เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมือง

ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อภิปราย ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

ชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ดร. ผาสุก เปิดประเด็นว่า การเปลี่ยนแปลงในชนบท โดยรวมเกิดขึ้นมานานแล้ว อย่างน้อย 15-20 ปี เพียงแต่ผลการวิเคราะห์ต่างๆ อาจจะตามไม่ทัน

เพราะหากดูสังคมโดยรวม เราจะพบว่า ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายได้ต่อหัวของคนไทยโดยรวม ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก จากปี 2523-2538 แค่ 10 กว่าปี รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าโดยเฉลี่ยในราคาจริง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ที่สำคัญไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะในสังคมเมือง แต่ยังเปลี่ยนในสังคมชนบทด้วย

การเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยว่า ในช่วงรุ่นคนที่ผ่านมา ลูกๆ จะมีฐานะดีกว่ารุ่นพ่อ เขามีทรัพย์สินมากขึ้น มีความมุ่งหวังมากขึ้น และมีสิ่งต่างๆ ที่เขาจะต้องรักษาปกป้องมากขึ้น และต้องแข่งขันกับกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีความต้องการต่างๆ ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสาธารณะ เช่น โรงเรียนที่มีคุณภาพดีขึ้น ระบบตุลาการ ระบบศาลที่เขาสามารถเข้าถึงได้ และได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ชาวบ้านต้องการประปาเข้าไปในบ้าน ต้องการมีอินเทอร์เน็ตในหมูบ้าน ต้องการมีการรักษาสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นดีมานด์สำหรับผู้บริหาร สำหรับรัฐบาลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

นอกเหนือจากการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็คือ เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้คนทั่วประเทศมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างน้อย ในระดับท้องถิ่น 5 ครั้งต่อปี หรือทุกๆ 4 ปี ในระดับชาติ กระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติของผู้คนทั่วประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเขาได้เรียนรู้ในกระบวรการนี้ว่า การเลือกตั้งทั้งหลาย เป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งงบประมาณต่างๆ และเข้าไปมีบทบาทกับกระบวนการ ตัดสินใจนโยบายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แล้วในกระบวนการที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วม ในการเข้าไปโหวตเสียงเลือกตั้ง เมื่อมีเม็ดเงินที่มากขึ้น เขาก็สามารถที่จะปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น และสามารถเรียกร้องได้ว่า ถนนคุณภาพต้องเปลี่ยนไป หรือโรงเรียน หรือประปาหมู่บ้าน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นพลวัตซึ่งทำให้ทุกคนในประเทศมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงชีวิตตนเอง และค่อนข้างยินดีปรีดาไปกับกระบวนการทางการเมือง

ไทยรักไทย ...จุดเปลี่ยนการเมืองไทย
เพราะหากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยลงไปหลังปี 2516 บวกกับ นิสิตนักศึกษา บวกกับกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหลาย ที่พยายามจะไปบอกกับชาวบ้านว่า ต้องลงไปออกเสียงเลือกตั้ง(นะ) เพราะประชาธิปไตยต้องไปออกเสียงเลือกตั้ง แต่ตอนนั้นชาวบ้านก็งงๆ ไปเลือกตั้ง นักการเมืองให้คำสัญญา แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

กระทั่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 2001 สืบเนื่องมาจากการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยและคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์นี้ ทำให้ความมุ่งหวังของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อก่อนนี้ฟังเฉยๆ แล้วไม่เกิดอะไรขึ้น กลับได้ประสบการณ์ว่า การเลือกตั้งของเขาได้ผลจริงๆ เพราะมันมีอะไรที่มาถึงตัวเขาจริงๆ

และเราต้องไม่ปฏิเสธด้วยว่า พรรคนี้ นโยบายต่างๆ อาจจะมีปัญหาด้านคุณภาพ แต่ก็เป็นพรรคแรกที่ทำทุกอย่างที่ได้สัญญาไว้ ที่พูดก็เพื่อให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วสิ่งที่โน้มน้าวชาวบ้านให้มีทัศนคติที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เป็นความเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่เขาได้ประสบมาก เกิดการจับต้องกับสิ่งที่มีผลกระทบกับเขาโดยตรง

ประการต่อมา ภาคชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนและการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็มากับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในระดับรวมของประเทศ ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ทุกคนดีขึ้น แต่แน่นอนว่า การดีขึ้นของแต่ละกลุ่มมันไม่เท่ากัน ฉะนั้น เราจึงมีการพูดกันถึงความเหลื่อมล้ำ แต่การพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท หรือวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทอย่างเดียว จะไม่ละเอียด

จริงๆ แล้ว ในแต่ละภายในของแต่ละภาคของประเทศ มันมีความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นหลายระดับ ในชนบทเองความเหลื่อมล้ำกระทบกับกลุ่มคนต่างๆ ไม่เท่ากัน ในเมืองก็เช่นกัน ถ้าหากเราลงไปดูรายละเอียด เราสามารถแบ่งกลุ่มต่างๆ และมองเห็นว่า มีกลุ่มชนชั้นกลางใหม่เกิดขึ้น

นี่คือ จุดกำเนิดคนเสื้อแดง

ดังนั้น การพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรายังต้องพูดอยู่ แต่อาจจะต้อไปดูให้ละเอียดขึ้น และไม่ใช่ดูเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจหรือรายได้สถานเดียว เพราะความเหลื่อมล้ำมีทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ

ยกตัวอย่างเช่น ลูกศิษย์ดิฉันลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคนเสื้อแดง ถามว่า ที่พูดถึงไพร่และอำมาตย์หมายถึงอะไร เขาได้คำตอบมาว่า การมีอำนาจไม่เท่าเทียมกัน จึงนำมาสู่ ปัญหาเรื่อง 2 มาตรฐาน ฉะนั้น เขาจึงใช่ไพร่และอำมาตย์เป็นสัญลักษณ์มากกว่าที่จะหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องศักดิ์ศรี หรือการแสดงความนับถือระหว่างกัน อย่างงานวิจัยของอาจารย์อภิชาติ(สถิตนิรามัย ) พบว่า ที่ไปร่วมกับเสื้อแดงเพราะโดนดูถูก

ดิฉันไปพบคนไทยที่มาจากภาคอีสานเชื้อสายจีน ไปอยู่ที่อเมริกา เขาบอกว่าเขาเสียใจมาก และเกลียดคนเสื้อเหลืองมาก เพราะถึงแม้จะไม่ได้เจอด้วยตัวเอง แต่ฟังเอเอสทีวีแล้วบอกว่าคนอีสานถูกหลอกง่าย ทัศนคติอันนี้ก็กระจายไปทั่วโลก ดิฉันอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เขาลงข่าวว่า คนเสื้อแดง มากรุงเทพฯ เพราะถูกจ้างมา เพราะไม่เคยเห็นดีพาร์ทเม้นท์สโตร อยากจะมาเห็นร้านหรูหราในกรุงเทพฯ นี่คือภาพที่ออกไปทั่วโลก ฉะนั้น มิติความเหลื่อมล้ำ จึงไม่ได้อยู่แค่ เรื่องรายได้สถานเดียว

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ในแง่ความอยากได้ใคร่ดี หรือการวาดฝันของตัวเองกับครอบครัว พลวัตกำลังเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า Raising Aspiration แต่ Raising Aspiration อาจจะไม่ประสบผล เพราะว่าสังคมยังมีสิ่งที่เรียกว่าเพดานที่มองไม่เห็น

เพดานที่มองไม่เห็นที่มันกดทับเอาไว้ มันเกี่ยวโยงกับเรื่องต่างๆ เกี่ยวโยงกับเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องอำนาจทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสินค้าสาธารณะต่างๆ เช่น คุณส่งลูกไปเรียนมัธยมที่ต่างจังหวัด คุณภาพไม่ดีเท่ากับโรงเรียนกรุงเทพ ฯ ลูกคุณที่มาแข่งกับเด็กที่เรียนในโรงเรียนคูณภาพดีดีในเมืองใหญ่ไม่ได้

หรือ คุณมีปัญหาขึ้นศาล ถ้าไม่มีเงินจ่ายเพียงพอ หรือไม่มีคอนเน็กชั่น คุณก็อาจจะแพ้หรือมีปัญหา สิ่งเหล่านี้นักทฤษฎีบอกว่า จริงๆ แล้ว ความเหลื่อมล้ำหรือขนาดของความเหลื่อมล้ำอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่มันเป็นเรื่องที่มีความคาดหวัง หรือเรื่องที่เกิดพลวัตขึ้น ไม่สามารถจะก้าวต่อไปได้ มาถึงจุดหนึ่งแล้วเจอเพดานที่มองไม่เห็น ตรงนี้จะทำให้เกิดความขับข้องใจ ไม่พึงพอใจ

เพราะความเหลื่อมล้ำโดยตัวของมันเองเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องตั้งคำถามก็คือว่า มีจุดประกายอะไรที่ทำให้เกิดขบวนการขึ้น

การเมืองจะย้อนหลังไปหลังปี 2516 หรืออย่างไร
ฉะนั้น ในงานเขียนของดิฉันจะบอกว่า ไม่ใช่ความยากจนแบบจนแทบตายเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่มันเป็นเรื่องว่า จากนี้จะไปไหนต่อไป ไปได้ถึงฝั่งหรือเปล่า ยังไม่ทันถึงฝั่งเลย ผู้นำก็ถูกเด็ดหัวไปแล้ว หรือไม่ทันไปถึงไหนเลย อ้าว ! ต้องการย้อนกลับไปสู่หลัง 2516 นี่มัน 2553 นะเนี่ย แล้วจะกลับไปหลัง 2516 หรือ อย่างไร

ในขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งคำถามว่า กระทรวงมหาดไทย หลัง 2516 มาขยายประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องกระบวนการประชาธิปไตย แล้ว 2553 ทำไม พยายามย้อนกลับไป 2516 หรือ อาจจะหลัง 2519 ประชาชนก็รู้สึกงง

นอกจากนี้ กระบวนการหางานทำของชนบทไทย ที่ต้องหางานทำจากนอกภาคเกษตร ทำให้เขาต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย ฉะนั้น โลกทัศน์ และวิถีชีวิตการมองโลกของเขาเปลี่ยนไป ขณะที่แบบแผนชีวิตก็เปลี่ยนไป ฉะนั้น น่าสนใจคือ เราไม่สามารถพูดถึงชนบทไทยอย่างในอดีตได้อีกแล้ว แม้กระทั่งชาวไทยภูเขาที่อยู่บนยอดเขาแล้วไม่ค่อยได้ลงมาข้างล่าง เขาก็มีความโยงใยกับโลกภายนอกอย่างแน่นอน รายได้ที่เขาได้มาส่วนหนึ่งจากการขายสินค้ายังต่างประเทศ

อีกเรื่องคือ ระบบอุปถัมภ์ มันเป็นระบบความสัมพันธ์จากสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันสูง ระบบอุปถัมภ์จะไม่ค่อยมี เพราะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนระดับสูงและคนระดับล่างที่ต้องต่างตอบแทนกัน คนระดับสูงกว่ามีอำนาจมากกว่า ก็จะช่วยคนระดับล่างได้มากกว่า คนระดับล่างไม่สามารถจะไปพึ่งคนอื่น ต้องพึ่งความสัมพันธ์ส่วนตัว ไปหาทหาร ตำรวจ

แต่ถ้าคุณอยู่อเมริกา คุณอาจไม่ต้องทำอย่างนั้น เพราะคุณอาจจะมั่นใจได้ว่ามันมีความเป็นธรรม รัฐบาลยังอาจให้เงินอุดหนุนคุณ ในการไปฟ้องร้อง เวลาคุณมีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาล จ้างทนายไม่ได้

ฉะนั้น การที่พบว่า ระบบอุมถัมภ์ มันชักจะไม่เหมือนเดิมแล้ว มันได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในความเหลื่อมล้ำที่มันสูงขึ้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ว่า ทำให้คนเมื่อก่อนที่อาจจะเหลื่อมล้ำมาก ขยับมาใกล้บ้านใหญ่ขึ้น สามารถช่วยตัวเองได้ ฉะนั้น การวิเคราะห์การเมืองไทย โดยพยายามหันไปองระบบอุปถัมภ์เหมือนเดิม อาจไม่ได้แล้ว

การเมืองไทยจะไปทางไหน
นอกจากนี้ ยังมีความน่าสนใจที่ว่า ท้องถิ่นนิยมเกิดขึ้นเพราะนโยบายมีผลเป็นหย่อมๆ แล้วนำไปสู่ขั้วความขัดแย้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เข้ามามีบทบาท แต่ปัญหาก็คือว่า ผู้ที่ต้องการดึงการเมืองกลับไปหลัง 2516 ยังไม่ได้ตระหนัก ว่า ได้มีการสถาปนา การเมืองใหม่ในเมืองไทย ที่ลงรากลึกตามสมควร

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตย เราอาจจะมองว่ามันส่งผลดีกับนักการเมืองส่วนหัว ทำให้เขาร่ำรวย แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้ว เราจะพบว่า ส.ส. 400 หรือ 500 คนในประเทศ เป็นส่วนหัวก็จริง แต่คนเหล่านี้มีเครือข่ายขยายไปทั่ว ประเทศ แล้วความคิดที่ว่า เราใช้กฎหมายกำจัดนักการเมืองไม่ให้ลงเลือกตั้ง 5 ปี กำจัดไป ๆ ก็จะทำให้เกิดน้ำดีขึ้นมา แล้วไม่มีแรงต่อต้าน มันสะท้อนว่า คนที่คิดยังไม่เข้าใจว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ได้มีเครือข่ายกระจายลงไปถึงระดับล่างแล้ว ฉะนั้น การเด็ดส่วนหัวทิ้ง หรือพยายามตัดส่วนกลางออกไป แล้วสร้างระบบใหม่ จากข้างล่างขึ้นมาอีก เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

อีกประเด็นคือ เรื่องการปฏิรูป หลังปี 2519 เมื่อเกิดเหตุการณ์ เข้าใจว่ามีการทำรายงานเกี่ยวกับ” การเมืองไทยจะไปทางไหน” แต่สำหรับคราวนี้ คณะกรรมการปฏิรูป 2 ชุด (คณะกรรมการปฎิรูป-คปร.นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ) คาดเดาว่า คงจะต้องพูดถึงเรื่องต่อไปนี้

1. การตรวจสอบในกรอบประชาธิปไตย
2. การปรับเปลี่ยนบทบาทของสถาบันในการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร
3. บทบาทกระบวนการยุติธรรม

เพราะในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บทบาทตรงนี้จะสร้างสมดุลย่างไร และประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม

จะคอยดูว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดพูดถึงบทบาทของกองทัพอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ดิฉันอยากดูว่า จะมีการพูดถึงหรือไม่ถึงบทบาทของกองทัพ จะมีการพูดหรือวิเคราะห์กันหรือไม่ เพราะขณะนี้ชัดเจนว่า การเมืองที่เปิดและประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น บทบาทกองทัพ เป็นองค์ประกอบนอกรัฐสภา ที่สามารถจะเข้ามาแทรกแซงได้ตลอดเวลาอย่างช่วงที่ผ่านมา มันไม่เป็นผลบวกกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองที่จะสร้างสันติสุขในสังคมไทย

และถ้าหากเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า หลังประธานาธิปดี ซูฮาร์โต แห่งอินโดนีเซีย ถูกปัดออกไป คนชั้นนำของอินโดนีเซีย ก็ดูเหมือนจะมีความเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้อง ให้กองทัพมีบทบาทน้อยลงในกระบวนการการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้มีความสำคัญ เนื่องจากชนชั้นนำ ที่เข้ามาสนับสนุนกองทัพ กองทัพก็ ต้องมองตัวเองและปรับตัวเองตามสมควร ในกรณีของอินโดนีเซีย

แต่ในกรณีของไทย มีคนตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มชนชั้นนำหลักๆ ของไทย ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนิยมเจ้า หรือคนชั้นกลางส่วนหัวจำนวนหนึ่ง ยังพอใจที่จะพึ่งกองทัพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง

ในสังคมไทย ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะมีปัญหาอยู่เรื่อยๆ จึงอยากจะคอยดูว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด พูดถึงบทบาทของกองทัพอย่างไรบ้าง !!!

1 ความคิดเห็น:

  1. นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งสอนผมว่า " การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ " ผู้สามารถเข้าสู่การเมืองได้ คือ ผู้เคยอยู่ในตำแหน่งราชการระดับสูง และ นักธุรกิจผู้มีฐานะทางการเงินสูง คนรากหญ้ากระดูกสันหลังของชาติมีสิทธิ์เพียงเลือกตั้งบุคคลเหล่านั้นเท่านั้น ผู้มีอำนาจทางราชการเข้าสู่การเมืองเพื่อรักษาอำนาจและหาผลประโยชน์ของตน นักธุรกิจเข้าสู่การเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจเสริมความได้เปรียบทางธุรกิจ เมื่อเข้าสู่การเมืองโดยการเลือกตั้งไม่ได้ นักธุรกิจก็ยอมที่จะเข้าหาผู้มีอำนาจ คนพวกนี้ไม่มีอุดมการณ์ใดๆ ทุกอย่าง คือ อำนาจและผลประโยชน์ คำว่า " เพื่อประชาธิปไตย เพื่อประชาชน " นั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างสร้างภาพที่สวยหรู เมื่อมีอำนาจทางการเมืองแล้ว เขาก็ลืมประชาชนที่ลงคะแนน

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา