ยิ่งกว่านั้น บันไดไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจปกครองคณะสงฆ์คือ "ระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์" พึงเข้าใจว่าการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ทางฝ่ายฆราวาสวิสัยนั้นสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การสถาปนาฐานันดรศักดิ์ของพระสงฆ์ยังคงมีต่อมา ฉะนั้น องค์กรปกครองสงฆ์ที่สถาปนาขึ้นจาก "กฎหมายเผด็จการ + ระบบฐานันดรศักดิ์" จึงเท่ากับ "ระบบเผด็จการขุนนางพระ"
ปัญหาระดับพื้นฐานสำคัญมากที่สุดของระบบที่ว่านี้คือ
ประการแรก ขัดแย้งอย่างถึงรากกับระบบการปกครองสงฆ์สมัยพุทธกาล เพราะระบบสังคมสงฆ์ยุคพุทธกาลเป็น "ระบบรองรับการสลายชนชั้น" ไม่มีฐานดรศักดิ์ แม้พุทธะเองก็สละฐานันดรศักดิ์แล้ว ไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ยกย่องสถานะของพุทธะให้สูงส่งเป็นพิเศษ พุทธะคือศาสดาหรือครูที่ให้เสรีภาพแก่ชาวพุทธทั้งพระและฆราวาสวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบท่านได้ คณะสงฆ์ก็มีความเสมอภาคภายใต้ธรรมวินัย ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือคนนอกวรรณะกาลกิณีอย่างจัณฑาล เมื่อบวชเป็นพระก็มีสถานะเสมอภาคกัน เคารพกันตามลำดับการบวชก่อน-หลัง และแม้จะอาวุโสต่างกันแต่ก็มีเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันและกันตามหลักธรรมวินัยภายใต้มาตรฐานเดียวกัน