เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทางออกวิกฤตคนไทยฆ่ากันเอง

ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ : ชี้ทางออกวิกฤตคนไทยฆ่ากันเอง
ออกเสียงประชามติ ปฎิรูปการเมือง ก่อนยุบสภา
30 เมษายน 2553 : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์***
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ก่อตั้งศาลปกครอง

ในปัจจุบันนี้ คนไทยเรามีความแตกแยกทั้งในด้านความคิดเห็นและในการกระทำ และเรามีพลังมวลชนกลุ่มหนึ่ง(เสื้อแดง)ออกมาชุมนุมกันอยู่ในที่สาธารณะหลายแห่ง และพยายามเรียกร้องให้มี " การยุบสภา" และก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า การชุมนุมนี้จะยุติลงเมื่อใด และอย่างไร รัฐบาลได้พยายามสลายมวลชนและขอพื้นที่คืน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา และแม้ในระยะเวลาต่อมา รัฐบาลได้พยายามที่จะจับตัวแกนนำของพลังมวลชนกลุ่มนี้ ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ที่จะไปจับกุมแกนนำ กลับกลายเป็นฝ่ายที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันเสียเอง ดังเป็นที่ทราบอันอยู่แล้ว. วันนี้ ไม่ว่า กลุ่มพลังมวลชนเหล่านี้จะมาจากที่ใด จังหวัดใด และมาด้วยสินจ้างหรือไม่ แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มพลังมวลชนนี้นั้น มีความแน่นอนคือ เขาต้องการให้มี "การยุบสภา" และให้ยุบเร็วที่สุด



"การเจรจาต่อรองกัน" และถอยกันคนละก้าว ไม่ใช่ทางออก
สิ่งที่ผมประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ แม้แต่ในขณะนี้และวันนี้ หลังจากเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทย เมื่อเย็นวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา แต่ทำไม "วงการวิชาการ" ของเรา จึงยังคงเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วย "การเจรจาต่อรองกัน" และถอยกันคนละก้าว ระหว่างบรรดานักการเมือง นายทุนเจ้าของพรรคการเมืองด้วยกัน ว่า จะ "ยุบสภา" กันเมื่อไร จะยุบสภาในทันที หรือใน 3 เดือน 6 เดือน ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่นักการเมืองเหล่านี้ ก็คือ ผู้ที่แสวงหาประโยชน์และความร่ำรวยจาก "ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)" ด้วยกัน และ ต่างก็แย่งกันและสลับขั้วเข้ามาเพื่อผูกขาดอำนาจรัฐ ทำไมวงการวิชาการและชนชั้นปัญญาของเรา จำนวนมาก จึงไม่คิดเลยไปให้ไกลสักหน่อยว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ในขณะที่มีการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง

หากระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุน ยังคงอยู่
ผมเห็นว่า ตราบใดที่ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองนายทุน (ประเทศเดียวในโลก) ยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประเทศไทย ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ด้วย "การยุบสภา" ไม่ว่าการยุบสภานั้น จะทำในเดือนนี้ อีก 6 เดือนข้างหน้า หรือจะยุบสภาในอีก 1 ปี 9 เดือน เมื่อครบวาระของสมาชิกสภาผู้แทนชุดปัจจุบัน
ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้ชัดเจน จากความต้องการของอดีตนักการเมืองและนักการเมืองนายทุนที่เรียกร้องให้มีการยุบสภา ทั้งนี้ก็เพราะนักการเมืองนายทุนเหล่านี้ต้องการกลับเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง (ในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง) โดยอาศัย "การเลือกตั้ง" ที่อยู่ภายไต้อิทธิพลทางการเงิน ตามสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่ยังเป็นสังคมที่อ่อนแอ และมีระบบบริหารราชการที่พิกลพิการ

ต้อง "การปฏิรูปการเมือง" ก่อน การเลือกตั้งครั้งใหม่
ประเทศไทยและคนไทย จะแก้ปัญหาความเสื่อมทางการเมืองประเทศและออกจากวงจร - vicious circle (วงจรอุบาทว์) ที่เป็นเหตุให้คนไทยต้องฆ่ากันเองนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องมี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เป็น "การปฏิรูปการเมือง" ก่อนที่จะมี "การเลือกตั้ง" ครั้งใหม่ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ประชาชนจำนวนมากที่เป็นพลังเงียบของประเทศไทย กำลัง "คิด" อะไร และจะทำอย่างไร จึงจะไม่ให้พลังมวลชน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย และต่อสู้กันเอง

ประชาชนพลังเงียบเหล่านี้ อาจจะรู้และแน่ใจในพฤติกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีว่าเป็นอย่างไร ?
แต่สิ่งที่ประชาชนของเราไม่แน่ใจ ก็คือ พฤติกรรมของนักการเมืองนายทุนในพรรคการเมืองรัฐบาลของเราในขณะนี้ ว่า กำลังบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือกำลัง(แอบ)ทุจริตคอร์รัปชั่น และแสวงหาประโยชน์ จากการใช้งบประมาณของรัฐ ... ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน !!! ผมเห็นว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มี "พฤติกรรม" ใดของนักการเมืองคนใด รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรี ในพรรครัฐบาล ที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่จะ "ปฏิรูปการเมือง". คำถามต่อมา จึงมีว่า เพราะเหตุใด นักการเมืองของเราจึงไม่สนใจเรื่อง " การปฏิรูปการเมือง " คำตอบก็คงมีว่า เพราะนักการเมืองยังมีผลประโยชน์

ความไม่น่าไว้วางใจของรัฐบาลปัจจุบัน
ดังนั้น เราลองมาทบทวนดู ก่อนอื่นเรามาตรวจสอบดูว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดนี้ มีมากน้อยเพียงใด และเราก็จะพบว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบันก็ยังเต็มไปการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยไม่ย้อนไปถึงเรื่องคอร์รัปชั่นในระยะแรกๆ ของคณะรัฐบาลชุดนี้ เช่น เรื่องปลากระป่องเน่า นมโรงเรียน ฯลฯ การทุจริตเรื่องใหม่ๆ ก็เช่น การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวิ 4,000-6,000 คัน โครงการชุมชนเข้มแข็ง โดรงการในกระทรวงสาธารณสุข การซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ในสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง เรื่องการขอย้ายของตำรวจ "จ่าเพียร" ในภาคไต้ ซึ่งเป็นเขตของพรรคการเมืองแกนนำของรัฐบาล ที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และการสอบเพื่อเลื่อนตำแหน่งของนายอำเภอ ในกระทรวงมหาดไทย ที่มีการเขียนคำตอบที่เหมือน ๆ กันลายมือเดียวกัน เป็นจำนวนมาก ฯลฯ

ต่อมา เราก็มาลองติดตามดูว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองในพรรคการเมืองของรัฐบาล มีมากน้อยเพียงใด สิ่งที่พบว่า รัฐบาลมีความเข้มแข็งในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด ก็คือ ใน " คำพูด " ของนายกรัฐมนตรีที่ว่า ...ใครทำผิด ก็ตัองรับโทษ แต่ในทางปฏิบัติของรัฐบาล ดูเหมือนว่า ทุกเรื่องก็จะยุติลงอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีตัวบุคคลที่ต้องรับผิด !!! นอกจากนั้น นักการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ได้กำหนด "หลักเกณฑ์ " ใหม่ สำหรับการปราบปรามและลดจำนวนการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ กรณีใดถ้าสอบสวนแล้ว ยังไม่มีการจ่ายเงินแผ่นดินออกไป รัฐยังไม่เสียหาย กรณีนั้นไม่ถือว่าเป็นการทุจริต ?

ตลอดเวลาที่ผ่านมาปีเศษ (พ.ศ. 2552 - 2553 ) นักการเมืองในรัฐบาลของเรา ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยทั่วไปเชื่อได้ว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และด้วยเหตุนี้ นักการเมืองในรัฐบาลของเรา จึงขาด " ภาวะผู้นำ " คือ ไม่ได้รับความเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ ที่มากพอที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกของคนไทยได้

ข้อเสนอผ่าทางตัน จัดทำประชามติ ปฎิรูปการเมือง
ดังนั้น ผมคิดว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชน(คนไทย)ในขณะนี้ ก็คือ ให้คนไทยแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ - referendum เพราะวิธีการออกเสียงประชามติ เป็นวิธีการที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า ประชาชน(ส่วนใหญ่)ที่แท้จริง ทั้งประเทศ มีความเห็นในการแก้ไขปัญหาการเมืองในสภาพปัจจุบันนี้ อย่างไร และไม่ต้องถกเถียงกันอีก

แต่อย่างไรก็ตาม เราทราบกันอยู่แล้วว่า " หลักเกณฑ์ " ของการจัดทำประชามติ ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยเรา ก็มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่กว่า 44 ล้านคน และในบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น ต่างก็มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทั้งในด้านความรู้ อาชีพ และผลประโยชน์นั้น จำเป็นจะต้องเป็น " ปัญหา(สำคัญ) " ของประเทศและปัญหานั้นต้องเป็นปัญหาที่ชัดเจน ไม่มีความสลับซับซ้อน(ที่ยากแก่ความเข้าใจของประชาชนทั่วๆ ไป และนอกจากนั้น ในการออกเสียงประชามติ ก็จะต้องมีความแน่ชัดว่า รัฐขอความเห็นจากประชาชนในประเด็นใด

ผมได้ออกแบบ model law อันเป็น เอกสารที่กำหนดวิธีการ "ปฏิรูปการเมือง" ที่แน่ชัด ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะกระทำโดยองค์กรใด มีองค์ประกอบอย่างไร มีวิธีการร่างและมีประชามติอย่างไร และจะเสร็จเมื่อใด รวมทั้งมีการกำหนดรูปแบบสถาบันการเมือง(ที่เป็นประชาธิปไตย) สำหรับการบริหารประเทศชั่วคราวในระหว่าง "การปฏิรูปการเมือง" ดังนั้น model law จึงเป็นเอกสารที่พร้อมที่จะนำมาให้ประชาชนทั้งประเทศ ทำการออกเสียงเป็นประชามติ - referendum

ผมคิดว่า ในเมื่อมีกลุ่มพลังมวลชนบางกลุ่ม เรียกร้องให้มีการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วย "การยุบสภา" เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ... เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เราก็น่าจะใช้วิธีการเดียวกันเพื่อแก้ปัญหา คือคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ด้วยการให้ คนไทยทั้งประเทศออกเสียงเป็น "ประชามติ" เลือกเอา ระหว่าง การ "ยุบสภา" เพื่อให้มีเลือกตั้งใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน( ภายใต้ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ประเทศเดียวในโลก) ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพลังมวลชนบางกลุ่ม กับ การทำการ"ปฏิรูปการเมือง"ก่อน แล้วจึงมีจะมียุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตาม model law ของผม ( ดูรายละเอียด www.pub-law.net)

สำหรับปัญหาสุดท้าย ที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำ model law นี้ มาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ คำตอบก็คือ ผู้ที่จะนำ model law มาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติได้ จะต้องเป็นผู้ที่มี "อำนาจรัฐ" เท่านั้น ผู้อื่นไม่มีอำนาจ ผู้ที่จะเสนอให้มีการทำประชามติฯ อาจจะได้แก่นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองในพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็ได้ แต่นักการเมืองนายทุนในปัจจุบัน จะต้องเสียสละ "อำนาจ" ที่ตนเคยมี คือจะต้องปลดปล่อยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองของตน ให้มี "อิสระ" ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ ตามหลักสากลของระบอบประชาธิปไตย และต้องยอมเสียสละ "อำนาจผูกขาดของพรรคการเมือง" ที่ตนเป็นเจ้าของ และยกเลิกระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ( ฉบับเดียวในโลก ) และยอมให้คนไทยทำการ"ปฏิรูปประเทศ"

ท่านคิดว่า นักการเมืองนายทุนของเรา จะทำอย่างไร
การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ปัญหาประเทศนั้น มิใช่เป็น "การออกเสียงประชามติ" ตามที่นักการเมืองของเราบางคนเอามาพูดเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองก็เป็นประชาธิปไตย นักการเมืองประเภทนี้ จะเสนอให้มีการออกเสียงประชามติก็จริง แต่การออกเสียงประชามตินั้น จะต้องออกเสียงเฉพาะใน "ประเด็น" ที่นักการเมืองกำหนด เพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น เช่น ให้ประชาชนมีประชามติเลือกเอาว่า "เขตเลือกตั้ง จะใช้เขตเดียวคนเดียว หรือเขตเดียวหลายคน" แต่ไม่ว่าประชาชนจะลงมติในทางใด นักการเมืองนายทุนก็ยังใช้ "ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุน)" ในระบบรัฐสภา อยู่นั่นเอง

การปฏิรูปประเทศ จะใช้เวลานานกว่าการปฏิรูปการเมือง
ผมเชื่อว่า หากประเทศไทยเราสามารถ "ปฏิรูปการเมือง" ได้สำเร็จ และได้ "คนดี" มาปกครองบ้านเมือง ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศได้เคยทำสำเร็จมาแล้ว แต่เราก็ยังต้องให้ "เวลา" แก่คนดีดังกล่าว เพื่อให้ทำการ "ปฎิรูปประเทศ" ต่อไป เพราะการปฏิรูปประเทศ จะใช้เวลานานกว่าการปฏิรูปการเมือง


***ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๔๗๓ (๗๘ ปี ) เป็นบุตรของศาสตราจารย์ ขุนประเสริฐศุภมาตรา และ นางอินทิรา จันทรสมบูรณ์ สมรสกับ นางมุกดา จันทรสมบูรณ์ มีบุตรี ๒ คน

การศึกษา
- จบปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔
- จบปริญญาโท จบปริญาญเอก (Docteur en droit) ทางกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘
- ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักด์ิ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ , ๒๕๓๑ , ๒๕๓๔ ตามลำดับ

หน้าที่ที่สำคัญ
- เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๒๓ จนเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๓๓
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๒ สมัย
- ประธานคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทรวงการคลัง
- กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- อาจารย์ผู้บรรยายพิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ ถึงปัจจุบัน
- นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ปี พ.ศ.๒๕๓๙ ถึงปัจจุบัน
- นักกฎหมายดีเด่น ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.อมร ฯ เป็นนักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงที่สุดของวงการกฎหมายไทยตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดและหลักการในทางกฎหมายมหาชนในสังคมไทย ภายหลังจากที่ท่านได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว ท่านได้ทุ่มเทเวลาให้กับการเขียนและงานค้นคว้าทางวิชาการโดยได้นำเสนอแนวทางปฏิรูปการเมืองภายใต้แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) เสนอให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๓๔ จัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่สมควรให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองเข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ “สมบูรณ์ที่สุด” เท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา และมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งศาลปกครอง

ศ.ดร.อมร ฯ มุ่งพัฒนาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายโดยตรง คือ ระบบสถาบันการเมืองให้สำเร็จเสียก่อน เพราะระบบสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่ รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เป็นเวทีที่นักการเมืองใช้ออกกฎหมาย กฎหมายที่เราจะใช้ในประเทศ จะเป็นกฎหมายที่ดีหรือไม่ดีจะสร้าง Good Governance ได้หรือไม่ ก็อยู่ตรงนี้ ด้วยเหตุนี้ในระยะต่อๆมา ศาสตราจารย์ ดร.อมรจึงออกมาเดินหน้าเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งเน้นให้มีการกำหนด form of government หรือ รูปแบบของระบบสถาบันการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา