ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ* : เขียน
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์*
วันฉัตรมงคลเป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่
ถ้าถามว่าวันฉัตรมงคลเป็นประเพณีมาแต่สมัยใด ผมเดาว่าคนส่วนใหญ่ผู้มีการศึกษาคงตอบว่าต้องเป็นประเพณีเก่าแก่คู่อาณาจักรไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะวันฉัตรมงคลหมายถึงวันฉลองครบรอบปีการบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมาถึงกรุงศรีอยุธยา แล้วจึงถึงกรุงรัตนโกสินทร์มาปฏิบัติกันอยู่ในรัชกาลปัจจุบัน
คำตอบคือผิดครับ
ธรรมเนียมการฉลองและการให้ความหมายแก่วันฉัตรมงคลที่เรารู้จักและปฏิบัติกันอยู่ปัจจุบันนี้ เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ ถ้าพูดด้วยภาษาวาทกรรมร่วมสมัยก็ต้องบอกว่า เป็น "การประดิษฐ์ขึ้นใหม่" (modern invention) โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 สมัยโบราณนั้นไม่มีธรรมเนียมวันฉัตรมงคล เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาให้ความสำคัญในการราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แก่อาณาประชาราษฎร์และบรรดาพระราชวงศ์และขุนนาง ที่สำคัญอยู่ที่การรักษาพระราชอำนาจที่ได้มา จะด้วยการปราบดาภิเษกหรือราชาภิเษกเอาไว้ จนกระทั่งสิ้นรัชกาลหรือสิ้นบุญ เป็นการมองอย่างเป็นวัฏจักรหรือวงกลม
รัชกาลที่ 4 ทรงมองด้วยสายตาแบบสมัยใหม่ที่เป็นเส้นตรงและมีการให้ความหมายแก่จุดต่างๆ ที่เส้นตรงนั้นผ่านไป ทรงตระหนักว่าใน "อารยะประเทศ" นั้น เขาเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญแก่วันบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ ด้านหนึ่งเพราะการขึ้นครองราชย์และอาณาจักรของตะวันตกเป็นสัญญาสังคมอย่างหนึ่ง ระหว่าง"พระมหากษัตริย์"กับ"พระผู้เป็นเจ้าและราษฎร" รัชกาลที่ 4 จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้น แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย พระบาทสมเด็จรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
พอมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ก็เกิดปัญหาการจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลขึ้น ด้วยวันบรมราชาภิเษกนั้นตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้า ฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม ผมก็สงสัยว่า "ผู้ใหญ่" ที่พูดถึงนี้คือใคร เพราะแสดงว่าต้องใหญ่จริงๆ ถึงขนาดสามารถไม่เห็นด้วยกับพระเจ้าแผ่นดินได้ ก็ได้คำตอบจากอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (ใน "จากยศช้างขุนนางพระถึงยศพระขุนนางพ่อค้า" การเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมในรัชกาลพระภูมิพล วารสารเมืองโบราณ กค.-กย. 2539) ว่าคนที่ขัดกับรัชกาลที่ 5 ในเรื่องวันฉัตรมงคล(และในอีกหลายเรื่อง) ก็คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ความขัดแย้งนี้ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น กับให้มีการพระราชทานตรานี้ในวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษา ประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีวันฉัตรมงคลในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงไม่เพียงแต่เฉลิมฉลองวันครบรอบการบรมราชาภิเษกเท่านั้น หากที่สำคัญยังเป็นการคลี่คลายและยุติความขัดแย้งทางการเมืองลงในระดับหนึ่งด้วย ระหว่างผู้นำชั้นสูงในการเมืองสยาม. ล่าสุดข่าวต้นชั่วโมงจากวิทยุบอกว่าปีนี้ ไม่มีผู้ใดได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า
กลับมายังเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไป
การสมานฉันท์ - แผนความปรองดอง ๕ ข้อ
สายวันนี้ผมได้รับโทรศัพท์จากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เพื่อขอสัมภาษณ์ทรรศนะต่อการสมานฉันท์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงภายใต้การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม "เสื้อแดง" ภายหลังการเสนอโร๊ดแมป 5 ข้อของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน คำถามของนายแดน ริเวอรส์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น คือผมมีความมั่นใจว่าผลจะออกมาดีสักเท่าไร ผมตอบว่ามีพอสมควร ถามว่าเท่าไร ผมตอบว่าประมาณร้อยละ 60 เขาแสดงสีหน้าแปลกใจนิดๆ ที่ผมไม่ค่อยมั่นใจและความหวังต่ออนาคตสถานการณ์การเมืองสูงนัก
ผมจะขอขยายรายละเอียดในประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ในปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงครั้งนี้ นั่นคือ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการรวมตัวและทำการเรียกร้องทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตปฐมภูมิหรือ primary producers อันได้แก่เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนไปถึงช่างฝีมือต่างๆ และผู้ค้าขาย พนักงาน เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยถึงระดับกลาง กล่าวโดยรวมก็คือ มวลชนผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย แน่นอนก็มีคนอาชีพและฐานะกลางๆ ไปถึงระดับสูงก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของการชุมนุมประท้วงนี้ ดังนั้นจึงต้องกล่าวว่า การประท้วงของคนเสื้อแดงครั้งนี้เป็นการชุมนุมประท้วงของประชาชนรากหญ้าที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้การชุมนุมประท้วงจนเกิดการปฏิวัติ 14 ตุลา และพฤษภาเลือดจะมีผู้คนมารวมกันเป็นแสน แต่คนส่วนใหญ่ต้องนับว่าเป็นคนชั้นกลาง โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาและนักเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ในสองครั้งนั้นชาวบ้านจากต่างจังหวัดยังมาร่วมน้อย หรือแทบไม่มีก็ว่าได้ จึงกล่าวได้ว่าครั้งนี้เป็นการประกาศการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนคนชั้นล่างอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ และอย่างมีพลังเป็นครั้งแรก
คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ อะไรเป็นมูลเหตุที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากในชนบทสามารถจัดตั้งรวมตัวกันอย่างแน่นเหนียวปานนี้ ใครที่ดูภาพข่าวในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและสี่แยกคอกวัว คงได้เห็นการต่อสู้อย่างไม่กลัวความตาย ไม่กลัวกองกำลังทหารที่มีอาวุธเต็มตัว ของประชาชนคนเสื้อแดง ทำไมคนถึงไม่กลัว และมีความกล้าอย่างไม่ใช่ปกติของคนธรรมดาได้
คำตอบที่หลายคนเหมือนกันตอบได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องคิดค้นอะไรให้ยากเลย ก็คือมวลชนคนเสื้อแดงนั้นแท้จริงแล้วคือคนที่ถูกซื้อหรือจ้างให้มาร่วมการชุมนุมประท้วงเป็นส่วนใหญ่ จะมีคนที่มาด้วยความคิดตนเองบ้าง หลังจากสื่อบางชิ้นซึ่งเป็นส่วนน้อยพยายามถ่ายทอดการสัมภาษณ์ และการเกาะติดพื้นที่เกาะติดมวลชนมาระดับหนึ่งได้ให้ข่าวใหม่ที่ไม่ตรงกับสื่อของรัฐ ทำให้ผู้มีการศึกษาในกรุงเทพฯบางคน(เท่านั้น)ยอมรับว่า มีชาวบ้านที่มีความคิดทางการเมืองของตนเอง แต่คนพวกนี้ก็ยังเป็นคนส่วนน้อยๆ ของคนที่มาชุมนุมอยู่ดี สรุปการชุมนุมอย่างใหญ่โตและยืดเยื้อยาวนานของ นปช.และคนเสื้อแดงจึงไม่มีความหมายนัยอะไรในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย (นอกจากสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ทำลายเศรษฐกิจของคนไฮโซ ย่านราชประสงค์เสียป่นปี้ และที่ไม่คาดคิดคือการบุกค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้มวลชนไพร่เหล่านั้นกลายเป็น "เชื้อโรค" ไปในทันที)
ตรงนี้เองที่เป็นโจทย์ใหญ่อันสำคัญยิ่งสำหรับนักวิชาการหรือปัญญาชน ทุกคืนทุกวันจะมีนักวิชาการออกมาพูดให้ความคิด วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์วิกฤติการเมืองปัจจุบันนี้อย่างมากมาย ล่าสุดเมื่อคืนนี้นักรัฐศาสตร์จากสำนักท่าพระจันทร์คนหนึ่ง ก็ออกทีวีไทย ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาฯ ของนายกฯ ว่าเป็นการยอมจำนนต่อการกดดันเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดง ที่เรียกร้องอย่างไม่ชอบธรรม ใช้กำลังข่มขู่ ถ้าอย่างนี้รัฐบาลสมัยหน้าก็อาจมีมวลชนมาเรียกร้องให้ลาออกหรือยุบสภาอีก ก็ต้องทำตามอย่างนั้นหรือ ทรรศนะทำนองนี้เป็นแบบเดียวกับของนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาฯ เพราะไปยอมต่อกฎหมู่ได้อย่าง
ไร
ประเด็นเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย ของกลุ่มเสื้อแดงในการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภานั้น เป็นจุดของการต่อสู้ทางการเมืองก็ว่าได้ ระหว่างฝ่ายประท้วงกับฝ่ายรัฐบาล ตกลงฝ่ายไหนถูกและชอบธรรม. แน่นอนหากพิจารณาและตอบตามตัวบทกฎหมาย และผลสะเทือนในบริบทของระบบการเมือง และการปกครองอย่างที่เป็นอยู่ตามปกติธรรมดา การชุมนุมประท้วงถึงขนาดปิดถนนสร้างความลำบากและกระเทือนสิทธิเสรีภาพในการทำมาหากินของคนอื่นๆ ก็ต้องกล่าวว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายของรัฐ ก็มีความผิดตามกฎหมาย รัฐก็สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้ตามอำนาจหน้าที่ของตน ทั้งหมดนั้นดำเนินไปในสภาพการณ์ที่ระบบการเมือง รัฐบาล รัฐสภา และสถาบันหลักในการปกครองอยู่ในภาวะปกติคือไม่มีการแทรกซ้อนด้วยอำนาจเหนือกฎหมาย และหรือสร้างกฎหมายพิเศษด้วยวิธีการอันไม่ปกติธรรมดาขึ้นมา เป็นต้น
สองขั้วของอำนาจ ดุลยอำนาจที่พอๆ กัน
เมื่อมาพิจารณาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการเคลื่อนไหวของ นปช.และคนเสื้อแดง เราก็ต้องยอมรับความจริงในขั้นต้นนี้ก่อนว่า สภาพระบบการเมือง การปกครอง รัฐบาล รัฐสภา และสถาบันอิสระจนกระทั่งถึงตุลาการและสถาบันสื่อมวลชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาด้วย ทั้งหมดต่างตกอยู่ในภาวะการณ์ที่เรียกว่า "ไม่ปกติ" กันทั้งนั้น ความอปกตินั้นแสดงออกต่างๆ นานา ต่างกรรมต่างวาระ โดยอาจจัดกลุ่มแบ่งออกอย่างใหญ่ๆ ได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล อำนาจรัฐขณะนั้น กับอีกกลุ่มที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล และอำนาจรัฐขณะนั้น ความจริงมีกลุ่มที่สามด้วยที่อาจเรียกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายรัฐและอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตามอยู่ด้วย แต่ในยามที่การเมืองวิกฤตถึงขั้นเกิดความรุนแรงและมีปริมาณขนาดใหญ่โตระดับทั้งประเทศ การแสดงออกเป็นกลางจึงไม่มีความหมาย และไม่อาจทำได้อย่างจริงๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จาก บทบาทของกลุ่มองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เป็นกลุ่มสันติวิธีและอหิงสา คัดค้านไม่เอาความรุนแรงเป็นต้น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นกลางและสันติกับฝ่ายใดมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้
เมื่อระบบและการปกครองตามระบบกฎหมายต่างๆ โดยรัฐบาลไม่อาจดำเนินไปได้ เนื่องจากมีการไม่ยอมรับระบบและอำนาจปกครองขณะนั้นโดยคนจำนวนมากได้แล้ว หนทางและวิธีการในการแก้ปัญหาและปมเงื่อนของความขัดแย้งนั้นก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" หมายความว่า รัฐบาลและผู้ครองอำนาจต้องหาหนทางหลากหลายที่ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติตามแบบปกติที่ทำกันมา เพื่อทำให้การใช้และรักษาอำนาจและกลไกของอำนาจรัฐยังอยู่ในมือของรัฐบาลได้ หัวใจของมันคือ ใครมีอำนาจรัฐมากกว่าใคร อำนาจอยู่ที่ใคร เพราะเมื่อความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤต แสดงว่ากลไกและกฎระเบียบต่างๆ ย่อมไม่อาจดำเนินการได้อย่างเต็มที่ นั่นคือ สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายความมั่นคง คือ กองทัพและตำรวจที่ไม่สามารถผลักดันการใช้อำนาจตามกฎหมายได้ อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ของทหาร "แตงโม" และตำรวจ "มะเขือเทศ"
ในทางทฤษฎีปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนดุลย์แห่งอำนาจของรัฐแล้ว ไม่ใช่เพียงว่าใครต้องการจะเป็น ผบ.ต่อไป หรือใครเป็นเพื่อนเป็นญาติกับใคร หรือใครถูกซื้อถูกขายด้วยเงินกี่สิบล้าน แต่ที่สำคัญในเรื่องของรัฐ ก็คือบัดนี้ดุลย์แห่งอำนาจระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้เปลี่ยนเข้าสู่ภาวะที่พอๆ กันแล้ว ไม่มีฝ่ายใดเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด และขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรหรือใครอยู่ระหว่างกลางของสองฝ่ายได้ นั่นคือไม่อาจมีการประนีประนอมได้เช่นกัน การเข้าใจวิกฤตของระบบและการไร้สมรรถาพของระบบ จึงต้องมองให้ไกลและลึกกว่าปรากฏการณ์และข่าวลือเท่านั้น ภาพและเหตุการณ์ความสับสนและไร้ขื่อแป ระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้คือ การก่อตัวขึ้นของสิ่งที่เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้ว อาจเรียกอย่างกว้างๆ ว่า "การปฏิวัติทางการเมือง" แต่การปฏิวัติของไพร่ครั้งนี้ไม่เหมือนตำรารัฐศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ตรงกับทฤษฎีของการปฏิวัติใหญ่ๆ ที่ทำกันมาด้วย ไม่เหมือนแม้กับการเคลื่อนไหวในการปฏิวัติยึดอำนาจที่ได้ทำกันมาในประเทศไทยเองด้วย
ดังนั้นเมื่อมองจากประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ จึงต้องกล่าวว่ามีนัยและความหมายที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของระบบการเมืองไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลจากทุกภาคของประเทศ ได้เข้าร่วมการรณรงค์เรียกร้องทางการเมืองอย่างเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจัง คำสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรที่ตอบว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้น ได้เลยเรื่องตัวเขาไปแล้วจึงเป็นข้อที่น่าคิดอย่างยิ่ง และหากพิจารณาจากประสบการณ์การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองโดยตรงของประชาชน การตัดสินใจถึงขั้นที่ไม่กลัวและหลบหนีจากอำนาจรัฐนั้น แสดงว่าประชาชนได้เปลี่ยนคุณภาพของตนเองไปแล้ว แม้การปลุกระดมของบรรดาแกนนำจะมีพลังในการดึงมวลชนได้ แต่พูดให้ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการทางสังคมในการร่วมการต่อสู้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นพลเมืองใหม่ให้แก่พวกเขา ในอดีตเราเคยได้ยินแต่การอวตารของพระนารายณ์เพื่อไปปราบทุกข์เข็ญ และพวกยักษ์มารร้ายทั้งหลาย ในการเมืองสมัยใหม่ ก็มีการอวตารของประชาชนได้เหมือนกัน โดยเปลี่ยนจากราษฎรผู้เป็นทาสหรือยอมทนอยู่ใต้อำนาจผู้อื่นอย่างเซื่องๆ มาเป็นพลเมืองผู้เป็นเจ้าของตนเอง ตระหนักในอำนาจของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศและอำนาจรัฐอย่างแท้จริง
ถึงตอนนั้น แสดงว่าเรากำลังเห็น "การปฏิวัติของประชาชน"อยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา