจะเป็นประเทศกสิกรรม เราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมเร็วๆ นี้มันก็เป็นเรื่องบ้าบอ เพราะความสามารถมันก็มีไม่ได้ แม้ว่าเราจะมีความรู้ แต่ภาวะสิ่งแวดล้อมมันยังไม่เข้ารูปกัน แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้”
แนวความคิดว่าด้วย “อิสรภาพในการใช้สติปัญญา (ทางการเมือง)” ของพุทธทาสภิกขุ จึงตั้งอยู่บนรากฐานของ “การใช้วิจารณญาณอย่างรอบด้าน” ของกาลามสูตร และนำเสนออย่างสอดคล้องเป็นรูปธรรมในบริบททางการเมืองร่วมสมัย
การที่ทุกคนเป็นนักการเมืองโดยความรู้สึก – ความกล้าที่จะข้ามพ้น “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ” – การใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบด้วยตนเอง – และอิสรภาพในการใช้สติปัญญา.... ทั้งหมดนี้ คือองค์ประกอบของท่าทีพื้นฐาน ต่อประเด็น “ธรรมะกับการเมือง”
วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา