การเมืองในระบบหรือประชาธิปไตยระดับชาติ อาจเป็นเรื่องไกลตัวนามธรรมสำหรับชาวบ้าน แต่การปลดหนี้ 20 ล้านที่บ้านสามขา, สภาผู้นำตำบลนาผือ, โรงเรียนสิทธิชุมชนคูหาใต้ และ การทวงคืนป่าพรุแม่รำพึงของชาวบางสะพาน และอีกหลายต้นแบบที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ กำลังบอกว่า “ประชาธิปไตยชุมชน” คือเรื่องจริงที่สัมผัสได้
หนี้ 20 ล้าน แก้ได้ที่ "บ้านสามขา" ด้วยประชาคมและแผนชุมชน
ชาวบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง 656 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์ แกะสลัก หาของป่า บางส่วนรับราชการ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ปัญหาร่วมคือพื้นที่ชุมชนกว่า 12,000 ไร่เป็นต้นน้ำ แต่กลับประสบปัญหาภัยแล้งจนทำเกษตรไม่ได้ กระทั่งปี 2546 ชาวบ้านไปดูงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำแล้วกลับมาทำฝายชะลอความชุ่มชื้นจนแก้ภัยแล้งได้ และยังนำไปสู่การตั้งกติกาห้ามตัดต้นไม้ในพื้นที่ที่กำหนดเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
อีกปัญหาใหญ่คือชาวบ้านเป็นหนี้ ทั้งหมู่บ้านมีหนี้สินรวมกว่า 20 ล้านบาท ปี 2538 เกิดกระบวนการแก้ปัญหาชุมชน เริ่มโดยรวบรวมข้อมูลนำไปสู่การทำแผนชุมชน มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน เมื่อรวบรวมทั้งหมู่บ้านแล้วนำไปติดบอร์ดให้ทุกคนเห็นว่ารายจ่ายอันไหนสูงเกินความจำเป็น มีการพูดคุยเพื่อหาทางลดรายจ่าย เช่น ค่าซื้อสุราเลี้ยงในงานบุญงานศพ จนเกิดการทำประชาคมสร้างกติกาห้ามดื่มสุราในงานศพ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,000 บาท ทั้งนี้ยังสร้างระบบสวัสดิการชุมชน เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุ กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้มีระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
การกำหนดกติกาชุมชนในระยะแรกมีชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วย และไม่ปฏิบัติตามเพราะไม่ใช่กฎหมาย แต่คณะกรรมการบริหารชุมชนหมั่นทำความเข้าใจและรณรงค์ต่อเนื่องให้ทุกคนยอมรับในกติการ่วมกันจนประสบความสำเร็จและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
“สภาผู้นำตำบลนาผือ” รวมพลังชาวบ้านได้ จึงแก้ปัญหาชุมชนยั่งยืน
ชุมชนตำบลนาผือ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เคยมีปัญหาหนักเรื่องการทำมาหากิน สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ กระทั่งเปลี่ยนวิธีคิดจากตัวใครตัวมันเป็นการรวมตัวกันแก้ปัญหา โดยมีสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม(SIF) เข้ามาสนับสนุนในปี 2543 จึงเกิด “คณะกรรมการสภาผู้นำตำบลนาผือ” ซึ่งมาจากตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน มาร่วมกำหนดทิศทางชุมชน จัดทำแผนชุมชนจนไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และวิทยุชุมชนมีบทบาทอย่างยิ่งในการถ่ายทอดความรู้และเป็นศูนย์ข้อมูลการพัฒนาตำบล
ปัจจัยสู่ความเข้มแข็งของตำบลนาผือ ส่วนหนึ่งมาจาก “สภาผู้นำตำบล” เป็นเวทีกลางเชื่อมโยงนโยบายและแผนต่างๆสู่ชุมชน เพื่อให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยยึดกระบวนการจัดการปัญหาแบบพึ่งพาตัวเอง มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เช่น รวมกลุ่มจัดตั้งร้านค้าชุมชน ซื้อขายกันเอง ไม่ให้เงินรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และยังมีโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร
ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกัน เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างยั่งยืน
พลังชุมชน...พลังสีเขียว...การทวงคืน "ป่าพรุแม่รำพึง"
"ชาวบ้านรวมตัวกัน 6 ปี มีการประชุมต่อเนื่องทุกวันเสาร์ มีคนมาอย่างน้อยร้อยกว่าคนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และผลัดเปลี่ยนเวรกันเฝ้าป่าพรุ” คือเสียงสะท้อนการร่วมมือของชาวบ้าน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในการปกป้องและทวงคืนผืนป่ากว่า 1,870 ไร่ ที่ชุมชนหวงแหนและมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ
ขณะที่ชาวบ้านก็ได้อาศัยพื้นที่ป่าหาปลา เลี้ยงสัตว์ พอฤดูแล้งซึ่งไม่มีน้ำท่วมขัง ชาวบ้านก็จะขุดบ่อเล็กๆเป็นปรักปลา เพื่อให้ปลามีชีวิตรอดกลายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในฤดูน้ำต่อไป ถือเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างพึ่งพาเกื้อกูล
แต่แล้ว...ปัญหาของป่าพรุแม่รำพึง ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในประเทศ โดยมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 เห็นชอบนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเหล็กขั้นตอน (โรงถลุงเหล็ก) กระทั่งปี 2549 ชาวบ้านเริ่มพบร่องรอยของการบุกรุกเพื่อเตรียมการออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่สาธารณะและพื้นที่อนุรักษ์
สัญญาณเตือนดังกล่าวทำให้ วิฑูรย์ บัวโรย, สุพจน์ ส่งเสียง และสมศักดิ์ อบเชย ชาวบ้านกลุ่มแรกก้าวออกมาตรวจสอบป่าพรุของพวกเขา ก่อนจะกลายเป็นกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงที่เป็นการรวมตัวของชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบเรื่องเอกสารสิทธิ์และเฝ้าระวังพื้นที่ป่า โดยการตั้งหน่วยลาดตระเวนคอยระวังการบุกรุกทำลาย นำไปสู่การยื่นฟ้องหน่วยราชการ 11 หน่วยต่อศาลปกครองกรณีออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบจำนวน 18 แปลง รวม 310 ไร่ 74 ตารางวา
สุพจน์ เล่าว่า การรวมตัวของชาวบ้านเริ่มจากวิฑูรย์ พ่อค้าส้มตำที่ต่อสู้อยู่คนเดียวแล้วค่อยๆ ขยาย ใช้การสมมติให้ชาวบ้านเป็นกรมที่ดิน คุณเป็นกรมป่าไม้ เพื่อศึกษาข้อมูลและเข้าตามหน่วยงานต่างๆ อย่าสันติ ใช้เงินส่วนตัวของชาวบ้านกว่า 5 ล้านบาท การต่อสู้ร่วมกันกว่า 6 ปี ทำให้ศาลค่อยๆมีคำสั่งเพิกถอนการให้เอกสารสิทธิ์
“สิ่งที่เราทำไม่ได้แค่ปกป้องสิทธิชุมชนเราแต่เรายังปกป้องสิทธิมนุษยชาติ เป็นการขับเคลื่อนชุมชนสู่ประชาธิปไตย โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน” สุพจน์ ทิ้งท้าย
โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหาใต้ ใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้
สัมปทานโรงโม่หิน คือชนวนที่ระเบิดวิถีชีวิตชาวบ้านในเขต ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และสร้างประเด็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเอกชน โดยที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือสะชะลอผลกระทบอย่างจริงจัง
การก่อตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงค่อยๆเกิดขึ้น พร้อมๆกับได้รับความรู้เรื่องสิทธิชุมชน จึงพยายามจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน แต่ถูกปฏิเสธการจดแจ้ง เนื่องจากความอ่อนแอของสภาฯ แต่เมื่อปัญหายังเดินหน้าสร้างผลกระทบให้ชาวบ้านไม่หยุดหย่อน พวกเขาจึงรวมตัวกันตั้ง “โรงเรียนสิทธิชุมชนคูหาใต้”ขึ้น เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน มีส่วนร่วมพูดคุยปัญหาและทางออก นำเสนอปัญหาเป็นฐานที่จะนำชุมชนไปสู่สังคมที่เป็นธรรม โดยมีครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน ส่วนนักเรียนเป็นชาวบ้านที่หมุนเวียนมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน
มีกิจกรรมพัฒนาเชื่อมโยงทั้งในและนอกพื้นที่ ใช้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางสื่อสารหลักในกระบวนการเรียนรู้ ให้ความรู้เรื่องสิทธิชุมชน กฎหมาย ปัญหาทรัพยากร และยกระดับการต่อสู้เป็นเครือข่ายคัดค้าน ใช้กลยุทธ์สร้างพันธมิตร แนวร่วม ยกระดับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกันระดับจังหวัด ซึ่งสะท้อนว่า “กระบวนการเรียนรู้เรื่องราวชุมชน ค้นพบปัญหา แนวทางแก้ไข และผสานปัญหากับนโยบายท้องถิ่น ส่วนราชการ หรือระดับชาติก็เพื่อให้ประชาธิปไตยชุมชน เป็นการเมืองที่ประชาชนต้องการแท้จริง”
ความสำเร็จจากหลายพื้นที่ คือตัวสะท้อนเค้าลางความหวัง จุดประกายกำลังใจให้กับชุมชนอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาและคิดหาทางออก ว่าไม่ใช่มีเพียงการเมืองในระบบหรือประชาธิปไตยระดับชาติที่อาจดูเป็นนามธรรมจับต้องยาก แต่พลังประชาธิปไตยชุมชนสัมผัสได้ และเกิดผลจริงแล้ว.
วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา