อริสโตเติล กล่าวว่า การเมือง คือ ความผูกพันระหว่างประชาชนกับรัฐ จากคำกล่าวนี้ทำให้เกิดการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ประชาชนกับการเมืองจะแยกกันไม่ออก จะมีความผูกพันและจะมีบทบาทต่อกันตลอดไป การที่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์และแสดงบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นการแสดงบทบาททางการเมืองของประชาชนหรือเป็นการเข้าร่วมทางการเมือง (Political participation) นั่นเอง
ซึ่งแมคคอสกี้ (Meclosky) ได้อธิบายความหมายของการเข้าร่วมทางการเมืองไว้ว่า " การที่บุคคลมีความสำนึกในทางการเมืองการปกครองได้เข้าร่วมทางการเมืองเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทำโดยความสมัครใจซึ่งสมาชิกทั้งที่อยู่ในสังคมได้มีส่วนร่วมกันในอันที่จะเลือกผู้นำของตน และกำหนดนโยบายของรัฐ การกระทำนั้นอาจจะทำโดยตรงหรืออ้อมก็ได้" สำหรับบุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้เข้าร่วมทางการเมืองนั้น จะเกี่ยวข้องหรือเข้าร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเมือง
เหล่านี้ (อาจจะอย่างเดียวหรือหลายอย่างพร้อม ๆ กันก็ได้) คือ การใช้สิทธิในการเลือกตั้ง การแสวงหาความรู้ทางการเมือง การอภิปรายหรือการพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง การเข้าร่วมในการชุมนุมทางการเมือง การแสดงมติมหาชนอื่น ๆ การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การก่อตั้งพรรคการเมือง การลงรับสมัครเลือกตั้ง เป็นต้น แต่การที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลัทธิการเมืองเอื้ออำนายให้ ประชาชนมีความสำนึกทางการเมืองวิถีทางทางการเมือง เป็นต้น
สิทธิหน้าที่ของประชาชน (Right – Obigation of People)
คำว่า สิทธิ หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะกระทำการสิ่งใด ๆ ได้โดยไม่ถูกแทรกแซงหรือถูกขัดขวางจากผู้อื่น แต่การที่จะมีสิทธิและรักษาสิทธิได้นั้น รัฐองค์การเดียวเท่านั้น จะเป็นองค์การกำหนดขอบเขตแห่งสิทธิ และบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิของบุคคล โดยมีบทบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าบุคคลจะใช้สิทธิได้เพียงใด หรือจะมีสิทธิอะไรบ้างนอกเหนือจากสิทธิตามธรรมชาติ เมื่อกฎหมายได้กำหนดให้สิทธิขึ้นหน้าที่ก็จะเกิดขึ้นด้วยตามสิทธิ เพราะสิทธิกับหน้าที่เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกัน สำหรับการที่ประชาชนจะมีโอกาสแสดงบทบาทหรือเข้าร่วมทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหย่อมขึ้นอยู่กับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง (Political Right) ซึ่งหมายถึง การที่ยินยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้มีโอกาสมีส่วนในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงในทางการเมือง สิทธิทางการเมืองของประชาชน โดยปกติแล้วจะกำหนดไว้ในกฎหมายหลักของประเทศคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ในมาตรา 23 ได้กำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิทางการเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้ง สิทธิสมัครสิทธิในการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลหรือสิทธิในการปกครองประเทศ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิทธิทางการเมืองกับประชาธิปไตยจะเป็นของคู่กัน จึงสรุปได้ว่า ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะมีโอกาสแสดงบทบาททางการเมืองหรือเข้าร่วมทางการเมืองได้มากกว่าประเทศที่ปกครองในระบบเผด็จการและสิทธิหน้าที่ทางการเมืองของประชาชนจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลัทธิทางการเมืองเช่นกัน
ความสำนึกทางการเมือง
ความสำนึกทางการเมือง หมายถึง การที่บุคคลมีความรู้สึกสำนึกในทางการเมืองการปกครอง มีความสามารถเรียนรู้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง มีความสามารถที่จะแยกแยะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นสถานการณ์ที่ตนควรเข้าร่วมสนับสนุนหรือเป็นเรื่องที่ตนจะต้องคัดค้าน นั้นหมายถึงว่า ถ้าเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงนั้นยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมส่วนรวมหรือแก่ประเทศชาติแล้ว เหตุการณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่จะต้องส่งเสริมเข้าร่วมและให้การสนับสนุนโดยวิธีการต่าง ๆ แต่ถ้าเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงและยังผลให้เกิดความเสียหายหรือความไม่เป็นธรรมแก่สังคมส่วนรวมแล้ว เหตุการณ์ทางการเมืองอันนั้นควรจะต้องคัดค้านต่อต้านมิให้มีหรือเกิดขึ้นในสังคม
ความสำนึกทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของประชาชนโดยปราศจากการข่มขู่บังคับหรือชักจูงจ้างวานใด ๆ เช่นเดียวกับความสำนึกบาปของบุคคลผู้หนักในธรรมจะไม่ยอมทำบาปใด ๆ แม้ว่าจะมีโอกาสที่จะทำบาปย่อมที่จะละเว้นการกระทำนั้น ๆ เสีย โดยมุ่งจะทำแต่ความดีมีประโยชน์ต่อตนและส่วนรวม นี้เป็นสำนึกทางศีลธรรม ส่วนผู้ที่สำนึกทางการเมืองนั้นจะแสดงบทบาททางการเมืองตามสิทธิเสรีภาพของตน เช่น การไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมอภิปรายหรือการพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การร่วมมือก่อตั้งพรรคการเมือง และการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
ความสำนึกทางการเมืองของประชาชนจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะต่าง ๆ ตามที่กล่าวแล้วโดยการผ่านพรรคการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าความสำนึกทางการเมืองกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหนเพียงไรขึ้นอยู่กับระบบการเมือง ลักษณะของสังคมและระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เช่น ถ้าประเทศใดปกครองในระบบเผด็จการ อำนาจการปกครองการแสดงบทบาททางการเมืองจะอยู่กับบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจะถูกจำกัดหรือบังคับ แต่ถ้าระบบการเมืองของประเทศใดเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เชื่อในสิทธิเสรีภาพและความสามารถความเสมอภาคของประชาชน โอกาสที่ปวงชนจะเข้าร่วมแสดงบทบาททางการเมืองย่อมจะมีมากกว่าระบบการปกครองอื่น ๆ
เสรีภาพทางการเมือง (Political Liberty)
บางโอกาสมีการใช้คำว่า “เสรีภาพ” ให้มีความหมายตรงกับคำว่า “ประชาธิปไตย” หรือรัฐบาลโดยประชาชน เราอาจจะเรียกรัฐหนึ่งว่าเป็น “รัฐบาลอิสระ” (Free Government) ถ้าหากประชาชนกำหนดด้วยตัวเองว่าเขาจะมีรัฐบาลประเภทไหนในความหมายนี้ เสรีภาพก็คือสิทธิทางการเมืองที่ประชาชนมีอยู่ ถ้าหากเสรีภาพนี้มีอยู่ในตัวของเอกชนทุกคน รัฐก็เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่ถูกควบคุมโดยประชาชน นั้นคือการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะมีเสรีภาพทางการเมืองมาก จึงมีบทบาทที่จะได้แสดงบทบาทหรือมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าการปกครองในระบบเผด็จการ ฉะนั้นเสรีภาพทางการเมืองจึงหมายถึงการที่ประชาชนมีโอกาสที่จะกระทำความใด ๆ ต่อทิศทางการเมือง โดยการที่ถูกจำกัดหรือถูกควบคุมน้อยที่สุด เช่น เสรีภาพในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมกลุ่มผลประโยชน์ การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การพูดคุยสนทนาเรื่องการ เมือง การอภิปรายถึงกิจกรรมหรือเหตุการณ์ทางการเมือง การก่อตั้งพรรคการเมือง และการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
สื่อมวลชน (Mass Media)
สื่อมวลชนเป็นแหล่งความรู้ ความคิดที่นำไปสู่พฤติกรรมของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพราะมนุษย์จะมีความคิดได้นั้น มีสาเหตุหลายประการ เช่น จากการได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็น สัมผัส จากสื่อมวลชน และความคิดเห็นของคนอื่น เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้บทบาทของสื่อมวลชนได้กระตุ้นให้คนมีแนวความคิดมีพฤติกรรมต่าง ๆ ได้มาก อันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์
สื่อมวลชน คือ สถาบันที่แสดงความคิด ความเคลื่อนไหวในรูปร่าง ข่าวสาร ปรากฏการณ์ของประชาชนต่อรัฐบาลและของรัฐต่อประชาชน ตลอดถึงเป็นแหล่งสื่อสารระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกัน สื่อมวลชนจึงมีความสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันถือว่าเสียงประชาชนหรือปรากฏการณ์ของประชาชนคือเสียงสวรรค์หรือสวรรค์บันดาล ฉะนั้นสื่อมวลชนในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเปรียบเสมือน “หน้าต่างประชาชน” โดยทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นขา เป็นแขนของประชาชนในทุกกรณี ประชาชนสามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดหรือเข้าถึงรัฐบาลโดยผ่านสื่อมวลชน ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลก็สามารถแจ้งข่าวสารและเข้าถึงประชาชนได้โดยอาศัยสื่อมวลชนแต่ละแขนงได้เป็นอย่างดี สื่อมวลชนที่มีความสำนึกต่อวิชาชีพและมีความรับผิดชอบสูงนั้นมีความสำคัญมากที่จะช่วยจรรโลงความเป็นประชาธิปไตยในสังคม ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลจักออกกฎระเบียบรับรองการมีและการประกอบอาชีพสื่อมวลชนได้อย่างกว้างขวาง ยอมให้สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่แสดงบทบาทต่อบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตระเบียบที่ให้ไว้
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา