เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การก่อการร้าย 2553 : ความเชื่อหรือความจริง?

รศ.ดร. วรพล พรหมิกบุตร




หลังจากการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามปิดล้อมปราบปรามการชุมนุมของประชาชนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และหน่วยงานราชการประจำของรัฐ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ) แถลงข่าวการจับกุมและประเด็นเกี่ยวกับ “การก่อการร้าย” ด้วยนัยความพยายามเชื่อมโยงให้เป็นความผิดของกลุ่มบุคคลผู้เป็นแกนนำการชุมนุม เช่น การแถลงข่าวภายหลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เพียงเล็กน้อยว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบอาวุธสงครามจำนวนมากในที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ (แต่ไม่สามารถระบุชี้ชัดว่าพบจากที่ซ่อนจุดใดบ้างก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำมากองรวมไว้ให้สื่อมวลชนถ่ยภาพไปเผยแพร่) หรือการแถลงข่าวการจับกุมนายหรั่ง (นามสมมุติ) ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งทางราชการอ้างว่าเป็นบุคคลส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อการร้ายเกี่ยวข้องกับ นปช.

จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 (ขณะเรียบเรียงต้นฉบับข้อเขียนนี้) ประเด็นข่าวสารข้อมูลเรื่อง “การก่อการร้ายของ นปช.” ได้ถูกยกระดับกลายเป็น “ประเด็นข่าวสารสำคัญแห่งชาติ” ด้วยกระบวนการแถลงข่าวของรัฐบาลและการเผยแพร่ข่าวของระบบสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ทั้งสาขาหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ของไทย จนอาจกล่าวได้ว่าประเด็นข่าวสารดังกล่าวสามารถกลบทับประเด็นข่าวสารข้อมูลเรื่อง “การก่อการร้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จากเหตุการณ์พันธมิตรฯกลุ่มดังกล่าวบุกยึดทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการล่ามโซ่ตรวนผู้ถูกกล่าวหาคดีบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ นำตัวออกจากเรือนจำไปปรากฏต่อสาธารณชนเพื่อให้สื่อมวลชนทำข่าวเผยแพร่ภาพไปทั่วประเทศเหมือนกรณีที่คุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่ม นปช. ถูกกระทำหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ดูเหมือนจะพยายามเผยแพร่ข่าวสารเพื่อให้สาธารณชนสรุปว่าแกนนำ นปช. เป็น “ผู้ก่อการร้าย” มากกว่าเพื่อให้สาธารณชนสรุปตรงข้าม (เช่น เป็น “ผู้ก่อการดี” ตามที่มีผู้เผยแพร่วาทกรรมดังกล่าวผ่านกระบอกเสียงสื่อมวลชนสดุดีแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปีที่ผ่านมาหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2551) โดยที่กลุ่มสาธารณชนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยก็ดูเหมือนจะพอใจที่จะได้คิดคล้อยตามการแถลงข่าวของรัฐบาลและดีเอสไอเช่นนั้นโดยอ้างอิงความน่าเชื่อถือจากข่าวสารที่เผยแพร่ในสื่อมวลชน

หลายปีก่อนหน้านี้ ขณะที่พรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ; ผู้มีอาวุโส ผู้มีชื่อเสียงโดยการสนับสนุนขององค์กรสื่อมวลชน และผู้เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในแวดวงราชการ รวมทั้งองค์กรพัฒนาที่สำคัญบางรายเคยให้ข้อสังเกตติติงสาธารณชนในสังคมไทยไว้อย่างน่าฟังว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ผันผวนไปตามกระแส “ความเชื่อ” มากกว่าจะเป็นสังคมที่เข้มแข็งบนพื้นฐาน “ความจริง”
ในปี พ.ศ. 2553 บุคคลผู้มีอาวุโส ชื่อเสียง และประสบการณ์ทางการเมืองขั้นสูงเหล่านั้นหลายคนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลพวงต่อเนื่องของการปราบปรามประชาชนแนวร่วม นปช. เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยที่บุคคลเหล่านั้นหลายท่านสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างคู่ขนานกับบรรยากาศการแถลงข่าวของรัฐบาลที่มีทิศทาง “ความเห็น” ไปในทางมุ่งเน้นให้สาธารณชนสรุปว่า “นปช. เป็นผู้ก่อการร้าย.”
ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะกล่าวในที่นี้ว่า จนถึงขณะนี้ (วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553) ประเด็นความคิดเรื่อง “นปช. เป็นผู้ก่อการร้าย” ตามที่เผยแพร่กันอึงคนึงในระบบสื่อมวลชนนั้นยังคงเป็นเพียง “ความเชื่อ” และยังไม่ใช่ “ความจริง” ที่รัฐบาล ดีเอสไอ หรือองค์กรสื่อมวลชนรายใดสามารถพิสูจน์ยืนยันได้ด้วยหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่

น่าเสียดายที่ผู้มีอาวุโส ชื่อเสียง และประสบการณ์ขั้นสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ให้ทำงานสำคัญเกี่ยวข้องกับการสอบสวน “ความจริง” และการ “ปฏิรูป” ประเทศยังไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอที่จะท้วงติงรัฐบาล สื่อมวลชน และสาธารณชนว่าไม่ควรตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสความเชื่อที่ถูกปลุกปั่นผ่านการแถลงข่าวจากฝ่ายรัฐบาลที่เป็นคู่ขัดแย้งเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว

เมื่อพิจารณาจากหลักการด้านนิติศาสตร์ ; สาธารณชนจำนวนมากในปัจจุบันพลัดหลงเข้าสู่กระแสความเชื่อว่า “นปช. เป็นผู้ก่อการร้าย” ทั้งที่ทราบหลักกฎหมายทั่วไปว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่า “นปช. เป็นผู้ก่อการร้าย” จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศ่าลตามกระบวนการยุติธรรม (รัฐบาล ดีเอสไอ รวมทั้งบรรดาผู้มีอาวุโสที่นิ่งดูดายเหล่านั้นต่างก็ทราบหลักการเรื่องนี้ดีกว่าสาธารณชน) และเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดข่าวสารข้อมูลและหลักฐานตามที่ปรากฏเป็นที่เปิดเผยจากทุกฝ่าย (รวมทั้งที่เปิดเผยโดยรัฐบาลและดีเอสไอ) ก็ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลใดที่ชัดเจนเพียงพอจะยืนยันว่า นปช. เป็นผู้ก่อการร้าย

หากเราลดทอนอคติที่อาจถูกโน้มน้าวจากการปั่นกระแสความเชื่อดังกล่าวลง แล้วตั้งใจพิจารณารายละเอียดของข่าวสารข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ตามที่เผยแพร่หรือเปิดเผยจากหลายฝ่ายเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน (ไม่ว่าจากฝ่ายรัฐบาล จากนปช. จากสื่อมวลชนไทย จากสื่อมวลชนต่างประเทศ ฯลฯ) แล้วสรุปกับตนเองอย่างตรงไปตรงมาว่า จากข่าวสารจ้อมูลเหล่านั้นเราสามารถสรุปกันได้แล้วจริง ๆ หรือว่า นปช. เป็นผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ?

ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ว่า สาธารณชนไทยจำนวนมากยังมองข้ามสมมุติฐานสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่ง “อาจ” เป็นคำอธิบาย “ความจริง” เกี่ยวกับการวางแผน การใช้ความรุนแรงและการลงมือกระทำที่เข้าข่ายการก่อการร้ายตามที่กล่าวขวัญถึงกัน เช่น ความจริงเกี่ยวกับการปรากฏหลักฐานอาวุธสงครามจำนวนมากในที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์หลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 (ตามที่รัฐบาลแถลงกล่าวอ้างเป็นนัยการกล่าวหาว่าอาวุธเหล่านั้นเป็นอาวุธที่ นปช. ลักลอบซ่องสุมไว้ใช้ในการชุมนุม), ความจริงเกี่ยวกับการเผาอาคารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 และการเผาห้างเซ็นทรัลเวิร์ลด์ในช่วงการปราบปรามผู้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ , รวมทั้งความจริงเกี่ยวกับการลักลอบใช้อาวุธสงครามยิงใส่อาคารสถานที่และฝูงชนหลายแห่งหลายครั้งระหว่างช่วงเหตุการณ์ชุมนุมและก่อนเหตุการณ์ชุมนุม

สมมุติฐานอีกข้อ (นอกเหนือไปจากสมมุติฐานว่า นปช. เป็นผู้ก่อการร้าย) ที่ “สังคมแห่งความจริง” จำเป็นต้องตรวจสอบควบคู่กันไปด้วย คือ สมมุติฐานทางเลือกที่ว่าการกระทำรุนแรงเข้าลักษณะการก่อการร้ายดังกล่าวอาจเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการลับของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะเป็นกองกำลังทางทหารหรือกึ่งทหารของไทย

*******************************************

1 ความคิดเห็น:

  1. การที่รัฐบาลใส่ร้ายคู่ขัดแย้งกล่าวหาใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามนั้น เป็นมุขเก่ามาเนื่อนนาน ในสมัย พคท. เคลื่อนไหว เราจะเห็นสื่อโฆษณาทั้งสิ่งพิมพ์และวิทยุ สร้างภาพให้คอมมิวนิสต์น่ากลัวเหมือรปีศาจร้าย เอาคนไถนา ทำร้ายพระ ภาพคนแหงนมองปลาทูที่แขวนไว้แล้วตักข้าวกิน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องสร้างภาพให้เกิดความเชื่อว่า คอมมิวนิสต์น่าเกลียกน่ากลัว กลุ่มคนเหล่านั้นต้องสู้ใต้ดิน สุดท้ายรัฐก็ต้องยอมกลุ่มคนนั้นมาตั้งพรรคต่อสู้บนดินในเวที่การเมือง แต่ครั้งนี้ รัฐพยายามให้คนที่เชื่อการเมืองที่เขาศรัทธาซึ่งตั้งพรรคต่อสู้ในเวที่การเมือง เป็นผู้ก่อการร้าย บีบให้กลุ่มคนเหล่านั้นต่อสู้ใต้ดิน

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา