เมื่อมีสถานการณ์ขัดแย้งเกิดขึ้น ก็จะเกิดคู่กรณีสองฝ่าย ซึ่งต่างฝ่ายก็เรียกร้องหาความเป็นธรรมให้แก่ฝ่ายตน ประชาชนที่อยู่ข้างฝ่ายปริมาณ ก็จะอ้างเอามวลชนและปริมาณมาสร้างความชอบธรรม (พวกมากลากไป) ส่วนประชาชนที่อยู่ข้างฝ่ายคุณภาพ ก็จะอ้างเอาคุณภาพ ฐานะ ชนชั้น (นักวิชาการ นักธุรกิจ นักปราชญ์) มาสร้างความชอบธรรม นี่คือประเด็นความขัดแย้งที่หาจุดประนีประนอมกันได้ยาก
สถานการณ์ขัดแย้งต่างๆ มีสาเหตุมาจากการเบียดเบียนกันเองของคนในสังคมนั้น และเกิดจาก โครงสร้างของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีสภาพบิดเบี้ยว ไม่สมประกอบ เกิดการทุจริตคอรัปชั่น การค้นหาต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว จะต้องกระทำอย่างรอบคอบ มองให้รอบถ้วน เซาะให้ถึงรากเหง้าของปัญหา ด้วยการนำข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ (Quantity fact) และเชิงคุณภาพ (Quality fact) มาร่วมพิเคราะห์พิจารณาด้วย อย่ามองเพียงแง่มุมเดียว หรือเพียงด้านเดียว มิฉะนั้นถ้าตัดสินลงไป ก็จะเกิดความไม่ธรรม หรือขาดความเป็นกลางทันที นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว เท่ากับจุดไฟให้ข้อขัดแย้งมันรุนแรงขึ้น
นี่เป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ที่ยังมีความเห็นแก่ตัว มีความเชื่อ ความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้สังคมเกิดความไม่สงบสุข และแสวงหาเรียกร้องความยุติธรรม บุคคลที่จะทำหน้าที่ตัดสินปัญหา จะต้องเป็นคนกลาง ที่ไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และต้องกล้าตัดสินหรือชี้นำ
มีความเข้าใจผิดกันมากในสังคมไทยว่า การวางตัวเป็นกลางคือการอยู่เฉยๆ ใครจะทำดีทำเลวอย่างไร ไม่สนใจไม่เกี่ยวข้อง เพราะเกรงว่าจะไปกระทบผู้อื่น ความเป็นกลางในลักษณะนี้ไม่สร้างสรร ผู้ที่รู้ตัวหรือได้รับการยกว่าเป็นปราชญ์ เป็นคนดี ต้องกล้าหาญที่จะชี้ถูกชี้ผิดและบอกทางเลือกให้แก่สังคม จึงจะเป็นปราชญ์ เป็นคนดีที่มีคุณค่า มิใช่ปล่อยให้ข้อขัดแย้งหรือสถานการณ์ปัญหายืดเยื้อต่อไป รังแต่จะสร้างความเสียหายมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะทำหน้าที่ตัดสินคนอื่น ต้องปรับตัวเองให้เป็นกลางเสียก่อน ทั้งฐานะทางสังคม และจิตใจที่เป็นกลาง องค์ประกอบที่จะก่อให้เกิดความเป็นกลาง 5 ประการ ประกอบด้วย
(1) สถานการณ์ขัดแย้ง (Conflicting event)
(2) ผลกระทบ (Impact)
(3) การยกข้อขัดแย้งขึ้นพิจารณา (Protestation)
(4) ความยุติธรรม (Justice) และ
(5) กระบวนการสร้างความเป็นกลาง (Process of Mid-position)
ในภาวะปกติมิใช่ว่าจะไม่มีความขัดแย้งกันในสังคม เพียงแต่ว่าความขัดแย้งนั้น ยังไม่ถึงจุดแตกหัก ทุกฝ่ายยังพออดทนกันได้ และถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข มันก็จะสะสมจนถึงจุดอิ่มตัว ที่ยอมรับกันไม่ได้ จนต้องมีการกล่าวโทษกันและกัน
“ความเป็นกลาง คือ ความสมดุลย์ ระหว่าง วัตถุและนาม กายกับจิต เปลือกกับแก่นปริมาณกับคุณภาพ สัจจะกับสมมุติ
ความเป็นกลาง คือ ความชัดเจน โปร่งใส ดุจหงายของที่คว่ำ ทำที่มืดให้สว่าง ชักของลึกให้ตื้น ตื่นจากความหลับ
ความเป็นกลาง คือ การมีสุขภาวะที่สมดุล ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
ความเป็นกลาง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเลวไปสู่ดี จากการเอาเปรียบไปสู่การเสียสละ จากไร้สาระไปสู่สาระ
ความเป็นกลาง คือ การลดความรุนแรง (Violence) ไปสู่ อหิงสา (Nonviolence) จนเกิด อโหสิ (Peace)
ความเป็นกลาง คือ การให้โอกาสคนดีได้มีอำนาจ เพราะ "คนดี" ย่อมสร้าง "ระบบดี" ระบบดี จะส่งเสริมให้คนดี ได้มีโอกาสทำดีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ป้องปรามคนเลว ให้ทำเลวยากขึ้น หรือไม่มีโอกาสทำเลวเลย
ความเป็นกลาง คือ การเดินทางไปสู่ ดี ถูก จริง ประโยชน์ คุณค่า ศิลปะ สาระ เหมาะควร สุญญตา
และสุดยอดแห่งความเป็นกลาง คือ การลด ละ เลิก กิเลส ตัณหา อุปาทาน ของตนเองจนหมดเป็นศูนย์ เป็นคุณสมบัติและเป็นคุณค่า เกิดภาวะ "อิสระเสรีภาพ ภราดรภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ และสันติภาพ"
ข้อเสนอแนะ
ประเทศชาติเสียหายเพราะพฤติกรรมคอรัปชั่นของนักการเมือง ถึงวาระแล้วที่ คนดี ไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ นักวิชาการ จะต้องออกมาร่วมกันผลักดันให้เกิดความชอบธรรมขึ้นในสังคม ด้วยการใช้มาตราการต่างๆ ต่อไปนี้
1. ร่วมกันตรวจสอบ นักการเมือง นักปกครอง และนักบริหาร เพื่อสร้างมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรม ให้แก่นักการเมือง นักปกครอง และนักบริหารรุ่นต่อไป และร่วมกันสร้าง “วาระธรรมาภิบาลแห่งศตวรรษ” ให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ
2. กำหนดเป็นหลักสูตรในสถานศึกษาทุกระดับชั้น ให้ผู้เรียนรู้จัก “วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และองอาจกล้าหาญทางจริยธรรม” ในการตัดสินและลงความเห็นประเด็นปัญหา ข้อขัดแย้งต่างๆ ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง และถูกธรรม ข้อนี้ให้รวมถึง สื่อมวลชนด้วย
3. ปรับทิศทางเศรษฐกิจ จากระบบบริโภคนิยม ไปสู่เศรษฐกิจแบบพอเพียง และปรับโครงสร้างของโครงการประเภทประชานิยม ให้เป็นธรรม เพื่อป้องกันเอาเงินภาษีของประชาชนไปสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มผู้มีอำนาจ
4. จัดลำดับนโยบาย และโครงการต่างๆ ให้ความสำคัญของศีลธรรม จริยธรรม อยู่ในลำดับต้นๆ และผลักดันให้เกิดแนวทางประพฤติปฏิบัติที่แท้จริง
5. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ป้องกันการแทรกแซงองค์กรอิสระ และละเมิดเสรีภาพสื่อ ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
อนาคตของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบร่วมกันของเหล่านักปราชญ์ นักวิชาการ นักบริหารปกครอง นักธุรกิจ และประชาชน ในการสร้างดุลยภาพแห่งสันติภาพ (ความเป็นกลาง หรือทางสายกลาง) ให้เป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้จริง
ภาวะของความเป็นกลาง นั้นต้องเข้าข้างสิ่งดี คนดี เพื่อให้เกิดระบบที่ดี คนดี ย่อมสร้างระบบดี คนเลวย่อมสร้างระบบเลว ระบบเลว จะคอยกีดกันคนดี ให้ทำดีได้ยาก ในขณะเดียวกันก็จะเปิดช่องทางให้คนเลว ทำเลวได้สะดวก และง่ายขึ้น ส่วนระบบดี จะส่งเสริมให้คนดี ได้ทำดีมากขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะคอยป้องปรามคนเลว ให้ทำเลวได้ยากขึ้น นี่คือแนวทางสร้างสมานฉันท์ที่แท้จริง ดังนั้นทุกคนที่รู้ตัวว่าเป็น "คนดี" ในสังคม ต้องช่วยกันออกมาแสดงตัวตนและชี้นำความถูกต้อง และเป็นธรรม.
วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา