การเมืองภาคประชาชน ความเป็นธรรมทางสังคม กับ ความเป็นธรรมทางกฎหมาย
" ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิด ตราบนั้นความขัดแย้งก็ยังไม่ยุติ กระบวนการยุติธรรมจึงต้องพิจารณากันเสียใหม่ว่าคือ กระบวนการสร้างความเป็นธรรมเพื่อนำไปยุติปัญหาข้อพิพาทต่างๆ มิใช้ข้อพิพาทหรือความขัดแย้งต่างๆจะต้องยุติเพราะศาลยุติธรรมที่มีเพียงสามศาล เหมือนที่ใครๆและกระบวนการยุติธรรมชอบอ้างเท่านั้น "
" ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั้นย่อมมีการต่อสู้ ที่ไหนไม่มีความรู้ ที่นั้นต้องได้รับการศึกษา ที่ไหนยังไม่มีการพัฒนา ที่นั้นต้องมีการเรียกร้อง ที่ไหนไม่มีความถูกต้อง ที่นั้นต้องเรียกร้องความเป็นธรรม"
อุดมการณ์ของสังคมที่เกี่ยวข้องกับ"ความเป็นธรรม"มีหลายหลากกระแสความคิด และภายใต้อุดมการณ์ดังกล่าวทำให้เกิด"เครื่องมือทางสังคม"ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อจะนำสังคมไปสู่อุดมการณ์นั้นๆ ซึ่งก็ผลัดกันมีอิทธิพล และมีบทบาทเหนือสังคมในแต่ละห้วงเวลาของพัฒนาการของสังคมที่แตกต่างในแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน เกณฑ์หรือมาตราฐานความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในสังคม จะทำอย่างไรที่จะให้ไปในทางเดียวกัน ในเวลานี้ มาตราฐานความเป็นธรรมตามกฎหมาย นอกจากจะไปไม่ได้กับมาตรฐานอื่นที่สังคมยึดถือแล้ว ในหลายๆกรณีกลับขัดแย้ง และในหลายๆกรณีก็ทำให้ผิดไปจากที่สังคมคาดหวัง
อุดมการณ์ต่างๆเหล่านั้น มีผลเป็นเสมือนเบ้าของสังคมที่จะหล่อหลอมเรื่องราวต่างๆของสังคมให้มีรูปร่างไปในทางใดทางหนึ่งตามอุดมการณ์ที่กำหนดโครงสร้างในทางความคิดให้แก่ผู้คนที่อยู่ในสังคม และเมื่อใดก็ตามที่โครงสร้างทางความคิดภายใต้อุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งหรือหหลายอุดมการณ์ ทำให้เกิดโครงสร้างทางความคิดที่ทำให้ผลประโยชน์ต่างๆที่อยู่ในสังคมเกิดความลงตัว ก็ทำให้เกิดระบบที่นำสังคมฝ่ากระแสต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น ในสังคมไทยที่มีระบบอุปถัมภ์ เป็นตัวอย่างกลไกทางสังคมดังที่กล่าวมา
ดังนั้น การกล่าวถึง " ความเป็นธรรม "ทางสังคมจึงเป็นประเด็นที่มีหลายมิติ และโดยประการสำคัญมิได้มีระนาบเดียว มิได้หมายถึงการผูกขาดแต่เฉพาะแต่บทบาทของรัฐที่อ้างว่ามีรัฐเพื่อมาให้ความยุติธรรม เท่านั้น และก็ มิได้หมายความถึง บทบาทของนักกฎหมายที่จะทำหน้าที่ในการบอกว่า อะไรเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะโดยสายงานอาชีพหรือถูกคาดหวังจากผู้คนส่วนหนึ่งของสังคมที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและมายาคติที่นักกฎหมายสร้างขึ้นตามกระแสความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ต้องการที่จะหมายถึงสังคมทั้งระบบที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ความพยายามในการสะท้อนให้สภาพเกี่ยวกับ"ความเป็นธรรม"/ "ความไม่เป็นธรรม"ในเอกสารกึ่งวิชาการนี้ ตั้งอยู่บนเงื่อนไขและหลักการสองสามเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง เพื่อสะท้อนภาพความไม่เป็นธรรม ( และแม้จะเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องความไม่เป็นธรรมก็ตาม ก็ควรระลึกไว้ด้วยในขณะเดียวกันว่า ไม่ได้มีแต่เฉพาะความไม่เป็นธรรมเท่านั้น ความเป็นธรรม ในหลายๆเรื่องก็อยู่ในระดับที่ดีขึ้น แม้จะไม่ดีที่สุดก็ตาม ) และด้วยเหตุดังกล่าวในเอกสารกึ่งวิชาการชิ้นนี้ จะไม่มุ่งที่จะสะท้อนสภาพความไม่เป็นธรรมรายกรณี แต่ต้องการที่จะลงลึกไปถึงระดับกระบวนการของระบบกฎหมายที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม โดยจะสะท้อนสภาพให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างไร เป็นหลัก ในบทความนี้จะแบ่งประเด็นที่จะกล่าวถึงเป็น 3 ประเด็นดังต่อไปนี้
ก. ความคิดที่ว่าด้วย"ความเป็นธรรมทางสังคม" กับ "ความเป็นธรรมทางกฎหมาย"
ข. ประวัติศาสตร์ความเป็นธรรมทางสังคมภายใต้ระบบกฎหมาย
ค. การเมืองภาคประชาชนกับ กระบวนการในการสร้างกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักการ เรื่องความเป็นธรรม
ก. ความคิดที่ว่าด้วย "ความเป็นธรรมทางสังคม" กับ "ความเป็นธรรมทางกฎหมาย"
ปัญหาความเป็นธรรมไม่ว่าจะพิจารณาในมิติใดๆก็ตาม เพื่อจะให้สามารถที่จะเห็นความเชื่อมโยงในมิติต่างๆของความเป็นธรรมได้ ควรที่จะต้องเริ่มต้นที่ "ความคิด"ในเรื่องนั้นๆว่า มีความคิดกันอย่างไร และจากความคิดนั้นสามารถที่จะขยายไปเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ในส่วนนี้จะกล่าวถึงความคิดที่ว่าด้วยเรื่อง"ความเป็นธรรมที่มีอยู่แล้วในสังคม" กับ "ความเป็นธรรมในทางกฎหมาย"
ความเป็นธรรมไม่ได้มีอยู่แล้วลอยๆ แต่เป็นผลของปฎิสัมพันธ์ของทุกๆสิ่งที่อยู่ในสังคมหนึ่ง ความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการยึดเหนียวกันในสังคมผ่านทางกฎเกณฑ์ต่างๆที่สังคมสร้างขึ้นมา (แน่นนอนว่าไม่ได้มีแต่กฎเกณฑ์แต่เพียงอย่างเดียวที่ทำให้สังคมผูกโยงกัน)
การมีกฎระเบียบแต่ไม่เป็นธรรมก็จะทำให้สังคมนั้นพร้อมที่จะแตกออกสลายไป ดังนั้นจึงมีคำกล่าวประหนึ่งเป็นหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ในทางกฎหมายว่า " ที่ใดมีสังคม ที่นั้นย่อมต้องมีกฎหมาย ที่ใดไม่มีกฎหมาย ที่นั้น ไม่มีสังคม " หลักการอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวนี้ถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องนำมาขยายความให้ครบถ้วนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเสียใหม่ว่า กฎหมายที่ดีที่จะอยู่ในสังคมได้นั้น จะต้องเป็นกฎหมายที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม และชุมชนจะเข้มแข็งได้ก็เพราะเป็นสังคมที่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนได้
ความเป็นธรรมในทางกฎหมายควรที่จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นธรรมในสังคม แต่ในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งสองส่วนกลับกลายเป็นคนละเรื่องกันแทบจะโดยสิ้นเชิง และนับวันความแตกต่างก็นับจะมีมากขึ้นและมีความหมายที่ไปกันคนละทิศละทาง ดังเช่นที่สมารถเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างรายได้ของคนจนกับคนรวยซึ่งนับวันก็มีความแตกต่างกันมากขึ้นทุกขณะ ความแตกต่างดังกล่าวถูกมองแต่เฉพาะในทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในมิติอื่นๆกลับไม่ค่อยถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงกัน จึงทำให้ความแตกต่างในเรื่องรายได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะโชคชะตา ความเฮง มีเครื่องลางดี ทำพิธีปลุกเสกชอบ แล้วจบลงด้วยเลขเด็ด
หรือจากปรากฎการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของชาติที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ทุกสาขาอาชีพประสบปัญหาว่างงานตกงานกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอาชีพทางกฎหมายกลับเฟื่องฟูโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยึดทรัพย์ทวงหนี้ เพราะมีการนำเอามาตรการทั้งหลายในทางกฎหมายมาใช้บีบบังคับให้ชำระหนี้กัน และหนี้ดังกล่าวก็เป็นหนี้ตามตัวเลขทางบัญชีซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ไม่ได้เป็นมูลค่าหนี้ตามสภาพความเป็นจริงของกิจการ( ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจในการบริหารงาน หรือ การไม่มีความสามารถของลูกหนี้) และมีความพยายามในการจะลดกระบวนขั้นตอนต่างๆที่ให้ความเป็นธรรม เพื่อให้สามารถที่จะจัดการกับหนี้ได้อย่างรวดเร็ว สภาพเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และได้สะท้อนภาพความผิดปรกติบางอย่างที่น่าสนใจของทัศนะเกี่ยวกับความเป็นธรรมของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้พิพากษา ทนายความ
ตัวอย่างสภาพที่ความเป็นธรรมในทางสังคมซึ่งแตกต่างกับสภาพความเป็นธรรมในทางกฎหมายดังที่กล่าวมานี้มีให้เห็นมากมาย และนับวันก็สะสมเพิ่มพูนมากขึ้นทุกขณะ จนยากที่จะจินตนาได้ว่า ปัญหาต่างๆที่หมักหมมกันมาเป็นเวลานานเช่นนี้ จะหาทางออกกันอย่างไร บนโครงสร้างทางเมืองการปกครองที่กำลังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฎิรูป
ปัญหาความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างความเป็นธรรมในทางสังคมกับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ดังที่ได้กล่าวมา กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ ความแตกต่างของความคิดที่มองความเป็นธรรม โดยมองปรากฎการณ์ไม่ทะลุไปถึงต้นตอของสาเหตุ เป็นความคิดที่จำนนต่อปัญหา ยึดติดกับผลประโยชน์ เป็นความคิดที่แยกส่วน ผลักภาระ และไม่อยากที่จะหยิบขึ้นมากล่าวถึง เพราะเทคนิควิธีอันหลากหลายที่ศาสตร์ต่างๆมี ไม่สามารถที่จะตอบคำถามได้
และเพื่อมองให้รอบด้านในการสำรวจสภาพ "ความเป็นธรรมในทางสังคม" ในเชิงความคิดในทางวิชาการของศาสตร์อื่นๆ หรือ กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือในอาชีพต่างๆ มีการกล่าวถึงเรื่อง"ความเป็นธรรม" อย่างไร อาทิเช่น
- ในทางเศรษฐศาสตร์มีความพยายามที่จะหาทางในการทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มากมายที่พยายามที่จะคิดค้นกัน
- ในทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกล่าวถึงการจัดการแบบยั่งยืน
- ในทางด้านสังคมวิทยา- มานุษยวิทยา มีการกล่าวถึงเรื่อง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ความเป็นชุมชน และในประเด็นอื่นๆอีกมากมาย
- ในทางด้านประวัติศาสตร์มีการพัฒนาการทางความคิด และเกิดการตั้งคำถามต่อการกระทำต่างๆที่ผ่านมาในการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน อำนาจทางสังคม ในสภาพการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์
- ในทางด้านสตรีศึกษา ค่อนข้างที่จะเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดและเป็นการตั้งคำถามต่อทุกๆอย่างที่เป็นความสัมพันธ์หญิงชายที่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม บนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในมิติต่างๆ
- ในทางด้านรัฐศาสตร์ แม้จะไม่มีการกล่าวถึงเรื่องความเป็นธรรมโดยตรงในรัฐศาสตร์กระแสหลักก็ตาม แต่ก็เริ่มที่จะมีการกล่าวถึงอยู่บ้างประปลาย
สภาพที่กล่าวมากลับตรงกันข้ามในทางนิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรณีประเทศไทย กล่าวคือ ไม่ค่อยจะมีการตั้งคำถามหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมภายใต้ระบบกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายกันเลย แต่มักจะมีการให้ความสำคัญหรือเน้นย้ำมายาคติหรือความเชื่อที่ว่า
" ……..กฎหมายคือความยุติธรรม ดังนั้นจะต้องทำตามกฎหมายที่กฎหมาย บัญญัติจึงจะได้รับความเป็นธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ……และจะต้องเคารพและ รักษากฎหมายเอาไว้เพราะ มันเป็นสิ่งที่ผ่านกระบวนการตรากฎหมายที่ตัวแทนของ ประชาชนเป็นผู้ตรา……ความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะ กฎหมาย แต่เป็นเคราะห์กรรม โชคชะตาที่จำต้องมาชดใช้…. "
ดังนั้น เมื่อมีการร้องเรียน หรือ เรียกร้องขอความเป็นธรรมตามสิทธิหรือช่องทางต่างๆที่ระบบกฎหมายกำหนดเอาไว้ การจัดการกับความไม่เป็นธรรมที่ได้รับการร้องเรียนดังกล่าวจึงมักจะถูกเก็บเงียบ ทั้งในส่วนของกลไกภาครัฐที่ต้องแก้ปัญหาและในระบบของสื่อมวลชนที่ไม่ได้สะท้อนสภาพเป็นจริงของความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคมให้ปรากฎ
ดังนั้นการมองเรื่อง "ความเป็นธรรมในทางสังคม" ความพยายามที่จะทำให้ระบบกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเป็นธรรมทางสังคมจึงถูกทำให้มองอย่างตื้นเขิน ว่าผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่มาเรียกร้องนั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงๆ เป็นผู้ที่ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักคำว่าบุญคุณที่เกิดจากความเมตตา กรุณา ปราณี ที่ภาครัฐมีให้
กว่า ๑๐๐ ปีเศษนับแต่การปฎิรูประบบกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าการปฎิรูปกฎหมายเป็นสิ่งแรกๆที่ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคม แทบจะเรียกได้ว่า พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ทั้งนี้เนื่องจากระบบกฎหมายเดิมมีสภาพไม่ต่างไปจากเรือโบราณที่ผุพังทรุดโทรมจนปะผุไม่ไหวแล้ว ถึงขนาดที่จะต้องต่อเรือลำใหม่กันทีเดียวจึงจะสามารถที่จะนำพาประเทศให้พ้นจากภัยการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกในเวลานั้นได้
"เรือ" หรือ "ระบบกฎหมาย" ดังกล่าวที่กลายเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยในขณะนั้นก็คือ กระบวนการในการจัดทำกฎหมายแบบใหม่ ที่จะต้องไปอาศัยลอกเลียนจากกฎหมายของประเทศต่างๆ มีการจ้างที่ปรึกษาที่เป็นชาวต่างประเทศให้เข้ามาช่วยในการจัดทำกฎหมาย วางระบบราชการ สร้างคนที่ประกอบอาชีพเฉพาะด้านมากขึ้น
มีการส่งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ และกลับมาตั้งโรงเรียนกฎหมาย ทำหน้าที่ผลิตนักกฎหมายเข้าสู่ระบบศาล ซึ่งวางระบบขึ้นใหม่ตามอย่างของประเทศเจ้าอาณานิคม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาล ที่อ้างว่าระบบกฎหมายเดิมไม่ศิวิไรซ์ จึงทำให้ต้องนำเอามาตรการที่สร้างความเป็นธรรมตามแบบประเทศเจ้าอาณานิคมมาใช้
การวางระบบกฎหมายใหม่ดังกล่าว แม้จะมีความจำเป็นที่จะต้องทำ ทั้งตามเหตุผลข้างต้น และทั้งในแง่ของความชอบธรรมในระบบการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในฐานะเจ้าของสิทธิ หลังจากผ่านระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย ประเทศต่างๆที่เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการปกครองจากประเทศเจ้าอาณานิคม ภายหลังจากสิ้นสุดการตกเป็นอาณานิคม ประเทศต่างๆเหล่านั้นได้มีการปรับแก้กฎหมายมากมาย เพื่อให้สามารถที่จะเชื่อมรากฐานความคิดและกลไกต่างๆที่ดี เพื่อทำให้ชุมชนสังคมสามารถที่จะใช้กลไกดังกล่าวปกป้องชุมชนหรือสังคมได้ โดยผสมผสานกับจุดเด่นของระบบกฎหมายใหม่
ดังจะเห็นได้จาก ในกรณีระบบกฎหมายในบางเรื่องของประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเชีย ประเทศเนปาล ประเทศออสเตรเลีย หรือแม้กระทั้ง ในประเทศต่างๆในกลุ่มยุโรปซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบประมวลกฎหมาย ต้นแบบที่เราไปเลียนแบบมาก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชนและรากฐานความคิดและกลไกต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น และการยอมรับให้ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบกฎหมาย จึงเป็นการทำให้มีทางเลือกของกลไกมากกว่ากฎหมายที่เกิดจากรัฐที่จะผูกขาดให้ความเป็นธรรม
แต่แม้ในด้านหนึ่ง คำถามเกี่ยวกับกลไกในการให้ "ความเป็นธรรมทางสังคม" จะถูกกีดกันโดยระบบกฎหมายก็ตาม ในขณะเดียวกัน "ความเป็นธรรมทางสังคม" โดยตัวมันเองก็ถูกท้าทายโดยเงื่อนไขอื่นๆด้วย เช่น เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จาก การเกิดการเปลี่ยนแปลงในค่านิยมที่สำคัญๆในสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจากกระแสลัทธิบริโภคนิยม กระแสโลกาภิวัตน์ กระแสทุนนิยม และกระแสนิยมต่างๆเหล่านี้กลับกลายมาเป็นที่มาใหม่ของความเป็นธรรม โดยมีระบบกฎหมายทำหน้าที่ในการแปลงค่านิยมนั้นๆ(ทั้งที่สอดคล้องกันและทั้งที่ขัดแย้งกัน)ให้มีลักษณะเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ในขณะที่ระบบความเป็นธรรมในสังคมแบบเดิมถูกลดอำนาจและบทบาทลง ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีของระบบความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ปรากฎในรูปของจารีตประเพณีของชุมชนในท้องถิ่นต่างๆซึ่งปฎิบัติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่กลับถูกระบบราชการ ระบบกฎหมาย กีดกันและทำลาย
ข. ประวัติศาสตร์ความเป็นธรรมทางสังคมภายใต้ระบบกฎหมาย
ระบบกฎหมายของแต่ละประเทศต่างมีประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงคลี่คลายสัมพันธ์กับเงื่อนไข และปัจจัยต่างๆที่มีอยู่ในสังคมขณะนั้น พร้อมๆไปกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ควรจะกล่าวเน้นย้ำไว้ด้วยเช่นเดียวกันว่า เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยมีวัถตุประสงค์ในการที่จะมุ่งสร้างความเป็นธรรมให้เกิด หรือไปแก้ไขความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมแต่เพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายทั้งระบบมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นอยู่ด้วย ในบางกรณีก็เห็นได้ตรงไปตรงมา ในบางกรณีเป็นผลที่เกิดขึ้นข้างเคียงโดยไม่ตั้งใจ บางกรณีมีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่เห็นได้ค่อนข้างลำบาก
สำหรับกรณีประเทศไทย จากข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายซึ่งแต่เดิมเคยใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณีเป็นหลัก แล้วต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบกฎหมายแบบประมวลกฎหมายตามแบบอย่างระบบกฎหมายแบบตะวันตก ก็เนื่องจากแรงกดดันจากกระแสการล่าอาณานิคมที่รุกรานเข้ามาในขณะนั้น ประกอบกับในยุคหลังจากนั้นมีเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง ระบบกฎหมายซึ่งเพิ่งถูกสถาปนาขึ้น ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของกระบวนการในการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนใหญ่ของระบบกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นเพิ่มเติมต่อจากนั้น มีวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีขึ้นเพื่อเป็นการต่อรอง โอนอ่อน ผ่อนตามกระแสการล่าอาณานิคม กลายมาเป็นเครื่องมือเพื่อการปกครองภายใต้ความเป็นรัฐชาติ และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและสถาปนาระบบใหม่ดังกล่าว ได้แฝงเอาแนวคิดใหม่ที่สำคัญผนวกเข้ามาด้วย แนวคิดใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลค่อนข้างมากได้แก่แนวคิดที่ว่า "การทำให้ทันสมัย( Modernization)"
แน่นนอนว่า แนวคิดที่ว่าด้วยกระบวนการทำให้ทันสมัย ไม่ได้เข้ามาโดยผ่านทางกฎหมายแต่เพียงทางเดียว แต่ที่เป็นผลสำคัญที่เกิดจากระบบกฎหมายใหม่ได้แก่ การสร้างระบบเปิด/ปิด และกีดกัน(open /Shut and Exclusive system) ภายใต้ระบบการปกครองที่สร้างความเชื่อให้แก่ประชาชน โดยทำให้เห็นว่าประชาชนเป็นผู้อยู่ภายใต้การปกครอง เป็นฝ่ายที่จะต้องทำตามคำสั่งของทางราชการ ทำตามนโยบายของรัฐ (มากกว่าการทำตามกฎหมาย)
การลดบทบาทของประชาชนลงเช่นนี้ ทำให้ระบบราชการกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ระบบการบริการเช่นนี้จึงเปิดให้บริการแก่บางกลุ่ม ปิดกั้นบางคน และในขณะเดียวกันเพื่อทำให้บางกลุ่มได้ประโยชน์ตามที่ตกลงไว้ ก็ต้องกีดกันไม่ให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้จะเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์แต่เดิมก็ตาม ดังเช่นกรณีการจัดการป่าโดยระบบกฎหมาย
พื้นที่ป่า เป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ของความเป็นชุมชนเกษตรกรรม และป่าเองก็ต้องพึ่งพาชุมชนให้ดูแลป้องกันอยู่ด้วย การจัดการป่าที่มีระบบราชการใช้อำนาจผ่านทางกฎหมาย สามารถที่จะสะท้อนภาพความเป็นระบบ เปิด/ปิดและกีดกัน ได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นที่ ระบบราชการ เปิดให้สิทธิแก่ผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการดึงเอาต้นไม้จากพื้นที่ป่าซึ่งประชาชนใช้สอยตามประเพณี มาให้ผู้รับสัมปทาน ต่อมาก็ดึงเอาพื้นที่ป่า มาจากชุมชน โดยการประกาศเป็นเขตป่าประเภทต่างๆในทางกฎหมายและปิดกั้น โดยการห้ามมิให้ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด สำทับโดยการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ด้วยการดึงเอาตัวผู้ที่ฝ่าฝืนออกมาอยู่นอกชุมชนเช่น การย้ายชุมชน การสั่งลงโทษจำคุก การสั่งเนรเทศ ซึ่งเป็นการกีดกันการเข้าถึงสิทธิอื่นๆตามมา และในที่สุดพื้นที่ตรงนั้นอาจได้รับการจัดสรรไปเป็นพื้นที่สัมปทานปลูกป่า กลายเป็นรีสอร์ทของทางราชการหรือเอกชน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรืออาจจะกลายเป็นที่ดินที่มาจัดสรรให้กับคนบางกลุ่ม เป็นต้น
ระบบในการจัดการป่าโดยกฎหมายข้างต้น จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในแง่ของประสิทธิภาพ(ในทุกด้านที่จะหยิบขึ้นมาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน) และที่สำคัญคือในแง่ของความเป็นธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับระบบในการจัดการโดยภูมิปัญญาและจารีตของชุมชนที่จัดการมาเป็นเวลาช้านาน
ภายใต้อุดมการณ์การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ เป็นหลัก ดังนั้น สิทธิ เสรีภาพ อันเป็นที่มาหรือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นตามอารยธรรมตะวันตกก็คือ การควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สร้างหลักประกันให้แก่ประชาชน จึงมีลักษณะ พฤติกรรม และผลปรากฎของการใช้อำนาจ ที่ตรงกันข้ามกับหลักการโดยสิ้นเชิง
เหตุที่เป็นเช่นนี้สาเหตุหนึ่งมาจาก ระบบกฎหมายที่ตัดต่อเอามาเฉพาะแต่กลไก โครงสร้าง ซึ่งมีลักษณะที่เป็น hardware ไม่สามารถที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับ software เดิมที่มีอยู่ในสังคมไทย เช่น ทุนทางวัฒนธรรม บรรทัดฐาน(ที่ดี)ต่างๆ ในทางตรงกันข้าม โครงสร้าง กลไก ของระบบกฎหมายดังกล่าวได้ถูกใช้ในการคุ้มครองสถานะของผู้คนในสังคมบางกลุ่ม อาทิ เช่น ผู้ที่ระบบการเมืองจัดวางไว้ให้อยู่ในฐานะที่เป็นผู้มีสิทธิพิเศษในทางการเมืองเนื่องจากสามารถที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกัน
ในเวลาเดียวกัน ระบบ กลไก ในทางกฎหมายภายใต้โครงสร้างระบบราชการแบบรวมศูนย์และระบบอุปถัมภ์ ได้สร้าง software ใหม่ หรือ ความคิดใหม่ๆในทางกฎหมาย(แต่ผิดไปจากหลักการของระบบกฎหมายที่ไปเลียนแบบมา) ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นจำนวนมากและยากในการปรับแก้ความคิดดังกล่าว อาทิเช่น
- การทำให้ประชาชนกลัวกฎหมายโดยการเน้นการลงโทษ มากกว่าที่จะทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากการเคารพกฎหมาย( ที่เป็นธรรม)
- การทำให้เกิดความเข้าใจว่า รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ออกกฎ บังคับใช้ และ ชี้ขาดความผิดถูกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม
- การทำให้ความหมายของสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม มีความหมายแคบๆ ตื้นๆเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติ เท่านั้น
- การทำให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ว่า ถ้าต้องการที่จะดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมในทางกฎหมาย จะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก จะต้องยอมเสียเวลาและรอคอยอย่างไร้ความหวังได้
- และที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของระบบกฎหมายได้แก่ การทำให้ การทำตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอและอยู่เหนือความชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมหรือเงื่อนไขอื่นๆเลย
จากที่ได้ชี้ให้เห็นมาดังกล่าวข้างต้นอาจจะกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์พัฒนาการของระบบกฎหมายไทยไม่ได้มีพัฒนาการที่มาจากหรือตั้งอยู่บนรากฐานของการให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมของสังคมเป็นหลัก หากแต่เป็นระบบที่สร้างขึ้นหรือกำหนดให้มีเพราะ ระบบกฎหมายที่สร้างขึ้นมานั้นถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่ต้นว่า จะนำไปใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน เครื่องต่อรองกับการพ้นจากสภาพสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาลกับประเทศต่างๆ ที่อ้างว่าระบบกฎหมายไทยไม่ทันสมัย
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ระบบกฎหมายของเราเริ่มต้นจากการมีองค์กรมากมายภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์ ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความพยายามในการที่จะอ้างความชอบด้วยกฎหมาย หรืออ้างความมีอำนาจตามกฎหมายขององค์กรต่างๆสามารถที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายได้ ดังนั้น บรรดาการกระทำทั้งหลายตามอำนาจที่องค์กรต่างๆมี เช่น การตราบทบัญญัติต่างๆของกฎหมายที่เกิดขึ้น ภายใต้กระบวนการในการบัญญัติกฎหมายขององค์กรทางการเมือง เช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา การตัดสินใจในทางกฎหมายของฝ่ายบริหาร การใช้อำนาจในการชี้ขาดตัดสินคดี เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นจึงมีความถูกต้องแล้ว
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า พัฒนาการของระบบกฎหมายของเราเริ่มต้นจากการสร้าง "ระบบ" เพื่อนำไปสู่การมีกฎหมาย การบังคับใช้ และการตีความชี้ขาดโดยกฎหมาย และหวังว่าจะเกิด "ความเป็นธรรม" ตามกฎหมาย
แต่ถ้าหากย้อนกลับไปดู ณ.จุดเริ่มต้นของระบบกฎหมายตะวันตกที่เราไปเลียนแบบมา เริ่มต้นจาก คำถามว่าสังคมจะมี "ความเป็นธรรม"ได้นั้น จะต้องพัฒนาระบบกฎหมายอย่างไร จึงจะนำสังคมไปสู่การเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ความเป็นธรรม
คำถามเช่นนี้มีผลอย่างมากในการตอบคำถามเกี่ยวกับรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมของสังคมในอนาคต เพราะ ถ้าหากยึดความเป็นธรรมและความถูกต้องเป็นตัวตั้ง รูปแบบ กระบวนการ และระบบของกฎหมาย จะต้องปรับเปลี่ยนแปลงเพื่อดำรงธรรมและความถูกต้อง ระบบกฎหมายที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม ซ้ำยังกดขี่ เอาเปรียบ เป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง
การรักษาระบบดังกล่าวนี้ไว้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเท่ากับเป็นการรักษาระบบที่ทำลายความเป็นธรรมของสังคม สร้างความไม่มั่นคงในมนุษย์ เป็นระบบย่อยที่ทำลาย/บั่นทอนระบบใหญ่ โครงสร้างสังคมที่ยอมรับการมีระบบย่อยที่กัดกร่อนตัวเองเช่นนี้จะนำไปสู่ สภาพที่ว่า สังคมใดมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่นั้นไม่ใช้สังคมประชาธรรม
ตัวอย่าง ที่สามารถสะท้อนภาพเรื่องของการไม่ได้รับความเป็นธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ได้รับจากการกระทำอันเกิดจากระบบกฎหมายทำ(ไม่ใช่โชคชะตาเป็นผู้ทำ, ทำนองเดียวกับโรคหมอทำ)มีมากมาย ทั้งที่เป็นรายกรณี และทั้งที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม อาทิเช่น ในกรณีของชาวไร่ชาวนา กรณีเกษตรกร กรณีผู้ใช้แรงงาน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือก ผู้หญิง เด็กที่ถูกทารุณกรรมและใช้ความรุนแรงและไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่กรณีของผู้ที่เป็นแกนนำริเริ่มในการเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจากรัฐ แต่ในที่สุดก็กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและกลายเป็นเหยื่อของสังคมที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำโดยรัฐ เป็นต้น
ค. การเมืองภาคประชาชนกับ กระบวนการในการสร้างกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลัก ความเป็นธรรม
การเมืองภาคประชาชนเป็นทั้งแนวความคิดและยุทธวิธีที่ถูกเสนอขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการปฎิรูปสังคม โดยมีสมมุติฐานว่า จุดเริ่มต้นที่จะต้องดำเนินการเสียก่อนก็คือ ระบบการเมือง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูญเสียผลประโยชน์ สูญเสียอำนาจทั้งหลาย ใช้ระบบการเมืองมาทำให้การปฎิรูปถูกบิดเบือนไป
เมื่อยุทธศาสตร์ในทางสังคมถูกกำหนดเช่นนี้ การเมืองภาคประชาชนจะเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้คำว่า"ภาคประชาชน"ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงนามธรรมจับต้องไม่ได้ และมักจะถูกนำคำว่า"เพื่อส่วนรวม"หรือ"เพื่อประชาชน"ไปใช้อ้าง เพื่อดึงเอางบประมาณ ดึงเอาทรัพยากรต่างๆ ไปใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
การจะทำให้คำว่า"ภาคประชาชน"เป็นจริงขึ้นมา ทางหนึ่งที่จะเป็นไปได้ก็ต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ. การแสดงออกดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นทุน ข้อมูล เครือข่าย การจัดองค์กร ความรู้ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความเป็นกลุ่ม ความเป็นชุมชน
การเกิดขึ้นของคำว่า"ภาคประชาชน"ทั้งในแง่ของความรับรู้และในแง่ของปฎิบัติการจริง นับว่าเป็นจังหวะและการมีเงื่อนไขในแง่ของความพร้อม ทั้งในทางสำนึกทางการเมือง และวุฒิภาวะในทางการเมืองของสังคม บนลักษณะเฉพาะของสังคมไทยเอง ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้
ประเด็นในปัจจุบันต่อการพัฒนาประเทศที่สำคัญก็คือว่า การเมืองภาคประชาชนจะทำให้เกิดระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และที่สำคัญก็คือ จะสร้างระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
และถ้าหากจะตั้งสติ วางทิศกำหนดเป้าโดยเอาความเป็น"ชุมชน"ซึ่งเป็นรากฐานของการเมืองภาคประชาชนเป็นตัวตั้ง และลองทบทวนจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พอที่จะสามารถสะท้อนให้เห็นภาพกว้างของพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นชุมชน ระบบการเมือง และระบบกฎหมาย ซึ่งมีนัยสำคัญต่อกระบวนการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ในลักษณะดังต่อไปนี้
๑. ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
๒. หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
๓. การไม่เคลื่อนไหวในสิทธิ
๑. ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ความคิดเกี่ยวกับเรื่องชุมชนเป็นที่ยอมรับแต่ในความเป็นจริง (de facto)เท่านั้น ในทางกฎหมาย (de juris) แม้จะมีกฎหมายกล่าวถึงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญที่จะนำไปสู่การปฎิบัติ แต่ในทางความเป็นจริง สำนึก และความคิดที่เกี่ยวกับความเป็นชุมชนได้มีการบ่มเพาะผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ลักษณะการเกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเพราะเห็นปัญหาต่างๆร่วมกันจึงมีการรวมเป็นกลุ่มต่างๆมากมาย และมีพัฒนาการพร้อมทั้งปฎิสัมพันธ์กับสังคมในด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ผลของการรวมกลุ่มต่างๆดังกล่าว ทำให้เกิดการแก้ปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เกิดการจัดการในรูปแบบใหม่ๆที่ตั้งอยู่บนความต้องการของชุมชน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบราชการและในทางกฎหมาย
จนกระทั้งมีการเรียกร้องให้เกิดการปฎิรูปทางการเมือง กลุ่มต่างๆเหล่านี้ก็มีการเคลื่อนไหวและช่วยกันผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ ให้รับรองความเป็นชุมชน ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญในทางกฎหมาย
๒. หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มีการนำบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิอื่นๆ(เช่น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการเข้าร่วมในการดำเนินของรัฐ) อันเป็นสิทธิในฐานะของปัจเจก แต่มีผลของการใช้สิทธิที่เป็นการเสริมความเป็นชุมชน ภายหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้สามารถประเมินภาพเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแนวคิดที่ว่าด้วยความเป็นชุมชนได้ ดังต่อไปนี้
๒.๑ การเคลื่อนไหวผ่านทางโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง
๒.๒ การเคลื่อนไหวภายใต้สิทธิเฉพาะเรื่อง ตามรัฐธรรมนูญ
๒.๑ การเคลื่อนไหวผ่านทางโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง
การเคลื่อนไหวของความเป็นชุมชนที่เกิดจากฐานของปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาชนเผ่า ปัญหาเรื่องแรงงาน ฯลฯ มีการเคลื่อนไหวในความถี่ที่ค่อนข้างสูงเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา การเคลื่อนไหวในแนวทางนี้ มีการแสดงออกถึงการใช้สิทธิว่าเป็นสิทธิในทางการเมืองของประชาชน หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "การเมืองของพลเมือง" ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคู่ตรงกันข้ามกับการเมืองของนักการเมือง
แนวคิดนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๔๐ และหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ แนวคิดดังกล่าวนี้ก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปใช้ในบริบทต่างๆทั้งในแง่ที่เป็นอุดมการณ์ เป็นยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวในทางการเมือง และควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า
ด้วยกระแสของแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองภาคประชาชน ทำให้เกิดกลไกต่างๆที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและเปิดเวทีสาธารณะ รวมถึงเวทีทางการเมืองในระดับต่างๆอย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม แม้กลไกและเวทีในทางการเมืองจะเปิดมากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ภายใต้การดำเนินการที่ต้องอิงอยู่กับหน่วยงานของรัฐ จึงจำต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติกฎหมาย (ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป) จึงทำให้บรรดาข้อสรุปต่างๆที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาก็ดี เพื่อทำให้เกิดบรรทัดฐานที่เป็นธรรมก็ดี จึงมิอาจที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้ในที่สุด
ดังนั้น ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ โครงสร้างพื้นฐานในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติกฎหมายที่เปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอยู่แล้ว ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้
ประการแรก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการเมืองในระดับชาติ
ประการที่สอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ประการที่สาม สร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับความหลากหลายของความเป็นชุมชนและท้องถิ่น
ประการที่สี่ สร้างวัฒนธรรมในความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับท้องถิ่นใหม่ ให้สอดคล้องกับระบบราชการบริหารแบบใหม่ๆ
กระบวนการในการนำเสนอและวิธีการอธิบายแนวความคิด ที่ว่าด้วยการเมืองภาคประชาชนเท่าที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ มีการอธิบายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากว่า การอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดและอุดมการณ์ที่ว่าด้วยการเมืองของพลเมือง หรือการเมืองภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีสถานภาพเป็นองค์ความรู้อยู่ในกระแสวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองและกฎหมายที่เป็นกระแสหลัก
ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวถึงปรากฎการณ์ที่เป็นเนื้อหาของการเมืองภาคประชาชนแล้ว ก็จะตกอยู่ในรูปแบบ และชุดความคิดในทางวิชาการทางการเมืองการปกครองและกฎหมาย ดังเช่น คำอธิบายว่าด้วยกลุ่มผลประโยชน์(interest group) กลุ่มกดดัน(pressure group) การประท้วง(mob) หรือ ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายในข้อหาต่างๆที่ไปกระทบต่อความสงบ ฯลฯ
ด้วยเหตุดังนั้น ภายหลังที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับทั้งในทางการเมืองการปกครองและกฎหมาย(หากเคารพในหลักการที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายต่างๆก็ดี การกระทำทั้งหลายขององค์กรต่างๆที่ใช้อำนาจรัฐ จะขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ ) ก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวเสียใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ได้มีความพยายามในการที่จะทำความเข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางกระแสหลักเดิมๆ โดยอาจจะสรุปวิธีการอธิบาย ได้ดังนี้
๑. อธิบายการเมืองภาคประชาชนว่า
เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดอุดมการณ์การปกครองแบบประชาธิปไตย การอธิบายบนแนวทางนี้พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนสามารถที่จะใช้สิทธิ เสรีภาพได้ในทางตรงหรือที่เรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง(Direct Democracy ) เช่น การที่ประชาชนใช้สิทธิในการเสนอกฎหมายก็ดี หรือการใช้สิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารระดับสูง ก็ถือว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน ที่เข้าไปเคลื่อนไหวในโครงสร้างทางการเมืองในภาคที่เป็นทางการ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นอุปสรรค ทั้งนี้เนื่องจากถึงที่สุดแล้ว กระบวนการในการตัดสินใจสุดท้ายก็ยังอยู่ที่การเมืองในระบบ ซึ่งก็คือ พรรคการเมือง และนักการเมืองต่างๆ
๒. อธิบายการเมืองภาคประชาชนว่า
การที่ประชาชนเข้าร่วมหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองที่เป็นทางการ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ก็คือการเมืองภาคประชาชนคือ ประชาธิปไตยโดยผู้แทน (Representative Democracy) การที่ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การให้การสนับสนุนพรรคหรือผู้สมัคร การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโครงสร้างของระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามแนวทางการอธิบายระบบการปกครองของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก ที่มีอิทธิพลทางความคิดทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นบทบาทของประชาชนที่พึ่งมีในระบบการเมือง
๓. อธิบายการเมืองภาคประชาชนว่า
การที่ประชาชนเข้าร่วมหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการชุมชนท้องถิ่น โดยการดึงเอากลุ่มที่ไม่เป็นทางการ (กลุ่มที่อยู่นอกโครงสร้างองค์กรทางการเมืองที่กำหนดไว้โดยกฎหมาย) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้เป็นไปตามส่วนหนึ่งของแนวคิดในการพัฒนาชุมชน ภายใต้แนวทางการปรับทิศทางของการกำหนดนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งประชาคมหมู่บ้าน หรือประชาคมตำบล
ในกรณีเช่นนี้ ก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งจากความพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่นที่ไม่ได้เข้าไปในช่องทางทางการเมือง ดังในแนวคิดที่อธิบายมาแล้วข้างต้น แต่จากนัยดังที่กล่าวมา ได้สะท้อนให้เห็นความหมายของ"การเมือง"ที่ขยายออกไปจากกรอบการมองการเมืองแบบเดิมๆ ที่ครอบงำทางความคิดมาเป็นเวลานาน และลักษณะของพัฒนาการทางการเมืองในแนวทางนี้ เป็นการเข้าไปขยายพื้นที่สาธารณะ(พื้นที่ในทางการเมือง) ที่อยู่ในการครอบครองของระบบราชการและระบบอุปถัมภ์มาเป็นเวลานาน
๔. การอธิบายการเมืองภาคประชาชนโดย
อธิบายด้วยการให้ความหมายของการแสดงออกในด้านต่างๆที่เกิดขึ้นจริงๆในบริบทสังคมไทย หรือที่เรียกกันในเวทีวิชาการปัจจุบันว่า ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ในทางสังคม (New Social Movements , NSM)
การปรากฎตัวของการเคลื่อนไหวใหม่ในทางสังคมดังกล่าว เป็นสิ่งที่มีปรากฎในระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา(แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นแนวคิดที่นำเข้า) การเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่ได้มีสถานะที่เป็นแนวคิด แต่เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากแรงกดดันในด้านต่างๆ และเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นปฎิกริยาตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิต และพยายามที่จะพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้น ซึ่งประจวบเหมาะกับการขยายตัวภายในของกลุ่มต่างๆที่มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง และประกอบกับปัญหาที่เป็นข้อจำกัดของโครงสร้างระบบราชการและระบบการเมืองที่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้ จึงทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันบ่อยครั้งมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในแนวทางนี้ มีนัยที่สำคัญในแง่ของการสร้างสำนึกในทางการเมืองอย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจาก กลไกทางการเมืองในระบบเดิมทั้งในทางความเป็นจริง และในการอธิบายทางวิชาการ พยายามที่จะสร้างทัศนะและสำนึกใหม่ในทางการเมืองให้กับประชาชน เพื่อให้เข้าใจและเห็นคล้อยไปกับระบบการเมืองการปกครอง ตามแนวคิดกระแสหลัก ตามระบบการเมืองประเทศต้นแบบ แต่ในขณะที่การเคลื่อนไหวใหม่ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเองในปัญหาที่ตนเองประสบ ได้เปลี่ยนทัศนะ เปลี่ยนความคิดต่อระบบการเมืองเดิม และท่าทีของตนเองทั้งต่อตนเอง และต่อคนอื่นที่อยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประชาชนที่ประสบปัญหาต่างๆร่วมกัน
แต่อย่างไรก็ตาม การปรากฎตัวขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวในทางสังคมดังที่กล่าวมาถือได้ว่า ได้สะท้อนและทำให้ในแวดวงวิชาการต้องขบคิดใหม่ ในแง่ของการต้องผนวกเอาเงื่อนไขดังกล่าวเข้ามาคิดเพิ่มเติม ดังนั้น องค์กรภาคประชาชนในขบวนการเคลื่อนไหวในทางสังคม จึงกลายเป็นเงื่อนไขใหม่สำหรับการเมืองในระบบเดิม และสอดคล้องกับระบบโครงสร้างในทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
๒.๒ การเคลื่อนไหวภายใต้สิทธิเฉพาะเรื่อง ตามรัฐธรรมนูญ
จริงๆแล้วการเคลื่อนไหวภายใต้สิทธิเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มีมาโดยตลอด และมีหลายๆกรณีที่เมื่อมีโอกาส และความพร้อมในทางการเมืองก็สามารถที่จะผลักดันความคิดดังกล่าว ให้กลายเป็นหลักการที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประเด็นเรื่อง สิทธิชุมชน สิทธิในคลื่นความถี่ สิทธิของผู้บริโภค เป็นต้น
แต่แม้จะมีการบัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม เมื่อต้องการที่จะใช้สิทธิในนามของกลุ่มเฉพาะตามประเด็นปัญหา กลับต้องมาต่อสู้กับระบบที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะในโครงสร้างทางการเมืองและระบบราชการที่มีอำนาจอยู่ภายใต้กฎหมาย และในหลายๆกรณีสามารถที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีกระบวนการตอบโต้กลับของระบบต่างๆเหล่านี้ และนับวันจะมีการตอบโต้กลับทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น
๓. การไม่เคลื่อนไหวในสิทธิ
แม้จะมีความพยายามในการเรียกร้องให้ใช้สิทธิของตนเอง และสิทธิต่างๆเหล่านั้นที่มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายไม่อยู่ในฐานะหรือสภาพที่จะใช้สิทธิต่างๆได้เอง หรือระบบราชการที่ต้องบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ได้วางระบบที่ทำให้เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิดังกล่าว ทำให้สิทธิประเภทนี้มิอาจที่จะเคลื่อนไหวภายใต้แนวทางในการรวมกลุ่มได้ และในที่สุดก็นำไปสู่การละเมิดสิทธิในด้านอื่นๆตามมา เช่น สิทธิของผู้ต้องหา และของผู้ต้องขัง สิทธิของผู้สูงอายุ สภาพที่เป็นอยู่เช่นนี้ แม้มีความพยายามที่จะเข้าไปดูแล แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาตรงปลายเหตุเสียเป็นส่วนใหญ่
จากสภาวะการณ์ที่เป็นอยู่จริงโดยย่อๆดังที่กล่าวมา รวมถึงสาเหตุของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ถ้าหากต้องการที่จะทำให้บทบาทของภาคประชาชน สามารถที่จะใช้กลไกในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญซึ่งมีช่องทางต่างๆมากมาย(อย่างน้อยในทางหลักการ) ผนวกไปกับการเมืองภาคพลเมือง เพื่อนำไปสู่การมีหรือการสร้างระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรม และเป็นธรรม ไม่ใช้กฎหมายที่เป็นเพียงตัวหนังสือที่เขียนแล้วอ่านออกเสียงว่ากฎหมาย แต่ไร้วิญญาณแห่งความเป็นธรรมที่สามารถพึ่งพิงได้ บทบาทของภาคประชาชนควรที่จะใช้เวทีต่างๆของการเมืองภาคประชาชน ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
ประการแรก สร้างความชัดเจนในทางกฎหมายให้ได้ว่า ปัญหา(หรือสิทธิ)ใดหรือประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องใดที่ต้องการที่จะให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปัญหา( หรือสิทธิ)ใดที่บทบาทของรัฐควรจะมีบทบาทให้น้อยลง และสังคมหรือชุมชนควรจะเข้ามามีบทบาทในปัญหานั้นๆหรือในสิทธินั้นๆมากขึ้น
ประการที่สอง จะทำอย่างไรที่จะทำให้ชุมชนสามารถเรียกร้อง แสดงออกเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและยอมรับ ความมีอยู่จริงของ"ความเป็นชุมชน" และ " สิทธิชุมชน" ต่อแวดวงนิติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อจะได้เข้าใจในความเป็นธรรมอีกมิติหนึ่งนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติ
ประการที่สาม ในการสร้างการยอมรับ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบข้อมูล การสาธิตเป็นตัวอย่างให้เห็น เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะแพร่ขยายองค์ความรู้และการรับรู้ ดังนั้น การสร้างระบบฐานข้อมูลและการมีสื่อของชุมชนเองเป็นสิ่งที่ไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้
ถ้าหากเราอยากเห็นสังคมที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในความเป็นธรรม (กฎหมาย นักกฎหมาย หรือระบบกฎหมายทั้งระบบ ไม่ได้เป็นที่มาของความเป็นธรรมดังกล่าวทั้งหมดในการเมืองภาคพลเมือง) เราสามารถที่จะสร้างระบบกฎหมายได้ เพราะในความเป็นชุมชน เรามีทุนทางสังคม มีทุนทางวัฒนธรรม ที่สามารถให้ความเป็นธรรม ยึดเหนี่ยว พึ่งพาได้
คำถามคือว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้หลักความเป็นธรรมของสังคม เข้าไปเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายของนักกฎหมาย? และจะทำอย่างไรให้นักกฎหมายเข้าใจความต้องการของชุมชน?
เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะพิสูจน์กระแสชุมชนนิยม และจะเป็นการพิสูจน์สำนึกของความเป็นคนของนักกฎหมาย
วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา