เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและพหุการเมือง

พัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและพหุการเมือง
วัชรา ไชยสาร*

     ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ได้ให้คำนิยามของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ที่ได้รับการยอมรับและนำไปอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางว่า “การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” (government of the people, by the people, and for the people)

     ความหมายของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประชาชนทำหน้าที่ปกครองตนเองโดยตรง (Direct Democracy) นั้น เป็นอุดมคติ เพราะในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถกระทำได้ จึงเกิดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Indirect Democracy or Representative government) โดยประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นทำหน้าที่แทนตน แล้วผู้แทนเหล่านั้นมีหน้าที่ร่วมกันกำหนดทั้งผู้ปกครอง (รัฐบาล) นโยบาย และวิธีการปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งเป็นหลักการและกระบวนการทางการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามคำนิยามของอับราฮัม ลินคอล์น

     การที่ประชาชนทำหน้าที่ปกครองด้วยตนเองโดยตรง หรือการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนนั้น เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้กระบวนการทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทุกกระบวนการ ทุกระดับ และทุกมิติ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชาชนต้องมีคุณสมบัติที่เอื้อหรือสนับสนุนต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น มีความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง หรือติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างจริงจัง เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประชาชนต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองตามทัศนะที่ว่า “กิจกรรมทางการเมืองการปกครองเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องเอาใจใส่รับผิดชอบจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธให้พ้นความรับผิดชอบของตนหาได้ไม่” หรือ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน”2

     การมีส่วนร่วมในทางการเมือง (Political Participation) จึงเป็นหัวใจของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่มิได้หมายความว่า ประชาชนทั้งหมดจะต้องประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมือง เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่พอใจเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองมากกว่าจะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยตรง และในบางประเทศหรือบางสถานการณ์นั้น หากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากเกินไป ก็อาจจะไม่เกิดผลดีได้ เนื่องจากในบริบทของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองนั้น ประชาชนจะมีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมือง ทั้งรูปแบบหรือวิธีการ และขอบเขต กลุ่ม หรือจำนวนของประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองได้ดีมากน้อยเพียงใดนั้น ยังขึ้นอยู่กับระดับของพัฒนาการทางการเมือง ความตื่นตัวในทางการเมือง และวุฒิภาวะทางการเมืองหรือภูมิปัญญาทางการเมืองของรัฐนั้น ๆ เป็นสำคัญด้วย

     การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จึงมิใช่มีเพียงการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนหรือการมีส่วนร่วมในทางการเมืองรูปแบบอื่นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น และประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองก็มิได้จำกัดว่าต้องเป็นชายหรือหญิง หรือต้องอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือต้องสำเร็จการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น

     ในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น วิกฤตการณ์เรียกร้องสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสังคมการเมืองของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่น การเรียกร้องของขุนนางอังกฤษที่จะมีมหากฎบัตร หรือแมคนาคาร์ต้า (Magma Carta) เพื่อขยายสิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมืองของคนอังกฤษ การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนที่จตุจักรเทียนอันเหมย เมื่อปีพุทธศักราช 2527 การเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยเพื่อให้ปวงชนไทยได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย เมื่อปีพุทธศักราช 2475 หรือการปฏิรูปการเมืองไทยเมื่อปีพุทธศักราช 2544 โดยมีการเพิ่มรูปแบบ วิธีการ และขยายขอบเขต กลุ่ม หรือจำนวนของประชาชนผู้มีสิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมือง เป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญวัตถุประสงค์หนึ่ง

     การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมือง เป็นพัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองไทยแบบพหุนิยม (Pluralism) หรือเป็นแนวความคิดที่เคารพความแตกต่าง (Difference) และความหลากหลาย (Diversity) ในมิติต่าง ๆ ของผู้คนในสังคม ตั้งแต่การเมือง ชีวิตทางสังคม และวัฒนธรรม (ธีรยุทธ บุญมี, 2543) อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการผลักดันหรือการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก่อให้ชุมชนเข้มแข็ง หรือที่เรียกว่า “ประชาสังคม” ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอแนวความคิดเรื่องพหุนิยมกันมาตั้งแต่ยุคแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 แต่ช่วงนั้นอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้เลือนหายไป โดยมีแนวความคิดเกี่ยวกับสังคมนิยมมาแทนที่

     จนกระทั้งทศวรรษที่ผ่านมา (นับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535) เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปการเมืองไทย ประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรเอกชน และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความสำคัญกับ “การมีส่วนร่วมในทางการเมือง” (Political Participation) มากเป็นพิเศษ จนดูเหมือนว่าจะเป็นคำที่มีความหมายยิ่งใหญ่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นับตั้งแต่กรอบเบื้องต้นของร่างรัฐธรรมนูญ เจตจำนงของสภาร่างรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญจึงล้วนแต่มีผลให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองทุกระดับในกระบวนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น และยังได้ขยายการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน (Basic Rights or Fundamental Rights) สิทธิในการแสดงความคิดเห็น โดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เป็นต้น และสิทธิของพลเมือง (Citizen’s Rights) เช่น สิทธิออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง เสรีภาพในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เป็นต้น เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน

     ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นั้น นับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของการปฏิรูปการเมือง มีผลให้ประชาชนมีช่องทางเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองในทุกมิติแห่งกระบวนการทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งในแนวราบ (รูปแบบหรือวิธีการ) และแนวตั้ง (ขอบเขตหรือจำนวนของประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมือง) โดยบัญญัติไว้ชัดเจนในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 76 ดังนี้

     “มาตรา 76 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ”

     นอกจากนั้น บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกหลายมาตราก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมเด่นชัดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในรัฐธรรมนูญทั้ง 15 ฉบับที่ประเทศไทยเคยใช้มา สิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงได้เปิดกว้างขึ้นทั้งด้านรูปแบบ หรือวิธีการของการส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน และขอบเขต กลุ่ม หรือจำนวนของประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมือง ก่อให้เกิด “ระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Democracy) และสร้าง “ระบบพหุการเมือง” (Plural Politics) ที่นำไปสู่ “การเมืองภาคประชาชน”

     ประชาชนจะได้ใช้สิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดไว้หรือไม่ นั้น ยังไม่อาจสรุปได้ เพราะในกระบวนการทางการเมืองมีปัจจัยอื่นอีกมากที่เป็นตัวแปร ทำให้เกิดกระบวนการและพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ก็ได้ นอกจากนั้น การนำแนวความคิดของประเทศตะวันตกมาใช้ ในกระแสของวัฒนธรรมทางการเมืองไทยและวุฒิภาวะทางการเมืองไทยแบบดั้งเดิมนั้น จะเกิดผลต่อการปฏิรูปการเมืองไทยอย่างไร เป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนจึงต้องผลักดันให้ประชาชนได้ใช้สิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) และพหุสังคม (ประชาสังคม) - พหุการเมือง (Plural Society – Plural Politics) ให้เป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสมดุลทางการเมืองต่อไป

     นิยามของคำว่า “การมีส่วนร่วมในทางการเมือง” หมายถึง การที่ประชาชนเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ หรือผู้นำรัฐบาล รวมทั้งกดดันให้รัฐบาลกระทำตามความประสงค์ของตนหรือกลุ่มของตน และโดยที่การมีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นเครื่องชี้วัดพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ การมีส่วนร่วมในทางการเมืองก็ควรที่จะเป็นการมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ในระดับที่ดีแล้ว ก็มักจะกำหนดให้ประชาชนในทุกระดับมีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองตามกฎหมายที่มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในทุกมิติของกระบวนการทางการเมือง

     ทั้งนี้ “การมีส่วนร่วมในทางการเมือง” จึงต้องเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมีอิทธิพลในการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นสำคัญ และการกระทำใดไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อมีอิทธิพลในการตัดสินใจเลือกนโยบายของรัฐบาล หรือเลือกบุคคลสำคัญที่สามารถกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ ก็ไม่ถือเป็นการมีส่วนร่วมในทางการเมือง

แนวความคิด (CONCEPT) ของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

1. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) โดยประชาชนของรัฐทั้งหมดจะร่วมประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ หรือทำหน้าที่เป็นสภาเอง ตามทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งรุสโซ (Rousseau) เป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญในการเผยแพร่ความคิดนี้ โดยมีหลักการว่า ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคม กล่าวคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการบัญญัติกฎหมาย อันเป็นการเจตจำนงร่วมกัน ซึ่งเคยใช้ในบางแคว้นในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เมื่อจำนวนประชาชนมากขึ้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) จึงเป็นเรื่องที่ยากแก่ที่จะให้ประชาชนทุกคนใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตนเอง3

2. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือประชาธิปไตยโดยอ้อม (Representative Democracy or Indirect Democracy) ตามทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ประชาชนจะเลือกผู้แทนทำหน้าที่แทนตนในสภา โดยที่ประชาชนยังพอจะมีช่องทางในการควบคุมการเมืองการปกครองได้บ้าง ขอบเขตของการมีตัวแทนของปวงชนนั้นต้องเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วไป ประชาชนทั่วไปต้องมีสิทธิที่จะมีตัวแทน สิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะไม่เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีเงื่อนไขกีดกันประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และสิทธิพื้นฐาน (Basic Rights or Fundamental Rights) ของประชาชนต้องได้รับการรับรอง เช่น สิทธิในการพูด การเขียน การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การนับถือศาสนา และสิทธิที่เท่าเทียมกันในศาล เป็นต้น

3. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งโดยตรง (Semi - direct Democracy) เป็นการนำการมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรงมาผสมผสานกับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน4 ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

4. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) หรือที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองในระดับต่าง ๆ มากขึ้น โดยให้ประชาชนมีอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนด้วย มิใช่เพียงมีอำนาจเพียงเป็นที่มาแห่งอำนาจปกครองหรือมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้นซึ่งลักษณะหรือรูปแบบของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองนั้น อาจจะเป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง อาทิเช่น การออกเสียงประชามติ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เป็นต้น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจึงน่าจะอยู่ตรงกลางระหว่างการมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบตัวแทนหรือประชาธิปไตยโดยอ้อมที่ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเดียว กับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองตัวแทนซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมือง ในรูปแบบของประชาธิปไตยโดยตรงควบคู่กันไปด้วย5

5. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบพหุการเมือง (Plural Politics) เป็นการยอมรับหลักการการมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยการมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบผู้แทน เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น เพื่อให้ได้ผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตน และการมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยตรง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การออกเสียงประชามติ เป็นต้น ยังยอมรับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองเท่าเทียมกัน และปฏิเสธการผูกขาดอำนาจทางการเมืองให้เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบพหุการเมืองจึงต้องยอมรับภาวะความเป็นพหุสังคม (Plural Society) อันเป็นการเคารพความแตกต่าง (Difference) และความหลากหลาย (Diversity) และระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม


     ดังนั้น การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนจึงสามารถกระทำได้หลายรูปแบบหรือวิธีการ และขอบเขต กลุ่ม หรือจำนวนและกลุ่มของประชาชนผู้มีสิทธิเข้ามีส่วนร่วม จำกัดน้อยลงทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองกว้างขึ้น แม้ว่าในอดีตนั้น การตัดสินใจทางการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองเป็นของกลุ่ม “ผู้นำ” ในสังคมเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่สามารถปฏิบัติตามแนวความคิดที่กล่าวมาแล้วนั้นได้เลยทีเดียว แต่การยึดถือและเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแนวความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ประชาชนก็จะได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น

     เมื่อใดประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เรียกร้องที่จะเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจ การเลือก นโยบาย หรือปฏิบัติตามนโยบายเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันรัฐและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้พัฒนาอยู่ในระดับหนึ่ง ก็จะเพิ่มรูปแบบหรือวิธีการและขยายขอบเขต หรือจำนวนและกลุ่มของประชาชนที่มีส่วนร่วมในทางการเมือง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กล่าวคือ การเรียกร้องทางการเมือง โดยพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ผู้แทนในรัฐสภา และประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดความหลากหลายในทางการเมือง เกิดการต่อรองทางการเมืองระหว่างผู้นำด้วยกันเอง และระหว่างผู้นำกับกลุ่มผู้เรียกร้อง เป็นการผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้สัมพันธ์กับความต้องการของสังคมโดยร่วม

     การขยายรูปแบบหรือวิธีการและขอบเขต หรือจำนวนและกลุ่มของประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่เป็นความประสงค์ของรัฐ (ฝ่ายปกครอง) และที่เป็นการเรียกร้องของประชาชนและกลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งอาจเกิดจากการเร้าระดมทางสังคม (Social Mobilization) หรือเกิดจากระบวนการที่ความผูกพันทางจิตวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม แบบเก่าผุกร่อนหรือล่มสลายไป และประชาชนก็พร้อมที่จะรับการขัดเกลาทางสังคมและพฤติกรรมรูปแบบใหม่ทั้งหลาย ตามทรรศนะของ ดอยซ์ (Deutach)6 จะทำให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยมและความคาดหวัง จากวิถีชีวิตแบบเก่า ๆ เป็นวิถีชีวิตที่ทันสมัย ประชาชนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น มีการสื่อสารและคมนาคมกว้างขวางและก้าวไกลยิ่งขึ้น การเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ ของมวลชนมีมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

     แต่อย่างไรก็ตาม หากการเร้าระดมทางสังคมกับการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมืองไม่มีความสมดุลหรือไม่สอดคล้องกัน ก็จะก่อให้ปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วย ที่มักจะเกิดความสับสนทางการเมืองอันเนื่องจากการขยายรูปแบบหรือวิธีการและขอบเขต หรือจำนวนและกลุ่มของประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน ถ้าไม่มีสถาบันทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแก้ไขปัญหา ก็มักจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองได้ง่าย ๆ หรือประชาชนอาจจะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง ตามที่การขยายรูปแบบหรือวิธีการและขอบเขต หรือจำนวนและกลุ่มของประชาชนผู้มีสิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองนั้น ๆ น้อยเกินความคาดหมาย หรืออาจจะก่อให้เกิดผลในเชิงลบต่อการพัฒนาทางเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้มากกว่าผลในเชิงบวกที่ได้จากการมีส่วนร่วมของประชาชน

     การมีส่วนร่วมในทางการเมืองจึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนกับรัฐ (ผู้ปกครอง) ได้มีโอกาสสื่อสารและประสานอรรถประโยชน์ร่วมกัน การดำเนินนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของรัฐจะเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนมากขึ้น อันเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด

การมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

     รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองตามบัญญัติแห่งรัฐธรรนูญ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกผู้เข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติและบริหารราชการแผ่นดินโดยการเลือกตั้ง การสร้างกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยการขัดตั้งองค์กรอิสระให้มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ และการสร้างกลไกมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

     นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ยังได้กำหนดหลักการที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมีไว้ในหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา การมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการออกเสียงลงคะแนน และการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองโดยตรงหรือการตรวจสอบการเมือง ในที่นี้จะนำเสนอสิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ได้ขยายฐานและรูปแบบการมีส่วนร่วมในทางการเมืองซึ่งมีแต่เดิม หรือเป็นสิทธิการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่เพิ่งบัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรก อาทิเช่น สิทธิรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สิทธิออกเสียงประชามติ และสิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง เป็นต้น

พัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบพหุการเมือง : การเมืองภาคประชาชน

     การปฏิรูปการเมืองและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้เกิดประชาชนมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมือง ประชาชนจำนวนมากเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองและกลุ่มคนผู้มีส่วนร่วมในทางการเมือง นำไปสู่การมีส่วนร่วมในทางการเมือง “แบบพหุการเมือง (Plural Politics)” และเกิดภาวะ “พหุสังคม (Plural Society)” และพัฒนาไปถึงการเป็น “ประชาสังคม” และ “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์แต่ละกลุ่มต่างก็จะใช้สิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือมากกว่ารูปแบบหนึ่ง และใช้สิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับใดระดับหนึ่ง หรือใช้สิทธิส่วนร่วมในทางการเมืองในหลาย ๆ ระดับ

     ตัวอย่างเช่น กรณีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ใช้สิทธิมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยการร้องเรียนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและการโอนหุ้นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เนื่องจากเห็นว่า พ.ต.ท. ทักษิณฯ กระทำผิดรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2541 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด อีกทั้งยังได้ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบเรียกร้องให้ ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญรีบดำเนินการโดยด่วน แต่ในขณะเดียวกันอาจมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ชุมนุมโดยสงบเพื่อขอให้ ปปช. ให้ความเป็นธรรมแก่ พ.ต.ท. ทักษิณฯ เนื่องจากช่วงเวลาที่ ปปช. จะสรุปผลการวินิจฉัยของ ปปช. นั้น เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง เป็นต้น

     กรณีที่ประชาชนได้ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำนวน 50,000 ชื่อ เช่น ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกร และกลุ่มองค์กรเอกชน

     การมีส่วนร่วมในทางการเมืองดังกล่าวนั้น อาจมีพื้นฐานของผลประโยชน์ขัดกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งของกลุ่มต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากกรณีที่ประชาชนจากหลายเขตเลือกตั้งชุมนุมประท้วงและมีการใช้กำลังเข้าทำลายทรัพย์สินของทางราชการ เนื่องจากเห็นด้วยว่า มีการนับคะแนนไม่เป็นธรรม ถึงขนาดมีการเคลื่อนไหวมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อมากดดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพื่อมาสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง หากมองในมุมหนึ่ง ที่เห็นว่า เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการที่ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยการตรวจสอบการเลือกตั้งแล้ว ก็น่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองไทย หรือหากจะมองอีกมุมหนึ่ง ก็จะเห็นว่า เป็นการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่น่าจะมีผลประโยชน์อื่น ทำให้การใช้สิทธิส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมีการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

     ดังนั้น นักการเมืองบางคนจึงได้นำจุดอ่อนของการเมืองภาคประชาชนมาใช้เพื่อบิดเบือนและทำลายการเมืองภาคประชาชน โดยการพยายามทำให้การเมืองภาคประชาชนโดยรวมอ่อนแอลง ดังจะเห็นได้จากการที่นักการเมืองบางคนให้ความเห็นว่า การมีส่วนร่วมในทางการเมือง “แบบพหุการเมือง (Plural Politics)” และเกิดภาวะ “พหุสังคม (Plural Society)” อาจก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย อันจะนำไปสู่ “สภาวะแห่งสังคมไร้ระเบียบ” และก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา เช่น การชุมนุมประท้วงของกลุ่มสมัชชาคนจน การชุมนุมของกลุ่มลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากบรรดานักการเมืองในระบบการเลือกตั้งที่เกรงว่า จะต้องสูญเสียอำนาจส่วนหนึ่งให้แก่การเมืองภาคประชาชน ดังปรากฏในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่การเมืองภาคประชาชนถูกบิดเบือนและทำลายล้างโดยฝ่ายการปกครอง

     แต่อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในทางการเมืองมีผลต่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบพหุการเมืองจะทำให้ประชาชนแต่ละกลุ่มได้มีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยมีการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของแต่ละกลุ่ม ทำให้ภาวะดุลยภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันจะก่อให้เกิดสังคมบูรณาการไปสู่การเป็น“ประชาสังคม” เป็นการพัฒนาไปสู่ความเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” และปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการผลักดันให้พัฒนาไปสู่ “ภาวะการเมืองภาคประชาชน” หรือ “การเมืองของพลเมือง” และเป็นการพัฒนาการเมืองแบบยั่งยืนที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

     ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อต่อพัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบพหุการเมือง เช่น การศึกษาของประชาชน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน การศึกษาวิเคราะห์ปัญหา การเชื่อมโยงและประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างการเมืองภาคประชาชนด้วยกันเอง เป็นต้น เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดพัฒนาการเมืองแบบพหุการเมืองที่เข้มแข็งโดยจะเอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ของกลุ่มต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และก่อให้เกิดประเด็นทางการเมืองใหม่ ๆ ที่ขยับยกระดับเป็นประเด็นสาธารณะ เกิดการตรวจสอบกระบวนการทางการเมืองทั้งระบบ อันจะส่งผลการระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศและประชาชนส่วนรวม
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
*สำนักประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา