เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แนวคิดทฤษฎีว่าด้วย "สิทธิ"

1. สิทธิ (Right)
ความคิดเรื่องสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยในสังคมปัจจุบัน ดังเห็นได้ว่า “สิทธิ” เป็นคำที่เราอ้างถึงอยู่เสมอเพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในสิ่งที่เราทำ เช่น เรามีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้เรามักอ้างถึง “สิทธิ” เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในสิ่งที่เราเห็นว่าควรได้รับจากผู้อื่นและสังคม เช่น เรามีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทั้งนี้เมื่อเราอ้างถึง “สิทธิ” มีนัยว่าเราเรียกร้องให้ผู้อื่นต้องเคารพและปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม แม้มโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยในสังคมปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเราเข้าใจมโนทัศน์นี้ดีหรือไม่ เช่น เรารู้หรือไม่ว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเกิดขึ้นเมื่อไร, “สิทธิ” หมายถึงอะไร, อะไรเป็นลักษณะสำคัญของสิทธิ, อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอ้างได้ว่าเรามีสิทธิต่างๆ และการที่สังคมให้ความสำคัญลำดับแรกกับสิทธินั้นเหมาะสมหรือไม่

2. การเกิดขึ้นของมโนทัศน์เรื่องสิทธิ
คำว่า “สิทธิ” แปลมาจากคำว่า “right” ในภาษาอังกฤษที่นอกจากแปลว่า “สิทธิ” แล้วยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ “สิ่งที่ถูกต้อง” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความหมายดั้งเดิมของ “right” ดังเห็นจากการที่ “right” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ius” หรือ “jus” ในกฎหมายโรมัน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเชิงยืนยันว่าสิ่งบางสิ่งหรือการกระทำบางอย่างถูกต้องหรือยุติธรรม ความหมายนี้บ่งถึงความถูกต้องแบบวัตถุวิสัย (objective right) ของการกระทำโดยอิงจากหลักศีลธรรมหรือกฎหมาย

ต่อมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 จนถึงคริสตศตวรรษที่ 17 งานเขียนบางชิ้นของนักปรัชญาหลายท่าน เช่น โธมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) ในคริสตศตวรรษที่ 13, วิลเลียมแห่งออกคัม (William of Ockham) ในคริสตศตวรรษที่ 14, ฟรานซิสโก ซัวเรซ (Francisco Suarez) และฮิวโก โกรเทียส (Hugo Grotius) ในคริสตศตวรรษที่ 16 ได้มีการใช้คำว่า “right” หรือ “ius” ในความหมายที่คลุมเครือระหว่างความหมายเดิมที่บ่งถึงความถูกต้องแบบวัตถุวิสัยกับความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งบ่งถึงความถูกต้องในแบบอัตวิสัย (subjective right) โดยความหมายอย่างหลังนี้เป็นความหมายพื้นฐานของคำที่หมายถึง “สิทธิ” ตามความเข้าใจในปัจจุบันที่ว่า “สิทธิ” หมายถึงสิ่งที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของหรือถือครอง และทำให้บุคคลนั้นมีอำนาจชอบธรรม หรืออำนาจที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม หรือกฎหมาย ในการกระทำบางอย่าง การใช้คำว่า “right” ในความหมายที่บ่งถึงความถูกต้องแบบอัตวิสัยหรือสิทธิอย่างชัดเจนนั้นเกิดขึ้นใน Leviathan (ค.ศ.1651) ของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ซึ่งเขากล่าวว่า
“สิทธิตามธรรมชาติ…คือเสรีภาพที่มนุษย์แต่ละคนมีในการที่จะใช้อำนาจของเขาตามเจตนาของเขาเอง เพื่อที่จะรักษาชีวิตของเขา และเพื่อกระทำสิ่งใดก็ตามจากการตัดสินและการใช้เหตุผลโดยตัวของเขาเอง ที่เขาเห็นว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม” (Hobbes: chapter 14, section 1)

สำหรับฮอบส์ สิทธิคือเสรีภาพ โดยเสรีภาพในที่นี้หมายถึงการที่มนุษย์ปราศจากอุปสรรคใดๆ ที่ขัดขวางการใช้อำนาจของเขา ทำให้มนุษย์สามารถใช้อำนาจนั้นได้ตามการตัดสินใจและเหตุผลของเขาเอง (Hobbes: chapter 14, section 2)
การใช้คำว่า “right” ในความหมายที่บ่งถึงความถูกต้องแบบอัตวิสัยหรือสิทธิยังปรากฏใน Two Treatises of Government (ค.ศ.1690) ของจอห์น ล็อค (John Locke) ซึ่งได้เสนอแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับสิทธิแนวคิดหนึ่ง จุดประสงค์ของล็อคคือปฏิเสธการแบ่งชนชั้นและการผูกขาดอำนาจของชนชั้นปกครองในสังคมอังกฤษสมัยนั้น โดยเขาโต้แย้งการอ้างเหตุผลของโรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Robert Filmer) ซึ่งสนับสนุนทัศนะที่ว่าพระเจ้าให้ความชอบธรรมแก่กษัตริย์ในการมีอำนาจปกครองเหนือผู้อื่น
ล็อคเห็นว่า แท้จริงแล้ว พระเจ้าสร้างมนุษย์ทุกคนให้เท่าเทียมกัน มีลักษณะร่วมกันตามธรรมชาติทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นมนุษย์จึงควรมีความเท่าเทียมกัน และมีสิทธิและเอกสิทธิ์แบบเดียวกัน เขายังเห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะรักษาและปกป้องชีวิตของตนเอง (right of self-preservation) เพราะพระเจ้าสร้างให้มนุษย์มีความปรารถนาในการรักษาชีวิตและการดำรงอยู่ และสอนให้มนุษย์ทำตามความโน้มเอียงทางธรรมชาติ (natural inclination) ที่จะรักษาและดำรงชีวิตโดยอาศัยสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นบนโลกนี้ (Locke: Book One, chapter 9, section 86)
คำกล่าวที่ยกมาเหล่านี้แสดงถึงแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของล็อค ซึ่งมีใจความหลักคือ พระเจ้าสร้างมนุษย์ทุกคนให้มีธรรมชาติแบบเดียวกัน มนุษย์ทุกคนจึงมีอิสระและความเท่าเทียมกัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงควรมีสิทธิแบบเดียวกันและเท่าเทียมกัน และไม่ควรมีผู้ใดมีสิทธิเหนือ กว่าผู้อื่น แนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของล็อคมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางทางการเมืองในคริสตศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of independence) ของอเมริกาในปี ค.ศ.1776 และคำประกาศเรื่องสิทธิของมนุษย์และประชาชน (Declaration of the Rights of Man and of Citizens) ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ซึ่งสะท้อนแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของเขาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ แนวคิดของล็อคยังมีอิทธิพลสืบเนื่องมายังแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันอีกด้วย
หากยึดเอาความหมายของคำเป็นหลัก ดูเหมือนว่า มโนทัศน์เรื่อง “สิทธิ” ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฎอยู่ในแนวคิดทางการเมืองหรือวัฒนธรรมของสังคมอื่นที่ไม่ใช่สังคมตะวันตกสมัยใหม่ เช่น สังคมกรีก โรมัน ศักดินา รวมถึงสังคมที่ไม่ใช่สังคมตะวันตก เช่น เอเชีย เพราะสังคมเหล่านี้ไม่ได้มีคำที่สื่อถึงความหมายของ “สิทธิ” อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาบางท่าน เช่น อลัน กีเวิร์ธ (Alan Gewirth) เห็นว่า การที่สังคมซึ่งไม่ใช่สังคมตะวันตกสมัยใหม่ไม่มีคำที่สื่อถึงความหมายของ “สิทธิ” ไม่ได้แปลว่าสังคมเหล่านี้ไม่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ทั้งนี้เพราะรูปแบบการแสดงออกของมโนทัศน์เรื่องสิทธิอาจแตกต่างกันตามแนวคิดทางการเมืองหรือวัฒนธรรมของแต่ละสังคม สังคมที่ไม่ใช่สังคมตะวันตกสมัยใหม่อาจมีมโนทัศน์เรื่องสิทธิแฝงอยู่โดยไม่ได้แสดงออกโดยตรงผ่านคำที่สื่อถึงความหมายของ “สิทธิ” เช่นในแนวคิดทางการเมืองของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ นักปรัชญาผู้หนึ่งที่อ้างเหตุผลเพื่อแสดงให้เห็นว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิไม่จำเป็นต้องมีอยู่เฉพาะในแนวคิดหรือวัฒนธรรมของสังคมตะวันตกสมัยใหม่เท่านั้น คือ จอห์น ฟินนิส (John Finnis)
ฟินนิสเป็นนักนิติปรัชญาสำนักทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ที่เห็นว่า แม้ในสังคมโรมันจะไม่กล่าวถึงเรื่องสิทธิ โดยกฎหมายในสังคมโรมันจะกำหนดให้ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม แต่ละบุคคลในสังคมนั้นมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่นและต่อสังคมตามบทบาทของตนเอง ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่เน้นมโนทัศน์เรื่องหน้าที่ (duty) และการมีพันธะต่อกัน (obligation) เป็นหลัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมภายใต้ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่ให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่อง “สิทธิ”

ฟินนิสอธิบายว่า การที่กฎหมายโรมันกำหนดให้แต่ละบุคคลในสังคมมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่นและต่อสังคมตามบทบาทของตนเองเกิดจากการเห็นว่า บุคคลในสังคมมีพันธะโดยตรงต่อกัน โดยพันธะนี้แสดงออกในรูปที่บุคคลหนึ่ง (ก.) มีพันธะหน้าที่ที่ต้องทำบางสิ่งให้แก่ผู้อื่น (ข.) และผู้อื่นนั้น (ข.) ก็มีพันธะหน้าที่ที่ต้องทำบางสิ่งให้แก่เขา (ก.) การที่ผู้อื่นนั้น (ข.) มีพันธะหน้าที่ที่ต้องทำบางสิ่งให้แก่เขา (ก.) นี่เองที่ฟินนิสเห็นว่าแฝงนัยการแสดงถึงการมีสิทธิในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม กล่าวคือทำให้บุคคลหนึ่ง (ก.) สามารถมีข้อเรียกร้องหรือ “สิทธิ” ต่อผู้อื่น (ข.) ให้กระทำตามสิ่งที่ผู้อื่นนั้น (ข.) มีพันธะหน้าที่ต่อตน (ก.) ได้
ฟินนิสเห็นว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกสมัยใหม่พัฒนามาจากการยืนยันหรือเรียกร้องต่อประโยชน์ของแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งมีพันธะหน้าที่ต่อกัน “สิทธิ” เป็นวิธีการกล่าวถึง ‘สิ่งที่ควรได้รับจากความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น’ จากมุมมองของบุคคลหนึ่ง (ก.) ต่อบุคคลอื่น (ข.) ที่มีพันธะที่ต้องกระทำบางสิ่งต่อเขา (ก.) และจะถือว่าเป็นความผิดหากบุคคลอื่น (ข.) ไม่กระทำตามพันธะนั้น การที่บุคคลหนึ่งมีสิทธิ คือ การที่เขามีผลประโยชน์ที่ควรได้รับตามกฎหมายหรือระบบศีลธรรมซึ่งทำให้เขามีเสรีภาพในการกระทำและมีอำนาจในการเลือกว่าจะให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำตามพันธะหน้าที่ที่มีต่อผลประโยชน์ของเขา การอ้างเหตุผลของฟินนิสดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในสังคมที่เน้นมโนทัศน์เรื่องหน้าที่และการมีพันธะต่อกันระหว่างบุคคลในสังคมก็มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน การที่คนๆ หนึ่งมี “สิทธิ” ในสังคมลักษณะดังกล่าวมาจากการที่เขามีผลประโยชน์ที่การบรรลุผลประโยชน์นั้นเกี่ยวพันกับการกระทำตามพันธะหน้าที่ของบุคคลอื่นที่มีต่อเขาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม อันทำให้เขามี “สิทธิ” ที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากความสัมพันธ์นั้น

3. องค์ประกอบของการมีสิทธิ
เมื่อเรากล่าวถึง “สิทธิ” แทบไม่มีใครเลยที่จะกล่าวคำนี้ขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีบริบทรองรับ คำว่า “สิทธิ” จะถูกใช้ในบริบทของการแสดงถึงการมีสิทธิเสมอ เช่น บุคคลหนึ่งอาจกล่าวว่า “เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากลูกหนี้เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายได้บัญญัติไว้” ประโยคตัวอย่างดังกล่าวสามารถเขียนในรูปประโยคทั่วไป (general form) ของการแสดงถึงการมีสิทธิที่ว่า “A มีสิทธิที่จะ X ต่อ B เพราะ Y”
รูปประโยคทั่วไปดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการมีสิทธิต้องประกอบด้วยองค์ประกอบห้าอย่าง คือ 1. ผู้มีสิทธิหรือผู้ครองสิทธิ (subject of a right ; A) เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น ผู้มีสิทธิคือ เจ้าหนี้ 2. ธรรมชาติของสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ซึ่งคือสิ่งที่ถูกแสดงออกผ่านคำว่า “สิทธิ” 3. กรรมของสิทธิ (the object of the right ; X) คือการกระทำที่ผู้มีสิทธิสามารถกระทำได้อันเกิดจากการมีสิทธิที่จะกระทำสิ่งนั้น เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น กรรมของสิทธิคือการได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากลูกหนี้ 4. ผู้ตอบสนองต่อสิทธิ (respondent of the right ; B) คือผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้สิทธิของผู้มีสิทธินั้นสามารถบรรลุผลสำเร็จ เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น ผู้ตอบสนองต่อสิทธิคือลูกหนี้ ผู้มีหน้าที่ต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เพื่อทำให้สิทธิของเจ้าหนี้บรรลุผล 5. พื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนแก่สิทธินั้น (justifying basis or ground of the right ; Y) ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายว่าทำไมผู้มีสิทธิจึงมีสิทธิดังกล่าว เช่นในประโยคตัวอย่างข้างต้น พื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมเจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากลูกหนี้ก็คือ ระบบกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในสังคมหนึ่งซึ่งบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธินี้
จากองค์ประกอบดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า การกล่าวถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิทางศีลธรรม สิทธิทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสตรี สิทธิสัตว์ สามารถจัดประเภทได้ตามองค์ประกอบของการมีสิทธิ สิทธิทางศีลธรรมและสิทธิทางกฎหมายเป็นสิทธิที่อ้างถึงพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิที่แตกต่างกันกล่าวคือ สิทธิทางกฎหมายคือสิทธิที่อ้างถึงพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธินั้นจากระบบกฎหมาย สิทธิทางศีลธรรมคือสิทธิที่อ้างถึงพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธินั้นจากหลักทางศีลธรรม โดยนักปรัชญาบางท่าน เช่น เดวิด ลีออนส์ (David Lyons) เห็นว่าสิทธิทางศีลธรรมแตกต่างจากสิทธิทางกฎหมายตรงที่สิทธิทางศีลธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับทางสังคมหรือการบังคับใช้สิทธินั้น เพราะสิทธิทางศีลธรรมถูกเรียกร้องแม้ไม่เชื่อว่าสิทธิเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับในสังคมหรือบังคับใช้โด กฎหมาย ส่วนสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสตรี สิทธิสัตว์ เป็นสิทธิที่บ่งบอกถึงการมีสิทธิตามลักษณะผู้มีสิทธิที่แตกต่างกัน สิทธิมนุษยชนเป็นการบ่งบอกว่าผู้มีสิทธิคือมนุษย์ สิทธิเด็กและสตรีเป็นการบ่งบอกว่าผู้มีสิทธิคือเด็กและสตรี และสิทธิสัตว์เป็นการบ่งบอกว่าผู้มีสิทธิคือสัตว์ แม้องค์ประกอบของการมีสิทธิจะมีด้วยกันทั้งสิ้น 5 องค์ประกอบ แต่ประเด็นสำคัญของข้อถกเถียงทางปรัชญาเกี่ยวกับสิทธินั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลักเพียงสององค์ประกอบ คือ ธรรมชาติของสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิซึ่งเป็นสิ่งที่สิทธิต่างๆ มีร่วมกัน และพื้นฐานอันเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิ ทั้งนี้เพราะข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติของสิทธิหรือมโนทัศน์เรื่องสิทธิและพื้นฐานหรือเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิมักจะครอบคลุมถึงองค์ประกอบที่เหลือด้วยที่ว่าใครบ้างที่ควรเป็นผู้มีสิทธิ ควรมีสิทธิในเรื่องอะไร และควรมีสิทธิต่อใคร
4. การวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิ
นักปรัชญาได้วิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิในสองแง่มุม แง่มุมแรกคือโครงสร้างหรือรูปแบบ (form) ของสิทธิ แง่มุมที่สองคือบทบาท (function) ของสิทธิ การวิเคราะห์แง่มุมแรกเป็นการวิเคราะห์ตัวมโนทัศน์เรื่องสิทธิโดยตรง ส่วนการวิเคราะห์แง่มุมที่สองไม่ได้เป็นการวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิโดยตรง แต่เป็นการวิเคราะห์ว่าสิทธินั้นมีบทบาทอะไร
4.1 รูปแบบของสิทธิ: การวิเคราะห์ของโฮห์เฟลด์
ในต้นคริสตศตวรรษที่ 20 นักปรัชญาและนักกฎหมายพยายามวิเคราะห์ว่าสิทธิคืออะไร ซึ่งในบรรดาบทวิเคราะห์ทั้งหลายนั้น งานชิ้นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือบทความ “Some Fundamental Legal Conceptions as Applied in Judicial Reasoning” ของเวลลี่ย์ นิวคอมบ์ โฮห์เฟลด์ (Wesley Newcomb Hohfeld) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1919 ในงานชิ้นนี้ โฮห์เฟลด์พยายามวิเคราะห์คำต่างๆ ทางกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับคำว่า “สิทธิ” และมักถูกใช้สับสนกับคำว่า “สิทธิ” ซึ่งโฮห์เฟลด์พบว่า ในบางกรณีคำว่า “สิทธิ” (right) ถูกใช้โดยนักกฎหมายและถูกอ้างถึงในกฎหมายต่างๆ ในความหมายแบบเดียวกันกับคำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่นคำว่า “เอกสิทธิ์” (privilege), “อำนาจ” (power), และ “ความคุ้มกัน” (immunity) ซึ่งเขาเรียกการใช้เช่นนี้ว่าเป็นการใช้คำว่า “สิทธิ” แบบไม่เคร่งครัด แต่การใช้แบบไม่เคร่งครัดนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ดังนั้น โฮห์เฟลด์จึงมุ่งอธิบายถึงความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปของคำว่า “สิทธิ” เพื่อให้เห็นถึงความหมายที่แตกต่างกันของคำๆ นี้จากคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน โดยวิธีที่โฮห์เฟลด์ใช้คือ อธิบายผ่านกรอบของความสัมพันธ์แบบตรงกันข้าม (opposites) และแบบเกี่ยวพันกัน (correlatives)
สิทธิกับหน้าที่
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างความหมายของคำว่า “สิทธิ” กับคำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือการมีหน้าที่ที่เกี่ยวพันกัน (correlative duty) กับสิทธิ การมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมีนัยถึงหน้าที่ของบุคคลอื่นที่จะต้องไม่ขัดขวางการใช้สิทธินั้นหรือจะต้องทำให้สิทธินั้นบรรลุผล เช่น ถ้า ก. มีสิทธิต่อบุคคลอื่นเช่น ข. ที่จะไม่ให้ ข. เข้ามาในที่ดินของเขาแล้ว ข. ย่อมมีหน้าที่ต่อ ก. ที่จะไม่เข้ามาในที่ดินของ ก. โฮห์เฟลด์เห็นว่า ถ้าจะหาคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า “สิทธิ” ในแบบเคร่งครัดแล้ว คำนั้นควรเป็นคำว่า “ข้ออ้าง” (claims)
เอกสิทธิ์กับสิทธิ
เอกสิทธิ์มีลักษณะตรงข้ามกับหน้าที่ นั่นคือเมื่อเรากล่าวว่าบุคคลหนึ่งมีเอกสิทธิ์ในการทำสิ่งหนึ่งหมายความว่า บุคคลนั้นไม่มีหน้าที่หรือข้อผูกมัดกับผู้อื่นที่จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้นซึ่งเขามีเอกสิทธิ์อยู่ และเอกสิทธิ์ของบุคคลหนึ่ง เช่น ก. ยังมีความเกี่ยวพันกับการไม่มีสิทธิของบุคคลอื่น เช่น ข. กล่าวคือการที่ ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะทำสิ่งหนึ่ง ทำให้ ข. ปราศจากสิทธิที่จะเรียกร้องให้นาย ก. ไม่กระทำสิ่งนั้น
ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่า ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะเดินไปมาในที่สาธารณะ หมายความว่า ก. ไม่มีหน้าที่หรือข้อผูกมัดกับผู้อื่นที่จะต้องไม่เดินไปมาในที่สาธารณะ และแสดงถึงความเกี่ยวพันกันกับบุคคลอื่นเช่น ข. ที่ไม่มีสิทธิห้าม ก. เดินไปมาในที่สาธารณะ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างคำว่า สิทธิ และ เอกสิทธิ์ ที่โฮห์เฟลด์วิเคราะห์ไว้คือ ในขณะที่สิทธิมีความหมายที่สื่อถึงการมีหน้าที่ของผู้อื่นต่อบุคคลที่มีสิทธินั้น แต่เอกสิทธิ์ไม่มีความเกี่ยวพันกับการมีหน้าที่ของผู้อื่นต่อบุคคลที่มีเอกสิทธิ์ กล่าวคือ การที่ ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะทำสิ่งหนึ่งมีความหมายว่า ข. ไม่มีสิทธิที่จะห้าม ก. ทำสิ่งนั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ข. มีหน้าที่ที่จะต้องไม่แทรกแซง ก. ในการทำสิ่งที่ว่านั้นด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้า ก. มีเอกสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ ข. ในที่สาธารณะแล้ว ข. จะไม่มีสิทธิห้าม ก. ในการทำสิ่งนั้น แต่ ข. จะยังสามารถรบกวนหรือแทรกแซง ก. ขณะทำสิ่งนั้นได้ เช่น ส่งคนไปทำเสียงดังเพื่อกลบเสียงของ ก. ในขณะที่เขากำลังทำการวิพากษ์วิจารณ์ ข. อยู่ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ การแทรกแซงดังกล่าวของ ข. จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิอื่นของ ก. ด้วย
นอกจากนี้ ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ การที่ ก. มีเอกสิทธิ์ที่จะทำสิ่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ก. จะเป็นผู้เดียวที่มีเอกสิทธิ์ในการทำสิ่งนั้น บุคคลอื่น เช่น ข. สามารถมีเอกสิทธิ์แบบเดียวกับ ก. ในการทำสิ่งนั้นได้เช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ ข. ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไม่ทำในสิ่งที่ตนมีเอกสิทธิ์ และบุคคลอื่นที่มีเอกสิทธิ์แบบเดียวกัน เช่น ก. ก็ไม่มีสิทธิที่จะห้าม ข. ในการทำสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ทั้ง ก. และ ข. ต่างมีเอกสิทธิ์ที่จะจอดรถในที่จอดรถสาธารณะ ซึ่งทำให้ทั้งคู่ต่างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไม่จอดรถในที่จอดรถสาธารณะ และทั้งคู่ต่างก็ไม่มีสิทธิที่จะห้ามอีกฝ่ายจอดรถในที่จอดรถสาธารณะ
อำนาจกับความรับผิด (liability)
อำนาจตามกฎหมายมีลักษณะตรงข้ามกับความไม่สามารถ (disability) ตามกฎหมาย และขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวพันกับความรับผิดตามกฎหมายของผู้อื่นที่มีต่อการใช้อำนาจนั้น บุคคลหนึ่งมีอำนาจโดยตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลง และ/หรือ ยกเลิกความสัมพันธ์ตามกฎหมาย (legal relation) ที่ตนมีกับบุคคลอื่น เช่น สัญญา, ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน, ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้บุคคลอื่นที่เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจนั้นมีความรับผิดต่อการใช้อำนาจของเขา ยกตัวอย่างเช่น ถ้า ก. เป็นเจ้าหนี้ ข. ก. มีอำนาจที่จะยกหนี้ให้ ข. ซึ่ง ข. ก็จะมีความรับผิดต่อการใช้อำนาจของ ก. คือไม่ต้องใช้หนี้ให้ ก. หรือถ้า ก. เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง ก. มีอำนาจที่จะให้บุคคลอื่น เช่น ข. เช่าที่ดินหรือขายที่ดินนั้นให้แก่ ข. ได้ ถ้า ข. ตกลงรับที่จะเช่าหรือซื้อที่ดินจาก ก. ข. ก็จะกลายเป็นผู้มีความรับผิดต่อการใช้อำนาจของ ก.

ความคุ้มกันกับความไม่สามารถ (disability)
ความคุ้มกันตามกฎหมายมีลักษณะตรงข้ามกับความรับผิดตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวพันกับความไม่สามารถหรือความไม่มีอำนาจ (no-power) ตามกฎหมายของบุคคลอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ตามกฎหมายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มกันนั้น กล่าวคือ ถ้า ก. มีความคุ้มกันในสิ่งหนึ่งจาก ข. แล้ว ข. ก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นหรือผลประโยชน์ที่มาจากสิ่งนั้น
ตัวอย่างเช่น ถ้า ก. เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งและ ก. มีความคุ้มกันในความเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น บุคคลอื่นเช่น ข. ย่อมไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ ก. ขายหรือยกผลประโยชน์จากที่ดินแปลงนั้นให้แก่เขา
แม้การวิเคราะห์ของโฮห์เฟลด์จะเป็นวิเคราะห์คำว่า “สิทธิ” ในทางกฎหมายเป็นหลัก แต่การวิเคราะห์ของเขากลับมีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์และอภิปรายเกี่ยวกับความหมายของสิทธิในยุคต่อมา โดยในการอภิปรายมักจะใช้คำว่า “ข้ออ้างสิทธิ” (claim-rights) แทนคำว่า “สิทธิ” ในความหมายแบบเคร่งครัดของโฮห์เฟลด์ และคำว่า “เสรีภาพ” (liberty or liberty-right) ถูกใช้แทนคำว่า “เอกสิทธิ์”
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ของโฮห์เฟลด์ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงตามมาในสองประเด็น ประเด็นแรกมาจากข้อเสนอของเขาที่ว่า ข้ออ้าง (claims) มีความหมายเดียวกับสิทธิในความหมายเคร่งครัด หรืออีกนัยหนึ่งคือข้ออ้างเป็นลักษณะจำเป็นของสิทธิ โจเอล ไฟน์เบิร์ก (Joel Feinberg) ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ของโฮห์เฟลด์ได้วิเคราะห์การให้ความหมายคำว่า “สิทธิ” (rights) และ “ข้ออ้าง” (claims) ในพจนานุกรมและการใช้คำทั้งสองในงานเขียนทางวิชาการต่างๆ พบว่าคำสองคำนี้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว คำจำกัดความที่เหมาะสมของ “สิทธิ” คือ “ข้ออ้างที่สมเหตุสมผล” (valid claims) ขณะที่นักปรัชญาที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของโฮห์เฟลด์ เช่น เอช. เจ. แมคคลอสกี้ (H. J. McCloskey) เห็นว่า โดยตัวของสิทธิเองนั้นไม่ใช่ข้ออ้าง แต่สิทธิอาจก่อให้เกิดข้ออ้างขึ้นได้ สิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิในการรดน้ำต้นไม้ของตัวเอง สิทธิในการอาบน้ำ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสิทธิในการทำกิจวัตรประจำวันนั้นไม่ได้สื่อถึงความจำเป็นของการมีข้ออ้างต่อผู้อื่นในการจะทำสิ่งเหล่านี้ ส่วนข้อถกเถียงประเด็นที่สองมาจากคำอธิบายของโฮห์เฟลด์ในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างสิทธิกับหน้าที่ ซึ่งโฮห์เฟลด์กล่าวไว้ว่า สิทธิของบุคคลหนึ่งก่อให้เกิดหน้าที่ที่เกี่ยวพันกับสิทธินั้นขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่งตามมา คำอธิบายนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงว่า ความเกี่ยวพันระหว่างสิทธิกับหน้าที่สามารถมีลักษณะกลับกันหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าบุคคลหนึ่ง (ก.) มีหน้าที่ต่อบุคคลอีกผู้หนึ่ง (ข.) แล้ว บุคคลผู้นั้น (ข.) จะมีสิทธิต่อผู้มีหน้าที่นั้น (ก.) หรือไม่? นักปรัชญาที่เห็นว่าสิทธิกับหน้าที่มีความสัมพันธ์กลับกัน ได้แก่ ฟินนิส ดังการอ้างเหตุผลของเขาที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อที่สอง (การเกิดขึ้นของมโนทัศน์เรื่องสิทธิ) ส่วนนักปรัชญาที่เห็นว่าสิทธิกับหน้าที่ไม่มีความสัมพันธ์กลับกัน ได้แก่ ไฟน์เบิร์ก ซึ่งอ้างเหตุผลโดยสมมติโลกขึ้นมาสองโลกที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการรวมถึงการมีมโนทัศน์เรื่องหน้าที่ แต่เขาสมมติต่อไปให้โลกหนึ่งมีมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ส่วนอีกโลกหนึ่งไม่มีมโนทัศน์ดังกล่าว ไฟน์เบิร์กอ้างว่า ประชาชนในโลกที่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิมีความแตกต่างจากประชาชนในโลกที่ไม่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ตรงที่พวกเขามีการเรียกร้องหรืออ้าง (claim) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสิทธิ ขณะที่ในโลกซึ่งไม่มีมโนทัศน์เรื่องสิทธินั้น แม้ประชาชนจะถูกละเมิดหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม พวกเขาก็ไม่คิดที่จะเรียกร้องการปฏิบัติใดๆ เพราะไม่มีความคิดเรื่องสิทธิรองรับนั่นเอง ดังนั้น สิทธิกับหน้าที่จึงไม่มีความสัมพันธ์กลับกัน
4.2 บทบาทของสิทธิ: ทฤษฎีทางเลือกและทฤษฎีผลประโยชน์
การวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องสิทธิของโฮห์เฟลด์ชี้ให้เห็นกรอบความเข้าใจในแง่มุมหนึ่งคือ เราสามารถเข้าใจมโนทัศน์เรื่องสิทธิได้โดยอาศัยคำทั้งสี่ที่เขาใช้ในการวิเคราะห์ คือ ข้ออ้าง เสรีภาพ อำนาจ และความคุ้มกัน ซึ่งกรอบความเข้าใจนี้ยังมีอิทธิพลต่อนักปรัชญาและนักกฎหมายหลายท่าน เช่น เอช. แอล. ฮาร์ท (H. L. A. Hart), ไฟน์เบิร์ก, ดี. เอ็น. แม็คคอร์มิค (D. N. MacCormick), คาร์ล เวลแมน(Carl Wellman) ,เรซ (Joseph Raz) , จูดิธ จาร์วิส ทอมสัน (Judith Jarvis Thomson) ในการวิเคราะห์ว่าสิทธิคืออะไร นักปรัชญาบางท่านเห็นว่าคำใดคำหนึ่งในสี่คำนี้สื่อถึงลักษณะสำคัญของสิทธิ แต่นักปรัชญาบางท่านก็เห็นว่า ไม่ใช่แค่คำเดียว แต่เป็นสองคำหรือหมดทั้งสี่คำที่สื่อถึงลักษณะที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิ แต่การวิเคราะห์ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจมโนทัศน์เรื่องสิทธิผ่านการให้คำจำกัดความว่า “สิทธิ” หมายถึงอะไร อย่างไรก็ตาม ยังมีกรอบการเข้าใจมโนทัศน์เรื่องสิทธิอีกแบบหนึ่งคือ การเข้าใจสิทธิผ่านการพิจารณา “บทบาท” ของสิทธิ โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสิทธิที่แตกต่างกันสองกลุ่มคือ ทฤษฎีทางเลือก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ will theory) และทฤษฎีผลประโยชน์ (interest theory หรือ benefit theory) ตัวแทนของนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกได้แก่ ฮาร์ท ส่วนตัวแทนของนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์ ได้แก่ ลีออน และ เรซ
โดยคร่าวๆ แล้ว แนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกเห็นว่า บทบาทของสิทธิคือให้อำนาจแก่ผู้ครองสิทธิที่จะควบคุมหรือจัดการเหนือสถานการณ์ต่างๆ การให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจึงเท่ากับให้อำนาจแก่บุคคลนั้นที่จะเลือกหรือบังคับให้คนอื่นทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่เขาได้รับมา เช่น การที่ ก. มีสิทธิในคอมพิวเตอร์ของเขาหมายความว่า ผู้อื่นมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของเขา และ ก. มีอำนาจในการเลือกที่จะบังคับให้ผู้อื่นทำตามหน้าที่ซึ่งก็คือไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของเขา หรือเลือกที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นไม่ต้องทำตามหน้าที่ซึ่งก็คืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้คอมพิวเตอร์ของเขาได้
แนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกถูกโต้แย้งว่ามีข้อบกพร่องสำคัญคือ ไม่สามารถอธิบาย สิทธิที่ไม่สามารถสละได้ (unwaivable right) เช่น สิทธิในการไม่ตกเป็นทาส เนื่องจากตามแนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือก สิทธิมีบทบาทในการให้อำนาจแก่ผู้ครองสิทธิที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้สิทธินั้น แต่สิทธิบางอย่างไม่ได้ขึ้นกับการเลือกของผู้ครองสิทธิเพราะเป็นสิทธิที่ผู้ครองสิทธิไม่สามารถสละได้ เช่น สิทธิในการไม่ตกเป็นทาส ซึ่งในกรณีของสิทธิที่ว่านี้ ผู้ครองสิทธิไม่มีอำนาจที่จะเลือกสละสิทธินี้โดยยินยอมให้ตัวเองเป็นทาสของผู้อื่น นอกจากนี้แนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือกยังถูกโต้แย้งด้วยเหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ การไม่สามารถอธิบายสิทธิที่ผู้ครองสิทธิไม่มีความสามารถที่จะใช้อำนาจตามที่ได้มาจากสิทธินั้นเองได้ เช่น ทารก สัตว์ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งไม่มีความสามารถใช้สิทธิที่จะต้องไม่ได้รับความเจ็บปวดทรมาน อันเป็นสิทธิที่เรายอมรับว่าบุคคลหรือสิ่งมีชีวิตประเภทนี้มีอยู่ ส่วนแนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์นั้นได้รับอิทธิพลจากเจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) แนวคิดนี้เห็นว่า สิทธิมีบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล การให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจึงเท่ากับว่า ผลประโยชน์ตลอดจนการกระทำที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลนั้น ต้องได้รับการปกป้องโดยสิทธิของเขาจากการละเมิดหรือการที่ผู้อื่นไม่ปฏิบัติตามพันธะทางศีลธรรมหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบุคคลนั้น
แนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์นั้นดูเหมือนจะอธิบายได้ครอบคลุมมากกว่าแนวคิดแบบทฤษฎีทางเลือก เนื่องจากสามารถอธิบายสิทธิที่ไม่สามารถสละได้ว่าการมีสิทธินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ครองสิทธิเองโดยที่ผู้ครองสิทธิไม่สามารถสละสิทธินี้ได้ และยังสามารถอธิบายสิทธิที่ผู้ครองสิทธิไม่สามารถใช้สิทธิเองได้ว่าผู้ครองสิทธิที่ไม่สามารถใช้สิทธิเองได้นั้นมีสิทธิบางอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบทฤษฎีผลประโยชน์ก็ถูกโต้แย้งว่าอ้างเหตุผลไม่ถูกต้องในการเชื่อมโยงการมีหรือได้รับผลประโยชน์จากบางสิ่งกับการมีสิทธิในสิ่งนั้น เพราะมีบางกรณีที่เรายอมรับกันว่าบุคคลสามารถมีผลประโยชน์ในบางสิ่งได้โดยไม่ต้องมีสิทธิในสิ่งนั้น เช่น กรณีบุคคลที่สาม ตัวอย่างเช่น ก. ทำสัญญากับ ข. ให้ ข. จ่ายเงินจำนวนหนึ่งพันบาทแก่ ค. ในกรณีนี้ ก. มีสิทธิตามสัญญานี้กับ ข. เพราะ ก. ได้รับผลประโยชน์จากการที่ ข. ทำตามสัญญานั่นคือ ก. ได้ชื่อว่าเป็นคนให้เงินจำนวนหนึ่งพันบาทแก่ ค. (เนื่องจาก ก. อาจทำสัญญาไว้กับ ค. อีกฉบับหนึ่งว่าจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งพันบาทให้แก่ ค.) แต่ ค. แม้จะได้รับผลประโยชน์ในฐานะบุคคลที่สามจากการทำตามสัญญานี้คือการได้เงินหนึ่งพันบาทจาก ข. แต่เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า ค. มีสิทธิตามสัญญานี้กับ ข. ในแง่ที่ทำให้ ค. สามารถบังคับให้ ข. ทำตามสัญญาคือจ่ายเงินหนึ่งพันบาทแก่ ค. นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ก็มีบางกรณีที่บุคคลมีสิทธิในการทำบางสิ่งโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์จากการทำสิ่งนั้น เช่น ผู้พิพากษามีสิทธิตามกฎหมายในการตัดสินจำคุกคน แต่ผู้พิพากษาไม่ได้รับหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการตัดสินจำคุกคนของเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ การเชื่อมโยงสิทธิในบางสิ่งเข้ากับการมีหรือได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในทุกกรณี
5. การอ้างเหตุผลสนับสนุนต่อการมีสิทธิ
การอ้างเหตุผลที่อธิบายว่าสิทธิพื้นฐานใดบ้างที่บุคคลควรมี และอะไรคือเหตุผลที่ทำให้บุคคลอื่นควรเคารพสิทธิเหล่านั้น มีที่มาจากแนวคิดทางสังคมซึ่งอยู่เบื้องหลังระบบกฎหมายหรือระบบศีลธรรม โดยแบ่งได้เป็นสองแนวคิดหลักๆ ซึ่งมีรูปแบบการอ้างเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนี้
แนวคิดแรกให้เหตุผลโดยอ้างว่ามนุษย์มีคุณสมบัติบางประการที่ทำให้มีสิทธิพื้นฐานต่างๆ และบุคคลอื่นควรเคารพสิทธิเหล่านี้ การอ้างเหตุผลตามแนวคิดนี้จึงเป็นการอ้างจากสถานะของบุคคลเพื่อสรุปว่า บุคคลนั้นๆ มีสิทธิในสิ่งต่างๆ ลักษณะดังกล่าวทำให้เรียกแนวคิดแรกนี้ว่าทฤษฎีสถานะ (status theories)
แนวคิดที่สองให้เหตุผลว่าการที่บุคคลมีสิทธิต่างๆ และบุคคลอื่นควรเคารพสิทธิเหล่านี้เป็นเพราะการมีสิทธิและการที่บุคคลอื่นเคารพสิทธินั้นเป็นวิถีทาง (means) หรือเครื่องมือ (instruments) ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่แต่ละบุคคลที่ดีที่สุด แนวคิดที่สองนี้เรียกว่าทฤษฎีเครื่องมือ (instrumental theories)
แนวคิดทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแนวคิดแรกเห็นว่า เราควรเคารพสิทธิของผู้อื่นเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่เพราะทำแล้วก่อให้เกิดผลที่ดีที่ตามมา (เมื่อแต่ละคนเคารพสิทธิของกันและกัน) ดังนั้น สิทธิไม่ใช่เครื่องมือที่นำไปสู่การมีผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม ตามแนวคิดนี้ สิทธิพื้นฐานจึงมีลักษณะสัมบูรณ์ (absolute) และไม่อาจละเมิดได้แม้ว่าการละเมิดสิทธิจะนำไปสู่ผลต่อสังคมโดยรวมที่ดีกว่าก็ตาม ส่วนแนวคิดที่สองนั้นเห็นว่า การเคารพสิทธิของกันและกันเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะการทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลที่ดีตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจึงควรมีการกำหนดและบังคับใช้สิทธิต่างๆ ระหว่างสมาชิกในสังคม ดังนั้น ตามแนวคิดที่สอง การตัดทอนและละเมิดสิทธิบางอย่างของคนในสังคมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้หากกระทำแล้วนำไปสู่ผลลัพธ์โดยรวมที่ดีกว่าแก่สังคม
ตัวอย่างของการอ้างเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิตามแนวคิดแบบทฤษฎีสถานะที่เห็นได้ชัดก็คือ แนวคิดเรื่องสิทธิธรรมชาติที่อ้างว่ามนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้วมีคุณสมบัติบางอย่างซึ่งทำให้มนุษย์มีสิทธิพื้นฐานบางอย่างที่ทุกคนต้องเคารพและไม่ล่วงละเมิดสิทธิเหล่านั้น แนวคิดที่อ้างเหตุผลตามแนวทางนี้มีความแตกต่างในเรื่องคุณสมบัติของมนุษย์ที่ถูกใช้อ้างว่าทำให้มนุษย์มีสิทธิเหล่านั้น คุณสมบัติของมนุษย์ที่มักถูกอ้าง เช่น ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality), การมีเจตจำนงเสรี (free will), การมีความสามารถที่จะกำหนดตัวเอง (autonomy), ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (human dignity) เป็นต้น นักปรัชญาที่ใช้การอ้างเหตุผลแบบนี้ เช่น ล็อค, ค้านท์, กีเวิร์ธ การที่แนวคิดแบบทฤษฎีสถานะเห็นว่าสิทธิพื้นฐานมีลักษณะสัมบูรณ์และไม่ควรละเมิดทำให้แนวคิดแบบนี้ถูกโต้แย้งหลายประการ เช่น
ประการแรก มีบางกรณีที่ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นเลวร้ายมากจนถึงขั้นที่ทำให้เราควรละเมิดสิทธิพื้นฐาน เช่น กรณีที่คนๆ หนึ่งกำลังทำสิ่งเลวร้ายที่จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวงแก่คนหมู่มาก ตัวอย่างเช่น ผู้ก่อการร้ายกำลังจะกดระเบิดฆ่าตัวตายท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก ในกรณีเช่นนี้เราย่อมเห็นว่าบุคคลอื่น เช่น ตำรวจ ย่อมสามารถละเมิดสิทธิในการมีชีวิตของผู้ก่อการร้ายได้นั่นคือฆ่าเขาเสียก่อนที่เขาจะกดระเบิดเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นบาดเจ็บล้มตายจากการกระทำเช่นนั้น
ประการที่สอง เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า สิทธิพื้นฐานบางประการที่เรายอมรับกันว่าทุกคนมีนั้นมีปัญหาในตัวเอง เช่น สิทธิในการพูดอย่างเสรี ซึ่งสิทธินี้ครอบคลุมถึงการมีสิทธิที่จะด่าว่าผู้อื่น ทั้งที่สิทธิในการพูดอย่างเสรีนั้นควรใช้เพื่อวิจารณ์บุคคลสาธารณะไม่ใช่เพื่อด่าว่าบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ สิทธิในการพูดอย่างเสรียังครอบคลุมถึงสิทธิในการพูดหรือวิจารณ์โดยที่ผู้พูดรู้ว่าเนื้อหาที่พูดออกมานั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งการใช้สิทธิเช่นนี้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ประการที่สาม การเชื่อมโยงระหว่างการอ้างถึงคุณสมบัติบางอย่างของมนุษย์กับการสรุปว่ามนุษย์มีสิทธิพื้นฐานบางอย่างนั้นไม่น่าเชื่อถือ ดังเช่นเบนแธมที่วิจารณ์แนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติว่า แท้จริงแล้ว สิทธินั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ร่วมกันตกลงขึ้น (convention) ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ คำกล่าวว่ามนุษย์มีสิทธิบางอย่างติดตัวโดยธรรมชาติและไม่สามารถพรากเอาไปได้เป็นเพียงโวหารที่ฟังดูดีแต่ไร้ความหมาย
ตัวอย่างของการอ้างเหตุผลสนับสนุนการมีสิทธิตามแนวคิดแบบทฤษฎีเครื่องมือที่เห็นได้ชัดคือ แนวคิดแบบประโยชน์นิยมที่เห็นว่าสิทธิเป็นเครื่องมือนำไปสู่การกระจายผลประโยชน์ที่ดีที่สุด ถ้าเราเปรียบเทียบแนวการอ้างเหตุผลทั้งสองแบบตามที่กล่าวมาจะพบว่า ขณะที่แนวคิดแบบทฤษฎีสถานะนั้นมีลักษณะที่แข็ง (strong) เกินไป กล่าวคือเห็นว่าสิทธิพื้นฐานมีลักษณะสัมบูรณ์ไม่สามารถละเมิดได้ซึ่งทำให้ประสบกับข้อโต้แย้งดังที่เพิ่งกล่าวไป แนวคิดแบบประโยชน์นิยมกลับไม่ต้องประสบปัญหาเหล่านี้เพราะยินยอมให้มีการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลได้ถ้าการละเมิดนั้นก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมสูงสุด อย่างไรก็ตาม ลักษณะดังกล่าวของแนวคิดแบบประโยชน์นิยมก็มองได้ว่ามีลักษณะที่อ่อน (weak) เกินไป เพราะการยินยอมให้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลได้ บางครั้งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้บริสุทธิ์ เช่น การยินยอมให้ฆ่าหรือทำลายบุคคลผู้เป็นพาหะของโรคร้ายแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดซึ่งจะเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลคือ สิทธิในการมีชีวิต ทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิดใด นอกจากนี้ การอ้างผลประโยชน์โดยรวมนั้น แม้จะดูเหมือนว่าสามารถให้รายละเอียดได้ว่าบุคคลแต่ละคนในแต่ละสถานการณ์มีสิทธิที่จะทำสิ่งใดบ้างโดยพิจารณาจากผลประโยชน์โดยรวมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการมีสิทธิในการทำสิ่งนั้น อย่างไรก็ตาม ลักษณะเช่นนี้ก็ถูกถามได้ว่า แท้จริงแล้วเราสามารถคาดคำนวณถึงผลประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นจากการให้สิทธิในการทำบางอย่างได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาเรื่องความเป็นกลางของการคาดคำนวณ และการแสดงผลจากการคาดคำนวณที่เป็นรูปธรรมซึ่งทุกคนยอมรับได้
6. มโนทัศน์เรื่องสิทธิในแนวคิดทางการเมือง
มโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นความคิดพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งของแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม (liberalism) เช่น แนวคิดของโรนัลด์ ดอร์กิ้น (Ronald Dworkin) ที่เห็นว่าสิทธิเป็นคุณค่าเชิงบรรทัดฐานที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกหรือสำคัญที่สุดที่ต้องมาก่อนคุณค่าเชิงบรรทัดฐานอื่นๆ ทั้งหมดของสังคมรวมถึงความมั่งคั่ง (wealth) ของสังคม และสิทธิเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า การที่ผู้ครองสิทธิกระทำตามสิทธิที่เขามีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้การกระทำนั้นจะขัดแย้งกับคุณค่าอื่นทางสังคมก็ตาม อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับสิทธิในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า สิทธิทุกชนิดมีลักษณะสัมบูรณ์หรือเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้แม้การละเมิดนั้นจะตอบสนองต่อคุณค่าเชิงบรรทัดฐานอื่นทางสังคมจริงหรือไม่? นักปรัชญาบางท่าน เช่น กีเวิร์ธ เห็นว่าอย่างน้อยที่สุด สิทธิประการหนึ่งที่มีลักษณะสัมบูรณ์ซึ่งไม่อาจล่วงละเมิดได้ก็คือสิทธิที่จะไม่ถูกสังหารไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แต่ความคิดนี้ถูกปฏิเสธโดยนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบประโยชน์นิยมที่เห็นว่า สิทธิควรมาหลังผลประโยชน์สูงสุดของสังคมและสมาชิกของสังคม
นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับสิทธิยังประสบปัญหาอีกสองประการ ประการแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างสิทธิต่างประเภทกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างสิทธิในการเป็นเจ้าของกับสิทธิในการมีชีวิต ดังเช่นกรณีบริษัทยาที่มีสิทธิเหนือสูตรยาที่ตัวเองคิดค้นขึ้น ทำให้สามารถผลิตและกำหนดราคายาให้สูงเท่าไรก็ได้ รวมทั้งสามารถห้ามผู้อื่นใช้สูตรยาที่ตัวเองคิดค้นขึ้นเพื่อผลิตขายในราคาถูกซึ่งจะทำให้บริษัททำกำไรได้ลดลง สิทธิดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ซึ่งพวกเขาควรที่จะสามารถซื้อยาได้ในราคาถูกเพื่อใช้รักษาและดำรงชีวิตต่อไป ประการที่สอง คือ แม้สิทธิจะเป็นเหตุผลสนับสนุนสำหรับผู้ครองสิทธิว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำตามสิทธินั้น แต่การทำตามสิทธินั้นอาจเป็นสิ่งที่ผิดในทางศีลธรรมได้ ปัญหานี้เห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีความขัดแย้งระหว่างสิทธิตามกฎหมายกับหลักทางศีลธรรม เช่น ในบริบทของสังคมไทยที่นับถือพุทธศาสนานั้นเห็นว่าการฆ่าสัตว์ผิดหลักศีลธรรม แต่ตามกฎหมายไทยนั้นอนุญาตให้โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายมีสิทธิที่จะฆ่าสัตว์ได้ตามที่กำหนดไว้ หรือในหลายประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะคุมกำเนิด ทั้งๆ ที่การคุมกำเนิดนั้นขัดกับหลักคำสอนของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เป็นต้น
ในขณะที่แนวคิดแบบเสรีนิยมเห็นว่ามโนทัศน์เรื่องสิทธิเป็นความคิดพื้นฐานสำคัญทางการเมือง แนวคิดของมาร์กซ์และแนวคิดแบบชุมชนนิยม (communitarianism) ไม่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่องสิทธิ แนวคิดทั้งสองอ้างว่ามโนทัศน์เรื่องสิทธินั้นแฝงนัยของแนวคิดแบบปัจเจกนิยม (individualism) ไว้ การให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่องสิทธิมากกว่าคุณค่าอื่นในสังคมจะก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบปัจเจกบุคคลนิยมกล่าวคือ ทำให้ปัจเจกบุคคลแยกตัวเองออกจากสังคมและทำให้ปัจเจกบุคคลเห็นแก่ตัวเองมากกว่าเห็นแก่สังคมโดยรวม อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการให้ความสำคัญกับมโนทัศน์เรื่องสิทธิโต้แย้งว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิไม่ได้มีนัยของแนวคิดแบบปัจเจกนิยม เพราะเวลาเรากล่าวถึงผู้ครองสิทธิเราไม่ได้จำเป็นต้องกล่าวถึงผู้ครองสิทธิที่เป็นปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว เรายังสามารถกล่าวถึงผู้ครองสิทธิที่เป็นกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มทางศาสนาและวัฒนธรรมได้ด้วย ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องที่จะแย้งว่ามโนทัศน์เรื่องสิทธินั้นมีนัยแนวคิดแบบปัจเจกนิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา