เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บทบาทของสื่อมวลชน

ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดภาระความรับผิดชอบต่อสังคมและอิสรภาพจากการครอบงำของธุรกิจ ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งระดับของบทบาทสื่อมวลชนเป็น 5 ระดับ คือ (นิพนธ์ นาคสมภพ: 2549)

(1) ระดับการชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นสื่อมวลชนที่ได้รับการไว้วางใจต่ำสุด เพราะมุ่งรับใช้นักการเมืองหรือนักธุรกิจมากเกินไป หรือมุ่งผลประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของสื่อมากเกินไป แต่กลับละเลยประชาชน โดยเฉพาะการโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งผลเสื่อมเสียต่อวินัยทางศีลธรรม วินัยทางการเงิน และวินัยทางสังคมของประชาชน

(2) ระดับการบริการข่าวสาร (News & Information service) จัดเป็นการสื่อสารของเอกชน (Private Communication) มุ่งเสนอข่าวสารทั่วไป บางครั้งทำให้ขาดการคัดเลือกคุณค่าทางจริยธรรมไปบ้าง เพราะมุ่งเรื่องการค้าเป็นหลัก

(3) ระดับมาตรฐาน (Standard) เป็นสื่อมวลชนที่รับผิดชอบต่อกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคมสูง มีส่วนในการสร้างสรรค์สังคม ไม่มุ่งเพื่อการค้าอย่างไม่รับผิดชอบ

(4) ระดับวิชาชีพ (Professionalism) เป็นสื่อมวลชนที่รับผิดชอบต่อสังคมถึงระดับคุณธรรม ศีลธรรม มีความกล้าหาญทางคุณธรรมสูง มีอำนาจมีอิสระเสรีภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง

(5) ระดับประโยชน์สาธารณะ (Public service) เป็นสื่อมวลชนที่มีคุณค่าสูงสุดของสังคม ประชาชนทุกภาคส่วนให้การยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ หนักแน่น มีความเป็นวิชาการสูง
บทบาทของสื่อในการกำหนดประเด็นข่าวสาร ควรดำรงตนให้ได้ระดับมาตรฐานหรือวิชาชีพขึ้นไป จึงจะทำให้บทบาทในการกำหนดประเด็นข่าวสารของสื่อ (Media Agenda) มีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่รับใช้หรือเอนเอียงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


การพิจารณาบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน จะมีแนวความคิดอยู่อย่างหลากหลาย แต่โดยทั่วไป เมื่อจัดกลุ่มของความคิดจะพบว่ามีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่สำคัญใน 3 บทบาทหน้าที่ด้วยกัน ได้แก่

1. การทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์

แนวคิดนี้ เป็นกระแสหลักของสื่อมวลชนในปัจจุบัน ทฤษฎีสำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ ทฤษฎี Functionalism ซึ่งพิจารณาว่าสังคมเป็นระบบหนึ่งที่มีส่วนต่าง ๆ หรือระบบย่อยมีความเกี่ยวพันติดต่อถึงกันอย่างมีเสถียรภาพ (Stability) และสมดุลย์ (Eqilibrium) โดยมีสื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบด้วย ระบบย่อยเหล่านี้จะช่วยกันผดุงรักษาระบบใหญ่เอาไว้ อาจจะมีบางช่วงขณะที่ระบบย่อยเกิดความขัดแย้งกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็จะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลย์เอง ในแนวคิดนี้สื่อมวลชนจึงถูกตั้งความคาดหวังว่า จะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ช่วยสร้างสรรค์และธำรงรักษาเสถียรภาพของสังคม ให้เกิดความความสมดุลย์และเกิดการรวมตัวกันเข้าของทุกส่วน เพื่อทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมคงอยู่ต่อไป
ดังนั้นสื่อมวลชนจึงพยายามที่จะสนองต่อความต้องการของสมาชิกในสังคม ทั้งที่เป็นรายบุคคล และที่เป็นกลุ่มก้อนอย่างสม่ำเสมอ ผลก็คือสื่อมวลชนได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมโดยไม่ได้ตั้งใจ ในแง่ที่สามารถรวมสมาชิกทั้งหมดเข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สื่อมวลชนจึงมีภารกิจหลักในการผดุงรักษาสังคมมากกว่าที่จะเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า สื่อมวลชนมีพลังและมีอิสระเสรีภาพในการทำงานรวมถึงกำหนดทิศทางของสังคมเป็นอย่างมาก
เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุด ตามความคาดหวังของแนวคิดนี้ ในการเชื่อมโยงระบบย่อยต่าง ๆ ในสังคมให้เกิดการรวมตัวกัน จึงได้มีการตั้งความคาดหวังต่อบทบาทหน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชน (Media Functions Basic) ไว้ 5 ประการด้วยกัน ดังนี้
1. การทำหน้าที่รายงานและสอดส่องสังคม (Surveillance) ได้แก่
- การทำหน้าที่ในการให้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์และเงื่อนไขในสังคม รวมถึงสถานการณ์ของโลก
- การทำหน้าที่ในการบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของอำนาจ
- การทำหน้าที่เผยแพร่หรือส่งเสริมนวตกรรม รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้า
- การทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน (Watch Dog)
2. การทำหน้าที่เชื่อมโยงตีความเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม (Correlation) ได้แก่
- การทำหน้าที่ให้คำอธิบาย แปลความหมาย รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะและคำวิจารณ์เกี่ยวกับความหมายของเหตุการณ์และข่าวสาร
- การทำหน้าที่ให้การสนับสนุนต่อองค์กรต่าง ๆ ในสังคมและปทัสสถานที่มีอยู่เกี่ยวข้องกับสังคม
- การทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยทางสังคม
- การทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม
- การทำหน้าที่สร้างความสมานฉันท์ และสร้างประชามติ
- การทำหน้าที่กำหนดระดับความสำคัญ และระบุสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
3. การทำหน้าที่ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่สังคม เป็นนักการศึกษาให้การศึกษากับสังคม (Transmission) ได้แก่
- การทำหน้าที่นำเสนอวัฒนธรรมหลักที่มีอิทธิพลต่อสังคม และตระหนักยอมรับถึงวัฒนธรรมย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในสังคม
- การทำหน้าที่ผดุงรักษาและส่งเสริมค่านิยมที่ดี ๆ ในสังคม
4. การทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่สังคม (Entertainment) ได้แก่
- การทำหน้าที่ให้ความสนุกสนาน บันเทิง และเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ
- การทำหน้าที่ลดความตึงเครียดในสังคม
5. การทำหน้าที่ระดมพลังการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสังคม (Mobilization) ได้แก่
- การทำหน้าที่รณรงค์เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม ภายในขอบเขตทางการเมือง สงคราม การพัฒนา เศรษฐกิจ การทำงาน และในบางครั้งเป็นเรื่องทางศาสนา

จะเห็นว่าสื่อมวลชนตามแนวคิดนี้ จะทำหน้าที่เป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” ที่มาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทางสังคม นับตั้งแต่ปัญหาความล้าสมัยทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเรื่อยไปจนถึงปัญหายาเสพติด การจราจร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเอกลักษณ์ของชาติ ฯลฯ สื่อมวลชนตามแนวคิดนี้ จึงมีภาพเป็นพระเอกซึ่งทำหน้าที่ในทางที่ดีที่เป็นคุณประโยชน์ และสร้างสรรค์แก่สังคม

2. การทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความหมาย

แนวคิดนี้อยู่ในกลุ่มของทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) มองว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่ได้มีความหมายอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ถูกกำหนดให้มีความหมายขึ้น เช่นความยาวหรือสั้น ไม่ได้มีความหมายโดยตัวของมันเอง จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเรานำสิ่งนั้นไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ดังนั้นวัตถุอย่างหนึ่งอาจยาวก็ได้สั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเอามันไปเปรียบเทียบกับอะไร ความยาวหรือสั้นจึงไม่ได้มีความหมายอยู่โดยตัวของมันเอง
แนวคิดนี้มองสังคมว่าประกอบไปด้วยคนกลุ่มต่าง ๆ ชนชั้นต่าง ๆ ล้วนมีความขัดแย้ง (Conflict & Contradiction) เป็นด้านหลัก ดังนั้นคนแต่ละกลุ่มก็จะพยายามใช้กลไกทุกอย่างของสังคม รวมทั้งสื่อมวลชนเพื่อจัดการกับความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาเป็นประโยชน์แก่กลุ่มหรือชนชั้นของตนเองให้มากที่สุด ดังนั้นการกำหนดความหมายให้กับสิ่งต่าง ๆ นั้น เป็นการกำหนดความหมายเพื่อให้ผู้กำหนดความหมายมีอำนาจ คนกลุ่มต่าง ๆ จึงพยายามแย่งชิงกันกำหนดความหมายของสิ่งต่าง ๆ ใครที่มีอำนาจมากกว่าจึงสามารถเป็นผู้กำหนดนิยามของสิ่งนั้น ๆ เพื่อตนเองได้มากกว่า เช่น เหล้าเถื่อน ป่าสมบูรณ์ ถูกกำหนดความหมายโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เหล้าไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเองว่าจะเถื่อนหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการกำหนดประเภทของเหล้าว่าเหล้าที่ชาวบ้านต้มเองว่าเป็นของเถื่อน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้กำหนดเป็นผู้มีอำนาจ ป่าสมบูรณ์ก็เช่นกัน เป็นการแย่งชิงกันกำหนดความหมายว่าป่าสมบูรณ์คืออะไร รัฐพยายามกำหนดความหมายของป่าสมบูรณ์ว่าคือป่าที่ไม่มีคน และป่าเป็นของรัฐที่จะเข้าไปควบคุมดูแล แต่ชาวบ้านมองว่าป่าสมบูรณ์คือป่าที่เกื้อหนุนกันระหว่างคนกับป่า และป่าเป็นของผี ผีเป็นผู้ดูแลป่า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าในการกำหนดความหมายให้กับสิ่งนั้น ๆ และหากใครที่ไม่สามารถต่อสู้ในการกำหนดความหมาย ก็จะถูกตีให้ตกขอบไปเป็นคนชายขอบ
สำหรับสื่อมวลชน จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการกำหนดความหมาย เพื่อสนับสนุนผู้มีอำนาจในสังคม โดยที่สื่อเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง เป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจในเมือง ดังนั้นการกำหนดความหมายของสื่อจึงเป็นการกำหนดความหมายที่สนับสนุนส่งเสริมความคิดแบบทุนนิยม ส่งเสริมผู้มีอำนาจในเมือง ส่งเสริมชนชั้นกลาง โดยตีคนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าในสังคมให้กลายเป็นคนชายขอบ เช่น พาดหัวข่าวว่า “จับม้งค้ายาบ้า” เป็นการกำหนดความหมายให้ม้งไปเกี่ยวพันกับการค้ายาบ้า ทั้งที่ผู้ค้ายาบ้าที่เป็นม้งมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับคนที่ค้ายาบ้าในปัจจุบันจริง ๆ แต่ม้งก็ถูกกำหนดความหมายให้เป็นคนค้ายาบ้า ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น การทำแท้ง โสเภณี การประท้วงของชาวบ้าน คนอ้วน-ผอม ผิวขาว-ดำ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้-ไม่ได้ สถานภาพของชาย-หญิง คุณค่าของผู้หญิง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถูกกำหนดความหมายโดยผู้มีอำนาจ และสื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดความหมายนั้น
ดังนั้นแนวคิดนี้จึงมองว่า สื่อมวลชนเองไม่สามารถจะมีอิสระเสรีภาพในการทำงานได้มากมายนัก ทั้งนี้เพราะสื่อต้องทำงานอยู่ภายใต้กรอบและแรงผลักดันจากกลุ่มพลังต่าง ๆ ในสังคม ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องพลังอำนาจของสื่อจึงเป็นเพียงภาพลวงตา สื่อมวลชนเป็นเพียงเครื่องมือให้กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มเจ้าของทุน หรือกลุ่มที่ได้เปรียบมีอภิสิทธิ์และมีอำนาจในสังคม นำเอาไปใช้จัดการกับคนกลุ่มอื่น ๆ มากกว่า ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนจึงมักจะออกมาเป็น “ผู้ช่วยผู้ร้าย” หรือมิฉะนั้นก็อาจจะกลายเป็น “ผู้ร้าย” ไปเสียเอง สื่อไม่ได้ผดุงความเป็นธรรมในสังคม แต่สื่อเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งของการพยายามรักษาผลประโยชน์หรืออำนาจของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม แม้สื่อจะชอบใจหรือจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสถานะที่สื่อไม่สามารถเลี่ยงได้

3. การทำหน้าที่เป็นผู้ตอบสนองต่อสังคม

แนวคิดนี้ อยู่ในกลุ่มทฤษฎีที่มองผู้ใช้สื่อเป็นสำคัญ ได้แก่ ทฤษฎีการใช้และความพึงพอใจ (The Uses and Gratification Theory) แนวคิดนี้จะให้ความสนใจเกี่ยวกับหน้าที่ของสื่อมวลชนในการให้บริการแก่ผู้ใช้สื่อ เพื่อสนองความพึงพอใจของมนุษย์ เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าผู้รับสารเป็นผู้กำหนดว่า ตนต้องการอะไร สื่ออะไร และสาระอะไรจึงจะสนองความพึงพอใจของตนเองได้ เป็นการเน้นความสำคัญของผู้รับสาร ในฐานะเป็นผู้กระทำการสื่อสาร ผู้รับสารนั้นไม่ได้เป็นเพียงผู้รับเอาอิทธิพลจากสื่อมวลชนเท่านั้น หากแต่ผู้รับสารจะเลือกใช้สื่อและรับสารที่สามารถสนองความต้องการและความพึงพอใจของตน แนวคิดนี้ เป็นแนวคิดหนึ่งทางด้านการสื่อสารในแง่ผู้รับสาร คือ ตัวจักรในการตัดสินใจ โดยอาศัยพื้นฐานความต้องการของตนเป็นหลัก ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานเบื้องต้น ดังนี้
1. ผู้รับสารจะเป็นผู้กระทำการแสวงหาข่าวสารจากสื่อมวลชนเพื่อสนองความพึงพอใจ
2. ผู้รับสารจะเป็นผู้เลือกสื่อจากสื่อทั้งหมดที่มีอยู่
3. ผู้รับสารจะตระหนักว่าสื่อนั้นจะสนองความต้องการ ความสนใจ และมีความเกี่ยวข้องมากเพียงพอ
4. ผู้รับสารจะใช้สื่อใด ๆ โดยไม่รวมถึงการตัดสินใจจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อตามความเคยชิน
จากแนวคิดนี้ทำให้เห็นได้ว่าผู้บริโภคจะเลือกรับสื่อตามความพึงพอใจของตน ดังนั้นสื่อจึงต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค ดังนั้นจะเห็นว่าตามแนวคิดนี้ สื่อไม่ได้เป็นทั้งพระเอกขี่ม้าขาว และไม่ได้เป็นทั้งผู้ช่วยผู้ร้ายหรือผู้ร้าย เพราะสื่อไม่ได้มีอิทธิพลเหนือผู้รับสาร แต่ผู้รับสารต่างหากที่เป็นผู้กำหนดวาระให้กับสื่อ ดังนั้นบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของสื่อก็คือการเป็นผู้ตอบสนองต่อสังคมนั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา