อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2553
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าเมื่อก่อนนี้คนไทยที่อยู่ข้างล่างยอมอยู่ และยอมรับสภาพความเหลื่อมล้ำได้ จึงทำให้ไม่เกิดปัญหาของความคับข้องใจแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความไม่เสมอภาคทางชาติพันธุ์
ส่วนคนที่แสดงความใส่ใจเรื่องนี้ ก็มักจะให้ความสนใจเฉพาะหน้า เหมือนกับพวกนายทุนและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ (เช่น บริษัทที่แจกผ้าห่มสีเขียว เป็นต้น) นำผ้าห่มไปแจกชาวบ้านหน้าหนาวโดยที่ไม่เคยสำนึกและแสดงอะไรให้รับรู้ว่าควร จะทำให้ชาวบ้านมีเงินซื้อผ้าห่มที่ดีกว่า (ที่แจกให้) ด้วยตนเอง เพราะความเหลื่อมล้ำกลับเป็นช่องทางที่ทำให้พวกเขาได้แสดงให้สังคมเห็นว่า พวกเขาห่วงใยคนยากจนในสังคม โดยเฉพาะแสดงให้ชนชั้นกลางในสังคมไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจซื้อสูงสุดยอมรับในภาพพจน์ความมีน้ำใจต่อผู้เดือดร้อน
ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจจึงไม่ใช่เรื่องของเฉพาะความเหลื่อมล้ำ หากแต่ต้องพิจารณาให้เข้าใจถึงปฏิบัติการของคนในสังคมกับความเหลื่อมล้ำที่ ผ่านมา และความเปลี่ยนแปลงหมายของความรู้สึกเหลื่อมล้ำ
ชนชั้นกลางในสังคมไทยซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงที่สุดในปัจจุบันไม่ ใช่คนใจไม้ไส้ระกำอะไร รายการโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยชอบเสาะหาผู้ตกทุกข์ได้ยากมาแสดงชีวิตที่ลำเค็ญ เพราะรู้ว่าจะมีความช่วยเหลือมากมายไหลมาจากคนชั้นกลางสู่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งก็จะทำให้การหาโฆษณาง่ายมากขึ้น
กล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางในสังคมไทย (หรือของคนในสังคมไทยเลยก็ว่าได้) เป็นกลุ่มคนที่มีความ "เมตตากรุณา" ฝังอยู่ แต่ความ "เมตตากรุณา" ของสังคมไทยเป็นความรู้สึกที่มีเงื่อนไขกำกับอยู่ ก็คือ เป็นความ "เมตตากรุณา" ต่อผู้ที่อยู่เบื้องล่างและต้องเป็นผู้ที่ไม่เผยตนขึ้นมาเท่าเทียมเป็นอันขาด หากเผยอขึ้นมาเท่าเทียม ก็ไม่สามารถแสดงความเมตตาได้ ปฏิบัติการต่อความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาของสังคมไทย จึงเป็นการแสดงความ "เมตตากรุณา" ต่อผู้ที่ต้องยอมสยบอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำนั้น และเมื่อได้รับ "ความเมตตากรุณา" ไปแล้ว ก็ต้องสำนึกในบุญคุณให้มากด้วย
ลองนึกถึงความรู้สึกของพวกเราเวลาให้เงินขอทานดูซิครับ และหากสมมติว่าขอทานไทยเดินมาตบบ่าท่านและพูดว่า "เพื่อนเอ๋ย แบ่งเศษเงินมาให้กินข้าวหน่อยได้ไหม" ท่านจะให้เงินหรือไม่ ผมเชื่อว่าเราจะงง และไม่ยอมให้แม้แต่บาทเดียว
ระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทย ที่มีต่อความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ จึงไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่แท้จริงแต่ประการใด จนดูเหมือนว่าเราจงใจปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่ต่อไป เพื่อที่เราจะได้เป็นคนที่มีความ "เมตตากรุณา" และได้มีโอกาสทำบุญเพื่อขึ้นสวรรค์ในท้ายที่สุด
ขณะเดียวกัน ในสมัยก่อนนั้น คนที่ได้รับความ "เมตตากรุณา" หรือคนที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำก็ยอมรับสภาวะดังกล่าวนี้ได้ เพราะชีวิตของพวกเขาถูกอธิบายด้วยความไม่เท่าเทียมกันของกรรมเก่า ประกอบกับพวกเขาไม่เคยถูกทำให้คิดและรู้สึกว่าพวกเขามีโอกาสจะลืมตาอ้าปาก ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับความ "เมตตากรุณา" ก็เป็นเรื่องปกติของชีวิต
ความเหลื่อมล้ำจึงดำรงอยู่มาเป็นเวลานานในสังคมไทย แต่ในวันนี้ สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมได้พบว่าตนเอง สามารถที่จะเลื่อนฐานะของตนเองด้วยความสามารถและขยันขันแข็ง พวกเขาได้ขยับตนเองออกจากจุดอับทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรก้าวเข้าสู่ภาคการ ผลิตสมัยใหม่มากขึ้น และพบว่าพวกเขาทำได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ
ขณะที่คนกลุ่มใหม่กำลังพัฒนาความสำนึกในศักยภาพของคนที่เท่าเทียมกันขึ้นมา คนกลุ่มนี้จึงเริ่มมองว่าการรับความ "เมตตากรุณา" แบบเดิมเป็นเรื่องการทำลายศักดิ์ศรีของเขา พวกเขาไม่ได้ต้องการความ "เมตตากรุณา" แบบเดิม หากแต่ต้องการความเท่าเทียมกันในโอกาสมากกว่า
หากสังคมไทยหรือชนชั้นนำไทยยังมองความเหลื่อมล้ำในความหมายแบบเดิม และเน้นความช่วยเหลือแบบให้ความ "เมตตากรุณา" ก็รังแต่จะเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับความเหลื่อมล้ำทาง ด้านการเมืองและสังคมไปแล้ว
เวลาที่ผมอ่านหรือฟังชนชั้นนำทางการเมืองและปัญญาชนกระแสหลักทั้งหลายพูด เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ผมจะเกิดความกังวลทุกครั้ง เพราะผมรู้สึกว่าชนชั้นนำทางการเมืองและปัญญาชนกระแสหลักนั้นไม่ได้เข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงของระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมเลยแม้แต่น้อย
กล่าวได้ว่า ในบรรยากาศที่แย่ๆ แบบนี้ของสังคมไทย น่าเศร้าตรงที่ว่าชนชั้นนำทางการเมืองและปัญญาชนกระแสหลักไม่รู้ว่าตนเองไม่ รู้จักสังคมไทย แต่กลับหลงคิดไปว่าตนเป็นผู้รู้แต่เพียงกลุ่มเดียวและพยายามผูกขาดการอธิบาย สังคมไว้ในกลุ่มพวกตนเท่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงความหมายของความเหลื่อมล้ำได้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ มาแล้วในทุกแห่งบนพื้นโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและไม่รุนแรง สำหรับสังคมไทยนั้น ความเปลี่ยนแปลงของหมายของความเหลื่อมล้ำได้ก้าวเข้ามาสู่ขอบเขตของการใช้ ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เรา-ท่านจะมีความสามารถมากพอที่จะหยุดความรุนแรง และแสวงหาทางผ่านพ้นไปด้วยความไม่รุนแรงหรือไม่
ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ห่วงใยบ้านเมืองเริ่มรู้สึกทอดอาลัยตายอยาก เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนในสังคมไทยที่ เพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าหากเราลองพยายามคิดกันว่ารากฐานที่มาของความเกลียดชังกันนี้เป็น อย่างไร น่าจะเป็นการเริ่มต้นร่วมกันของสังคมครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา