เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความหมายของการเมือง อุดมคติอย่างหนึ่ง เพื่อความสันติของมวลมนุษย์

ที่กล่าวมาแล้ว คือประเด็นใหญ่ประเด็นแรก อันได้แก่ ท่าทีพื้นฐานเกี่ยวกับการเมือง
ประเด็นใหญ่ถัดมาของ “ธรรมะกับการเมือง” คือ ความหมายและความเป็นมาของการเมือง
ในเรื่องความหมายของการเมือง ท่านพุทธทาสภิกขุเริ่มต้นโดยชี้ให้เห็นถึงสถานะและความหมายของการเมือง ในโครงสร้างความหมายโดยรวมของ “ธรรม”
ผู้ที่คุ้นเคยกับงานเขียนงานบรรยายของท่านพุทธทาส คงทราบดีว่า ท่านพุทธทาส มักชี้ให้เห็นถึงความหมายของธรรมะ ในสี่ลักษณะด้วยกัน
ความหมายที่ 1 คือ สภาวธรรม อันหมายถึง “สิ่งที่กำลังมีอยู่ เป็นอยู่ ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏอยู่แก่เรานี้” ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม ทั้งในสภาวะที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
ทั้งหมดของสภาวธรรมนี้ ย่อมมีอยู่ ดำรงอยู่ เนื่องด้วยพื้นฐานของสภาวธรรมทั้งปวง อันได้แก่ หลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งสรุปใจความสั้นๆ ตามคำกล่าวของท่านพุทธทาสได้ว่าคือ “การอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นครบถ้วน” หรือ “อาการที่มันปรุงแต่งกันระหว่างเหตุกับผล”
ประเด็นสำคัญในความหมายที่หนึ่งนี้อยู่ที่ว่า การเมืองย่อมเป็นปรากฏการณ์ในสภาวธรรมทั้งหมดนี้ด้วยเช่นกัน มิได้มีการแยกขาดว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่มนุษย์เป็นเรื่องหนึ่ง และการเมืองซึ่งเกี่ยวพันกับการกระทำของมนุษย์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดังที่ท่านกล่าวสรุปว่า “การเมืองรวมอยู่ในคำว่า ธรรมชาติ” นั่นเอง
ความหมายที่ 2 คือ สัจจธรรม (ท่านพุทธทาสสะกดคำนี้อย่างนี้โดยตลอด) อันหมายถึง “กฎธรรมชาติในตัวธรรมชาตินั้น” ซึ่ง “เป็นสัจจะของธรรมชาติ แล้วเด็ดขาดตายตัวด้วย... มีธรรมชาติที่ไหน ก็มีกฎของธรรมชาติอยู่ที่นั่นและในนั้น”
แน่นอนว่า กฎธรรมชาตินี้ย่อมมีอยู่ใน “ความรู้สึกนึกคิด การกระทำหรือผลของมัน... ฉะนั้นความคิดนึก การกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย ก็ถูกควบคุมอยู่โดยกฎธรรมชาติ หรือมีกฎธรรมชาติรวมอยู่ในนั้นด้วย”
ท่านพุทธทาสจึงเน้นสืบเนื่องว่า “ตัวการเมืองก็เป็นสิ่งที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ” และกฎดังกล่าวนี้ย่อมดำรงอยู่เหมือนกฎธรรมชาติทั้งหลาย คือ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการ การปรุงแต่ง หรือการยึดมั่นของมนุษย์ในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น
ความหมายที่ 3 คือ ปฏิปัตติธรรม ซึ่งหมายถึง “หน้าที่ ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติกระทำตามกฎ (ธรรมชาติ) นั้น” ความหมายที่สามของธรรม คือ หน้าที่ นั่นเอง และในการปฏิบัติหรือประพฤติของมนุษย์ ในลักษณะที่เป็นธรรม ก็คือ การปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ
มนุษย์อาจเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ หรือหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินี้ก็ได้ แต่ย่อมไม่อาจหนีผลลัพธ์ตามกฎธรรมชาติไปได้ ในทางกลับกัน ถ้ามนุษย์เข้าใจกฎธรรมชาติและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎนั้น ก็เท่ากับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ และย่อมได้รับผลตามกฎธรรมชาติเช่นกัน
แต่ผลของการปฏิบัติตามหน้าที่ (ซึ่งก็คือตามธรรมหรือกฎธรรมชาติ) นั้น ย่อมต่างจากผลของการปฏิบัติออกนอกลู่นอกทางของหน้าที่
หน้าที่เป็นเรื่องที่ “ไม่ทำไม่ได้” สิ่งใดก็ตามไม่ทำตามหน้าที่ สิ่งนั้นย่อมประสบผลที่จะตามมา ดังที่ท่านยกตัวอย่างว่า “นับตั้งแต่เซลล์ เซลล์เดียวขึ้นมา จนกระทั่งเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นอะไรก็ตาม.... ถ้าไม่ทำ (ตามหน้าที่) มันก็มีผลร้าย หรือถึงกับว่าตายสูญหายไปเลย”
ท่านพุทธทาสมักตั้งสมญาให้กับการกระทำ หรือระบบการกระทำของมนุษย์ ในทางที่ผิดจากธรรม ผิดจากหน้าที่ของมัน ว่า “เนื้องอก” เช่น การศึกษาเนื้องอก พิธีกรรมเนื้องอก หรือจนแม้พุทธศาสนาเนื้องอก เป็นต้น เพราะธรรมดาของเนื้องอก ก็คือ กลุ่มเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่อันใดในระบบร่างกาย หรือทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป ย่อมส่งผลร้ายทั้งแก่ตัวมันเองและระบบร่างกายทั้งหมด จน “ถึงกับว่าตายสูญหายไปเลย” ในที่สุด
ความหมายที่สามของธรรมนี้เอง เกี่ยวข้องกับการเมืองของมนุษย์มากที่สุด ทั้งนี้เพราะ เราจะต้องเข้าใจการเมืองในฐานะที่เป็นการกระทำของมนุษย์ทั้งในฐานะส่วนบุคคล และในฐานะที่เป็นกลุ่ม ซึ่งหากเป็นไปตามหน้าที่อย่างสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ย่อมก่อให้เกิดความเป็นปรกติและความสงบสุข แต่หากเป็นไปอย่างขัดกับกฎธรรมชาติ ย่อมกลายเป็น “การเมืองเนื้องอก” ที่จะส่งผลร้ายต่อสังคมมนุษย์ สร้างความเดือดร้อน นำไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียได้
ท่านพุทธทาสจึงสรุปอย่างชัดเจนว่า -- “การเมืองคือธรรมะ โดยเฉพาะในความหมายที่สาม คือหน้าที่”
ความหมายที่ 4 คือ ปฏิเวธธรรม ซึ่งหมายถึง “ผลที่เกิดขึ้น ตามสมควรแก่หน้าที่ ที่ได้ปฏิบัติไป” ในทางศาสนาได้แก่ “ผลที่ได้รู้สึก” จากการปฏิบัติธรรม หรือ “การบรรลุตามมรรค ผล นิพพาน” ส่วนผลในทางโลกๆ “ก็เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ที่มันเป็นผลที่มันเกิดขึ้น”
และสำหรับผลของการเมือง ท่านชี้ให้เห็นว่า “การเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าระบบไหน มันก็เสนอหน้ากันขึ้นมาว่า เพื่อสันติของมวลมนุษย์ทั้งนั้น มันมุ่งผลอย่างนี้ทั้งนั้น แล้วก็ได้ทำให้ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่มากก็น้อย”
เมื่อมองในแง่ผล อาจกล่าวได้ว่า “การเมืองหมายถึงอุดมคติอย่างหนึ่งๆ ก็ได้ หมายถึงการประพฤติ กระทำตามอุดมคตินั้นก็ได้ หมายถึงผลที่ได้รับเป็นความสงบสุข อย่างนี้ก็ได้.... ถึงแม้ว่าเราจะเล็งความหมายที่ 4 คือ ผล”
กล่าวโดยภาพรวม ท่านพุทธทาสสอนให้เรามองความหมายของการเมือง อย่างสอดคล้องกับความหมายของธรรมะทั้งสี่แง่มุมนี้ กล่าวคือ การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติทั้งหลาย (ความหมายที่ 1) อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลาย (ความหมายที่ 2) เป็นหน้าที่ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติ (ความหมายที่ 3) และย่อมได้รับผลตามที่ปฏิบัติ (ความหมายที่ 4)
การเมืองจึงมิได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย ไม่ได้เป็น “เรื่องสกปรก” ไม่ได้มีความหมายคับแคบเพียงแค่ “เรื่องผลประโยชน์ของใครของมัน” แต่เป็นเรื่องที่มีความหมายตามแง่มุมของธรรมะอย่างครบถ้วน

สำหรับท่านพุทธทาส ความหมายของการเมืองจึงขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของมัน และหน้าที่นี้ก็คือ
“ระบบการจัดหรือการกระทำ เพื่อคนจำนวนมากจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา”
โดยท่านได้ขยายความในแต่ละประเด็นว่า “ความสำคัญมันก็อยู่ที่ว่า มันเป็นระบบ ที่ต้องจัดต้องทำขึ้น นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็เพื่อคนจำนวนมาก หรือคนทั้งหมดจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา... ไม่ว่าปัญหาใดๆ เพราะขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้ว ก็ย่อมเป็นความทุกข์ทั้งนั้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แล้ววลีสุดท้ายว่า โดยไม่ต้องใช้อาชญา คือไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องใช้การกระทำที่เรียกว่า หิงสา การฆ่ากัน เป็นต้น”
ผมเห็นว่า การให้ความหมายของการเมืองว่าเป็น “ระบบการจัดหรือการกระทำ เพี่อคนจำนวนมากจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา” นี้ มีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ในแง่หนึ่ง ความหมายหรือนิยามดังกล่าว สอดคล้องกับการที่ท่านพุทธทาสเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน เกี่ยวเนื่องกับคนทุกคน ทั้งนี้เพราะการให้ความหมายในลักษณะนี้ เป็นการสร้างความหมายอย่างครอบคลุม เท่ากับว่า การเมืองมิได้เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัฐ รัฐบาล หรือนักการเมืองเท่านั้น แต่เป็น “ระบบ” ที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่มากก็น้อย
และอาจกินความไปถึงการกระทำหรือการจัดระบบด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา กฎหมาย การสื่อสาร องค์ความรู้และวิทยาการต่างๆ และอื่นๆ
ในอีกแง่หนึ่ง การร่วมกันแก้ไขและป้องกันปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา -- ซึ่งอาชญาในที่นี้ ครอบคลุมถึง การใช้ความรุนแรง หิงสา การใช้อาวุธ การประทุษร้าย การพรากชีวิต หรือสงคราม -- ก็มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะวิธีคิดและให้ความหมายเช่นนี้ อาจเชื่อมโยงกับแนวความคิดปัจจุบันในเรื่อง “ประชาสังคม” หรือ “ทุนทางสังคม” ได้อย่างกว้างขวาง
การที่การเมืองตามความหมายที่ท่านพุทธทาสได้ให้ไว้ อาจเชื่อมโยงได้กับแนวความคิดเรื่อง “ประชาสังคม” และ “ทุนทางสังคม” นี้ เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งผมขอขยายความในครั้งต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา