โดย บุญเลิศ ช้างใหญ
มีคนทำสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์จำพวกหนึ่งประกาศตัวตนว่าเป็นสื่อที่ "เลือกข้าง" โดยจะเลือกอยู่ข้างความถูกต้อง และขอทำหน้าที่เป็น "ตะเกียง" ไม่เอาแล้วกับการเป็น "กระจก" ที่คอยสะท้อนภาพ เพราะสังคมไทยทุกวันนี้มันมืดมิดสิ้นดี
ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ (ความจริงควรใช้คำว่าโจมตี) สื่อที่ประกาศว่าจะทำหน้าที่อย่าง "เป็นกลาง" ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พร้อมกับเปรียบเทียบว่าระหว่างพระกับโจรจะไม่มีคำว่าเป็นกลาง แต่ต้องเลือกเอาการอยู่ข้างพระ
และระหว่างข้าวกับขี้ ถ้าเป็นกลางก็กินข้าวกับขี้ผสมกันอย่างนั้นหรือ ที่ถูกต้องเลือกกินข้าว
ฟังดูผิวเผินก็น่าจะเข้าท่าเข้าที มีเหตุผล แต่หากพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนบนหลักการของการเป็นสื่อในสังคมในประชาธิปไตย ที่ถือเอาการมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบทั้งต่อกฎหมายและจริยธรรมแห่งวิชาชีพแล้ว คำว่า "เป็นกลาง" กับ "เลือกข้าง" จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในหมู่คนทำสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละทิ้งบทบาทของการเป็น "กระจก" กระทำได้หรือ หาไม่แล้วการวิวาทะอาจไม่ได้เกิดผลในทางสร้างสรรค์ต่อวงการสื่อและความเข้าใจผิดก็จะขยายไปยังผู้รับสื่อ จนสุดท้ายวิชาชีพสื่อก็จะลดทอนความศรัทธาในหมู่ประชาชนเฉกเช่นเดียวกับนักการเมืองไทยที่กำลังประสบภาวะ "วิกฤตศรัทธา" อยู่ในเวลานี้
ในตำราวิชาการด้านสื่อสารมวลชนว่าด้วยข่าว บางสำนักบอกว่าข่าวจะต้องมีความเป็นกลาง ความหมายก็คือ การรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยปราศจากอคติและความลำเอียงใดๆ แม้จะทำได้ยากยิ่งเพราะบางครั้งคนทำสื่อที่มีกระบวนการทำงานของนักข่าว หัวหน้าข่าว รีไรเตอร์ บรรณาธิการข่าว ฯลฯมักใช้อารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนตัวหรือนโยบายขององค์กรสื่อใส่ลงไปปะปนในเวลารายงานข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ
การพาดหัวข่าว การเขียนความนำหรือโปรยข่าวก็ต้องมีความเป็นกลางตามนัยยะที่ว่านี้ด้วย
ส่วนการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตำราวิชาการบอกว่า สามารถแสดงออกผ่านบทวิเคราะห์ วิจารณ์ ไม่ใช่ไปใส่ไว้ในข่าว กระนั้นบทความแสดงความคิดเห็นจะเลือกข้างไหน อย่างไรก็พึงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ในแง่ของข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ประกาศโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2541 ทั้งการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นไม่ได้ใช้คำว่า "เป็นกลาง" ขอนำเสนอ ดังนี้
ข้อ 8 หนังสือพิมพ์ต้องละเว้นการเสนอข่าวเพราะความลำเอียงหรือมีอคติจนเป็นเหตุให้ข่าวนั้นคลาดเคลื่อนหรือเกินจากความเป็นจริง
ถามว่า สื่อที่บอกว่าเลือกข้างความถูกต้องและจะเลือกกินข้าวนั้น การเสนอข่าว การเขียนโปรยข่าวและพาดหัวข่าวนั้นลำเอียงหรือมีอคติต่อบุคคล กลุ่มหรือพรรคที่ตนถือว่าเป็นคนละข้าง คนละสีหรือไม่ และการกระทำเช่นนั้นขัดต่อจริยธรรมข้อ 8 นี้หรือไม่
ข้อ 18 ในการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์หนังสือพิมพ์ต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงเสมอ
นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่การเลือกข้างความถูกต้องของสื่อบางจำพวกจะต้องตอบให้ได้ว่า ให้ความเที่ยงธรรมกับฝ่ายที่ถูกพาดพิงมากน้อยแค่ไหนหรือไม่มีความเที่ยงธรรมให้กับคนเหล่านั้น
การใส่ความเห็นและด่วนวินิจฉัยว่าคนนั้นผิด คนนี้เลวไปเสียก่อน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อ 15 ตุลาคม 2550 ว่าเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมและให้ลงโทษด้วยการตักเตือนหนังสือพิมพ์
พฤติการณ์ก็คือ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2549 เขียนบรรยายใต้ภาพว่า "แคชเชียร์แสบ" โดยรายงานข่าวว่าแคชเชียร์สตรี ระบุชื่อ นามสกุล ประจำร้ายเซเว่นอีเลฟเว่น ในปั๊มน้ำมันปิโตรเลียม อ.เถิน จ.ลำปาง ทำแผนประกอบคำรับสารภาพภายหลังขโมยเงิน 7,000 บาท ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ต่อมาแคชเชียร์ผู้นี้ได้ร้องมายังสภาการหนังสือพิมพ์ว่าได้รับความเสียหายต่อประวัติชีวิต ครอบครัว ญาติพี่น้อง
คำวินิจฉัยของสภาการหนังสือพิมพ์ฯมีดังนี้ "...คำบรรยายใต้ภาพที่ระบุว่า "แคชเชียร์แสบ" เป็นการใส่ความเห็นในข่าวเพราะถือเป็นการตัดสินไปเองก่อน ทั้งที่ขณะนั้นผู้ตกเป็นข่าวเป็นเพียงผู้ต้องหา ยังไม่อาจถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดจนกว่าศาลจะได้พิพากษา การเสนอข่าวเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ข้อ 7 และ 8..."
แม้สภาการหนังสือพิมพ์ฯจะมีคำวินิจฉัยไว้เช่นนี้ แต่การละเมิดจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ในลักษณะนี้ก็ยังปรากฏกันอยู่โดยทั่วไปและดูเหมือนว่าจะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการเขียนว่า "แคชเชียร์แสบ" เป็นหลายเท่า
กับการแสดงบทบาทของสื่อประเภทเป็น "กระจก" หรือ "ตะเกียง" หรือทั้งสองอย่างต่อวิกฤตความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝ่าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝ่ายนั้นด้วยและวงการสื่อก็ถูกตั้งคำถามจากผู้คนในสังคมว่าทำนองว่าสื่อใช้ไม่ได้ สื่อไม่เป็นกลาง สื่อไม่ให้ความเป็นธรรม จึงไม่ดู ไม่อ่าน ขณะเดียวกัน สื่อก็โจมตีกันเอง
อาจเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาแพ้เอาชนะโดยพิจารณาจากการกล่าวหา โจมตีกันเองของสื่อ แต่สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกแถลงการณ์มาเป็นระยะซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่คนทำสื่อควรรับฟังแล้วนำมาทบทวนเพื่อปรับปรุงการทำหน้าที่ให้ดีขึ้น เช่น
1 ธันวาคม 2551 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ข้อ 3 ระบุว่า
"... ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แตกแยกอย่างรุนแรงของสังคมขณะนี้ สื่อควรนำเสนอข่าวที่สมดุล รอบด้าน ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย นักข่าว ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นมืออาชีพ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ที่จะไปเพิ่มความรุนแรงหรือความขัดแย้งในสังคม......"
4 พฤษภาคม 2552 7 องค์กรสื่อประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์ฯ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและสมาคมเคเบิลทีวีฯ รียกร้อง "ยุติความรุนแรง" ออกแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ข้อ 5 ระบุว่า
"สื่อมวลชนทุกแขนง โดยเฉพาะสื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ต้องไม่นำเสนอข่าวที่ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง โดยขอให้ยึดการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง รอบด้าน ไม่แข่งขันด้านความเร็วในการนำเสนอ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อสถานการณ์"
4 พฤษภาคม 2552 เครือข่าย 21 องค์กรประกาศปฏิญญาประชาชน 9 ข้อ "ไม่ทำร้ายประเทศไทย ไม่ใช่ความรุนแรง" ข้อ 6 ระบุว่า
"เราขอวิงวอนให้สื่อมวลชนรักษาจรรยาบรรณ โดยไม่ใช้สื่อซึ่งเป็นพาหะนำข่าวสารที่ถูกต้องไปยังประชาชนไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของตนเองหรือของกลุ่ม และละเว้นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง"
ทั้งนี้ เครือข่าย 21 องค์กรแสดงความวิตกไว้ในส่วนอารัมภบทของปฏิญญาประชาชนก่อนจะเรียกร้อง วิงวอน 9 ข้อ ด้วยประโยคที่ว่า "...ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองนี้ก็ยังสร้างรอยร้าวทางสังคมลึกลงไปยังภูมิภาคต่างๆ จนถึงในครอบครัว เราเห็นว่าหากปล่อยให้การณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ สังคมไทยก็จะแตกเป็นเสี่ยง ทั้งยังอาจเกิดสงครามกลางเมืองที่คนไทยลงมือเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันเอง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักรและชาติไทยก็จะสูญสลาย นำความพ่ายแพ้ สูญเสียยับเยินมาสู่คนไทยทุกคนทั้งชาติ..."
ท่าทีและจุดยืนขององค์กรวิชาชีพสื่อ ตลอดจน 21 องค์กรเครือข่าย "หยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง" ที่เรียกร้องไปยังสื่อมาตามลำดับนั้น ไม่น่าจะเข้าใจยากและหากหวนกลับมาตั้งหลักในความเป็นสื่อที่แท้จริงก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะแสดงบทบาทเพื่อนำความปรองดองกลับคืนสู่สังคมไทย
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ อยากเห็นสื่อมีส่วนช่วยคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ใช่ไปขยายให้ขัดแย้ง แตกแยกกันมากขึ้น ไม่เช่นนั้น "สงครามกลางเมืองที่คนไทยลงมือเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันเอง" ที่ 21 องค์กรเครือข่ายกำลังกังวล อาจจะเป็นจริงก็ได้
ถึงตอนนั้นสื่อจะเป็นกระจกหรือตะเกียงไปเพื่ออะไร
และจะตอบอย่างไรหากมีคนไทยชี้หน้าถามมายังคนทำสื่อทั้งหลายว่าตกลงกันได้หรือยังว่า สื่อควรเป็นกลางหรือเลือกข้าง จะเป็นตะเกียงหรือกระจก
หรือควรทำหน้าที่ทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันด้วยความรับผิดชอบต่อจริยธรรมที่องค์กรวิชาชีพสื่อเพียรเรียกร้อง วิงวอนเสียแต่วันนี้ เพราะบางทีการรอถึงวันพรุ่งนี้อาจสายเกินไปก็ได้ ?!?
วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา