ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทยในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2553 พบว่า ประชาชนร้อยละ 58.8 ติดตามข่าวการปฏิรูปประเทศไทยในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 41.2 ไม่ได้ติดตาม
ร้อยละ 47.9 ระบุยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่เพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 20.3 ระบุเพียงพอแล้ว และร้อยละ 31.8 ยังไม่แน่ใจ
ร้อยละ 36.7 ไม่มั่นใจว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ขาดความสามัคคี ยังมีความขัดแย้งกันหลายฝ่าย ไม่เชื่อมั่นต่อฝ่ายการเมือง เป็นต้น ร้อยละ 12.1 มั่นใจ เพราะเชื่อมั่นต่อศักยภาพของรัฐบาลชุดนี้ คนไทยยังสามัคคีกัน และจะทำให้บ้านเมืองสงบได้ เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อวิเคราะห์คนที่แสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 ไม่มั่นใจ ในขณะที่ร้อยละ 24.7 มั่นใจ
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 ระบุการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วน รองลงมาคือร้อยละ 61.7 ระบุการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ถือครองอย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วน และร้อยละ 59.9 ระบุเป็นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ชุมชน
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการมีส่วนร่วมของผู้ตอบแบบสอบถามในการปฏิรูปประเทศไทยด้านต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.1 ระบุเรื่องการศึกษา รองลงมาคือ ร้อยละ 92.5 ระบุเรื่องเศรษฐกิจและอาชีพ ร้อยละ 91.0 เรื่องสุขภาพ ร้อยละ 90.7 เรื่องการสร้างจิตสำนึกพลเมือง ร้อยละ 90.1 เรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ร้อยละ 88.2 ร เรื่องสวัสดิการสังคม ร้อยละ 87.2 เรื่องการเมืองและความยุติธรรม รองๆ ลงไปคือ สิ่งแวดล้อม-พลังงาน การกำหนดแนวทางแก้ปัญหาประเทศ และสื่อสารมวลชน
สำหรับข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 16.7 มองว่า ควรมีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศให้ชัดเจน ร้อยละ 15.4 ควรปฏิรูปเรื่องการศึกษา ร้อยละ 14.2 ควรปฏิรูปการเมือง ความยุติธรรม ไม่มีหลายมาตรฐาน ร้อยละ 12.4 ควรปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ รองๆ ลงไปคือ ควรมีการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้รักชาติ ควรหาทางสอดคล้องและสามัคคีกัน ควรปฏิรูปนักการเมือง เร่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ปรับค่าครองชีพ การเลือกตั้ง ความยากจน สาธารณสุขและสื่อมวลชน เป็นต้น
เมื่อถามถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่าจะช่วยทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบร่มเย็นขึ้นมากน้อยเพียงไร พบว่า ร้อยละ 46.9 มองว่า รัฐบาลแห่งชาติจะช่วยทำให้บ้านเมืองสงบได้ค่อนข้างน้อยถึงไม่ได้เลย ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ระบุปานกลาง และร้อยละ 29.9 ระบุค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 32.0 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ในขณะที่ร้อยละ 28.0 เห็นด้วยและร้อยละ 40.0 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อการทำงานของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พบว่า เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 5.36 คะแนนหรือเกินกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ข้อมูลครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่น่าเป็นห่วงมากถึงมากที่สุด เพราะ แนวทางที่เคยคิดกันว่าจะเป็นทางออกของประเทศได้กลับมีผลวิจัยสะท้อนออกมาที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังอย่างน่าเสียดายเพราะ วันนี้การปฏิรูปประเทศไทยยังขาดพลังที่เพียงพอในการขับเคลื่อนโดยตัวชี้วัดจากผลสำรวจคือ ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมแต่ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา