เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศาลอาญาระหว่างประเทศกระทบเขตอำนาจศาลไทยหรือไม่

โดย สราวุธ เบญจกุล

ปัจจุบันมีการกระทำที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศเกิดขึ้นในสังคมประชาคมโลกมากมาย เช่น เมื่อเกิดสงครามก็อาจมีการนำเอาเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไปเป็นทหารในกองกำลังและให้สู้รบในสงคราม การใช้กำลังทางทหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของพลเมืองที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การกักขังและลงโทษบุคคลที่มีแนวความคิดตรงกันข้ามกับกลุ่มพวกพ้องของตนอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งการค้ามนุษย์ ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้มีลักษณะเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นสากล และยังถือเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

จากแนวคิดดังกล่าว ที่ประชุมทางการทูตขององค์การสหประชาชาติ (UN Diplomatic Conference) จึงได้มีข้อสรุปให้ใช้ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นมา หลังจากมีการให้สัตยาบันของ 60 ประเทศ ในขณะนี้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีรัฐที่เป็นภาคีสมาชิกทั้งหมด 116 รัฐ โดยมี 15 รัฐมาจากภาคพื้นทวีปเอเชีย ในส่วนของประเทศไทยได้มีการลงนามรับรองในธรรมนูญกรุงโรมฯ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการให้สัตยาบัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ถูกจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญกรุงโรมฯ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้จากสถิติที่ปรากฏตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2545 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับคำร้องขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องมากกว่า 8,733 คำร้อง จาก140 ประเทศ โดยคำร้องส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันนี รัสเซีย และฝรั่งเศส

ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีโดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นในรัฐภาคี และรัฐอื่นที่ยอมรับอำนาจของศาล และมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล และมีอำนาจไต่สวน ดำเนินคดี และพิพากษาคดีบุคคลได้ แต่มีข้อจำกัดคือ สามารถพิจารณาเฉพาะอาชญากรรมที่กำหนดไว้ใน ธรรมนูญกรุงโรมฯ อันได้แก่

1. อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธ์ (The Crime of Genocide)
2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity)
3. อาชญากรรมสงคราม (War Crimes)
4. อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (The Crime of Aggression)

ในปัจจุบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ มีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 คดี เกี่ยวข้องกับประเทศอูกานดา ประเทศคองโก ประเทศแอฟริกากลาง ประเทศซูดาน ประเทศเคนยา และประเทศลิเบีย จะเห็นได้ว่าบางประเทศอาจไม่ใช่ประเทศที่มีสถานะเป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็สามารถมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ ตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญกรุงโรมฯ มาตรา 13 ให้มีการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ได้ 3 กรณี

1. รัฐภาคีเป็นผู้เสนอคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่กรณีของ ประเทศอูกานดา ประเทศคองโก และประเทศแอฟริกากลาง

2. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Nations Security Council) เป็นผู้เสนอคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่กรณีของประเทศซูดาน ที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคี และกรณีของประเทศลิเบียซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเสนอคดีต่ออัยการให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554

3. อัยการเป็นผู้เสนอคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่กรณีของประเทศเคนยาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 โดย องค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีเบื้องต้น (Pre-Trial Chamber II) ได้อนุญาตให้อัยการดำเนินการสืบสวน สอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดี

นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพิจารณาว่าจะรับคดีที่มีการร้องขอไว้พิจารณาหรือไม่ โดยอาศัยหลักที่เรียกว่า “หลักการเสริมเขตอำนาจศาลภายในของรัฐ” (Principle of Complementarity) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมเขตอำนาจศาลทางอาญาของรัฐ ในกรณีที่รัฐไม่สามารถดำเนินคดีได้ หรือไม่สามารถดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากหลักการเช่นว่านี้เองทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถเข้ามามีส่วนสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในการคุ้มครองผู้ถูกคุกคามตามความผิดที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญกรุงโรมฯ โดยมิได้เข้าไปก้าวก่ายเขตอำนาจศาลภายในประเทศ เพียงแต่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและช่วยแก้ไขปัญหา ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ธรรมนูญกรุงโรมฯ มาตรา 17 จึงได้บัญญัติให้มีเงื่อนไขในการรับคำร้องขอนำคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ โดยมีสาระสำคัญในกรณีที่ศาลจะไม่รับคดีไว้พิจารณาหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า

1. คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายในรัฐภาคีที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น เว้นแต่รัฐนั้นจะไม่สมัครใจ หรือไม่มีความสามารถในการสืบสวน สอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้อย่างแท้จริง

2. คดีนั้นมีการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายในรัฐที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นแล้ว และรัฐตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่การตัดสินใจนั้นเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สมัครใจ หรือไม่มีความสามารถในการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้อย่างแท้จริง

3. บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ถูกดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องนั้นแล้ว และการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นไม่อาจถือว่ายอมรับได้ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นในศาลอื่นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลที่เกี่ยวข้องจากความรับผิดทางอาญา หรือการพิจารณาคดีนั้นปราศจากความเป็นอิสระหรือเป็นกลาง

4. คดีนั้นไม่มีสาระเพียงพอที่ ศาลอาญาระหว่างประเ ทศจะยกขึ้นมาวินิจฉัย
นอกจากนี้ ธรรมนูญกรุงโรมฯยังได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมถึงการพิจารณากรณีของข้อยกเว้นในเรื่องของ “ความสมัครใจ” ที่จะสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด โดยศาลต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีลักษณะเป็นการกระทำดังต่อไปนี้หรือไม่

1. การดำเนินกระบวนพิจารณาและการตัดสินคดีในรัฐมีขึ้นเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องพ้นจากความรับผิดทางอาญา
2. มีความล่าช้าเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3. การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนั้น ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลาง อีกทั้งปรากฏว่ามีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สำหรับการพิจารณาถึงกรณีที่รัฐ “ขาดความสามารถ” ในการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดนั้น ธรรมนูญกรุงโรมฯบัญญัติให้ศาลต้องพิจารณาถึง ความสามารถของรัฐภาคีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐาน รวมถึงความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมของรัฐนั้นด้วย

จากบทบัญญัติของธรรมนูญกรุงโรมฯที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อมนุษยชาติ และกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้น เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงบางประเภท และสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล ไม่ว่าการกระทำนั้นๆ จะเป็นการกระทำส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ หรือว่าการกระทำนั้นจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคล หรือคณะบุคคลที่ต่อสู้ ต่อต้าน หรือเป็นขบถ หรือมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือระบอบการปกครองที่ครองอำนาจรัฐอยู่

ในขณะเดียวกันธรรมนูญกรุงโรมฯฉบับนี้ ก็ยังมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เห็นว่า รัฐทุกรัฐมีหน้าที่ที่จะใช้เขตอำนาจในทางอาญาของตนต่อบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศมีสถานะเป็นเพียงศาลที่ “เสริมเขตอำนาจในทางอาญาของรัฐ” ในกรณีที่รัฐไม่สามารถที่จะดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่ร้ายแรงเหล่านี้ขึ้นอีก ประเทศไทยเองก็ได้มีการลงนามรับรองสนธิสัญญานี้ไว้ตั้งแต่ต้น

ดังนั้นหากมีการแสดงเจตนาเพื่อให้สัตยาบันกับธรรมนูญกรุงโรมฯฉบับนี้ ประเทศไทยก็ไม่ได้สูญเสียเขตอำนาจในทางอาญาของรัฐแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังแสดงถึงความเชื่อมั่นและความตั้งใจจริงของประเทศในการที่จะร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

( เรื่อง สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา