เป็นคำถามจากผู้ต้องการประชาธิปไตยอันแท้จริง เจาะจงถามมาที่ผม สืบเนื่องจาก การได้อ่านบันทึกสองฉบับ ผมขอตอบในฐานะของคนธรรมดาที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง ไม่ใช่ แกนนำ นปช. ดังนี้
หนึ่ง / ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรประชาธิปไตยเสื้อแดง (นปช.และหรือ ฯลฯ) กับพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และหรือ ฯลฯ) ให้ดี กล่าวคือ องค์กรประชาธิปไตยต้องสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่ามีข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อถูกต้อง และผิดพลาดอย่างไร (อย่างเป็นระบบ) กล้าที่จะวิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง โดยเฉพาะประเด็น “การนำ” นำไปบนพื้นฐานแห่งหลักการและเหตุผลที่สอดคล้องกับภววิสัยที่เป็นจริง หรือนำไปโดยอัตวิสัยแห่งอารมณ์ความรู้สึก หรือจากแหล่งข้อมูลที่ผิดพลาด
จักต้องยึดกุม “การนำรวมหมู่” ให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้ “การนำโดยบุคคล” อยู่ในฐานะที่ครอบงำ ปัญหายุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เมื่อตั้งไว้แล้วต้องยึดกุมให้ได้ ไม่ใช่วางขั้นตอนไว้ระดับหนึ่ง แล้วไปเปลี่ยนแปลงภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือว่า “อำพราง” กันภายใน ปิดบังกันเอง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความแปลกแยกทางการนำในท้ายที่สุด
ในส่วนของพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และอาจมีพรรคอื่นๆฯลฯ) ต้องจัดความสัมพันธ์ในการเป็น ”แนวร่วม” ต่อสู้ให้เหมาะสม พรรคก็คือพรรค ต้องดำเนินสถานะและบทบาทที่แตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหว เพราะพื้นที่ในการทำงานของพรรคมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพรรคต่อสู้ในระบอบรัฐสภา จะเคลื่อนไหวนอกกรอบแบบองค์กรอิสระคงไม่เหมาะสม จึงควรมีการจัดการทั้งงานเปิดและงานปิดให้ดี อันที่จริง แนวยุทธศาสตร์ “สองขา” ของ นปช. ในทางทฤษฎีที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียน นปช.นั้นถูกต้องแล้ว หากแต่มิได้นำมาปฏิบัติในท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริงอย่างเอาจริงเอาจัง กล่าวคือ เกิดอาการ “สัมพันธ์ขวาง” “สัมพันธ์ซ้อน” “สัมพันธ์แทรกแซง” “เปลี่ยนแปลงการนำ” “ไม่ทำตามมติ” ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย ปัญหานี้ต้องสรุปทบทวน
ภาระหน้าที่ของพรรคต้องมีทั้งส่วนที่เป็นงานลับและงานเปิดเผย การจัดบุคลากรในการทำงานมีความสำคัญยิ่ง ใครเหมาะสมกับหน้าที่อะไร อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการจัดตั้งขึ้นมาทำงานอย่างจริงจัง กรณีพรรคเพื่อไทยกับ นปช.มีคนทำงานซ้อนสองฝั่ง สองขา สองหน้าที่อยู่ไม่น้อย ทำงานพรรคด้วยทำงาน นปช.ด้วย งาน “สองขา” ดังกล่าวจึงต้องจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของขบวนการต่อสู้
ที่ผ่านมา ขบวนการประชาธิปไตยมีความสันทัดจัดเจนในเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่น้อย แต่นั่นก็เป็นความสันทัดของพรรคปฏิวัติ หรือขบวนปฏิวัติในอดีต ยุคก่อน นโยบาย 66/23 ซึ่งไม่มีการถ่ายทอดบทเรียนแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงความเข้าใจของบางบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์การสู้รบในเขตป่าเขามาเท่านั้น มีข้อเท็จจริงมากมายที่สามารถยกขึ้นมาอภิปรายในองค์ประชุมกลุ่มย่อยได้
ในบางประเทศที่การต่อสู้ได้รับชัยชนะ อย่างประเทศเวียดนาม กัมพูชา และ ลาว งานจัดการด้าน “แนวร่วม” จะถือเป็นหัวใจสำคัญ กรณีลาว การเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ดำเนินไปในระยะแรกภายใต้องค์กรแนวร่วมที่ชื่อว่า “แนวลาวฮักชาติ” สามารถสามัคคีเอาเจ้าชายองค์น้องของเจ้าสุวรรณภูมาที่ชื่อ “สุภานุวงษ์” เชื้อสายเจ้า ผู้มีหัวเอียงข้างประชาชนมาเป็นผู้นำการต่อสู้ ชูขึ้นโดดเด่น ทำให้สามัคคีคนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นต้น
สอง / ต้องเข้าใจว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยวันนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ เราคิดว่า เราจะได้ประชาธิปไตยก่อน 100 ปีหรือไม่ โดยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งขณะนี้ก็ 78 ปีแล้ว
ลักษณะพิเศษประการแรกคือโครงสร้างของระบอบศักดินาอำมาตยาธิปไตยแข็งแกร่งมั่นคงยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญเป็นเรื่องรูปการจิตสำนึก นั่นคือ โครงสร้างการครอบงำทางวัฒนธรรมที่ลงรากลึกอย่างเหลือเชื่อ ผ่านระบบการศึกษาด้วยคำพูดง่ายๆว่า “เรียนไปเป็นเจ้าคนนายคน” ปลูกฝังจิตสำนึกยกระดับจากคนชั้นล่างขึ้นไปเป็นชนชั้นกลาง แล้วเติมแต่งด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์อย่าง “เจ้าขุนมูลนาย” ให้กลายเป็นชนชั้นข้าราชการและชนชั้นผู้ปกครอง
ที่สุดก็ลืมกำพืดตัวเอง ได้ใส่เครื่องแบบราชการหรือชุดทหารก็กล้ากระทั่งยิงพ่อแม่พี่น้องของตนเองได้แล้ว
ที่พูดถึงนี้กล่าวเฉพาะในภาคส่วนของระบบราชการ ทีนี้พูดถึงภาคการเมืองบ้าง ความจำเป็นที่ต้องเอาประชาธิปไตยมาให้ มิใช่ด้วยความเต็มใจแต่ประการใด หากแต่เป็นภววิสัยสากลตามพัฒนาการของโลกที่จักต้องเปลี่ยนไป รูปแบบเศรษฐกิจ และการเมืองที่ก้าวหน้าต้องเข้าแทนที่สิ่งที่ล้าหลัง ประชาธิปไตยในเมืองไทยจึงมีลักษณะพิเศษคือ เริ่มต้นจำเป็นต้องให้อำนาจกับคนชั้นขุนนาง ขุนศึก และพลเรือนผู้มีการศึกษาสูง เพราะพวกนี้เรียกร้องต้องการ กระทั่งขู่บังคับเอา
หากมองให้ดีจะพบว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจของ “ส่วนบน” มาตลอด จะมาแตะหรือมาสัมผัสเอา “ชาวไพร่” บ้าง ก็เมื่อลูกหลานชาวไพร่ได้มีโอกาศเรียนหนังสือสูงๆ แต่จะมีสักกี่คนเล่าที่หลุดพ้นจากวัฒนธรรมปลูกฝังแห่งระบบการศึกษาไทย นานๆเราจึงได้คนอย่าง ปรีดี พนมยงค์, เตียง ศิริขันธ์, อัศนี พลจันทร์, กุหลาบ สายประดิษฐ์. จิตร ภูมิศักดิ์ และนักสู้เพื่อสังคมในยุค พ.ศ.2500 อีกหลายคน เกิดขึ้นมา แต่ก็เพือจะถูกปราบปราม จับคุมคุมข้ง กระทั่งเข่นฆ่าล่าสังหารตลอดมาในฐานะผู้รู้ความจริงก่อนชาวบ้าน หรือ “ผู้มาก่อนกาล” ตามคำศัพท์ของนักวิชาการในยุคต่อมา
กลุ่มนักการเมืองในยุคต้นๆ ยังเป็น “คนชั้นบน” อยู่เหมือนเดิม ได้แก่ ขุนนาง ขุนศึก พลเรือนผู้มีการศึกษาสูง จากนั้นจึงค่อยขยายมาสู่ ผู้มีการศึกษาที่มักใหญ่ใฝ่สูง และพวกพ่อค้า หลังยุคเปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพญาเลี้ยง” ซึ่งนั่นคือยุคศักดินา
เพราะฉนั้นสำนึกเชิงวัฒนธรรมในทางการเมืองของนักการเมืองยุคแรกๆ ลึกๆแล้วจึงไม่มี “ความใฝ่ฝันจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง” หากแต่เป็นนักการเมืองเพื่อแสวงอำนาจและผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง พรรคการเมือง รัฐสภา และรัฐบาล จึงเต็มไปด้วย พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้รับเหมา ขุนศึกขุนทหาร และผู้มักใหญ่ใฝ่สูงที่ต้องการไต่เต้าขึ้นเป็นอำมาตย์
สรุป เมื่อทั้งระบบราชการที่คัดเลือกเอาเฉพาะไพร่ที่พร้อมเปลี่ยนรูปการจิตสำนึกเป็นอำมาตย์ และระบบการเมืองที่เปิดโอกาสให้เฉพาะพวกแสวงหาผลประโยชน์ พวกมักใหญ่ใฝ่สูง ผู้ต้องการไต่เต้าเป็นอำมาตย์ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงยากจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อประกอบกับโครงสร้างอันแข็งแกร่งของระบบศักดินาอำมาตยาธิปไตย ทำให้การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยเป็นเรื่องยากและมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ประการสำคัญที่สุดจึงต้องมองให้เห็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยดังกล่าว กำหนดยุทธศาสตร์แต่ละระยะให้ชัดเจน มีสายตายาวไกล มองเห็นผู้นำ และสันทัดในการสร้างผู้นำ ไม่ปล่อยให้เป็นไปอย่างเสรี ไร้การจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นสู้ไปก็รังแต่จะพ่ายแพ้ซ้ำซาก
สาม / ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยควรเป็นบุคคลแบบใด ต้องกำหนดภาพให้ชัดเจนแน่นอน ในส่วนของพรรคการเมืองก็ต้องสร้างและสนับสนุนผู้นำขึ้นมา ควรทำให้ต่อเนื่อง เห็นลำดับเป็นหนึ่ง.สอง.สาม.สี่ ยอมรับบทบาทการนำ และเชิดชูให้โดดเด่น ไม่ขัดแย้งแก่งแย่งและช่วงชิงการนำกันเอง วางไว้สำหรับอนาคตข้างหน้าอย่างน้อย 3-5 ปี หรือกว่านั้น ภาพผู้นำดังกล่าวต้องเป็นที่ยอมรับของมวลชน มีบทบาทต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยาวนานต่อเนื่อง มีแนวคิดแหลมคม แจ่มชัด มีท่วงทำนองสุภาพสุขุม มีสัมพันธภาพกับสื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความเพรียบพร้อมในภาพความซื่อสัตย์สุจริต และที่สำคัญ เป็นคนมีอุดมการประชาธิปไตยที่แท้จริง กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม พรรคเพื่อไทยควรมีจินตนาการในเรื่องนี้
สมมุติว่า เรามอง จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นบุคคลที่เข้าข่ายที่กล่าวมา พรรคต้องกล้าสนับสนุนให้เป็นผู้นำ ผู้นำมิได้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคปัจจุบันที่ต้องเป็นหัวหน้าพรรค หรือตำแหน่งสำคัญอื่นใด เราสามารถสร้างภาพผู้นำเชิงจินตนาการได้ สร้างภาพให้เป็นนายกรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคต เชิดชูขึ้นให้แข็งแกร่งและมีพลัง เพราะในความเป็นจริง หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 เราอาจ
ต้องใช้เวลาพลิกฟื้นสถานการณ์ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย (เวลานั้น จาตุรนต์ พ้นภาวะบ้านเลขที่ 111 ไปแล้ว) ซึ่งนี้คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องมีจินตนาการ มองข้ามไปในอนาคต และสร้างรูปการสำหรับการต่อสู้ขึ้นมารองรับ แล้วพาไปในทิศทางนั้น เมื่อก่อนเวียดนามในยุคแรกๆมี โฮจิมินห์ เคลื่อนไหวเป็นผู้นำสูงสุด แต่ก็ยังมี ฝ่ามวันดง และคนอื่นๆเป็นผู้นำร่วมต่อสู้ เรื่องอย่างนี้ ทักษิณ ชินวัตร ควรเริ่มคิดอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับองค์กรต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่าง นปช. และ/หรือองค์กรอื่นๆ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ สรุปข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ประชุมถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ผ่านการต่อสู้ที่เป็นจริง ทุกฝ่ายต่างได้รับบทเรียน เกิดกลุ่มก้อนกำลังพลที่หลากหลาย ซึ่งต้องคิดว่า จะสู้ต่อไปอย่างไรให้ได้ชัยชนะ จินตนาการถึงภาพอนาคต การนำ แกนนำ คณะนำ งานปิดลับ เปิดเผย ใต้ดิน บนดิน รูปแบบการต่อสู้อันพลิกแพลงแตกต่าง รูปแบบงานแนวร่วม คำชี้นำชี้แนะต่างๆ ควรเกิดขึ้นจากการวิคราะห์กลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนรอบคอบโดยคณะนำ มิใช่จากบุคคลที่แสดงความเห็นโดยเสรี เคลื่อนไหวอย่างวีรชนเอกชน และอื่นๆอีกมากมาย
สี่ / เรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องบอกว่ารัฐบาลเผด็จการอำมาตย์ทุบทักษิณมา 4 ปี ทุบทำลายไม่สำเร็จ เข้าภาษิตโบราณ “จันทน์หอม ยิ่งทุบยิ่งหอม” ทักษิณไม่หายไปจากความทรงจำของประชาชน และที่สำคัญ รัฐบาลไม่อาจทำให้ประชาชนเชื่อว่า ทักษิณเป็นคนชั่วร้ายได้ เหมือนกับที่เมื่อก่อนทำให้คนเกลียดชังคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพยายามทำให้ทักษิณเป็นเหมือนคอมมิวนิสต์ในอดีต ด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” แต่ประชาชนกลับคิดว่า ทักษิณถูกกลั่นแกล้ง ทักษิณถูกกระทำแบบสองมาตรฐาน ที่สุด ทักษิณกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะฉนั้นไม่ว่าทักษิณจะอยู่ที่ไหน จะไม่อยู่ หรือชื่อนี้หายไปจากโลก แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยังดำรงอยู่
เมื่อทักษิณกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ ปัญหาจึงอยู่ที่ “บทบาท” ที่ผ่านมา บทบาทในฐาะผู้ร่วมต่อสู้นั้นชัดเจน แต่บทบาท “การนำ” ยังเป็นปัญหา ฝ่ายรัฐบาลปักใจเชื่อว่า ทักษิณนำการต่อสู้ แต่ขณะที่ทักษิณเองกลับปฏิเสธ ประเด็นนี้ ความจริงแห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการสำรวจทบทวนเป็นอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าในส่วนของ นปช.มีอิสระเต็มที่ในการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนถึง เหตุการณ์หน้าทำเนียบ เมษายน ปี 52 บทบาทการนำจะอยู่ที่ “สามเกลอ”เป็นตัวหลัก
หลังจากนั้นมีการขยายการนำ เพิ่มจำนวนแกนนำ มีการประชุมบ่อยครั้ง ในช่วงหนึ่งปีก่อนเคลื่อนไหวใหญ่ที่ผ่านฟ้า และราชประสงค์ การเพิ่มแกนนำก็ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยใคร ต่างมาโดยธรรมชาติของคนในขบวนการที่ทำงานต่อเนื่องกันมา มีบทบาทบนเวทีปราศรัย มีเวลาให้กับการทำงานเต็มที่ ร้อยรัดรวมตัวกันเข้ามาโดยสมัครใจ เมื่อไม่การแต่งตั้ง เลือกตั้ง ก็ไม่มีกฎระเบียบในการรับคนเข้าคนออก กรณีทำความผิดพลาดใดๆจึงไม่มีอำนาจไปถอดถอนใครออกจากแกนนำได้ บ่อยครั้งตกลงกันในที่ประชุมอย่างหนึ่ง แต่ออกไปปฏิบัติจริงกลับเป็นไปคนละทิศทางกับที่ประชุมมา
การประชุมทุกครั้ง ไม่มีคำชี้แนะชี้นำอะไรจากทักษิณ การโฟนอินหรือวิดีโอลิงค์เข้ามาแต่ละครั้งไม่มีการกำหนดหัวข้อหรือประเด็น ทักษิณพูดได้โดยอิสระเสรี การสื่อสารถึงทักษิณเท่าที่ทราบเป็นการสื่อสารหลายทาง ใครก็โทรศัพท์คุยกับทักษิณได้ ทั้งนักการเมืองในส่วนของพรรค และแกนนำ นปช.ทุกระดับ รวมไปถึงทหารแตงโมและตำรวจมะเขือเทศ ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วทักษิณจะเชื่อใคร โดยเฉพาะช่วงปลายหรือช่วงวิกฤติของการต่อสู้ ความขัดแย้งระหว่างแนวทางฮาร์ดคอร์ กับสันติวิธีเริ่มไม่ลงรอยกันชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การต่อสู้เดินหน้าไปอย่างปั่นป่วน สับสน ไร้การควบคุม
ไม่ว่าจะอย่างไร ทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็น “สัญญลักษณ์ประชาธิปไตย” ของสังคมเสื้อแดงไปแล้ว และในความเป็นจริงก็ได้พิสูจน์ให้ยอมรับโดยไม่ต้องคัดเลือก ท่ามกลางสถานการณ์ต่อสู้ ให้เป็นหนึ่งในคณะนำสูงสุดอย่างไม่ต้องสงสัย ในการต่อสู้ครั้งต่อไปจึงน่าพิจารณาว่า ทักษิณคือแนวร่วมซึ่งต้องมีที่อยู่ที่ยืนและมีบทบาทที่แจ่มชัด เมื่อพวกเราก้าวพ้น “ผู้ก่อการร้าย” ไปได้แล้ว ก็จะเหลือสถานะต่อไปเพียงประการเดียวคือ “ผู้กอบกู้ประเทศชาติพ้นวิกฤติสู่ศิวิไล” เท่านั้น
ห้า / ภาพทั้งหมดที่ลำดับมาในสี่ข้อสะท้อนให้เห็นอะไร และเรียกร้องให้เกิดอะไร คำตอบมีดังนี้
หนึ่งคือสะท้อนให้เห็นลักษณะไร้การจัดตั้ง ไม่มีระเบียบวินัย และไร้การนำที่มีรูปการอย่างแท้จริง สองสะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมขององค์กรฯ ที่ยังไม่เข้มแข็งพอจะยกระดับการต่อสู้
สามคือเรียกร้องให้เกิดองค์กรประชาธิปไตย เกิดแนวร่วมประชาธิปไตยที่มีรูปการ
สี่เรียกร้องให้เกิดคณะผู้นำสูงสุดในการต่อสู้ที่ชัดเจน
ห้าถึงเวลาหรือยังที่จะจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย” เคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของสังคมไทย ทั้งก่อนและหลังการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน
หกทักษิณต้องจัดวางตนเองไว้ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้เหมาะสม อย่างไรจึงเหมาะสมเป็นเรื่องต้องช่วยกันคิด
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิพากษ์ตรงๆว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา ไม่แสดงให้เห็นลักษณะ “การมีสุขภาพดี” (healthy) ของขบวนการแต่อย่างใด ดังนี้
”การพ่ายแพ้ครั้งหลังสุดนี้ เป็นการพ่ายแพ้ที่รุนแรง และเสียหายอย่างมาก (เฉพาะเรื่องชีวิตคนเรื่องเดียวก็ประเมินค่าไม่ได้) โดยไม่เพียงแต่ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น (วันยุบสภาตามที่เรียกร้อง) แต่ยังเสียหายในแง่กลไกต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น อีกมหาศาล (ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์)
ถ้าพ่ายแพ้ และเสียหายถึงขั้นนี้ แล้วยังไม่สามารถ "ก่อให้เกิด" (generate) การอภิปราย แสวงหา สรุป ในแง่ความผิดพลาด ในแง่แนวทาง ทิศทาง ไปถึงในแง่บุคคลากรอีก (คือยังคง อับจนในเรื่องเหล่านี้อีก เช่นที่ผ่านๆมา)”
ต้องถือเป็นเรื่องผิดปกติ
คนเสื้อแดงควรต้องเปิดใจให้กว้าง น้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ จากมิตรและแนวร่วม เพื่อปรับขบวนการต่อสู้ให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งต้องรู้ว่า เราสู้กับคู่ต่อสู้ที่ไม่ธรรมดา จะมุทะลุดุดัน หัวชนฝา ไร้เดียงสา ต่อไปอีกไม่ได้อย่างเด็ดขาด อีกสองทศวรรษ ราว 22 ปี ก็จะถึงหนึ่ง 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว เราจะชนะได้อย่างไร ชนะก่อนร้อยปีไหม เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิดอ่านอย่างจริงจัง
ดูแลตัวเอง ดูแลกันและกันให้ดี ถนอมรักษาชีวิต ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าทำลายทำร้ายกันเอง นี้คือการสรุปบทเรียนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า เรายังคงต้อง “สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนกว่าชัยจะได้มา” ขอให้ทุกท่านโชคดี เดินทางสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป สวัสดี.
บันทึกนี้เขียนเสร็จวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 (แก้ไขปรับปรุงเผยแพร่ 11 กรกฎาคม)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา