เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร?

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวลาที่ได้ยินคนในแวดวงรัฐบาล(หรือที่เคยอยู่ในแวดวงรัฐบาลอย่างณรงค์ กิตติขจร) ออกมาคัดค้านการตั้งชื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่า "วันประชาธิปไตย" โดยยกเหตุผลทำนองว่า เป็นเการขัดกับความจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ไม่ทราบว่าจะร้องไห้หรือหัวเราะดี
ก็ถ้าบรรดา ฯพณฯ เห็นความสำคัญของ 24 มิถุนายน ขนาดที่กลัวว่า 14 ตุลาคม จะมาแย่งความสำคัญไป ทำไมไม่ทำให้ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญขึ้นมาเสียก่อนเล่า? ความจริงคือ ทุกวันนี้ วันที่ 24 มิถุนายน ไม่ได้เป็นวันอะไรทั้งสิ้นในปฏิทินของทางราชการ และบรรดา ฯพณฯ ที่ยกเอา 24 มิถุนายน ขึ้นมาคัดค้าน 14 ตุลาคม ก็ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่มีทีท่าว่าจะเสนอให้เปลี่ยน 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญขึ้นมา


โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเรียก 14 ตุลาคม ว่า "วันประชาธิปไตย" แต่ไม่ใช่เพราะ 24 มิถุนายน จึงควรเป็นวันประชาธิปไตย ผู้เขียนไม่คิดว่า 24 มิถุนายน ควรเป็นเช่นกัน เหตุการณ์ทั้งคู่ไม่ได้ทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่ขอเสนอว่า 24 มิถุนายน มีความสำคัญในลักษณะที่สมควรเปลี่ยนกลับเป็นวันชาติ
เพราะ 24 มิถุนายน ทำให้เกิดระบอบรัฐแบบใหม่ ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน
ระบอบรัฐที่ว่านี้คือ ระบอบรัฐที่มีสภา, คณะรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารสูงสุด โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่มีบทบาทสำคัญอย่างสูงในระบอบรัฐนี้ ตลอด 70 ปีนี้ "ความเป็นประชาธิปไตย" ของระบอบรัฐนี้ มีขึ้นมีลง แต่องค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง(สภา, ครม., นายกฯ, พระมหากษัตริย์)ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
จะไม่อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอนี้ในที่นี้ ซึ่งต้องอ้างอิงเหตุผลยืดยาว รวมถึงการโต้แย้งประเด็นที่บางคนอาจจะตกอกตกใจเกินเหตุไปเองว่า ข้อเสนอนี้เป็นการ "กระทบกระเทือนสถาบัน" อันที่จริง สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นผลมาจาก 24 มิถุนายน เอง 24 มิถุนายน ไม่ได้เป็นตัวแทนของความเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบัน 24 มิถุนายน เป็นปฏิปักษ์เฉพาะกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเชื่อว่าในปัจจุบันไม่มีใครบ้าพอจะเสนอให้กลับไปใช้
ในบทความนี้ เพียงแต่อยากจะเล่า เพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่สาธารณชน ว่าครั้งหนึ่ง 24 มิถุนายน ถูกทำให้เป็น, และถูกเลิกให้เป็น, วันชาติได้อย่างไร เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอเมื่อสักครู่หรือไม่ คงยอมรับ ว่านี่เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในตัวเอง
เรื่องนี้ความจริงถ้าจะเล่าให้ตลอด เป็นเรื่องยาว เช่น ต้องเท้าความถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 และความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎร เป็นต้น จึงขอเล่าสั้นๆ เฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง พูดแบบภาษาวิชาการประวัติศาสตร์คือ เล่าแบบไม่มีปริบทหรือมีแต่น้อย
เอกสารที่กำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ คือ "[ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี] เรื่องวันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481"โปรดสังเกตว่าผู้เขียนใส่วงเล็บสี่เหลี่ยมข้างหน้าและหลัง "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี" เพราะถ้าใครไปเปิดดูในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ลงประกาศนี้ (เล่ม 55 วันที่ 1 สิงหาคม 2481 หน้า 1322) จะพบเรื่องประหลาดมากๆ ว่า ประกาศนี้ไม่มีหัวว่าเป็นประกาศประเภทไหน! ที่ประหลาดมากยิ่งขึ้นคือ ประกาศที่(ถ้ามองจากปัจจุบัน) น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก(กำหนดวันชาติ) มีข้อความเพียงเท่านี้ คือ
เรื่องวันชาติ
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2481 พ.อ.พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
ตอนที่เห็นประกาศนี้ครั้งแรก ผู้เขียนยืนงงเป็นไก่ตาแตกอยู่หลายนาที เพราะนึกไม่ถึงว่า จะมีข้อความเพียงเท่านี้ (ต้องบอกด้วยว่า ได้อ่านประกาศของจอมพลสฤษดิ์ ฉบับที่ยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติ ซึ่งมีข้อความยาวพอสมควร มาก่อน ดังจะได้กล่าวต่อข้างหน้า
ขอทำเชิงอรรถในที่นี้ด้วยว่า ในหนังสือวิชาการส่วนใหญ่(เช่น ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือ แถมสุข นุ่มนนท์) เมื่อเขียนถึงการกำหนดให้ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ เข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องในสมัย "ชาตินิยม" หรือ "สร้างชาติ" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งหลวงพิบูลฯและหลวงวิจิตรวาทการ มีบทบาทในเรื่องนี้จริงๆ ดังจะได้เล่าต่อไป แต่ประกาศนี้มีขึ้นในสมัยพระยาพหลฯเพียงแต่การฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปี 2482 นั้น มีขึ้นเมื่อหลวงพิบูลฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว
ผู้เขียนได้ไปค้นเพิ่มเติมในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น พบว่าการพิจารณาให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ มีลักษณะห้วนๆ รวบรัดตัดตอน ไม่มีหัวไม่มีหาง แบบเดียวกับประกาศข้างต้นเหมือนกัน(ต้องบอกก่อนว่า รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีจุดอ่อนที่อาจจะไม่ได้บันทึกละเอียดแบบคำต่อคำ แต่เฉพาะกรณีนี้เชื่อว่า คงไม่ห่างจากที่อภิปรายกันจริงนัก ผู้สนใจเรื่องรายงานการประชุม ครม.กรุณาตามอ่านบทความของผู้เขียนที่เล่าเรื่องการประชุม ครม.วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่จะตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธณรม ฉบับเดือนตุลาคมนี้)
เรื่องนี้ถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พระยาพหลฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2481 เป็น "วาระจร" (วาระที่ 24 ใน 28 วาระการประชุมครั้งนั้น) ผู้เสนอคือ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีลอย(ไม่ได้ว่าการกระทรวงใดๆ) เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าเคยถูกถามถึง "วันชาติ" กำหนดวันไหน ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่ายังไม่กำหนดแน่นอน ฉะนั้น จึงใคร่ขอทราบว่า จะถือว่าวันไหนเป็นวันชาติ กล่าวคือ วันที่ 10 ธันวาคม หรือวันเฉลิมฯ หรือวันพระราชพิธีรัชชมงคล" (เข้าใจว่าหมายถึง 2 มีนาคม ซึ่งรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์-สมศักดิ์)
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งเป็น "ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า "ควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม เพราะวันเฉลิมมีเปลี่ยน" ขอให้จำความเห็นนี้ของ "ท่านวรรณ" ให้ดี เพราะจะเกี่ยวข้องกับตอนเลิกใช้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ)
หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวว่า "วันชาติอยากให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะวันเฉลิมเปลี่ยนไปตามพระมหากษัตริย์
หลวงวิจิตรฯจึงสนับสนุนว่า "ถ้าเลือกวันที่ 24 มิถุนายน กับ 10 ธันวาคม วันที่ 24 มิถุนายน ดีกว่าเพราะรัฐธรรมนูญ อาจมีแก้ได้
หลังจากนั้น รายงานการประชุม ได้บันทึกว่า "ที่ประชุมตกลง ให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ"
ผู้อ่านคงอยากทราบว่า ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ มีความเห็นว่าอย่างไร ปรากฏว่าขณะนั้นปรีดี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่าง "ลาหยุดพักรักษาตัว" ไม่ได้เข้าประชุม ความจริงเคยมีครั้งหนึ่งที่ปรีดีอยู่ระหว่างเยือนต่างประเทศ ไม่ได้เข้าประชุม แต่ยังเสนอความเห็นมาให้ ครั้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์บนธนบัตร ความเห็นของปรีดีทำให้ที่ประชุมถึงกับตัดสินใจยับยั้งการดำเนินการไว้ก่อน เพื่อรอปรีดีกลับ(เรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งจะเล่าในโอกาสหลัง) แต่ครั้งนี้ ไม่มีการบันทึกว่าปรีดีเสนอความเห็นอะไร ทั้งๆ ที่มี นายปพาฬ บุญ-หลวง เลขานุการ รัฐมนตรีการต่างประเทศ เข้าประชุมแทน
ลักษณะรวบรัดตัดตอนไม่มีหัวไม่มีหางของการกำหนดวันชาติเช่นนี้ ทำให้ในการประชุม ครม.ครั้งต่อไปวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งเป็นเลขาธิการ ครม. ต้องนำเรื่องเข้าสู่วาระอีกครั้ง เพราะมติครั้งแรกไม่มีรายละเอียดว่าจะให้ทำอย่างไรต่อ "ขอหารือว่าเรื่องนี้จะควรแจ้งให้ กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทราบและควรออกประกาศเพียงใดหรือไม่" ซึ่งหลวงวิจิตรฯเสนอว่า (1) ควรแจ้งให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทราบ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูต" เพราะปรากฏว่าในหนังสือบางฉบับ เช่น Almanac มีบอกวันชาติต่างๆ ไว้ด้วย ถ้าบอกไว้คลาดเคลื่อน หรือมิได้บอกวันชาติของเราไว้ ก็ให้ติดต่อให้เขาทราบเสียด้วย" และ (2) "เรื่องเพลงชาติเคยประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องวันชาติก็ควรประกาศเช่นเดียวกัน"
หม่อมเจ้าวรรณฯเสนอว่า "เรื่องวันชาตินี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคยเสนอเป็นพระราชบัญญัติ โดยกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เหมือนกัน แล้วตกไป ฉะนั้น ประกาศควรกล่าวว่า "ย่อมนิยมว่าเป็นวันชาติ" ที่ประชุมตกลงให้ทำตามที่หลวงวิจิตรฯเสนอ โดยให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในราชกิจจานุเบกษา ในการประชุมครั้งนี้ปรีดียังคงลาป่วย ไม่เข้าประชุม มีนายปพาฬ บุญ-หลง ประชุมแทน
นี่เองคือที่มาของประกาศให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ รวมทั้งของข้อความแปลกๆ "ย่อมนิยมว่าเป็นวันชาติ" ข้างต้น

24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ" อยู่ 21 ปี ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 มี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย" ลงนาม "จอมพล ส.ธนะรัชต์" นายกรัฐมนตรี(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอน 43, หน้า 1452+1453) ต่างจากประกาศที่ให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ซึ่งส่วนเนื้อหามีความยาวเพียง 2 บรรทัด ในราชกิจจานุเบกษา
ประกาศฉบับหลังนี้ มีความยาวประมาณ 26 บรรทัด!
นับว่ายาวไม่น้อย สำหรับเรื่องเพียงเรื่องเดียว และถ้าความสั้น ไม่มีเหตุผลอธิบายประกอบเลยของประกาศฉบับแรก จะชวนให้ผิดหวังว่าไม่สมกับความใหญ่ของเรื่อง
การที่รัฐบาลสฤษดิ์อุตส่าห์เสียเวลา ไม่เพียงร่างประกาศที่ยาวพอสมควรแต่ (ดังจะเห็นต่อไป) ก่อนหน้านั้นถึงกับต้องตั้งเป็น "คณะกรรมการ" เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ก็ชวนให้แปลกใจได้ไม่น้อย เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลสฤษดิ์ คือ รัฐบาลที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่กระตือรือร้นจะรื้อฟื้นอุดมการณ์อันเป็นปฏิปักษ์ต่อ 2475 อย่างเป็นระบบ
คำอธิบายของเรื่องนี้คือ ในปี 2503 แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะล่วงเลยไปแล้วถึง 28 ปี และไม่ใช่สิ่งที่จะมีความหมายหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนอย่างมากมายอะไรอีก แต่ในจิตสำนึกของชนชั้นที่มีการศึกษา ซึ่งที่สำคัญไม่น้อยได้แก่คนในวงการรัฐบาลและระบบราชการเอง(กรณีทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อการคนหนึ่ง และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีความเคารพปรีดี เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ว่าการธนาคารชาติของสฤษดิ์ เป็นเพียงตัวอย่างที่เด่นชัด) 24 มิถุนายน ยังมีความสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของระบอบการปกครองแบบใหม่ที่เป็นไปในทิศทางประชาธิปไตยและการปกครองด้วยกฎหมาย การจะยกเลิกวันนี้ ในฐานะวันชาติ จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ(คิดว่า ความรู้สึกด้านลบต่อ 2475 ในหมู่ปัญญาชน เพิ่งมาเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงใกล้ทศวรรษ 2510 แล้ว) สฤษดิ์จึงต้องทำให้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่ทำอย่างมีขั้นตอนและสมเหตุสมผล ดังที่ปรากฏในประกาศฉบับดังกล่าว ดังนี้
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐนตรีเป็นประธาน
คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง
คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตรยิ์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้
ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503จอมพล ส.ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้น 2 สัปดาห์(8 มิถุนายน 2503) รัฐบาลก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกการหยุดราชการในวันที่ 24 มิถุนายน เพราะไม่ใช่วันชาติอีกต่อไป(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 49, หน้า ฉบับพิเศษ หน้า 1) ตามด้วยประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน 2503 ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ ที่ให้ชักและประดับธงชาติในวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 51, หน้า 1566)สิ่งที่ต้องสังเกตคือ โดยประกาศเหล่านี้ สฤษดิ์ ไม่เพียงแต่ยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติเท่านั้น แต่ยังยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันหยุด หรือวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนวันชาติเท่านั้น เพราะถ้าลำพังเป็นเรื่องเปลี่ยนวันชาติ ต่อให้มีเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่สามารถรักษาวันที่ 24 มิถุนายน ไว้ ในฐานะวันสำคัญทางราชการ ดังที่ได้เห็นก่อนหน้านี้ในบทความนี้ว่า ในปลายปี 2480 เคยมีการกำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็น "วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" สฤษดิ์ หรือ "คณะกรรมการ" ที่เขาตั้ง สามารถกำหนดให้ 24 มิถุนายน กลับไปเป็น "วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" หรืออะไรทำนองนั้นก็ได้ การเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงนี้ ไม่มีการให้เหตุผลประกอบใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับเหตุผลที่ "คณะกรรมการ" ให้ว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยทั่วไปถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันชาตินั้น ก็ไม่จริงเสมอไป กรณีเดนมาร์ก ซึ่ง "คณะกรรมการ" ยกเป็นตัวอย่าง ฉลองวันชาติในวันที่ 5 มิถุนายน โดยถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1849 ได้รับการรับรองครั้งสุดท้าย เมื่อ 5 มิถุนายน 1953 (ปัจจุบัน เบลเยียม สเปน สวีเดน ซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ก็ไม่ได้ฉลองวันพระราชสมภพในฐานะวันชาติแต่อย่างใด)
และคงจะจำได้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 กรกฎาคม องค์ประธาน "คณะกรรมการ" ที่เสนอให้เปลี่ยนวันชาติของสฤษดิ์ กรมหมื่นนราธิปฯ สมัยมีพระยศเป็น "หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร" ทรงกล่าวเองว่า "ควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม เพราะวันเฉลิมมีเปลี่ยน"
น่าเสียดายว่า ถึงปี 2503 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้กลายเป็นการจดบันทึกแบบสรุปด้วยภาษาราชการล้วนๆ ไม่มีการบันทึกอีกต่อไปว่า ใครพูดอะไรจริงๆ บ้างแม้แต่น้อย
กรณีการเปลี่ยนวันชาตินี้ผู้เขียนอ่านพบว่า ได้รับการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2503 ซึ่งเป็นการประชุม "ครั้งพิเศษ" ที่ "บ้านรับรองเขาสามมุข บางแสน จังหวัดชลบุรี" (สฤษดิ์ชอบไป "พักผ่อน" ที่นั่น) โดยเป็นวาระที่ 11 ในการประชุมครั้งนั้น ภายใต้หัวข้อ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย
บันทึกการประชุมวาระนี้ เริ่มต้นว่า "ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเรื่องวันชาตินั้น บัดนี้ คณะกรรมการรายงานว่า ได้พิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่า..."
จากนั้นเป็นข้อความแบบเดียวกับย่อหน้าที่ 2 และ 3 ของประกาศยกเลิก 24 มิถุนายนเป็นวันชาติข้างต้น แล้วตามด้วยการบันทึก "มติ" ว่า ที่ประชุม "เห็นชอบด้วยให้ยกเลิก...." ซึ่งตรงกับข้อความในย่อหน้าที่ 4 โดยมีข้อความในวงเล็บต่อท้ายว่า "มีแก้ถ้อยคำในร่างประกาศฯเล็กน้อย" สรุปแล้ว ส่วนที่บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ต่างจากตัวประกาศ ก็เพียงย่อหน้าแรกสุดของประกาศที่อ้างว่าการเอา 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ "มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ" และมีประชาชนและหนังสือพิมพ์เรียกร้องให้พิจารณาใหม่
ผู้เขียนยังค้นไม่พบว่า ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีของสฤษดิ์ได้ประชุมพิจารณาเรื่องวันชาติและมีมติให้ตั้ง "คณะกรรมการ" ชุด "เสด็จในกรมฯ" ตั้งแต่เมื่อไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา