เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์

ดร. เกษียร เตชะพีระ 
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์














๑. การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์  

     ผมสบโอกาสได้รับเชิญให้ช่วยอ่านและวิจารณ์ร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" ของอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 55 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา อ่านแล้วก็ตื่นเต้นและประทับใจ อยากเอามาเล่าต่อสู่ท่านผู้อ่าน

     งานวิจัยชิ้นนี้ ได้การสนับสนุนจากทุนปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2545 อาจารย์เสกสรรค์อ่าน ค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลไป ตามสัมภาษณ์ปัญญาชนสาธารณะผู้นำกลุ่มประชาชนและผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน 37 คน จากเหนือจรดใต้ ไปพร้อมกับสอนหนังสือและตรวจข้อสอบของนักศึกษาเป็นร้อยๆ ที่คณะรัฐศาสตร์รวม 7 วิชาไปด้วย กินเวลาปีกว่าจึงเขียนเสร็จ


     แต่หากนับช่วงเวลาที่อาจารย์เสกสรรค์เฝ้าครุ่นคิดใคร่ครวญถึงปัญหามูลฐานต่างๆ เกี่ยวกับรัฐ สังคมและการเมืองไทย จนก่อรูปเป็นแนวความเข้าใจและองค์ความรู้ในงานชิ้นนี้ก็คงจะกว่า 15 ปีตั้งแต่ค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง "TheTransformation of the Thai State and Economic Change(1855-1945) ("การเปลี่ยนรูปของรัฐไทยกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2398-2488) เสร็จ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อปี พ.ศ. 2532 และผลิตงานทางปัญญาและวิชาการแนวเดียวกันแบบเกาะติดสืบเนื่องมา

     ในฐานะข้อเขียนชิ้นหนึ่ง งานเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" จัดเป็นความเรียงขนาดยาว(เนื้อหา 4 บท 158 หน้า) ที่นำเสนอข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างแน่นเนื่อง, ผ่านการบ่มเพาะความคิดมานานจนสุกงอม และเพียบพร้อมด้วยข้อคิดความเข้าใจอันหยั่งลึก

ทั้งนี้ ผมพูดในฐานะเคยอ่าน ตรวจงานวิจัยและวิทยานิพนธ์มาไม่น้อยเล่ม พบว่าบ่อยครั้งผู้เขียนมักวกวนหลงติดข้อมูลรายละเอียดหรือประเด็นปลีกย่อยที่ดึงดูดใจจนหันเหออกนอกเรื่องไปไกล การเขียนงานวิจัยค่อนข้างยาวชิ้นหนึ่งให้รัดกุม เข้มข้นแนบเนื่อง เป็นเอกภาพ มุ่งตรงกัดติดคำถามหลักประเด็นหลักไปสู่ภาพรวมของความรู้ความเข้าใจในที่สุดราวมันเป็น "ความเรียง" หรือ "ซิมโฟนี" บทหนึ่ง จึงนับเป็นประดิษฐกรรมเชิงวิชาการที่อาศัยฝีมือช่างศิลปวรรณกรรมไม่น้อย

แม้โดยชื่อมันจะเป็นการศึกษาค้นคว้าความเกี่ยวพันระหว่าง"การเมืองภาคประชาชน"กับ"ประชาธิปไตยไทย" แต่โดยสารัตถะ อาจารย์เสกสรรค์ได้พยายามบ่งชี้และเสนอความจำเป็นที่จะต้องรื้อคิด และรวบยอดความคิดใหม่(rethink & reconceptualize) ซึ่งหลักมูลฐานต่างๆ ของศาสตร์และปฏิบัติการแห่งการเมืองการปกครองทีเดียว

บทสรุปที่วางอยู่บนปัญญาความคิดและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนนี้ จึงสำคัญมากต่อการเมืองไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเขียนได้ดี มีพลัง กระจ่างชัดเจนและเต็มไปด้วยวรรคตอนคมคายเด็ดๆ ที่สามารถคัดไปรวมเล่มพิมพ์เป็นคติพจน์ว่าด้วยการเมืองไทยได้ต่างหากอย่างสบาย

ในแง่แบบธรรมเนียมทางวิชาการ วิธีการศึกษาอันเป็นบุคลิกการคิดเรื่องการเมืองของอาจารย์เสกสรรค์ในงานชิ้นนี้ มีลักษณะเด่นอยู่สองสามประการ ซึ่งสะท้อนแนวการฝึกฝนอบรมที่ได้มาจากครูอาจารย์แห่งสำนักมหาวิทยาลัยคอร์แนลกล่าวคือ

1) อิงความเข้าใจแนวคิดปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ของตะวันตก เป็นพื้นฐาน
2) ใช้บริบทและข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นภูมิหลังในการอ้างอิง จัดลำดับเรียบเรียงความคิด ทำความเข้าใจและตีความการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
3) แนวทางวิธีการศึกษาเป็นแบบการเมืองเปรียบเทียบหรือสังคมวิทยามหภาค(comparative politics or macro-sociology) ที่มองกว้างคิดใหญ่ จับสถาบันและหลักการทางสังคมการเมืองใหญ่ๆ มาเป็นหน่วยวิเคราะห์เปรียบเทียบในครรลองเดียวกับงานของนักสังคมศาสตร์ตะวันตก เช่น Max Weber ในหนังสือ Economy and Society(1968); Barrington Moore Jr. Social Origins of Dictatorship and Democracy(1966); Theda Skocpol ใน States and Social Revolutions(1979); หรือ Charles Tilly ใน Big Structures, Large Processes, Hugh Comparisons(1989)

ในเมืองไทยเรา นักรัฐศาสตร์ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ก็เช่น ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช, รองศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น

ด้วยแบบวิธีการศึกษาดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้จากการอ่านงานวิจัยของอาจารย์เสกสรรค์คือ "ภาพรวม" หรือบทสังเคราะห์(synthesis) เป็นภาพรวมของโครงสร้างใหญ่ๆ ของสังคมการเมืองไทยในกระบวนการที่มันเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์, พร้อมทั้งหลักคิดทางการเมืองเบื้องหลังกระบวนการนั้น เปรียบตัดกับความเป็นจริงของสังคมจากมุมมองของชนชั้นล่างผู้เสียเปรียบ

กล่าวโดยสรุปย่นย่อรวบรัด ข้อค้นพบหลักของอาจารย์เสกสรรค์ที่ผมพอจับได้ในงานชิ้นนี้คือ

มันเริ่มจากมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสังคม 3 ประการใหญ่ของไทยได้แก่

1. วัฒนธรรมอุปถัมภ์
2. โครงสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจ
3. ช่องว่างเหลื่อมล้ำยิ่งทางเศรษฐกิจสังคม

เมื่อมาถูกกระทบกระแทกซ้ำเติมโดยกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจารย์เสกสรรค์นิยามแก่นสารของมันไว้กระชับจับใจว่าคือ "การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด" ผลก็คือเกิดสภาพวิกฤตใหญ่ในระดับทั่วทั้งระบบ และกร่อนลึกถึงมูลฐานของระบอบการเมืองและรัฐชาติไทย 3 ประการคือ

1. ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย อันสำคัญในบางด้านบางส่วนไป เพราะถูกตลาดยึดตามกระแสโลกาภิวัตน์

2. สภาวะหนึ่งรัฐ สองสังคม ที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันทั้งฐานะเศรษฐกิจ ชีวิตสังคม วัฒนธรรมการบริโภค ราวอยู่กันคนละชาติ คนละโลก

3. การใช้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ขาดฉันทานุมัติ ได้แต่เอะอะก็อ้างความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งสี่ปีครั้ง และอ้างชาตินามธรรมลอยๆ อย่างลวงตาและกลวงเปล่า เพื่อปัดปฏิเสธและกลบเกลื่อนผลประโยชน์รูปธรรมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ท้องถิ่นต่างๆ ที่ถูกหาว่าเป็น "คนส่วนน้อย" ของชาติเสมอ

สภาพอันวิปริตของระบอบการเมืองและรัฐชาติไทยทั้ง 3 ด้านนี้กระหน่ำตีลงไปที่ปัญหารากฐานของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคติเรื่องรัฐชาติทีเดียวได้แก่

- ปัญหาอธิปไตยของรัฐ - ระบอบประชาธิปไตยจะมีความหมายใดหากประชาชนผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของอธิปไตย ไม่มีอำนาจที่จะเลือกนโยบายบางอย่างเพราะถูกผูกมัดโดยหลักตลาด ภายใต้อำนาจโลกาภิวัตน์ของสถาบันโลกบาลทางเศรษฐกิจการค้า กลุ่มทุนข้ามชาติหรือมหาอำนาจเสียแล้ว?

- ปัญหาการนิยามผลประโยชน์ของชาติ - อะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของชาติกันแน่ ในเมื่อผู้คนที่ขึ้นชื่อว่าร่วมชาติเดียวกันกลับมีฐานะ ค่านิยม วิถีชีวิต และประโยชน์ได้เสียแตกต่างเหลื่อมล้ำ กระทั่งขัดแย้งกันถึงขนาดนั้น? ประชาชนไทยผู้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,500 บาท มีผลประโยชน์อะไรตรงไหนร่วมกันหรือกับรัฐบาลของเขา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำเจ้าของทรัพย์สินนับพันล้านหมื่นล้าน? หากทรัพย์สินส่วนสำคัญของชาติตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนข้ามชาติไปแล้ว การเอ่ยอ้างผลประโยชน์ของชาติยังจะมีความหมายใด?

- ปัญหาฉันทานุมัติทางการเมือง - การใช้อำนาจรัฐที่ฝืนมติประชาชน แม้จะโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม จะนำไปสู่ความไม่ยอมรับ ไม่พอใจ ตึงเครียด ขัดแย้ง และเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เสมอ

เมื่อปราศจากฉันทานุมัติของประชาชนแต่ยังคงดันทุรังจะใช้อำนาจดำเนินนโยบายให้ได้ รัฐบาลก็ย่อมต้องหันไปใช้กำลังรุนแรงเข้าบังคับขืนใจ และละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนพลเมืองกลุ่มต่างๆ มากขึ้นทุกทีเป็นธรรมดา

ไทยไร้อำนาจ, ไทยต่างชั้น, ไทยตีไทย ฯลฯ ทั้งหมดนี้กำลังกลายเป็นภาวะปกติธรรมดาทุกวี่วันของเมืองไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน อาจารย์เสกสรรค์ค่อนข้างเล็งผลร้ายว่าหากทิ้งไว้ต่อไป มันจะนำไปสู่ภาวะอนาธิปไตยเข้าจนได้ เว้นไว้แต่ว่าจะริเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ต่อตัวระบอบประชาธิปไตย ในประเด็นสำคัญ 3 ประการคือ

1) ลดลักษณะประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เพิ่มขยายประชาธิปไตยทางตรงแบบประชาชนมีส่วนร่วมใช้อำนาจด้วยตัวเองมากขึ้น

2) สร้างกระบวนการแสวงหาฉันทานุมัติแบบต่อเนื่อง(continuous consensus) ไม่ใช่เอาแต่เลือกตั้งสี่ปีครั้ง - ในประเด็นนโยบายสำคัญที่กระทบถึงผลประโยชน์ได้เสีย และทรัพยากรหลักของชุมชนท้องถิ่นทุกประเด็น ต้องเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นประเด็นนั้น เข้าร่วมส่วนแสดงความเห็นปัญหา ข้อโต้แย้งและหาฉันทานุมัติที่ทุกฝ่ายอยู่รอดอยู่ร่วมกันได้และพอรับได้ แทนที่จะอ้างคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่รับรู้เรื่องราวมาปิดปาก ขยี้เสียงแย้งของผู้มีส่วนได้เสียและรับผลกระทบโดยตรงอย่างพร่ำเพรื่อ

3) เปิดอนาคตประเทศไทยให้แก่วิถีทางพัฒนาและดำเนินชีวิตอันหลากหลาย รัฐต้องไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์บังคับยัดเยียดวิถีพัฒนาเดียว วิถีชีวิตเดียวให้ผู้คนอันแตกต่างหลากหลายในประเทศอย่างไม่จำแนกและไม่เคารพศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพในการเลือกของผู้คน

๒. จับประเด็นการเมืองภาคประชาชน

     ในร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" (2547) อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้จับประเด็นหลักทางแนวคิดทฤษฎี ประวัติความเป็นมา และบทบาทความสำคัญเชิงปฏิบัติของ การเมืองภาคประชาชน ในฐานะแม่กุญแจที่อาจมีศักยภาพจะช่วยไขปัญหาหลักทั้ง 3 ของการเมืองไทยปัจจุบัน อันได้แก่

1) ปัญหาประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย
2) ปัญหาหนึ่งรัฐสองสังคม และ
3) ปัญหาการใช้อำนาจรัฐโดยขาดฉันทานุมัติจากประชาชน ไว้ดังนี้

คำนิยามอย่างแคบ : - การเมืองภาคประชาชนหมายถึงการเคลื่อนไหวอย่างมีจิตสำนึกทางการเมืองของกลุ่มประชาชน เพื่อลดฐานะครอบงำของรัฐ รวมทั้งเพื่อโอนอำนาจบางส่วนมาให้ประชาชนใช้ดูแลชีวิตตนเองโดยตรง

คำนิยามอย่างกว้าง : - การเมืองภาคประชาชนคือปฏิกิริยาโต้ตอบการใช้อำนาจของรัฐ และเป็นกิจกรรมถ่วงดุลอิทธิพลการครอบงำของระบบตลาดเสรีในภาคประชาชน

แก่นสารของการเมืองภาคประชาชน : - กระบวนการใช้อำนาจโดยตรงโดยประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้ง และไม่น้อยไปกว่าการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ตลอดจนตัดสินใจเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงตน

สถานะของการเมืองภาคประชาชน : - การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในประชาสังคม โดยทาบเทียบกับส่วนที่เป็นรัฐ ขณะที่ประชาสังคมรวมทุกส่วนที่ไม่ใช่ภาครัฐไว้ด้วยกัน จึงมีทั้งสถาบันของประชาชนธรรมดา พ่อค้านายทุน และกลไกตลาด สามารถแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้ว่า ---> [ประชาสัมคม(การเมืองภาคประชาชน)] / รัฐ

จุดหมายของการพัฒนาการเมือง : - คือลดระดับการปกครองโดยรัฐลง(less government) และให้สังคมดูแลตนเองมากขึ้น โดยในสถานการณ์หนึ่งๆ จะมุ่งแสวงหาความสมดุลลงตัวในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม บนพื้นฐานระดับการแทรกตัวของรัฐเข้าไปในสังคมดังที่เป็นอยู่ และขีดความสามารถของประชาชนในการจัดการดูแลแก้ปัญหาของตนเองที่เป็นจริง

เนื้อแท้ของการเมืองภาคประชาชน : - ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐ, ถ่วงดุลอำนาจรัฐด้วยประชาสังคมโดยไม่ยึดอำนาจ

พร้อมกันนั้นก็ถ่วงดุลอำนาจของพลังตลาดหรือทุนซึ่งสังกัดประชาสังคมไปด้วย, โดยช่วงชิงกับฝ่ายทุนเพื่อลดทอนและกำกับบทบาทของรัฐ, แย่งกันโอนอำนาจบางส่วนที่เคยเป็นของรัฐมาเป็นของประชาชน(แทนที่จะตกเป็นของฝ่ายทุน) เพื่อใช้มันโดยตรงและไม่ต้องผ่านรัฐดังก่อน, ผลักดันให้รัฐใช้อำนาจที่เหลือสนองเจตนารมณ์ประชาชน (แทนที่จะสนองผลประโยชน์ของฝ่ายทุน)

ดำเนินการต่อสู้ด้วยวิธีขยายสิทธิประชาธิปไตยออกไป และย้ายจุดเน้นจากการเมืองแบบเลือกตั้งผู้แทนมาเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วม (ขณะที่ฝ่ายทุนใช้ตลาดเสรีเป็นฐานที่มั่นสำคัญ)

พลังพลวัตใหม่ของการเมืองภาคประชาชน : - ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรายย่อมและคนชั้นกลางทั่วไปในสังคมเมือง ซึ่งแตกต่าง ไม่วางใจ และอาจคัดค้านหรือปฏิเสธการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่บนเวทีการเมือง, กับกลุ่มปัญญาชนสาธารณะ สื่อมวลชนอิสระ และกลุ่มประชาชนผู้เสียเปรียบ

ความเป็นมาของการเมืองภาคประชาชน : - เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นหลักหมายสำคัญ, ช่วงหลังจากนั้น องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) เป็นห่วงเชื่อมต่อสำคัญระหว่างขบวนการปฏิวัติแบบเก่า ---> ไปสู่การเมืองภาคประชาชนแบบใหม่

บุคลิกลักษณะของการเมืองภาคประชาชน : - เป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ค่อนข้างราดิคัล (Radical Democratic Movements) ของกลุ่มย่อยที่ค่อนข้างกระจัดกระจายเป็นไปเอง โดยปราศจากศูนย์บัญชาการ มุ่งใช้สิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด ไม่มีกรอบอุดมการณ์ตายตัว ไม่ต้องการยึดอำนาจรัฐด้วยการโค่นอำนาจรัฐเก่าแล้วจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบโครงสร้างสังคมใหม่หมดตามแนวคิดแบบใดแบบหนึ่ง ถือกระบวนทัศน์เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง(people-orienten)

ดังนั้น จึงต่างจากขบวนปฏิวัติสมัยก่อนที่เอารัฐเป็นตัวตั้ง(state-orienten) และมุ่งยึดอำนาจรัฐมาคัดแปลงสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น

ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในการเมืองภาคประชาชน จึงมีประเด็นเรียกร้องต่อสู้ที่หลากหลายมาก แนวทางการเคลื่อนไหวก็ไม่เห็นพ้องต้องกันเสียทีเดียว จุดร่วมที่มีอยู่คือ ประเด็นปัญหาเหล่านั้นล้วนเกิดจากระบอบอำนาจรัฐรวมศูนย์ส่วนกลาง และความจำกัดจำเขี่ย ไม่พอเพียงของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในเวทีรัฐสภา มากกว่าความเป็นเอกภาพของการเมืองภาคประชาชนเอง ดังที่เรียกกันว่า one no, many yeses

ทิศทางและแม่แบบการเคลื่อนไหว : - การเมืองภาคประชาชนมีทิศทางการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ 4 แบบคือ :

1) ร้องทุกข์ เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เช่น กรณีแม่ใหญ่ไฮ ขันจันทา ร่วมกับสมัชชาคนจนและเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ ประท้วงเขื่อนห้วยละห้าท่วมที่นาทำกินนาน 27 ปี

2) มุ่งตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจรัฐ เช่น กรณีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนตรวจสอบทุจริตยาอื้อฉาวในกระทรวงสาธารณสุข

3) ประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน เช่น กรณีร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน, การต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่บ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์, การคัดค้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ของประชาชน อ.จะนะ จ.สงขลา, การประท้วงนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯลฯ

4) ร่วมมือเชิงวิพากษ์(critical co-operation) หรือเกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์(costructive engagement)กับรัฐ เพื่อเบียดแย่งพื้นที่ในกระบวนการใช้อำนาจมาเป็นของประชาสังคม เช่น แนวทางการเคลื่อนไหวสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของหมอประเวศ วะสี เป็นต้น

นับว่าการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนในทิศทางที่ 3) กล่าวคือ "ประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน" สอดคล้องกับแนวทางถ่ายโอนอำนาจของรัฐไปสู่สังคมมากที่สุด อีกทั้งเป็นการช่วงชิงฐานะได้เปรียบเสียเปรียบกับพลังตลาด/ทุนด้วย จึงอาจถือได้ว่าเป็นแม่แบบ(model)ของการเมืองภาคประชาชนทีเดียว

หมายเหตุ : บทความวิชาการนี้ ประกอบด้วยผลงานเขียน ๒ ชิ้น

ซึ่งเคยตีพิพม์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
๑. การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์
๒. จับประเด็นการเมืองภาคประชาชน

ข้อมูล : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา