ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย” รอง ผอ.สกว.
“อยู่บนหอคอยงาช้าง-งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เป็นคำแสลงใจนักวิชาการ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนสัมภาษณ์ “ดร.ลีลาภรณ์ บัวสาย” รอง ผอ.สกว. ในฐานะองค์กรศูนย์รวมงานวิจัยชุมชนของประเทศ และผู้มีทัศนะว่าองค์ความรู้จุดระเบิดจากภายใน-สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ให้ “ชุมชนแข็งแรงจัดการตนเองได้” ไม่ใช่ม็อบหรือเงิน
ช่วยให้คำนิยามที่บอกภาพองค์กร สกว.สั้นๆด้วยค่ะ
อุดมคติ ของ สกว.คือ“เข็มที่เล็งคือสร้างการเปลี่ยนแปลง” คือเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องใช้ความรู้ ถึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีหางเสือ มีเหตุมีผล ไม่ใช่พวกมากลากไป
ความเป็นมาของอาจารย์ กับงานวิจัยชุมชนเป็นอย่างไรค่ะ?
ดิฉันทำงานนโยบายการศึกษาที่สภาการศึกษา พบว่าระบบการศึกษาตั้งสมมุติฐานผิดว่าเด็กหลังอายุ 12 ช่วยตัวเองได้แล้วจึงมีการศึกษาภาคบังคับแค่นั้น เด็กมหาวิทยาลัยยังไม่ใช่เลิกเรียนรู้ได้ ชาวไร่ชาวนาที่เจอปัญหาหนี้สิน ราคาผลผลิตตกต่ำ ความเสี่ยงฟ้าฝน โรคพืช ยิ่งต้องการการเรียนรู้อีกชนิดที่ระบบการศึกษาไม่ได้จัดไว้ แต่จะยกระดับเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ฐานรากประเทศได้ ปี 2539 อ.สิปปนนท์ (เกตุทัศน์)ประธานบอร์ด สกว.ชวนมาคุยกับ ผอ.ตอนนั้นคือ นพ.วิจารณ์ (พานิช) ว่าอยากบุกเบิกงานด้านชุมชน ดิฉันบอกท่านว่าจะเน้นมิติการเรียนรู้ ชุมชนจะแข็งแรงด้วยการเรียนรู้ที่จะจัดการตัวเอง ไม่ใช่ด้วยเงินหรือม็อบ ก็เลยเปิด “ฝ่ายชุมชน”
สกว.เป็นองค์กรสนับสนุนการวิจัย มีงบที่ลงไปในชุมชนมากน้อยแค่ไหนคะ?
งบ R&D (วิจัยและพัฒนา) ทั้งประเทศปีละประมาณ 15,000 ล้าน ส่วนงบ สกว. เป็น 10% คือประมาณปีละ 1,300 ล้าน จำนวนนี้เป็นงบที่ลงไปในพื้นที่ประมาณ 18% หรือ 260 ล้าน ในงานฝ่ายเกษตร ฝ่ายชุมชน ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น งานวิจัยชุมชนในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ สกว.
ทำอย่างไรงานวิจัยจะไม่ขึ้นหิ้ง บุคลิกคนทำงานวิจัยชุมชนควรเป็นอย่างไร?
งานขึ้นหิ้งคือทำเสร็จแล้วไม่มีคนใช้ เราเน้นที่มีผู้ใช้จริงจึงตั้งโจทย์ที่จับปัญหาจริง แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคือตอบโจทย์แก้ปัญหาชุมชน ที่ผ่านมาเวลาชาวบ้านเจอปัญหา ไม่มีคนเข้าไปวิเคราะห์สาเหตุ ก็แก้ไม่ถูกที่ รวมพลังคนเดือดร้อนไปประท้วงกลายเป็นม็อบ ทั้งที่การคลี่คลายความขัดแย้งต้องใช้ความรู้
คนทำงานวิจัยชุมชนต้องพร้อมที่จะเข้าใจคนอื่น พวกลุยๆเข้าไปแบบไม่เข้าใจ ความขัดแย้งอาจจะเยอะ เช่น ก่อนวิเคราะห์วิจารณ์ลองถามชาวบ้านว่าทำไมคิดแบบนี้ แล้วค่อยเสนอทางเลือก บางทีที่สุดเขาบอกว่าที่เขาคิดดีกว่า และเราก็เห็นด้วยนะว่าใช่
แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวกับชุมชนของ สกว. ทำอะไรบ้างคะ?
เราพบว่างานชุมชนเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คน มิติสังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร อาชีพ การศึกษา สุขภาพ การเมือง ตามมาทีหลัง และก็พบว่ามีปัจจัยที่กดทับชุมชนให้อ่อนแอหรือแข็งแรงได้ช้าคือความไม่รู้ อันดับแรกจึงต้องทำงานเสริมสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ต่อมาคืองานเชิงนโยบายที่มันกดทับศักยภาพของชุมชน เช่น การกระจายอำนาจ การจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐต้องทำ เพราะเกี่ยวกับกฎหมาย นโยบาย งบประมาณ โครงการพัฒนา เช่น ชาวบ้านมีปัญหาที่ดินในเขตอนุรักษ์ มันเกี่ยวกับกฎหมาย ชาวบ้านมีปัญหาแหล่งน้ำ กรมชลต้องจัดสรรทรัพยากรตรงนี้ ลำพังความเข้มแข็งของชาวบ้านโดดๆจัดการไม่ได้
มองว่าเรื่องอะไรบ้าง ที่ชาวบ้านจัดการตนเองได้ หรือไม่ได้?
เรื่องที่ชาวบ้านเรียนรู้และจัดการตนเองได้อยู่แถวๆ สวัสดิการชุมชน ออมทรัพย์ ส่วนการศึกษาพอได้ระดับต้นๆ สุขภาพได้บ้าง เช่น แพทย์พื้นบ้าน เรื่องเกษตรได้เยอะเพราะอยู่ในชีวิตเขา ชาวบ้านที่ ทำเกษตรไปรอดด้วยตัวเองเยอะกว่านโยบายกระทรวงเกษตรฯซึ่งเป็นแค่ตัวเข้าไป หนุน พื้นที่การทำงานของภาคประชาชนอยู่แถวๆเรื่องพวกนี้ในครัวเรือนหรือขึ้น มาระดับตำบล เลยนั้นแล้วพื้นที่มันคาบเกี่ยวกันเยอะ เช่น เป็นลุ่มน้ำ ต้องไปแงะนโยบาย
ปี 2541 เปิด “ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ให้ชาวบ้านคิดโจทย์เองว่าอยากทำเรื่องอะไร เรียนรู้วิธีวิจัยในฐานะเครื่องมือพัฒนาการเรียนรู้ของเขา ทำวิจัยเองและได้นำไปใช้ประโยชน์ ฝ่ายชุมชนก็ขยับมาทำงานเชิงระบบมากขึ้น เช่น บัญชีครัวเรือนเคลื่อนทั้ง 17 จังหวัด 175 อำเภอ 357 ตำบล 3,768 หมู่บ้าน เพื่อตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ว่าเราเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเครื่องมือ วิธีการที่ถูก คือเชื่อมโยงนวัตกรรมชุมชนที่เห็นหลายๆแบบขึ้นมาให้มันมีพลังที่จะเคลื่อนใน เชิงนโยบาย
โจทย์วิจัยที่จับปัญหาจริง ต้องเป็นอย่างไร?
เช่น นโยบายรัฐบาลแก้ความยากจน ลงทะเบียนคนจนปี 2546 อุตส่าห์ชี้เป้าเพื่อจะใส่เงินลงไปตรงจุด มีแต่คนอยากจนไม่ใช่คนยากจน หรือรัฐจะแจกที่ดินฟรีก็มาจดไว้ก่อน ขึ้นทะเบียน 12 ล้านคน จนต้องมีระบบคัดกรองตรวจสอบ 2 ปีทำแต่ฐานข้อมูลวนไปวนมาว่าคนจนอยู่ที่ไหน หมดไป 1,000 กว่าล้าน นี่คือโจทย์เชิงนโยบาย หรือโจทย์ของประเทศที่รัฐบาลส่งทรัพยากรไปพัฒนาชนบทปีละเป็นแสนล้านผ่าน 8 กระทรวงหลัก เงินไปไหนหมด ทำไมแก้ปัญหาไม่ได้ ชาวบ้านเองก็มีโจทย์ เขาไม่ได้สงสัยว่าเงินไปไหนหมด แต่ต้องการแก้ปัญหาตัวเอง พอได้โจทย์เราก็ต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ กระบวนการวิจัยคือตั้งสมมุติฐาน ออกแบบ วางเครื่องมือ แล้วก็เข้าไปจัดการ
ช่วยยกตัวอย่างการออกแบบให้ตอบโจทย์ คือโดนใจชุมชน และแก้ปัญหาได้จริง
จากโจทย์ข้างบนคือทำอย่างไรจะบูรณาการทรัพยากรทั้งหลายที่รัฐใส่ลงไปผ่านจังหวัดต่างๆให้มันแก้จนได้ เรา มีสมมุติฐานว่าปัญหาความยากจนมากกว่าครึ่งมีสาเหตุจากตัวชาวบ้านเอง ถ้าเขาเริ่มแก้จากตัวเองจะคลายไปครึ่งหนึ่ง ที่เหลือรัฐค่อยตามลงไปช่วยพวกปัญหาโครงสร้าง เช่น การใช้เงินไม่ถูก ฟุ้งเฟือย เล่นพนัน เจ้าตัวสร้างเองควรแก้เอง จะเอาเงินของรัฐซึ่งเป็นภาษีคนส่วนใหญ่ไปแก้ก็ไม่ถูก แต่ถ้าเป็นปัญหาราคาผลผลิต น้ำท่วม ความเสียเปรียบ ความด้อยโอกาส เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเชิงระบบ รัฐต้องลงไปแก้ ต้องแงะให้ถูก เราจึงออกแบบ “โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคมและสุขภาวะ” เป็นโครงการบูรณาการนำร่องก่อน12 จังหวัด เอาแผนชุมชน-บัญชีครัวเรือนเป็นเครื่องมือ
มีงานที่ลงไปทำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ลองช่วยตั้งโจทย์และออกแบบในบริบทพื้นที่นั้น
เชิงนโยบายคนทั่วไปรู้ว่าเกิดความไม่สงบ ลึกลงไปมีความอยุติธรรม กดขี่ ไม่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนา แล้วโจทย์แท้ๆเลยคือมีคนตาย เราตั้งสมมุติฐานว่า “เสือมีตัวเดียว แต่วัวเป็นฝูงกันไม่ได้เพราะรวมตัวกันไม่ติด เลยถูกจับกินทีละตัว” สาม จังหวัดคนรวมกัน 3 ล้าน เหตุเกิดจากผู้ก่อความไม่สงบหลักไม่เกินหมื่น คนส่วนใหญ่ทั้งพุทธและมุสลิมต้องการความสงบแต่รวมตัวกันไม่ติดปล่อยให้คน จำนวนน้อยมาทำร้ายชีวิต สมมุติฐานแบบนี้จะนำไปสู่การคิดกระบวนการเครื่องมือให้เขารวมพลังกัน
เราเคยร่วมกับ กศน.สืบค้นคุณธรรมจากคัมภีร์อัลกุระอ่าน ชวนโรงเรียนปอเนาะ 5 จังหวัด และขอความรู้จากผู้นำศาสนา เขาบอกว่าการสืบทอดโองการพระเจ้าเป็นเรื่องของเขาด้วย เขียนภาษายาวีเป็นข้อๆทำปฏิทินเป็นช่องๆแปะไว้ตามร้านน้ำชา ชาวบ้านชอบมากขอไปใช้บอกจะเอาไปสอนลูก เราก็จับได้ว่าคนมุสลิมอยู่กับศาสนธรรมจริงๆ การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่เข้าใจความแตกต่าง ต้องหาจุดร่วมบนความแตกต่างซึ่งสร้างการยอมรับจากทุกส่วนสร้างพลังได้ คือ“คุณธรรม” สันติภาพมีในคัมภีร์ซึ่งน่าจะสืบค้นต่อถึงคำสอนเกี่ยวกับสันติ การอยู่ร่วมกัน ความสามัคคี การไม่ทำร้ายผู้อื่น เริ่มมองยุทธศาสตร์ออกว่า“ร้อยพลังเครือข่ายด้วยศาสนธรรม บนคุณธรรมว่าด้วยสันติภาพ” ขีดพื้นที่ของเสือไม่กี่ตัวลงทันทีว่าคุณทำผิดศาสนา นำไปสู่ขบวนการสันติภาพที่มีผู้นำศาสนาเป็นแกนนำ คนจะทำงานนี้ได้ต้องปราณีตเหมือเจียระไนแก้วที่แตกร้าว
งานวิจัยชุมชน ชิ้นล่าสุดของ สกว. คือเรื่องบัญชีครัวเรือนใชไหมคะ?
โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนฯ เฟสแรกเกิด แรงกระเพื่อมไปเชื่อมโยงแผนตำบล การบูรณาการงบประมาณ แต่ของแถมคือชาวบ้านปลดหนี้ได้เยอะมาก เลยลองเก็บตัวอย่างจังหวัดละ 50 ครัวเรือนรวม 697 ครัวเรือน ปลดหนี้ได้เฉลี่ย 5.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือนต่อปี น่าสนใจว่าชาวไร่ชาวนาปลดหนี้ได้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆคือ 5.8 หมื่น ข้าราชการปลดได้ 4.4 หมื่น กลุ่มรับจ้างปลดหนี้น้อยที่สุด 2.6 หมื่น เพราะเกษตรกรมีปัจจัยการผลิตในมือ ถ้าได้เรียนรู้จะมีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ต่างจากกลุ่มอื่นที่ถูกกดด้วยเงื่อนไขต่างๆ ตอนนี้ขยับทำเฟส 2 ใน 17 จังหวัด กำแพงเพชร พิษณุโลก ชัยนาท นครปฐม อุทัยธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี พัทลุง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
เห็นผลชัดว่าการทำบัญชีครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านมีความสามารถปลดหนี้ได้เองไม่ต้องพึ่งใคร
คุณอำนวย ปะติเส บอกว่าเกษตรกรถ้าเปรียบกับบริษัท ไม่รู้บัญชี ไม่รู้ต้นทุน ไม่รู้กำไร ตายเลย ดิฉันก็คิดว่าเออนะเกษตรกรอยู่ในวงจรธุรกิจการเกษตร ในวงจรก็มีบริษัทยักษ์อย่างเบทาโก ซีพี สหฟาร์ม เกษตรพืชผล แต่เขาจัดการเป็น แล้วปฐมบทความสามารถในการจัดการคือบัญชี เราให้ชาวบ้านจดบันทึกเองและเรียนรู้จากข้อมูล เขาจะเห็นชัดเลยว่าต้นทุน 4 หมวดหลักคือ ค่าปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ น้ำมัน แรงงาน มันสูงขนาดไหน ปุ๋ยลูกละเกือบ 1,000 พอเห็นตัวเลขมันสะดุด ชาวบ้านเขาขยับต่อเองทันที
หรือพอเห็นค่าหวยมันสูงกว่ารายได้ลิบลิบ ตัวเองซื้อมากกว่าเพื่อนบ้าน แสดงว่าโง่ เขาคิดได้เอง ทางออกมันก็ค่อยๆมาจากการเชื่อมโยงวิเคราะห์ทางเลือก หรือที่เคยซื้อผักจากรถพุ่มพวงก็ปลูกกินเอง ทำปุ๋ยชีวภาพใช้เองเหลือลูกละ 300 ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย หนี้ก็ลด ระดับหมู่บ้านค่าเมล็ดพันธุ์ 7 ล้าน หนี้สินรวม 25 ล้าน เป็นปัญหาร่วมของทุกครัวเรือน เคยปลูกข้าวเปลือกขายซื้อข้าวสารกินก็ทำกองทุนข้าวสาร กองทุนเมล็ดพันธุ์ โรงปุ๋ยชีวภาพ ธนาคารแรงงาน บางอย่างก็เขียนโครงการขอทุน อบต. เช่น ทำโรงสี ทำลานตาก
จากปลดหนี้ ก็ขยับเป็นความสามารถจัดการตนเอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่น
ความรู้ทำให้เกิดการระเบิดจากภายใน และมีผลเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ขยายเป็นเครือข่ายเป็นกิจกรรม เช่น ธนาคารแรงงาน หลักสูตรแก้จน รวมทั้งประชาธิปไตยชุมชน อบต.มาบอกเองว่าข้อมูลพวกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนทำแต่โครงการโครงสร้างพื้นฐานจนไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ตอนนี้เกิดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ สวัสดิการชุมชน สุขภาพอนามัย เกษตรอินทรีย์ และโดนใจชาวบ้าน พิสูจน์ตอนได้รับเลือกกลับมาใหม่ เฟสสองเราออกแบบเลยว่าพื้นที่ดำเนินการต้องไปเกี่ยว อบต.มาให้ได้ก่อน
ถ้ามองภาพรวมการพัฒนาประเทศ บทบาทของงานวิจัยชุมชนอยู่ตรงไหน?
รัฐถือกฏหมายและถุงเงิน แต่ใช้ไม่ถูกจุดเลยไม่ได้ผล เพราะอยู่ข้างบนไม่เห็นบริบทพื้นที่ เช่น ชาวบ้านอยากได้ฝึกอาชีพแต่เอาแปลงสาธิตเกษตรไปให้เขา อยากได้แหล่งน้ำแต่ดันให้โรงเรือน บางทีข้าราชการในพื้นที่เห็นปัญหาแต่เข้าไปแก้ไม่ได้เพราะติดกรอบข้างบน คือเครื่องมือที่รัฐมีมันเหมาะกับการเป็นรถเบิกถนน ไม่เหมาะจะลงไปในแปลงนาที่ริเริ่มเพาะพันธุ์ที่ต้องอาศัยมือที่ละเอียด คนที่เก่งด้านนี้คือชาวบ้านกับเอ็นจีโอหรือนักพัฒนาเพราะอยู่กับปัญหาจริง นักวิชาการไม่ใช่นักปฏิบัติแต่มีกรอบการวิเคราะห์ ควรเอาไว้เป็นเข็มทิศบอกทางทั้งการเปิดถนนและในแปลงนา ท้วงติงไม่ให้เข้ารกเข้าพงหรือบอกบทเรียนจากที่อื่น ส่วน สกว.เราอยู่ในซีกวิชาการ และก็มีส่วนหนึ่งที่อยู่ในแปลงนา
มองความรู้ขับเคลื่อนฐานราก ปฏิรูปประเทศอย่างไร?
นักพัฒนาชอบตั้งหลักว่าต้องผลักดันกฎหมายนโยบายจึงจะแก้ปัญหาต่างๆได้ ต้องรบกับรัฐจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าวิเคราะห์ดีๆมีไม่กี่เรื่องที่ยังต้องการกฏหมาย เช่น ขีดกติกาไม่ให้เอกชนเอาเปรียบชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงดีๆส่วนใหญ่ในประเทศไม่ต้องการกฏหมายอีกแล้ว นายกรัฐมนตรีกุมนโยบายกุมเงินยังไม่สามารถสั่งให้ประเทศสงบได้ ยุคนี้พื้นที่ใช้อำนาจสั่งการและเงินได้ผลน้อยเต็มที เอาชนะกันที่การเรียนรู้ ความสามารถของเกษตรกรสั่งให้เกิดไม่ได้ เขามีปัจจัยการผลิตที่เป็นทุนพื้นฐานในมือ ถ้าส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ จะช่วยตัวเองได้ พ้นจากการเป็นเบี้ยล่างพวกธุรกิจการเกษตร เป็นโอกาสและเป็นจุดเปลี่ยนเลย
การเรียนรู้คือการจุดระเบิดจากภายใน คือการได้คิด และจะคิดได้ก็ต้องเริ่มจากข้อมูลที่เป็นเสมือนดินปืน กระบวนการตั้งคำถามและวิเคราะห์คือการจุดระเบิด พอระเบิดจากภายในก็มีผลเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ถ้าจะปฏิรูปประเทศไทย ทำเรื่องการเรียนรู้ของเกษตรกร แล้วขึ้นต้นจากความสามารถในการจัดครัวเรือนจัดการไร่นา เครื่องมือมีแล้วคือบัญชีครัวเรือน โมเดลมีแล้ว ขยับจากตรงนี้เคลื่อนฐานล่างได้เลย ล้อหมุนรถเคลื่อนออกจากที่ ไม่ใช่คนขับอยากจะเคลื่อน นั่งบีบแตรปี๊นๆแต่ล้อมันไม่ไปด้วย
มีข่าวว่า สกว.ยุบฝ่ายวิจัยท้องถิ่น
ไม่ได้ยุบ คอนเซ็ปต์งานนี้เป็นที่ยอมรับของ สกว. และถ้าไปเอางบมาดูก็ยังอยู่ไม่ได้ลด พ แต่เป็นการปรับองค์กรภายในให้เกิดประสิทธิภาพมากขี้น ปรับให้งบลงไปถึงชาวบ้านมากขึ้น ลดค่าบริหารจัดการที่ต้องใช้พี่เลี้ยงเยอะเกินไป ปรับให้คนลดลงแต่ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้หญิงกับผู้ชายในงานวิจัย มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?
ผู้หญิงเป็นนักประสาน อาจเพราะความอ่อนตัวและท่าทีที่ไม่ฟาดฟัน ค่ะไว้ก่อนแต่ไม่ใช่ยอม หาทางไปจัดการทีหลัง ผู้ชายชอบริเริ่มเรื่องใหญ่ๆ พอดีงานที่เราทำมันมีทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ไปเจรจากับ อบต.ผู้ชายคุย บัญชีผู้หญิงทำ ประสานจังหวัดใช้ผู้หญิง ก็เป็นความแตกต่างที่สวยงาม
การทำงานวิจัยชุมชน ให้ผลสะท้อนกลับมาที่ตัวอาจารย์เองอย่างไรบ้าง?
ดิฉันกลับมาจดบัญชีครัวเรือน และเริ่มปลูกผักกินเอง ที่สำคัญทำงานแล้วเหมือนทำบุญคือทำให้ชาวบ้านมีความสุขพ้นทุกข์ มันตอบโจทย์ชีวิตว่าเกิดมาทำไม ทำแล้วมีความสุขแถมยังมีคนจ้างให้ทำ
“ดิฉันอยากให้งานนี้(บัญชีครัวเรือน) เป็นโมเดลที่มีคนเอาไปขยายผลเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศได้แบบก้าวกระโดด แต่ต้องเปิดพื้นที่เพื่อระดมแรง เรามีมหาวิทยาลัย มีนักพัฒนาดีๆ มีคนในภาคเอกชนเยอะแยะที่อยากทำเพื่อชาติ โมเดลก็มีแล้ว เงินก็ใช้ไม่เยอะ เวลาสัก 5 ปีน่าจะเห็นผลชัด”
บอกวิธีคิดของงานวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้งอยู่บนหอคอยงาช้าง และเป็นคำทิ้งท้ายของ “ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย” ผู้หญิงเก่งที่บุกเบิกงานวิจัยชุมชนขององค์กรวิจัยหลัก สกว.
วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา