เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

สื่ออิทธิพล อิทธิพลสื่อ

ตอน ๑. การครอบงำทางอุดมการณ์

คำถามว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อทัศนคติ ค่านิยม หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจเลือกทางการเมืองของประชาชนจริงหรือไม่? อย่างไร ?
เมื่อไปค้นดูในตำรา(Heywood,2002 )ก็พบว่ามีมุมมองในการอธิบายคำถามนี้ผ่านตัวแบบ 4 ตัวแบบ ดังต่อไปนี้

1. ตัวแบบการครอบงำทางอุดมการณ์(The Dominant-Ideology Model)
ตัวแบบนี้เห็นว่าสื่อมวลชนมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะเดียวกับชนชั้นนำ และมีบทบาทส่งเสริมให้ประชาชนยอมจำนนต่อสภาพทางการเมือง นักคิดที่มองสื่อมวลชนตามตัวแบบนี้ ได้แก่ อันโตนีโอ กรัมชี(Antonio Gramsci)

นักคิดเหล่านี้เห็นว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่เผยแพร่ความคิดของชนชั้นนำและดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนผู้เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย แต่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงโดยอาศัยการเผยแพร่ความคิด ภาพลักษณ์ และค่านิยมเพื่อมุ่งหมายให้เกิดการครอบงำทางอุดมการณ์

ตัวแบบการครอบงำทางอุดมการณ์นี้ได้มีการพัฒนาจนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ตัวแบบการโฆษณาชวนเชื่อ(Propaganda Model) โดยข่าวจะถูกบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังรักษาโครงสร้างทางธุรกิจของสื่อมวลชน ตัวแบบนี้จึงมองว่าสื่อมวลชนเป็นเพียงองค์กรทางธุรกิจที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของสื่อเองหรือของผู้ให้การสนับสนุนสื่อเหล่านั้น

เมื่อนำตัวแบบการครอบงำทางอุดมการณ์หรือตัวแบบการโฆษณาชวนเชื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนไทย ก็ทำให้เห็นได้ว่าสื่อมวลชนไทยมีพฤติกรรมเข้าข่ายตามตัวแบบนี้จริงๆ

สื่อมวลชนไทยพยายามรักษาสัมพันธภาพกับชนชั้นนำซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในสังคม เนื่องจากหากสื่อมวลชนต้องการจะประคับประคองหรือรักษาโครงสร้างทางธุรกิจให้คงอยู่ได้ สื่อก็จำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับชนชั้นนำ การนำเสนอข่าวสารของสื่อสำนักต่างๆ จึงไม่อาจปลอดพ้นไปจากการบิดเบือนชี้นำ และในบางครั้งก็เลยเถิดไปถึงขั้นโฆษณาชวนเชื่อ โดยปรากฏการณ์ของการโฆษณาชวนเชื่อมีให้เห็นในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง เช่น สมัยตุลา 19 และตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือเหตุการณ์การรัฐประหาร 19/9/49

การรัฐประหารครั้งล่าสุดที่ผ่านมามีคนจำนวนมากสรุปตรงกันว่าจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ หากสื่อมวลชนไม่ให้ความร่วมมือในการปูทางและชี้นำให้สังคมเห็นดีเห็นงามไปกับการยึดอำนาจ และเมื่อการรัฐประหารประสบความสำเร็จ สื่อมวลชนหลายรายก็ได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในรูปแบบของคณะทำงานต่างๆ บ้าง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติบ้าง สื่อมวลชนบางรายที่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้งได้รับการจัดสรรช่วงเวลาในการออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์เพิ่มขึ้นทำให้สื่อเหล่านั้นมีผลประกอบการสูงขึ้น

ภาพเหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าสื่อมวลชนไทยยังยึดอยู่กับเรื่องของผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีบทบาทส่งเสริมให้ประชาชนยอมจำนนต่อสภาพทางการเมือง เจ้าของธุรกิจสื่อซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยแต่มีอิทธิพลเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ความคิดของชนชั้นนำ โดยอาศัยการเผยแพร่ความคิด ภาพลักษณ์ และค่านิยมเพื่อมุ่งหมายให้เกิดการครอบงำทางอุดมการณ์จนสังคมไทยเบี่ยงเบนไปจากวิถีทางประชาธิปไตย

ตอน ๒. ค่านิยมของสื่อหรือของตลาด

2. ตัวแบบค่านิยมของนักสื่อสารมวลชนชั้นนำ(The Elite-Value Model)

ตัวแบบนี้ต่างจากตัวแบบที่ 1 ในแง่ที่ไม่ได้พิจารณาประเด็นความเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อมวลชน แต่ให้ความสนใจไปที่บรรณาธิการ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้รายงานโทรทัศน์ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งระดับอาวุโสทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้มีอำนาจตัดสินใจที่สำคัญในการควบคุมทิศทาง และเนื้อหาของข่าวที่จะออกไปสู่สายตาและการรับรู้ของประชาชน ซึ่งย่อมมีผลต่อความเป็นกลางทางการเมือง

เมื่อนำตัวแบบค่านิยมของนักสื่อสารมวลชนชั้นนำ(The Elite-Value Model) มาพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ก็ทำให้เห็นได้ว่าสื่อมวลชนไทยมีพฤติกรรมเข้าข่ายตามตัวแบบนี้ด้วยเช่นกัน

หากยังจำกันได้ในสมัยรัฐบาลนายกฯ สุรยุทธ ได้มีการเชิญบรรณาธิการข่าวจากสื่อสำนักต่างๆ ไปร่วมรับประทานอาหารกันหลายครั้ง นอกจากนี้คณะรัฐประหาร คมช. ยังได้เชิญผู้ที่มีตำแหน่งระดับอาวุโสของสื่อสำนักต่างๆ มาประชุมเพื่อขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าว ปรากฏการณ์นี้เป็นภาพที่สะท้อนว่าผู้มีอำนาจเห็นว่านักสื่อสารมวลชนชั้นนำคือกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองเพราะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่สำคัญในการควบคุมทิศทาง และเนื้อหาของข่าวที่จะออกสู่สาธารณะซึ่งย่อมมีผลต่อความคิด ความเชื่อ ทัศนคติและการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน

3. ตัวแบบตลาด(The Market Model)

ตัวแบบนี้เห็นว่าสื่อมวลชนมีบทบาทเพียงสะท้อนความคิดเห็นสาธารณะมากกว่าเข้าไปกำหนดความคิดเห็นของประชาชน สาเหตุเพราะสื่อมวลชนเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ไม่ว่าเจ้าของสื่อหรือผู้สื่อข่าวอาวุโสมีความคิด ทัศนคติทางการเมืองอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการต้องคำนึงถึงผลกำไรสูงสุด และการเติบโตทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนว่าต้องการอะไร ไม่สามารถนำเสนอแง่มุมที่ประชาชนอาจจะไม่เห็นด้วยได้

เมื่อนำตัวแบบตลาด(The Market Model) มาพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาที่ประชาชนคนไทยมีความคิดเห็นทางการการเมืองแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก็ทำให้เห็นได้ว่าสื่อมวลชนไทยมีพฤติกรรมเข้าข่ายตามตัวแบบนี้อยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น หลายสื่อพยายามประคองตัวด้วยการให้คอลัมนิสต์ที่มีทัศนคติต่างกันลงในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับเดียวกัน

เมื่อสื่อมวลชนเลือกใช้แนวทางตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวคิดทางการเมืองต่างกัน ก็ปรากฏว่ามีชนชั้นนำของไทย เช่น ท่านอานันท์ ปันยารชุน ได้ออกมากล่าวปาฐกถาในทำนองให้สื่อเลือกข้าง หลังจากนั้นหลายสื่อก็แสดงบทบาทเลือกข้างโดยสื่อส่วนใหญ่เลือกที่จะสนับสนุนทัศนคติทางการเมืองของชนชั้นนำซึ่งมีอำนาจในสังคมไทย

สื่ออิทธิพล อิทธิพลสื่อ ตอน ๑. การครอบงำทางอุดมการณ์ http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6496052/P6496052.html

ตอน ๓. สุนัขเฝ้าบ้าน

4. ตัวแบบพหุนิยม (The Pluralist Model)

ตัวแบบพหุนิยมเน้นเรื่องความแตกต่างหลากหลาย จึงมองว่าสื่อมวลชนเปรียบเสมือนตลาดทางความคิด ซึ่งเปิดรับความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรือทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลายมาอภิปรายถกเถียงกัน ตัวแบบนี้แม้ว่าไม่ได้ปฏิเสธอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีต่อทัศนคติ ความคิด ความเชื่อทางการเมืองของประชาชน แต่ก็เห็นว่าอิทธิพลของสื่อมวลชนอยู่ในระดับกลางในแง่ที่ทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายไปยังประชาชนทั้งหลายอย่างทั่วถึง

ตัวแบบนี้มองสื่อมวลชนในเชิงบวก โดยเห็นว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยและเป็นหลักประกันว่าอำนาจของรัฐบาลจะต้องได้รับการตรวจสอบ เปรียบสื่อมวลชนเหมือน “สุนัขเฝ้าบ้าน”(Watchdog)

เมื่อนำตัวแบบตัวแบบพหุนิยม (The Pluralist Model) มาพิจารณากับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยก็พบว่าอิทธิพลของสื่อในสังคมไทยยังมีความห่างไกลจากความเป็นพหุนิยม ข่าวหรือความคิดเห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่รายการข่าวที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุก็มักจะนำมาจากสื่อสิ่งพิมพ์อีกทอดหนึ่ง

การที่สื่อไทยไม่มีความเป็นพหุนิยมทำให้คนไทยขาดโอกาสที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่การที่เป็นเช่นนี้ส่งผลดีต่อสถานะของชนชั้นนำและสื่อมวลชนเอง เพราะการขาดความเป็นพหุนิยมของสื่อทำให้สังคมไทยต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางอุดมการณ์และการโฆษณาชวนเชื่อ ประชาชนคนไทยต้องอยู่ในสภาพยอมจำนนทางการเมือง โดยมีสื่อมวลชนอาวุโสเป็นผู้ควบคุมทิศทางเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารตามความประสงค์ของชนชั้นนำที่มีอำนาจ

ที่ผ่านมามีสื่อมวลชนบางส่วนได้พยายามต่อสู้ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เนื่องจากต้องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้รับการสื่อออกไปหรือต้องการให้มีการนำเสนออย่างครบถ้วนรอบด้าน แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากชนชั้นนำผู้มีอำนาจมักต้องการให้สื่อนำเสนอข่าวสารไปในแนวทางที่ฝ่ายตนต้องการ

ปรากฏการณ์ที่ชนชั้นนำเสนอแนะให้สื่อเลือกข้างเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนว่าสื่อมวลชนไม่อาจดำรงความเป็นพหุนิยมได้ในสังคมไทย หากสื่อใดนำเสนอข่าวสารที่ไม่ส่งผลดีต่อชนชั้นนำก็อาจจะหมดที่ยืน อาทิ สถานีข่าวไอทีวี เป็นต้น

การที่สังคมไทยต้องตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายโดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองคอยยุยงให้ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร สื่อ รวมทั้งประชาชนเลือกข้างนั้น เริ่มต้นจากมีสื่อบางรายได้ใช้สื่อของตนเพื่อการปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อโดยสื่ออาวุโสผู้เป็นเจ้าของเป็นผู้ควบคุมกำหนดเนื้อหาและทิศทางข่าวสาร ซึ่งในขณะนี้สื่ออาวุโสคนดังกล่าวได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกโดยให้รอลงอาญาในคดีใส่ร้ายดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเท็จและคดีนำสถาบันเบื้องสูงมาปลุกระดมสร้างความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง

การกระทำดังกล่าวเช่นสื่อรายที่ยกมานี้เป็นตัวอย่างของความไม่เป็นพหุนิยมและเป็นตัวอย่างของสื่อที่ต้องการครอบงำอุดมการณ์และชี้นำสังคมไปตามค่านิยมของตน สื่อที่มีเป้าหมายเช่นนี้ไม่อาจจะเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน(Watchdog)” ได้ เนื่องจากเป็นสุนัขที่ต้องการจะกลายเป็นนายของเจ้าของบ้านมากกว่าการเฝ้าตรวจตราความปลอดภัยให้เจ้าของบ้าน

การที่สื่อจะสามารถเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดีได้ นอกจากจะต้องไม่คิดว่าตนไม่ใช่เจ้านายของประชาชนแล้ว สื่อจะต้องรู้จักแยกแยะด้วยว่าการที่มีผู้คิดเห็นแตกต่างจากสื่อมิได้หมายความว่าบุคคลเหล่านั้นต้องการเป็นศัตรูกับสื่อ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองที่บุคคลผู้นั้นสามารถกระทำได้ บุคคลเหล่านั้นอาจมีความปรารถนาดีต่อประชาชนและส่วนรวมด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ได้ หากสื่อขาดทัศนคติเช่นนี้สื่อก็จะกลายเป็นสุนัขบ้าที่ไล่กัดใครต่อใครไปทั่ว

สำหรับการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลถือเป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อ รัฐบาลที่ดีจึงไม่ควรมีจิตใจคับแคบมองสื่อว่าเป็นศัตรูผู้ไม่ปรารถนาดี แต่การตรวจสอบต่างจากการหาเรื่องหรือการจ้องล้มรัฐบาล การตรวจสอบรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะต้องเป็นไปโดยปราศจากอคติ เรื่องที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นไปตามหลักการสื่อก็ต้องท้วงติงวิพากษ์วิจารณ์และให้ข้อเสนอแนะ ส่วนเรื่องที่รัฐบาลทำได้ดีก็ต้องรู้จักสนับสนุนส่งเสริม

หากสื่อมวลชนไทยพัฒนาไปสู่ความเป็นพหุนิยม ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะมีผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยและเป็นหลักประกันว่าอำนาจของรัฐบาลจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยสื่อมวลชนมีอิสระอย่างแท้จริง มิได้มีสถานะเป็นเพียงอาวุธทางการเมืองให้แก่ผู้มีอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริงถึงจะกล่าวได้ว่าประชาชนคนไทยมีสุนัขเฝ้าบ้านที่ซื่อสัตย์และรักเจ้านาย

แต่สภาพเช่นนั้นคงเป็นไปได้ยากในเมืองไทย เพราะสื่อมวลชนไทยจำนวนมากยังต้องการมีอิทธิพลต่อประชาชนในลักษณะของตัวแบบอื่นๆ มากกว่าตัวแบบพหุนิยม ประเทศไทยจึงยังคงอยู่ภายใต้สื่ออิทธิพล และประชาชนยังต้องยอมจำนนต่อสภาพทางการเมืองต่อไปจากอิทธิพลสื่อ !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา