เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนทัศน์ด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสื่อจากอดีตถึงปัจจุบัน

โดย รศ. ดร. ปาริชาติ สถาปิตานนท์

เหลียวหลัง…แลหน้า : การสื่อสารกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

นับเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษแล้วที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้พยายามนำกระบวนการสื่อสารมาประยุกต์ใช้อย่างจงใจในฐานะ “เครื่องมือ” ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

ในยุคแรกของใช้กลไกด้านการสื่อสารในฐานะเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม ได้มุ่งเน้นการใช้การสื่อสารในการ “ขับเคลื่อน” สังคมต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การก้าวสู่สังคมทันสมัยตามแบบฉบับของสังคมตะวันตกนั่นเอง โดยกรอบแนวคิดดังกล่าว รู้จักกันในนามของ “กระบวนทัศน์ความทันสมัยนิยม” ของการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง (The Modernization Paradigm of Communication for Social Change)

ในเชิงหลักด้านการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ภายใต้กระบวนการทัศน์ความทันสมัยนิยม กล่าวกันว่า การสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงมีความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ การสื่อสารเป็นเงื่อนไขสำคัญ หรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย โดยยิ่งมีการสื่อสารมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้สังคมเปลี่ยนแปลงมากเท่านั้น

ในส่วนของการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสังคมภายใต้บริบทของความทันสมัยนิยมนั้น ผู้บริหารประเทศต่างๆ ได้รับคำแนะนำจากองค์การสหประชาชาติ และได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการชาวตะวันตก โดยเฉพาะในด้านการขยายโครงสร้างพื้นฐานของระบบสื่อสารมวลชน และการมุ่งเน้นการนำ “สื่อมวลชน” มาใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยสื่อมวลชนทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการเผยแพร่แนวคิดและแนวปฏิบัติที่พึงประสงค์ และมีลักษณะ “สำเร็จรูป” ไปสู่สมาชิกในสังคม และนำเสนอภาพและบรรยากาศของสังคมทันสมัย ในซีกโลกตะวันตก ไปสู่ประชาชน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน “ปรับเปลี่ยน” ในเชิงความคิด การรับรู้ ทัศนคติ ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ของผู้ปกครองประเทศได้ นอกจากนั้นสื่อมวลชนยังมีบทบาทในการสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนกระตือรือร้น และพยายามทุกวิถีทางในการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย เฉกเช่นกับสมาชิกในสังคมตะวันตกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สื่อบุคคลจะทำหน้าที่ตอกย้ำข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนเป้าหมายยอมรับและปฏิบัติตนตาม “แนวคิดสำเร็จรูป” แบบตะวันตกดังกล่าว

ในกรณีกระบวนการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ภายใต้บริบทของความทันสมัยนิยม ไม่ประสบความสำเร็จ อุปสรรคประการสำคัญที่มักได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ได้แก่ ปัจจัยภายในสังคม อาทิ การที่ประชาชนมีแนวคิดแบบดั้งเดิม ขาดการศึกษา ไร้อารยธรรม (แบบตะวันตก) ตลอดจนค่านิยมในสังคมซึ่งล้าสมัย หรือคร่ำครึ เป็นต้น โดยปราศจากการพิจารณาถึงความแตกต่างด้านบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ตลอดจนประสบการณ์มีหลากหลายของสังคมต่างๆ

เราอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงในแบบฉบับทันสมัยนิยมดังกล่าว สะท้อนกระบวนการสื่อสารทางเดียว ในเชิงอำนาจนิยม เป็นการสื่อสารจากบนลงล่าง ซึ่งได้แก่ การสื่อสารจากผู้มีอำนาจในสังคม (รัฐ) ไปสู่ประชาชน ซึ่งดูราวกับว่าไม่มีปากมีเสียง (passive audience) เพื่อให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ภาครัฐต้องการ

กระบวนการสื่อสารที่เน้นหนักการใช้ “สื่อมวลชน” เป็นกลไกในการกระตุ้นให้เกิดความทันสมัยแบบตะวันตก นำไปสู่สภาพที่พึงปรารถนามากมาย อาทิ การรับค่านิยมตะวันตกมาใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะค่านิยมเชิงบริโภคนิยมในหมู่ประชาชน และกระแสทุนนิยมในการดำเนินธุรกิจในวงการต่างๆ รวมทั้งวงการสื่อสารมวลชนที่มุ่งเน้นการตักตวงผลกำไร มากกว่าการทำประโยชน์เพื่อสังคม นอกจากนั้นยังมีปัญหาการพึ่งพิงเทคโนโลยีการสื่อสารจากตะวันตก การใช้มาตรฐานของรายการ หรือเครื่องมือสื่อสารของประเทศทางตะวันตกเป็นเกณฑ์ในการกำหนดมาตรฐานของคุณภาพสื่อในประเทศอื่นๆ ตลอดจนการมองสื่อมวลชนในเชิงองค์กรธุรกิจ ที่เน้นแสวงหากำไร มากกว่าการทำประโยชน์เพื่อสังคม

นอกจากนั้นผลการเปรียบเทียบปริมาณข้อมูลข่าวสารที่หมุนเวียนในประเทศต่างๆ ยังพบว่า ข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงส่วนใหญ่ไหลจากกลุ่มประเทศตะวันตกไปยังประเทศอื่นๆ ในขณะที่แทบไม่พบข้อมูลข่าวสารจากประเทศอื่นๆ ที่เผยแพร่ในประเทศตะวันตก นอกจากข่าวสารด้านลบเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ และแทบไม่พบข้อมูลข่าวสารที่หมุนเวียนกันระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตก จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้มีผู้ขนานนามกระบวนการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยแบบตะวันตก ว่าเปรียบเสมือนการถูกครอบงำโดยลัทธิจักรวรรดินิยมแบบใหม่ ซึ่งได้แก่ จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งขยายเครือข่ายผ่านข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงแบบตะวันตก และเริ่มเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบโลกด้านข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารกันใหม่ (New World Information and Communication Order : NWICO)

จากสภาพปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการสื่อสารที่ปรากฏดังกล่าว ผนวกเข้ากับการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแสวงหาเสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 และต้นทศวรรษที่ 1980 อาทิ กลุ่มสิทธิมนุษย์ชน สิทธิสตรี กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศคอมมิวนิสต์ หรือประเทศเผด็จการ เป็นต้น นำไปสู่การจุดประกายแนวคิดของการสื่อสาร ภายใต้กรอบการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบใหม่ ซึ่งรู้จักกันในนาม “กระบวนทัศน์ทางเลือกของการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม” (The Alternitive Paradigms Communication for Social Change) โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลง และแสวงหาหนทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน สังคมประเทศหรือระดับโลกต่อไป
กระบวนการสื่อสารภายใต้กระบวนทัศน์แบบทางเลือก นับได้ว่าเป็นภาระกิจอันใหญ่ยิ่งของทุกฝ่ายสาเหตุส่วนหนึ่ง เนื่องจาก กระบวนทัศน์แบบทางเลือกไม่เน้นสูตรสำเร็จรูป ไม่เน้นการนำเสนอเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเฉกเช่นกระบวนทัศน์ความทันสมัยนิยม แต่มุ่งเน้นกระบวนการค้นหาเส้นทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม ระดับชุมชน และระดับบุคคล อย่างไม่จำกัดทิศทาง ขอบเขต หรือเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคม อาจมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป (pluralistic/ multiplicity in one world) ตามความเหมาะสมของสังคมท้องถิ่น และตามความต้องการของสมาชิกในสังคมดังกล่าว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้กระบวนการสื่อสารแบบทางเลือก ไม่ได้เน้นความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแบบทิศทางเดียว (one-way communication) จากบนลงล่าง (top-dow) แต่มุ่งเน้นกระบวนการสื่อสารสองทางแบบต่อเนื่อง (two-way interactive communication) ในแนวระนาบ (horizontal communication) ในหมู่สมาชิกของสังคมโดยอาจใช้วิธีการการสื่อสารหลากหลายกันไป อาทิ การสื่อสารแบบตัวอย่าง การสื่อสารของกลุ่มบุคคล ตลอดจนการสื่อมวลชน หรือสื่อสมัยใหม่รูปแบบต่างๆ

นอกจากนั้น กระบวนการสื่อสารแบบทางเลือก มุ่งเน้นความสำคัญของไปที่ “เนื้อหา” ของสาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร (information exchange) การตีความสาร (message interpretation) ตลอดจนการวิเคราะห์บริบททางการสื่อสารในเชิงวิพากษ์ มากกว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการส่งสาร จากผู้ส่งสารผ่านสื่อประเภทต่างๆ ไปยังผู้รับสารและการสนใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้รับสาร

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของกระบวนทัศน์แบบทางเลือกในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ กระบวนการสนทนาโต้ตอบกัน (dialectic process) ของสมาชิกในสังคม บนพื้นฐานของความเท่าเทียบกัน (equal basis) เพื่อค้นหาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคม และดำเนินการร่วมกัน ในขณะที่มองบทบาทของภาครัฐบาลว่าเป็น ผู้ให้การสนับสนุน (facilitator) การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

สืบเนื่องจากการที่กระบวนทัศน์แบบใหม่นี้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารสองทางแบบต่อเนื่อง ทำให้กระบวนการสนทนาโต้ตอบกันระหว่างสมาชิกในสังคม เป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญ โดยเชื่อว่า การสนทนาโต้ตอบกันของสมาชิกในสังคม ก็คือ การระดับสมองของสมาชิกในสังคมนั่นเอง (brainstorming) ซึ่งการสนทนาโต้ตอบกันในลักษณะดังกล่าว เป็นเสมือนการเปิดโอกาสให้สมาชิกในสังคมได้หันหน้าเข้าหากัน พูดคุณ เจรจากัน เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลข่าวสารเบื้องต้น หลักการ และแนวทางที่หลากหลาย สำหรับการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับสังคมของตน

นอกจากนั้นการสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลดังกล่าว ยังเป็นการฝึกสมาชิกในสังคมเกี่ยวกับกระบวนการร่วมกันคิด ร่วมรับฟัง และเคารพในความคิดของผู้อื่น ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน ร่วมวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางสังคมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ตลอดจนกระบวนการร่วมกันค้นหาแนวทาง และการตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานของข้อมูลที่สมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ก็คือ กระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (participatory communication process) ของสมาชิกในสังคม อันจะนำไปสู่การเกิดสำนึกเชิงสาธารณะร่วมกัน (public conscientization) และกระบวนการเรียนรู้กัน (learning process) ระหว่างสมาชิกในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่เหมาะสมและเป็นที่เห็นพ้องต้องกันของสมาชิกในสังคม

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้กระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม เป็นแนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น ได้แก่ ปรัชญาและแนวคิดด้านประชาธิปไตยทางการสื่อสาร (democratic communication) กล่าวคือ กระบวนการสนทนาโต้ตอบกันระหว่างสมาชิกในสังคมจำเป็นต้องดำเนินไป โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกันของบุคคล สิทธิ และเสียงของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น (right to communicate) โอกาสในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง (accessibility to information) การมีจิตสำนึกในเชิงประโยชน์ของสาธารณะเหนือประโยชน์ส่วนตัว การตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตน การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นต้น โดยเชื่อกันว่า ปรัชญาการสื่อสารเชิงประชาธิปไตยดังกล่าวจะนำไปสู่ การเพิ่ม “พลัง” (empowerment) ให้กับสมาชิกในสังคม การกระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ที่ได้ร่าวมกันกำหนด ตลอดจนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเอาใจใส่ดูแล และตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การสื่อสาร กระบวนทัศน์ทางเลือก และแนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคม
กระบวนทัศน์ทางเลือกของการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่เริ่มก่อตัวขึ้นปลายทศวรรษที่ 1970 ดูเสมือนจะเป็นการเตรียมพื้นฐาน หลักการ และแนวคิดเชิงปรัชญาด้านการสื่อสารในสังคม ซึ่งสอดคล้องและประสานกับแนวคิดด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมภายใต้กรอบของ “ประชาสังคม” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1990 และกำลังก้าวสู่ความเป็นแนวคิดหลักของการเปลี่ยนแปลงสังคมในศตวรรษที่ 21

ในการศึกษาเกี่ยวกับ “ประชาสังคม” ในบริบทของสังคมไทย นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้สะท้อนความสำคัญของ “การสื่อสาร” ในการพัฒนาความเป็นประชาสังคมไว้อย่างชัดเจน อาทิ ในหนังสือ “ประชาสังคม : คำ ความคิดและความหมาย” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ดร.อนุชาติ พวงสำลี และวีรบูรณ์ วิสารทสกุล ได้เน้นว่า กลุ่มประชาสังคมที่จะมีความยั่งยืนและมีความหมาย ย่อมต้องมีระบบการจัดการที่ดี มีระบบการสื่อสารแลกเปลี่ยน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน (communication and network) ยิ่งไปกว่านั้น ดร.อนุชาติ และคุณวีรบูรณ์ ยังได้กล่าวถึงบทบาทของการสื่อสาร (communication) ในฐานะหัวใจสำคัญอันหนึ่งที่จะเป็นเงื่อนไขในการสร้างความเป็นชุมชนที่แข็งแรง

ส่วนนายแพทย์ ประเวศ วะสี ได้เน้นบทบาทของการติดต่อสื่อสารของประชาชนในการสร้างความเป็นชุมชน (community building) ไว้ว่า ความเป็นชุมชนเกี่ยวข้องกับการที่มีคนจำนวนหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีความเชื่อในระบบคุณค่าบางอย่างมีการติดต่อสื่อสารกัน มีการเอื้ออาทรกัน มีการเรียนรู้ร่วมกัน และมีการจัดการ นอกจากนั้น นายแพทย์ ประเวศ วะสี ยังมองว่า ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน โดยเฉพาะระบบเครือข่ายการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (internet) ยังเป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ เข้าด้วยกัน ติดต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเรียนรู้ร่วมกันไปทั่วโลก

ส่วนดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ตอกย้ำบทบาทของการสื่อสารระหว่างบุคคล หรือการสื่อสารในกลุ่มบุคคล ว่ามีส่วนเอื้อต่อการเป็นประชาสัมพันธ์ โดย ดร.อเนก มองว่า ในการเป็น “อารยะ” (civil) นั้น บุคคลจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารขั้นพื้นฐาน คือ “การรู้จักรับฟังกัน” แทนการแข็งกร้าว ไม่รับฟังกัน ว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในเกิดประชาสัมพันธ์

ในขณะที่ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ มองว่า ปัจจัยหลักประการสำคัญที่เอื้อต่อความเป็นประชาสังคม ได้แก่ ปัจจัยด้านสังคม โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านข้อมูลข่าวสาร และด้านการสื่อสารภายในตัวบุคคล อาทิ ค่านิยมใหม่ๆ ความรู้สึกอยากเข้ามามีส่วนร่วม ความอยากรู้เห็น ความตระหนักในเรื่องต่างๆ ของสังคมตลอดจนวิถีการสื่อสารระหว่างสมาชิกในสังคมแบบ “เปิด” อันได้แก่การบอกข้อมูลข่าวสารให้ได้รับรู้กัน เป็นต้น

ส่วนในต่างประเทศ เดวิท แมทิวส์ ประธานมูลนิธิแคตเตอริง ได้สะท้อนความสำคัญของกระบวนการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ไว้ในหนังสือเรื่อง “จากปัจเจกสู่สาธารณะ กระบวนการเสริมสร้างชุมชนในเข้มแข็ง” ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย ฐิรวุฒิ เสนาคม ในหนังสือดังกล่าว เดวิท แมทิวส์ ได้เน้นความสำคัญของช่องทาง หรือเครือข่ายทางการสื่อสารว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชาสังคมที่เข้มแข็ง โดยเดวิท แมทิวส์ ได้อ้างถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยของโรเบิร์ต พัทแนม วอน กรีสแฮม และดักลาสน์ นอร์ท ว่า พื้นฐานสำคัญประการหนึ่งในการสร้างความเป็น “พลเมือง” ให้กับประชาชน ได้แก่ ช่องทาง หรือเครือข่ายการสื่อสารที่เป็นทางการ อาทิ เวที การประชุมเมืองตลอดจนช่องทาง และเครือข่ายการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ อาทิ การพบปะพูดคุยของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในสถานที่ต่างๆ โดยช่องทาง หรือเครือข่ายการสื่อสารเหล่านั้นจะเป็นกลไกหลักที่นำไปสู่เจตจำนงทางการเมือง การสร้างสำนึกสาธารณะ การเรียนรู้ร่วมกัน การกำหนดประเด็นปัญหาสาธารณะและค้นหาทางเลือกสำหรับชุมชนโดยเดวิท แมทิวส์ ได้เน้นหนักเกี่ยวกับ “กระบวนการสนทนาแบบพินิจพิเคราะห์ (deliberative dialogue) ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน ตลอดจนการร่วมกันดำเนินและประเมินผลกิจกรรมสาธารณะ

นอกเหนือจากกระบวนการสื่อสารภายในบุคคล การสื่อสารระหว่างบุคคล หรือการสื่อสารระหว่างสมาชิกในชุมชนเพื่อผลักดันกระบวนการประชาสังคมแล้วนั้น สื่อมวลชนยังคงเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญในการก้าวสู่ความเป็นประชาสังคม และทำหน้าที่สะท้อนภาพประชาสังคม โดยในส่วนของสื่อมวลชน แจน ซาฟ เฟอร์ ผู้อำนวยการของ พิวเตอร์สำหรับงานข่าวเพื่อประชาสังคม (Pew Center for Civic Journalism) ได้กล่าวว่า งานข่าวเพื่อประชาสังคมจะเกิดขึ้นได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ประการ โดยประการที่หนึ่งได้แก่ การเปลี่ยนวัฒนธรรมในห้องข่าว โดยเน้นการนำเสนอข่าว โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นหนักการฟังเสียงประชาชน และการนำเสนอสิ่งที่เป็นประเด็นสนทนาต่างๆ ในชุมชน ตลอดจนเน้นการนำเสนอประเด็นปัญหา สาระต่างๆ อย่างเที่ยงตรง เจาะลึกในทุกมุมมอง และเปิดกว้างให้สมาชิกในชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกัน เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านั้น การเปลี่ยนแปลงประการที่ 2 ได้แก่ การเปลี่ยนคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในข่าว โดยแจน ซาฟเฟอร์ เชื่อมั่นว่า การข่าวเพื่อประชาสังคมจะได้รับความสนใจอย่างสูง หากมีการใช้คำศัพท์ หรือภาษาที่สะท้อนความเป็น “ประชาชน” มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงประการที่ 3 ได้แก่ การเปลี่ยนระบบการให้รางวัลสำหรับข่าว หรือนักข่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การกระตุ้นความสำคัญของข่าวในเชิงประชาสังคมมากขึ้น

“พลเมือง” กับการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม : ความท้าทายสำหรับศตวรรษที่ 21
กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาสังคมในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนสมาชิกในสังคม ให้สลัดคราบความเป็น “ไพร่” และก้าวสู่ความเป็น “พลเมือง” ในประชาสังคม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ในสังคม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ในมุมมองเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาสังคมนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าสมาชิกในสังคมจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐานด้านการสื่อสารอันได้แก่ การปรับเปลี่ยน “วัฒนธรรม” การสื่อสารของบุคคล ตั้งแต่ระบบความคิด ทัศนคติ การฟัง การพูด การอ่าน การตัดสินใจ การกระทำและการใช้ชีวิตของบุคคล เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทาย และใช้เวลาในการฝึกฝน ตัวอย่างเช่น

ในส่วนของการปรับเปลี่ยนระบบการคิดและทัศนคติ บุคคลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความคิดจากการรอบคอยผู้อื่น หรือคนภายนอกให้หยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ ให้ตน มาเป็นการคิดพึ่งตนเอง และคิดที่จะช่วยเหลือตนเองตามศักยภาพที่เหมาะสม บุคคลที่เคยคิดท้อถอยในการต่อสู้ ฟันผ่าอุปสรรคต่างๆ ก็หันมาคิดที่จะอดทน เข้มแข็ง และต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านั้น บุคคลที่เคยคิดแบ่งแยกชนชั้น ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น ก็ต้องฝึกคิดว่า ทุกคนเท่ากัน มีสิทธิ หน้าที่และความเสมอภาคเท่ากัน นอกจากนั้นบุคคลยังควรฝึกคิดในเชิงบวก แทนการคิดในเชิงลบ หรือการมุ่งหา “แพะ” มารับผิด ควรฝึกคิดใช้เชิงสร้างสรรค์ แทนการคิดลอกเลียนแบบผู้อื่น
ในส่วนของการปรับเปลี่ยนวิธีการพูด บุคคลที่เคยพูดแบบ “สั่งการ” ก็ควรฝึกฝนทักษะการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในแนวระนาบ เสมือนเป็นญาติกัน ส่วนบุคคลที่เคยเอาแต่ทำตาม “คำพูด” หรือ “คำบัญชา” ของผู้อื่น ก็ต้องฝึกที่จะกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นของตน และกล้าแย้งผู้อื่น บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนกล้าที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อความคิดที่ตนนำเสนอไป นอกจากนั้นบุคคลควรระวังการใช้คำศัพท์ คำแสลง หรือสำนวนภาษาต่างๆ ไม่ให้ไปกระทบ กระเทียบ หรือดูถูกความคิดของผู้อื่น ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม

ในส่วนของทักษะการฟัง บุคคลที่เคยยึดมั่นแต่ความคิดของตน โดยไม่สนใจฟังผู้อื่น ก็ต้องเริ่มหันมาสนใจความคิดของผู้อื่น และเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น บุคคลที่ไม่เคยฟังข้อมูลข่าวสารต่างๆ เลย ก็ต้องเริ่มหันมาสนใจ รับฟังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และความเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคม

นอกจากนั้นบุคคลยังจำเป็นต้องเพิ่มทักษะในการอ่าน การฝึกฝนการค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องต่างๆ ให้มากขึ้น การรอรับฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่การค้นคว้า อ่านข้อมูลข่าวสารจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่พอเพียงสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่บุคคลจำเป็นต้องหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ จากหลายแหล่งข้อมูลและพิจารณาถึงที่มาที่ไป ตลอดจนความสมเหตุสมผลของแหล่งข้อมูลดังกล่าว

ในส่วนของการตัดสินใจ บุคคลควรพิจารณาและตัดสินใจบทรากฐานของข้อมูลและเหตุผลรอบด้าน ตลอดจนน้ำหนักของข้อมูลเหล่านั้น แทนการตัดสินใจจากข้อมูลด้านเดียว หรือตัดสินใจตามความรู้สึก หรือกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ในส่วนของการกระทำ บุคคลที่เคยคิดจะทำงานแบบตัวคนเดียว ข้ามาคนเดียว หรือทำตัวเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี หรือแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ก็ควรฝึกที่จะทำงานเป็นทีม ฝึกประสานงานกัน ฝึกไว้วางใจ และเชื่อมั่นในการกระทำของทีมงาน ตลอดจนเรียนรู้การกระทำต่างๆ ร่วมกัน บุคคลที่เคยทำสิ่งต่างๆ แบบเอาแต่ใจตนเองก็ต้องรู้จักฝึกอดทน อดกลั้น อดใจ และหันมาสนใจการกระทำของผู้อื่น และยอมรับในการกระทำที่หลากหลายบุคคลที่เคยทำสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตน และพวกพ้อง ก็ต้องฝึกการกระทำโดยยึดมั่นในจริยธรรม และความยุติธรรม ตลอดจนเสียสละเพื่อสาธารณชน นอกจากนั้นบุคคลที่เคยทำตามสิ่งที่คนอื่นคิดและบอกให้ทำโดยไม่คิดที่จะโต้แย้ง ก็ต้องหันมาทบทวนวิเคราะห์ และกำหนดการกระทำในสิ่งที่เหมาะสมและสะท้อนให้เห็นความรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านของการใช้ชีวิต บุคคลที่เคยใช้ชีวิตแบบเฉื่อยชา อยู่ไปวันๆ หรือเฉยเมยต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการกระตือรือร้น ติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น บุคคลที่เคยใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ก็ต้องเริ่มหันหน้าเข้าหากัน รับฟังและร่วมมือกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม ค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของบุคคลเหล่านั้น จำเป็นที่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของ “ความสมัครใจ” มากกว่าการพยายามค้นหา “ผู้นำ” ในสังคม เพื่อทำหน้าที่บังคับบัญชากลุ่มเป้าหมายให้เปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นยังอาจเปิดโอกาสให้แรงกดดัน (pressure) ระหว่างกัน ของกลุ่มสมาชิกในสถาบันต่างๆ อาทิ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่างๆ ฯลฯ ทำหน้าที่กระตุ้น และผลักดันให้สมาชิกในกลุ่ม และกลุ่มพันธมิตรต่างๆ เปลี่ยนแปลงในที่สุด

นอกจากนั้นปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการสื่อสาร และรูปแบบการใช้ชีวิตของสมาชิกในสังคม เพื่อเตรียมพร้อมกับการเป็น “พลเมือง” ที่ดีในสังคมแล้ว การปรับเปลี่ยนแปลงระบบการสื่อสารในสังคม ก็อาจเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่เอื้อต่อการก้าวไปสู่ความเป็น “พลเมือง” ของสมาชิกด้วย โดยระบบการสื่อสารในอุดมคติของสังคมของพลเมือง มักประกอบด้วย ระบบการการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ภายในสังคม และระหว่างสังคมต่างๆ สูง ระบบเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อมโยงสมาชิกในสังคมเข้าด้วยกัน ระบบที่เปิดโอกาสให้สมาชิกในสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ และใช้เวทีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ การแสดงออกทางความคิด และการแสวงหาแนวทางร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริม “การรู้เท่าทันสื่อ” ต่างๆ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่นับวันจะมีความหลากหลาย บิดเบือน และมุ่งเน้นไปในเชิงธุรกิจ ตลอดจนการนำเสนอสื่อทางเลือก หรือเวทีใหม่ๆ ในการสื่อสารสำหรับสาธารณชน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เป็นประการสำคัญ นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนระบบการสื่อสารแล้ว กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของบุคคลที่ทำงานในแวดวงสื่อมวลชน ในการทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยมุ่งเน้นเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เน้นหนักนำเสนอเนื้อหาสาระแทนการมุ่งเน้นนำเสนอเฉพาะสิ่งที่ขายได้เท่านั้น นอกจากนั้นควรมุ่งเน้นการเสนอข่าวสารรอบด้าน ตีแผ่และเจาะลึกข้อมูล โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง และการตรวจสอบสภาพปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารประเทศ แทนการนำเสนอข้อมูลตามกระแส หรือการสร้างกระแสสังคม หรือการทำงานเพื่อตอบสนองบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ตลอดจนการเปิดช่องทางเลือกสำหรับนำเสนอปัญหาต่างๆ ผ่านสื่อให้มากขึ้นและประสานงานกับสมาชิกในสังคมในการหาทางออกร่วมกัน จากที่กล่าวมาแล้วนั้นดูเสมือนกับว่า การเปลี่ยนแปลง “การสื่อสาร” ในสังคม จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปสู่ความเป็นประชาสังคมได้ อย่างไรก็ตาม เรายังต้องคำนึงเสมอว่า “การสื่อสาร” เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในบรรดาองค์ประกอบอื่นๆ ทางสังคมที่จะทำหน้าที่เป็น “ฟันเฟือง” ในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นประชาสังคม และจำเป็นต้องทำหน้าที่ไปพร้อมๆ กับองค์ประกอบอื่นๆเหล่านั้น และในขณะเดียวกันเรายังต้องตระหนักเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ อีกมากมาย ที่อาจส่งผลต่อการก้าวสู่ประชาสังคม อาทิ โครงสร้างระบบ “อำนาจ” พื้นฐานในสังคม ระบบช่วยเหลือเกื้อกูล และระบบเงินตรา การใช้สื่อกระแสหลักเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจ หรือเพื่อรักษาหรือสนับสนุนฐานอำนาจของบุคคลบางกลุ่มในสังคม การควบคุมหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร การหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมสมัยนิยมแบบตะวันตก ผ่านทางสื่อต่างๆ ตลอดจนการที่ประชาชนในสังคมเองที่ยังขาดสำนึกของการเป็น “พลเมือง” ที่ดีของสังคม เป็นต้น ดังนั้นมาตราการหรือกลไกด้านการสื่อสาร จึงเป็นเสมือนทางเลือกหนึ่งที่ต้องเคลื่อนไป พร้อมๆ กับกลไกอื่นๆ ในสังคมเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาสังคมที่สมบูรณ์ และสอดคล้องกับจินตภาพที่ “พลเมือง” ในสังคมไทยคาดหวัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา