ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อารัมภบทเมื่อฤดูหนาวปี ๒๕๔๔ ผมไปล่องแม่น้ำโขงจากตอนใต้ของจีนระยะทาง ๒๐๐ กิโลเมตร ผ่านแดนพม่าทางด้านขวา ผ่านแดนลาวด้านซ้าย จาก "สี่เหลี่ยม (ที่ไม่ค่อยจะมี) เศรษฐกิจ" ที่ดีและก็ไม่ค่อยจะรักษาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมนัก ลงมาจะถึง "สามเหลี่ยมทองคำ" ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
เราเริ่มต้นจากการบินจากกรุงเทพฯ ไปเมืองคุนหมิง เที่ยวแล้วก็นอนที่นั่นคืนหนึ่ง วันรุ่งขึ้นบินไปเมืองเชียงรุ่ง (หมายถึงรุ่งเช้า ไม่ใช่เชียงรุ้ง หรือรุ้งกินน้ำ) ในแคว้นสิบสองปันนาของชนชาติไตหรือไท (ที่ไม่มี ย. ยักษ์) สัมผัสกับ "ไต/ไทลื้อ" ในดินแดนที่กำลังกลายเป็น "จีนฮั่น" ไปจนเกือบหมด
จากเมืองเชียงรุ่งเราตื่นตีสาม ขึ้นรถทัวร์ตีสี่ แล้วนั่งรถไต่เขามาเรื่อย ๆ มาถึงสุดชายแดนจีน หมอกลงหนาทึบแทบไม่เห็นทาง (และก็ดีที่ไม่เห็นเหวลึกเบื้องล่าง) เราลงเรือเหล็กท้องแบนของจีนที่แม่น้ำโขงประมาณเจ็ดโมงเช้า แล้วก็ล่องลิ่วลงมาตามเกาะแก่งทั้งหลายเป็นเวลาถึง ๑๑ ชั่วโมง ถึงเชียงแสนก็ค่ำแล้วประมาณสองทุ่ม นี่เป็นการเดินทางซึ่งผมคิดว่าประทับใจและสุดยอดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
ในระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงกลายเป็นหัวข้อสัมมนาวิชาการที่สุด "ฮิต" และสุด "เซ็กซี่" ในวงวิชาการ ว่ากันว่าทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นเดินกันให้ว่อนที่ ม. เชียงใหม่ ม. ขอนแก่น ม. อุบลฯ หรือไม่ก็แถวจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เพื่อ "ไล่จับ" นักวิชาการไทย แจกทุนวิจัยหลายสิบล้าน มีทั้งการจัดสัมมนาน้อยใหญ่หลายครั้งติด ๆ กัน ที่ ม. อุบลราชธานี ที่สถาบันราชภัฏอุบลฯ (ซึ่งกำลังจะแปลงร่างเป็นมหาวิทยาลัย) ที่ธรรมศาสตร์ก็มีการจัดโดยเชิญทูตลาวและตัวแทนจีนมาร่วม (หรือมาแก้ตัวและเสนอภาพดี ๆ ของโครงการหลายแหล่ที่กำลังกระทำกับแม่น้ำโขง) ส่วนที่ ม. เชียงใหม่จัดสองครั้งติด ๆ กัน
ลี้ลับแม่น้ำโขง
ความ "ร้อนแรง" ของประเด็นแม่น้ำโขง ทำให้ผมต้องหยิบหนังสือเกี่ยวกับแม่น้ำสายมหัศจรรย์นี้ มาดูหลายเล่มก่อนเดินทางไป (แสร้ง) "สำรวจ" ระยะทางน้ำกว่า ๒๐๐ กิโลเมตร จากเชียงรุ่ง (ยูนนาน) ถึงเชียงแสน (เชียงราย) ด้วยตนเอง มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ "แปลก" และผมชอบใจมาก คือ คู่มือแม่น้ำโขง เป็นงานตีพิมพ์ของกองบัญชาการทหารสูงสุดไทย พิมพ์มานานแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๖
หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลอะไรต่อมิอะไรมากมาย มีรูปเยอะแยะ และตีตราว่า "ใช้ในราชการ" แสดงว่าแต่เดิมมิได้แพร่หลายนัก ดูจากปีตีพิมพ์ ๒๕๑๖ โดย บก. สส. ของไทย ก็ทำให้พอมองภาพออกว่า นี่เป็นช่วงก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะแพ้สงครามในอินโดจีนทั้งสามประเทศ (๒๕๑๘) และน่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวพันกับ "ความมั่นคง" ทางการทหารและการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (และรัฐบาลทหารไทย) เป็นอย่างมาก
สรุป หนังสือเล่มนี้พิมพ์ก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ก่อนคณาธิปไตยถนอม-ประภาส-ณรงค์จะล่ม ก่อนอเมริกาจะแพ้สงครามฯ ดังนั้นจึงเป็นเอกสารราชการที่เกี่ยวกับ "สงครามเย็น" และการปราบปรามคอมมิวนิสต์ยุคนั้น หนังสือนี้มีข้อมูลบรรยายบรรดาจังหวัดทั้งหมดของไทย ที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง และก็พยายามจะหาข้อมูลที่เกี่ยวกับลาวฝั่งทางโน้น ซึ่งหนังสือบอกว่าแสนจะหาข้อมูลได้ยาก ในคำนำหนังสือถึงกับบอกตรง ๆ ว่าแม่น้ำโขง "ลึกลับ"
น่าสนใจที่มีการใช้คำว่า "ลึกลับ" ความลึกลับสมัยนั้นอาจเป็นเพราะต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง ที่มาจาก "หลังคาโลก" บนที่ราบสูงทิเบต ดินแดนที่คอมมิวนิสต์ปกครองอยู่ อะไร ๆ ที่เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์จึงลี้ลับ มืด และน่ากลัวไปหมด หนังสือถึงกับบอกว่า ไม่เคยมีการสำรวจ และทำแผนภูมิแม่น้ำสายนี้อย่างสมบูรณ์มาก่อนเลย
ถึงตรงนี้ผมก็ต้องตั้งเครื่องหมายคำถามเอาไว้ เพราะว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้ว อเมริกัน (ที่มีส่วนในการทำหนังสือภาษาไทยเล่มนี้ของ บก. สส. ไทย) ที่เข้ามาในดินแดนแถบบ้านเราในยุคสงครามเย็น (หรือยุคสงคราม ๓๐ ปีในอินโดจีน ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๗๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๑๘) นั้น คงไม่มีความรู้หรือความคุ้นเคยกับแม่น้ำโขงเท่าไร นี่เป็นดินแดนในเขตอิทธิพลของจีน ฝรั่งเศส และอังกฤษมาก่อน
ในยุคอาณานิคมาภิวัตน์ (colonization ประมาณตรงกับรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕) นั้น อเมริกายังกระมิดกระเมี้ยนอยู่กับ "ลัทธิมอนโร" ของตน คือหลักการที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก ครั้นเริ่มต้นล่าอาณานิคมกับเขาบ้าง ก็จำกัดอยู่บริเวณชายขอบของอุษาคเนย์ อย่างเช่นในกรณีเข้ายึดครองฟิลิปปินส์จากสเปนและจาก "นักปฏิวัติ" กู้ชาติของฟิลิปปินส์ เช่น โฮเซ ริซาล และโบนิฟาสซิโอ ฯลฯ
ส่วนผู้นำไทยยุคนี้ "ก่อนและหลังรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี" ที่เป็นมหามิตรของอเมริกันนั้น เอาเข้าจริง ๆ "ไทย" เรา (หมายถึงเฉพาะไทยที่มี "ย" ยักษ์ หรือไทยสยามภาคกลาง) ก็คงไม่มีความรู้เรื่องแม่น้ำโขงเท่าไร (เหมือน ๆ กับที่ไทยเราชาวกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้เรื่องของ "บั้งไฟพญานาค วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑") ต่างกับกลุ่มล้านนา ล้านช้าง (ลาว) รวมทั้งขอมเขมร และเวียดนามที่ดูจะรู้จักและคุ้นเคยกับแม่น้ำโขงมากเสียกว่า
ข้อมูลใหม่แม่น้ำโขง
เมื่อดูจากแผนที่ จะเห็นได้ว่าแม่น้ำโขงไหลมาจากที่ราบสูงทิเบต เหนือเมืองต้าลี่ขึ้นไป ใกล้กับแถวที่เป็นอาณาจักรน่านเจ้าซึ่งเราเคยเชื่อกันนักกันหนาว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย หรือ "เมืองไทยเดิม" ปัจจุบันนักวิชาการรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีใครเชื่อในทฤษฎีหรือสมมุติฐานว่า "น่านเจ้า" เป็นอาณาจักรของคนไทยนัก
แม่น้ำโขง ตามสถิติข้อมูลเก่า ยาว ๔,๘๐๙ กิโลเมตร นับเป็นลำดับที่ ๑๒ ของโลก แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีนักสำรวจชาวจีนพบว่ายาวกว่านั้นอีก ๑๐๐ กิโลเมตร (คือ ๔,๙๐๙ กิโลเมตร) ทำให้แม่น้ำโขงขึ้นอันดับแม่น้ำที่มีความยาวเป็นที่ ๑๐ ของโลก และเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์ ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงไหลคู่ขนานกับแม่น้ำแยงซี ก่อนที่จะวกลงใต้สู่อุษาคเนย์ ไหลผ่านหกประเทศ (จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม)
รายละเอียดใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับแม่น้ำโขงนั้น นักวิทยาศาสตร์จีนเป็นผู้ไขข้อปัญหานี้ด้วยการใช้ระบบ remote-sensing ศึกษา นายหลิว เสี่ยวจวง (Liu Shaochuang) จาก Institute of Remote Sensing Application ซึ่งร่วมงานกับสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (The Chinese Academy of Science) ศึกษาวิจัยจนกำหนดได้ว่าจุดเริ่มต้นของแม่น้ำโขงนั้น อยู่ที่ ๙๔ องศา ๔๐ ลิปดา ๕๒ พิลิปดาทางด้านทิศตะวันออกของเส้นแวง และ ๓๓ องศา ๔๕ ลิปดา ๔๘ พิลิปดาทางทิศเหนือของเส้นรุ้ง จุดภูมิศาสตร์ดังกล่าวนี้อยู่ในหุบเขาจิฟู (Jifu) ในเขตปกครองตนเองยูชุ (Yushu) ของทิเบต ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง ๕,๒๐๐ เมตร
ที่นายหลิวคำนวณออกมาว่าแม่น้ำโขงยาว ๔,๙๐๙ กิโลเมตรนั้น มีรายละเอียดว่าอยู่ในจีน ๒,๑๙๘ กิโลเมตร ส่วนนี้ไม่เรียกว่าแม่น้ำโขง กลับเรียกว่า "แม่น้ำล้านช้าง" ครั้นออกจากจีนก็ไหลผ่านอุษาคเนย์อีกห้าประเทศ เป็นระยะทาง ๒,๗๑๑ กิโลเมตร งานสำรวจข้อมูลใหม่นี้นายหลิวเริ่มมาแต่ปี ๒๕๔๒ และใช้เวลาถึง ๓ ปี ทำการสำรวจโดยขึ้นไปเก็บข้อมูลด้วยตนเองในทิเบตถึงสองครั้ง
กล่าวโดยสรุป แม่น้ำโขงมีลักษณะพิเศษสำคัญ ๓ ประการ คือ
(๑) ขนาด
(๒) ทรัพยากรธรรมชาติ
(๓) พหุลักษณ์
(๑) ขนาด แม่น้ำโขงมีขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารมาก มีเนื้อที่กว้างขวาง เป็นแม่น้ำนานาชาติผ่านถึงหกประเทศ ที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำโขงมีอาณาเขต ๘๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร (หรือเกือบสองเท่าของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด) เพราะฉะนั้นแม่น้ำโขงจึงเป็นที่ชื่นชอบของนักภูมิศาสตร์ เป็นที่ชื่นชมของนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ พูดง่าย ๆ ความน่าสนใจของแม่น้ำโขงอยู่ที่ความใหญ่โต นักภูมิศาสตร์บอกว่าเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อแม่น้ำโขงไหลมาได้เป็นระยะทางยาวไกล ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ไปออกที่ปากน้ำบริเวณเวียดนามตอนใต้ กระแสน้ำนำตะกอนตั้งแต่ทิเบตไปจนออกทะเล พัดพาข้ามอ่าวไทย เอาตะกอนไปตกอีกฟากหนึ่ง กลายเป็นสันเขื่อนกั้นทำให้เกิดเป็น "ทะเลสาบสงขลา" ขึ้นมาอย่างน่าพิศวง
สรุป ทะเลสาบสงขลาเกิดขึ้นได้ก็เพราะดินตะกอนน้ำโขง ชะล้างลงมาไกลแสนไกลจาก "หลังคาโลก" จนถึงอ่าวไทย เมื่อดูในภาพรวมแล้วก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
เชื่อหรือไม่ว่า หากท่านเคาะดูจากอินเทอร์เน็ต ในเว็บไซต์ google ด้วยคำว่า Mekong River ท่านจะพบว่าสามารถค้นคำนี้ได้ถึงประมาณ ๘๓,๐๐๐ รายการ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะค้นให้หมดได้อย่างไร
(๒) ทรัพยากรธรรมชาติ แม่น้ำโขงมีทรัพยากรมากมายมหาศาล นักเศรษฐศาสตร์ นายทุน นักพัฒนา (ประเภทเมกะโปรเจ็กต์) ทั้งหลายทั้งปวง สนอกสนใจเป็นพิเศษ ลุ่มแม่น้ำโขงมีทั้งแร่ธาตุ (มีทองคำที่กำลังขุดกันในลาว) มีป่า มีสัตว์บกและสัตว์น้ำ (ที่หายาก และมีที่เดียวในโลก อย่างเช่น ปลาบึก หรือโลมาน้ำจืด) มีความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเขตร้อน (เป็นรองก็เพียงแม่น้ำแอมะซอนในบราซิลเท่านั้นเอง) แม่น้ำโขงเป็นที่ต้องตาต้องใจของนักอาณานิคมและนักจักรวรรดินิยม (ทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักอาณานิคมาภิวัตน์แบบยุโรปในอดีต หรือนักโลกาภิวัตน์แบบอเมริกันในปัจจุบัน ที่ตื่นเต้น "กรี๊ดกร๊าด" เป็นพิเศษ)
ในอดีตนักล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็แก่งแย่งแม่น้ำโขงกัน แล้วก็มาชนกันทำให้ไทยสยามถูก "แซนด์วิช" อยู่ตรงกลาง และก็ช่วยให้รักษาเอกราชไว้ได้ในสภาพของ "รัฐกันชน" หรือ buffer state ด้วยสนธิสัญญากรุงปารีสระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๓๙ (๑๘๙๖) ที่ประกันความเป็นกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมายุคหลังในกรณีจักรวรรดินิยมอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งมหาอำนาจ "ระดับท้องถิ่น" อย่างไทย ก็สนใจแม่น้ำโขงมาก ๆ เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง
(๓) พหุลักษณ์ ในประเด็นสุดท้ายของแม่น้ำโขง คือ ความหลากหลายและแตกต่างสุดจะพรรณนา ความยาว ๔,๙๐๙ กิโลเมตร รวมทั้งอาณาบริเวณสองฟากฝั่ง เต็มไปด้วยพหุลักษณ์ของชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ถ้าตีวงแคบ ๆ เพียงแค่สองฝั่งแม่น้ำก็มีผู้คนเกือบ ๑๐๐ ล้านเข้าไปแล้ว แต่ถ้าตีความอย่างกว้าง ก็กว่า ๒๐๐ ล้านคน ผู้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่กินอยู่อย่างยากจน มีลักษณะสังคมดั้งเดิมตามประเพณี และด้อยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกสมัยใหม่ ดังนั้นนักวิชาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของตะวันตก) ก็จะบอกว่า "นี่เป็นสวรรค์ของนักมานุษยวิทยา" (paradise of anthopologists) เลยทีเดียวละ เพราะมีมนุษย์หลายเผ่าหลายพันธุ์ไว้ให้ศึกษาได้ไม่รู้จบ ถ้าจะว่าไป ไม่เพียงแต่นักมานุษยวิทยาหรือนักสังคมวิทยาเท่านั้น นักอะไรต่อมิอะไร ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจมินิหรือเมกะเอ็มบีเอ นักประวัติศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา ตลอดจนผู้ที่สนใจเรื่องสภาพแวดล้อมนิเวศวิทยา เอ็นจีโอ ต่างก็สนใจแม่น้ำโขงกันทั้งนั้น ผู้คนในที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำ มีไว้เพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือไม่ก็เพื่อแสวงหาผลประโยชน์
ดังนั้น ล่าสุดเลยก็คือการที่รัฐบาลจีนสนอกสนใจที่จะ "พัฒนา" แม่น้ำโขงเป็นกรณีพิเศษ (หลังจากที่ฝรั่งได้พยายามมาครั้งแล้วครั้งเล่า) ตั้ง "สำนักงานพัฒนาแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง" ขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ และในเดือนเมษายน ๒๕๔๓ ก็มีการลงนามใน "สนธิสัญญาเพื่อการเดินเรือพาณิชย์โดยเสรีในแม่น้ำโขง" ระหว่างจีน ลาว พม่า ไทย ครั้นถึงปี ๒๕๔๔ ก็เริ่มเปิดการติดต่อและเดินเรือดังกล่าว อันเป็นที่มาของปัญหาการระเบิดเกาะแก่งต่าง ๆ ที่กีดขวางการเดินเรือระหว่างประเทศ อันนำมาสู่ความขัดแย้งในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน
แม่น้ำโขง : ชื่อนั้นสำคัญไฉน
นั่นเป็นเรื่องในระดับรัฐ ระดับราชการ และ/หรือนักวิชาการ ทีนี้ สมมุติว่าเราไม่ได้เป็นนักวิชาการ (เพราะผู้เขียนดันเป็นนักวิชาการ) ถ้าเรามิได้เป็น "นัก" อะไรต่อมิอะไร เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แม่น้ำก็คือแม่น้ำ แม่น้ำคือที่อาศัยอยู่อาศัยกิน ชาวบ้านธรรมดาอาจไม่ทราบ (และก็ไม่จำเป็นต้องทราบ) ว่า แม่น้ำที่เราอยู่กินนี้ เป็นสายเดียวกับแม่น้ำที่มาจากทิเบตและไปออกทะเลที่เวียดนามใต้
แม่น้ำโขงนี้กว่าจะมีชื่อเรียกว่า "แม่โขง" ตลอดทั้งสายจริง ๆ อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันและเป็นสากล ก็พัฒนามายาวนาน กล่าวคือเมื่ออยู่ในเมืองจีนก็มีชื่อว่า "แม่น้ำหลานซาง" หรือ "แม่น้ำล้านช้าง" และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่ออยู่ในทิเบต (ถ้าหากจะถือว่าทิเบตเป็นอีกประเทศหนึ่งที่แตกต่างจากจีน) กลับมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า "ต้าจู" (Dzachu) ซึ่งแปลว่า "แม่น้ำหิน" หรือ "น้ำหิน"
ไม่แน่ใจว่าคำว่า "ล้านช้าง" นั้นกินใจความหรืออาณาบริเวณแค่ไหน ตลอดระยะทาง ๒,๑๙๘ กิโลเมตรที่อยู่ในเมืองจีน เป็นไปได้ว่าอาจมีชื่ออย่างอื่นอีกก็ได้ และคำว่า "ล้านช้าง" นี้อาจจะเป็นชื่อที่เก่าแก่แล้วเลื่อนไหลลงมา กลายไปเป็นชื่อของอาณาจักรล้านช้าง (คู่กับ "ล้านนา" ทำนองเดียวกับเมือง "ยอร์ก" ในอังกฤษ ไหลเลื่อนข้ามมหาสมุทรไปเป็น "นิวยอร์ก" ในอเมริกา)
แม่น้ำโขง เมื่อเข้ามาอยู่ในเขตที่เรียกว่าไท-ลาวก็เคยมีชื่อดั้งเดิมว่า "น้ำของ" เพราะฉะนั้นอำเภอ (หรือเมือง) เชียงของ น่าจะเป็นชื่อที่เก่าแก่ที่สุดที่กลายเป็น "โขง" ในความหมายของพวกรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้ ที่เปลี่ยนเสียงจาก "สระออ" มาเป็น "สระโอ" (แถมยังนำไปตั้งเป็นชื่อของสุราเข้าอีก กลายเป็นที่แพร่หลายยอมรับไปในระดับสากล และคำว่า "ของ" ก็เลือนหายไปโดยปริยาย)
เราไม่ทราบว่าคำว่า "ของ" หรือ "โขง" มีต้นกำเนิดมาจากไหน หากเชื่อในวัฒนธรรม "ราษฎร์" ก็อาจจะตีความว่ามาจากสัตว์เลื้อยคลานที่น่าสะพรึงกลัว คือ "เข้" หรือ "ของ" แต่ถ้าเชื่อในวัฒนธรรม "หลวง" ก็อาจตีความลากเข้าวัด กลายเป็นว่าเพี้ยนมาจาก "คงคา" แม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์
แม่น้ำโขงเมื่อไหลลงใต้ผ่านดินแดนไทยและลาว ไปจนจรดที่ราบสูงสุดแดนลาวที่แขวงจัมปาสัก แม่น้ำตกลงไปในกัมพูชา บริเวณดังกล่าวเป็น "น้ำตกใหญ่ที่สุดในเอเชีย" ว่ากันว่าน้ำตกตรงบริเวณนั้นมีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำตกไนแอการาเสียอีก เมื่อลงไปในกัมพูชาแล้วแม่น้ำโขงเปลี่ยนชื่อเรียกกลายเป็น "ตนเลธม" (แปลว่าแม่น้ำใหญ่) ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำป่าสักตรงหน้ากรุงพนมเปญ
คำว่า "ตนเล" นี้เป็นคำคำเดียวกับ "ตนเลซัป" หรือ "ทะเลสาบ" เขมร ในภาษาเขมร คำว่า "ตนเล" หรือทะเลนั้น แปลว่า "บึง-หนอง-หรือแม่น้ำ" ไทย-ลาวรับคำนี้มา แต่ใช้ในความหมายที่ใหญ่โตกว่า คือ กลายเป็นทะเล (น้อง ๆ ของสมุทร) ส่วนคำว่า "สาบ" ก็เป็นภาษาเขมรเช่นกัน แปลว่า "จืด"
ใครที่เคยไปพนมเปญก็จะทราบดีว่า ตรงหน้าเมืองที่มีพระราชวังของพระมหากษัตริย์ขอมเขมร (ที่ถูกคนไทย "กล่าวหา" อยู่เรื่อย ๆ ว่า ขอมเขมรลอกไปจากกรุงเทพฯ ) นั้น เรียกว่า "จตุรมุข" คือ มีแม่น้ำทะเลสาบ (หรือทะเลธม) น้ำโขง และน้ำป่าสักมาเจอกัน กลายเป็นสี่สาย (แม่น้ำโขงถือเป็นสองสาย เพราะไหลมาจากเหนือ แล้วไหลลงไปทางใต้)
บริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่ขอม/เขมรเมื่อเสียกรุงยโสธรปุระ (หรือนครวัดนครธม) ให้แก่อยุธยาสมัยพระเจ้าสามพระยาแล้ว ก็หนีไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ละแวก ครั้นเสียเมืองละแวกให้พระนเรศวร ก็หนีไปสร้างเมืองอุดง ครั้นสลัดแอกจากการเป็น "ประเทศราช" ของสยาม (รัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๔) ไปขึ้นเป็น "รัฐในอารักขา" ของฝรั่งเศส ก็ไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่พนมเปญ แต่ขอม/เขมรก็โชคร้าย "หนีเสือปะจระเข้" เพราะไปใกล้เวียดนามที่คืบคลานเข้ามาทางด้านตะวันออก
บริเวณจตุรมุข (ไม่ไกลจากสถานทูตไทยเท่าไร) งดงามมาก เข้าใจว่าแต่เดิมขอม/เขมรอาจจะเรียกแม่น้ำนี้ว่า "ทะเลสาบ" หรือ ตนเลซัป (หรือตนเลธม) บริเวณนี้ในหน้าน้ำหลาก น้ำที่ไหลลงมาจากทางเหนือจากคอนพะเพ็ง มีปริมาณน้ำมากมายมหาศาล ไหลลงใต้ไปออกเวียดนามไม่ทัน ล้นเอ่อท่วมท้นดันขึ้นเหนือ จนกระแสน้ำทวนเข้าไปใน "ทะเลสาบ" (Tonle Sap) คือ ดันขึ้นไปจนถึงเมืองพระตะบองและเสียมเรียบ ไปจนถึง "นครวัดนครธม" (หรือกรุงศรียโสธรปุระ)
ในฤดูฝน ทะเลสาบเขมรจะใหญ่กว่าปรกติถึงสามเท่า ทำให้บริเวณนั้นกลายเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร (ปลา) อันเป็นฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอาณาจักรขอมเขมรโบราณถึงกว่า ๖๐๐ ปี นับเป็นอาณาจักรที่ยืนยาวที่สุดแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์ก่อนที่จะ "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพอยุธยา จนต้องย้ายไปอยู่ละแวก อุดง และพนมเปญ ตามลำดับดังที่กล่าวมาแล้ว (แต่อู่ข้าวอู่น้ำในทะเลสาบ ก็กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำลดน้ำน้อยเนื่องจากการสร้างเขื่อนปั่นไฟฟ้าของจีน)
เมื่อแม่น้ำโขงออกจากกัมพูชาเข้าไปในเวียดนาม ก็มีอีกชื่อใหม่เป็นภาษาเวียดนามว่า "เกาลอง" หรือ "เก้ามังกร" แตกแยกสาขาออกมากมายในบริเวณที่เรียกว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) บริเวณปากแม่น้ำโขงในเวียดนามนี้ก็เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนามใต้ เป็นบริเวณที่ปลูกข้าวได้ผลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เช่นเดียวกัน เวียดนามใต้กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงลด และน้ำทะเลกับความเค็มของเกลือกำลังคืบคลานเข้ามา (ทำนองเดียวกับสวนผลหมากรากไม้ของแถวฝั่งธนบุรี ที่ได้ล่มไปแล้ว)
จะเห็นได้ว่าความหลากหลายของแม่น้ำโขง แม้กระทั่งชื่อเรียกก็ไม่เหมือนกัน ในแต่ละที่ แต่ละถิ่น แต่ละวัฒนธรรมเรียกกันต่างออกไป จะเหมือนกันก็ในยุคสมัยใหม่ของเรานี่เอง ที่เมื่อมีการศึกษาในระบบโรงเรียน ระบบสื่อสารคมนาคมสากล ทำให้เราเรียกชื่อแม่น้ำเหล่านี้เหมือนกันหมดว่า "แม่โขง" หรือสะกดเป็นภาษาอังกฤษบรรทัดฐานว่า The Mekong River
จากเชียงรุ่งถึงเชียงแสน
ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเชียงรุ่ง มีโปสเตอร์ติดไว้เตะลูกตา (ที่ผมแอบแกะเอามา) มีข้อความเป็นภาษาจีน อ่านตามสำเนียงไทยว่า "ลานจังเจียง" ซึ่งแปลว่า "แม่น้ำล้านช้าง" มีข้อความภาษาอังกฤษแถมอีกว่า Lancangjiang-Mekong River Youth Friendship Voyage 2001.12.21-2002.1.1 ถ้าจะแปลเป็นไทยคงได้ความว่า "เส้นทางมิตรภาพเยาวชนแห่งแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง" มีรูปเรือท้องแบนขนาดกลางสามชั้นดูหรูหรา เชื้อเชิญให้ไปเที่ยว
แผนที่ดังกล่าวแสดงเส้นทาง ไล่เลาะตามลำน้ำจากเชียงรุ่ง ผ่านวังปุง (Wan Pung) เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ พนมเปญ จนถึงมีโทในเวียดนามใต้ (และถึงนครโฮจิมินห์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไซ่ง่อน) อย่างไรก็ตาม "ทริป" ที่โฆษณาไว้นี้ทำเป็นจุดไข่ปลาสีแดงว่าล่องไปถึงเพียงแค่หลวงพระบางเท่านั้น (ช่วงส่งท้ายปีเก่า ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ถึงต้อนรับปีใหม่ ๑ มกราคม ๒๕๔๕) นี่เป็นความพยายามของจีน (ผ่านองค์กรของเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน โดยอ้างว่าร่วมเยาวชนพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม) ที่จะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเข้าสู่อุษาคเนย์
อันว่าเมืองเชียงรุ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นการล่องแม่น้ำโขงนั้น นักวิชาการไทยมากหน้าหลายตาพากันไปเยี่ยมเยือนใน "ยุคเศรษฐกิจและวิชาการฟองสบู่" โดยเฉพาะช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ และต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ สร้างความประทับใจและอารมณ์ "โรแมนติก" สิบสองพันนามีเชียงรุ่งเป็นเมืองเอก กลายเป็นสัญลักษณ์ของสังคมโบราณของชนเผ่า "ไต/ไท" ที่ก่อนจะเป็น "อารยะ" ด้วยการรับอิทธิพล "แขกและฝรั่ง" (ภารตภิวัตน์ หรือ Indianization กับอัศดงคตาภิวัตน์ หรือ Westernization) ผู้คนที่นั่นแต่งตัวตามประเพณี รักษาวัฒนธรรมอันดีงาม ภาษาเรียบง่าย หนุ่มสาวยังใช้คำนำหน้าว่า "ไอ้และอี" อย่างไม่ต้องเคอะเขิน ที่เชียงรุ่งเราก็มีไกด์ไต (ไทลื้อ) แสนน่ารัก พอขึ้นมาบนเรือทัวร์ก็แนะนำตัวเองว่าชื่อ "อีคำ" ทันที (จริง ๆ)
เวลาและสภาพการณ์เปลี่ยนไป "ไวเหมือนโกหก" เชียงรุ่งที่ผมเห็นครั้งนี้เป็น "ช็อก" เสียมากกว่า บ้านเรือนใต้ถุนหลังคาสูง ถูกรื้อทิ้งกลายเป็นตึกห้องแถวน่าเกลียด วัฒนธรรมเมืองและจีนฮั่นรุกไล่เข้ามา ทำให้ "ไตลื้อ" ชนส่วนใหญ่ของสิบสองพันนา กลายเป็น "คนแปลกหน้า" ในดินแดนของตน ที่วัดพระธาตุหน่อ (วัดมหาราชฐานสุทธาวาส) สัญลักษณ์ของเมืองเชียงรุ่ง งดงามด้วยเจดีย์ขาวกลม รูปทรงคล้ายหน่อไม้แปดทิศนั้น สาววัยรุ่นกลุ่มหนึ่งกำลังถ่ายรูป และ "โพสต์" ท่ากันอย่างสนุกสนาน
เธอเอียงข้าง เอียงหลัง หันหน้าหันหลัง ผมยาว กระโปรงยาว สะสวย และที่โดดเด่นเตะตาเป็นพิเศษก็คือ "รองเท้าส้นตึก" คู่มหึมา เธอคงไม่ยอมจะ "ล้าหลัง" อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน และเป็นสาวน้อยเรียบร้อยราวผ้าพับไว้ พ่ายแพ้สาว ๆ รุ่นราวเดียวกันแถวสยามสแควร์ หรือชิงจูกุในกรุงโตเกียวเป็นแน่
เชียงรุ่งและสิบสองพันนาเปลี่ยนไปมาก และกำลังกลายเป็น "เชียงใหม่ที่ ๒" ไปทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เชียงรุ่งเป็นหนึ่งใน "ศูนย์กลางของการท่องเที่ยว" ที่มีลูกค้าที่เป็นคน "จีนฮั่น" พากันลงมา "สัมผัส" สาว (ชนพื้นเมือง) เผ่า "ไตลื้อ"
ความทันสมัยและ "วัฒนธรรมประดิษฐ์" เพื่อการท่องเที่ยว ทำให้เราเห็น "จุดขาย" ที่เต็มไปด้วย "สาวงาม" (แบบเดียวกับเชียงใหม่ ที่เรามักจะเห็น "สาว" มากกว่า "หนุ่ม") สาวเหล่านั้นนุ่งกระโปรงยาวแทนผ้าถุงเมื่อแสดงนาฏศิลป์ ก็น่าแปลกและน่าตื่นเต้นที่ชุดของเธอ "เปิดสะดือ" เธอรำ เธอฟ้อนด้วยลีลาที่แปลก แปร่ง คล้ายกับดู "ฝรั่งรำไทย" ในหนังที่ถูกห้าม (เซ็นเซอร์) อย่าง The King and I หรือ Anna and the King และก็คล้ายกับการแสดงจินตลีลาประเภท "แสงสีเสียง" สุดนิยม และ "ไม่ต้องห้าม" ตามโบราณสถานและริมแม่น้ำหลายสายของบ้านเรา มิตรร่วมทางของผมจาก "โขนธรรมศาสตร์" หงุดหงิดบ่นพึมพำว่า "อุบาทว์"
แม่น้ำโขงและดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงกำลัง "ถูกเปิด" ออก ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่จะเอื้ออำนวยให้จีนทะลวงเข้าถึงใจกลางของอุษาคเนย์ (ผ่านเข้ามัณฑเลย์ในพม่า เข้าเชียงรายในไทย และเข้าหลวงพระบางในลาว) จีนกำลังเป็น "ตัวแปร" ที่สำคัญของความเปลี่ยนแปลงในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จีนในฐานะ "มหาอำนาจใหม่" กำลัง "ล่อง" ลงมาตามลำน้ำและจะ "พิชิต" พรมแดนสุดท้ายของเอเชีย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเก่าอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ได้พยายาม "ทวน" น้ำขึ้นไปแล้ว
อองรี มูโอต์ และ "ความบ้าแม่น้ำโขง" ของลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศส
ใครก็ตามที่เป็นนักเดินทางท่องเที่ยว และชอบอ่านหนังสือสักหน่อย ก็คงรู้จักนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง คือ Henri Mouhot อองรี มูโอต์ เป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอังกฤษ เข้ามาสำรวจดินแดนสยาม ลาว และกัมพูชา เมื่อปี ๑๘๕๘-๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๐๔) หรือในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ในสมัยนั้นทั้งลาวและกัมพูชายังเป็น "ประเทศราช" ของสยามอยู่ (และก็ส่งบรรณาการให้เวียดนามที่กรุงเว้ด้วย)
มูโอต์ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ "ค้นพบนครวัด" และเป็นผู้ทำให้ฝรั่งตื่นนครวัด จนกระทั่งมีวลีที่ว่า see Angkor and die ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็หาได้กล่าวอ้างความยิ่งใหญ่นี้ไม่ มูโอต์สำรวจไปทั่วในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง จากสิงคโปร์เขาเข้ามาในกรุงเทพฯ ไปจันทบุรี เพชรบุรี สระบุรี (จนถึงพระบาท) การเดินทางครั้งสำคัญของเขาคือเลาะลัดจากตราดไปขึ้นเมืองกัมปอต แล้วเดินทางต่อไปจนถึงอุดง (เมืองหลวงเก่าของเขมรซึ่งย้ายมาจากละแวก และก่อนที่จะย้ายไปถึงพนมเปญ) จากนั้นมูโอต์ก็ขึ้นไปตามลำน้ำทะเลสาบจนกระทั่งถึงนครวัด (มกราคม ๒๔๐๓) ก่อนที่จะตีกลับกรุงเทพฯ ผ่านด้านอรัญประเทศ
ในปี ๒๔๐๔ มูโอต์เดินทางเข้าสู่ที่ราบสูงโคราช ผ่านไปทางชัยภูมิ ไปจนถึงเมืองปากลาย แล้วขึ้นไปจนถึงหลวงพระบาง ได้เข้าเฝ้าเจ้ามหาชีวิต "จันทราช" ณ ที่นั้น มูโอต์เป็นไข้ป่าและเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๐๔ เมื่ออายุได้เพียง ๓๕ ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่ริมแม่น้ำคานที่ไหลมาออกแม่น้ำโขงเหนือวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ใครที่เป็นนักท่องเที่ยวที่แท้จริงก็คงได้ลุยไปดูสุสานของมูโอต์ บอกตรง ๆ ว่าช่างเป็นที่นอนตายซึ่งงดงามเสียนี่กระไร
บันทึกและจดหมายของมูโอต์ถูกส่งกลับไปยังน้องชายของเขาในอังกฤษ และก็ได้รับการทำบรรณาธิการตีพิมพ์ทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ในเล่มภาษาอังกฤษที่แพร่หลายนั้นพิมพ์แล้วพิมพ์อีก ล่าสุด ๒๕๓๕ ฉบับกระเป๋าของออกซฟอร์ดนำมาพิมพ์ คือ Travel in Siam, Cambodia, and Laos ๑๘๕๘-๑๘๖๐ พร้อมภาพประกอบงดงาม ใครสนใจดูฉบับที่ เอนก นาวิกมูล มาย่อให้ดูรูปสวย ๆ ก็ได้ใน ภาพสยามของ อองรี มูโอต์ (๒๕๔๒)
ความสำเร็จของการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงของ อองรี มูโอต์ มีผลทำให้ "นครวัดนครธม" กลายเป็นสิ่งที่เลื่องลือถึงความมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคำว่าอุษาคเนย์) และก็เป็นผลทำให้ฝรั่งเศสสนใจในดินแดนอินโดจีนอย่างมหาศาล จนท้ายที่สุดก็เข้ามายึดครองเป็นอาณานิคม ฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเกือบจะตก "ขบวนรถไฟสายอาณานิคมอุษาคเนย์" เพราะทั้งเจ้าอาณานิคมรุ่นแรก คือ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา กับรุ่นหลัง คืออังกฤษและสหรัฐฯ ต่างก็แผ่อิทธิพลเข้ามา ค่อย ๆ ยึดตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อยไปแล้ว กว่าฝรั่งเศสจะฟื้นตัวจากการปฏิวัติ (๑๗๘๙) จากสงครามนโปเลียน (๑๘๑๒, ๑๘๑๕) และปัญหาการเมืองภายในที่กลับไปกลับมาระหว่างการมีระบอบกษัตริย์กับระบอบประธานาธิบดี ในอุษาคเนย์จะเหลือไว้ให้ยึดเป็นอาณานิคมก็แต่สยามกับเวียดนามเท่านั้นเอง (ในขณะที่กัมพูชาและลาวต้องขึ้นกับ "สองฝั่งฟ้า" ส่งบรรณาการให้ทั้งกรุงเทพฯ และกรุงเว้)
ฝรั่งเศสค่อย ๆ เข้ามาตอดดินแดนในอินโดจีนไปทีละเล็กทีละน้อย ได้เวียดนามใต้ไปเมื่อปี ๒๔๐๕ (๑ ปีหลังการตายของมูโอต์) ภายในเพียง ๑ ปีต่อมา ๒๔๐๖ (๑๘๖๓) ฝรั่งเศสก็สามารถเกลี้ยกล่อมให้พระบาทสมเด็จนโรดม (สมเด็จทวดของนโรดมสีหนุ) สลัดจากการเป็น "ประเทศราช" ของสยาม (รัชกาลที่ ๔) หันไปขึ้นเป็น "รัฐในอารักขา" ของฝรั่งเศส
ในบรรยากาศของการล่าอาณานิคมครั้งนี้ ฝรั่งเศสมี "วาระ" ที่ไม่ซ่อนเร้นแต่อย่างใดว่า ต้องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทาง "ประตูหลัง" เพื่อเข้าสู่เมืองจีน "เจ้าอาณานิคมาภิวัตน์" ฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็คล้าย ๆ กับ "เจ้าโลกาภิวัตน์" อเมริกันในปัจจุบันนั่นแหละ คือต้องการตลาดเพื่อขายสินค้าอุตสาหกรรมของตน นัก "อภิวัตน์" ทั้งหลายมักจะฝันเห็นตัวเลขจำนวนประชากรจีนที่จะซื้อสินค้าของตน (ปากกาเพียง ๑ ด้าม รองเท้าเพียง ๑ คู่ หรือเบอร์เกอร์ ๑ ก้อนต่อประชากรของจีน คิดดูจะเป็นตัวเงินอันแสนหวานสักเพียงไหน)
ในปี ๒๔๐๙ (๑๘๖๖) หลังจากได้กัมพูชาไป (แต่ยังไม่ได้ทั้งหมด ที่เหลือ คือ เสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ ที่ตระกูลอภัยวงศ์ปกครองในนามของกรุงเทพฯ อยู่) กระทรวงทหารเรือและอาณานิคมฝรั่งเศส ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ก็ส่งชุดสำรวจชุดใหญ่ทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปเพื่อตี "ประตูหลัง" ของจีน เช่นเดียวกับอังกฤษซึ่งก็ "บ้าประตูหลัง" ของจีนโดยคิดว่าจะเข้าไปได้โดยขึ้นไปทางแม่น้ำอิรวดี ก็กระแหนะกระแหนฝรั่งเศสชุดนี้ว่า la monomanie du Mekong ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "ชุดคลุ้มคลั่งแม่โขง" หัวหน้าของชุดนี้ คือ ดูดาร์ต เดอ ลาเกร (Dudart de Lagree) นายทหารเรือผู้มีบทบาทในการทำให้กษัตริย์เขมร ณ เมืองอุดง ลงนามอยู่ใน "อารักขา" ของฝรั่งเศส
ชุดสำรวจของฝรั่งเศสชุดนี้ ถือได้ว่าเป็นชุดที่มีความสำคัญมาก ตัวของ เดอ ลาเกร นั้นเป็นผู้แทนของฝรั่งเศสในเวียดนามใต้ คุ้นเคยกับดินแดนแถบนี้ดี และเคยไปนครวัดมาก่อน (และเคยปฏิบัติงานในหน้าที่นักอาณานิคมมาแล้วที่เมืองอุดง) ชุดสำรวจมีคนฝรั่งเศส ๑๐ คน ชาวพื้นเมือง ๓ คน ในบรรดาคนฝรั่งเศสนั้น จะมีชื่อที่คุ้นหูของนักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ เช่น ฟรานซีส การ์นิเยร์ (Francis Garnier) นายทหารหนุ่มผู้บ้าคลั่งแม่น้ำโขงตัวจริง (การ์นิเยร์จะถูกผู้รักชาติเวียดนามฆ่าตายที่ฮานอยภายหลัง) เขาต้องการแข่งขันและเอาชนะจักรวรรดินิยมอังกฤษ นอกจากนี้ก็มีแพทย์ทหารเรือสองนาย มีนักพฤกษศาสตร์ นักธรณีวิทยา และที่น่าสนใจคือมีช่างภาพพร้อมกล้องถ่ายรูปไปด้วยหนึ่งนาย ทำให้เรามีภาพเยี่ยม ๆ จากชุดสำรวจนี้ อนึ่ง ชุดนี้ยังมีศิลปินหนึ่งนายนาม Louis Delaporte เดอลาปอร์ตเขียนรูปเก่งมาก
ชุดสำรวจออกเดินทางจากไซ่ง่อน ขึ้นตามลำน้ำโขง และแวะสำรวจ "นครวัด" พร้อมบันทึกภาพอยู่เป็นเวลานาน ที่เสียมเรียบคณะสำรวจต้องรอใบอนุญาตผ่านแดนจากสยาม (ที่ยังมีอธิปไตยเหนือมณฑลด้านตะวันตกนี้อยู่) หลังจากนั้นชุดสำรวจก็เดินทางทวนแม่น้ำขึ้นไป ผ่านเมืองเวียงจันทน์ซึ่งยังคงเป็นเมืองถูกทิ้งร้าง มีป่าปกคลุมอยู่หนาทึบ นี่เป็นผลพวงจาก "สงครามเสียกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์" เมื่อปี ๒๓๗๑ (๑๘๒๘) ในสมัยสงครามกู้กรุงของ "เจ้าอนุวงศ์" ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๓ และ "ท้าวสุรนารี"
ชุดสำรวจแวะที่หลวงพระบาง เข้าเฝ้าและได้รับการต้อนรับจากเจ้ามหาชีวิต "จันทราช" (เช่นเดียวกับมูโอต์) นักสำรวจฝรั่งเศสถูกเตือนไม่ให้เดินทางต่อไปเมืองจีน เพราะกำลังมีกบฏชาวนา แต่คณะฝรั่งเศสก็เดินทางต่อผ่าน "สบรวก" (ที่ต่อมาได้ชื่อจากการค้าฝิ่นและการท่องเที่ยวว่า "สามเหลี่ยมทองคำ") และเมื่อเข้าเขตเมืองจีน หัวหน้าคณะคือเดอ ลาเกร ก็หมดแรงเสียชีวิต การ์นิเยร์นายทหารหนุ่มผู้ "คลุ้มคลั่งแม่โขง" นำทีมเดินทางต่อจนถึงเมืองต้าลี่ (น่านเจ้า) และก็ตัดสินใจจบการสำรวจที่นั่น แทนที่จะไปจนกระทั่งถึงต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง
สรุปแล้วชุดสำรวจฝรั่งเศสใช้เวลาทั้งหมดถึง ๒ ปี เดินทางแสนไกลจากไซ่ง่อนในเวียดนามใต้จนถึงต้าลี่ (หลังจากนี้แม่น้ำโขงหาได้ลึกลับอีกต่อไปไม่) คณะสำรวจเบนเข็มการเดินทางไปยังเมืองฮันเค้าชายทะเลของจีน และก็รู้ได้ด้วยประสบการณ์ กล่าวคือ แม่น้ำโขงไม่สามารถจะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเพื่อเข้าประตูหลังของจีนได้แต่อย่างใด การเดินทางสาหัสสากรรจ์มากกว่าที่คิด ถึงขนาดหัวหน้าทีมเสียชีวิต ระยะทางก็ไกลแสนไกล (จากไซ่ง่อนถึงต้าลี่ก็ประมาณ ๓,๐๐๐ กิโลเมตร) ความยากลำบากในการเดินทาง เกาะแก่งในแม่น้ำยากต่อการเดินเรือ ฝรั่งเศสตัดสินใจเลิกล้มทีจะใช้แม่น้ำโขงเข้าเมืองจีน (เช่นเดียวกับที่อังกฤษก็ต้องเลิกล้มความคิดเกี่ยวกับอิรวดี) จะมีใช้ก็ในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเมืองต่อเมืองเท่านั้น น่าสนใจว่าจีนและไทยที่กำลังตื่นเต้นต่อการใช้เส้นทางคมนาคมนี้ในยุคนี้ จะได้ผลหรือได้ประสบการณ์ประการใด
แต่การสำรวจแม่น้ำโขงครั้งนั้น (ซึ่งมีผลงานปรากฏเป็นหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine) ก็ทำให้ฝรั่งเศสขยายอาณานิคมของตนในอินโดจีน ได้เวียดนามไปทั้งประเทศ และยังได้ลาวไปอีกด้วย ดังจะเห็นได้จาก "วิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. ๑๑๒" หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖ ที่ฝรั่งเศสยกเรือรบสองลำเข้ามาในอ่าวไทย แล่นเข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส (ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับโรงแรมโอเรียนเต็ล) ข่มขู่จนกระทั่งสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต้องยอมสละอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนลาวหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง รวมทั้งการที่ต้องสละ "มณฑลบูรพา" เสียมเรียบ พระตะบอง และศรีโสภณ เพื่อแลกจันทบุรีและตราด (กับด่านซ้าย) ในปี ๒๔๕๐ (๑๙๐๗) ในเวลาต่อมาในรัชสมัยเดียวกันนั้นด้วย
แม่น้ำโขงเพื่อการคมนาคม และการท่องเที่ยว
หากเราจะแบ่งง่าย ๆ แล้ว แม่น้ำโขงอาจแบ่งเป็นสามตอน คือ (หนึ่ง) ตอนบน ซึ่งอาจจะถือได้ว่าจากจุดเริ่มต้นในทิเบต ลงมาจนถึงประมาณสามเหลี่ยมทองคำ (สอง) ตอนกลาง ช่วงที่ผ่านระหว่างประเทศไทยกับลาว และ (สาม) ตอนล่าง เมื่อแม่น้ำโขงผ่าน "สี่พันดอน" หรือ "ดอนโขง" ตกลงเป็น "น้ำตก" บริเวณ "คอนพะเพ็ง" และ "แก่งลี่ผี" เข้าไปในกัมพูชา แล้วไหลเรื่อยไปจนออกที่ปากอ่าวเวียดนาม
แม่น้ำโขงตอนบนที่ชุดสำรวจของฝรั่งเศสไปเสียหัวหน้าทีมเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว และที่ชุดของเราได้ไปเห็นด้วยตาตนเองเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๔ นั้นอยู่ในหุบเขาสูงชัน เต็มไปด้วยเกาะแก่ง แม่น้ำไหลคดเคี้ยวเกือบตลอด มีเรือเหล็กท้องแบนของจีนวิ่งขึ้นลงอยู่ ๗๐ ลำ ส่วนใหญ่จะขนผลไม้ราคาถูก เช่น สาลี่และแอปเปิลมาขึ้นที่ท่าเชียงแสน แต่ในขณะเดียวกันสินค้าราคาถูกของจีนก็อาศัยเส้นทางนี้ลงมาถล่มตลาดอุษาคเนย์ กลางทางพบหนุ่มน้อยโบกขึ้นเรือมาด้วย ได้ความว่ามาจากดอยแม่สลอง มีสินค้าติดตัวมาหลายถุง กว่าจะได้ความว่าแบกอะไรมา ต้องถามไถ่อยู่นาน เจ้าหนุ่มกระมิดกระเมี้ยนนำสินค้าออกมาโชว์ ปรากฏเป็นกางเกงในสตรีเนื้อนุ่มประดับลูกไม้งดงามหวามใจ
เรือเหล็กท้องแบนของจีนนี้ถือได้ว่าทันสมัยสุด ๆ เหนือกว่าเรือของชาติเล็กชาติน้อยอย่างไทยลาว แต่ที่หัวเรือยังต้องมีคนสองคนคอยใช้ถ่อไม้ไผ่หยั่งน้ำลึก บางทีเรือก็ติดท้องทราย เมื่อใกล้เชียงแสนเข้ามา เราไปติดอยู่ใกล้กับเมืองมอม เหนือสามเหลี่ยมทองคำและบ่อนกาสิโนของพม่า (แต่ทุนไทย) ใครที่คุ้นกับเรื่องพระเรื่องเจ้าก็คงได้ยินชื่อของ "ครูบาบุญชุ่ม" วัดของท่านอยู่ในเขตพม่าตรงข้ามกับเมืองมอมของลาว
สภาพแม่น้ำโขงตอนบนสิ้นสุดลงประมาณสามเหลี่ยมทองคำ กลายเป็นบริเวณที่ราบ แม่น้ำเริ่มตื้นในหน้าแล้ง นี่จะเป็นสภาพของแม่น้ำระหว่างลาวและอีสานของเราเป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ไปจนกระทั่งถึงอุบลราชธานีกับแขวงจัมปาสัก
พอลงมาอยู่ช่วงพนมเปญก็เป็นที่ราบมหึมา มีลักษณะเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใกล้ทะเลนักก็ตาม เมื่อลงใต้ไปอีกแล้วแยกเป็นแม่น้ำเก้าสายนั้น มีลักษณะไม่ต่างกับดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยา (ที่ก็มีหลาย ๆ แม่น้ำในบริเวณเดียวกัน คือ แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง) นักวิชาการและทีมวิจัยแม่น้ำโขงทั้งหลายยืนยันว่า ช่วงระหว่างมีโทกับไซ่ง่อน (หรือนครโฮจิมินห์) นั้น ภูมิประเทศ ตลอดจนการทำสวนแบบยกร่องปลูกผลหมากรากไม้ เหมือนแถวคลองรังสิต คลองภาษีเจริญ คลองบางขุนเทียน แทบไม่น่าเชื่อ
หากมองในภาพรวมแล้ว ปากแม่น้ำสำคัญของดินแดนแถบนี้ ไล่มาจากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่กวางตุ้ง แม่น้ำแดง (เวียดนามเหนือ) แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำอิรวดี และปากแม่น้ำที่บังกลาเทศนั้น มีสภาพและประวัติคล้ายคลึงกันมาก แต่พัฒนาการการใช้ที่ดินปากแม่น้ำจะอยู่ในช่วงระยะเวลาต่างกัน ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและปากแม่น้ำโขงกำลังเสื่อมสลาย และอาจจะพินาศไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นสังคมเมือง เปลี่ยนระบบนิเวศ เรื่องนี้เคยเกิดมาแล้วกับปากแม่น้ำเพิร์ลที่กวางโจว
น่าเชื่อว่าความฝันของนักโลกาภิวัตน์ (ใหม่) อย่างจีนฮั่น (ด้วยความร่วมมือจากนักธุรกิจไทยระดับสูง) คือการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในแง่ของการคมนาคมและการขนส่ง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการขนถ่ายสินค้าราคาถูกลงมาตีตลาดในอุษาคเนย์ ไม่แน่ใจว่าประเทศในอุษาคเนย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างลาว กัมพูชา หรือแม้แต่ไทยกับเวียดนามจะได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับที่จีนกำลังได้ไป
และเมื่อพูดถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น "อุตสาหกรรม" ขวัญใจของประเทศที่ต้องการรวยเร็วและลัด และก็มีการจั่วหัวใช้คุณศัพท์เพื่อให้ดูดี เช่น "เชิงวัฒนธรรม" หรือ "เชิงนิเวศ" ก็ตาม แต่ก็น่าเชื่อว่า ถ้ามิใช่ผู้รักการผจญภัย ไม่ทรหดอดทน ไม่ชอบลิ้มรสความยากลำบาก และไม่สามารถเที่ยวแบบนอกเหนือจากรูปแบบของการท่องเที่ยวหรือ "ฉาบฉวยทัวร์" กระแสหลักแล้ว การล่องแม่น้ำโขงก็ไม่น่าพิสมัยอะไรนัก
ชุดทัวร์ของเราที่ไปคราวนั้น เราเดินทางอย่างสังเขปเพียง ๕ วันกับ ๔ คืน และช่วงที่เราล่องแม่น้ำโขงในเรือเหล็กท้องแบนของจีนก็เพียง ๑ วันเต็มหรือ ๑๑ ชั่วโมง เป็นระยะทาง ๒๐๐ กิโลเมตรเท่านั้น เราเสียค่าใช้จ่ายหัวละ ๓๑,๐๐๐ บาท ไม่แน่ใจว่านี่เป็นทัวร์ที่ไปแล้วอยากจะไปเป็นครั้งที่ ๒
เมื่อกลับมาเราได้ข่าวว่าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ บริษัทท่องเที่ยวชั้นนำอย่างบริษัทดีทแฮล์ม แทรเวลฯ ทดลองจัด "แกรนด์ทัวร์" ในแม่น้ำโขงด้วยชื่อชวนฝันย้อนยุคคล้ายชุดสำรวจของฝรั่งเศสว่า Expedition Mekong: River of Dreams ใช้เรือชั้นเยี่ยมสะเทินน้ำสะเทินอากาศ "ฮูเวอร์คราฟ" (ต่อในเซี่ยงไฮ้) อ้างกันว่าเรือแบบนี้ไม่สร้างความปั่นป่วนเป็นคลื่นกระแทกฝั่ง หรือกระทืบเรือเล็กเรือน้อยของชาวบ้าน ไม่เหมือนเรือเหล็กท้องแบนของจีน ที่วิ่งผ่านใครไปก็เหมือนวาตภัยย่อม ๆ แต่ฮูเวอร์คราฟก็หนวกหูเป็นบ้า สุดยอดของมลพิษทางเสียง
แผนแกรนด์ทัวร์ทดลองครั้งนี้ หากล่องแม่โขงเกือบตลอดสายก็จะใช้เวลา ๑๗ วัน ราคาทัวร์ทั้งหมด ๔,๗๐๐ ดอลลาร์ หรือประมาณ ๒ แสนบาท เป็นระยะทางถึง ๒,๖๒๐ กิโลเมตร หรือกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวของแม่น้ำโขง (๔,๙๐๙ กิโลเมตร)
การเดินทางใช้เรือเกือบตลอด โดยลูกทัวร์บินไปรวมกันที่คุนหมิง แล้วล่องแม่น้ำโขงตามลำดับ คือ จากเชียงรุ่ง-เชียงแสน ๒๒๐ กิโลเมตร จากเชียงแสน-หลวงพระบาง ๓๖๐ กิโลเมตร จากหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ๔๓๐ กิโลเมตร จากเวียงจันทน์-สวันเขต ๔๖๐ กิโลเมตร จากสวันเขต-ปากเซ ๒๖๐ กิโลเมตร จากปากเซ-คอนพะเพ็ง ๑๕๕ กิโลเมตร (ตรงนี้น่าสนใจ คือ ต้องยกเรือออกจากแม่น้ำหลบน้ำตกคอนพะเพ็ง) จากคอนพะเพ็ง-สตุงเตร็ง ๕๕ กิโลเมตร เข้ากัมพูชา จากสตุงเตร็ง-กระตี ๑๓๕ กิโลเมตร จากกระตี-พนมเปญ ๒๑๕ กิโลเมตร จากพนมเปญ-คันโท ๓๓๐ กิโลเมตร และไปสิ้นสุดการเดินทางที่นครโฮจิมินห์
ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ มีคนสัญชาติไทยไปลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวที่เชียงแสน และแม่สายไว้ไม่น้อย กว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก สร้างตึกรามไว้เป็นศูนย์การค้าท่าเรือ ตอนนี้ถูกปล่อยให้ร้างก็เยอะ ความฝันที่จะมี "ทัวริสต์" วันละเป็นพันเป็นหมื่น มีเรือวิ่งขึ้นวิ่งลง ก็ดูจะเป็นฝันสลาย บางรายถึงกับ "เจ๊ง" ไปเป็นพันล้านบาท แผนการใหญ่ของจีนและไทยระดับ รมต. หรือระดับมณฑลยูนนานกับจังหวัดเชียงราย ทั้งด้านการคมนาคม การขนส่ง และการท่องเที่ยว ยังดูห่างไกล แต่โดยสรุป "ความคลุ้มคลั่งแม่โขง" คล้ายกับฝรั่งเศสก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน
การข่มขืนชำเราแม่น้ำโขง - ระเบิดเกาะแก่งกับสร้างเขื่อน
มีนักวิชาการและเอ็นจีโอจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าปัญหาของโลกปัจจุบัน คือ เรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความได้เปรียบและเสียเปรียบกันทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งสามารถจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้เหนือผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ในยุคของสงครามเย็นและความหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น เจ้าโลกใหม่คือสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทนที่อังกฤษและฝรั่งเศสในอุษาคเนย์นั้น มีแผนการที่จะ "พัฒนา" แม่น้ำโขงด้วยข้ออ้างที่จะขจัดความยากจน อันเป็นวาระที่ไม่ซ่อนเร้นในการที่จะขจัดอิทธิพลของคอมมิวนิสต์จีน และสหภาพโซเวียตไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ในยุคใกล้ ๆ ตัวเรานี้ องค์กรโลกบาลทั้งหลาย เช่น World Bank ก็ดี IMF (International Monetary Fund) ADB (Asian Development Bank) ต่างก็ทุ่มเงินกู้ให้แก่การ "พัฒนา" แบบ "กระแสหลัก" ในลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาเซียนเป็นเงินมากมายมหาศาลถึง ๔ หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกือบ ๒ แสนล้านบาท และนี่ก็เป็นที่มาของโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปในเรื่องของการสร้าง "โครงสร้างพื้นฐาน" เช่น ถนน เขื่อน โรงงานไฟฟ้า ดังที่เราจะเห็นได้จากเขื่อนน้ำงึมในลาว เขื่อนน้ำเทิน หรืออีกหลายเขื่อนที่กำลังสร้างเช่นในลาวตอนกลางและตอนใต้ หรือแม้กระทั่งเขื่อนที่เป็นปัญหาคาราคาซังใกล้ตัว เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล ฯลฯ
จากผลของการวิจัยและการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโดยภาครัฐหรือหรือหน่วยงานอิสระ สรุปได้ว่า "การพัฒนา" ลุ่มแม่น้ำโขง "กระแสหลัก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนนั้น สร้างความพังพินาศให้แก่ผู้คนในชนบทที่อาศัยพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติ คนในชนบทจนลง พึ่งตนเองไม่ได้ พืชพันธุ์ธัญญาหารสูญหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ
ในขณะที่เขียนบทความนี้ แม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่สองปัญหา คือ (ก) การระเบิดเกาะแก่งเพื่อเปิดการเดินเรือ และ (ข) การสร้างเขื่อนมหึมาในเมืองจีน มองจากสายตาของรัฐและนักพัฒนากระแสหลัก นี่คือการ "พัฒนา" แม่น้ำโขงเพื่อประโยชน์สุขของผู้คน แต่ถ้ามองในสายตาของเอ็นจีโอและ "กระแสทางเลือก" นี่คือความหายนะ การทำลาย และการ "ข่มขืนชำเรา" ธรรมชาติแห่งยุคโลกาภิวัตน์
(ก) ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๓ มีการลงนามใน "สนธิสัญญาเพื่อการเดินเรือพาณิชย์โดยเสรีในแม่น้ำโขง" ระหว่างสี่ประเทศ จีน ลาว พม่า ไทย (ยังไม่รวมกัมพูชาและเวียดนาม) โดยจะเดินเรือจากเมืองซือเหมาของจีน ไปได้จนถึงหลวงพระบาง แต่ปรากฏว่าจากหมุดพรมแดนพม่าและจีนที่ ๒๔๓ จนถึงบ้านห้วยทรายของลาว ตรงข้ามอำเภอเชียงของนั้น มีแก่งผาดอนกว่า ๑๐๐ แห่งเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ
กล่าวโดยย่อ ถ้าจะให้เดินเรือได้ก็ต้องระเบิดเกาะแก่งผาดอนธรรมชาติเหล่านั้นทิ้ง ปัญหาก็คือการระเบิดซึ่งเท่ากับ "การข่มขืนชำเรา" แม่น้ำโขงครั้งนี้ จะคุ้มกับความสูญเสียทางธรรมชาติและระบบนิเวศหรือไม่ เกาะแก่งเหล่านี้เป็นเสมือน "บ้าน" ของปลานานาพันธุ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาชีพประมงขนาดย่อม ๆ การระเบิดเกาะแก่งทำให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้ตลิ่งพัง ที่สำคัญคือเผลอ ๆ ไทยอาจเสียพรมแดนให้ลาว เพราะตามสนธิสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศส ๑๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้น เกาะแก่งทั้งหลายในแม่น้ำโขงถือว่าอยู่ในพรมแดนลาว เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน ไทยอาจต้องเสียดินแดนอีกไม่น้อย
ถ้าไม่ระเบิดเกาะแก่ง ถามว่าเรือเหล็กท้องแบนของจีนจะเดินเรือได้ไหม คำตอบก็คือ "ได้" โดยต้องจำกัดขนาดให้พอเหมาะ ๘๐-๑๐๐ ตันสามารถลงมาจากจีนได้จนถึงเชียงแสนและเชียงของ หากจะไปจนถึงหลวงพระบางก็ต้องลดขนาดเหลือ ๖๐ ตัน และที่สำคัญคือขณะนี้มีการสร้างถนนเพื่อใช้รถยนต์ติดต่อระหว่างไทย-ลาว-จีนอยู่หลายสาย ถนนสามารถเป็นคำตอบแทนเส้นทางน้ำได้ เมื่อทัวร์ของเราแวะที่อนุสาวรีย์ท่านโจวเอินไหลในเมืองเชียงรุ่ง เราก็พบครอบครัวชาวลาวแล่นรถมาจากหลวงน้ำทามาเที่ยวเชียงรุ่งได้อย่างสบาย ๆ
(ข) การสร้างเขื่อน สิ่งหนึ่งที่เหมือน ๆ กันในหมู่นักพัฒนากระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นจีน-ไทย-แขก-ฝรั่ง-ลาว-ฯลฯ คือการเป็น "เจ้าแห่งจอมโปรเจ็กต์โครงการ" ทั้งหลาย และหนึ่งในบรรดา "โปรเจ็กต์โครงการ" ก็คือ "เขื่อน" ทันทีที่จีนเริ่มเขินอายกับอุดมการณ์สังคมนิยมและลัทธิเหมาเจ๋อตุง จีนตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิงก็หันไปหา "สี่ทันสมัย" และ "เศรษฐกิจการตลาด" ที่ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นมาผงาดแทนที่ และเบียดเศรษฐกิจไทย อินโดนีเซีย และอื่น ๆ ในอุษาคเนย์จนระเนระนาด ความแตกต่างของเมืองชายทะเลของจีน กับเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินอย่างยูนนานหรือซินเกียง ทำให้จีนต้องเสนอนโยบาย "มุ่งตะวันตก" คือพัฒนาดินแดนที่ยังล้าหลังเหล่านั้น
และนี่ก็เป็นที่มาของการสร้างเขื่อนปั่นกระแสไฟฟ้าจากน้ำโขง ภายในปี ๒๕๓๖ จีนก็สร้างเขื่อน "มั่นหวาน" เสร็จเป็นเขื่อนแรก ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าได้ ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ (เดิมวางแผนไว้ ๔,๒๐๐ เมกะวัตต์) แน่นอนในการเมืองการปกครองของจีนไม่จำเป็นจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ดังนั้นผู้คนที่อยู่ในอาณาบริเวณ ๒๔ ตารางกิโลเมตร จำนวน ๙๖ หมู่บ้าน หรือ ๒๕,๐๐๐ ชีวิต ก็เป็นผู้เสียหายทาง "ความมั่นคงทางสังคมและมนุษย์" ถูกโยกย้ายออกไปเป็น "กาฝาก" ในถิ่นอื่น (ทำนองเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นกับคนเขื่อนปากมูล ราษีไศล ฯลฯ) คนส่วนใหญ่เหล่านี้เป็น "ชนกลุ่มน้อย" หาใช่ "จีนฮั่น" ไม่ มีรายงานว่าเมื่อเขื่อน "มั่นหวาน" เริ่มกักเก็บน้ำ ผลกระทบก็สั่นสะเทือนข้ามพรมแดนลงมาถึงเชียงราย ปริมาณน้ำเปลี่ยนไปผิดฤดูกาล ชาวบ้านจับปลาได้น้อยลง ๆ
จีนสร้างเสร็จไปแล้วสองเขื่อนบนแม่น้ำโขง (ล้านช้าง) และเพื่อความทันสมัยและอุตสาหกรรมยูนนาน จีนยังมีแผนการสร้างอีกทั้งหมด ๑๐ กว่าเขื่อน ขณะนี้กำลังสร้างเขื่อนที่ ๓ คือ เขื่อน "เชี่ยวหวาน" ซึ่งจะเสร็จในปี ๒๕๕๕ เกือบ ๑๐ ปีข้างหน้า เขื่อนนี้จะสูงเท่ากับตึก ๑๐๐ ชั้น นับว่าเป็นเขื่อนที่สูงใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ลองวาดภาพ ๑๐ ปีข้างหน้าดูก็ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับน้ำโขง จากเชียงรายลงมาถึงโขงเจียมและจัมปาสัก ไม่ต้องนึกถึงประเทศที่อยู่ใต้น้ำลงไปอย่างกัมพูชา (ทะเลสาบเขมรที่น้ำกำลังน้อยลง ๆ) หรือเวียดนามที่น้ำทะเลกำลังหนุนขึ้นมา
ใช่หรือไม่ ที่จีนกำลังทำลายแม่น้ำโขงลงเหมือนกับที่ได้ทำลายแม่น้ำแยงซีไปแล้ว เหมือน ๆ กับที่ระบบนิเวศในแม่น้ำดานูบ กับแม่น้ำมิสซิสซิปปีก็พังพินาศไปแล้วเช่นกัน
แม่โขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ไหลผ่านทั้งหมดหกประเทศ ถามว่าในการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำตอนบน ได้มีการปรึกษาหารือ และทำข้อตกลงกับประเทศอื่น ๆ และประชาชนที่อยู่ใต้น้ำลงไปหรือไม่ คำตอบก็คือ "ไม่" จีนใหญ่และทรงพลังอำนาจมากเกินกว่าที่รัฐบาลของชาติเล็ก ๆ จะกล้าปริปาก (และในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลและ/หรือผู้บริหารปกครองของชาติเล็กอาเซียนอีกห้าชาติ ก็สมยอมหรือไม่ก็ร่วมมือร่วมใจไปกับผู้นำจีนเรียบร้อยไปแล้ว)
แม่น้ำโขงในยุคของโลกาภิวัตน์กำลังเผชิญกับปัญหาหนักของ "การแย่งชิง" ทรัพยากรธรรมชาติ การ "แย่งชิงน้ำ" อาจไม่ดุเดือดเลือดสาดเท่ากับการ "แย่งชิงน้ำมัน" แต่มันก็เป็นโรคมะเร็งร้ายที่เกาะลึกกัดกินเข้าไปในกลุ่มประเทศเล็กๆ และประชาชนผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย ที่ไม่เลือกเผ่าพันธุ์ว่าเป็นไทย พม่า ลาว เขมร เวียดนาม หรือชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ที่เราแทบไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนาม ในหมู่ของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของลุ่มแม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่
และนี่ก็คือ "ความไร้ระเบียบใหม่" และความหายนะของโลก ที่มีสหรัฐฯ เป็น "เจ้าโลกาภิวัตน์" และมีจีนฮั่นไล่ตามต้อยมาติด ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา