เขียนโดย สัมผัส พึ่งประดิษฐ์
ตมธก. รุ่น ๗ ธรรมศาสตร์บัณฑิต
ตมธก. รุ่น ๗ ธรรมศาสตร์บัณฑิต
.....๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวันที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองแผ่นดิน มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย ด้วยการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะราษฎร โดยการนำของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าฝ่ายพลเรือน อันกอปรด้วยทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เป็นการสิ้นสุดซึ่งอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเริ่มต้นการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชนไทย ที่ทำให้อำนาจอธิปไตยตกเป็นของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งได้ก่อให้เกิดสถาบันรัฐสภา สถาบันนิติบัญญัติ บริหารบัญญัติ ตุลาการ เศรษฐกิจการเงิน การปกครอง ตลอดจนการมีส่วนร่วมและสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย ที่ได้พัฒนามาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
.....การได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เป็นการได้มาด้วยความเสียสละและด้วยความปรีชาสามารถของคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ในการวางแผนยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ การยึดอำนาจโดยปราศจากการนองเลือด และแผนการดำเนินการภายหลังการยึดอำนาจไว้ได้แล้ว ซึ่งเริ่มต้นจากคนเจ็ดคน โดยการริเริ่มของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ร่วมด้วยร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) และนายแนบ พหลโยธิน โดยเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้วก็ได้ดำเนินการวางแผนขยายกำลังการจัดตั้งออกเป็นสายพลเรือนจำนวน ๔๖ คน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า และสายทหารเรือจำนวน ๒๑ คน โดยมีนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า จากนั้นได้รวมกลุ่มเรียกชื่อว่า “คณะราษฎร” โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ อย่างฉับพลันเมื่อเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วยการอ่านประกาศหรือแถลงการณ์ของคณะราษฎรต่อหน้าทหารและประชาชนพลเรือนที่มาชุมนุมกัน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ประกาศยึดอำนาจการปกครองโดยปราศจากการนองเลือด (ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน)
พร้อมกับการประกาศยึดอำนาจการปกครองตามประกาศของคณะราษฎร ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง คณะราษฎรก็ได้ประกาศแนวทางหรือนโยบายในการบริหารหรือปกครองประเทศต่อไปด้วยหลัก ๖ ประการ ดังต่อไปนี้
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
๕.จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพซึ่งไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว
๖.ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
หลัก ๖ ประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้เป็นหลักนโยบายในการบริหารประเทศ สืบทอดและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
.....ภายหลังการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อบรรลุซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลัก ๖ ประการ คณะราษฎรพร้อมด้วยคณะผู้แทนราษฎรจำนวนเจ็ดคนได้นำธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง ขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ พร้อมทั้งขอพระราชทานพระกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะราษฎร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาและลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองประเทศ โดยทรงเพิ่มเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ให้ใช้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ธรรมนูญการปกครองดังกล่าวมี ๓๙ มาตรา โดยแบ่งเป็นหมวดข้อความทั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดสภาผู้แทนราษฎร หมวดศาล ซึ่งในหมวดที่ ๑ มาตราที่ ๑ บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร การใช้อำนาจสูงสุดอันได้แก่พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและศาล ให้เป็นไปตามธรรมนูญการปกครองประเทศ การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์ ต้องมีกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) ผู้หนึ่งลงนามด้วย ถือได้ว่าสยามประเทศได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ชั่วคราว ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปกครองประเทศเป็นฉบับแรก อันนำมาซึ่งความปีติยินดี ของราษฎร ดังปรากฏตามเนื้อเพลง “๒๔ มิถุนายน” ของกรมศิลปากร ตอนหนึ่งดังนี้
“๒๔ มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐธรรมนูญไทย เริ่มระบอบแบบอารยะประชาธิปไตย เพื่อราษฎรไทยได้สิทธิเสรี สำราญสำเริงบันเทิงเต็มที่ เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์ ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทอดไทยไชโย”
.....สภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาการพระนคร แต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีจำนวน ๗๐ คน โดยแต่งตั้งจากสมาชิกคณะราษฎร ๓๑ คน และจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระบอบเดิม ๓๙ คน ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมนัดแรก สภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวคำปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและรักษาไว้ซึ่งหลัก ๖ ประการให้มั่นคงด้วย
.....เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศฉบับถาวร สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจำนวนเก้าคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับฝ่ายคณะราษฎรซึ่งเป็นส่วนข้างน้อย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอนุกรรมการด้วยผู้หนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจึงเป็นไปในลักษณะประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายคณะราษฎร การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม จึงเป็นวัน “รัฐธรรมนูญ” ถือเป็นวันสำคัญของชาติมาจนถึงปัจจุบัน
.....การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ยังผลให้คณะกรรมการราษฎรซึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว ฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นอันสิ้นสุดลง โดยมีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม มีสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งเป็นสมาชิกประเภทหนึ่ง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นสมาชิกประเภทสอง เหตุผลที่ต้องมีสมาชิกประเภทสองก็เพราะเราเพิ่งมีรัฐธรรมนูญ ความคุ้นเคยในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญยังไม่แพร่หลายทั่วถึง ฉะนั้นจึงให้มีสมาชิกประเภทที่เห็นว่าเป็นคนคุ้นเคยงานแล้วช่วยพยุงกิจการทำร่วมมือกันไปกับสมาชิกประเภทหนึ่งที่ราษฎรเลือกตั้งมา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕
.....นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะรัฐมนตรีลอยในรัฐบาลชุดแรก และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๗๕ และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑ และฉบับที่ ๒
.....ในระหว่างนี้ได้มีเหตุการณ์สำคัญอันก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐบาลชุดนี้ ได้แก่การที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดี พนมยงค์ ร่างเสนอต่อรัฐบาลมีเนื้อหาให้รัฐบาลจัดการประกอบเศรษฐกิจเองด้วยการจัดเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ให้มีเอกราชทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางศาล ให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ (ดังปรากฏตามหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ ส่วนข้างมากเห็นด้วยแต่เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย คณะอนุกรรมการฯ จึงได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่ารัฐมนตรีส่วนข้างมากไม่เห็นด้วย โดยกล่าวหาว่าเป็นเค้าโครงการที่เป็นแบบคอมมิวนิสต์ เป็นเหตุให้นายปรีดี พนมยงค์ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี (ลอย) เพื่อเสนอเค้าโครงดังกล่าวต่อราษฎรในการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
.....ทว่ารัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่กลับนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกับได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และออกแถลงการณ์กล่าวหาว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์ บีบบังคับให้นายปรีดี พนมยงค์ออกนอกประเทศ นายปรีดี พนมยงค์และภริยา จึงออกเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖
.....การกระทำของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในครั้งนี้นับเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและความเป็นอธิปไตย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้นำกำลังทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และได้ทำการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกสั่งปิด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเลือก พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อไป
.....ในวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางกลับประเทศตามคำเชิญของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล โดยก่อนที่จะเข้าร่วมรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายปรีดี พนมยงค์ กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ๑. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ๒. พระยานลราชสุวัจน์ ๓. พระยาศรีสังกร พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านคอมมิวนิสต์อีกสองคน คือ เซอร์โรเบิร์ตฮอลแลนด์ และเมอร์ซิเออร์กียอง ผลการสอบสวน คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายปรีดี พนมยงค์ มิได้มีมลทินเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
.....ต่อมาในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ และตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก
.....นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (นับตามปฏิทินเก่า) ซึ่งเป็นกระทรวงแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่ใหญ่ที่สุด มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการปกครอง สาธารณสุข การบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร และการบริหารราชการแผ่นดินทั่วประเทศ
นายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการปรับปรุงและวางโครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และให้เป็นไปตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในประการต่างๆ ที่พอจะสรุปได้ดังนี้
๑. ดำเนินการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองทั่วประเทศ ด้วยการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักร โดยให้เทศบาลมีสถานภาพเป็นทบวงการเมืองและมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีคณะเทศมนตรีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารภายใต้การควบคุมของสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรดังเช่นที่ในต่างประเทศได้ยกสถานภาพของตำบลให้เป็นเทศบาล อันเป็นการวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ทุกตำบลเป็นเทศบาล
๒. ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดรูปการบริหารราชการเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ยกเลิกการปกครองในรูปแบบมณฑล เทศาภิบาล เพื่อให้กระทรวงสามารถสั่งการไปยังจังหวัดได้โดยตรงเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารราชการ
๓. ออกพระราชบัญญัติประปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๔๗๖ พร้อมด้วยพระราชบัญญัติระเบียบราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยให้มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงธรรมการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงวัง และทบวงการเมือง อันได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานโฆษณา กรมโยธาเทศบาลเพื่อการปกครองเทศบาลและการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น
๔. ด้านการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ในการยกระดับความรู้ของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ที่ควรจะได้มีการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับพื้นฐาน ก็ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖ (๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ นับตามปฏิทินเก่า) โดยได้ทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดังคำรายงานของนายปรีดี พนมยงค์ ในการกล่าวเปิดมหาวิทยาลัยว่า “ในสมัยที่ประเทศเราดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเรือนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเปิดโอกาสให้พลเมืองใช้เสรีภาพทางการศึกษาให้กว้างขวางที่สุด” มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นแหล่งสำคัญในการให้ความรู้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางในลักษณะตลาดวิชา มีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองและการทูต เพื่อผลิตบัณฑิตออกไปทำหน้าที่การงานราชการและรับใช้ราษฎรทั่วประเทศ
สำหรับการศึกษาขั้นต้นระดับประถมศึกษา ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๘ โอนโรงเรียนประถมศึกษาในเขตเทศบาลให้ขึ้นต่อรัฐบาลซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศใน พ.ศ. ๒๔๗๘ และในพระนคร-ธนบุรี ให้ครบทุกตำบล ซึ่งสามารถทำการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลได้ครบทุกตำบลทั่วประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ อันเป็นปีที่ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙
นอกจากการศึกษาในระดับประถมศึกษาแล้ว ยังได้วางรากฐานการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาในด้านอาชีวะอีกด้วย โดยได้จัดตั้งเป็นกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้หนังสือ และในด้านการศึกษาสายอาชีวศึกษา ได้เปิดอบรมวิชาครูแก่ครูประชาบาลที่มีวุฒิสามัญศึกษา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จำนวนเจ็ดสาขาอาชีพ อันได้แก่ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างจักสาน ช่างทอผ้า ช่างโลหะ ช่างตัดเสื้อ และการช่างสตรี เพื่อออกไปทำงานตามท้องถิ่น
.....นายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจนถึงวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาถึงสามครั้ง (ถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยที่พันเอกหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
.....กระทั่งเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ยาตราทัพบุกประเทศไทยเพื่อขยายสงครามมหาเอเชียบูรพามายังภูมิภาคแถบนี้ รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นพันธมิตรทางการทหารกับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและการกระทำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามดังกล่าว จึงได้ลาออกจากการร่วมรัฐบาล และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ อันเป็นผลให้ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง (ในเวลานั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีด้วยกันสามท่าน คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พระยาพิชเยนทร์โยธิน ซึ่งชราภาพมากแล้ว และนายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗)
.....ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นภายในประเทศ โดยร่วมมือกับประชาชนคนไทยและขบวนการเสรีไทยที่ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน ผลจากการนี้ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะยุติลงโดยฝ่ายญี่ปุ่นยอมจำนนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ในการนี้นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยให้ถือว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันประชาชนไทย
.....เมื่อสงครามโลกสิ้นสุด นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กราบบังคมทูลอันเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะประมุขของชาติต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ใน ความปรีชาสามารถ การบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการและให้มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดินเพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
.....ภาวะแห่งสงครามยุติลง สถานการณ์ภายในประเทศที่ใช้กฎอัยการศึก ภายใต้การปกครองด้วยอำนาจทหาร ได้กลับเข้าสู่ภาวะสันติและประชาธิปไตยอีกครั้ง ทว่าการบูรณะฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม ทั้งยังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจทรุดโทรม ภาวะเงินเฟ้อ เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลน สินค้าราคาแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม ปัญหาคอร์รัปชัน ฯลฯ เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งอีกทั้งยังมีภารกิจที่จะต้องเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับผลประโยชน์และอนาคตของประเทศในเรื่องสำคัญหลายประการ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ขอให้นายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสักระยะหนึ่ง นายปรีดี พนมยงค์ เห็นถึงความจำเป็นของสถานการณ์ดังกล่าวจึงยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
.....ต่อมาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๘๙ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองส่งสมาชิกเข้ารับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙ มีพรรคการเมืองอันได้แก่ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่งสมาชิกพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้ง (ขณะนั้นได้ยกเลิกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ประกาศใช้ในสมัยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อให้ประเทศมหาอำนาจรับรองประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ) ผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลงปรากฏว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนเป็นอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมาก จึงสนับสนุนให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙
.....แต่เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้ขอลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีตามมรรยาททางการเมือง หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ อีกวาระหนึ่ง
.....ในช่วงระยะเวลานั้น สถานการณ์ภายในประเทศและสถานการณ์ของโลกแปรเปลี่ยนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง มีการขยายตัวเองของประเทศที่มีแนวทางสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้น ประเทศจีนประสบชัยชนะในการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ประสบชัยชนะในการต่อสู้เพื่อเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาซึ่งกลับกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกได้พยายามที่จะเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคเอเชียแทนอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งกำลังสูญเสียความเป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร และพยายามที่จะต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์มิให้ขยายตัวออกไปในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเข้ามามีอิทธิพลและดึงให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์ (ซี.อา.โต) เพื่อร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยจึงตกเป็นเป้าหมายของสหัรัฐอเมริกาที่จะเข้ามามีอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและทางทหาร
.....สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศก็ได้มีการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองระหว่างผู้ที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตย เรียกร้องสันติภาพ กับอำนาจเผด็จการและฝ่ายอนุรักษนิยม คัดค้านการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ ทั้งยังมีการขยายตัวทางความคิดสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นไปอย่างคึกคัก
.....นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และผู้นำขบวนการเสรีไทย มีแนวคิดในการอยู่อย่างสันติเป็นมิตรกับทุกประเทศสนับสนุนบรรดาประเทศที่เป็นเมืองขึ้นให้ได้เป็นเอกราชและเสรีภาพ หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเซีย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ให้ดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระ เอกราช ประชาธิปไตยบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ทว่าความคิดหรือการดำเนินนโยบายดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาและขัดกับนโยบายของประเทศมหาอำนาจและฝ่ายตรงข้าม ด้วยเหตุนี้หลังเกิดกรณ๊สวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ นายปรีดี พนมยงค์ จึงประสบกับการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีและการให้ร้ายป้ายสีจากฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักหน่วงเพื่อทำลายเกียรติภูมิความเชื่อถือในตัวนายปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวก ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพว่า ได้ตรากตรำทำงานสนองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควร รู้สึกว่าอนามัยเสื่อมโทรม ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลได้เต็มที่ จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อไป
.....จนถึงเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ได้เกิดรัฐประหาร โดยคณะทหารบกซึ่งมี พลโท ผิน ชุณหะวรรณ เป็นหัวหน้า ได้ทำการยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยได้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คณะรัฐประหารร่างขึ้น เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” มาใช้ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาคณะรัฐประหารก็ได้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งโดยให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
.....นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกจากทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่พำนักเพื่อความปลอดภัยของชีวิต เนื่องจากถูกกำลังทหารนำรถถังบุกเข้าทำเนียบและยิงปืนใส่อาคารที่พัก หลังจากทำการรัฐประหารยึดอำนาจแล้วคณะรัฐประหารก็ได้พุ่งเป้าหมายไปสู่การทำลายนักการเมืองที่เป็นแกนนำทางการเมืองและสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ดังเช่นการจับกุมสังหารสี่อดีตรัฐมนตรี คือ นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ ต่อมาก็มีผู้ถูกสังหารอีกสองคน คือ นายพร มลิทอง และ ดร. ทวี ตะเวทิกุล เป้าหมายต่อไปของคณะรัฐประหารก็ได้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การ รวมถึงนักศึกษาซึ่งคณะรัฐประหารถือว่าเป็นฐานพลังทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ คณะรัฐประหารได้ทำการลิดรอนสิทธิของนักศึกษาด้วยวิธีต่างๆ นับตั้งแต่การจำกัดสิทธิผู้ที่ได้รับปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิตในการเข้าเป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา สิทธิในการเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย และสิทธิในการเข้ารับราชการตำรวจ รวมทั้งการส่งกองทหารเข้าควบคุม และถึงที่สุดการยุบเลิกมหาวิทยาลัยด้วยการอนุมัติให้ซื้อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วยจำนวนเงิน ๕ ล้านบาทเพื่อใช้ประโยชน์ทางราชการทหาร เป็นเหตุให้นักศึกษารวมพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนและนักการเมืองที่รักความเป็นธรรม ชุมนุมเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔
.....อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ทางการเมืองนับจากยุคนั้นเป็นต้นมาก็ได้เข้าสู่ยุคของอำนาจเผด็จการ มีการจับกุมปราบปรามนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนนักประพันธ์ นักศึกษา กรรมกร ชาวนาชาวไร่ ที่คัดค้านเผด็จการเรียกร้องประชาธิปไตยและสันติภาพ คัดค้านการเข้าร่วมสงคราม เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ในข้อหากบฏเป็นจำนวนนับร้อยคน ในคดีที่เรียกกันว่า กบฏสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ และหลังจากการจับกุมในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลก็ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ มาใช้ปราบปรามประชาชนด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์อันเป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองด้วยอำนาจเผด็จการยิ่งขึ้น การปราบปรามประชาชนที่คัดค้านอำนาจเผด็จการ คัดค้านรัฐบาล คัดค้านการดำเนินโยบายที่เข้าร่วมเศรษฐกิจและทางทหารกับประเทศมหาอำนาจ ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศอย่างสุดขั้ว
.....นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ต้องลี้ภัยด้วยอำนาจเผด็จการรัฐประหารไปพำนักในต่างประเทศจนถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา