จะสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริงในประเทศไทย ได้อย่างไร ?
การมุ่งไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตย คือ อุดมคติของประชาชนในประเทศทั้งหลายทั่วโลกในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ผู้ซึ่งมีลัทธิประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ หรือเป็นอาวุธทางความคิด ที่ใช้เป็นวิธีคิดสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยอันเป็นความมุ่งหมายสูงสุด สังคมที่เป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดของมนุษยชาติ คือสังคมที่มีความไพบูลย์ ความสันติสุข อิสรภาพ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเรียกขานกันทั่วไปว่า “สังคมประชาธิปไตย”
การสร้างสังคมประชาธิปไตยด้วยลัทธิประชาธิปไตยนั้นจะบรรลุความสำเร็จได้จริง จะต้องสร้างให้ครบองค์ประกอบที่สำคัญของระบบสังคมทั้ง 3 ด้าน คือ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม นั่นคือ จะต้องมีการเมืองประชาธิปไตย โดยมีด้านการเมืองเป็นองค์ประกอบนำ ด้านเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบด้านรากฐาน และด้านวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบส่วนบนภาพสะท้อน เพราะคำว่า “ระบบสังคม” คือ ทุกส่วนทุกด้านของสังคมนั่นเอง
สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมเปิด เป็นสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย เป็นสังคมแบบพหุนิยม ไม่ใช่แบบเอกนิยม หรือทวินิยม ดังนั้นจึงมีความคิดจิตสำนึกของสังคมที่มีจุดยืนบนผลประโยชน์ส่วนรวม มีทรรศนะที่กว้างขวางไม่ยึดติดคับแคบด้านใดด้านหนึ่ง เช่น วัตถุนิยม หรือจิตนิยม มีมรรควิธีวิทยาศาสตร์และเหนือวิทยาศาสตร์ การเมืองของสังคมประชาธิปไตย คือ การเมืองประชาธิปไตย, เศรษฐกิจของสังคมประชาธิปไตย คือ เศรษฐกิจประชาธิปไตย, วัฒนธรรมของสังคมประชาธิปไตย คือ วัฒนธรรมประชาธิปไตย
การเมืองประชาธิปไตย จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และจะนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นลำดับ หรือเรียกอีกด้านหนึ่งว่าประชาธิปไตยในการเมือง ประชาธิปไตยในระบอบและประชาธิปไตยในการปกครอง ประชาธิปไตยเศรษฐกิจ คือ การมีส่วนแบ่งในรายได้แห่งชาติจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ประชาธิปไตยในวัฒนธรรม คือ ประชาชนเป็นผู้มีอิสรเสรีในการดำเนินหรือปฏิบัติวัฒนธรรมด้วยตัวเองของประชาชนเอง
ดังนั้น สังคมประชาธิปไตย คือ ประชาธิปไตยครบองค์ หรือ ระบบประชาธิปไตย นั่นคือ ประชาธิปไตยของระบบสังคม จึงหมายถึง ประชาธิปไตยในองค์ประกอบทั้งหมด คือ ประชาธิปไตยในเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในการเมือง ประชาธิปไตยในการปกครอง และประชาธิปไตยในวัฒนธรรม เป็นต้น
การก่อกำเนิดสังคมประชาธิปไตยนั้น มิใช่มนุษย์จะสร้างขึ้นเองได้ตามอำเภอใจ แต่จะต้องมีองค์ประกอบอันเป็นรากฐานของระบบประชาธิปไตยพอสมควร เช่น เริ่มต้นจะต้องมีประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจก่อน เป็นเงื่อนไขให้เกิดประชาธิปไตยในทางการเมือง แล้วจึงจะมีประชาธิปไตยในระบอบ และมีประชาธิปไตยในการปกครองได้อันจะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในท้ายที่สุด ที่เรียกว่า “ประเทศพัฒนาแล้ว”
ประชาธิปไตยในเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นขนานกับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เมื่อยังไม่มีอุตสาหกรรม ประชาธิปไตยในเศรษฐกิจก็ยังไม่มี เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานเปล่าๆ โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีก็น้อยเต็มทน ตัวอย่างในสมัยกรีซโรมันพวกทาส ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ล้วนแต่ทำงานฟรีทั้งนั้น ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เลี้ยง มาถึงสมัยกลาง พวกชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีค่าตอบแทนบ้าง แต่ก็น้อยเต็มที เพราะยังต้องทำงานฟรีให้แก่เจ้าขุนมูลนายผู้เป็นเจ้าของสังกัดอยู่อีกมาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่มีอุตสาหกรรม ผลิตกรรมจึงอยู่ในวงแคบ ส่วนสำคัญก็อยู่ในการทำไร่ทำนาและมีหัตถกรรมเป็นส่วนประกอบ แต่พอมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ผลิตกรรมก็กว้างขวางออกไป เพราะอุตสาหกรรมย่อมประกอบด้วยการใช้เครื่องจักรทำให้มีกำลังผลิตสูง บังเกิดผลผลิตอุดมสมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตผลเกษตรกรรม ยังส่งผลให้พาณิชกรรมขยายตัวยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยยังเปลี่ยนเครื่องจักรสมัยเก่าเป็นเครื่องจักรสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ผลผลิตก็อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และเครื่องจักรสมัยใหม่ก็ยังช่วยให้การขนส่งขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน เป็นอันว่าเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชกรรม และการขนส่ง อันประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมของ “เศรษฐกิจแห่งชาติ” ของแต่ละประเทศ ได้พัฒนารุดหน้าอย่างใหญ่หลวง สภาวการณ์เช่นนี้ยังส่งผลให้การทำงานฟรีนั้นหมดสิ้นไป ประชาชนทั่วประเทศได้รับส่วนแบ่งจากรายได้แห่งชาติอย่างทั่วถึง ต่างกันแต่บางพวกได้มาก บางพวกได้น้อย เช่น พ่อค้านักอุตสาหกรรมได้มาก ชาวนาและกรรมกรได้น้อย เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ได้ด้วยกัน ที่ทำงานแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งเลยอย่างสมัยกรีซโรมันหรือสมัยกลาง เป็นอันว่าจะไม่มีอีกต่อไป
การที่ประชาชนทั่วไปต่างมีส่วนในรายได้แห่งชาตินั่นแหละ คือ สาระสำคัญของประชาธิปไตยในเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในเศรษฐกิจจะมีมากหรือน้อยเพียงใด วัดได้ด้วยการแบ่งรายได้แห่งชาติ ว่าจะยุติธรรมหรือไม่เพียงใด ในประเทศที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างมาก ประชาธิปไตยในเศรษฐกิจก็น้อย ในประเทศที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจบแคบลง ประชาธิปไตยในเศรษฐกิจก็มากขึ้น โดยทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนามีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
เมื่อประชาธิปไตยในเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยในการเมือง แต่ก่อนการเมืองเล่นกันอยู่ระหว่างคนกลุ่มน้อย เช่น ระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนแย่งอำนาจกัน ระหว่างราชวงศ์ชิงอำนาจกัน ต่อมาเมื่อมีคนส่วนใหญ่มีรายได้ที่ดีขึ้น ฐานะทางสังคมก็สูงขึ้นจึงเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเมือง ชนชั้นกลางเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อจะดำเนินการปกครองเช่นเดียวกัน ดังนี้ จึงก่อให้เกิดการปกครองที่มีประชาชนเข้าดำเนินการในรูปแบบต่างๆกัน เช่น ระบบรัฐสภาในอังกฤษ และระบบประธานาธิบดีในอเมริกาเป็นต้น รูปต่างๆของการปกครองเหล่านี้คือ การปกครองที่ประชาชนเข้าดำเนินการ และการปกครองที่ประชาชนเข้าดำเนินการก็คือ “ประชาธิปไตยในการปกครอง” หรือที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” นั่นเอง
จึงเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยในการปกครองนั้น เกิดขึ้นบนรากฐานของประชาธิปไตยในการเมืองและประชาธิปไตยในเศรษฐกิจมาก่อน แล้วประชาธิปไตยในการเมืองจึงตามมา แล้วก็ตามหลังด้วยประชาธิปไตยในการปกครองอีกทีหนึ่ง เรียงลำดับกันดังนี้ เมื่อมีเงื่อนไขเพียงพอที่จะสร้างประชาธิปไตยในการปกครองในระบอบแล้ว เพื่อมุ่งไปสู่สังคมประชาธิปไตย จึงลงมือสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักการปกครอง 5 หลัก คือ
1.อำนาจอธิปไตยของปวงชน
2.เสรีภาพของบุคคลบริบูรณ์
3.ความเสมอภาค
4.หลักนิติธรรม
5.การปกครองจากการเลือกตั้ง
หลังจากเสร็จสิ้นการสร้างประชาธิปไตยในการปกครองและในระบอบแล้ว จึงนำเอาระบอบประชาธิปไตย หรือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน หรืออำนาจประชาชนนั้นไปสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจขั้นสูงสุด คือ การสร้างระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้แล้วเสร็จ ด้วยการกระจายทุนเป็นสำคัญ คือ การขยายกรรมสิทธิ์เอกชนไปสู่ชาวไร่ชาวนา จนบรรลุเศรษฐกิจของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ที่มีรายได้แห่งชาติจากการกระจายทุนที่เป็นของประชาชนคนในประเทศอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงร่ำรวยแห่งชาติ
วัฒนธรรมประชาธิปไตยนั้น ประเทศไทยมีมายาวนานในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะวัฒนธรรมของไทยมีรากฐานมากจากพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประชาธิปไตย ก็เพราะพระพุทธศาสนาถือธรรมเป็นใหญ่ และถือสงฆ์เป็นใหญ่ คือ ธรรมาธิปไตยไม่ถือตนเป็นใหญ่ หรือถือโลกเป็นใหญ่ หรือถือบุคคลเป็นใหญ่ โดยมีกฎไตรลักษณ์เป็นปรัชญาพื้นฐาน คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังพุทธพจน์ว่า
“ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” และ
“ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
หลักพุทธธรรมจึงมีลักษณะประชาธิปไตยที่สุดยิ่งกว่าลัทธิการเมืองและศาสนาใดๆในโลก
วัฒนธรรมประชาธิปไตยอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบสังคมประชาธิปไตย บางคนเรียกว่า “การปฏิวัติวัฒนธรรม” โดยหลักวิชาการแล้ว การปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นไม่สามารถทำได้ แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมให้ดีงามนั้นเกิดจากการปฏิวัติทางการเมือง เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตยแล้ว จึงจะส่งผลต่อทางเศรษฐกิจและต่อทางวัฒนธรรม ประชาธิปไตยไม่มีวัฒนธรรมต่ำทราม หรือวัฒนธรรมเผด็จการ ความ บริสุทธิ์ ผุดผ่องของพระพุทธศาสนาจะเผยโฉมออกมาเต็มดวง เมื่อมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ประชาชนจะปฏิบัติวัฒนธรรมเองบนพื้นฐานการเมืองประชาธิปไตย และเศรษฐกิจประชาธิปไตย เมื่อวัฒนธรรมเป็นประชาธิปไตย ก็จะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่สูงส่งดีงาม อันเป็นความปรารถนาใฝ่ฝันอันสูงสุดของขบวนการประชาธิปไตยในชาติ คือ สังคมประชาธิปไตย ที่เป็นอุดมคติแห่งสังคมอารยะศิวิไลซ์นั่นเอง
หากเริ่มที่กลุ่มของเรา
ต้องสร้าง อุดมการณ์ ประชาธิปไตย ให้เกิดเป็น สังคมประชาธิปไตย ปฏิรูปตนเองอยู่ในหลักวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่มีอยู่ในพุทธศาสนา โดยใช้ความเป็น ธรรมาธิปไตย และศึกษา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอันดับหนึ่งในการพัฒนาทางการเมืองของประเทศ เพราะว่าอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเสมือนจุดหมายปลายทางแห่งการเมืองการปกครองของประเทศ
อุดมการณ์ทางการเมืองจะเป็นแรงดลใจและเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินการทางการเมือง ประชาชนในประเทศถ้าเข้าใจในอุดมการณ์ทางการเมืองแล้วย่อมจะยึดถืออุดมการณ์นั้นเป็นหลักในการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองและการปฏิบัติต่าง ๆ อันมีลักษณะทางการเมืองให้เกิดขึ้นสอดคล้องกับลัทธิทางการเมืองได้
อุดมการณ์ทางการเมืองมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปรัชญาทางการเมือง (Political Philosophy) ทฤษฎีการเมือง (Palitical Theory) และลัทธิทางการเมือง (Political Doctrine) ถ้าไม่ศึกษาให้ดีแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของความคิดทางการเมือง (Political Thought) เหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงแยกประเภทแห่งความคิดทางการเมืองให้ชัดเจนเท่านั้น อันที่จริงแนวความคิดทางการเมืองมีอยู่ในกรอบใหญ่อันเดียวกันมีความสัมพันธ์กับแทบจะแยกไม่ออก ฉะนั้นในตำราของนักปราชญ์หลายท่านมักจะกล่าวไว้รวม ๆ กัน
อุดมการณ์ทางศาสนา อุดมการณ์ทางศีลธรรม เป็นอุดมการณ์มีมาแล้วในอดีตและยังมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เจริญก้าวหน้าจนทำให้เกิดสังคมอุตสาหกรรม สิ่งดังกล่าวนี้มิได้นำความเจริญมาสู่สังคมเพียงอย่างเดียวแต่กลับนำเอาปัญหานานัปการเข้ามาด้วย และด้วยอิทธิพลอันนั้นจึงทำให้เกิดอุดมการณ์ใหม่เพิ่มมาอีกจากสองอุดมการณ์ที่มีอยู่เดิม อุดมการณ์ใหม่คืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ความจำเป็นในความอยู่รอด และเพื่อจะดำรงชีวิตอย่างมีหลักประกันในสังคมแบบใหม่ ทำให้มนุษย์พัฒนาอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับสภาพของสังคมปัจจุบันขึ้น เช่น อุดมการณ์ที่ได้มาจากลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมปฏิวัติ เสรีนิยม สังคมนิยม ประชาธิปไตย เป็นต้น อุดมการณ์เหล่านี้ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันอุดมการณ์นี้ก็มีผลบังคับควบคุมกลไกทางการเมืองการปกครอง
ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง
เพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาอุดมการณ์ทางการเมือง คำว่า “อุดมการณ์” หมายถึง ระบบระเบียบ แนวความคิดที่คนยึดถือเป็นแบบฉบับในการดำเนินชีวิต กล่าวคืออุดมการณ์คือแนวความคิดที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาอย่างดีมีระเบียบ จึงมิใช่ความคิดที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ฉะนั้นอุดมการณ์ย่อมหมายถึง ค่านิยม ทัศนคติ ความดีงามหรือสิ่งอันควรปฏิบัติ แต่อุดมการณ์ที่ว่านี้ บุคคลแต่ละคนย่อมจะมีความแตกต่างกันไปอุดมการณ์เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของบุคคลที่มีความเชื่อกันว่า ผู้ที่มีอุดมการณ์ย่อมจะปฏิบัติกิจการใด ๆ ได้บรรลุเป้าหมายได้มากกว่าผู้กระทำกิจการใด ๆ โดยปราศจากอุดมการณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา