โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
แต่ศาลสูงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินว่าการกระทำใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนตำรารัฐศาสตร์รุ่นเก่า ๆ ยกย่องให้ความเป็นสูงสุดในการปกครองระบอบประธานาธิบดี คือศาลสูง หรือ "The
suprermacy of the US supreme court" ตรงกันข้ามกับระบบรัฐสภาคือความเป็นสูงสุดอยู่ที่รัฐสภาหรือ "The Supremacy of Parliament" เพราะศาลสูงเคยตัดสินให้การกระทำของประธานาธิบดี หรือกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือศาลมลรัฐ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือ unconstitutional
การปกป้องรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของศาลสูง เช่น เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2004 ที่รัฐฟลอริดา คะแนนการเลือกผู้แทนเลือกตั้ง หรือ electors ระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคดีโมแครตใกล้เคียงกันมาก เมื่อผลการนับคะแนนฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายแพ้ก็ร้องขอต่อศาลสูงของมลรัฐให้นับใหม่ พอนับใหม่กลายเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่เคยแพ้กลับชนะ ผู้ที่แพ้ก็ร้องต่อศาลสูงมลรัฐอีก ศาลก็ให้นับใหม่อีก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการใช้ดุลยพินิจของผู้นับคะแนนว่าบัตรใดเสีย ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้แต่ผู้นับคนเดียวกัน พอนับใหม่ก็ลืมไปแล้วว่าเคยวินิจฉัยอย่างไร พอฝ่ายแพ้ร้องต่อศาลให้นับใหม่อีก เมื่อศาลสูงสหรัฐพิจารณาเรื่องเวลาที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2005 ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าให้นับใหม่อีกประธานธิบดีคนใหม่ก็จะเข้าสาบานตนไม่ทัน วันที่ 20 มกราคม 2005 ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร การที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญลดลง ศาลสูงจึงสั่งหยุดนับใหม่ให้เอาผลการนับครั้งสุดท้ายตัดสิน ประธานาธิบดียอร์จ บุช ผู้ลูกจึงได้เป็นประธานาธิบดี เพราะรัฐฟลอริดามีจำนวนผู้เลือกตั้ง 11 คน เมื่อบุชชนะก็ได้คะแนนของผู้เลือกตั้งทั้ง 11 คน
เหตุผลที่ศาลสูงให้ก็เพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถปฏิบัติได้ ประชาชนและสื่อมวลชนที่ถือหางคนละข้าง ที่สนับสนุนให้ศาลมลรัฐตัดสินให้นับใหม่ และไม่ให้นับใหม่ หยุดส่งเสียงทันทีเมื่อศาลสูงตัดสิน คำตัดสินครั้งนั้นเท่ากับศาลเป็นคนเลือกประธานาธิบดี หลายคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้น แต่ศาลก็ให้คำอธิบาย ดังที่กล่าวมาแล้ว ทุกคนก็หยุดการโต้เถียง ซึ่งแสดงความเป็นสูงสุดของศาลสูงสหรัฐอเมริกา
ต่อมาเมื่อ จอห์น โรเบิร์ต ประธานศาลสูงคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งใน
ปี 2005 เป็นอาจารย์โรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเป็นบรรณาธิการวารสาร Harvard Law Review ปัจจุบันอายุเพียง 57 ปี
เขาได้กล่าวยืนยันถึงหลักการการถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และศาลสูง รวมทั้งความเป็นสูงสุดหรือความเท่าเทียมกันเสียใหม่ โดยเน้นว่าความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสหรัฐนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
จอห์น โรเบิร์ต ได้กล่าวถึงหลักการความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสหรัฐนั้น ต้องให้ความสำคัญของกฎหมายสหรัฐที่มีที่มาจากรัฐสภาและประธานาธิบดี เพราะทั้งสองฝ่ายมีที่มาจากประชาชน เขากล่าวในสุนทรพจน์ของเขาในปี 2008 ว่า พวกเราตุลาการตระหนักดีถึงความจริงที่ว่า ประชาชนเป็นล้านๆ คน เป็นผู้เลือกท่าน (ประธานาธิบดีและรัฐสภา) ไม่มีประชาชนแม้แต่คนเดียวเลือกเรา (ศาลสูง) นั่นก็หมายความว่าประธานาธิบดีและรัฐสภามีความรับผิดชอบที่จะเป็นตัวแทนนโยบายที่ประชาชนเลือกแล้ว พูดง่ายๆ ทั้งสองสถาบันมีหน้าที่ต้องทำตามนโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกแล้ว เมื่อตอนหย่อนบัตรเลือกตั้ง
เมื่อพรรครีพับลิกันยื่นฟ้องคำร้องว่า กฎหมายบังคับให้คนอเมริกันซื้อประกันสุขภาพใครไม่ซื้อจะถูกปรับว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคล จอห์น โรเบิร์ต ประธานศาลสูงก็ออกมากล่าวยืนยันถึงหลักการดังกล่าวอีกว่า "It is not our job to protect people from the consequences of their political choices" กล่าวคือ "ไม่ใช่หน้าที่ของศาลสูงที่จะไปปกป้องประชาชนจากผลของนโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกหรือเห็นดีด้วยแล้ว" หรือเมื่อประชาชนเขาเลือกอย่างไรเขาก็ต้องรับผลอันนั้นเอง ไม่ว่าดีหรือไม่ดี ไม่ใช่หน้าที่ของศาลสูงจะไปปกป้องเขา (ตามความเห็นของตัว) เท่ากับเป็นการยืนยันวาทะข้างบน เพราะโอบามาหาเสียงด้วยนโยบาย "การประกันสุขภาพทั่วหน้า" และชนะการเลือกตั้ง ศาลก็ต้องยอมรับเพราะโอบามามาจากประชาชนเป็นร้อยล้านคนแต่ศาลไม่ได้รับเลือกมาจากประชาชนเลยแม้แต่คนเดียว เพราะศาลสูงนั้นประธานาธิบดี
แต่งตั้ง ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน
วาทะทั้งสองของประธานศาลสูงจอห์น โรเบิร์ต เท่ากับเป็นการยืนยันวาทะของประธานาธิบดีอัมบราฮัม ลินคอล์น ที่ว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ที่เกตตี สเบริ์กเมื่อคราวสงครามกลางเมืองเหนือกับใต้เรื่อง "เลิกทาส" ความจริงว่า "That the government of the people, by the people and for the people shall not perish from the earth" หรือแปลว่า "การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนจะต้องไม่สาบสูญไปจากโลกนี้" ตอนหลังนักรัฐศาสตร์นำวาทะอันเฉียบคมนี้มาเป็นคำจำกัดความของคำว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย วาทะของจอห์น โรเบิร์ตจึงเป็นการเปลี่ยนความเชื่อถือเดิมว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าต้องเน้นที่ประชาชนไม่ใช่อำนาจความตามความเห็นของศาลสูงเท่านั้น
ทางเอเชียเรา ปราชญ์ทางรัฐศาสตร์โบราณ เช่น เม็งจื้อ เมื่อ 1700 ปีมาแล้ว ก็เน้นที่ความต้องการของประชาชนด้วยวาทะ "เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์" จักรพรรดิหรือโอรสสวรรค์ที่ได้รับอำนาจอธิปไตยมาจากสวรรค์ก็ยังต้องทำตามเสียงของประชาชน เพราะสวรรค์จะทำตามเสียงของประชาชน ถ้าไม่ทำตาม สวรรค์ก็จะบันดาลให้เกิดเหตุทุกขภิกภัย น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม โรคระบาด ข่าวลือที่เป็นอัปมงคล ผู้คนก็จะเชื่อผู้วิเศษทำนายทายทักอนาคตของแผ่นดินในทางไม่เป็นมงคล เม็งจื้อกล่าวว่า ถ้าฮ่องเต้อยากรู้ว่าเสียงสวรรค์เป็นอย่างไร ก็ให้ฟังเสียงประชาชน สวรรค์อาจจะเปลี่ยนโอรสสวรรค์ได้ตามเสียงของประชาชน โดยบันดาลให้มีกบฏ โจรโพกผ้าเหลือง ประชาชนลุกฮือขึ้น การยึดโยงกับเสียงประชาชนจึงเป็นของจำเป็นสำหรับการปกครองทุกระบอบ
ขณะที่เขียนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญที่ประชาชนแม้แต่คนเดียวก็ไม่ได้เลือกเข้ามาทำหน้าที่จะวินิจฉัยว่า รัฐสภากำลังจะแก้รัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบอื่น
ศาลรัฐธรรมนูญเรานั้นพิจารณาพิพากษาการกระทำผิดย้อนหลังก็ได้ ความผิดปัจจุบันก็ได้ พิพากษาสิ่งที่ตนจินตนาการว่าอาจจะทำผิดในอนาคตก็ได้ทวนคำพูดตัวเองก็ได้
ดีจริงๆ สำหรับศาลนี้ น่าจะเก็บไว้นานๆ ไม่น่าเลิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา