ปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
เมื่อวันพุธที่ 17 ส.ค. ได้มีการปาฐกถาเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย" โดย ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย.ดร.จุฑารัตน์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม เกิดจากความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่เริ่มแรก "ใครมีอำนาจทางเศรษฐกิจ-มีอำนาจทางสังคมก็เป็นผู้ที่สร้างความเหลื่อมล้ำกับ ผู้ที่ไม่มีอำนาจ" รวมถึงความแตกต่างระหว่างอำนาจในเชิงพื้นที่ทางสังคม
"โดยนิยามแล้ว ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมก็คือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มี โอกาสกับผู้ที่ขาดโอกาส ซึ่งโอกาสในที่นี้ก็คือโอกาสในการเข้าถึงและจัดการกลไกต่างๆ โดยเฉพาะกลไกภาครัฐ อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยพ.ร.ก.ดังกล่าวนั้นเขียนไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกระทำการใดๆ ประชาชนไม่มีสิทธิไปฟ้องศาลปกครองว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด ซึ่งนี่เป็นการตัดสิทธิทางศาลปกครอง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้จะถูกตัดโอกาสในการเข้าถึงการเรียกร้องความเป็นธรรม"
ดร.จุฑารัตน์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนั้น บางครั้งก็เป็นเหตุ ในขณะที่บางครั้งก็เป็นผลในตัวเอง ที่เป็นเหตุเพราะความเหลื่อมล้ำจึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือเนื่องจากคนเกิดมา "ไม่เท่ากัน" จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พันกันไปมา
ดร.จุฑารัตน์ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีราคาแพงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
"จากฐานคติที่ว่า "ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่าย" ซึ่งเป็นการใช้ฐานคติเดียวกับการขึ้นทางด่วน ที่ใครจะขึ้นทางด่วนก็ต้องจ่ายสตางค์" นั้นเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้บริการ โดยในกระบวนการยุติธรรม ถ้าท่านจะไปฟ้องคดีแพ่งท่านจะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมบริการ สมมติว่าคุณเดินไปในซอยแล้วถูกข่มขืน เสร็จแล้วคนที่ทำติดคุก แต่ท่านอยากจะฟ้องร้องค่าเสียหายเช่นในกรณีที่ถูกข่มขืนแล้วท้อง ต้องมีค่าเลี้ยงดูลูก ฯลฯ ถ้าจะไปเรียกร้องต้องฟ้องที่ศาลแพ่ง เขาจะคิดค่าธรรมเนียม เช่นถ้าจะร้องเรียกเงิน 5 ล้าน สมมติว่ามีค่าธรรมเนียม 5 แสนบาท ท่านก็จะต้องมีเงินไปจ่าย อ้าว ก็รัฐดูแลเราไม่ดี เราเดินไปในซอยแล้วถูกข่มขืน แล้วทำไมเรากลับกลายต้องหาเงินมาจ่าย"
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของโทษปรับ ที่ต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมมาก "เช่น ปรับ 2 แสนบาท ซึ่งสำหรับคนมีสตางค์แล้วอาจจะถือว่าพอจ่ายได้ แต่ถ้าเป็นซาเล้งหรือคนขายซีดีอยู่ตามถนนละ ซึ่งนี่มาจากวิธีคิดของกฏหมายที่ว่าคน เท่ากัน"
"แต่ในโลกของความเป็นจริงคนไม่ได้เท่ากัน คนมีชนชั้น เมื่อคนมันไม่เท่ากันอยู่แล้วแล้วไปสู้คดี คนที่ด้อยกว่าก็ไม่มีแต้มต่อพอที่จะไปสู้ได้ สิ่งที่เกิดตามมาคือ "ยอมรับสารภาพไปเถอะ ไม่ต้องสู้คดีหรอก เสียเงินเป็นแสนๆนะ" "
"ในเมื่อไม่ผิด แต่ว่าไม่อยากสู้คดีเพราะเสียเงินแพงกว่า จึงรับสารภาพ ซึ่งนี่เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และก็เป็นคำแนะนำของทนายความหรือ "ผู้รู้" ทั้งสิ้น"
ดร.จุฑารัตน์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศนั้นพบว่า จากคดีอาชญากรรมเป็นแสนๆคดีที่เกิดขึ้นในปี 2550 นั้น มีอาชญากรรมที่ถูกรายงานเพียงแค่ 34.8 % ในขณะที่อาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน (ตัวเลขมืด) มีอยู่ 65.2 % เพราะฉะนั้น อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงๆมันเยอะกว่านี้มาก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากความที่คนเบื่อหน่ายกระบวนการยุติธรรมที่มี ความล่าช้า
"อีกประการหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงคือ กระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนาน ทำให้มูลค่ามันสูงเกินจริง ไหนจะเงินเดือนผู้พิพากษา เงินเดือนอัยการ ตัวอย่างเช่นคดีฉ้อโกงคดีหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 แต่ต้องรออีก 17 ปีถัดมาศาลชั้นต้นถึงจะมีคำพิพากษา (ในปี พ.ศ. 2548) แล้วก็มีจำเลยที่ถูกขังตายไปเยอะแยะ ถามว่าเวลาที่ใช้ยาวนานขนาดนี้มันคุ้มไหม แล้วสังคมได้ประโยชน์อะไร"
ดร.จุฑารัตน์กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น การพิจารณาคดีบางอย่างต้องรวดเร็ว ต้องตัดสินโทษทันทีทันใด การรอเวลาทำให้ต้นทุนแพงขึ้น การรอวลาทำให้ "ต้องเลี้ยงข้าวคนในเรือนจำทุกๆวันตั้งกี่ปี กับคนตั้งกี่ร้อยกี่พันคน?"
"นอกจากนี้ พอมาถึงคุก คุกรับไม่ไหว เพราะคุกในเมืองไทยมีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับ 2 ของโลก คดีที่เยอะที่สุดคือคดียาเสพติด รองลงมาเป็นคดีหลบหนีเข้าเมือง อันดับสามคือคดีการพนัน ซึ่งทั้งสามประเภทนี้รวมกันใช้พื้นที่ของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักของ ประเทศไทยไปประมาณ 65.3 % แปลว่าอีก 35.7 % คือคดีอื่นๆที่สมควรทำ"
"ถ้าเมื่อไหร่กระบวนการยุติธรรมใช้พื้นที่หลักไปกับเรื่องที่ไม่ สมควรทำก่อจะก่อให้เกิดต้นทุน การแก้ปัญหาบางอย่างนั้น บางทีเราไม่ต้องแก้ที่กระบวนการยุติธรรม แต่แก้ตรงที่อื่น แล้วทำให้คดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมันลดลง"
ดร.จุฑารัตน์กล่าวต่อว่า ในเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม นั้น เหตุมาจากทั้งตัวบทกฏหมาย ทั้งการเลือกปฏิบัติ เช่นในจำนวนวงเงินเดียวกันนั้น สำหรับคนมีสตางค์กับคนไม่มีสตางค์มันต่างกัน การต่อสู้คดีต้องใช้เงินมหาศาล ต้องมีค่าทนาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของช่องว่างทางกฏหมาย ที่ผู้ที่รู้กฏหมายกับผู้ไม่รู้กฏหมายซึ่งตกเป็นเหยื่อ
"ในข้อหาเดียวกันนั้น มีโทษเป็นค่าปรับ 1 แสนบาท คนมีสตางค์จ่าย 1 แสนแล้วกลับบ้านไป ส่วนคนไม่มีสตางค์นั้นจะทำอย่างไร ก็สามารถใช้การกักขังแทนค่าปรับได้"
"เมื่อรถในการกระทำผิดถูกยึด ถ้าเป็นรถเบนซ์ ถ้ามีหลายคันคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรถซาเล้งที่ใช้ขนของแล้วถูกยึด หรือรถขายส้มตำละ ก็หมายความว่ารายได้ของคนนั้นจะขาดหายไป ซึ่งก็จะมีผลตามมาอีกมากมาย"
นอกจากนี้ เนื่องด้วยลักษณะของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้คนที่รู้ภาษากฏหมาย ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นคดีความก็ต้องไปจ้างทนาย ต้องเสียเงิน ซึ่งก็อยู่บนหลักที่ว่าใครอยากใช้บริการต้องจ่ายเงิน นอกจากนี้ ช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นมีช่องทางเดียวคืออยู่ที่รัฐ ซึ่งบางทีกระบวนการยุติธรรมของรัฐก็ไม่ได้อธิบายความยุติธรรมที่เป็นจริงใน สังคม
ท้ายนี้ ดร.จุฑารัตน์ได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายไว้เช่นว่า ควรมีการปรับปรุงระบบการลงโทษอาญาตามกฏหมาย ลดทอนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบยุติธรรมของคนยากจน เช่นการขยายโอกาสให้คนยากจนได้รับบริการทางกฏหมายจากทนายความมืออาชีหรือนัก กฏหมายของรัฐอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เสริมพลังความสามารถในการต่อสู้คดีแก่คนยากจน เช่นการให้อิสรภาพชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวที่เหมาะสม รวมทั้งกระบวนการที่เรียกว่า "พหุนิยมทางกฏหมาย"
"บางแนวคิดสามารถนำพหุนิยมทางกฏหมายมาใช้ได้ โดยใช้อธิบายเวลาที่มีการทับซ้อนของกฏหมาย 2 ชุดในพื้นที่เดียวกัน เช่นในประเทศที่เป็นมุสลิม ก็อาจมีกฏหมายเฉพาะอยู่ก่อนแล้ว แต่พอมีกฏหมายตะวันตก ก็เกิดการทับซ้อนกันขึ้น หรือในเมืองไทย ที่เรารับความคิดอาณานิคมมาเต็มๆ อย่างการรับชุดกฏหมายของตะวันตก ซึ่งทำให้บางทีกฏหมายนั้นไม่ยอมรับการมีอยู่ของกฏหมายจารีตประเพณีหรือ กฏหมายท้องถิ่น"
นอกจากนี้ เราอาจต้องมองถึง "กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งน่าจะนำมาใช้กับสถานการณ์พิเศษได้ โดยกระบวนการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้กันในประเทศที่มีความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งพอเอาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วมันตอบยากว่าใครผิด กระบวนการยุติธรรมแบบแบ่งแยกขาว-ดำ,ไม่ผิดก็ถูก อาจจะกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ประเทศแยกเป็นเสี่ยงๆ วิธีคิดของกระบวนการนี้ก็คือเพื่อให้สังคมเคลื่อนไปได้ แต่ไม่ได้เป็นการใช้เพื่อลดทอนกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก
นอกจากนี้ ดร.จุฑารัตน์ยังได้ฝากไว้ด้วยว่า กฏหมายเป็นสิ่งที่ "นิ่ง" (static) เป็นสิ่งที่อยู่เฉยๆ ในขณะที่สังคมมีลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น "การเอาสิ่งซึ่งมันไม่นิ่งไปอยู่ในสิ่งซึ่งมันนิ่งทำให้บางทีกฏหมายและสังคม ไม่ไปด้วยกัน" กฏหมายจึงต้องมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา