เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตย กับ "กฎอนิจจลักษณะ"

'ปรีดี พนมยงค์' กับ 'ความเป็นอนิจจังของสังคม'

     สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง สสารวัตถุที่ประกอบขึ้นโดยพลังของธรรมชาติ หรือโดยพลังของมนุษย์ ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าอาจเห็นว่าไม่เคลื่อนไหวนั้นความจริงมีการเคลื่อนไหว ภายในตัวของสิ่งนั้นๆคือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงจากความเป็นสิ่งใหม่ไปสู่ความเป็นสิ่งเก่า
     พืชพันธ์ รุกขชาติ และสัตว์ชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่ อาจเติบโตได้อีกต่อไปแล้ว ก็ดำเนินสู่ความเสื่อม และสลายในที่สุด

     ชีวิตย่อมมี ด้านบวก กับด้านลบ มีส่วนที่เกิดใหม่ ซึ่งเจริญงอกงาม กับส่วนเก่าที่เสื่อม ซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ความสลายดับ ด้านบวกหรือด้านลบ หรือ สิ่งใหม่กับสิ่งเก่าย่อมโต้อยู่ภายในของชีวิตนั้นเอง ซึ่งทำให้ชีวิตมีการเคลื่อนไหว

ผ่าม็อบเสื้อแดง แฝง "สงครามชนชั้น"

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 มีนาคม 2553 ; การเมือง บทวิเคราะห์ ; กรุงเทพธุรกิจ

เผยปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยวันนี้ จะเรียกว่า "สงครามชนชั้น"มีทั้งใช่และไม่ใช่ เนื่องจากมีหลายเงื่อนไข หลากปัจจัยที่ทับซ้อนกันอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะหากตกผนึกว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ มาจากปัญหาทางชนชั้นด้วย ย่อเป็นโจทย์ใหญ่ให้ "รัฐไทย" ต้องคิดหาทางออกให้มากกว่าข้อสรุปว่าเป็น "ม็อบเติมเงิน"


“สงครามชนชั้น” มีการตั้งคำถามกันมากว่าความขัดแย้งของคนในสังคมที่ดำรงอยู่ในวันนี้ เป็นความขั้นแย้งทางชนชั้นอย่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการยื่นข้อเสนอให้ รัฐบาล "ยุบสภา"

อย่างไรก็ตามในแง่ ของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยอมรับเพียงว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เห็นทิศทางที่จะนำไปสู่สงครามชนชั้น ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มแกนนำยกขึ้นมา "หวังผลประโยชน์ให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล" ขณะที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี มองว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชูว่า เป็นสงครามการแบ่งแยกชนชั้นนั้น ถือเป็นเรื่องน่ากังวลมาก ซึ่งมีคนพยายามทำให้การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงครั้งนี้ เป็นสงครามชนชั้น เพราะเป็นวิธีที่จะยั่วยุจูงใจให้ชาวบ้านเกิดความฮึกเหิม

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตุลาการภิวัฒน์ - ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

บทสัมภาษณ์ ดร.วรเจตน์  ภาคีรัตน์
สัมภาษณ์โดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ; ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ประชาไท

     ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมาตลอด 2 ปี อำนาจตุลาการได้มีบทบาทสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กระทั่งมีนักวิชาการออกมาชื่นชม และเรียกขานอำนาจตุลาการในยุคนี้ว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’

     การที่ศาลกลายเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง การที่กฎหมายถูกกำหนดขึ้น ถูกใช้ ถูกตีความท่ามกลางคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ที่พุ่งตรงไปในระดับหลักการอย่างมากมาย คนใช้กฎหมายกับการเมืองแนบชิดกันอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นโดยไม่เคอะเขินและได้รับแรงสนับสนุนจากสังคม ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อหลักนิติรัฐ และทำให้อำนาจตุลาการ ได้ หรือ เสีย อะไรไปบ้างระหว่างทาง

     "ประชาไท" พูดคุยกับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องตุลาการภิวัตน์นี้ เป็นตอนต่อหลังจากคุยเรื่องปัญหาของประชาธิปไตยไปแล้วในตอนแรก นับเป็นการสำรวจตรวจตราและวิพากษ์แวดวงของตัวเองอย่างเผ็ดร้อน...ด้วยความเคารพต่อศาล

“เราใช้ต้นทุนต่างๆ มาเยอะในช่วงปีกว่าๆ
อำนาจ พลัง บารมี ในหลายๆ เรื่อง แล้วมันสึกหรอไปหมด
วันนี้ต้นทุนทางสังคมของชนชั้นนำจำนวนมากก็ใช้ไปเกือบหมดแล้ว
แม้แต่ศาลตั้งแต่คุณให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ตั้งแต่คุณไม่ให้ประกันตัว กกต.
หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นตุลาการภิวัตน์
แต่ผมมองในทางกลับกันว่า
อีกด้านหนึ่งมันกัดเซาะตัวระบบโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้”

“(ตุลาการภิวัตน์-judicial review) มันมีหลักอยู่ว่า
การที่เราใช้อำนาจตุลาการเข้าไปควบคุม ตรวจสอบอำนาจพวกนี้
ฝ่ายศาลเองต้องระวังและสำรวมการใช้อำนาจด้วย
หมายความว่า ศาลต้องเห็นประเด็นกฎหมายที่อยู่ในบรรดาปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นกฎหมายในปัญหาทางการเมือง ซึ่งมันยุ่งยากซับซ้อนมาก
ศาลจะต้องดึงเอาประเด็นทางกฎหมายออกมาแล้วทำให้เป็นประเด็นที่มันชัด
แล้วตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมายศาลต้องระวังไม่ไปแสดงออกซึ่งเจตจำนงของการเมืองแทนองค์กรอื่น”

“ในบางปัญหาที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
เป็นเรื่องคุณค่า เป็นเรื่องโลกทัศน์ มีความเป็นนามธรรมสูง
จึงเป็นปัญหาการตีความ
เรื่องนี้ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีดุลพินิจระดับหนึ่ง
แต่เราก็ยอมรับตรงกันว่าไอ้การมีดุลพินิจในการตีความรัฐธรรมนูญ
ไม่ใช่เรื่องที่ให้ศาลมีเจตจำนงทางการเมืองเสียเอง
ถ้าคุณแสดงเจตจำนงทางการเมืองเสียเอง
องค์กรอื่นก็จะไม่เคารพคุณในที่สุด”

“ตุลาการภิวัตน์มันเกิดขึ้นในบริบทที่เรากำลังต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองอย่างแหลมคม
ตั้งแต่ปี 48 เรื่อยมาจนถึงปี 49 ที่หนักหน่วงที่สุด
การนำเสนอตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาในระบบนี้
แน่นอน ผู้นำเสนอต้องการบอกให้เอาศาลเข้ามาจัดการแก้ปัญหาตรงนี้
โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องข้อจำกัดของศาล”

“ผู้พิพากษาของศาลออกมาจากกระบวนยุติธรรม
คุณเข้าไปทำงานในทางบริหารภายใต้การนำของรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจ
ส่งคนออกไปในหน่วยงานอื่น โดยเชื่อว่าคนที่มาจากศาลนั้นเป็นคนดีกว่าคนที่อยู่ในหน่วยงานอื่นทำไมเราถึงคิดอย่างนั้น...
ทุกวงการมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน
แล้วคนดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรที่ถูกต้องเสมอ
คนดีกับความถูกต้องมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
มันอาจจะเป็นคนละเรื่องก็ได้ในบางสถานการณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องในทางการเมืองที่มีความสลับซับซ้อน”

“เมื่อคุณอ้างว่าคุณเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว
ในด้านหนึ่งคุณก็มีความคิด ความฝัน ความเชื่อของคุณ
แต่มันมีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีความคิด ความเชื่อ ความฝันไม่ตรงกับคุณ
อย่างผมอาจมีความคิด ความฝัน ความเชื่อ ไม่ตรงกับคนซึ่งเป็นคนดีมีคุณธรรม
หรืออ้างตัวเองเป็นคนดีมีคุณธรรมถามว่าถ้าอย่างนั้น ผมเป็นคนเลวใช่ไหมครับ
ที่สุดแล้วหลักแบบนี้มันใช้ไม่ได้”

“เมื่อคุณใช้บรรทัดฐานทางกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำและมีสภาพบังคับทางภายนอก
มันเรียกร้องเหตุผล พอเรียกร้องเหตุผล คุณต้องให้เหตุผลได้ถ้าเอาคุณธรรมมาอ้างเฉยๆ มันก็ไม่ต้องให้เหตุผลกันมันก็ปิดปากคนอื่นหมด”

“ไม่เฉพาะวงวิชาการนิติศาสตร์อย่างเดียว
แต่ทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งหมด
ช่วงที่ผ่านมานี้เราตกต่ำมาก อาจจะมากที่สุดในทางวิชาการ
เราไม่สามารถเป็นหลักให้สังคมได้
‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงในภาพรวม
เหตุก็เพราะว่าเราไป ‘เล่น’
พวกเราออกไปเล่น ไม่ได้เป็นคนซึ่งบอกสังคม
แต่ออกไปเป็นผู้เล่นเอง ซึ่งก็กลายเป็นนักการเมืองเท่านั้นเอง”


Q: การยึดถือหรือการใช้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่หลังความขัดแย้งการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่างเคร่งครัด จะแก้ปัญหาที่เกิดอยู่ได้ไหม จะเอาสังคมไทยอยู่ไหม ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายนั้นมีเนื้อความอย่างไร และกฎหมายนั้นอยู่ในมือใคร ใครใช้และตีความ
A: ผมเคยไปอภิปรายเมื่อไม่นานนี้ แล้วมีคนถามว่า ถ้ามีการใช้กลไกทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมจนรับกันไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ผมบอกว่าถ้าคำถามนี้เกิดขึ้น นั่นไม่ได้เป็นคำถามในทางกฎหมายแล้ว พลังทางกฎหมายมันหมดแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่อง ‘กำลัง’
     ที่เราใช้กฎหมาย ยอมเป็นทาสกฎหมายก็เพื่อเราจะได้มีเสรี ภายใต้กรอบของกฎหมายมันมีกติกาขั้นต่ำในการอยู่ร่วมกัน มันอาจมีบางเรื่องไม่ยุติธรรมบ้างนิดหน่อย แต่เพื่อสันติสุขของสังคมเรายอมได้เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าถึงขั้นอยุติธรรมอย่างรุนแรง เป็นความอยุติธรรมที่คนรับกันไม่ได้ในระดับสามัญสำนึก พลังทางกฎหมายก็จะหมดความหมายลง ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็จะไม่มี สายใยสุดท้ายที่จะยึดโยงคนกับกฎหมายก็หมดลง ดังนั้นก็ไม่ต้องมาพูดกันในทางกฎหมาย พันธกิจในทางกฎหมายในฐานะนักนิติศาสตร์ก็หมดลงด้วย เพราะมันเป็นเรื่องที่เลยไปแล้ว มันเป็น meta legal กลายเป็นเรื่องการใช้กำลัง เป็นเรื่องการต่อสู้ในความเป็นจริง สงครามกลางเมืองอาจจะเกิด ฯลฯ หลังจากไม่ยอมรับกฎหมายกันแล้ว

Q: แล้วทุกวันนี้ เนื้อหาของกฎหมายเป็นยังไง โดยเฉพาะกฎหมายสูงสุด
A: ผมว่าเนื้อความของกฎหมายมีปัญหาแล้วในหลายเรื่อง ก็เหลือแต่คนใช้ คุณจะใช้กฎหมายในลักษณะที่เป็นธรรมไหม

     ที่ผ่านมา เราใช้ต้นทุนต่างๆ มาเยอะในช่วงปีกว่าๆ อำนาจ พลัง บารมี ในหลายๆ เรื่องเข้ามาแล้วมันสึกหรอไปหมด วันนี้ต้นทุนทางสังคมของชนชั้นนำจำนวนมากก็ใช้ไปเกือบหมดแล้ว แม้แต่ศาล ตั้งแต่คุณให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตั้งแต่คุณไม่ให้ประกันตัว กกต. หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ผมมองในทางกลับกันว่าอีกด้านหนึ่งมันกัดเซาะตัวระบบโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้ แต่ผมตอบไม่ได้ว่าการกัดเซาะแบบนี้มันจะนานเท่าไรถึงจะทำลายตัวโครงกฎหมายทั้งโครง

Q: มองแบบซาดิสต์ ก็เป็นเรื่องที่ดีใช่ไหม การกัดเซาะบารมีของศาลอาจทำให้ระบบแข็งแรงขึ้น
A: มันมองได้ 2 อย่างแล้วแต่ว่ามองอย่างไร อย่างหนึ่งคือก่อนจะไปถึงจุดที่ดีอาจจะต้องให้มันเละเสียก่อนแล้วล้างทีเดียว แต่ปัญหาคือเราประเมินความพินาศและความเสียหายไม่ได้ เราประเมินความทุกข์ของคนไม่ได้ ผมถึงเข้าใจหลายคนที่ผ่านเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ผมไม่เคยผ่าน ผมเคยผ่านแค่เหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 35 เขาจึงไม่อยากให้มันเกิด พยายามประคับประคองมันไป มันเป็นเรื่องอนาคตทั้งสิ้น ผมก็ประเมินไม่ได้

     แต่ที่ผ่านมา นักกฎหมายก็ไม่เห็นทำอะไรในการพยายามตรวจสอบการใช้อำนาจศาล นักวิชาการด้านอื่นๆ ยิ่งไปกันใหญ่ เรียกขานกันเลยว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’
ก็จริง อำนาจตุลาการถือเป็นอำนาจที่ 3 ในระบอบประชาธิปไตย เขาบอกว่ามันเป็นอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจที่ active ศาลเริ่มการเองไม่ได้ ที่ไหนไม่มีการฟ้องคดีที่นั่นไม่มีการพิพากษา แต่เราก็รับรู้เหมือนกันในมุมหนึ่งว่าอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดอาจเป็นอันตรายมากที่สุดได้ถ้ามันเริ่ม active หรือขยายหรือก้าวล่วงไปสู่อำนาจอื่น

พณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร  สุนทรเวช
ให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีจัดรายการ "ชิมไป..บ่นไป"

     ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราอาจไม่ได้ไปมองศาล วงการกฎหมายเองก็คงไม่ได้มองระบบต่างๆ มองในแง่ดีมันทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์อะไรได้มากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในช่วงที่มีปัญหา มันจะเสียอะไรไปบ้าง

     ปัญหาคือโดยพลังที่อำนาจตุลาการมีแต่เดิม มันทำให้คนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และในบ้านเราก็มีกฎหมายบังคับอยู่ จริงๆ การมีกฎหมายคุ้มครองอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องแปลก มันต้องมีความคุ้มครองคนทำงาน แต่ปัญหาคือความพอดีซึ่งขาดมากในบ้านเรา เมื่อไม่พอเหมาะพอประมาณ มันก็คือการกดขี่ในอีกด้านหนึ่ง ทำให้พูดไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี่แหละที่ยุ่งยาก ใครจะเอากระดิ่งไปผูกคอแมว
แต่เอาเข้าจริง มันก็มีความเปลี่ยนแปลง สังคมมีวิวัฒนาการ อะไรที่ถูกตั้งคำถามมันก็จะถูกถามมากขึ้น ผมเชื่อในดุลยภาพของสังคม อะไรที่เกินเลยไปจะต้องถูกดึงกลับมา แต่จะใช้เวลาแค่ไหนเท่านั้นเอง

Q: นักกฎหมายจะดึงกันเองไหม หรือใครจะเป็นคนดึง
A: ผมยอมรับว่าวงการนิติศาสตร์ของเราอ่อนแอเกินไปที่จะดึงหรือรั้งระบบ มันเกิดมานานแล้วและสั่งสมเรื่อยมา จึงหวังพึ่งยาก คงต้องใช้ภาคอื่นๆ เข้ามา แต่ก็ต้องมีความพอเหมาะของมัน ไม่เข้ามามากเกินไป เพราะจะทำลายตัวระบบอีก แต่ไม่เข้ามาเลยนักกฎหมายก็ว่ากันไป และบางเรื่องก็ไร้เหตุผลด้วย ถึงที่สุดก็คงต้องช่วยกันในการเข้ามาดู

     ความเห็นผม ไม่เฉพาะวงวิชาการนิติศาสตร์อย่างเดียว แต่ทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งหมด ช่วงที่ผ่านมานี้เราตกต่ำมาก อาจจะมากที่สุดในทางวิชาการ เราไม่สามารถเป็นหลักให้สังคมได้ ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงในภาพรวม เหตุก็เพราะว่าเราไป ‘เล่น’ พวกเราออกไปเล่น ไม่ได้เป็นคนซึ่งบอกสังคม แต่ออกไปเป็นผู้เล่นเอง ซึ่งก็กลายเป็นนักการเมืองเท่านั้นเอง

Q: จะเกิดขึ้นเหมือนช่วงรัฐธรรมนูญ 40 ได้ไหม ที่มีความพยายามลดทอนอำนาจศาลลงบ้าง เช่น คดีการเมืองก็ดึงออกมา คดีปกครองก็ดึงออกมา ในทางสังคมวิทยากฎหมาย ปรากฏการณ์ของรัฐธรรมนูญ 40 ที่ไปจำกัดอำนาจศาลที่มหึมาขนาดนั้นได้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
A: การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 40 เป็นปรากฏการณ์พิเศษ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยอย่างอื่นด้วย ถ้าเป็นปรากฏการณ์ปกติมันอาจเกิดไม่ได้ รัฐธรรมนูญ 40 มีข้อตำหนิหลายจุด แต่ถ้าเทียบกับ 50 ก็ดีกว่าในหลายเรื่อง

     รัฐธรรมนูญปี 40 เกิดหลังจากที่เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 35 มา และมีวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจอีกในปี 40 การสูญเสียเหล่านี้ทั้งทางชีวิต ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยบวกให้ผลักรัฐธรรมนูญ 40 ได้ โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย

     สังเกตดูรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาที่พอใช้ได้จะเกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตการณ์ใหญ่ ไม่นับรัฐธรรมนูญปี 2489 ซึ่งผมเห็นว่าดีที่สุด และเกิดการเปลี่ยนผ่านโดยชนชั้นนำ นำโดยท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ กำหนดให้ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม แต่มันไม่ได้ถูกใช้ ถ้ารัฐธรรมนูญ 2489 ได้ใช้ป่านนี้เราคงไปไกล เหตุผลที่ไม่ได้ใช้เพราะหลังประกาศใช้ได้ไม่ถึงเดือนก็เกิดการสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล แล้วก็ตามมาด้วยการยึดอำนาจของจอมพลผิณ ชุณหะวัณ แล้วหลังจากนั้นจึงเกิดวงจรนี้ตลอด

     ลองดูอีก 2 ฉบับที่พอใช้ได้คือ รัฐธรรมนูญปี 2517 กับ 2540 ก็ล้วนเกิดตามหลังวิกฤตการณ์ แปลว่ามันต้องสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเราถึงจะเกิดอย่างนั้นมา แต่ผมก็ไม่อยากให้เกิดอย่างนั้น


     ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใครก็คงคิดเห็นว่าต้องแก้ ต่างกันที่จะแก้มากแก้น้อย หรือจะเอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ แต่กระบวนการที่จะไปถึงตรงนั้นเป็นอย่างไร ผมก็ยังประเมินไม่ถูก

Q: จริงๆ เรื่อง ‘ตุลาการภิวัตน์’ ในวงสิ่งแวดล้อมมีการพูดกันก่อนจะถูกพูดถึงในทางการเมือง และมีความหมายในเชิงบวก ในแง่ที่ศาลจะพิจารณากฎหมายอย่างมีมิติ คำนึงสิทธิของชาวบ้าน สิทธิชุมชนมากขึ้น
A: ที่จริง การแปลคำนี้ไม่ดี คำว่า “ภิวัฒน์” มาจาก “อภิวัฒน์” มันบ่งชี้ไปในเชิงอำนาจของศาลที่ขยายออกไป จริงๆ แล้ว ตุลาภิวัฒน์ ถ้าไปดูรากฐานที่มาในภาษาอังกฤษ เรียกว่า judicial review คือการที่ฝ่ายศาลหรือฝ่ายตุลาการ ใช้อำนาจในทางตุลาการไปทบทวน ตรวจสอบการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ และทางบริหารหรือทางปกครอง

     มันคือการเข้าตรวจสอบว่าการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภาว่าอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไหม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานอันหนึ่งของนิติรัฐ หรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ที่ถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

     จริงๆ เรื่องนี้มีการถกเถียงกันอยู่ในโลกของกฎหมายมหาชนว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจเข้าไปทบทวนการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติไหม เพราะผู้แทนราษฎรเขาสูงสุดแล้วเพราะมาจากปวงชน

     ในบางประเทศไม่ให้อำนาจแบบนี้กับศาล เช่น ในอังกฤษ ที่ถือหลัก supremacy of the parliament หรือหลักที่ว่าสภามีอำนาจสูงสุด เพราะฉะนั้นเมื่อสภาออกกฎหมายมา คนก็ต้องปฏิบัติตาม มันไม่มีกรณีกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะว่าอังกฤษไม่มีลายลักษณ์อักษร

     แต่ในอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ judicial review รวมถึงภาคพื้นยุโรปที่พัฒนามาอีกทิศทางหนึ่งแต่โดยคอนเซ็ปท์คล้ายกัน เขาจะมองว่า หลักประชาธิปไตยต้องถูกกำกับโดยนิติรัฐด้วย สองเสาหลักนี้เป็นเสาหลักในการค้ำยันประเทศเอาไว้ เพราะถ้าคุณปล่อยให้ผู้แทนราษฎรออกกฎหมายยังไงก็ได้ โดยไม่มีใครเหนี่ยวรั้งเลย อันตรายก็จะเกิด ประเทศที่เจอกับปัญหานี้ชัดเจนคือ เยอรมนี เยอรมนีจึงเกิดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วเขาก็ใช้อำนาจในทางตุลาการไปทบทวน

     อีกกรณีคือการทบทวนการใช้อำนาจในทางปกครอง คือกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองออกกฎ สั่งการไปกระทบสิทธิประชาชน หลักนิติรัฐก็เรียกร้องว่าเวลาที่พวกนี้ใช้อำนาจต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย เมื่อเขาใช้อำนาจล่วงกรอบของกฎหมาย ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบว่าการใช้อำนาจนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็คือศาลปกครองนั่นเอง หรือในประเทศที่ไม่มีศาลปกครองก็ใช้ศาลยุติธรรมแทน

Q: หมายความว่าต้องสำรวมในการใช้อำนาจด้วย
A: ใช่ เพราะมันมีหลักอยู่ว่า การที่เราใช้อำนาจตุลาการเข้าไปควบคุม ตรวจสอบอำนาจพวกนี้ ฝ่ายศาลเองต้องระวังและสำรวมการใช้อำนาจ หมายความว่า ศาลต้องเห็นประเด็นกฎหมายที่อยู่ในบรรดาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นกฎหมายในปัญหาทางการเมือง ซึ่งมันยุ่งยากซับซ้อนมาก ศาลจะต้องดึงเอาประเด็นทางกฎหมายออกมาแล้วทำให้เป็นประเด็นที่มันชัด แล้วมีเหตุผลในทางกฎหมายเวลาที่ตัดสิน แล้วตัดสินบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย

     ศาลต้องระวังไม่ไปแสดงออกซึ่งเจตจำนงของการเมืองแทนองค์กรอื่น เช่น ถ้าจะไปวินิจฉัยว่า กฎหมายที่สภาตราขึ้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลต้องชี้ให้ได้ว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร แล้วมีเหตุผลรองรับ ไม่ใช่ศาลเห็นว่า ศาลไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ หรือเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เหมาะ แม้ว่าศาลเห็นเช่นนั้นจริงก็เอาเจตจำนงของตัวเองไปแทนที่เจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ ศาลไม่มีอำนาจ ถ้าศาลทำอย่างนั้นเท่ากับว่าศาลทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ

     ปัญหามีอยู่แต่เพียงว่า ในบางปัญหาที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องคุณค่า เป็นเรื่องโลกทัศน์ ถ้อยคำ abstract มีความเป็นนามธรรมสูงจึงเป็นปัญหาการตีความ เรื่องนี้จึงทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีดุลพินิจระดับหนึ่ง แต่เราก็ยอมรับตรงกันว่าไอ้การมีดุลพินิจในการตีความรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่ให้ศาลมีเจตจำนงทางการเมืองเสียเอง คือที่สุดคุณก็ต้องตีความผูกพันกับตัวรัฐธรรมนูญนั่นแหละ เพราะถ้าคุณแสดงเจตจำนงทางการเมืองเสียเอง องค์กรอื่นก็จะไม่เคารพคุณในที่สุด ศาลถึงต้องระวัง

     ด้วยเหตุนี้เวลาศาลตัดสินคดีพวกนี้ไป ฝ่ายวิชาการจึงคอยตามดู คอยตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ว่า อันนี้ศาลออกมามากไปแล้ว คุณก้าวล่วงเข้าไปแสดงเจตจำนงทางการเมืองแทนนิติบัญญัติ ไม่ได้อยู่ในการตัดสินตามในหลักในทางกฎหมาย หรือศาลปกครองก็เหมือนกัน เวลาใช้เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครอง ก็ต้องเห็นประเด็นของกฎหมายในงานบริหารราชการแผ่นดิน

     คนที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกับคนที่เป็นตุลาการศาลปกครองมีบทบาทไม่เหมือนกันพวกผู้ว่าฯ ต้องคิดอะไรไปข้างหน้า สร้างฐานอะไรต่างๆ บริหารงาน สร้างความผาสุก ความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชน มีเรื่องในทางนโยบาย ส่วนศาล ตุลาการศาลปกครอง ตรวจสอบว่าผู้ว่าฯ ใช้อำนาจในกรอบของกฎหมายรึเปล่า ภายในกรอบของกฎหมายถ้ามันอาจจะไม่เหมาะ ไม่ควร มันไม่ใช่เรื่องของศาล แต่มันเป็นเรื่องซึ่งสื่อมวลชนต้องมาตรวจสอบ เป็นเรื่องซึ่งฝ่ายการเมืองต้องลงมาดู เป็นเรื่องที่คุณต้องอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาต้องมาจัดการ ไม่ใช่เรื่องของศาล เพราะศาลไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง เพราะถ้าศาลทำอย่างนั้น จะทำให้เกิด ‘รัฐตุลาการ’ ขึ้น รัฐตุลาการ คือรัฐซึ่งตุลาการแสดงออกซึ่งเจตจำนงในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง คือผู้พิพากษาเป็นใหญ่ยิ่งกว่าอำนาจอื่นๆ ดุลของอำนาจมันก็จะเสีย

     ทีนี้ตุลาการภิวัตน์มันเกิดขึ้นในบริบทไหน มันเกิดขึ้นในบริบทที่เรากำลังต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองอย่างแหลมคม ตั้งแต่ปี 48 เรื่อยมา จนถึงปี 49 ที่หนักหน่วงที่สุด การนำเสนอตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาในระบบนี้ แน่นอน ผู้นำเสนอต้องการบอกให้เอาศาลเข้ามาจัดการแก้ปัญหาตรงนี้ โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องข้อจำกัดของศาล เพราะว่าเวลาศาลใช้อำนาจ เขาสั่งเองไม่ได้ ต้องทำผ่านคำพิพากษา และหลักของการทำคำพิพากษา คือ ต้องมีระบบวิธีพิจารณาที่ถูกต้อง มีการให้เหตุผลในคำพิพากษา

     คำพิพากษาที่ดีต้อง educate หรือให้การศึกษากับทั้งคู่ความและสาธารณะ การให้เหตุผลอย่างที่ผมพูดไปตั้งแต่ตอนต้นว่า คุณให้เหตุผลสั้นๆ ไม่ได้ เรื่องที่มันยิ่งสำคัญคุณต้องให้เหตุผลยาว และต้องชั่งน้ำหนักทุกด้าน

     คุณยอมบอกว่า การเลือกตั้งโมฆะ เพราะเหตุว่า กกต. จัดคูหาเลือกตั้งถูกหรือผิด หันคูหาเข้าผนัง เท่านี้ไม่ได้ แต่คุณต้องให้เหตุผลต่อไปว่า มันทำลายเจตจำนงประชาชนอย่างไร แล้วคะแนนเสียงที่ออกมามันไม่นับเป็นเจตจำนงของประชาชนด้วยเหตุอะไร การที่ศาลจะไปตัดสินแบบนี้ ศาลไปทำลายอำนาจของปวงชนหรือไม่ อำนาจอธิปไตยของปวงชนคืออะไร คุณต้องให้เหตุผลในเชิงหลักการทั้งหมด แล้วคุณถึงจะบอกว่าคุณจะตัดสิน


     แต่บ้านเราไม่ใช่ ปัญหาคือว่าเราบอกว่ามันมีปัญหาทางการเมืองนะ แล้วเรานึกอะไรไม่ออกก็บอกว่า เอาศาลเข้ามา แล้วพอบอกเอาศาลเข้ามา ทุกคนก็ โอ้โห ปรบมือยินดี

     แต่ผมถามว่าคนที่เสนออย่างนี้ คุณเห็นระบบตุลาการในประเทศแค่ไหน คุณเห็นข้อจำกัดของคนที่เป็นผู้พิพากษาในประเทศนี้แค่ไหน คุณเห็นกระบวนยุติธรรมที่ผ่านมาของประเทศนี้อย่างไร ก่อนที่คุณจะเสนอตรงนี้ แล้วหลักการเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร

     ลักษณะที่เป็นเรื่อง judicial review แล้วศาลตีความกฎหมายแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นมีแล้ว ศาลทำได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ที่อเมริกา ต้นศตวรรษที่ 20 หน่วยงานคือการรถไฟ เขาจัดการเดินรถไฟโดยการแยกโบกี้ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ คือคนผิวขาวขึ้นโบกี้หนึ่ง คนผิวดำขึ้นโบกี้หนึ่ง และห้ามปะปนกัน หมายความว่า คนที่อยู่บนโบกี้ผิวขาวมานั่งในโบกี้ผิวดำไม่ได้ และคนผิวดำก็ไปนั่งในโบกี้ผิวขาวไม่ได้ ต่อมามีการฟ้องคดีกันว่าการกระทำอย่างนี้ขัดกับหลักแห่งความเสมอภาค เป็นการเลือกปฏิบัติ ศาลฎีกาอเมริกาตัดสินว่าไม่เลือกปฏิบัติ แต่เป็นการแบ่งแยกอย่างเสมอภาค เขาเรียกว่า separate but equal คือแบ่งแยกอย่างเสมอภาค ศาลบอกว่าทำได้ไม่มีปัญหา

     อีกประมาณ 30 ปีต่อมา เกิดเรื่องขึ้นอีก คราวนี้เป็นเรื่องในมลรัฐหนึ่งซึ่งแยกโรงเรียนของคนผิวขาวกับคนผิวดำออกจากกัน มีการฟ้องคดีไปที่ศาลฎีกา ศาลก็มาทบทวนว่าคำพิพากษาที่เคยวางเอาไว้ในอดีต มันทำให้สังคมแยกผิวและอาจจะไม่สอดคล้องกับสปิริตของรัฐธรรมนูญในสังคมพหุลักษณ์แบบนั้น ไม่มีการแก้อะไรกฎหมายเลย แต่คราวนี้ศาลตีความก้าวหน้ามากขึ้น ศาลบอกว่าทำไม่ได้ มันฝ่าฝืนและขัดกับหลักแห่งความเสมอภาค การตีความนี้ทำให้ต่อมาสังคมมันแยกไม่ได้ ทำให้สังคมเกิดความหล่อหลอมกันมากขึ้น นี่คือการตีความของศาลที่ใช้เหตุผลเข้ามา แล้วบางอย่างมันผิด ศาลก็เปลี่ยนไปในทางที่มันถูกต้อง นี่ต่างหากที่ศาลทำผ่านการพิพากษาแล้วมีส่วนในการ shape สังคม ศาลทำอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ศาลออกมามีบทบาท

     ผู้พิพากษาของศาลออกมาจากกระบวนยุติธรรม คุณเข้าไปทำงานในทางบริหารภายใต้การนำของรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจ ส่งคนออกไปในหน่วยงานอื่น โดยเชื่อว่า คนที่มาจากศาลนั้นเป็นคนดีกว่าคนที่อยู่ในหน่วยงานอื่น ทำไมเราถึงคิดอย่างนั้น ทำไมไม่คิดว่าคนที่อยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นคนดีมีคุณธรรมเหมือนกับคนในตุลาการ คนของกรมสรรพากรที่เขาเก่งทำไมไม่คิดว่าเขาเป็นคนดี ผมไม่ได้บอกว่าศาลไม่ดี ผมรู้จักผู้พิพากษาหลายคน มีเพื่อนเป็นผู้พิพากษา มีลูกศิษย์เป็นผู้พิพากษา หลายคนเป็นคนดี มีคนมีความสามารถเยอะ แต่ในทุกวงการมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วคนดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรที่ถูกต้องเสมอ คนดีกับความถูกต้องมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันอาจจะเป็นคนละเรื่องก็ได้ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องในทางการเมืองที่มีความสลับซับซ้อน แล้วท่านผู้พิพากษาที่อยู่ระบบอย่างนี้ไม่คุ้นเคยหรอกกับไอ้ระบบการเมืองที่มันซับซ้อน

     ผมคิดว่าบางทีเราคิดอะไรกันง่ายไปนิดหนึ่ง พอนิติบัญญัติ บริหารมีปัญหา ก็เอาตุลาการเข้ามา ผมไม่ได้บอกว่าเอาเข้ามาไม่ได้ เขามีบทบาทของเขานั่นแหละ โดยระบบกฎหมายออกแบบแล้ว แต่เราลืมไปว่ามันมีความจำกัดอยู่ มีบางเรื่องที่เขาทำไม่ได้ เรื่องที่เขาทำจะต้องตอบคำถามได้หมด และบางทีมันมากเกินไป บางคนอาจกลายเป็นมีฝ่ายในทางการเมือง แล้วเมื่อศาลเข้ามาอย่างนี้ สอดคล้องกับทัศนคติทางการเมืองของตัว สอดคล้องกับพรรคการเมืองที่ตัวสนับสนุน สอดคล้องกับการต่อสู้กับศัตรูทางการเมืองของตัวก็สนับสนุน บนฐานของความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ แล้วก็สนับสนุนตรงนี้ไป ผมว่าอันนี้มันไม่ได้ในทางวิชาการ คุณต้องตัดตรงนี้ก่อน

     แต่ถ้าเกิดคุณจะทำแบบนั้นประกาศให้ชัดเลยง่ายสุด เหมือนกับคุณบอกว่า วันนี้ไม่เอาหลักการนะ ขอเวลา 6 เดือน ขออำนาจเด็ดขาด ยอมรับว่ามันผิดหลักการ ไม่ใช่เรื่องที่เรียนมา มันเบนหลักวิชาการของผม แต่เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติที่มันจะพังพินาศไปในวันนี้แล้ว บอกมาเลยครับ อย่างนั้นผมเข้าใจ ถึงผมไม่เห็นด้วย แต่ผมก็ยังนับถือได้ เคารพได้

Thomas Hobbes (5 April 1588 – 4 December 1679)
นักปรัชญาชาวอังกฤษ

     แต่ในด้านหนึ่งถือหลักวิชาเข้ามา แต่คุณก็มีความชอบความชังของคุณ อคติของคุณ แล้วก็เอาหลักวิชาของคุณไปใช้ โดยที่มันไม่ค่อยตรง มันถูกบิดไปแล้ว อันนี้ที่ผมรับไม่ได้ มันก็เหมือนกับที่คุณยึดอำนาจมาแล้วแต่ไม่ใช้อำนาจรัฐประหารเด็ดขาดแล้วบอกว่าจะใช้อำนาจจัดการกับเขาด้วยกฎหมาย อย่างนั้นก็ต้องอยู่ในหลักกฎหมายนะ เพราะเมื่อคุณอ้างอำนาจทางกฎหมาย แล้วคุณไม่อยู่ในหลักกฎหมาย คุณก็ทำลายกฎหมายไปด้วย ถ้าพูดถึงทางวิชาการก็คือคุณทำลายหลักการวิชาไปด้วย

ผมเห็นนักวิชาการบางคนเอาทฤษฎี จอห์น ล็อค (John Locke) มาสนับสนุนรัฐประหาร ผมตกใจมากเลย บังเอิญผมก็สอนนิติปรัชญาอยู่ด้วย เวลาที่เราสอน เราพูดถึงเรื่องทฤษฎีสัญญาประชาคม ทฤษฎีของโทมัส ฮ้อบ (Thomas Hobbes) ล็อค นั้นตรงข้ามกับฮ้อบส์ ฮ้อบส์บอกว่าผู้ปกครองเป็นทราชย์ ประชาชนก็ไม่มีสิทธิล้มล้างอำนาจผู้ปกครอง เพราะการยอมอยู่ภายใต้ทรราชย์ดีกว่าเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อคุณให้อำนาจผู้ปกครองไปแล้ว มันก็เกิดเป็นสัญญาสวามิภักดิ์ขึ้น แล้วเขาได้อำนาจไปโดยเด็ดขาด

ส่วนจอห์น ล็อค ซึ่งมีอิทธิพลยิ่งกับรัฐธรรมนูญอเมริกา เป็นบิดาของพวกเสรีประชาธิปไตยบอกว่าการให้อำนาจแก่ผู้ปกครองไปเพื่อปกครองให้เกิดความยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของสังคม ถ้าผู้ปกครองใช้อำนาจนั้นโดยกดขี่ข่มเหงราษฎร ทำลายสิทธิเสรีภาพของราษฎรแล้ว ราษฎรมีสิทธิรวมตัวกันแล้วปฏิวัติล้มล้างผู้ปกครอง แต่ผมไม่เคยเห็นจอห์น ล็อค บอกว่า ทหารสามารถอ้างราษฎรแล้วใช้กำลังรัฐประหารได้แบบที่บางท่านยกทฤษฎีของจอห์น ล็อคมาอ้าง อย่างนี้มันไม่ใช่ ในทางวิชาการเป็นเรื่องใหญ่นะ มันจะสอนหนังสือกันยังไง
     แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เขาอ้างศาสตร์ของอาจารย์ไปแล้วเรียบร้อย แล้วก็เคลือบด้วยเรื่องของคุณธรรม ศีลธรรม เรื่องนี้จะแยกแยะยังไง เพราะมันถูกผูกโยงกันไป แล้วความดีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

John Locke (29 August 1632 – 28 October 1704)
นักปรัชญาและนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ

     ตัวคุณธรรมนั้นดี มนุษย์ต้องมีคุณธรรม เราก็ยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องแยกระหว่างตัวคุณธรรมกับตัวคนซึ่งอ้างคุณธรรมซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เหมือนกับที่ผมพยายามจะแยกว่า คุณต้องแยกระหว่างพระเจ้าในศาสนาคริสต์กับศาสนจักรซึ่งอ้างพระเจ้ามาดำเนินการต่างๆ ในนามของพระเจ้า เพราะทั้งศาสนจักรในยุคสมัยกลางที่อ้างพระเจ้า และคนที่อ้างว่าตัวเองมีคุณธรรมในยุคสมัยแห่งเรา ก็ต่างจะอ้างเอาพระเจ้าหรือคุณธรรม มาใช้ในทางซึ่งเป็นประโยชน์กับตัว

     แน่นอน คนบางคนเป็นคนดีมีคุณธรรมก็ได้ แต่ถามว่าคนดีมีคุณธรรมทำอะไรไม่ผิดเลยเหรอ มันผิดกันได้ ปัญหาคือ เมื่อคุณอ้างว่าคุณเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว ในด้านหนึ่งคุณก็มีความคิด ความฝัน ความเชื่อของคุณ แต่มันมีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีความคิด ความเชื่อ ความฝันไม่ตรงกับคุณ อย่างผมอาจมีความคิด ความฝัน ความเชื่อ ไม่ตรงกับคนซึ่งเป็นคนดีมีคุณธรรม หรืออ้างตัวเองเป็นคนดีมีคุณธรรม ถามว่าถ้าอย่างนั้น ผมเป็นเลวใช่ไหมครับ ที่สุดแล้วหลักแบบนี้มันใช้ไม่ได้

     เหมือนเวลาที่บอกให้ประชาชนเลือกคนดีเวลาที่มีการเลือกตั้ง มันเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นเรื่องการเมือง การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ คนชั้นล่างก็ต้องเลือกคนที่มีผลประโยชนให้เขา ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงก็เหมือนกัน คุณเลือกคนที่คุณใกล้ชิด คุณมีผลประโยชน์เกี่ยวพัน มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วถามว่าทำไมคุณไม่ตำหนิชนชั้นสูงบ้าง แค่เพียงคุณอ้างว่าด้านนี้มีคุณธรรมเท่านั้นหรือ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะเข้าข้างอีกด้านหนึ่ง แต่ผมกำลังจะบอกว่า มันคือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งหมดเหมือนกัน ผมยังไม่เคยเห็นสถาบันไหนไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง

Q: อาจารย์พูดราวกับว่ากฎหมายไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการคิดเรื่องศีลธรรม
A: มันคิดครับ แรกเริ่มเดิมที กฎหมายเกิดขึ้นจากขนบธรรมเนียมประเพณี จารีต ศีลธรรม ในยุคแรกๆ มันหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณผิดผี คุณผิดศีลธรรมก็คือคุณผิดกฎหมาย ในเวลาต่อมาเมื่อสังคมเริ่มมีวิวัฒนาการและซับซ้อนมากขึ้น หลักคุณธรรมจริยธรรมบางอย่างไม่พอแล้ว เพราะเรื่องบางเรื่องไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีอย่างเดียว กฎจราจรไม่ใช่เรื่องที่คุณขับรถผิดเลนแล้วคุณเป็นคนเลว มันมีเรื่องเทคนิคบางอย่างเข้ามา ในตอนนี้จึงเกิดหลักกฎหมายบางอย่างขึ้นมา ซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศีลธรรมกับจารีตประเพณีเดิมอยู่บ้าง แต่บางอย่างก็มีเหตุผลในทางกฎหมายเข้าไปปรุงแต่ง

     กฎหมายมหาชนต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ใช้เทคนิคปรุงแต่งมากเพราะเป็นเรื่องในทางปกครอง เป็นเรื่องหลักการหลายหลัก ซึ่งเราพยายามสร้างหลักการบางอย่างขึ้นมา หลักที่คิดว่าเมื่อใช้แล้วสังคมอยู่กันได้อย่างสงบสุข กฎหมายกับศีลธรรม ณ วันนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันแล้ว แต่มันก็ไม่ได้แยกออกจากกัน มันมีส่วนซึ่งทับกันอยู่ มีส่วนซึ่งไม่ตรงกัน เพราะว่าถ้าตรงกันก็ไม่ต้องมีกฎหมาย คุณก็เอาศีลของพระพุทธเจ้าเป็นกฎหมายก็จบ มันบังคับไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับโดยสภาพภายนอก ศีลธรรมจริยธรรมมันบังคับโดยสภาพภายใน หรือว่าเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) ก็เหมือนกัน ถูกบังคับโดยแรงกดดันทางสังคม

     ในบางกรณีสภาพบังคับในทางศีลธรรมในทางสังคม อาจจะรุนแรงกว่าในทางกฎหมาย    ด้วยซ้ำไป ในบางช่วงบางเวลา คุณไม่ใส่เสื้อบางสีที่คนทั่วไปเขาใส่ สมมตินะครับ คุณได้รับแรงกดดันในทางสังคมหนักหน่วงกว่าในทางกฎหมาย ในทางกฎหมายคุณไม่ได้ผิดอะไรเลย เพราะฉะนั้นบรรทัดฐานในสังคมมันจึงมีหลายอย่าง แต่เมื่อคุณใช้บรรทัดฐานทางกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำและมีสภาพบังคับทางภายนอก มันเรียกร้องเหตุผล พอเรียกร้องเหตุผลคุณต้องให้เหตุผลได้ ถ้าเอาคุณธรรมมาอ้างเฉยๆ ก็ไม่ต้องให้เหตุผลกัน มันก็ปิดปากคนอื่นหมด เรื่องแบบนี้ซ้อนทับกันอยู่แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

Q: มองไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น หรือควรจะต้องทำอะไรก่อน ในฐานะคนเล็กๆ คนหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใยสถานการณ์บ้านเมือง
A: ตอบยากนะ เพราะแต่ละคนก็มีบทบาท มีข้อจำกัด ในส่วนของผมที่เป็นนักวิชาการก็จะทำต่อไปอย่างที่เคยทำ คือยืนยันหลักกฎหมายที่เห็นว่าถูกต้อง และไม่ใช่ผมคนเดียว ยังมีเพื่อนที่คิดเห็นคล้ายๆ กัน เห็นเรื่องอะไรที่เราคิดว่าสังคมควรรู้ก็จะบอก เราทำกันด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร ในฐานะที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เรามีพันธะ มีหน้าที่กับสังคมในระดับหนึ่ง แต่ก็ทำเท่าที่ทำได้

     แต่ถ้าถามว่า ในแง่ภาพรวมควรจะทำอะไรกัน …จริงๆ ผมไม่อยากจะบอกว่าเราต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมันน่าเบื่อ คือเราก็ทำๆ กันอย่างนี้มาหลายครั้งหลายหน แต่บังเอิญว่ามันเลี่ยงไม่ได้ ผมเบื่อหน่ายมากเลยกับการร่างแล้วแก้ ร่างแล้วแก้ ตอนที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มา มีคนบอกว่าต้องทำวิจัยแล้ว ผมบอกว่า เบื่อแล้ว เขียนกันมา รับเงินมา แล้วเดี๋ยวก็เขียนกันใหม่ แล้วก็รับวิจัย รับเงินใหม่

     อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่า ยังไม่เห็นทางอื่น ในช่วงถัดไป ตัวกลไกหรือกติกาคงต้องปรับเปลี่ยน เลี่ยงไม่พ้น แล้วเมื่อรัฐบาลไหนเข้ามา ไม่ว่าประชาธิปัตย์ หรือพลังประชาชนเป็นรัฐบาล เขาคงต้องโฟกัสไปที่รัฐธรรมนูญ หลักการมันมีปัญหา และปัญหาทางปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกเยอะหลังใช้รัฐธรรมนูญ วันนี้มีเรื่องหลายเรื่องที่อธิบายอะไรแทบจะไม่ได้เลย สอนหนังสือยาก สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ สอนกฎหมายมหาชน บนพื้นฐานของกติกาที่ทำกันขึ้นมาแบบนี้ บางเรื่องหาเหตุผลไม่เจอ บางเรื่องสอนจากหลัก แต่นักศึกษาบอกว่า กฎหมายมันเขียนอย่างนี้นี่ ทำไปทำมาคนสอนกลายเป็นคนผิดไปเสียอีก

Q: ความปั่นป่วนทางวิชาการแบบนี้ การเมืองแบบนี้ อาจารย์ยังมีความหวังอยู่ไหม
A: เอาส่วนตัวก่อน เรื่องครอบครัวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เรื่องงานของผมที่ทำอยู่ ผมยังกระตือรือร้น มีความสุขที่เข้าไปสอนหนังสือนักศึกษาทุกครั้ง ยังมีพลังที่จะสอนหนังสือ ยังสนุกที่ได้ถกเถียงกับนักศึกษา

     ขยายออกไปในทางสังคมและทางการเมืองระดับประเทศ ผมมีน้อย ผมรู้สึกว่าตอนที่ทำเยอะก็คือตอนออกไปไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ใช้ความพยายามอยู่ระดับหนึ่ง ไปโน่นไปนี่ ใครเชิญมาก็พยายามไป เพื่อใช้โอกาสที่มีอยู่ พอมันผ่านไปก็ไม่ถึงกับว่าความพยายามมันสูญเปล่า แต่รู้สึกอาจยังไม่ถึงเวลาที่คนอยากจะเห็น ก็เหนื่อยนิดหน่อย แต่หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้ว ผมก็ไม่ได้พูดอะไรเป็นเวลาหลายเดือน เพราะคิดว่าเรื่องที่ควรจะพูดก็ได้พูดไปแล้ว

     ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะได้ดูผลสิ่งที่เราพูดไป เพราะมันอาจจะไม่ได้ถูกทุกเรื่อง และหลังๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นในทางข้อกฎหมาย เพราะรู้สึกว่าภายใต้ระบบ ภายใต้กลไกทางกฎหมายอย่างนี้ ความพยายามที่จะจัดระบบหรือให้เหตุผลกับมัน ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ มีคนถามคำถามผมหลายเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากระดับของตัวกฎหมายในการทำรัฐธรรมนูญ แล้วต้องการคำอธิบาย เวลาที่เราเป็นนักนิติศาสตร์ ในทางกฎหมายเวลาเราตอบคำถามหนึ่ง เราไม่ได้ตอบเพียงแค่ให้ธงคำตอบ แต่เราตอบแล้วต้องมีคำอธิบายด้วยว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มีเหตุมีผลรองรับยังไง บางเรื่องตอบไปแล้ว โดยอธิบายไม่ได้โดยกฎหมายที่มันใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมืองตอนนี้ นี่แหละที่ทำให้กระทบความรู้สึกของเราอยู่ว่า บางทีเราต้องหยุดบางอย่าง เพราะตอบไปบางทีมันอธิบายอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้จะอธิบายยังไง อย่างโน้นก็ได้อย่างนี้ก็ได้ มันไม่ค่อยถูก เพราะกฎหมายที่ดีมันต้องมีหลัก ส่วนนี้แหละครับที่ผมรู้สึกเหนื่อยอยู่นิดหน่อย แต่ก็ไม่ถึงขนาดหมดกำลังใจ

     อาจจะดีหน่อยในแง่ที่ว่า ในห้วงเวลาอย่างนี้ วิชาที่สอนได้สนุกมากขึ้นเป็นวิชานิติปรัชญา แต่ในแง่ของประเทศก็น่าเหนื่อยอยู่เหมือนกัน ยอมรับว่า 2 ปีนี้เราเสียอะไรไปเยอะโดยไม่ควรเสีย พอเราจะสร้างขึ้นใหม่มันก็ต้องใช้เวลา

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ย้อนอดีต ลำดับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙

     มิถุนายน 2519 สุธรรม แสงประทุม ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในช่วงนั้นได้มีการประเมินสถานการณ์ว่ากำลังก้าวเดินไปสู่ความเลวร้ายทุกขณะ โดยมีการทำลายล้างทั้งการโฆษณาและวิธีการรุนแรง แต่กลับทำให้ขบวนการนักศึกษาเติบใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดูจากผลการเลือกตั้งกรรมการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ประจำปี 2519 นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้รับชัยชนะเกือบทุกสถาบัน

27 มิถุนายน 2519
     กิตติวุฒโฑภิกขุ ให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.จัตุรัส ว่า “การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ”

2 กรกฎาคม 2519
     กรรมการ ศนท. นัดพบประชาชนที่สนามหลวง การชุมนุมครั้งนี้มีคนถูกปาด้วยเหล็กแหลมและก้อนหินจนบาดเจ็บหลายคน สุธรรมกล่าวในการชุมนุมว่ากรรมการ ศนท.ชุดนี้อาจจะเป็นชุดสุดท้าย แต่ก็พร้อมยืนตายคาเวทีต่อสู้

     ในช่วงนั้น ที่ทำการ ศนท. ในตึก ก.ต.ป. ถูกล้อมและขว้างปาหลายครั้ง และยังเคยมีคนมาติดต่อกับกรรมการ ศนท.เสนอให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับจะสนับสนุนเงินทองและที่อยู่ให้ โดยบอกว่าจะมีรัฐประหารแน่นอน แต่ไม่อยากให้นักศึกษาลุกขึ้นต่อต้าน แต่กรรมการ ศนท.ตอบปฏิเสธ


27 กรกฎาคม 2519
     หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวขนาดใหญ่ว่า “วางแผนยุบสภาผู้แทน ตั้งสภาปฏิรูปสวมรอย” เนื้อข่าวกล่าวว่า บุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า ข้าราชการ กำลังวางโครงการตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” เตรียมตัวเพื่อขึ้นมาบริหารงานแทนรัฐบาลเสนีย์

6 สิงหาคม 2519
     คณะรัฐมนตรีประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาคำขอของจอมพลถนอม (ที่จะเดินทางเข้าประเทศ) ปรากฏว่าความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรอนุมัติเพราะจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมขับไล่ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรอนุมัติเพราะจอมพลถนอมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

10 สิงหาคม 2519
     มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่วันรุ่งขึ้นก็มีข่าวว่าจอมพลถนอมทำบุญเลี้ยงพระที่วัดไทยในสิงคโปร์

16 สิงหาคม 2519
     มีข่าวแจ้งว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร หนึ่งในสามทรราชที่ถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่ และหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว

19 สิงหาคม 2519
     นักศึกษาจำนวนหนึ่งจัดขบวนแห่รูปวีรชน 14 ตุลา ไปที่สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาให้ตำรวจดำเนินคดีกับจอมพลประภาส

15.00 น. นักศึกษาชุมนุมที่ลานโพธิ์ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีคำสั่งห้ามแล้ว

17.00 น. ศนท.จัดชุมนุมที่สนามหลวง

22.00 น. นักศึกษาประชาชนประมาณหมื่นคน เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงเข้ามายังสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ และมีการชุมนุมกันตลอดคืน

20 สิงหาคม 2519
     กรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เปิดอภิปรายที่ลานโพธิ์ ชี้แจงเหตุผลที่ต้องย้ายการชุมนุมเข้ามาในธรรมศาสตร์ การชุมนุมที่สนามฟุตบอลยังดำเนินไปตลอดคืน

21 สิงหาคม 2519
กลุ่มกระทิงแดงเริ่มปิดล้อมมหาวิทยาลัย

14.00 น. นักศึกษารามคำแหง 3,000 คน เดินขบวนเข้ามาทางประตูมหาวิทยาลัยด้านพิพิธภัณฑ์ กระทิงแดงปาระเบิดและยิงปืนเข้าใส่ท้ายขบวน มีผู้เสียชีวิต 1 คน แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป

20.30 น. ฝนตกหนัก กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนหยัดอยู่ในสนามฟุตบอล จนฝนหยุด จึงเคลื่อนเข้าไปในหอประชุมใหญ่ และอยู่ข้างในตลอดคืน

22 สิงหาคม 2519
     จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศ นักศึกษาประชาชนสลายตัว

26 สิงหาคม 2519
     มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมลอบเข้ามาทางจังหวัดสงขลา แต่ไม่เป็นความจริง นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ แถลงว่าจอมพลถนอมต้องการกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

27 สิงหาคม 2519
     อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวังมิให้จอมพลถนอมเดินทางเข้าประเทศไทย

28 สิงหาคม 2519
     ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศไทย โดยแถลงว่าเข้ามาเพื่อปรนนิบัติบิดาของจอมพลถนอม และมารดาของท่านผู้หญิง รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานเพื่อนของบุตรชายด้วย

29 สิงหาคม 2519
     บุตรสาวจอมพลถนอม 3 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักซอยเอกมัย เพื่อเจรจาขอให้จอมพลถนอมเข้ามาบวชและรักษาบิดา นายกฯ ขอนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.

30 สิงหาคม 2519
     น.ท.ยุทธพงษ์ กิตติขจร ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเหตุผลที่จอมพลถนอมขอเดินทางเข้าประเทศไทย

31 สิงหาคม 2519
     ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรอนุมัติให้จอมพลถนอมเดินทางกลับเข้ามา และ รมช.ต่างประเทศสั่งสถานทูตไทยในสิงคโปร์แจ้งผลการประชุม ครม.ให้จอมพลถนอมทราบ


1 กันยายน 2519
     นายกรัฐมนตรีเรียกอธิบดีกรมตำรวจและรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษเข้าพบ เพื่อเตรียมการป้องกันการเดินทางเข้าประเทศของจอมพลถนอม และให้นำเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดจอมพลถนอมในกรณี 14 ตุลาคม 2516 มาตรวจสอบ

2 กันยายน 2519
     แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติติดใบปลิวต่อต้านการเดินทางกลับไทยของจอมพลถนอมตามที่สาธารณะ นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ พร้อมด้วยตัวแทน อมธ. สโมสรนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ร่วมกันแถลงว่าจะคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมจนถึงที่สุด

3 กันยายน 2519
     อธิบดีกรมตำรวจชี้แจงว่าได้เตรียมการป้องกันจอมพลถนอมเดินทางกลับเข้ามาไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าเข้ามาจะควบคุมตัวทันที

     นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รมต.ยุติธรรม ซึ่งเดินทางกลับจากสิงคโปร์ แถลงว่าหลังจากได้พบและชี้แจงถึงความจำเป็นของรัฐบาลต่อจอมพลถนอมแล้ว จอมพลถนอมบอกว่าจะยังไม่เข้ามาในระยะนี้

     นายสมัคร สุนทรเวช รมช.มหาดไทย กล่าวโดยสรุปว่าขณะนี้มีมือที่สามจะสวมรอยเอาการกลับมาของจอมพลถนอมเป็นเครื่องมือก่อเหตุร้าย

4 กันยายน 2519
     พระภิกษุสงคราม ปิยะธรรมโม ประธานแนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประเทศไทย แถลงว่าถ้าจอมพลถนอมบวช แนวร่วมยุวสงฆ์จะถวายหนังสือคัดค้านต่อสมเด็จพระสังฆราชทันที และพระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะเคลื่อนไหวคัดค้านด้วย

สภาแรงงานแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม

5 กันยายน 2519
     ในการประชุมตัวแทนของศูนย์นิสิตฯ และของกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และกรรมกร รวม 67 กลุ่ม ที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมงาน 14 ตุลา ได้ออกแถลงการณ์ร่วม สรุปว่าจะต่อต้านคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมจนถึงที่สุด

19 กันยายน 2519
     จอมพลถนอมบวชเณรจากสิงคโปร์ แล้วเดินทางถึงประเทศไทยเวลาประมาณ 10.00 น. แล้วเดินทางไปวัดบวรนิเวศฯ มีผู้ไปรอต้อนรับเณรถนอมที่ดอนเมือง เช่น พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พล.อ.ต.สุรยุทธ นิวาสบุตร เจ้ากรมการบินพลเรือน พล.อ.ต.นิยม กาญจนวัฒน์ ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง

11.15 น. จอมพลถนอมอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วเดินทางไปเยี่ยมอาการป่วยของบิดา

12.00 น. ข่าวการกลับมาของจอมพลถนอมแพร่ออกไปโดยประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าจอมพลถนอมบวชเณรเข้าไทยและบวชเป็นพระเรียบร้อยแล้วที่วัดบวรนิเวศฯ ทางด้านสถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศคำปราศรัยของจอมพลถนอม ซึ่งยืนยันเจตนารมณ์ว่ามิได้มีความมุ่งหมายทางการเมือง พร้อมกันนั้นยานเกราะยังเรียกร้องให้ระงับการต่อต้านพระถนอมไว้ชั่วคราวจนกว่าพระถนอมจะสึก เพื่อมิให้สะเทือนต่อพระศาสนา

     สุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ แถลงว่าที่ประชุมกลุ่มพลัง 165 กลุ่ม มีมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมและมีท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

- จะคัดค้านการกลับมาของพระถนอมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
- โฆษณาเปิดโปงความผิดของพระถนอม
- สืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 14 ตุลา
- ตั้งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอ

     ต่อกรณีการเคลื่อนไหว ทาง ศนท.เห็นว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จำเป็นต้องมีความสุขุม เพราะมีความละเอียดซับซ้อน ประกอบกับมีการนำเอาศาสนาประจำชาติขึ้นมาบังหน้า ฉะนั้น ศนท.จึงจะรอดูท่าทีของรัฐบาลและให้โอกาสรัฐบาลตัดสินใจและดำเนินการก่อน อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตกันมากว่า

1. การเข้ามาครั้งนี้เป็นแผนการของกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำรัฐประหาร
2. ก่อนเข้ามามีการเตรียมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง มีบุคคลบางคนในรัฐบาลไปรับถึงสนามบิน และให้ทำการบวชได้ที่วัดบวรนิเวศฯ
3. การเข้ามาของเณรถนอม อาศัยศาสนามาเป็นเครื่องบังหน้า ทำให้ศาสนาต้องมัวหมอง


     ขณะที่ทาง ศนท.กำลังรอดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ได้เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานีวิทยุยานเกราะ ถึงกับมีการเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวนสี่สิบสามล้านคน

     วันเดียวกันนี้ ตำรวจได้จับนักศึกษารามคำแหง ชื่อ นายวิชาญ เพชรจำนง ซึ่งเข้าไปในวัดบวรฯ พร้อมแผนที่กุฏิในวัด น.ส.พ.ดาวสยามพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งในตอนเย็นว่า “จับ นศ.วางแผนฆ่าถนอม” แต่หลังจากนั้นตำรวจได้ปล่อยตัวนายวิชาญไปเพราะนายวิชาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มกระทิงแดง

20 กันยายน 2519
     โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหัวหน้าพรรคชาติไทย ธรรมสังคม สังคมชาตินิยม และนายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ และมีข้อสรุปว่า 1.จอมพลถนอมเข้ามาบวชตามที่ขอรัฐบาลไว้แล้ว 2.ในฐานะที่จอมพลถนอมเป็นทั้งจอมพลและภิกษุจึงน่าจะพิจารณาตัวเองได้หากมีความไม่สงบเกิดขึ้น

     มีปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายตลอดวันนี้ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอให้ออกกฎหมายพิเศษขับพระถนอมออกนอกประเทศ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เสนอให้พระถนอมออกไปจำวัดที่ต่างแดน ทหารออกมาประกาศว่าจะไม่เข้าไปยุ่งและจะไม่ปฏิวัติ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร กล่าวว่าถ้าพระถนอมเข้ามาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จะผิดได้อย่างไร ก็นักศึกษาสู้เพื่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่หรือ พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระ มีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ สถานีวิทยุยานเกราะและ น.ส.พ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม ฯลฯ

     ศนท.ใช้วิธีเคาะประตูบ้านแทนการชุมนุม โดยให้นิสิตนักศึกษาออกไปตามบ้านประชาชนในเขต กทม. เพื่อสอบถามความรู้สึกถึงเรื่องพระถนอม ปรากฏว่าสามารถสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวได้อย่างดียิ่ง

21 กันยายน 2519
     เกิดเหตุปาระเบิดบริษัททัวร์ ที เอส ที ซึ่งบริษัทนี้ถูกสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าเป็นของ ศนท. แต่ปฏิบัติการดังกล่าวพลาดไปถูกร้านตัดเสื้อข้างเคียง มีผู้บาดเจ็บ 5 คน

     นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน ระหว่างช่างกลสยาม (ซึ่งมีนายวีรศักดิ์ ทองประเสริฐ เลขาธิการศูนย์นักเรียนอาชีวะฯ ในขณะนั้นเรียนอยู่) กับช่างกลอุตสาหกรรม มีการปรากฏตัวของกลุ่มกระทิงแดงในที่เกิดเหตุ และมีการปาระเบิดสังหารชนิด เอ็ม 26 ส่งผลให้นักเรียนช่างกลสยามตาย 5 ศพ บาดเจ็บจำนวนมาก และถูกจับอีกประมาณ 200 คน ในขณะที่ช่างกลอุตสาหกรรมไม่โดนจับเลย เพียงแต่สอบสวนแล้วปล่อยตัวไป กรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมตำรวจท้องที่กับอาจารย์ในโรงเรียนจึงไม่ยับยั้งนักเรียนช่างกลสยาม และการจับนักเรียนช่างกลสยามไปเท่ากับตัดกำลังหน่วยรักษาความปลอดภัยของแนวร่วมอาชีวศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับ ศนท. ออกไปส่วนหนึ่ง

     นายอำนวย สุวรรณคีรี แถลงว่า ครม.มีมติแต่งตั้งกรรมการ 2 ชุด ชุดที่ 1 ไปเจรจากับพระถนอม ชุดที่ 2 ออกแถลงการณ์กรณีพระถนอมเข้ามาในประเทศไทย

     นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ แถลงว่า ครม.มีมติจะให้พระถนอมออกไปนอกประเทศโดยเร็ว
รัฐบาลออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือประชาชนในการรักษาความสงบของบ้านเมือง
22 กันยายน 2519

     แนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประทศไทย และสหพันธ์พุทธศาสนิกแห่งประเทศไทย มีหนังสือมาถึงมหาเถรสมาคมให้พิจารณาการบวชของพระถนอมว่าผิดวินัยหรือไม่

     พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากทางวัดเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

     คณะอาจารย์รามคำแหงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลนำพระถนอมออกนอกประเทศ

     ศนท. แนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ สภาแรงงานฯ ศูนย์กลางนักเรียนฯ ศูนย์นักศึกษาครูฯ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 8 แห่ง แถลงว่า ไม่พอใจที่แถลงการณ์ของรัฐบาลไม่ชัดเจน ดังนั้นทุกองค์กรจะร่วมมือกันคัดค้านพระถนอมต่อไป

     แนวร่วมนักเรียน นักศึกษา ประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ สหพันธ์นักศึกษาอีสาน แนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านพระถนอมตามสถานที่ต่างๆ

     ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีมติให้ส่งนักศึกษาออกชี้แจงประชาชนว่าการกลับมาของพระถนอมทำให้ศาสนาเสื่อม


23 กันยายน 2519
     ส.ส. 4 ราย คือ นายชุมพล มณีเนตร นายแคล้ว นรปติ นายมานะ พิทยาภรณ์ และนายไพฑูรย์ วงศ์วานิช ยื่นกระทู้ด่วนเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม ผลการอภิปรายทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกกลางสภาผู้แทน เนื่องจากไม่อาจเสนอพระราชบัญญัติจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ ลูกพรรคก็ขัดแย้งโต้เถียงในสภาฯ แบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา ส.ส.บางคนก็อภิปรายในลักษณะไม่ไว้วางใจรัฐบาล

     กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีคำสั่งเตรียมพร้อมในที่ตั้งเต็มอัตราศึก
     สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศให้ตำรวจจับกุมนักศึกษาที่ออกติดโปสเตอร์

24 กันยายน 2519
01.00 น. รถจี๊ปและรถสองแถวบรรทุกคนประมาณ 20 คน ไปที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านท่าพระจันทร์ ทำลายป้ายที่ปิดประกาศขับไล่ถนอม

     นายเสถียร สุนทรจำเนียร นิสิตจุฬาฯ ถูกตีที่ศีรษะและถูกแทงลำตัว ในขณะที่ออกติดโปสเตอร์พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งถูกทำร้ายและถูกรูดทรัพย์ไปโดยฝีมือชายฉกรรจ์ 20 คนในรถกระบะสีเขียว

     นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรรบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม พบมีรอยมัดมือและรอยถูกรัดคอด้วยเชือกไนล่อน ตำรวจสืบสวนบิดเบือนสาเหตุว่ามาจากการผิดใจกับคนในที่ทำงานและติดสินบนนักข่าวท้องถิ่นให้เงียบ แต่มีผู้รักความเป็นธรรมนำรูปประมาณ 20 กว่ารูปพร้อมเอกสารการฆาตกรรมมาให้ ศนท. ในวันที่ 25 กันยายนตอนเช้า

     (ในวันที่ 6 ตุลาคม มีตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า ได้แก่ ส.ต.อ. ชลิต ใจอารีย์ ส.ต.ท.ยุทธ ตุ้มพระเนียร ส.ต.ท.ธเนศ ลัดดากล ส.ต.ท.แสงหมึก แสงประเสริฐ พลฯ สมศักดิ์ แสงขำ แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังจากนั้น)

25 กันยายน 2519
     มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (อีกครั้งหลังจากลาออกไปเมื่อ 2 วันก่อน)

     ศนท.โดยสุธรรม แสงประทุม และชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชี้แจงกับสื่อมวลชนกรณีฆ่าแขวนคอที่นครปฐม มีการชุมนุมที่จุฬาฯ และตั้งตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ 1.จัดการให้พระถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด 2.ให้เร่งจับกุมฆาตกรฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

     สภาแรงงานฯ โดยนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเพื่อยื่นหนังสือ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า

     ดร.คลุ้ม วัชโรบล นำลูกเสือชาวบ้านประมาณ 200 คน ไปวัดบวรนิเวศฯ เพื่ออาสาป้องกันการเผาวัด

26 กันยายน 2519
     กิตติวุฒโฑภิกขุ และนายวัฒนา เขียววิมล แกนนำกลุ่มนวพล ไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรฯ เวลา 22.30 น. อ้างว่ามาสนทนาธรรม และว่าการเข้ามาบวชของพระถนอมนั้นบริสุทธิ์

27 กันยายน 2519
     ศนท. สภาแรงงานแห่งประเทศไทย แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และตัวแทนจากกลุ่มพลังต่างๆ ประชุมกันและมีมติให้รัฐบาลขับพระถนอมออกนอกประเทศ และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

     ช่วงวันที่ 26-27 กันยายน มีการเคลื่อนไหวย้ายกำลังพลในเขตกรุงเทพฯ ด้วยคำอ้างว่าจะมีการเดินสวนสนามเพื่อสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพล (ปกติจะกระทำในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี)

28 กันยายน 2519
     ศนท.แถลงว่าจะจัดชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน เพื่อเร่งรัฐบาลให้ดำเนินการตามที่ยื่นหนังสือเรียกร้อง

29 กันยายน 2519
     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศเลื่อนพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรออกไปโดยไม่มีกำหนด

     ศนท. และกลุ่มพลังต่างๆ นัดชุมนุมประท้วงพระถนอมที่สนามหลวง โดยเป็นการชุมนุมอย่างสงบตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ สุธรรม แสงประทุม กล่าวกับประชาชนว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้แจ้งให้นายกฯ ทราบแล้ว และนายกฯ รับปากว่าจะให้กำลังตำรวจคุ้มครองผู้ชุมนุม มีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณสองหมื่นคน

     ระหว่างการชุมนุม มีผู้อ้างตัวว่ารักชาติมาตั้งเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตี ศนท.อย่างหยาบคาย จนตำรวจต้องไปขอร้องให้เลิกและกลับไปเสีย กลุ่มรักชาติพวกนี้จึงยอมกลับไป นอกจากนั้นยังมีการปล่อยงูพิษกลางที่ชุมนุมที่หาดใหญ่และมีการยิงปืนใส่ที่ชุมนุมก่อนสลายตัว (การชุมนุมจัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลาฯ นายจเร ดิษฐแก้ว ถูกยิงที่กกหูบาดเจ็บ นายสมชัย เกตุอำพรชัย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ถูกตีศีรษะและถูกยิงที่มือซ้าย)

     ศนท.ได้ส่งคนเข้าพบนายกฯ เพื่อขอฟังผลตามข้อเรียกร้องที่เคยยื่นหนังสือไว้ แต่เลขานุการนายกฯ ไม่ให้เข้าพบ กระทั่งเวลาสามทุ่มเศษ นายสุธรรมและคณะจึงกลับมาที่ชุมนุมพร้อมกับกล่าวว่าได้รับความผิดหวังมาก แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อไป และจะให้เวลารัฐบาลถึงเที่ยงวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ ก็จะเคลื่อนไหวทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดพร้อมกัน ที่ชุมนุมประกาศสลายตัวเมื่อเวลา 21.45 น.

     กลุ่มกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งอ้างตัวเข้าอารักขาพระถนอมที่วัดบวรฯ ในช่วงนี้ นักศึกษาสถาบันต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวโดยรับมติของ ศนท.ไปปฏิบัติ

30 กันยายน 2519
     รัฐบาลส่งนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นตัวแทนไปนิมนต์พระถนอมออกนอกประเทศ แต่พระถนอมปฏิเสธ

     สมเด็จพระญาณสังวร และคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ แจ้งให้ตัวแทนรัฐบาลทราบว่า พระบวชใหม่จะไปไหนตามลำพังระหว่างพรรษาไม่ได้ และกำหนดพรรษาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ตุลาคม 2519

     ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องให้พระถนอมออกนอกประเทศนั้น รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ


1 ตุลาคม 2519
     มีการชุมนุมที่สนามหลวง แต่เป็นการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ เพียงสามทุ่มกว่าๆ ก็เลิกและประกาศให้ประชาชนมาฟังคำตอบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม เวลา 15.30 น.

     ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา จำนวน 5 คน อดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบแน่ชัดว่าจะให้พระถนอมออกจากประเทศไทย

     นายสมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง กล่าวว่า หากมีการเดินขบวนไปวัดบวรนิเวศฯ กระทิงแดงจะอารักขาวัดบวรฯ และขอให้ ศนท.ยุติการเคลื่อนไหว

     ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ และกลุ่มพลัง 12 กลุ่ม ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า ศนท.ถือเอากรณีพระถนอมเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ

2 ตุลาคม 2519
     สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วไปชุมนุมกันที่บริเวณสนามไชย นายวัฒนา เขียววิมล ได้นำกลุ่มนวพลไปวัดบวรฯ อวยพรวันเกิดสมเด็จพระญาณสังวร แล้วกลับไปชุมนุมที่สนามไชยอีกครั้ง เนื้อหาการอภิปรายมุ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เลิกราเดินทางกลับภูมิลำเนา

     กลางดึกคืนวันนี้มีคนร้ายยิงปืน เอ็ม 79 เข้าไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยไทยรัฐฉบับวันที่ 3 ตุลาคม หน้า 4 คอลัมน์ “ไต้ฝุ่น” เขียนว่า “หากเมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีใหม่อีก ทำนายทายทักกันได้ว่าจะไม่ใช่คนในสกุลปราโมชอีกแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งในสามของคนวัย 52 เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ เกษม จาติกวณิช หรือประภาศน์ อวยชัย คนนี้ซินแสดูโหงวเฮ้งแล้วบอกว่าฮ้อ”

     ทางด้านธรรมศาสตร์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์เป็นคณะแรกที่หยุดสอบประท้วง ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลแก้ไขกรณีพระถนอมโดยด่วน

     ศนท.พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มพลังอื่นๆ จำนวน 10 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอคำตอบตามที่ยื่นข้อเรียกร้องไว้ จากนั้นนายสุธรรม แสงประทุม แถลงว่า ได้รับคำตอบไม่ชัดเจน จึงประกาศเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป โดยจะนัดชุมนุมประชาชนทั่วประเทศที่สนามหลวงในวันที่ 4 ตุลาคม

3 ตุลาคม 2519
     ญาติวีรชนที่อดข้าวประท้วงอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ย้ายมาประท้วงต่อที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์ไม่อำนวย ตกเย็นกลุ่มประชาชนรักชาตินำเครื่องขยายเสียงมาโจมตี ศนท.ว่าเป็นคอมมิวนิสต์

     นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชุมนุมคัดค้านพระถนอม ขณะที่ตัวแทนกลุ่มนวพลจากจังหวัดต่างๆ ชุมนุมกันที่สนามไชย

4 ตุลาคม 2519
     ม.ร.ว.เสนีย์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าโหดที่นครปฐม ขณะที่พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าไม่มีมูลเพียงพอที่จะฟ้องสามทรราช กรณี 14 ตุลา

     ตอนเที่ยงมีการชุมนุมที่ลานโพธิ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เข้าสอบ ดร.ป๋วยให้นักศึกษาเลิกชุมนุมและเข้าห้องสอบแต่นักศึกษาไม่ยอม มีการอภิปรายและการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม จัดโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     สถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่านักศึกษาที่แสดงละครมีใบหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชายถูกแขวนคอ

15.30 น. ศนท. และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ ชุมนุมประชาชนอีกครั้งที่สนามหลวง

17.30 น. มีการก่อกวนจากกลุ่มกระทิงแดง นักเรียนอาชีวะ และกลุ่มประชาชนรักชาติประมาณ 50 คน ติดเครื่องขยายเสียงพูดโจมตี ศนท.โดยนายสมศักดิ์ มาลาดี จนกระทั่งถูกตำรวจจับ (หลัง 6 ตุลา นายสมศักดิ์ได้ไปออกรายการที่สถานีวิทยุยานเกราะ) กระทิงแดงสลายตัวเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น.

18.30 น. ฝนตกหนัก แต่ท้องสนามหลวงยังมีคนชุมนุมอยู่นับหมื่น

19.30 น. เพื่อความปลอดภัยจึงย้ายการชุมนุมเข้าธรรมศาสตร์อย่างสงบ พร้อมกับประกาศว่าจะไม่สลายตัวจนกว่าพระถนอมจะออกจากประเทศไทย

21.00 น. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ (ดร.ประกอบ หุตะสิงห์) ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัย

     นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 700 คน เดินขบวนต่อต้านพระถนอม แล้วไปชุมนุมที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีนักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอม ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอมและมีการเผาหุ่นพระถนอม

5 ตุลาคม 2519
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ

     นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่ทำพร้อมกันทั่วประเทศ ตกเย็น จำนวนผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นนับหมื่นคน จึงย้ายการชุมนุมจากบริเวณลานโพธิ์มายังสนามฟุตบอล

     มหาวิทยาลัยรามคำแหงประกาศงดการสอบไล่โดยไม่มีกำหนด ในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

     นางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้จับกุมผู้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร

9.30 น. ที่ประชุมสหภาพแรงงาน 43 แห่ง มีมติจะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อยื่นข้อเสนอให้พระถนอมออกนอกประเทศ และสภาแรงงานจะนัดหยุดงานทั่วประเทศภายในวันที่ 11 ตุลาคม

10.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะเปิดรายการพิเศษ เสียงของ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ กล่าวเน้นเป็นระยะว่า “เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

13.30 น. นักศึกษารามคำแหงเตรียมออกเดินทางไปสมทบที่ธรรมศาสตร์ 25 คันรถ

15.30 น. นักศึกษารามคำแหงที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมคัดค้านพระถนอม ยื่นหนังสือถึงรองอธิการบดีให้มีการสอบไล่ต่อไป

17.30 น. พ.อ.อุทาร ออกประกาศให้คณะกรรมการชมรมวิทยุเสรี และผู้ร่วมก่อตั้งไปร่วมประชุมที่สถานีวิทยุยานเกราะเป็นการด่วน

19.00 น. ประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้าน เขตกรุงเทพฯ ได้ประชุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมี พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และอาคม มกรานนท์ เป็นผู้กล่าวในที่ประชุมว่า จะต่อต้าน ศนท. และบุคคลที่อยู่ในธรรมศาสตร์

20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า “ขณะนี้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ มีการนำธงชาติคลุมตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา มีการใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบ ลงบทความ หรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธศาสนา มีนักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ก่อความไม่สงบที่มีใบหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่ง พยายามแต่งใบหน้าเพิ่มเติมให้เหมือน” ทั้งนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า กรณีพระถนอมและผู้ที่ถูกแขวนคอเป็นเพียงข้ออ้างในการชุมนุมก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
นับเป็นครั้งแรกที่สถานีวิทยุยานเกราะ และชมรมวิทยุเสรี เรียกกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ซึ่งแถลงการณ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ชมรมวิทยุเสรีคัดค้านการกระทำดังกล่าวในทุกๆ กรณี ขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดอันอาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้วอาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้” นับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีกล่าวคำว่า “อาจมีการนองเลือดขึ้น”
21.00 น. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) แจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหว

21.30 น. นายประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ ศนท.ได้แถลงที่ อมธ. พร้อมกับนำ นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และนายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงความบริสุทธิ์ใจ และกล่าวว่าการแสดงดังกล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นความทารุณโหดร้ายอันเนื่องมาจากการฆ่าแขวนคอที่นครปฐม โดยมีการแต่งหน้าให้เหมือนสภาพศพ และการที่เลือกเอาบุคคลทั้งสองก็เพราะเป็นนักแสดงในมหาวิทยาลัย อีกทั้งตัวเล็กมีน้ำหนักเบา ไม่ทำให้กิ่งไม้หักง่าย การแสดงแขวนคอใช้วิธีผูกผ้าขาวม้ารัดรอบอกและผูกเชือกด้านหลังห้อยกับกิ่งไม้ จึงต้องใส่เสื้อทหารซึ่งมีตัวใหญ่เพื่อบังร่องรอยผ้าขาวม้าให้ดูสมจริง นายประยูรกล่าวว่า “ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่นโดยดึงเอาสถาบันที่เคารพมาเกี่ยวข้อง…”

21.40 น. รัฐบาลเสนีย์ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แจ้งว่า “ตามที่ได้มีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศกนี้ มีลักษณะเป็นการหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท รัฐบาลได้สั่งให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนกรณีนี้โดยด่วนแล้ว”

     สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีออกอากาศตลอดคืนเรียกร้องให้ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ

24.00 น. กรมตำรวจประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ประกอบด้วย พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายนาย


6 ตุลาคม 2519
     สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศว่า พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำขาดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายต่อ ศนท. ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด หากมีรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ให้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายทันที

     สุธรรม แสงประทุม กับกรรมการ ศนท. และตัวแทนชุมนุมนาฏศิลป์ฯ เดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 คนได้บุกเข้าไปเผาแผ่นโปสเตอร์หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูพยายามจะบุกปีนรั้วเข้าไป มีเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นและมีการยิงตอบโต้ประปรายแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ

02.00 น. กลุ่มนวพลในนาม “ศูนย์ประสานงานเยาวชน” มีแถลงการณ์ความว่า “ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”

03.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะยังคงออกรายการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตลอดทั้งคืน ส่วนภายในธรรมศาสตร์ยังมีการอภิปรายและแสดงดนตรีต่อไปแม้จะมีผู้พยายามบุกเข้ามหาวิทยาลัยและมีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของ ศนท. ขึ้นอภิปรายบนเวทีขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ใช้อาวุธ ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยปราบจราจลยกกำลังมากั้นทางออกด้านสนามหลวง

05.00 น. กลุ่มคนที่ยืนอออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยพยายามจะบุกปีนเข้าไปอีกครั้ง ยังคงมีการยิงตอบโต้ด้วยปืนพกประปราย

07.00 น. กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตอนตีหนึ่งพยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยใช้รถบัสสองคันขับพุ่งเข้าชนประตู ต่อมาก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น

07.50 น. ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ ล้อมอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ

08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตชด.มีอาวุธสงครามใช้ทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องยิงระเบิด ปืนต่อสู้รถถัง ปืนเอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอช.เค. และปืนคาร์บิน ตำรวจบางคนมีระเบิดมือห้อยอยู่ครบเต็มอัตราศึก เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์ นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ข้างในแตกกระจัดกระจายหลบหนีกระสุน

08.18 น. ตชด.เข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่ และมีกำลังใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 คันรถ

08.25 น. ตชด.บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยหลายจุด พร้อมกับยิงกระสุนวิถีโค้ง และยิงกราดเข้าไปยังกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มีนักศึกษาถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตทันทีหลายคน (ไทยรัฐ 7 ตุลาคม 2519)

08.30-10.00 น. นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตลอดคืนต่างแตกตื่นวิ่งหนีวิถีกระสุนที่ ตชด. และกลุ่มคนที่เข้าก่อเหตุได้ยิงเข้าใส่ฝูงชนอย่างไม่ยั้ง ทั้งๆ ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษามีปืนพกเพียงไม่กี่กระบอก

     นักศึกษาประชาชนที่แตกตื่นวิ่งหนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยในจำนวนนี้มีมากกว่า 20 คนถูกรุมตีรุมกระทืบ บางคนถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส แต่ยังไม่สิ้นใจ ได้ถูกลากออกไปแขวนคอ และแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพต่างๆ นานา

     นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกรุมตีจนสิ้นชีวิต แล้วถูกเปลือยผ้าประจาน โดยมีชายคนหนึ่งซึ่งเข้าก่อเหตุ รูดซิปกางเกงออกมาแสดงท่าเหมือนจะข่มขืนหญิงผู้เคราะห์ร้ายนั้น ให้พวกพ้องที่โห่ร้องอยู่ใกล้ๆ ดู มีประชาชนบางส่วนเมื่อเห็นเหตุการณ์ชวนสังเวช ก็จะเดินเลี่ยงไป ด้วยน้ำตาคลอ

     ประชาชนที่ชุมนุมอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย ลากศพนักศึกษาที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดข้างหอประชุมใหญ่ 3 คนออกมาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใกล้ๆ กับบริเวณแผงขายหนังสือสนามหลวง โดยเอายางรถยนต์ทับแล้วราดน้ำมันเบนซิน จุดไฟเผา ศพนักศึกษาอีก 1 ศพถูกนำไปแขวนคอไว้กับต้นมะขามแล้วถูกตีจนร่างเละ
เหตุการณ์ในและนอกธรรมศาสตร์ช่วงนี้มีรายละเอียดมากมาย ดังปรากฏจากคำพูดของผู้ประสบเหตุการณ์คนหนึ่งในวันนั้น ดังต่อไปนี้

…ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ขณะที่ฉันนอนอยู่ตรงบันไดตึกวารสารฯ ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น ฉันและเพื่อน 2 คนเดินออกมาดูเหตุการณ์ยังสนามฟุตบอล จึงทราบว่าพวกตำรวจได้ยิง เอ็ม 79 เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บหลายคน เพื่อความปลอดภัย โฆษกบนเวทีประกาศให้ประชาชนหลบเข้าข้างตึก ฉันและเพื่อนยืนฟังอยู่พักหนึ่ง พวกทหารก็เริ่มระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์ทุกด้านเป็นเวลานาน ฉันกับเพื่อนจึงหมอบอยู่บริเวณข้างตึกโดมข้างๆ เวที ภาพที่เห็นข้างหน้าคือ บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่มีควันตลบไปหมด พวกมันระดมยิงถล่มมายังหน้าหอใหญ่เป็นเวลานาน พวกเราหลายคนถึงกับร้องไห้ด้วยความเคียดแค้น และเป็นห่วงเพื่อนๆ ของเราที่รักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน แต่พวกตำรวจระดมยิงเข้ามาเหมือนจะทำลายคนจำนวนพันคน ตำรวจยิงเข้ามาพักหนึ่ง เมื่อแน่ใจว่าพวกเราที่หน้าหอใหญ่ตายหมดแล้ว มันจึงกล้าเอารถเมล์วิ่งพังประตูเข้ามาในธรรมศาสตร์

เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น พวกเราจึงช่วยกันพังประตูตึกโดมเข้าไป ตอนแรกคิดว่าอยู่ในตึกคงปลอดภัย แต่เมื่อเห็นว่าพวกมันยังยิงเข้ามาไม่หยุดและเคลื่อนกำลังเข้ามามากขึ้น จึงตัดสินใจกระโดดลงจากตึกโดมแล้ววิ่งไปตึกศิลปศาสตร์และลงแม่น้ำเจ้าพระยา ฉันและเพื่อนๆ ได้ขึ้นฝั่งที่ท่าพระจันทร์ ปรากฏว่าพวกตำรวจตรึงกำลังอยู่บริเวณดังกล่าว และปิดถนนถึงท่าช้าง ประชาชนบริเวณท่าพระจันทร์ปิดประตูหน้าต่างกันหมด พวกเราเดินเลาะไปตามริมน้ำ พอมาระยะหนึ่งไม่มีทางไป เพื่อนบางส่วนพอวิ่งออกไปถนนก็ถูกตำรวจจับ ฉันและเพื่อนจึงตัดสินใจเคาะประตูบ้านประชาชนบริเวณนั้น มีหลายบ้านเปิดให้พวกเราเข้าไปหลบด้วยความเต็มใจ เนื่องจากจำนวนคนมีมากเหลือเกิน เพื่อนของเราบางส่วนยอมเสียสละให้ผู้หญิงและประชาชนเข้าไปหลบในบ้านประชาชน ในบ้านที่ฉันเข้าไปหลบอยู่มีคนประมาณ 30 คนอยู่ด้วย เจ้าของบ้านต้มข้าวต้มให้พวกเรากิน ฉันนั่งฟังเสียงปืนที่พวกมันยิงถล่มธรรมศาสตร์อยู่ประมาณชั่วโมงเศษ มีทหารและตำรวจ 2 คนมาเคาะประตูบ้าน มันขู่ว่าถ้าไม่เปิดจะยิงเข้ามา เจ้าของบ้านจึงต้องไปเปิดให้พวกตำรวจเข้ามาตรวจค้นบ้านทุกชั้น ทุกห้องตามความต้องการ

พวกเราถูกตำรวจไล่ให้มารวมกับคนอื่นๆ ที่ถูกจับอยู่ก่อนแล้วที่ถนนข้างวัดมหาธาตุ นอนกันเป็นแถวยาวมาก ตำรวจสั่งให้ผู้ชายถอดเสื้อ ทุกคนต้องนอนอยู่นิ่งๆ ห้ามเงยหัวขึ้นมา พวกเราต้องนอนอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ต้องทนตากแดดอยู่กลางถนน และยังมีกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านที่ร้ายกาจหลายคนเดินด่าว่าพวกเราอย่างหยาบคาย ทั้งพูดท้าทายและข่มขู่อยู่ตลอดเวลา เราต้องเผชิญกับการสร้างสถานการณ์ข่มขู่ทำลายขวัญของพวกตำรวจ โดยสั่งให้พวกเรานอนคว่ำหน้าและไล่ประชาชนออกจากบริเวณนั้น แล้วยิงปืนรัวสนั่นจนพอใจจึงหยุด ฉันนอนอยู่ริมๆ แถวรู้สึกว่ากระสุนวิ่งไปมาบนถนน ไม่ห่างไกลจากเท้าฉันนัก บางครั้งก็มีเศษหินเศษอิฐกระเด็นมาถูกตามตัวพวกเรา แทนที่พวกตำรวจจะทำลายขวัญพวกเราสำเร็จ กลับเสริมความเคียดแค้นให้กับพวกเราทุกคน เหมือนฉันได้ผ่านเตาหลอมที่ได้ทดสอบความเข้มแข็งและจิตใจที่ไม่สะทกสะท้านต่อการข่มขู่ บางคนรู้สึกกลัว พวกเราก็คอยปลอบใจ ไม่ให้กลัวการข่มขู่ พวกมันทำเช่นนี้อยู่หลายครั้งจนพอใจ จึงสั่งให้พวกเราคลานไป สักพักหนึ่งมันก็ตะคอกสั่งให้หมอบลง จนถึงรถเมล์ที่จอดอยู่ใกล้ๆ ก็ให้ลุกขึ้นเข้าแถวทยอยกันขึ้นรถ

พวกเรานั่งกันเต็มรถทั้งที่นั่งและพื้นรถ ตำรวจสั่งให้พวกเราเอามือไว้บนหัวและต้องก้มหัวลงต่ำๆ พอรถแล่นออกมายังสนามหลวงผ่านราชดำเนินจะมีกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านตั้งแถวรออยู่ พอรถมาถึงมันก็ขว้างก้อนอิฐก้อนหินและโห่ร้องด้วยความชอบใจ พวกเราในรถหลายคนหัวแตก บางคนถูกหน้าผากเลือดไหลเต็มหน้า พวกตำรวจที่คุมมาก็คอยพูดจาเยาะเย้ยถากถางและตะคอกด่าพวกเรามาตลอดทางจนถึงบางเขน พอรถเลี้ยวเข้ามาบางเขนก็มีตำรวจเอาเศษแก้วขว้างเข้ามาในรถ แต่โชคดีที่ไม่ถูกใครเข้า เมื่อรถวิ่งเข้ามาจอดที่เรือนจำก็มีตำรวจกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้ามาล้อมรถไว้ บางส่วนกรูเข้าในรถ ทั้งด่า ทั้งเตะ ซ้อมคนในรถตามชอบใจ คนไหนใส่แว่นมันยิ่งซ้อมหนัก บางคนถูกมันกระชากเอาแว่นไปด้วย พวกมันสั่งให้ทุกคนถอดนาฬิกาและสร้อยคอให้หมด ผู้ชายต้องถอดเข็มขัดออก มันอ้างว่าเดี๋ยวพวกเราจะเอาไปผูกคอตายในคุก คนไหนไม่ทำตามมันก็เอาท้ายปืนตี มันทำตัวยิ่งกว่าโจร ยิ่งกว่าสัตว์ป่าอีกด้วย

ฉันและเพื่อนหญิงประมาณ 400 คน ถูกขังอยู่ชั้น 2 ของเรือนจำ มีอยู่ 2 ห้อง ห้องหนึ่งจุคน 200 กว่าคน สภาพในคุกทั้งสกปรก ทั้งคับแคบ ต้องนอนเบียดเสียดกัน น้ำก็ไม่มีให้ใช้ ในระยะแรกน้ำก็ไม่มีให้กิน พวกเราทุกคนที่อยู่ในคุกได้จัดตั้งกันเป็นกลุ่มๆ ตามแต่ละองค์กรเพื่อช่วยเหลือกัน จัดให้มีการพูดคุยปรึกษาหารือ เช่น เล่าแลกเปลี่ยนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา ที่แต่ละคนได้พบเห็นความทารุณโหดร้ายของ ตชด. ตำรวจ กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ที่ร่วมกันเข่นฆ่าเพื่อนๆ และพี่น้องประชาชนอย่างโหดเหี้ยม….
     เหตุการณ์น่าสังเวชที่มีรายละเอียดยังมีอีกมาก ดังส่วนหนึ่งกระจายเป็นข่าวไปทั่วโลก ดังเช่น

นีล ยูลิวิค ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รายงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ รียิสเตอร์ วันที่ 8 ตุลาคม 2519 ว่า “ด้วยความชำนาญในการสื่อข่าวการรบในอินโดจีนแล้ว ข้าพเจ้าสามารถบอกได้ว่าเสียงปืนที่ได้ยินนั้น 90% ยิงไปในทิศทางเดียวกัน คือยิงใส่นักศึกษา บางครั้งจึงจะมีกระสุนปืนยิงตอบมาสักนัดหนึ่ง

เลวิส เอ็ม ไซมอนส์ รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ซานฟรานซิสโก ครอนิเกิล วันที่ 7 ตุลาคม 2519 ว่า “หน่วยปราบปรามพิเศษต่างก็กราดปืนกลใส่ตัวอาคารและส่วนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย พวกแม่นปืนที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษใช้ปืนไรเฟิลแรงสูงยิงเก็บเป็นรายตัว ตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งสวมหมวกเบเร่ต์ดำ เสื้อแจ๊คเก็ตดำคลุมทับชุดพรางตาสีเขียวได้ยิงไปที่อาคารต่างๆ ด้วยปืนไร้แรงสะท้อนยาว 8 ฟุต ซึ่งปกติเป็นอาวุธต่อสู้รถถัง ส่วนตำรวจคนอื่นๆ ก็ยิงลูกระเบิดจากเครื่องยิงประทับไหล่ ไม่มีเวลาใดเลยที่ตำรวจจะพยายามให้นักศึกษาออกมาจากที่ซ่อนด้วยแก๊สน้ำตา หรือเครื่องควบคุมฝูงชนแบบมาตรฐานอื่นๆ” ไซมอนส์ได้อ้างคำพูดของช่างภาพตะวันตกคนหนึ่งที่ชาญสนามมา 4 ปีในสงครามเวียดนาม ซึ่งกล่าวว่า “พวกตำรวจกระหายเลือด มันเป็นการยิงที่เลวร้ายที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”

สำนักข่าวเอพี (แอสโซซิเอเต็ด เพรส)รายงานจากผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยว่า นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกล้อมยิงและถูกบุกทำร้ายจากพวกฝ่ายขวาประมาณ 10,000 คน ตำรวจระดมยิงด้วยปืนกลใส่นักศึกษาที่ถูกหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย นักศึกษา2 คนถูกแขวนคอและถูกตีด้วยท่อนไม้ ถูกควักลูกตา และถูกเชือดคอ

นายจี แซ่จู ช่างภาพของเอพี กล่าวว่า เขาเห็นนักศึกษา 4 คนถูกลากออกไปจากประตูธรรมศาสตร์ถึงถนนใกล้ๆ แล้วถูกซ้อม ถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วเผา

หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตีพิมพ์รายงานจากผู้สื่อข่าวของตนในกรุงเทพฯ ว่า กระแสคลื่นตำรวจ 1,500 คนได้ใช้ปืนกลระดมยิงนักศึกษาในธรรมศาสตร์ พวกฝ่ายขวาแขวนคอนักศึกษา 2 คน จุดไฟเผา ตีด้วยท่อนไม้ ควักลูกตา เชือดคอ บางศพนอนกลิ้งกลางสนามโดยไม่มีหัว

หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 รายงานว่ามีนักศึกษาอย่างน้อย 4 คนพยายามหลบรอดออกมาข้างนอกมหาวิทยาลัย แต่แล้วก็ถูกล้อมกรอบด้วยพวกตำรวจ และพวกสนับสนุนฝ่ายขวาเข้ากลุ้มรุมซ้อมและทุบด้วยท่อนไม้จนถึงแก่ความตาย นักศึกษาบางคนมีเลือดไหลโชกศีรษะและแขน เดินโซเซออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ล้มฮวบลง

สำนักข่าวอินเตอร์นิวส์ ผู้พิมพ์วารสารอินเตอร์เนชั่นแนล บุลเลทิน รายงานว่าตำรวจได้ใช้ปืนกล ลูกระเบิดมือ ปืนไร้แรงสะท้อน ระดมยิงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนถูกจับตัวและถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วจุดไฟเผา คนอื่นๆ บ้างก็ถูกซ้อม บ้างก็ถูกยิงตาย “ผู้อยู่ในธรรมศาสตร์ขอร้องให้ตำรวจหยุดยิง ตำรวจก็ไม่หยุด ขอให้หยุดชั่วคราวเพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมีโอกาสหนีออกไป ตำรวจก็ไม่ฟัง”
11.00 น. หลังจากตำรวจบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว นักศึกษาประชาชนถูกสั่งให้นอนคว่ำ แล้วควบคุมตัวไว้ทยอยลำเลียงขึ้นรถเมล์และรถสองแถวส่งไปขังตามสถานีตำรวจต่างๆ (มี 3 แหล่งใหญ่ๆ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน) มากกว่า 3,000 คน ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือแต่เสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้น ระหว่างที่คลานไปตามพื้นก็ถูกเตะถีบจากตำรวจ ระหว่างขึ้นรถก็ถูกด่าทออย่างหยาบคายและถูกขว้างปาเตะถีบจากตำรวจและอันธพาลกระทิงแดง ลส.ชบ. ระหว่างลงจากรถไปยังที่คุมขังก็ถูกตำรวจปล้นชิงทรัพย์สินและของมีค่าไป


     กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กำชับการอยู่เวรยาม ให้เจ้าหน้าที่สื่อสารคอยรับฟังข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสดับตรับฟังข่าวในเขตจังหวัด ป้องกันการก่อวินาศกรรมสถานที่ราชการ และหาทางยับยั้งอย่าให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

     กทม.สั่งปิดโรงเรียนในสังกัดโดยไม่มีกำหนด กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 กระทรวงยุติธรรมสั่งหยุดศาลต่างๆ 1 วัน

11.50 น. สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล

12.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า
1. เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสยามมกุฎราชกุมารได้แล้ว 6 คน จะดำเนินการส่งฟ้องศาลโดยเร็ว
2. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว
3. รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด

12.30 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีการพูดกลางที่ชุมนุม โดยนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ให้ปลดรัฐมนตรี 4 คน คือนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยแต่งตั้งให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ในที่ชุมนุมมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกับผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเฉียบขาด

     นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหาร พวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ

     บ่ายวันนั้นมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ และพล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เข้าชี้แจงเหตุการณ์ต่อที่ประชุม ครม.

14.20 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าส่วนหนึ่ง ประมาณ 4,000 คน เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทน 5 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปรับปรุง ครม. และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะพิจารณาดำเนินการ

17.00 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่สลายตัว

18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ ความว่า “ขณะนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน…” โดยมีเหตุผลในการยึดอำนาจการปกครอง คือ “…คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประจักษ์แจ้งถึงภัยที่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”

     สรุปความเสียหายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ตามตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 คน (ในจำนวนนี้เป็นตำรวจเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 23 คน) นักศึกษาประชาชนถูกจับกุม 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน ขณะที่แหล่งข่าวอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 530 คน ส่วนทรัพย์สิน (จากการสำรวจของคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีครุภัณฑ์และวัสดุของคณะต่างๆ เสียหายเป็นมูลค่า 50 กว่าล้านบาท ร้านสหกรณ์มีสินค้าและทรัพย์สินเสียหาย 1 ล้าน 3 แสนบาท สิ่งของมีค่าหายสาบสูญ อาทิ โทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป เทปบันทึกเสียง เครื่องเย็บกระดาษ เสื้อผ้า เงินสด รายงานแจ้งว่า “หน้าต่างถูกทุบและโดนลูกกระสุนเสียหาย โต๊ะเก้าอี้พัง ห้องพักอาจารย์ถูกรื้อค้นกระจัดกระจาย”

24 สิงหาคม 2520
     อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ พิจารณาสำนวนสอบสวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องนักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ต้องหาจำนวน 18 คน

16 กันยายน 2521
     ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ได้รับการนิรโทษกรรม พร้อมกับผู้ต้องหาในศาลอาญาอีก 1 คน คือนายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

18 กันยายน 2521
     สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สมธ.) ร่วมกับสโมสรนักศึกษา 8 แห่ง จัดงานรับขวัญ “ผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลา” ที่ลานโพธิ์

ที่มา :
(1) คัดลอกและเรียบเรียงจาก จุลสาร “พิสุทธ์” เนื่องในงานรำลึกวีรชนเดือนตุลา จัดพิมพ์โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
(2) จุลสาร “ตุลา สานต่อเจตนาวีรชน” จัดพิมพ์โดย พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง
(3) หนังสือ “รอยยิ้มในวันนี้” คณะกรรมการบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2522

การล้อมสังหาร ๔ พ.ค. ๑๙๗๐ -โอไฮโอ

     "การกระหน่ำยิงที่มหาวิทยาลัยเคนต์" หรือในอีกชื่อว่า "การล้อมสังหาร 4 พฤษภาคม" เกิดขึ้นในระหว่างที่นักศึกษา Kent State University ในเมือง Kent มลรัฐ Ohio ก่อการประท้วงรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดี Richard Nixon ประกาศเรื่องการส่งกำลังทหารเข้ารุกรานกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1970 และในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม มีการส่งกองกำลังรักษาดินแดนของรัฐโอไฮโอ หรือ Ohio National Guard เข้าปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุมของนักศึกษา    
     หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป 1 ปี 2 ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงโฟล์คร็อกผู้ยิ่งใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือและของโลกดนตรี จึงเขียนเพลงเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมในการเรียกร้องเสรีภาพและสันติภาพในครั้งนั้น เพลงแรกที่ปรากฏในภาพยนตร์สารคดีสั้น (คลิปที่ 1) นี้ คือ"Find the Cost of Freedom" ประพันธ์โดย Stephen Stills และอีกเพลงหนึ่งคือ "Ohio" ประพันธ์โดย Neil Young
ผลจากคำสั่งระดมยิง 67 ชุดในเวลา 13 วินาที เป็นเหตุให้นักศีกษาชายหญิงเสียชีวิตทันที่ 3 ราย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก 1 ราย และบาดเจ็บอีก 9 ราย นำไปสู่การประท้วงหยุดเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาจำนวน 4 ล้านคน   จากสถาบันการศึกษาทุกระดับทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และแพร่ขยายไปทุกวงการและองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคม





ที่มา : http://arinwan.co.cc

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ที่มา : “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” , วิษณุ เครืองาม
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ,(กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์) , ๒๕๒๓, หน้า ๑๓๒-๑๓๔


"…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปแต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7
มาตรา ๑ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบ ต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา ๓ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี

มาตรา ๕ ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้แต่ให้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ รัฐธรรมนูญ (๒)

เสวนา ๑๐๐ ปีชาตกาล 'หยุด แสงอุทัย' : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ (๒)

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)

ผู้ดำเนินรายการ : กล่าวนำ
     วันที่ 27 มิถูนายน นอกจากเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังเป็นวาระครบ 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ซึ่งเป็นบรมครูของวงการนิติศาสตร์ไทย. 'หยุดฯ' เคยถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ โดยเวลานั้นเป็นกฎหมายลักษณะอาญา จำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 5000 บาท สาเหตุเพราะเขียนบทความเผยแพร่ในวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ บทความชื่อ อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย เผยแพร่เมื่อวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2499 ข้อความตอนหนึ่งในบทความว่า

"ในเวลานี้ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคน เอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิสามประการ คือสิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือนไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิสามประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้นอาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง"

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ รัฐธรรมนูญ (๑)

เสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’ : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ

ดร.ณัฐพล ใจจริง
อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

แนวคิดนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณี VS สำนักรัฐธรรมนูญนิยม
     นอกจากวันนี้จะเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ยังเป็นวันที่สองที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพูดในวันนี้คือเพื่อเป็นเกียรติแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

     หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อยู่ในมาตราที่ 1 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) 2475 คงทราบกันดีว่าจริงๆ แล้วฉบับนี้ อาจารย์ปรีดี มุ่งหวังใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป เหตุผลก็คือ ข้อความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ถ้ากล่าวอย่างสั้นๆ ประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 26 มิ.ย. 2475 คือการทำให้โครงสร้างสังคมก่อนปี พ.ศ. 2475 ที่พระมหากษัตริย์อยู่บนสุดของสามเหลี่ยมปิรามิด ประชาชนอยู่ข้างล่าง พอปี 2475 เปลี่ยนเอาฐานของปิรามิดให้พลเมืองขึ้นมาอยู่ข้างบน ดังนั้น พอมีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 พระปกเกล้าฯ กลับขึ้นมาอีก จึงมีในส่วนที่ระบุว่า อำนาจของประชาชนนั้นมีพระมหากษัตริย์ใช้แทนผ่านสามสถาบันทางการเมือง โดยข้อความนี้ยังดำรงอยู่มาตลอด

     หลังปี 2475 ในตำราหลายเล่มที่ศึกษารัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่สนใจแต่บทบัญญัติว่า มาตรานี้ว่าไว้อย่างไร แต่ไม่ค่อยมีใครศึกษาเรื่องความคงเส้นคงวา ความเปลี่ยนแปลง และการเพิ่มขึ้นมาของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าควรจะมีการศึกษาภาพรวมที่มีความต่อเนื่องยาวนาน โดยได้ลงไปศึกษาหมวดพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2475-2500 ว่านักกฎหมายให้คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเหล่านั้นอย่างไร โดยในที่นี้ให้ความสนใจเรื่องการสร้างคำอธิบาย เพราะความเหล่านั้นแม้ถูกจารึกในรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีชีวิต ไม่ถูกประยุกต์หรือมีอิทธิพลต่อความคิดทางสังคม ถ้าไม่มีคนให้ความหมายมัน

     หลังปี 2475 นักกฎหมายที่สนับสนุนทั้งระบอบเก่าและใหม่ก็พยายามใช้ความรู้ทางกฎหมายของตนเองอธิบายตำราออกมา โดยขอแบ่งแนวคิดนักกฎหมายหลังปี 2475 จากคำอธิบายรัฐธรรมนูญเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม traditionalism (สำนักจารีตประเพณี) กับกลุ่ม constitutionalism (สำนักรัฐธรรมนูญนิยม)

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและพหุการเมือง

พัฒนาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและพหุการเมือง
วัชรา ไชยสาร*

     ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ได้ให้คำนิยามของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ที่ได้รับการยอมรับและนำไปอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางว่า “การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” (government of the people, by the people, and for the people)

     ความหมายของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประชาชนทำหน้าที่ปกครองตนเองโดยตรง (Direct Democracy) นั้น เป็นอุดมคติ เพราะในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถกระทำได้ จึงเกิดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Indirect Democracy or Representative government) โดยประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นทำหน้าที่แทนตน แล้วผู้แทนเหล่านั้นมีหน้าที่ร่วมกันกำหนดทั้งผู้ปกครอง (รัฐบาล) นโยบาย และวิธีการปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งเป็นหลักการและกระบวนการทางการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามคำนิยามของอับราฮัม ลินคอล์น

     การที่ประชาชนทำหน้าที่ปกครองด้วยตนเองโดยตรง หรือการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนนั้น เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้กระบวนการทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทุกกระบวนการ ทุกระดับ และทุกมิติ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชาชนต้องมีคุณสมบัติที่เอื้อหรือสนับสนุนต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น มีความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง หรือติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างจริงจัง เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประชาชนต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองตามทัศนะที่ว่า “กิจกรรมทางการเมืองการปกครองเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องเอาใจใส่รับผิดชอบจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธให้พ้นความรับผิดชอบของตนหาได้ไม่” หรือ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน”2