กรอบเนื้อหาโดยสังเขปของรัฐธรรมนูญตามความคิดของคณะนิติราษฎร์ มีดังต่อไปนี้
รัฐธรรมนูญและเอกสารทางการเมืองที่ใช้เป็นพื้นฐานของการจัดทำรัฐธรรมนูญ
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 254๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัย
- ประกาศคณะราษฎร
- ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarati0n 0f Human Rights) ลงวันที่ 1๐ ธันวาคม 1948 ของสหประชาชาติ
คำปรารภของรัฐธรรมนูญ
- การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475
- ความเลวร้ายของรัฐประหารอันก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย
- การหวนกลับไปหาเจตนารมณ์ของคณะราษฎร และอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร
- ประกาศหลักการพื้นฐานของราชอาณาจักรไทย
ประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูป “สถาบันกษัตริย์ – ศาล – กองทัพ –สถาบันการเมือง” ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและนิติรัฐ ดังนี้
1. หลักราชอาณาจักร
- ประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์
- ปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
- จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ
2. หลักประชาธิปไตย
- อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน
- อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นฐานแห่งอำนาจของระบบการปกครองประเทศและองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหลาย
- เจตจำนงของประชาชนแสดงออกโดยการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่กำหนดให้มีขึ้นตามระยะเวลาที่แน่นอน โดยทั่วไป โดยเสมอภาค โดยเสรี และโดยลับ
- เคารพเสียงข้างน้อย และเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยสามารถกลับมาเป็นเสียงข้างมาก
3. หลักนิติรัฐ
- การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม
- กฎหมายที่ใช้ปกครองประเทศต้องมาจากความเห็นชอบของผู้แทนประชาชนหรือประชาชนโดยตรง
- หลักการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพ
4. ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
- กำหนดให้มีองค์กรควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
- หน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของกษัตริย์
- กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
5. ความเป็นรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ
- ราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกมิได้
- รัฐต้องเคารพหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
6. หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- กำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นมีผลโดยตรง และผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งปวง
- รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
7. การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมือง
- แบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็น 3 องค์กร ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
- กำหนดให้วิธีการใช้อำนาจเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเป็นระบบรัฐสภา
8. โครงสร้างของสถาบันทางการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้ระบบเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมและเสมอภาคแก่ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั้งในแง่จำนวนคะแนนเสียงและค่าของคะแนนเสียง
- กำหนดให้มีการปฏิรูปกฎหมายรัฐสภา
- กำหนดให้มีพระราชบัญญัติรัฐมนตรี และข้อบังคับการประชุมคณะรัฐมนตรี
- ยุบเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่ไม่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหา
- ประกันความเป็นสถาบันขององค์กรอิสระในทางปกครอง
- กำหนดให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว แต่หากต้องการให้ใช้ระบบสองสภา ที่มาของสภาทั้งสองต้องมาจากการเลือกตั้ง
9. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ
- ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
- กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง
- การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
- คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
- ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล
10. การยอมรับความเป็นสังคมพหุนิยม
- รับรองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ
11. การตรวจสอบใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพและดุลยภาพ
- ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ
12. หลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
- เคารพหลักเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยกลไกตลาด
- ส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และจัดให้มีระบบสวัสดิการอย่างทั่วถึง
13. หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร
- กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร
- รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง
- การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งระดับสูงในกองทัพเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี
14. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย
- การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารเท่านั้น
- การพิจารณาและให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
- องค์กรอื่นใดไม่อาจเสนอหรือแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้
15. การต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน
- กำหนดให้มีบทบัญญัติในหมวดว่าด้วย “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” โดยมีเนื้อหาสาระตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
- กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน
- กำหนดให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, 22 มกราคม 2555
ท่าพระจันทร์, 22 มกราคม 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา