นักปรัชญาชายขอบ
ความหมายของ “ประชาชน” แยกไม่ออกจากความหมายของ “ประชาธิปไตย” เพราะประชาธิปไตย หรือภาษาอังกฤษ democracy มาจากภาษากรีกโบราณ demos หมายถึง people หรือ ประชาชน กับ kretia ที่หมายถึงการปกครอง (to rule) ประชาธิปไตยจึงหมายถึง “การปกครองโดยประชาชน” หรือ “ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง”
ปัญหาคือ ประชาชนคือใคร? demos ในภาษกรีกหมายถึง “เสรีชน” ที่ไม่ใช่ทาส และไม่ใช่สตรี แสดงว่า ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ในกรุงเอเธนส์เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว ประชาชนหรือเสรีชนที่เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง คือ “สุภาพบุรุษ” เท่านั้น
ในประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่ (ส่วนใหญ่) เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ประชาชน หมายถึง คนทุกคน (ไม่ว่าเพศใดๆ ก็ตาม) ที่เป็นเสรีชน และมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน เพราะเรายอมรับสมมติฐานที่ว่า โดยสภาวะธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมามีเสรีและเท่าเทียมกัน
ฉะนั้น ประชาชนจริงๆ คือ ผู้มีเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ และหรือมีจิตวิญญาณรักเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง มีจิตสำนึกและมีความกระตือรือร้นที่จะปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาคดังกล่าว รัฐประชาธิปไตยจึงต้องวางระบบรองรับการอยู่ร่วมกันของประชาชนเช่นนั้นบนหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.หลักเสรีภาพ (freedom) ประชาชนต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเท่าเทียม
กัน เช่น เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา การก่อตั้งสมาคม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกดำเนินชีวิตตามความพึงพอใจ ฯลฯ
2.หลักความเสมอภาค (equality) ประชาชนต้องมีความเท่าเทียมภายใต้ขอบเขต
หรือกติกาเดียวกัน มีความเท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ
3.หลักนิติรัฐ หรือหลักความถูกต้องตามกฎหมาย (rule of law or legality or
due process of law) กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอิสระ เที่ยงธรรม และเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติในทางกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน
แต่ปัญหาคือ ในวัฒนธรรมไทยเราไม่มีคำว่า “ประชาชน” ที่หมายถึง “เสรีชนที่มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” มาก่อน มีแต่คำว่าทาส ไพร่ พสกนิกร ราษฎร ซึ่งมีความหมายว่า เป็นผู้รับใช้ ผู้อาศัย ผู้อยู่ในหรือพึ่งพาอำนาจของ “ฟ้า” หรือชนชั้นศักดินา และหรือผู้ถูกปกครองโดยชนชั้นนำ (elite) ที่เป็นเจ้าขุนมูลนาย หรือชนชั้นอภิสิทธิชน (privileged social class)
ฉะนั้น เมื่อมีการใช้คำว่า “ประชาชน” ในสังคมไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 อาจเป็นไปได้ว่าเรายังไม่ได้ใช้คำๆ นี้ อย่างตรงตามความหมายที่แท้จริงของ people หรือ demos และแม้จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังน่าสงสัยว่า ความหมายของ “ประชาชน” ที่ใช้กันอยู่ในบ้านเรามันหมายถึงอะไรกันแน่?!
ในความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมา 4-5 ปีนี้ “ประชาชน” ไม่ใช่รากฐานสำคัญ (key element) ของการวิเคราะห์ถกเถียง หรือประเด็นการต่อสู้ในความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้เน้นหรือชูสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของ “ประชาชน” อย่างเข้มข้น
ในมวลชนเสื้อเหลือง เราเห็น (การเน้น) ภาพของ “พสกนิกรผู้จงรักภักดี” ขณะที่มวลชนเสื้อแดง เราเห็นการทาสีภาพ “พสกนิกรผู้ไม่จงรักภักดี” และเห็นความพยายามที่จะปกป้องตนเองว่าเป็นพสกนิกรผู้จงรักภักดีด้วยเช่นกัน
ประชาชนหายไปไหน? มนุษย์ที่เกิดมาเท่าเทียมกัน มนุษย์ที่รักเสรีภาพเนื่องจากตระหนักว่าเสรีภาพคือแก่นสารรองรับความมีศักดิ์ศรีหรือความสง่างามของตนเองหายไปไหน? เราเห็นแต่ “ผู้จงรักภักดี” หรือ “ผู้ถูกปกครอง” ที่รัฐไม่จำเป็นต้องปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ของพวกเขา!
โดยเฉพาะเสรีภาพในการพูดความจริง รัฐไทยแทบไม่เคยให้การรับรองอย่างจริงจัง ปราศจากหลักประกันเสรีภาพในการพูดความจริงโดยรัฐ (เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ) ประชาชนที่เป็นเสรีชนจริงๆ ย่อมไม่มีที่ยืนในพื้นที่นอกคุก!
เป็นเพราะการต่อสู้ไม่ได้ชู “ประชาชน” อย่างจริงจังใช่หรือไม่? มวลชนทั้งเหลือง-แดง จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของบรรดาชนชั้นนำที่ต่างมุ่งฉกฉวยประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศักดินาอำมาตย์ ฝ่ายทักษิณ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้น ความตายของมวลชนที่เป็นเพียงผู้ถูกปกครอง จึงเป็นความตายที่ไม่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีเสรีภาพและความเท่าเทียมมากขึ้นแต่อย่างใด
ตรงกันข้ามมันเป็นความตายที่ทำให้ระบบอำนาจนิยมแข็งแกร่งขึ้น เสรีภาพถูกจำกัดมากขึ้น มันมีความหมายเพียงเป็นการแพ้-ชนะของชนชั้นนำที่ใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ!
ผมไม่ได้สรุปเหมารวมว่า ในมวลชนเหลือง-แดง ไม่มี “เสรีชน” แต่กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเพียงกระบวนการของ “พสกนิกร” ผู้จงรักภักดี/ไม่จงรักภักดี และเหตุผลสำคัญของความตายก็เป็นเรื่องของ “การเน้น” หรือการ “ทาสี” ความจงรักภักดี/ไม่จงรักภักดีเป็นหลัก
เรื่องตลกร้ายที่น่าเศร้า คือ นักวิชาการไทย (ทั้งพวกที่เคยร่วมเป็น สนช. ร่วมเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 50 และที่ร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศตามแผนปรองดองของอภิสิทธิ์ 100 ศพด้วย) ต่างมองว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของไทย ไม่มี “ผู้แทน” (หรือกระทั่ง “พรรคการเมือง”) ที่เป็น “ตัวแทน” ของ “ประชาชน” จริงๆ มีแต่ “นักเลือกตั้ง” ที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ของชนชั้นนำ
แต่ทว่าทัศนะเช่นนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็น “วาทกรรม” ทางการเมืองมากนักในยุคที่นักเลือกตั้งแทบไม่เคยสนใจใยดีกับประชาชนเลย พอในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีข้อเท็จจริงยืนยันว่าชาวบ้านเลือกนโยบายพรรค แล้วพวกเขาก็พบว่าพวกเขามีอำนาจอยู่จริง การเลือกตั้งเริ่มมีความหมายสำหรับพวกเขา สำนึกในความเป็น “เสรีชน” (น่าจะ) เกิดขึ้นมากในชาวบ้านทั่วไป แต่การเลือกตั้งกลับถูกทำลายความน่าเชื่อถือลง โดยฝ่ายที่อ้างว่าชาวบ้านถูกซื้อด้วยเงิน รู้ไม่ทันนักการเมือง เป็นเครื่องมือของนักเลือกตั้ง ซึ่งหมายความตรงๆ ว่า ชาวบ้านยังไม่มีความสามารถจะเป็น “ประชาชน” ที่เป็น “เสรีชน” (หรือกระทั่งยังไม่สามารถจะมี “ความเป็นคน” ที่เท่าเทียมกับบรรดาผู้ไม่เชื่อถือในระบบการเลือกตั้ง หรือเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนทั้งหลาย?)
ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ชวนพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ลงเลือกตั้ง นักวิชาการฉีกบัตรเลือกตั้ง เมื่อ 2 เมษายน 2549 เกิดขบวนการปฏิเสธการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีก (ทั้งที่ทักษิณประกาศเว้นวรรคตำแหน่งนายกฯ แล้ว) ด้วยการทำและสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา 49 มาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ยอมแลกชีวิตคนนับ 100 ศพ กับการไม่ยอมให้เลือกตั้งในทันที (หรือใน 15 วัน, 3 เดือน...) และกระทั่งเกิดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดย “ผู้ทรงศีลธรรมและทรงภูมิปัญญา” ทั้งหลายภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน อยู่ในขณะนี้ แท้ที่จริงแล้วแสดงให้เห็นถึง “การขาดศรัทธา” ในการเลือกตั้งอย่างลึกซึ้งถึงแก่น!
เป็นการขาดศรัทธาในการเลือกตั้งในยุคสมัยที่ชาวบ้าน (ผู้ซึ่งไม่สามารถจะเป็น “ประชาชน” ?!) ตระหนักว่า การเลือกตั้งมีความหมาย เห็นคุณค่าของการเลือกตั้ง ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กระทั่งกล้ายอมตายเพื่อแลกกับการเลือกตั้ง! แต่คนที่เป็นฝ่ายกำหนดว่าชาวบ้านควรจะได้อะไร ยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นนำอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่ดูเหมือนจะสถาปนาตัวเองให้เป็น “ผู้แทนของปวงชน” ไปแล้วกระมัง!
ที่มา : ประชาไท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา