เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

สื่อเลือกข้าง’ ทำให้สื่อไม่ใช่ ‘สื่อสารมวลชน’

โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

ในยุคที่สังคมเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จได้ยากหากไม่ทำควบคู่กันไปกับการปฏิรูปสื่อ ทำไมเราจึงตั้งคำถามน้อยเกินไปต่อตรรกะของ “สื่อเลือกข้าง” เพราะหากเราเชื่อในอุดมการณ์ที่ว่า “ความเป็นกลาง” ในการเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นรอบด้านควรเป็น “จุดยืน” ที่ทำให้สื่อมีความหมายเป็น “สื่อสารมวลชน” ไม่ใช่สื่อของใครหรือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตั้งคำถามต่อตรรกะของสื่อเลือกข้าง

ยิ่งถ้าเรายังเห็นกันว่า การปฏิรูปสื่อจำเป็นต่อการเปิดเวทีการแลกเปลี่ยนรู้ของสังคมให้กว้างขึ้น หลากหลายขึ้น จำเป็นต่อการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสร้างวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล หรือส่งเสริมวิถีชีวิต วิถีสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรายิ่งจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อตรรกะของสื่อเลือกข้างอย่างเอาจริงเอาจัง

ตรรกะของสื่อเลือกข้างที่ตอกย้ำมาตลอดสองสามปีนี้ คือ
1.ไม่มีความเป็นกลางระหว่างถูกกับผิด ดีกับชั่ว ขาวกับดำ จึงเลือกความเป็นกลางไม่ได้ ต้องเลือกอยู่ข้างความถูกต้องหรือความดีเท่านั้น
2.สื่อ หรือใคร/ฝ่ายใดที่ไม่เลือกอยู่ข้างเรา (สื่อเลือกข้าง) แสดงว่าอยู่ตรงข้ามความถูกต้อง

ตามตรรกะ 1: แม้เราจะยอมรับความจริงที่ว่าไม่มี “ความเป็นกลาง” ระหว่าง “ความถูก” กับ “ความผิด” แต่ทว่าสังคมจำเป็นต้องมี “พื้นที่ความเป็นกลาง” ระหว่าง “ฝ่าย” ต่างๆ ที่มีความเห็นเกี่ยวกับ “ความถูก” หรือ “ความผิด” แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องมี “สื่อสารมวลชน” ที่ทำหน้าที่ “สื่อสาร”ความเห็นต่างหรือความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับ “ความถูก” หรือ “ความผิด” ในเรื่องราว เหตุการณ์ สถานการณ์ หรือประเด็น หลักการ สมมติฐานนั้นๆ

การที่สื่อประกาศ “เลือกข้างความถูกต้อง” เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าสื่อนั้นได้เลือก “ความถูกต้อง” แล้วจริงๆ หรือเขาเพียงแค่เชื่อว่า “ฝ่ายตนถูกต้อง” เราจึงจำเป็นต้องแยกแยะระหว่าง “ความถูกต้อง” กับความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายตนถูกต้อง” ออกจากกันให้ชัดเจน เพราะในบริบทของความขัดแย้งของความคิดทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้าง “ความถูกต้อง” ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้ง่ายๆ หรืออย่างตายตัวว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิดแบบ “ขาว/ดำ”

และเราไม่ควรตกหลุมพรางว่า การเลือกข้างทางการเมืองสามารถเลือกข้างถูก/ผิดแบบขาว/ดำได้อย่างชัดแจ้ง เพราะการเมืองไม่มีอะไร “ถูกหมดจด” หรือ “ผิดบริสุทธิ์” ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข้างแบบซ้าย/ขวา หรือในแบบใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะการเลือกข้างในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้าง “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ดังนั้น การยืนยันว่าฝ่ายตนเลือกอยู่ข้างความถูกต้อง จึงมีความหมายในทางความเป็นจริงได้เพียงการยืนยันความเชื่อว่า “ฝ่ายตนถูกต้อง” ซึ่งความเชื่อดังกล่าวอาจถูกหรือผิดก็ได้

ตามตรรกะ 2: ในเมื่อตามความเป็นจริงแล้ว การเลือกข้างในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองสามารถยืนยันได้เพียงว่า “เราเชื่อว่าฝ่ายเราถูกต้อง” การอ้างว่าใครหรือฝ่ายใดไม่เลือกตาม (ความเชื่อของ) ฝ่ายเรา แสดงว่า “เขาอยู่ตรงข้ามกับความถูกต้อง”

ข้อสรุปที่ว่า “เขาอยู่ตรงข้ามกับความถูกต้อง” เป็นข้อสรุปที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายเราถูกต้อง” กับ “ความถูกต้อง” เป็นคนละอย่างกัน ซึ่งสองอย่างนี้อาจสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องก็ได้

นอกจากเราจะสามารถสงสัยได้ว่า ความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายเราถูกต้อง” กับ “ความถูกต้อง” มันสอดคล้องกันหรือไม่ ยังจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตอย่างเป็นพิเศษว่า เพราะความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายเรา (เท่านั้น) ถูกต้อง” ใช่หรือไม่ ที่ทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่เป็นเผด็จการทางความคิดต่อความเห็นต่าง กระทั่งทำตัวเป็น “อภิสิทธิ์ชนทางศีลธรรม” ที่ทำตัวเป็นเจ้าของความถูกต้อง เที่ยวตัดสินถูก/ผิดแทนสังคมแทบทุกเรื่อง หลงคิดว่าพวกตนคือผู้ให้ “ปัญญา” แก่สังคม และกล้ากระทำการทุกอย่างแม้ว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมาย เสียหายต่อเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศเพียงใดก็ตาม กระทั่งเหยียดข่มว่าพวกอื่นโง่ ไร้อุดมการณ์ เป็นเพียงพวกกเฬวรากซากเดนคน เป็นต้น จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “พวกอ้างคุณธรรมนี่ช่างน่ากลัวจริงๆ”

นอกจากนี้ความรุนแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของมวลชนบ้าคลั่ง หรือความรุนแรงเกินเหตุของรัฐบาลใดๆ ก็เป็นความรุนแรงที่ดำเนินไปบนความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายตนถูกต้อง” เช่นกัน ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายตนถูกต้อง” จึงไม่ได้นำไปสู่ “การกระทำที่ถูกต้อง” หรือการปฏิบัติที่เป็นไปตามหลักการ กติกาที่ถูกต้องเสมอไป

ในสถานการณ์ความขัดแย้งแห่ง “สี” ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจแยกถูก/ผิดได้แบบ “ขาว/ดำ” แต่ละสีต่างมีเหตุผลของตัวเอง มีถูก ผิด ดี ชั่ว ปะปนกันไป เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมยิ่งจำเป็นต้องมี “พื้นที่ความเป็นกลาง” ให้แต่ละสี หรือฝ่ายอื่นๆ ได้นำเสนอข้อเท็จจริง เหตุผล ความคิดเห็น มุมมอง ทรรศนะวิจารณ์ต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน หลากหลาย ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้วยเหตุนี้ ตรรกะของสื่อเลือกข้างที่ยืนยันว่าฝ่ายตนเลือกข้างความถูกต้อง ซึ่งได้วิเคราะห์ให้เห็นแล้วว่า เขา “อาจ” ไม่ได้เลือก “ความถูกต้อง” จริงๆ (อย่างน้อยก็ “ความถูกต้องตามกติกา” ซึ่งรูปธรรมแห่งการกระทำของพวกเขาเป็นข้อพิสูจน์) แต่ทว่าเป็นการเลือกข้างที่อยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า “ฝ่ายตน (เท่านั้น) ถูกต้อง” ซึ่งความเชื่อทำนองนี้ใครๆ ก็มีสิทธิ์จะเชื่อได้ แต่การนำความเชื่อเช่นนี้มาเป็น “จุดยืน” ในการเป็นสื่อเลือกข้างย่อมทำให้สถานะความเป็น “สื่อสาร (ของ) มวลชน” (“มวลชน” คือ “คนทั้งหมด ทั้งปวง”) กลายเป็น “สื่อสารของคนบางสีหรือบางกลุ่ม” ที่ทำหน้าที่สะท้อน “ความจริงตัดตอน” ความคิดเห็น ทรรศนะวิจารณ์ของฝ่ายตน หรือที่เห็นสอดคล้องกับฝ่ายตนเป็นด้านหลักเท่านั้น

อันที่จริง “คุณค่า” ของความเป็นสื่อ คือ “ความน่าเชื่อถือ” แต่สื่อจะมีความน่าเชื่อถือก็ต่อเมื่อมีจุดยืนอยู่บน “ความถูกต้อง” แต่ความถูกต้องไม่ได้ถูกกำหนดโดยความเป็น “ข้าง” หรือความเป็น “ฝักฝ่าย” ความถูกต้องโดยเฉพาะความถูกต้องของความเป็นสื่อถูกกำหนดโดย “ความเป็นกลาง”

ด้วย “ความเป็นกลาง” เท่านั้น ที่จะทำให้สื่อสามารถค้นหาความจริง ความถูกต้องได้ลึกครบถ้วนรอบด้านมากที่สุด และสามารถสื่อสารความจริง ความถูกต้องได้อย่างเป็นอิสระที่สุด ก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมากที่สุด

ด้วยจิตวิญญาณ “ความเป็นกลาง” สื่อจึงไม่แสดงบทบาทเป็นเจ้าของ/ผูกขาดความจริงความถูกต้อง หรือเป็นผู้ตัดสินความจริงความถูกต้องแทนสังคมเสียเอง ทว่าจะเป็นผู้นำเสนอข้อเท็จจริงเหตุผลที่ครบถ้วนรอบด้านมากที่สุดให้สังคมตัดสิน ด้วยสำนึกที่เคารพต่อวิจารณญาณของผู้เสพสื่อ

ไม่ว่า “ความเป็นกลาง” จะมีจริงหรือเป็นไปได้จริงหรือไม่ แต่ความเป็นกลางก็ควรเป็น “อุดมการณ์” ของสื่อสารมวลชน สื่อจะเป็นสื่อ หรือจะมีความน่าเชื่อถือมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าสามารถเข้าใกล้อุดมการณ์ดังกล่าวหรือไม่ หรือเข้าใกล้ได้มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกันแม้เราจะรู้ว่าสังคมยังไม่เป็นประชาธิปไตย (เท่าที่ควร) แต่ประชาธิปไตยก็ควรเป็นอุดมการณ์แห่งสังคมของเรา

“ความเป็นกลางของสื่อ” กับ “ความเป็นประชาธิปไตย” เป็นคู่สร้างคู่สมที่จะต้องพัฒนาให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน เราไม่อาจจินตนาการถึงสังคมอุดมปัญญาหรือสังคมประชาธิปไตยก้าวหน้าที่เต็มไปด้วยสื่อเลือกข้าง ที่ตั้งหน้าตั้งตาฟาดฟันกันด้วยการยึดความเป็นข้างหรือความเป็นฝักฝ่ายเป็นฐานในการตัดสินถูก/ผิดในทางการเมือง

ดังนั้น ตรรกะแห่งการเลือกข้าง จึงเป็นตรรกะที่ทำให้สื่อไม่เป็นสื่อในความหมายของ “สื่อสารมวลชน” อีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา