เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้อคิดต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากเวทีสาธารณะ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดเวทีสาธารณะว่าด้วย “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ” วันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่ห้องประชุม 12 ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีภาคประชาชนจากหลายเครือข่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอความเห็น

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2553

สาระร่างพระราชบัญญัติการชุมนุม สาธารณะ
พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวสรุปสาระร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอสู่สภาฯ ว่า พ.ร.บ.นี้จะบังคับเฉพาะการชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ ไม่มีองค์ประกอบด้านจำนวนว่าผู้เข้าร่วมจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นการชุมนุม อย่างไรก็ตาม มีองค์ประกอบคือ เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เปิดให้บุคคลอื่นเข้าฟัง เข้าร่วม สนับสนุนการชุมนุมได้ ส่วน "ที่สาธารณะ" หมายถึงที่ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมในการ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน


สำหรับการชุมนุมที่กฎหมายนี้ยกเว้น ได้แก่ งานพระราชพิธี งานศาสนา การแสดงกิจกรรมมหรสพ การชุมนุมในสถานศึกษา การชุมนุมตามกฎหมาย สัมมนาวิชาการ ข้อยกเว้นตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และการชุมนุมในสถานการณ์การเลือกตั้ง

การชุมนุมในที่สาธารณะที่เข้าองค์ประกอบข้างต้น ซึ่งจะกระทบความสะดวกของประชาชน ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ หรือบุคคลตามที่รัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ วิธีรับแจ้งไม่ได้ระบุใน พ.ร.บ. แจ้งก่อนจัดการชุมนุม 72 ชั่วโมง กรณีฉุกเฉินสามารถผ่อนผันได้ โดยผู้รับแจ้งต้องพิจารณาภายใน 24 ชั่วโมง หากขอผ่อนผันแล้วเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ โดยคำสั่งศาลเป็นที่สุด

การชุมนุมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสะดวกของประชาชน ซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมได้แก่ การชุมนุมสาธารณะที่ขัดขวางความสะดวกของประชาชนที่จะใช้หรือเข้าออกที่ สาธารณะนั้นตามปกติ หรือขัดขวางการให้บริการหรือใช้บริการท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีขนส่งสาธารณะ ระบบการขนส่งสาธารณะ หรือการสื่อสารสาธารณะอื่น หรือกีดขวางทางเข้าออกตามสถานที่ตามมาตรา 8 (การชุมนุมต้องห้ามตามกฎหมาย) ได้แก่ สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน ตลอดจนสถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นี้ คือ ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรตุลาการ และประชาชนทั่วไป โดยผู้จัดการชุมนุม คือ ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ เป็นผู้เชิญชวนผู้อื่นให้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีหน้าที่ต้องอยู่ร่วมการชุมนุมโดยตลอด ประกาศให้ผู้ชุมนุมทำตามหน้าที่ในการชุมนุม ไม่ส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมไม่ปฎิบัติตามมาตรา 17 นั่นคือ ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ไม่ก่อความไม่สะดวกกับประชาชนทั่วไป ไม่ปิดหน้า ไม่พกอาวุธ ไม่บุกรุกทำลายทรัพย์สินผู้อื่น ไม่ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย ไม่ประทุษร้าย ไม่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติงาน และปฎิบัติตามคำสั่งด้วยวาจาของเจ้าพนักงาน

การชุมนุมต้องแจ้งระยะเวลาในการชุมนุม และชุมนุมตามระยะเวลาที่แจ้งไว้ การเดินขบวน ต้องแจ้งล่วงหน้าและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน

ขณะที่ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองความสะดวกของประชาชนและผู้ชุมนุม ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าจะมีการชุมนุม อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง ดูแล รักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกตามที่ผู้จัดการชุมนุมร้องขอ ควบคุมการชุมนุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบถึงหน้าที่ สามารถดำเนินการให้เลิกการชุมนุมได้ ถ้าการชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวาย

จินตนาระบุมีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่แล้ว ชี้รัฐบาลกลัวผีการเมือง
จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด แสดงความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ เพราะมีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องมี ก็ต้องเลือกใช้กับเฉพาะกลุ่ม เพราะภาคประชาชนที่ต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ เรื่องสิทธิที่ทำกินนั้นไม่มีผู้มีบารมีช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มที่ต่อสู้ทางการเมือง เช่นเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ รัฐบาล หรือการเลือกตั้ง มีคนคอยให้ความช่วยเหลือ

เธอวิจารณ์ว่า รัฐบาลกลัวผีการเมือง อยากจัดการทั้งสองสีให้อยู่ในระเบียบตามกรอบคิดของรัฐบาล จึงออกกฎหมายเช่นนี้ แต่ทั้งสองสีมีคนที่มีบารมีอยู่เบื้องหลัง กฎหมายนี้จึงจัดการได้แต่กับคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีบารมีอย่างพวกเธอเท่านั้น

ใน รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. เธอระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการต้องแจ้งล่วงหน้าว่าจะจัดการชุมนุม เพราะบางครั้งการชุมนุมเป็นเรื่องเฉพาะหน้า เช่น เมื่อคืนเราเพิ่งรู้ว่าวันนี้จะมีการขุดดิน จึงต้องรีบชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชัดเจนอีกหลายประการเช่น บางครั้งก็ต่างคนต่างไปชุมนุม จะเอาอะไรมาวัดว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม ชาวบ้านเพิ่งมาจากสวน มีมีดพร้าติดตัวมาด้วยจะถือว่าเป็นอาวุธหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่ให้หยุดการชุมนุมได้ ถ้าการชุมนุมมีความวุ่นวาย ถามว่าเอาอะไรมาวัดว่าวุ่นวาย การชุมนุมของชาวบ้านไม่มีใครนั่งพับเพียบ ทุกคนชูธง ใช้เสียง เอะอะ เดินขวักไขว่ แล้วอะไรที่เรียกว่าเรียบร้อย

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนแนะกรรมการสิทธิฯ ลาออก หลังสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวถึงการอ้างความเดือดร้อนจากการชุมนุมว่า ส่วนใหญ่เป็นความเดือดร้อนของคนกรุงเทพฯ โดยไม่คำนึงเลยว่า ที่อยู่ได้ทุกวันนี้มาจากการแย่งชิงทรัพยากรจากคนชั้นล่าง เมื่อชนชั้นล่างมาเรียกร้องคัดค้าน ชนชั้นกลางก็โวยวาย ขณะที่เราพลัดที่นาคาที่อยู่ ถูกจับ ถูกตีให้ชนชั้นกลางได้รับประโยชน์ นี่เป็นการเอาเปรียบทางชนชั้น นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการคุกคามผู้ชุมนุม รวมถึงอาจนำไปสู่การเรียกรับผลประโยชน์ด้วย

บารมี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเลย ไม่ว่าเรื่องน้ำดื่ม หรือห้องน้ำ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปประกบแกนนำ ข่มขู่ไม่ให้มา โดยบอกว่าจะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ดังนั้น เสนอว่า ก่อนออกกฎหมายแบบนี้ รัฐควรไปฝึกคนให้มีประสิทธิภาพในการเจรจาต่อรองและแก้ปัญหาก่อน รวมถึงควรออก พ.ร.บ.ส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุมด้วย

ทั้งนี้ เขาวิจารณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ด้วยว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ควรมีหน้าที่ปกป้องการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่จำกัดเสรีภาพ โดยเขาได้เสนอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ลาออกจากตำแหน่ง

โอด แจ้งก่อนชุมนุม 3 วัน หนักกว่า กม.แรงงาน
สมศักดิ์ สุขยอด กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ การต้องแจ้งก่อนจัดชุมนุม 72 ชั่วโมงนั้น มากกว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งให้แจ้งการนัดหยุดงานก่อน 24 ชั่วโมงเสียอีก

เขาระบุด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่ห้ามชุมนุม โดยมองว่า ไม่ว่าผู้ใช้แรงงาน หรือ เกษตรกร ก็ต้องเดินทางไปเรียกร้องต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ร่างนี้กลับห้ามการชุมนุมในที่ต่างๆ เช่น หน้าสถานทูต เขายกตัวอย่างว่า หากมีผู้มาลงทุน แล้วกดขี่ประชาชน ก็ต้องไปชุมนุมที่สถานทูตประเทศนั้น แต่กฎหมายกลับไม่ให้ชุมนุม การทำเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเรียก ร้องแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาทำลายคนไทยอีกด้วย

พร้อม เข้าสู่กระบวนการ กม. หากละเมิดสิทธิผู้อื่น
กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวถึงกรณีที่มีผู้แย้งว่า หากไม่มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ผู้ชุมนุมอาจละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่ได้ชุมนุมได้ว่า พวกเธอไม่เคยปฎิเสธกฎกติกาของบ้านเมือง ตลอดเวลาที่ต่อสู้ เจอคดีจำนวนมาก ซึ่งพวกเธอก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เพราะเข้าใจว่าการต่อสู้จำเป็นต้องแลก

"เมื่อคิดว่าเรากระทบ สิทธิคนอื่น ก็ดำเนินคดีอาญากับเราได้ เราพร้อมเข้าสู่การพิจารณา" กรณ์อุมา กล่าวและว่า ไม่ว่ากฎหมายนี้จะมีขึ้นเพื่อจัดการกับกลุ่มใดก็ไม่เห็นด้วยทั้งนั้น โดยตั้งคำถามว่า หากมีกฎหมายนี้แล้ว วันหนึ่งมีรัฐบาลที่ทุจริตโกงกิน ใช้อำนาจเกินขอบเขต จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น จึงมองว่า ทุกวันนี้มีกฎหมายอาญาที่ใช้ได้อยู่แล้ว ไม่ควรมีซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

ชี้ กม.ช่วยรัฐบาลได้เปรียบ ไม่ต้องแก้ปัญหา แค่รอม็อบกลับ
พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะทั้งฉบับ โดยระบุว่า การออกกฎหมายแบบนี้ คนที่ได้เปรียบคือรัฐบาล เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะแก้ปัญหาหรือไม่ เพราะเมื่อผู้จัดการชุมนุมแจ้งว่าจะมีการชุมนุม รัฐมนตรีก็เตรียมหนีไปแล้ว หากผู้ชุมนุมไม่ชุมนุมตามระยะเวลาที่แจ้ง ก็จะถูกสลาย สุดท้ายรัฐมนตรีก็ไม่ต้องแก้ปัญหา

เขามองว่า แนวคิดนี้น่าจะมาจากทหาร ตำรวจ ที่ขี้เกียจตากแดดฝน รัฐบาลที่กลัวคนอยู่ตรงข้ามจะมาล้มตัวเอง เลยพยายามผลักกฎหมายออกมา ทำให้ความเดือดร้อนตกกับคนจน ทั้งนี้ การต้องแจ้งว่าจะชุมนุมกี่วันนั้นทำได้ยากเพราะผู้ชุมนุมเองก็ไม่อาจทราบ ได้ว่า ปัญหาของพวกเขาจะได้รับการแก้ไขเมื่อใด รวมถึงสถานที่ต่างๆ ที่ห้ามชุมนุมนั้นก็ล้วนแต่เป็นที่ที่ประชาชนต้องไปชุมนุมเพราะต้องการให้คน ที่อยู่ในที่เหล่านั้นแก้ปัญหาให้ หากไม่อนุญาตให้ชุมนุม จะมีอะไรที่เอื้อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ เขายังมองว่า การชุมนุมทางการเมืองก็ควรได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน พวกเขามีสิทธิบอกว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ทั้งนี้ มองว่า ตำรวจ ทหาร มีหน้าที่เพียงควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในขอบเขต ไม่ลิดรอนสิทธิจนเกินเหตุ ส่วนเรื่องการชุมนุมที่อาจขัดขวางการใช้บริการท่าอากาศยานหรือท่าเรือนั้นก็ มีกฎหมายเฉพาะของแต่ละที่ควบคุมอยู่แล้ว

จี้ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ชี้ขัด รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเวทีสาธารณะดังกล่าว องค์กรภาคประชาชนที่เข้าร่วมมีความเห็นร่วมกันว่าองค์กรภาคประชาชนจะคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ อย่างถึงที่สุด และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยกเลิกหรือขอถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ทำให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงสิทธิต่างๆ อันพึงมีพึงได้ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ทั้ง นี้ องค์กรภาคประชาชนจะติดตาม ประมวลข้อมูล เหตุผล และรายชื่อเพื่อยื่นเสนอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อนกยกรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ พรรคการเมืองต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด และจะเดินหน้ารณรงค์ขยายแนวร่วมภาคประชาสังคมและสาธารณชนเพื่อคัดค้านร่าง พระราชบัญญัตินี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

00000000000000000000000000000000

คำแถลงองค์กรภาคประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ……

สืบเนื่องจากการจัดเวทีสาธารณะว่าด้วย “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ” ขึ้นในวันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ๑๒ ตึก ๓ (เกษมอุทยานิน) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ……นำเสนอมุมมองของภาคประชาชนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนรวบรวมข้อเสนอแนะในการจัดการการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเป็นไปใน ทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น

จากเวทีสาธารณะดังกล่าว องค์กรภาคประชาชนดังมีรายชื่อท้ายคำแถลง มีความเห็นร่วมกันว่าองค์กรภาคประชาชนขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ อย่างถึงที่สุด และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยกเลิกหรือขอถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ทำให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงสิทธิต่างๆ อันพึงมีพึงได้ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาชนจะติดตามประมวลข้อมูล เหตุผล และรายชื่อเพื่อยื่นเสนอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อนกยกรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ พรรคการเมืองต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด และจะเดินหน้ารณรงค์ขยายแนวร่วมภาคประชาสังคมและสาธารณชนเพื่อคัดค้านร่าง พระราชบัญญัตินี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้วยจิตคารวะ

วัน ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓

๑. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
๒. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
๓. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
๔. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
๕. กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก
๖. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
๗. เครือข่ายสลัมสี่ภาค
๘. สมัชชาคนจน
๙. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (อิสาน)
๑๐. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
๑๑. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน
๑๒. กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
๑๓. กลุ่มอนุรักษ์บ้านเกิดอ่าวน้อย
๑๔. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน
๑๕. ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน
๑๖. กลุ่มแรงงานภาคตะวันออก
๑๗. กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจภาคตะวันออก
๑๘. สมานฉันท์แรงงานไทย
๑๙. กลุ่มเพื่อนประชาชน (F.O.P)
๒๐. RSA.
๒๑. เครือข่ายแรงงานตรวจสอบผลกระทบเงินกู้ของรัฐ (ALNI)
๒๒. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชน
๒๓. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
๒๔. สหภาพแรงงานรถไฟไทย
๒๕. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
๒๖. สมานฉันท์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
๒๗. สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา