ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ* : เขียน
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์*
เมื่อปีที่แล้วผมได้เขียนบทความหลายตอนว่าด้วย "การกบฏของมวลชน" (The Revolt of the Masses) ซึ่งตีพิมพ์ในวิภาษา ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๘ ถึง ๒๐ (พค.-กย. ๒๕๕๒) มูลเหตุที่ผมให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ผมได้แถลงไว้ดังนี้ …
"ปรากฏการณ์ในสามปีมานี้ ได้สร้างการเคลื่อนไหวใหม่ทางการเมืองขึ้นในสังคมไทย นั่นคือการก่อรูปและพัฒนาอย่างไม่เคยมีมาก่อนของขบวนการมวลชน อันประกอบด้วยผู้คนพลเมืองจำนวนมหาศาล มวลชนเหล่านั้นไม่ได้เคลี่อนไหวอย่างปกติธรรมดา หากแต่เข้าร่วมการต่อสู้ในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ถึงขั้นที่ใช้วิธีการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐและรัฐบาลโดยตรง อย่างไม่หวั่นเกรง ไม่ประนีประนอม พร้อมจะใช้การบีบคั้นหลากหลายกลยุทธ์ บางครั้งถึงขั้นที่พร้อมจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง บ้างยึดที่ทำการของรัฐบาล สถานีโทรทัศน์ฯ ยึดถนนและปิดเส้นทางการจราจร ปฏิบัติการทั้งหลายล้วนปริ่มขอบเขตและความชอบธรรมทางกฎหมาย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ฝ่ายปกครองและยุติธรรม ยอมรับตัวอักษรและการตีความในรัฐธรรมนูญอย่างกว้างเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญสยามไทยจากปี ๒๔๗๕ มา เหนือสิ่งอื่นใด ขบวนการมวลชนที่ประท้วงและเดินขบวนขนานใหญ่นั้น ได้ประกาศจุดหมายของการต่อสู้ต่อต้านของพวกตนว่า คือการโค่นล้มหรือทำให้รัฐบาลที่ปกครองอยู่นั้นล้มพังทลายหรือสลายไป นั่นคือเป้าหมายอันสูงสุดของการต่อสู้ทางการเมือง คือการช่วงชิงอำนาจรัฐมาเป็นของพวกตน"
ทฤษฎีออร์เตก้า: "การกบฏของมวลชน" ตัวแบบในการศึกษา
ผมอาศัยทฤษฎีของออร์เตก้า ในเรื่อง "การกบฏของมวลชน" มาเป็นตัวแบบในการศึกษาทำความเข้าใจ ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวในยุโรป และดูการวิเคราะห์วิจารณ์ของปัญญาชนอนุรักษ์นิยมยุโรปว่าจะพูดถึงการเคลื่อนไหวแบบกบฏของมวลชนว่าอย่างไร (รายละเอียดเป็นอย่างไร หากยังไม่ได้อ่าน โปรดกลับไปอ่านใหม่) การที่ผมกลับไปอ่านทฤษฎีการปฏิวัติมวลชนสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีผู้อ่านบางคนถามผมอย่างไม่แน่ใจว่าอ่านและเขียนไปทำไม ก็ในเมื่อมันเป็นทฤษฎีฝ่ายอนุรักษ์ฯ ก็แน่ละ ว่าเขาย่อมไม่เห็นด้วยและไม่อธิบายทฤษฎีการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นด้านบวกแน่ หมายความว่า เนื้อหาและวิธีการย่อมไม่ลึกซึ้ง ไม่พิศดารและไม่ค่อยมีปัญญามากเท่าไรนัก ไม่คุ้มกับการเสียเวลาอ่าน
ผมก็เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ดังกล่าว แต่มูลเหตุและแรงบันดาลใจให้ผมกลับไปหยิบทฤษฎีของออร์เตก้าแทนที่จะเป็นของมาร์กซ หรือเลนินหรือเหมา และเชเกวารานั้น มาจากบรรยากาศและสภาพของการเคลื่อนไหวการเมืองมวลชนในปัจจุบัน คือหลังสงครามเย็นและการพังทะลายของประเทศและอุดมการณ์สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออกมาถึงจีนและเวียดนาม
ที่น่าตลกคือ ขณะนี้ประเทศเดียวที่ยังรักษาอุดมการณ์และระบบปกครองของตนไว้ได้ หลังจากทำการปฏิวัติมวลชนสำเร็จ คือประเทศคิวบา ประธานฟิเดล คัสโตรยังรักษาสปิริตและความผุดผ่องของ "นักปฏิวัติมวลชน" แห่งยุคทศวรรษปี ๖๐ ไว้ได้มากกว่าใครเพื่อน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเชื่อว่าคิวบาจะรักษาตัวรอดจากเงื้อมมือของ "มหาอินทรี" (สหรัฐฯ) และยังตั้งอยู่ไม่ห่างจากกรงเล็บอันทรงพลานุภาพนั้นเท่าไรเลย แต่จนแล้วจนรอด คิวบาก็รักษาเนื้อรักษาตัวประคองเอาประเทศเล็กๆ แต่มีความเป็นตัวของตัวเองและความภูมิใจอันยิ่งใหญ่มาจนข้ามสู่ศตวรรษใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การกลับไปสู่แนวทางอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวาหรือกลางขวาเป็นลำดับ ในทุกที่ของระบบการเมืองการปกครอง อุดมการณ์มวลชนซ้ายยี่ห้อต่าง พากันถอยหลังทั้งทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธี(แปลว่าอะไรผมก็ไม่รู้ เห็นเขาชอบใช้กันผมก็เอาอย่างบ้าง) กล่าวได้ว่า บรรยากาศและความรู้สึกนึกคิดของการเมืองโลกปัจจุบัน เริ่มเลื้อยไปสู่แนวทางของการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวาหรือกลางขวาเป็นลำดับ ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ได้เกิดขึ้นในการเมืองไทยด้วยเหมือนกัน เห็นได้จากการเคลื่อนไหวและจุดหมายไปถึงอุดมการณ์ที่ใช้ของกลุ่ม พธม. มีลักษณะเป็นแนวทางของอนุรักษ์นิยมที่ปฏิวัติ (revolutionary conservative) ทั้งนี้โดยพิจารณาจากแนวทาง วิธีการ และจุดหมายของฝ่ายนำในการเคลื่อนไหวที่แสดงออกมาต่อสาธารณชนนั้น เน้นที่การรักษาสถานะเดิมของพลังสังคมและชนชั้นเศรษฐกิจที่ได้เปรียบ ดังแสดงออกในกำลังหลักของการชุมนุมว่า ส่วนใหญ่มาจากบรรดาคนชั้นกลางในเมือง นายทุนน้อย ผู้ผลิตย่อย ข้าราชการระดับกลาง โดยมีพันธมิตรหรือแนวร่วมสำคัญที่ฝ่ายกองทัพและ "ผู้สูงศักดิ์" ส่วนศัตรูหรือเป้าหมายของการโจมตีคืออดีตนายกฯทักษิณฯและพวก "นายทุนสามานย์" ในค่ายของทักษิณและพรรคพวก ไม่ใช่ระบอบสังคมและเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม ส่วนระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมก็โดนหางเลข กลายเป็นจำเลย (หรือ "การเมืองเก่า") ไปรวมกับนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งทั้งหลาย ประชาชนรากหญ้าในต่างจังหวัดซึ่งในทางทฤษฎีเรียกว่าเสียงส่วนใหญ่ ก็กลายเป็นคนโง่ที่ยอมให้ซื้อเสียงอย่างเซื่องๆ กลายเป็นผู้ทำลายระบบประชาธิปไตยแบบเสรีของคนเมืองไปอีก
การเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้การนำของ พธม. พัฒนาเข้าสู่การเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเนื้อหาอนุรักษ์ และเป็นปฏิกิริยาต่อระบบประชาธิปไตยเมื่อกองทัพเข้ามาแทรก(หรือมาช่วยผลักดันหรือรักษาก็แล้วแต่การตีความ) การต่อสู้เคลื่อนไหวตอนนั้น ด้วยการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการปิดฝาโลงให้กับรัฐบาลทักษิณ และยุติบทบาทการนำทางการเมืองของทักษิณ และการเมืองแบบประชานิยมที่ได้รับการตอบสนองจากมวลชนในชนบทนอกกรุงเทพฯ อย่างมหาศาลไปด้วย
รัฐประหาร ๑๙ กันยา การเมืองไทยหันเข้าสู่หนทางใหม่
๑) เกิดกลุ่มและขบวนการของประชาชนต่างๆ ในการต่อต้านและคัดค้านการทำรัฐประหาร รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร (คมช.) รัฐสภาและองค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือโดยอำนาจทางกฎหมายของคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่ตามมาก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และมีความหมายนัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นครั้งแรกที่มวลชนได้ประกาศอย่างเปิดเผยทั้งทางวาจาและการเขียนไปถึงการปฏิบัติชุมนุมประท้วงอย่างสงบว่า ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับการยึดอำนาจทำรัฐประหารของคณะรัฐประหารที่มาจากกองทัพอีกต่อไป บัดนี้การทำรัฐประหารซึ่งที่ผ่านมาได้กลายเป็น "ประเพณี" ของการเปลี่ยนรัฐบาลด้วการใช้กำลังนอกระบบประชาธิปไตยที่ดำเนินมากว่า ๗ ทศวรรษ กำลังมาถึงวาระสุดท้ายแล้ว
๒) มีการริเริ่มใช้วิธีการต่อสู้ที่เรียกว่า "อหิงสา" อันเป็นการต่อสู้อย่างสงบสันติโดยมวลชน กับอำนาจรัฐอันเต็มไปด้วยความรุนแรง กลยุทธ์และวิธีการดังกล่าวมีการเริ่มใช้อย่างเป็นกิจลักษณะในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แม้การอดอาหารจะเริ่มโดยอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คุณฉลาด วรฉัตร แต่คนที่ทำให้กลยุทธ์อหิงสามีพลังและปลุกระดมประชาชนให้ตื่นตัวมาสนับสนุนอย่างใหญ่โตกลับเป็น พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และต่อมาหัวหน้าพรรคพลังธรรม ผู้ชักนำให้คุณทักษิณ ชินวัตรเข้ามาสู่วงการเมือง วิธีการอหิงสากลายเป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การนำของ พธม. และขณะนี้ก็เป็นเครื่องมือหลักของกลุ่ม นปช. ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามบทเรียนของสันติวิธีในฝ่ายผู้ประท้วงจำนวนมากนั้น เมื่อเผชิญกับการสลายของกองกำลังรัฐ ความรุนแรงก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น ในกรณีของ พธม. คือเหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ มีการใช้แก๊สและระเบิดน้ำตา มีผู้เสียชีวิต ๑ คนบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง กองกำลังในการสลายมาจากตำรวจ ในขณะที่เหตุการณ์วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นกำลังทหารโดยเฉพาะคือกองกำลัง "บูรพาพยัคฆ์" ซื่งถือว่าเป็น "กำลังระดับสูง" การบาดเจ็บล้มตายของมวลชนจึงมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด (ตาย ๒๔ บาดเจ็บราว ๘๐๐) และเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน ที่มีทหารไม่เฉพาะพลทหารผู้น้อยเท่านั้นที่ตายและบาดเจ็บ หากยังรวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญาชั้นสูงด้วย
๓) ปรากฏการณ์ใหม่อีกประการอันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร ๑๙ กย. คือการไม่ประนีประนอมกันระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเองอีกต่อไป ในอดีตหลังการยึดอำนาจรัฐประหาร ผู้นำกองทัพที่ชนะและตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ ก็จะเนรเทศผู้นำฝ่ายตรงข้ามที่พ่ายแพ้ออกไปนอกประเทศ เมื่อเวลาผ่านไป หากฝ่ายแพ้ไม่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านและคิดจะกลับมาอีก ฝ่ายชนะก็เลิกรา ไม่เช่นนั้นก็จะมีการขู่ว่าครอบครัวที่อยู่ในเมืองไทยจะไม่มีความสุข แค่นั้นก็ดูเพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายแพ้เลิกความตั้งใจในการคิดกลับมาแก้แค้นอีก แต่ในกรณียึดอำนาจทักษิณ เนื่องจากข้อกล่าวหาใหญ่คือเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปเป็นฝีมือของกลุ่ม พธม.และนักเอ็นจีโอต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนและคนธรรมดาเช่นคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองต่อมาอย่างไม่ได้ตั้งใจเป็นต้น แรงเหวี่ยงของการต่อต้านพฤติกรรมคอรัปชั่นของ พตท.ทักษิณฯ และความต้องการได้รัฐบาลใหม่ตามฉายาของฝ่ายชนะ ทำให้ประเพณีดั้งเดิมหลังรัฐประหารที่ปล่อยให้อดีตผู้นำมีชีวิตตามลำพังไม่อาจดำเนินไปได้โดยไม่ถูกสื่อมวลชนและกลุ่มต่อต้านทักษิณโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวได้ว่าบรรยากาศนับแต่หลังการรัฐประหารมา ผู้คนโดยเฉพาะสื่อมวลชนทั้งในระบบและนอกระบบ (เช่น อินเทอร์เน็ต เว็บ บล๊อกต่างๆ) ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลและหลักการในการต่อต้านคัดค้านโจมตีอีกฝ่าย บัดนี้การต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่เป็นกิจส่วนตัวของชนชั้นนำอีกต่อไปแล้ว การเมืองไทยกลายเป็นกิจการสาธารณะที่ไม่อาจผูกขาดได้โดยบุคคลหรือกลุ่มเฉพาะอีกต่อไป การเมืองไทยเป็นเรื่องสาธารณะและสาธารณ์ไปอย่างรวดเร็ว
นักปราชญ์กรีก เช่น เพลโตบอกว่า หลังจากมีการใช้ระบอบรัฐธรรมนูญหรือกติกาในการปกครอง ไม่ใช่เป็นการปกครองของผู้ได้รับอภิสิทธิ์จากเทวดาหรือพระเจ้าอีกต่อไป ธรรมนูญการปกครองเป็นผลมาจากการต่อรองและตกลงกันระหว่างฝ่ายตรงข้ามกัน จนได้ธรรมนูญมาเป็นหลัก ในตอนนั้นเพลโตมองว่า ระบบปกครองนี้อยู่ได้ด้วยการที่นักการเมืองในรัฐมีความรักในเกียรติ อย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองของคนในธรรมชาติก็พัฒนาไปสู่การเป็นระบบคณาธิไตย (oligarchy) จากนั้นเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย (democracy) และในที่สุดก็มาสู่ระบบทรราช (tyranny) ดูเหมือนว่าระบบการเมืองไทยขณะนี้ก็ได้เข้าสู่ระบบประชาธิปไตยและทรราชพร้อมกันเลย ด้วยการที่รัฐธรรมนูญก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นเครื่องต่อรองของฝ่ายตรงข้ามกลุ่มต่างๆ ได้อย่างจริงจัง ส่วนนักการเมืองและผู้นำรัฐทั้งหลายก็ไม่แสดงให้เห็นถึงความรักในเกียรติและความเป็นมนุษย์ที่เป็นเสรีและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
๔) ปัจจัยและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ข้างบนนี้ ช่วยสร้างเงื่อนไขทางภววิสัยให้แก่การเกิดการรวมตัวและจัดตั้งกันขึ้นของประชาชนหลากหลายฐานะและอาชีพ ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ กลายเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม "เสื้อแดง" เริ่มต้นจากกลุ่มต่อต้านเผด็จการเล็กๆ ที่มีเพียงนักกิจกรรมเอ็นจีโอและนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนกับนักศึกษาจำนวนหนึ่ง จากนั้นมีนักการเมืองจากอดีตพรรคไทยรักไทย ซึ่งอวตารมาเป็นพรรคพลังประชาชนหลังถูกอำนาจรัฐยุบก็ออกมานำการเคลื่อนไหว กลุ่ม นปก.ยังมีเนวิน ชิดชอบกุมการนำอยู่ กลุ่มต่อต้านรัฐประหารของฝ่ายประชาชนยังไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักการเมืองเก่า จนกระทั่ง สถานการณ์เริ่มนำไปสู่การแบ่งขั้วและทวีความเข้มข้นมากขึ้น ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พศ. ๒๕๕๐ และการเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมา ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมาก นำไปสู่การตั้งรัฐบาลแต่ก็ถูกกลุ่ม พธม.และกองทัพบวกพลังเก่าบีบและต่อต้านทำลายทุกวิถีทาง กระทั่งนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนได้สำเร็จ และรัฐบาลก็ต้องล้มไป หลังจาก พธม. ได้ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลก
นปช.หรือกลุ่ม "เสื้อแดง": ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชน
ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชนอีกครั้ง คราวนี้เป็นการรวมตัวประท้วงของประชาชนรากหญ้าภายใต้การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม "เสื้อแดง" ได้สำแดงพลังในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างเป็นระบบในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ แล้วจบลงด้วการถูกสลายของกองกำลังทหาร "บูรพาพยัคฆ์" อันทำให้รัฐบาลและกองทหารเชื่อว่าตนจะสามารถทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ ๑๐ เมษายนนี้ได้อีกอย่างง่ายดาย
"สองมาตรฐาน"
การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มด้วยการยกขบวนเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครอย่างขนานใหญ่ และได้ยึดสะพานผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนิน ทำการประท้วงอย่างอหิงสาสงบสันติก็ดำเนินไปอย่างยาวนานกว่าที่ทุกฝ่ายเคยประเมินไว้ จำนวนปริมาณผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดนับได้ถึงจำนวนแสน นับเป็นการชุมนุมประท้วงของคนรากหญ้าและต่างจังหวัดที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในทางความคิดและนโยบายการเมือง ผู้ชุมนุมก็มีความคิดเป็นเอกภาพ มีทรรศนะตรงกันในเรื่องความไม่ยุติธรรมของระบบปกครองฯ ประโยคที่กลายมาเป็นวรรคทองไปก็คือ "สองมาตรฐาน" ยากที่คนในสังคมไทยจะไม่เข้าใจ ไม่มีใครโดยเฉพาะคนที่ได้เปรียบในสังคมนี้จะไม่เคยได้รับอานิสงส์ของสิ่งที่เรียกว่า "สองมาตรฐาน"
"ระบอบอำมาตย์" - "อำมาตยาธิปไตย" - "ไพร่"
อีกวาทกรรมหนึ่งที่ปรากฏขึ้น และได้รับการตอบรับจากผู้ชุมนุมและแนวร่วม ผู้สังเกตุการณ์ทั่วไปอย่างกว้างขวาง นั่นคือวลีว่า "ระบอบอำมาตย์" "อำมาตยาธิปไตย" และในที่สุด การเรียกตัวเองของกลุ่มผู้ประท้วงจากชนบทอันกว้างใหญ่ว่า "ไพร่" ภาษาและวาทกรรมของคำทั้งหลายนี้ น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าในทางวิชาการแล้ว ภาษาและคำเหล่านี้เป็นคำเก่าและความหมายเก่าที่ถูกใช้และเข้าใจกันในบริบทของประวัติศาสตร์โบราณ หรือก่อนสมัยใหม่เท่านั้น การใช้อย่างทั่วไปที่ยังดำรงอยู่ก็ในด้านบันเทิง เช่น ละครโทรทัศน์ ประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งยังมีการสร้างและฉายให้เยาวชนไทยดูอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าโลกจะภิวัฒน์ไปถึงไหน เด็กไทยก็ยังถูกปลูกฝังด้วยคติไทยๆ แบบเด็กไทยเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้านก็ใช้ในการบริภาษหรือแสดงความไม่พอใจเป็นส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่มีการใช้ในพื้นที่สาธารณะอย่างมีความหมายร่วมสมัยได้
อันนี้ก็เป็นพัฒนาการของการต่อสู้ในการเมืองไทยที่ขัดกัน ในขณะที่กลุ่ม นปช.เสื้อแดงมีจุดหมายไปสู่อนาคตที่ใหม่กว่าและดีกว่าเก่า แต่ภาษาและคำที่ใช้ในการสื่อและฉายไปสู่อนาคตกลับเป็นคำเก่าและภาษาเก่าที่ไม่มีชีวิตแล้ว คราวนี้พวกเขาใส่ชีวิตและพลังของความรู้สึกร่วมกันเข้าไปในภาษาและคำเก่าเหล่านั้นได้ ทำให้มันกลับมีชีวิตขึ้นมาอีก ที่ตลกคือ ชีวิตใหม่ของคำเก่าเหล่านี้กลับเป็นเครื่องมือทิ่มแทงตัวมันเอง มากกว่าการให้ชีวิตเพื่อให้มันกลับมามีการดำรงอยู่อย่างธรรมชาติอีกเหมือนเดิม.
(จบตอนที่ ๑) วันที่ 22 เมษายน 53
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา