โดย ณัฐพล ใจจริง
ที่มา : นิติราษฎร์
“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
สวัสดีพลเมือง นิสิตนักศึกษา ผู้แสวงหาความรู้และมีความตื่นตัวในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยทุกท่าน การอภิปรายในวันนี้ของพวกเรา คือ การยืนยันและเชิดชูระบอบประชาธิปไตยที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ 2475
วันนี้เป็นโอกาสที่ดีและเหมาะสมด้วยทั้งกาละและเทศะ กล่าว คือ เราได้มาประชุมกันขึ้น ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และในสถานที่ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นผลผลิตโดยตรงจากการปฏิวัติ 2475
การอภิปรายในวันนี้ จึงวางอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์และกฎหมายรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ฉบับ 2489 ฉบับ 2490 ฉบับ 2492 และฉบับ 2475 แก้ไข 2495
สิ่งที่จะอภิปรายในวันนี้มี 2 ส่วนสำคัญ คือ
1.ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475
2.จากระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สู่ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลังการรัฐประหาร 2490 และรัฐธรรมนูญ 2492
เนื้อหาและช่วงเวลาที่จะกล่าวในวันนี้เป็นการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ องค์กรและระบอบการปกครองของไทย ที่อยู่ระหว่าง 2475-2490 เป็นเวลา 15 ปีของการเมืองไทย ในช่วงแรกระหว่าง 2475-2478 เป็นเวลากว่า 3 ปีซึ่งเป็นช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในช่วงที่ 2 ระหว่าง 2479-2490 เป็นเวลากว่า 11 ปี ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
เรื่องราวที่จะอภิปรายในวันนี้จะดำเนินไปบนเทพปกรณัมกรีก เรื่องกล่องแพนโดร่าและนิทาน เรื่องแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ หรือ Jack and the Bean-Stalk จากหนังสือชื่อ English Fairy Tales เป็นเทพนิยายที่เล่าขานกันในประเทศอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ส่วนที่ 1
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์
อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475
เอกภาค Episode I : ตอน แจ็คจับยักษ์ใส่กล่อง
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัยพระปกเกล้าฯ (2475-2478)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่ได้ปรากฏประโยคที่ไพเราะเพราะพริ้ง ที่สุดในความเห็นของผมคือ ประโยคที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”หลังจากนั้นก็ถูกทำให้ เกลื่อนกลืนไปด้วยแรงปรารถนาของกลุ่มรอยัลลิสต์
แม้ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 จะพยายามแก้ปัญหาความคลางแคลงใจของผู้ปกครองจากระบอบเก่า ด้วยการบัญญัติใน
“มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมฤดกให้ให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน
มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย
มาตรา ๗ การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”
ดังนั้น สาระสำคัญที่เกี่ยวกับอำนาจของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุด คือ คณะราษฎรการประกาศก้องว่า นับแต่นี้ไปอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ดังนั้น การกระทำของกษัตริย์จะดำเนินการโดยพละการไม่ได้ หากกษัตริย์ทำหน้าที่ไม่ได้คณะรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้สิทธิของกษัตริย์นั้นแทน และหากกษัตริย์ทำความผิดย่อมต้องถูกวินิจฉัย
การปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 คือ แจ็คหรือคณะราษฎรได้ทำการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ข้อความเหล่านั้นเป็นเสมือนได้ว่า “จับยักษ์ใส่กล่อง“ เพื่อจำกัดอำนาจกษัตริย์ แม้พระปกเกล้าฯจะทรงวางพระทัยว่า ทรงยังคงเป็นกษัตริย์อยู่เช่นเดิม แต่อำนาจได้ถูกจำกัดไป เสมือนกับ ยักษ์ไม่มีตะบอง และนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ ทรงไม่ยอมรับและตัดสินใจทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นชั่วคราว จากนั้นเหล่ายักษ์ก็ได้เริ่มต้นการต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ปก ครองโดยแจ็ค เป็นของแจ็คและเพื่อแจ็ค
ความล้มเหลวของการปรับตัวอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยพระปกเกล้าฯ
นับตั้งแต่ การปฏิวัติ 2475 ที่มุ่งสถาปนารัฐประชาชาติ(Nation State) หรือ รัฐหมายถึงประชาชนที่มีความเท่าเทียมกันทั้งหมดประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐ และการสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ตลอดจน สร้างความเสมอภาคทางการเมืองให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยด้วยการทำให้กษัตริย์มีอำนาจจำกัด หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด” (“Limited Monarchy”) เพื่อมิให้กษัตริย์ทรงใช้อำนาจการเมืองได้ดังเดิมอีก จากนั้น การปฏิวัติ 2475 จึงได้ถ่ายโอนอำนาจในการปกครองที่เคยอยู่กับกษัตริย์กลับคืนสู่ประชาชนด้วย การบัญญัติในมาตราที่ 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นสยาม 2475 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่ความพยายามในการจำกัดอำนาจกษัตริย์และสร้างความเสมอภาคให้กับพลเมืองของคณะราษฎรกลับถูกต่อต้านจากปรปักษ์ปฏิวัติ1อย่าง รุนแรงเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขา จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมืองไทยใหม่แต่ความพยายามของพวกเขาในช่วงแรกไม่ ประสบความสำเร็จหลายครั้ง เช่น การต่อต้านโครงการเศรษฐกิจที่ต้องการความเสมอภาคทางเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ (2476) การรัฐประหารเงียบด้วยการออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภา ผู้แทนราษฎร (2476) การพยายามลอบสังหารผู้นำคณะราษฎร(2476)และความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดช(2476)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2476 ซึ่งเป็นปีที่พระปกเกล้าทรงพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องในการกอบกู้สถานการณ์ทาง การเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายพระองค์ อาจทำให้ทรงสามารถประเมินสถานการณ์ได้ถึงสัญญาณที่ไม่เป็นคุณ จึงทรงต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ต่อมา สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบการในการแต่งตั้ง ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ เป็นคนแรกและผู้สำเร็จราชการฯของกษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยสภาผู้แทนฯให้ผู้สำเร็จราชการฯปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 มกราคม 2477 คือวันที่ พระปกเกล้าเดินทางออกจากไทย2
ทั้งนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์3 คือ ผู้บริหารราชการแผ่นดินในพระปรมาภิไธยหรือพระนามาภิไธยพระมหากษัตริย์ เนื่องจาก ขณะนั้น พระมหากษัตริย์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะก็ดี ทรงพระประชวรก็ดี ทรงไม่อาจบริหารพระราชกิจได้ก็ดี หรือไม่ทรงอยู่ในประเทศก็ดี รัฐธรรมนูญในขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าวได้ว่า
“มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว”
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ
เมื่อ สภาผู้แทนฯได้แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระปกเกล้าฯ เนื่องจากทรงเสด็จเดินทางออกนอกประเทศภายหลังความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องด้วย เหตุผลว่าทรงต้องการรักษาอาการพระประชวร แต่ มิได้หมายความความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ จะมีความราบรื่น
ดังจะเห็นได้จาก ในระหว่างนั้น แม้พระปกเกล้าฯจะมิได้ทรงประทับอยู่ในไทยก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า จะทรงยินยอมร่วมมือ หรือเห็นชอบกับรัฐบาลของรัฐประชาชาติที่รัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งตกค้าง จากระบอบเก่าและสร้างความเป็นสมัยใหม่และความเสมอภาคให้กับพลเมืองของรัฐ ประชาชาติ เช่น การที่รัฐบาลพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ แต่ทรงไม่ยอมลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติหลายฉบับที่ลิดรอนอำนาจ ความเป็นเจ้าชีวิต และพระราชทรัพย์ไปจากพระองค์ เช่น รัฐบาลต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา ที่เคยกำหนดโทษประหารชีวิตนักโทษด้วยการฟันคอเป็นการยิงเสียให้ตาย แต่ พระองค์ไม่ทรงเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าวของรัฐบาล แต่ทรงต้องการเป็นที่ผู้วินิจฉัยเหนือคำพิพากษาของศาลในการปลิดชีวิตนักโทษ4 เพื่อรักษาสถานะของความเป็นเจ้าชีวิตไว้ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดการเปลี่ยนจาก “คนของกษัตริย์ไปเป็นคนในรัฐ” โดยรัฐบาลของรัฐประชาชาติ ตลอดจน รัฐบาลได้พยายามผลักดันพระราชบัญญัติอากรมรดก แต่ได้รับการต่อต้านจากพระองค์อย่างมาก เป็นต้น
เมื่อความความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์เก่าในระบอบใหม่กับรัฐบาลแห่งรัฐ ประชาชาติดำเนินต่อไป พระองค์ได้ทรงยื่นข้อเรียกร้องที่มีมากขึ้นตามลำดับ และข้อเรียกร้องหลายข้อพระองค์ทรงโจมตีรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการทั้งที่แนวคิด เบื้องแรกมาจากพระองค์ แต่เมื่อทรงพ่ายแพ้ทรงกลับปฏิเสธความรับผิด เช่น การโจมตีสมาชิกประเภท 2 ที่ตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มาจากการแต่งตั้งว่าเป็นผลงานของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลรวบอำนาจ แต่โดยแท้จริงแล้วทรงครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา5
ข้อกล่าวหาของพระปกเกล้าฯที่มีต่อคณะราษฎรว่า คณะราษฎรต้องการรวบอำนาจการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภท 2 ให้เนิ่นนานนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ และนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา ถึงเบื้องหลังการครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ [ 10 ธันวาคม 2475] ร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และพระยามโนฯ ส่วนพวกเราคณะราษฎรนั้น นานๆพระยามโนฯก็เรียกประชุมถามความเห็น หรือแจ้งพระประสงค์ของพระปกเกล้าฯให้ฟังบางคราว ในที่ประชุมนั้น ถ้าเราไม่ยอมตามก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่และเราก็ต้องยอม” นอกจากนี้ เขายังแถลงยืนยันต่อสภาผู้แทนฯอีกว่า ความต้องการให้คงสมาชิกสภาผู้แทนฯประเภทแต่งตั้งด้วยอำนาจกษัตริย์นานถึง 10 ปีแทนที่จะให้สมาชิกสมาผู้แทนฯทั้งหมดมาจากเลือกตั้งโดยเร็วนั้นเป็นพระราช ประสงค์ของพระปกเกล้าฯ มิใช่ความต้องการจาก “คณะราษฎร” แต่อย่างใด6 เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดร่าง 10 ธันวาคมนั้นเกือบทั้งหมดเป็นนักกฎหมายที่เป็นพวกรอยัลลิสต์ มีเพียงนายปรีดี พนมยงค์คนเดียวที่เป็นตัวแทนคณะราษฎร
ดังที่ได้กล่าวถึง ขบวนการต่อต้านการปฏิวัติที่กษัตริย์ทรงให้การสนับสนุน รวมทั้งข้อเรียกร้องของกษัตริย์ข้างต้นเป็นข้อเรียกร้องที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ 7 กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ พระองค์ทรงละเมิดรัฐธรรมนูญ ด้วยทรงกระทำการด้วยพระองค์เองเสมือนหนึ่งมีอำนาจเหนือกฎหมายตามระบอบเก่า ที่ผ่านพ้นไป ดุจดังคำแถลงพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจาก “คณะราษฎร”ต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่สรุปข้อเรียกร้องของพระองค์ก่อนทรงสละราชว่า ข้อเรียกร้องต่างๆที่กษัตริย์ยื่นเสนอมาต่อรัฐบาลและสภาฯนั้น“ขัดต่อการ ปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ”8
สุดท้ายแล้ว พระปกเกล้าได้ทรงสละราชสมบัติในต้นเดือน มีนาคม 2477แล้วย่อมหมายถึง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศราฯที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการได้สิ้นสุดลงด้วย เช่นกัน โดย พระยาพหล นายกรัฐมนตรีได้ทาบทามให้ทรงดำรงตำแหน่งต่อ แต่ทรงปฏิเสธด้วยเหตุชรา9 เมื่อ ความขัดแย้งระหว่างผู้ ปกครองจากระบอบเก่ากับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติจบสิ้นลง รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นองค์กรผู้ถืออำนาจอธิปไตย แทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์10
ทวิภาค Episode II : ยักษ์ในกล่องของแจ็ค
บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัย พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล(2478-2489)
คณะผู้สำเร็จราชการฯในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 กับการวางแบบความสัมพันธ์ของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
เมื่อพระปกเกล้าฯสละราชแล้ว รัฐบาลและสภาผู้แทนได้พิจารณาทูลเชิญ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กษัตริย์พระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจได้ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น ประกอบด้วย 1.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์11 ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา12 3.เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)13 หลังจากที่สภาผู้แทนฯได้มีมติแต่งตั้งคณะสำเร็จราชการฯขึ้นแล้ว ผู้สำเร็จฯได้เข้าปฏิญานตนต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 24 มีนาคม 2477 ว่า
“… ข้าพเจ้าได้รับมติเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรนี้ รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศอันสูงและสำคัญมาก ข้าพเจ้าจะได้ตั้งใจเพียรพยายามที่จะปฏิบัติราชการในหน้าที่นี้ จนสุดกำลังและสติปัญญาที่สามารถจะพึงกระทำได้ ให้ถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญจงทุกประการ เพื่อยังความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญสืบไป”
ในช่วงเวลาดังกล่าว บทบาทของสถาบันกษัตริย์ผ่านคณะผู้สำเร็จราชการฯกับรัฐบาลดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 โดยคณะผู้สำเร็จฯทรงยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมายนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ยินยอมให้รัฐบาลของรัฐประชาชาติเข้ามาจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหา กษัตริย์ได้14 แต่การที่คณะผู้สำเร็จตัดสินใจให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จฯได้รับการกดดันจากมากพระราชวงศ์ชั้นสูงทำให้ทรงปลงพระ ชนม์ตนเอง15 พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้กล่าวต่อสภาผู้แทนว่า
“ … พระองค์ปฏิบัติงานในหน้าที่ประธานผู้สำเร็จราชการด้วยความเรียบร้อย แต่พระองค์ลำบากใจในการปฏิบัติงานในฐานะทรงเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของพระปก เกล้าฯ ได้ทรงถูกเจ้านายบางพระองค์กล่าวเสียดสีการปฏิบัติงานของพระองค์ในหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้ทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง”16
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันท์นั้นยอมอยู่ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ แต่มีพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์ปฏิเสธการยอมรับระบอบใหม่และกดดันการ ปฏิบัติหน้าที่ของประธานผู้สำเร็จฯหรือ พระองค์เจ้าออสคาร์จนพระองค์ต้องทรงปลงพระชนม์ตนเองจากพวกเจ้านายและฝ่ายที่ ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จนทำให้ต้องสูญเสีย ประธานคณะผู้สำเร็จฯที่ยินยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไป
ต่อมา สภาผู้แทนฯได้ลงมติเลือกตั้งซ่อมตำแหน่งที่ว่างในคณะผู้สำเร็จฯได้ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) แทนพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์17 สภามีมติให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จ18 ทั้งนี้พระองค์เจ้าอาทิตย์ เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ให้การสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มี กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และ รัฐบาลกับสภาผู้แทนเริ่มเกิดแบบแผน
ต่อมาเกิดปัญหาเรื่องขายที่ดินของพระคลังข้างที่ ในปี 2480 ทำให้คณะผู้สำเร็จฯลาออก แต่สภาผู้แทนฯได้เลือกตั้งคณะผู้สำเร็จฯชุดเดิมกลับเข้าดำรงตำแหน่งอีก จากเหตุ เรื่องปัญหาการขายที่ดินดังกล่าว ทำให้พระยาพหลฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเช่นกัน แต่สภาผู้แทนฯก็เชื่อมั่นในความบริสุทธิของรัฐบาล อีกทั้ง คณะผู้สำเร็จเห็นด้วยกับสภาผู้แทนฯจึง แต่งตั้งให้พระยาพหลฯกลับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง19
จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง สถาบันกษัตริย์ รัฐบาลและสภาผู้แทนฯในช่วงดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่จะเห็นว่า สถาบันกษัตริย์และรัฐบาลยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่วางอยู่บนและให้ ความสำคัญกับสภาผู้แทนฯผู้เป็นตัวแทนประชาชนอย่างสูง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษายิ่ง
ดังนั้น ช่วง ปลาย ทศวรรษ 2470-ปลายทศวรรษ 2480 ราวกว่า 11 ปีภายใต้รัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวอานันท์เป็นช่วงของการที่รัฐบาลแห่งรัฐ ประชาชาติได้เดินหน้าสร้างความเป็นสมัยใหม่(Modern) ความเสมอภาค รัฐบาลและสภาฯได้ผลักดันกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมอย่างสำคัญ เช่น การพลักดัน พรบ.ให้ใช้ประมวลรัษฎากร เป็นการยกเลิกเงินค่ารัชูปการ ภาษีสมพัตสร และอากรค่านา20 การสร้างความเป็นสมัยใหม่ในทางวัฒนธรรม การประกาศรัฐนิยม การเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยประธานผู้สำเร็จราชการให้การสนับสนุนการเดินหน้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เห็นได้จากพระองค์ได้ทรงแต่งกายทันสมัยเป็นสากล เป็นต้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คืบคลานเข้าสู่ไทย เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เสนอให้สภาผู้แทนฯตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการฯ21 แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านี้ 22 ต่อมา เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเหลือเพียง 2 คน คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์และนายปรีดี
ในช่วงเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลค่อนข้างราบรื่น เนื่องจากประธานคณะผู้สำเร็จมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล เช่น พระองค์เจ้าอาทิตย์ และแกนนำในคณะราษฎรมีส่วนร่วมในคณะผู้สำเร็จในเวลาต่อมา เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงท้ายสงครามโลก จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีได้พ่ายแพ้ต่อสภาผู้แทนในการผลักดันพระราชกำหนดระเบียบบริหาร นครบาลเพ็ชรบูรณ์และพรกอื่นเป็นพรบ ทำให้จอมพล ป. ลาออกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2487 ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2487 และสภาผู้แทนฯได้แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว 23
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและไทยได้ยอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ และต่อมาสถานการณ์สงครามในยุโรปเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มตกเป็นฝ่ายรับจากกองทัพสัมพันธมิตร มีผลทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น เมื่อจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งแล้ว นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการได้เชิญประธานสภาผู้แทนฯ (พระยามานวราชเสวี) ปรึกษาถึงสถานการณ์และสนับสนุนให้นายควง อภัยวงศ์ซึ่งเป็นรองประธานสภาฯเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และจากนั้น ผู้สำเร็จฯได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล ป. เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน24
ในช่วงปลายสงครามโลกที่กำลังจะจบสิ้นลง นายปรีดี สมาชิกคณะราษฎรในฐานะผู้สำเร็จราชการพยายามปรองดองกับพระราชวงศ์ชั้นสูงและ พวกรอยัลลิสต์ด้วยการได้ผลักดันให้อภัยโทษและคืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่นักโทษ การเมืองที่เป็นเจ้านายชั้นสูง เช่น นายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา กลับคืนเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพวกรอยัลลิสต์ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ในหลายกรณี โดยนายปรีดีหวังให้เกิดความร่วมมือกันทำงานให้ชาติและลบความขัดแย้งเมื่อ ครั้งเก่า แต่ความหวังนี้ได้รับการตอบรับน้อยมากจากผู้มีอำนาจเก่าและเหล่าผู้สนับสนุน และอะไรคือรางวัลที่เหล่าพระราชวงศ์ชั้นสูงและพวกรอยัลลิสต์มอบให้กับนาย ปรีดี ผู้ปลดปล่อยพวกเขา
ไม่นานหลังจากสงครามสิ้นสุดลง พระเจ้าอยู่หัวอานันทได้แต่งตั้งให้นายปรีดี เป็นรัฐบุรุษอาวุโสมีหน้าที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษากิจการราชการแผ่นดิน และทรงได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ 2489 ที่สะท้อนให้เห็นถึงทรงยืนยันแบบธรรมเนียมที่ถือกำหนดขึ้นในการที่ทรงยินยอม เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นหลังการปฏิวัติ 2475 ต่อไป ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2489 ได้มีบัญญัติเกี่ยวกับกษัตริย์โดยยึดถือการสืบราชสมบัติเป็นไปตามกฎ มณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ 2467 และการให้ความสำคัญกับรัฐสภาที่มีทั้งพฤฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนฯที่มาจาการ เลือกตั้งของประชาชนตามหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างเต็มที่ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ว่า
“มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒิสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งไว้ตามความในมาตรา ๑๐ ให้สมาชิกพฤฒิสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว”
แต่หลังสิ้นสุดรัชกาลด้วยโศกนาฏกรรมที่น่าฉงน และเริ่มต้นรัชกาลใหม่ สิ่งที่นายปรีดีได้รับจากกลุ่มนักโทษกบฏต่อประชาธิปไตยที่นายปรีดีได้ปลด ปล่อยคนชั้นสูงเหล่านั้น ด้วยนายปรีดีมีความหวังว่า พวกคนเหล่านั้นจะลืมระบอบเก่าและยอมอยู่กับระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่นายปรีดีได้รับ แทนที่จะเป็นความร่วมซาบซึ้งใจในความใจกว้างของรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติจาก พวกเขาเหล่านั้น แต่กลับกลายเป็น นายปรีดีกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรผู้เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 ในเวลาต่อมา
ย้อนเวลากลับอดีตและการรัฐประหาร 2490 กับการเปิดกล่องแพนโดร่า เมื่อยักษ์ออกจากกล่อง
เมื่อ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ผู้ยอมรับแบบธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองที่คณะผู้สำเร็จ ราชการฯผู้เป็นตัวแทนของพระองค์ได้ปฏิบัติภายใต้รัฐธรรมนูญได้ทรงสวรรคตลง เมื่อ 9 มิถุนายน 2489 โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้บัญญัติให้ สมาชิกพฤฒิสภาผู้มีอายุสูงสุด 3 คน เป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯชั่วคราว ประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย พระยานนท์ราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์25 คณะผู้สำเร็จฯดังกล่าวเป็นคณะผู้สำเร็จชั่วคราวเพียงวันที่ 9 มิถุนายน – 16 มิถุนายน 2489 หรือราวกว่าสัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากฝ่ายราชสำนักและกลุ่มรอยัลลิสต์ต้องการเข้าควบคุมทิศทางสถาบัน กษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการต่อไป
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า หลังสงครามโลก รัฐบาลได้ปลดปล่อย อดีตกบฎต่อต้านประชาธิปไตยให้มีอิสรภาพ ดังนั้น ไม่แต่เพียงในพื้นที่ทางการเมืองไทยหลังสงครามโลกที่มากด้วยปัญหาทาง เศรษฐกิจและสังคมที่มาจากสถานการณ์สงครามเท่านั้นที่ทำให้รัฐบาลเผชิญกับ ปัญหา แต่พื้นที่ทางการเมืองไทยในขณะนั้น ก็พลุกพล่านไปด้วยอดีตกบฏที่ชิงชังประชาธิปไตย ความเคลื่อนไหวของพวกเขามีส่วนในการสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองหลังสงคราม โลกให้ทวีความยุ่งยากมากขึ้น ในขณะนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทร อดีตแกนนำในการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยได้ทรงพ้นโทษจากฐานะนักโทษเด็ดขาดฐาน กบฎจากความช่วยเหลือของรัฐบาล อีกทั้งทรงมีความใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดล ทรงได้กลายเป็นแกนนำและมีอิทธิพลเหนือกลุ่มรอยัลลิสต์ในขณะนั้น ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระราชินีของพระปกเกล้าฯทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้เสด็จนิวัตจาก อังกฤษกลับมาไทย จากรายงานทางการทูตของสหรัฐฯหลังสงคราม รายงานว่า ทรงให้การสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ 26 สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่การช่วงชิงการนำทางการเมืองในราชสำนัก อีกทั้ง เมื่อตั้งแต่ 9 มิถุนายน ตำแหน่งกษัตริย์ว่างลงอย่างฉับพลันยิ่งมีส่วนเร่งการต่อสู้ทางการเมืองในราช สำนักอย่างแหลมคมมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เมื่อ รัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติให้ผู้อาวุโสจากพฤฒิสภาดำรงตำแหน่งคณะผู้สำเร็จราชการทำให้กลุ่มการ เมืองในราชสำนักไม่พอใจและเร่งให้เกิดการตั้งคณะผู้สำเร็จชุดใหม่แทนคณะชั่ว คราวที่มาจากพฤฒิสภา ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในราชสำนักขณะนั้น ดูเหมือนว่า พวกเขาไม่สนใจความเป็นไปของชาติหลังสงครามมากกว่าไปกว่าการจัดการเรื่องผล ประโยชน์ของพวกของตนให้เสร็จสิ้น ด้วยการผลักตัวแทนฝ่ายตนเข้ากุมคณะผู้สำเร็จฯ จากรายงานทางการทูตได้รายงานการต่อสู้ในราชสำนักขณะนั้น แบ่งออกเป็น 2 ปีก ปีกแรก คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพฯทรงมีความต้องการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯเพื่อ ทบทวนสิทธิที่ควรเป็น ในขณะที่ อีกปีกหนึ่ง มีแรงผลักดันให้กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิที่ มีอยู่ให้สืบเนื่องต่อไป สุดท้ายแล้ว การประลองกำลังของการเมืองในราชสำนักก็จบสิ้นลงด้วย ราชสำนักเสนอชื่อ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ เป็นตัวแทนแต่เพียงพระนามเดียว ส่วนรัฐบาลได้เสนอ พระยามานวราชเสวี เป็นผู้สำเร็จ27 จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว คณะผู้สำเร็จราชในช่วงเวลานั้น รัฐบาลยังคงมีตัวแทนในการดูแลความเป็นไปของสถาบันกษัตริย์ให้วางอยู่บนอำนาจ อธิปไตยเป็นของประชาชนได้
ไม่นานจากนั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตขึ้น การสอบสวนมีความคืบหน้ามากขึ้น จนอาจระบุผู้ต้องสงสัยได้ หลังจากคดีมีความคืบหน้าจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่และพระราชวงศ์ระดับสูง ที่มี พระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าจุมภฏบริพัตร และพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคคล เป็นกรรมการ ไม่นานจากนั้น เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 การัฐประหารดังกล่าว สำเร็จลงได้ด้วยการให้การช่วยเหลือของ กรมขุนชัยนาทนเรนทรที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และทรงลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ด้วยพระองค์แต่ผู้เดียว โดยปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล
การกระทำของกรมขุนชัยนาทฯซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการฯอันเป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันกษัตริย์ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงที่สุด ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 บทบาทดังกล่าว ของผู้สำเร็จราชการฯซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ในการสนับสนุนการรัฐ ประหารจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองจำนวนมากที่ตามมา หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการ-กรมขุนชัยนาทนเรนทรนั้น ได้ทำลายรากฐานความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลภายใต้ ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อรูปร่างในรัชสมัยพระ เจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงเสีย อันนำไปสู่ระบอบการปกครองอันแปลกประหลาดที่มีระบอบที่ชื่อแจ็ค แต่มิใช่การปกครองของแจ็ค โดยแจ็คและเพื่อแจ็คอีกต่อไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ กล่องแพนโดร่า ถูกเปิดออกแล้ว
ส่วนที่ 2
จากระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สู่ระบอบประชาธิปไตย
มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลังการรัฐประหาร 2490 และสถาปนารัฐธรรมนูญ 2492
ไตรภาค Episode III : ตอนเมื่อ ยักษ์จับแจ็คใส่กล่อง
หลังการรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงลงพระปรมาภิไธยยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่ กรมชัยนาทฯผู้สำเร็จเพียงพระองค์เดียวที่ลงนามยอมรับ ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี ประกอบด้วย พระองค์เองเป็นประธานอภิรัฐมนตรี พระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าอลงกฎ พระยามานวราชเสวีและ พลตอ อดุล อดุลเดชจรัส ทำหน้าที่ผู้สำเร็จการฯทันทีใน28
เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า ความพยายามของพวกเขาได้ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการรัฐประหาร 2490 พวกเขาได้เขามาทำหน้าที่สถาปนิกทางการเมืองด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางการ เมืองใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขา เช่น รัฐธรรมนูญ 2490 รัฐธรรมนูญ 2492 ที่พวกเขาได้ประดิษฐ์ระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการขึ้นมาและเรียก ประดิษฐกรรมทางการเมืองนี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นการไฮด์แจ็คอำนาจของแจ็ค หรือการจี้อำนาจของแจ็คไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ แจ็คถูกจับใส่กล่องเสียแล้ว
เมื่อพวกเขายึดครองการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ในการสถาปนาระบอบการเมืองที่ไม่ใช่เป็นของแจ็ค เพื่อแจ็ค และโดยแจ็ค หรือการจำกัดอำนาจประชาชนสำเร็จ พวกเขาสร้างคำปฏิญาณในการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้สุดชีวิตว่า
“มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือ มาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้ “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
อาจวิเคราะห์ได้ว่า ยิ่งรัฐบาลสูญเสียการเหนี่ยวรั้งให้สถาบันกษัตริย์ยึดโยงกับแนวคิดอำนาจ อธิปไตยเป็นของประชาชนมากเท่าไร ก็อาจจะเกิดการเป็นปรปักษ์กับต่อกันมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์หลังการรัฐ ประหาร 2490 ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ปัญหาการสวรรคตอย่างฉับพลันของรัชกาลที่ 8 สร้างความวิตกให้กับราชสำนักอย่างมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์เดินหน้าการสืบสวนหาสาเหตุอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความคิดของพระราชวงศ์ชั้นสูงและกลุ่มรอยัลลิสต์ที่ต้องการยุติการเดินหน้า ของรัฐบาลที่จะไขปริศนาและพวกเขาได้เข้าร่วมในร่างรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความ มั่นคงในการสืบราชสมบัติให้มากขึ้น จากเดิมที่บทบัญญัติในหมวดกษัตริย์มีเพียงไม่กี่มาตรา แต่หลังการสวรรคตและการรัฐประหาร 2490 กลับมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนมาตราในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกบัญญัติขึ้นใน รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน
2490 2492 2475 แก้ไข 2495
มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน
มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทันที มาตรา ๑๙ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มาตรา ๑๗ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของสภผู้แทนราษฎรเป็นผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๐ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ต่อไป มาตรา ๒๐ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความ ในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพรปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา ๑๘ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความ ในมาตรา ๑๗ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้ นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนคณะองคมนตรีตามความในวรรคแรก
มาตรา ๒๑ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคแรก ก็ดีในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความ ในวรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ในกรณีที่ ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราว มาตรา ๑๙ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ก็ดี ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ดี ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ในกรณีที่ ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราวในกรณี ที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนประธานองคมนตรีตามความในวรรคแรก
มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” มาตรา ๒๐ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยถ้อยคำว่า
จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
มาตรา ๑๒ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์พระ พุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา มาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้มาตรา ๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์ มาตรา ๒๑ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้
มาตรา ๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบ ราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อนแต่ถ้าไม่มี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดั่งกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
ในกรณีประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑ วรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับ มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบ ราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ ตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดั่งกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับ
ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนคณะองคมนตรี หรือประธานองคมนตรี แล้วแต่กรณี
รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 ที่ถูกร่างขึ้นโดยกลุ่มรอยัลลิสต์จะบัญญัติการเสนอพระมหากษัตริย์พระองค์ ใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล และการแต่งตั้งผู้สำเร็จ บัญญัติให้ รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อน การบัญญัติให้หลายกิจกรรมให้รัฐสภาเห็นชอบนี้อาจมิใช่ว่า พวกเขามีความศรัทธาในรัฐสภา แต่เกิดจากการที่พวกเขาสามารถคุมรัฐสภาได้ต่างหาก ในขณะนั้น สภาบนหรือวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนั้น มีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ส่วนสภาผู้แทนฯมีพรรคประชาธิปัตย์คุมเสียงข้างมาก เมื่อ รัฐธรรมนูญ 2492 ถูกประกาศใช้ กรมขุนชัยนาทฯได้ทรงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า สถาบันกษัตริย์ขณะนั้นมีความมั่นใจในเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาที่มีเกินหนึ่ง ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับช่วงการเปลี่ยนผ่านและการเข้าสู่ระบอบที่อ้าง ชื่อแจ็ค แต่มิได้เป็นระบอบของแจ็ค ปกครองโดยแจ็คและปกครองเพื่อแจ็คอีก และไม่น่าประหลาดใจตรงไหนที่รัฐธรรมนูญ 2492 บัญญัติให้ ผู้สำเร็จราชการต้องปฏิณาณตนต่อหน้ารัฐสภารอยัลลิสต์ ว่า จะปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์ชั่วฟ้าดินสลาย ดัง
“มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ”
การเคลียร์พื้นที่ทางการเมืองและการเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอม พล ป. ของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการเพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้กับสถาบันกษัตริย์นั้น ได้สร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐ ประหาร 2494 ดังเห็นได้จาก บางกอกโพสต์ (BangkokPost) ฉบับวันที่ 18 December 2493 ได้รายงานข่าวว่า การที่ผู้สำเร็จราชการฯเสด็จเข้ามาเป็นนั่งประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ การดำเนินการการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯสร้างความไม่พอใจให้ กับจอมพล ป.นายกรัฐมนตรี สมาชิกคณะราษฎรเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ การรัฐประหารเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2494 จึงเกิดขึ้นเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 ที่จัดความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ไม่สมดุลระหว่างสถาบันกษัตริยกับรัฐบาลและ รัฐสภา เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2492 ได้สร้างระบอบการเมืองที่ให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจมาก การรัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงเสด็จนิวัต พระนครเพียงไม่กี่วัน เหตุผลจากการรัฐประหารครั้งนี้คือ การลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ออกจากการเมือง จากนั้น จอมพล ป. ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475กลับมาใช้อีกครั้งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ29 โดยรัฐธรรมนูญฉบับ10 ธันวาคม 2475 นี้จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์มากกว่าฉบับที่ถูกล้มไป ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหาร 2494 ได้สร้างความไม่พอใจมาก เนื่องจากเป็นการยุติระบอบการเมืองที่พวกเขาได้เพียรพยายามสถาปนาขึ้น
ส่วนที่ 3
บทส่งท้าย
การรอคอย Episode IV
เส้นผมบังภูเขา
เป็นเวลายาวนานที่ นักวิชาการในทางกฎหมายมหาชนและในทางรัฐศาสตร์ให้ความสนใจกับการจำกัดอำนาจ ของรัฐ ทแต่พวกเขามุ่งแต่เพียงการพยายามจำกัดอำนาจรัฐบาลและรัฐสภา แต่ไม่เคยมีแนวคิดในการจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์และกลุ่มรอยัลลิสต์และ ตุลาการเลย อีกทั้ง ปัญหา คือ เราคิดมักว่าเราเข้าใจว่า“ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่ได้ยินได้ฟังมาอย่างยาวนี้ หมายถึงอะไร แต่ เราเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆหรือเปล่า หรือยังคงมีความคลุมเครือใน ระบอบนี้ว่าหมายถึงอะไร และระบอบนี้ทำงานอย่างไร
จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นในเชิงประวัติศาสตร์ กำเนิดความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”กำเนิดขึ้นมาจากการละเมิดรัฐธรรมนูญของผู้ สำเร็จราชการ คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่ทรงสนับสนุนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 การที่ทรงสนับสนุนการรัฐประหาร ครั้งนั้น จึงเปรียบเสมือนการไฮด์แจ็ค เอาอำนาจของประชาชนไปเล่นแร่แปรธาตุเป็นระบอบข้างต้น ที่พยายามจำกัดอำนาจของประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญ 2489 ระบุให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภา แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 กลับระบุว่า วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหา กษัตริย์ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่จำกัดอำนาจประชาชน ซึ่งมิใช่การปกครองของแจ็ค โดยแจ็คและเพื่อแจ็ค แต่เป็น “การกระชับพื้นที่ “ทางการเมืองของประชาชนให้เหลือพื้นที่ลดลง ที่ยังคงเห็นแนวความคิดและร่องรอยจวบกระทั่งปัจจุบัน
แนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่แต่เพียงถูกขโมยไปจากกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่กล่าวมาข้างต้น เท่านั้น แต่นำสู่คำอธิบายที่น่าแปลกประหลาดที่ว่า “ เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่า อำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ประชาชน กลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475”30 คำอธิบายทางวิชาการเหล่านี้มีแนวโน้มที่สร้างความชอบธรรมให้กับระบอบราชา ธิปไตยแบบอำนาจไม่จำกัดมากกว่า ดังนั้น คำอธิบายทำนองดังกล่าว มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เหนือกาลเวลาไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหา ที่น่าขบคิด คือ ใครมีอยู่ก่อนและดำรงอยู่เสมอ ระหว่าง พระมหากษัตริย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายราชวงศ์ตลอดประวัติศาสตร์ กับ ผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเรียกคนสยามหรือคนไทยในเวลาต่อมา ก็ตาม
อธิบายในตำรากฎหมายมหาชนที่เดินตามคำอธิบายแบบนี้ได้สร้างความบิดเบี้ยว ในทางความรู้เป็นอย่างมากและไม่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยใน ทางความคิดและความรู้เลย แต่กลับเป็นประโยชน์กับระบอบราชาธิปไตยแบบอำนาจไม่จำกัดมากกว่า
โดยทั่วไปแล้ว ในทางวิชาการรัฐศาสตร์ ได้มีการจำแนกการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ โดยพิจารณาจากปัจจัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือ ประชาธิปไตยทางตรง และ ประชาธิปไตยทางอ้อม แม้ทุกวันนี้ จะมีผู้เสนอถึงปัญหาของระบอบประชาธิปไตยทางอ้อมหรือแบบมีตัว แทน(Representative Democracy)ด้วยการรื้อฟื้นประชาธิปไตยทางตรงขึ้นใหม่แบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม(Participatory Democracy)ก็ตาม
แต่สำหรับ ประเทศไทยที่ พวกรอยัลลิสต์ชอบเรียกร้องการมีลักษณะเฉพาะเสมอ ในทำนองที่ว่า “เราไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเรา” และจากการพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ข้าพเจ้า ขอเสนอการทำให้ลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ ให้มีความเป็นลักษณะทั่วไปมากขึ้น ด้วยการเสนอการจำแนกระบอบประชาธิปไตยลักษณะเฉพาะ”แบบไทยๆ” ผมขอกลับหัวกับหาง การสร้างแนวความคิด(Conceptualized) กล่าว คือ โดยทั่วไป การสร้างแนวคิดจากนักวิชาการตะวันตกมักจะใช้ตัวชี้วัดจากการมีส่วนร่วมทาง การเมืองของประชาชน แต่ในทางตรงข้าม ด้วยความมีลักษณะเฉพาะตัวของสังคมไทย ที่พวกรอยัลลิสต์ชอบเรียกร้องความแตกต่างจากตะวันตก ข้าพเจ้าจึงต้องขอใช้วิธีการตรงข้ามกับกระบวนการนักวิชาการตะวันตกยึดถือการ มีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ไปสู่ แบบไทยๆ คือ จะเป็นพิจารณาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และเหล่ารอยัล ลิสต์แทน คำกล่าวในเชิงการทฤษฎีเพื่ออธิบายระบอบการเมืองไทยด้วยวิธีแบบตะวันตกแล้ว เราอาจกล่าวข้อความเชิงทฤษฎีเพื่ออธิบายสิ่งที่ผ่านมาในช่วง 2475 -2490 ได้ว่า
“หากสถาบันกษัตริย์และเหล่ารอยัลลิสต์เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมาก ประเทศจะมีการปกครอง “ประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด” (Limited Democracy) หรือ เรียกอีกอย่างตามคำศัพท์ในทางรัฐศาสตร์ คือ ประชาธิปไตยเทียม(Psudo Democracy) แต่หากสถาบันกษัตริย์หรือเหล่ารอยัลลิสต์ไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ประเทศนั้นจะมีการปกครอง “ประชาธิปไตยแบบอำนาจสมบูรณ์” ”(Absolute Democracy)ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”
จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการนำเสนอ การวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลของรัฐประชาชาติ ที่ผ่านมาในเชิงเปรียบเทียบถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสองรัชกาล คือ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับ รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ เราโชคไม่ดีที่ การเมืองไทยมีโอกาสอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐ ธรรมนูญเพียงราว 11 ปีเท่านั้นเอง คือ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 เท่านั้น จากเหตุการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 นั้น ทำให้เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจระบอบการเมืองไทยผ่านแนวคิด แจ็คจับยักษ์ใส่กล่อง หรือ ยักษ์ในกล่องของแจ็ค ได้อีกต่อไป แต่เหตุการณ์กลับตละปัดไปแล้ว กล่าวคือ แจ็คถูกจับใส่กล่อง เสียแล้ว
สุดท้ายแล้ว เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร เราอาจต้องรอบทสรุปในภาคสุดท้ายซึ่งเป็น Episode IV หรือภาคที่ 4 ซึ่งคงต้องรอผู้กล้าจำนวนมากที่จะมาเป็นผู้เขียนบทให้กับนิทานเรื่องแจ็คกับ ยักษ์ในภาคจบว่า แจ็คจะออกจากกล่องได้ไหม และแจ็คจะทำอะไรกับยักษ์ หรือยักษ์จะทำอะไรกับแจ็ค
ผู้อภิปรายใคร่ตั้งคำถามว่า จะมีใครบ้างเล่าที่จะสามารถทำนายตอนจบได้ว่า ใครชนะ แต่ที่แน่ๆ คือ แม้กล่องแพนโดร่าถูกเปิดออกแล้ว และความเลวร้ายได้พวยพุ่งออกสู่สังคมมนุษย์ตามเทพปกรณัมกรีกก็ตาม แต่เทพปกรณัมกรีกยังได้เล่าต่อไปว่า สิ่งที่เหลือก้นกล่อง หรือ สิ่งที่ยังอยู่กับมนุษย์จนถึงทุกวันนี้ คือ ความหวัง ครับ
ขอให้คณะราษฎรคุ้มครองทุกคน
สวัสดี
*************************************
1. คำว่า “สถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์ ’ ” ในที่นี้ คำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง บุคคลต่างๆที่อยู่ภายในแวดวงราชสำนัก(Palace circles) เช่น ผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ หรือ อภิรัฐมนตรี หรือ คณะองคมนตรี หรือ พระราชวงศ์ ฯลฯ ส่วนคำว่า กลุ่มรอยัลลิสต์ ในที่นี้ หมายถึง นักการเมือง หรือ ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความภักดีต่อราชสำนัก
2. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 127.
3. ธงประจำตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กำหนดให้มีขึ้นครั้งแรกในพระราช บัญญัติธง พ.ศ. 2479 สำหรับใช้เป็นเกียรติยศของผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ธงนี้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีอาร์มสีเหลือง กว้าง 1 ใน 3 ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในอาร์มสีเหลืองมีอาร์มสีธงชาติกว้าง 3 ใน 5 ส่วนของความกว้างของอาร์มสีเหลือง เหนืออาร์มมีครุฑพ่าห์สีแดงขนาดเท่าอาร์มสีเหลือง
4. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า156-157.
5. “คำแถลงประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” , รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34 / 2475 (วิสามัญ) วันพุธ ที่ 16 พฤศจิกายน 2475 , รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 พ.ศ.2475 , (พระนคร : อักษรนิติ,2475 ), หน้า 359-360. และ“คำแถลงการณ์ของอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ” , สยามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับถาวร พร้อมด้วยคำแถลงการณ์ของอนุกรรมการ.(พระนคร : หลักเมือง ,2475 ), หน้า 2 , “ (สำเนา) พระราชบันทึก ข้อแก้ไขต่างๆเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร 26 ธันวาคม 2477”, ,แถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ , (พระนคร : ศรีกรุง,2478 ),หน้า 89-90.
6. “คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พ.ศ.2483 ”,ประมวลคำปราศรัยและสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ,กรมโฆษณาการ , (พระนคร : พานิชศุภผล ,2483), หน้า 148-149.
7. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , “กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”, ศิลปวัฒนธรรม , ปี 26 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2548), หน้า 101-120.
8. แถลงการณ์ เรื่อง สละราชสมบัติ , หน้า 177.
9. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 181.
10. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 189.
11. พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ (2 ธันวาคม พ.ศ. 2426 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478) อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราฎร ได้มีมติเห็นชอบ ตามกฎมณเฑียรบาล ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์ สืบพระราชสันตติวงศ์ เป็นพระองค์ที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรี แต่เนื่องจากขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา และกำลังศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
ทางรัฐสภาได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระศรี สวรินทิราบรมราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ได้ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าพรองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว และได้ข้อสรุปว่า ให้มีพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นคณะบุคคล เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จำนวน 3 คน จนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ คือ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงปลงพระชนม์พระองค์เองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478
12. พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ประสูติ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 - สิ้นพระชนม์ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489) ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเป็นพระโอรสพระองค์แรกใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ประสูติแต่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อภิเษกสมรสกับ หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา นางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2472 ไม่ทรงมีทายาทสืบสกุล
พระองค์ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และทรงลาออกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 โดยในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
13. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 184.
14. สุพจน์ แจ้งเร็ว. คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ. ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน 2545 ), หน้า 63-80.
15. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2478
16. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 205.
17. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2478
18. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 206.
19. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 232-241.
20. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 287-288.
21. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484
22. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481
23. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 437.
24. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 441.
25. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 535.
26. NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Major Arkadej Bijayendrayodhin to Gentleman of the Foreign Relations Washington D.C., 16 September 1945.ในรายงานบันทึกว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรร ณีทรงต้องการให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หย่ากับชายาที่เป็นชาวต่าง ประเทศ และมาเสกสมรสกับพระขนิษฐาคนเล็กต่างมารดาของพระองค์เพื่อให้เกิดความชอบธรรม ในการสืบราชบัลลังก์ของสองราชตระกูล โดยพวกเขาต้องการให้อังกฤษสนับสนุนราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ ใหม่ ในขณะนั้น ภาพลักษณ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์นั้นทรง“นิยมอังกฤษ เต็มอังกฤษ”(กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495,[กรุงเทพฯ: โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2537],หน้า 71.).
27. NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 11 June 1946.; NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 26 June 1946.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 18 June 1946.; NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 August 1946”.;ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 543.เริ่มปฏิบัติหน้าที่ 16 กรกฎาคม 2489
28. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบลี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 582-583.
29. ประกาศใช้ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2494 - 7 มีนาคม 2495
30.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ , กฎหมายมหาชน เล่ม 2 ,(กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2538), หน้า 192.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา