เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กำเนิดอุดมการณ์เพื่อสังคมของปรีดี พนมยงค์

เค้าโครงเศรษฐกิจ กับ แนวคิดประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์

หากพิจารณาบริบทความคิดความเชื่อในสังคมไทย ซึ่งนับถือศาสนาพุทธก็จะเห็นความเชื่อมต่อกันได้ไม่อยากเช่นกัน ในเรื่องของความเมตตากรุณาระหว่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความคิดในการอนุเคราะห์กันนั้นเป็นเพียงความคิดตะวันตกฝ่ายเดียว หากประเด็นหน้าสนใจอยู่ที่ว่า การปฏิวัติทางสังคมและการเมืองในยุคสมัยใหม่ในตะวันตกได้ประสานและนำเอาความคิดทางจริยธรรมและศาสนาเข้ามาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความคิดทางการเมืองและสังคม รวมทั้งทางกฎหมายด้วยอย่างมีพลังและความเป็นจริง

หากมองในแนวคิดหรืออุดมการณ์ของปรีดี พนมยงค์ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายมีอยู่มากมาย แต่ลักษณะเด่นของความคิดทางการเมืองในช่วงแรกของปรีดี พนมยงค์ได้แก่ การค้นพบบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม อันนำไปสู่การเสนอมโนทัศน์ใหม่ทางการเมืองต่อมา ด้วยการให้สำคัญกับราษฎรในฐานะที่เป็นมนุษย์ เทียบเคียงเสมือนกับชนชั้นสูงในเรื่องกฎหมายแห่งสิทธิและเสรีภาพในระบบประชาธิปไตย

พื้นฐานของความเป็นบุคคลสมัยใหม่ในวงวาทกรรมทางการเมืองของปรีดีนั้น ไม่ได้มาจากคุณสมบัติภายในของปัจเจกบุคคล มากเท่ากับเป็นการยอมรับและมอบให้กฎหมายสมัยใหม่พอเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะสยามมาได้มีพัฒนาการของปรัชญาความคิดทางมนุษยนิยมที่สามารถกระทั้งแม้หักล้างความศักดิ์สิทธิและความชอบธรรมเหนืออำนาจธรรมชาติ เช่นพระเจ้า เทวดา หรือ อวตารของเทพในโลกมนุษย์ลงไปได้ ตรงข้ามผู้นำและนักคิดการเมืองเช่นปรีดี สามารถสร้างความต่อเนื่องการปกครองแบบใหม่กับสายสยามเก่าได้ ด้วยอาศัยระบบและความคิดทางกฎหมายทำหน้าที่เป็นทั้งกรอบควบคุมการปฏิบัติและพื้นฐานทางความคิดการเมืองของระบบประชาธิปไตยในระยะผ่านที่สำคัญยิ่ง

ความคิดของปรีดี ก่อนปฏิวัติ 2475 ไม่ได้เข้าไปในวงวนของอำนาจรัฐ แม้จะมีตำแหน่งหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรม แต่ยังถือว่าอยู่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ แนวคิดทางการเมืองและสังคมของท่านค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางราษฎรและฝ่ายที่เสียเปรียบ เรียกว่ามีจุดยืนที่เป็นความยุติธรรมของคนชั้นล่างตั้งแต่ต้น ตัวอย่าง การรับเป็นทนายความให้กับ นายลิ่มซุ่มหงวน ในคดี "พลาติสัย" พ.ศ.2463 คณะนั้นปรีดีกำลังเรียนกฎหมายอยู่ อายุเพียง 19 ปี และยังไม่เคยว่าความคดีมาก่อนเลย คดีพลาติสัยมีอยู่ว่า เรือโป๊ะของนายลิ่มหงวน จำเลยถูกพายุพัดไปโดนพลับพลา สถานที่ของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเสียหายไปเป็นราคา 600 บาท การสู้คดีนั้นในศาลชั้นต้นอัยการโจทก์เป็นผู้ชนะ

หลังจากที่ปรีดีได้ยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งศาลอุธรณ์และศาลฎีกาก็พิจารณาเห็นต้องกันให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ชนะคดีไปในที่สุด ข้อกฎหมายอันสำคัญที่ปรีดีใช้ในการอุธรณ์และสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้แก่ หลักคิดเรื่อง "ภัยนอกอำนาจ" ซึ่งท่านได้มาจากกฎหมายตราสามดวง อันเป็นกฎหมายเก่ามาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คดีพลาติสัยให้แง่คิดแก่ประวัติความคิดทางการเมืองได้เหมือนแสดงให้เห็นว่าก่อนก่อนที่จะมีการร่างและประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี พ.ศ.2470 นั้นในทางความคิดทางสังคมยังไม่มีสภาวะที่เรียกว่า "เหตุสุวิสัย" อันเป็น "เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลต้องประสบฤาใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร

ปมเงื่อนไขที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ได้แก่ บุคคลหรือปัจเจกบุคคลในสังคมที่มีความรับผิดชอบและมีความเป็นเหตุผลในการกระทำของตน ยังไม่มีดำรงอยู่ในสังคมสยาม คนเช่นนี้จะมีได้ก็ต้องมีความเป็นอิสระและมีเสรีภาพในตัวเอง มโนทัศน์เรื่องปัจเจกธรรม (individuality) จึงยังไม่เกิดขึ้นมา สภาพในทางชีวิตทางสังคมของราษฎรไทยยังจำกัดและขึ้นอยู่กับภาวการณ์ภายนอกตัวเองอย่างมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับระบบอุปถัมภ์และพึ่งพาในระบบศักดินาเป็นอย่างดี แนวคิดภัยนอกอำนาจดังกล่าวเป็นวิธีคิดและให้เหตุผลอย่างใหม่ ตรงที่ว่าให้น้ำหนักและความสนใจไปที่บุคคลเป็นสำคัญขณะที่แนวคิดและตัวบทกฎหมายเก่าของไทยนั้น ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ภัย 4ประการหรือในศัพท์ของปรีดีว่า"ภัยนอกอำนาจ" อันได้แก่ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย

ปรีดีอธิบายในคำอธิบายประมวลแพ่งและพาณิชย์อย่างดีว่าเป็นสิ่งที่บุคคลไม่อาจป้องกันให้เกิดขึ้นได้แม้จะได้ระมัดระวังป้องกันแล้วก็ตาม อาจารย์ปรีชา สุวรรณทัตอธิบายว่า "คำ พลาติสัย เป็นคำกฎหมายเก่าก่อนที่จะบัญญัติศัพท์ คำว่า เหตุสุดวิสัย ขึ้นในมาตรา ๘ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาจากคำภาษาฝรั่งเศส Force majeure หรือ Cas fortuity ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายฝรั่งเศสและมีความหมายกว้างถึงทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งธรรมชาติ ( fait de la nature ) การกระทำของรัฐ (fait du prince) หรือเกิดจาการกระทำของบุคคลที่สาม ( faitd’un tiers ) ความสำคัญขึ้นอยู่ที่ว่าไม่มีใครอาจป้องกันได้ จึงจะปลดเปลื้องจากความรับผิด(la force majeure est exoneratoire)" คำว่า "พลาติสัย" มีความหมายว่า "มีกำลังยิ่ง"ซึ่งสอดคล้องกับความคิดทางการเมืองไทยเดิม ที่อธิบายการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างคนในรัฐด้วยจุดยืนและทรรศนะของผู้ปกครองเป็นสำคัญ เพราะจุดหมายของรัฐพุทธทัศน์นั้นอยู่ที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุขของส่วนรวม โดยวางอยู่บนเงื่อนไขของคุณสมบัติของผู้ปกครองเท่านั้น

หลักการของการปกครองสำคัญจึงแสดงออกที่ธรรมของผู้ปกครอง ไม่ใช่ที่กำลังหรืออำนาจอะไรของราษฎรผู้อยู่ใต้การปกครอง ส่วนหลังนี้ต่างหากที่ต้องถูกควบคุมและสั่งสอนโดยผู้ปกครองอยู่เป็นนิตย์ อุดมการณ์รัฐและสังคมดังกล่าวจึงไม่อาจรองรับมโนทัศน์นอกอำนาจได้ เข้าใจว่าศัพท์ "ภัยนอกอำนาจ" จะเป็นคำประดิษฐ์ขึ้นใหม่ของปรีดีเองหรือมีใช้อยู่ในสมัยนั้นก็ได้ จุดเด่นของปรีดีคือการที่ท่านนำเอาวลีนี้ไปอิงกับหลักคิดในกฎหมายตราสามดวง สร้างความต่อเนื่องกับกฎหมายเก่าขึ้นมา แม้ "ภัยนอกอำนาจ" ที่ว่านี้หมายถึงนอกอำนาจของบุคคล ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาบุคคลยังไม่มีฐานะอันเป็นอิสระของตัวเองได้

เป็นการสร้างความต่อเนื่องระดับหนึ่งของแนวความคิดทางกฎหมายไทยจากกฎหมายเก่าสู่กฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งการสร้างเอกภาพและความต่อเนื่องให้กับระเบียบสังคมใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง จะเป็นลักษณะเด่นในความคิดทางการเมืองและสังคมของปรีดี พนมยงค์ พิจารณาในด้านประวัติภูมิปัญญาของสังคมไทย ความสำคัญของการเกิดมโนทัศน์ "ภัยนอกอำนาจ" คือการที่ส่วนหนึ่งของสังคมสยามขณะนั้น เริ่มตระหนักและรู้สึกถึงความสำคัญของบุคคลหรือปัจเจกบุคคลไม่ใช่เพียงการเป็นมนุษย์ และดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรมตามคำสั่งสอนในศาสนาที่แต่ละคนเชื่อถือ และปฏิบัติตนยึดถือคำสั่งของรัฐเป็นสรณะ จนทำให้การพัฒนาของบุคคลไม่อาจเกิดขึ้นมาได้นอกระบบราชการ เป็นภาวะของการทำให้คนต้องพึ่งพิงและอาศัยผู้เป็นใหญ่อยู่ร่ำไป ในขณะที่ผู้เป็นใหญ่ก็จำต้องหาและสร้างสมอำนาจบารมีให้มากขึ้นไปเรื่อยเพื่อช่วยเหลือแจกจ่ายให้กับผู้อยู่ใต้การปกครองและดูแลอุปถัมภ์ตลอดเวลา หากแต่เป็นความพยายามที่จะยกระดับให้คนข้างล่างได้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายของระบบการเมืองและเศรษฐกิจสังคมได้ด้วย โดยไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับและร้องขออย่างไม่มีบทบาทและฐานะที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองบ้างเลย

ข้อคิดอีกประการหนึ่งคือ การนำเอามโนทัศน์ภัยนอกอำนาจมาใช้ในกฎหมายไทยนั้นเป็นการควบคุมและกำกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เนื่องจากปัจเจกบุคคลเองก็เป็นผลิตผลและผู้ดำรงรักษาระบบทุนนิยมสมัยใหม่ การเกิดและใช้มโนทัศน์เช่นภัยนอกอำนาจ ในสภาพสังคมที่ราษฎรส่วนใหญ่ยังเป็นชาวนา มีฐานะกึ่งไพร่กึ่งทาส สถาบันทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่เกื้อหนุนความเป็นเสรีชนและเป็นอิสระจากการพึ่งพาไม่ว่าผู้มีอำนาจหรือธรรมชาติก็ตาม ยังล้าหลังหรือไม่ได้พัฒนาขึ้นมา จึงไม่อาจก่อรูปเป็นความจริงทางสังคมขึ้นได้ ความขัดแย้งดังกล่าวมีส่วนทำให้หรือไม่ก็เป็นผลมาจากการที่สถาบันกฎหมายและระบบยุติธรรมไทยขาดการพัฒนาทางปรัชญาที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญกับความคิดทางการเมืองไทยของปรีดี พนมยงค์

รัฐธรรมนูญกับความคิดทางการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถือได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทยที่กล่าวเช่นนั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากว่าในวันดังกล่าวนั้นได้มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเป็นฉบับแรกของไทย ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยบุคคลที่ทำการร่างฉบับดังกล่าวนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดบุคคลหนึ่งก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์

จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะพบว่าสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดประชาธิปไตยของท่านปรีดี โดยเฉพาะความต้องการที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองให้กลายมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบบรัฐสภา เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของประชาชนอันเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง การยอมรับความเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน เห็นได้จาบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ขอยกตัวอย่าง เช่น การมีบทบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งในระบอบเดิมนั้นอำนาจสูงสุดอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียว นั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ โดยระบอบใหม่นี้ได้เปลี่ยนให้อำนาจมาอยู่กับคนหลายคน โดยมีรัฐธรรมนูญอันเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้ากำหนดรูปแบบแห่งการปกครองไม่ให้พระมหากษัตริย์อยู่กับความประสงค์ของพระองค์อีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหากจะกล่าวว่าท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อการอภิวัติการปกครอง สร้างรัฐธรรมนูญก็คงจะไม่ผิดอะไรมากนัก นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนแนวคิดประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์ อย่างดีก็สามารถศึกษาได้จากข้อปฎิญาณตนของคณะราษฎรก่อนที่จะเข้ารับอำนาจภายใต้การเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

โดยปรากฏในรายละเอียด 6 ข้อดังต่อไปนี้

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ทางศาล ทางเศรษฐกิจของประทศให้มั่นคง
2. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ คือรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกๆคนทำจะวางเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
3. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้มีการประทุษร้ายต่อกันให้น้อยลงให้มาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน
5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพอย่างเป็นอิสระ
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ดังนั้น จะเห็นแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นอย่างดี เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่า รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นมานั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่าแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ที่ปรากฏในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจหรือรัฐธรรมนูญก็ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนที่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าท่านปรีดีพนมยงค์ มีแนวคิดแบบประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการหรือคอมมิวนิสต์อย่างที่กล่าวหากันและจากการที่ทำเพื่อประเทศชาติ ตามอุดมการณ์เสรีของท่าน โดยมุ่งหวังเพื่อประโยชน์ของชาติ จึงทำให้ท่านต้องถูกกำจัดจากศัตรูทางสังคมการเมืองไทย และนี้หรือคือคนดีที่ทั้งเมืองไทยไม่ต้องการผู้มีนามว่าปรีดี พนมยงค์

ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจกับความคิดทางการเมืองไทยของปรีดี พนมยงค์

นายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งของประเทศไทย เป็นบุคคลที่ทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในพ.ศ. 2475 ในนามคณะราษฎร แลนอกจากนี้ก็ยังกู้ชาติไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้ที่ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั่นเอง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งในขณะนั้นการปกครองประเทศการบริหารประเทศอยู่ที่คณะราษฎรซึ่งยึดอำนาจในขณะนั้น โดยมีพระยาปกรณ์นิติธาดาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อประเทศไทยเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจ

คณะราษฎรได้ประชุมอภิปรายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นก็ได้มีนายปรีดีเข้าร่วมอภิปรายด้วย และในที่ประชุมทุกคนต่างก็ยอมรับในความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐกิจของนายปรีดี พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงได้มอบหมายให้นายปรีดีร่างเค้าโครงเศรษฐกิจในการมอบหมายให้นายปรีดีร่างเค้าโครงเศรษฐกิจนั้นก็ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันหลายหนหลายครั้งโดยนายปรีดีไดเสนอต่อที่ประชุมว่า ในการที่จะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปนั้น จะต้องช่วยเหลือราษฎรในด้านเศรษฐกิจก่อน

แต่ราษฎรของเราต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้นำซึ่งในที่ประชุมก็ไม่ได้มีใครแสดงการโต้แย้งหรือแสดงความไม่พอใจใดๆในหลักการของนายปรีดี จะเห็นได้ว่าในเจตนารมณ์ของนายปรีดีนั้น ได้มุ่งถึงการบำรุงสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นสำคัญ ในเนื้อหาสาระของร่างเคาโครงเศรษฐกิจนายปรีดีไดนำแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ เฟรเดอริค ลิสต์ เป็นหลัก โดยแนวคิดของเฟรเดอริค ลิสต์ เน้นการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ นายปรีดีจึงไดนำแนวคิดนี้มาใส่ลงไปในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจและนายปรีดีก็ได้เพิ่มเติมเสนอเรื่ององค์กรของประชาชนระดับพื้นฐานขนานกันไปด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีที่ได้ร่างขึ้นนั้นเนื้อหาสาระที่ปรากฏชี้ให้เห็นว่านายปรีดีต้องการที่จะให้ประชาชนนั้นพ้นจากความทุกข์ยาก และให้พ้นจากการพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ทำให้สังคมเอเชียกลายเป็นประเทศชายขอบที่ถูกขูดรีด ถูกดึงเอาทรัพยากรส่งไปยังเมืองที่เป็นเมืองแม่ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกันกับประเทศชายขอบอื่นๆ แต่ก็ถือว่าความรุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นเพียงแต่ประชากรในประเทศอัตคัดขัดสนนางเศรษฐกิจเท่านั้น หลังจากนั้นนายปรีดีก็ได้นำขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ 8 และพระองค์ก็ทรงเห็นด้วยและรับสั่งให้นายปรีดีจัดการเขียนโครงการขึ้น

เมื่อนายปรีดีได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจเสร็จแล้วก็ได้พิมพ์แจกจ่ายให้หมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎรอ่านเพื่อขอความคิดเห็นว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่เห็นด้วย และอ้างว่ารัชกาลที่ 8 ไม่ทรงเห็นด้วย นายปรีดีจึงได้ขอให้มีการประชุม ในการประชุมครั้งนี้ได้มีหม่อมเจ้าสกลวรรณาการ วรวรรณ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญและมีความรอบรู้ในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ขอร้องให้เข้าร่วมประชุมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ต่างมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้คณะราษฎรแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คือ พระยาทรงสุรเดช พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาศรีวิสารวาจา พระยาทรงสุรเดชและผู้ก่อการบางคนมีความเห็นแย้งกับร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ และพระยาทรงสุรเดชได้ประชุมกับนายทหารได้กล่าวหานายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เมื่อที่ประชุมส่วนมากไม่เห็นด้วยตามร่างเค้าโครงเศรษฐกิจนายปรีดีก็ไม่คิดจะดำเนินการต่อไป และนายปรีดีก็ได้ลาออกจากคณะราษฎร จากการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้นายปรีดีร่างเค้าโครงเศรษฐกิจและได้กล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์นั้นเป็นการกำจัดนายปรีดีออกไปจากเส้นทางการเมือง เพราะว่านายปรีดีและคณะผู้ก่อการรู้เท่าทันถึงการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ปฏิบัติเพราะตั้งแต่ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นประธานคณะกรรมการแล้วได้บริหารแผ่นดินและประพฤติตนไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ และพยายามให้นายปรีดีไปต่างประเทศเพื่อที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ให้หลวงพิบูรณ์สงครามย้ายไปอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยพลรบให้พวกที่ก่อการคัดค้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไปศึกษาต่อต่างประเทศ

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเค้าโครงร่างเศรษฐกิจของนายปรีดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้นเกิดจากผู้ที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองและเป็นแผนการที่ทำลายคณะราษฎรให้หมดสิ้นไป เพราะว่าในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีได้มีบางข้อบางเรื่องทีทำให้เกิดผลกระทบถึงผลประโยชน์ ผลได้ผลเสีย ของบุคลที่มีอำนาจบางกลุ่ม จึงพยายามคัดค้าน ต่อต้าน ไม่สามารถให้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจเกิดขึ้น ท่านปรีดีนั้นถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย โดยที่ท่านได้ให้ความสำคัญต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ ความสมบูรณ์ของราษฎรและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยสะท้อนผ่านความคิดของท่าน ซึ่งพื้นฐานความคิดที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพทั้งทางการเงินและการคลัง และเมื่อพิจารณาพื้นฐานความคิดของปรีดีแล้วนั้น ทำให้เราได้เห็นได้ว่าท่านปรีดีนั้นได้ให้ความสนใจ และเอาใจใส่กับเรื่องต่างๆมากมายที่จะทำให้ประเทศพัฒนาทัดเทียมกับอารยประเทศ แต่ที่เห็นได้ชัดคงมี 5 ประเด็นสำคัญ คือ

1. เอกราชและอธิปไตยของชาติที่จะไม่ยอมให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้อาณัติของต่างชาติ ซึ่งในความรักชาติของบุคคลต่างๆย่อมจะแตกต่างหรือลดหลั่นกันไปตามระดับของความเห็นแก่ตัวและความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของบุคคล ซึ่งบุคคลที่เป็นกลุ่มที่ผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมนั้น ย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของชาติในส่วนรวม แต่ท่านปรีดีกลับมองว่าผู้ใช้แรงงานและชาวนายากจนต่างหากที่มีความรักชาติมากกว่ากลุ่มบุคคลผู้ครองอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังตระหนักถึงเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติสัมพันธ์กัน และการจัดการเศรษฐกิจที่ดีซึ่งก็คือ การขจัดหรือการบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎรส่วนใหญ่ การพัฒนาสาธารณูปการ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังและการพึ่งพาตนเองโดยไม่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจแลมีอิทธิพลเหนือการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ย่อมจะส่งเสริมวามั่นคงในเอกราชและอธิปไตยของชาติ และการพึ่งพาต่างประเทศในขอบเขตอันสมควรซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่ใช่การพึ่งพาในลักษณะทุนนิยม

2. การฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท ซึ่งประชาชนที่อยู่ในชนบทที่มีอาชีพเป็นชาวนาที่ยากจนนั้นขาดอำนาจที่จะต่อรองเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับบรรดากลุ่มนายทุน รวมทั้งขาดเงินทุน ขาดเทคโนโลยี ดังนั้นจึงถูกนายทุนครอบงำในการผลิตต่างๆเกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของชาวนาไป จึงทำให้ชาวนาคงเป็นชาวนาที่ยากจนอยู่เหมือนเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ท่านปรีดีตระหนักในการที่จะฟื้นฟูความสมดุลทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท โดยที่ให้ราษฎรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เอนกประสงค์ โดยมุ่งสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจไม่ใช่แบ่งปันผลประโยชน์ หรือที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์สังคมนิยมนั่นเอง

3. ความเสมอภาคและเสรีภาพในการประกอบเศรษฐกิจของราษฎร โดยไม่ปล่อยให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน

4. การจัดสวัสดิการสังคมเป็นหลักประกันไม่ให้ราษฎรอดอยาก ว่างงาน ไม่มีรายได้ และขาดการดูแลสุขภาพอนามัย โดยท่านปรีดีได้เสนอหลักการและร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสวัสดิการสังคมอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นหลักการที่นานาอารยประเทศยอมรับและถือปฏิบัติสืบต่อกันมานาน

5. และในประเด็นสุดท้ายคือ ท่านปรีดีให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความเจริญก้าวหน้า จนกระทั่งสามารถสนองความ ต้องการของเศรษฐกิจและสังคมได้ในทุกเรื่อง เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ทำให้ผลิตภาพในการผลิตของแรงงานเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางด้านผลเสียท่านปรีดีก็ไม่ได้ละเลย โดยที่คิดว่าถึงแม้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อาจก่อให้เกิดการว่างงานได้เพราะช่วยประหยัดแรงงาน ท่านจึงแนะนำว่า แทนที่จะลดจำนวนคนงานลงอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้แรงงาน แต่กลับสมควรที่จะลดวันหรือลดชั่วโมงการทำงานลง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และมีพลังงานและเวลาสำหรับดูแลครอบครัวและรับใช้กิจการสาธารณะ

สำหรับในบทบาททางเศรษฐกิจและความคิดทางเศรษฐกิจในช่วงที่ท่านปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น โดยที่ท่านปรีดีใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ และสร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร และสร้างความเสมอภาครวมทั้งประชาธิปไตยแก่มวลชน โดยได้ทำการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากร สร้างเสถียรภาพทางการเงิน และจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านปรีดีได้ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆมากมายเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคระหว่างคู่สัญญา และต่อมาก็ได้ทำการปรับปรุงระบบภาษีอากร โดยปรับปรุงระบบการเก็บภาษีอากรขาเข้าได้ให้เป็นไปตามอัตราที่สอดคล้องกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

ส่วนการเก็บภาษีอากรขาออกเป็นการเก็บตามมูลค่าส่งออก ยกเลิกภาษีรัชชูปการ อากรค่านา อากรสวน ปรับปรุงภาษีเงินได้ ภาษีร้านค้า อากรแสตมป์ เป็นต้น โดยที่คำนึงถึงความเป็นธรรมและจัดหารายได้ในทางที่ผู้เสียภาษีจะเดือดร้อนน้อยที่สุด รวมทั้งคำนึงถึงความสะดวกและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ และยังมองเห็นประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีทางอ้อม คือภาษีการบริโภค นอกจากจะไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อนแล้วก็ยังนำรายได้เข้ารัฐจำนวนมาก

ส่วนในด้านการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ท่านปรีดีได้ตัดสินใจเปลี่ยนทุนสำรองเงินตราจากปอนด์สเตร์ลิงเป็นทองคำแท่ง การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่ง น่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสมและก็ได้ดำเนินการตามนั้นเป็นผลสำเร็จก่อนที่สงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติขึ้น

เมื่อการปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นอยู่ในระดับหนึ่งและระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วย ปรีดีจึงเห็นความสำคัญกับการที่ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งในความคิดนี้ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ตามท่านปรีดีก็ยังได้ตระหนักถึงความไม่พร้อมในด้านบุคคลากรและการตั้งธนาคารกลางยังเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วน แต่ก็ควรจัดตั้งขึ้นในลักษณะเป็นขั้นตอน ซึ่งเป็นการเตรียมบุคลากรไปพร้อมกันด้วย จึงนำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ. จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้น จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นหลักแนวคิด หลักปฏิบัติที่ดีของท่านปรีดีในด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวไปสู่ความทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยการวางพื้นฐานดังกล่าวนี้เป็นการกระทำที่ไม่ได้มองข้ามความเป็นจริงของสังคม แต่กลับให้ความสำคัญมากกว่าเดิม

โดยจะเห็นได้จากการเน้นไปเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท ให้ความเสมอภาค เสรีภาพ และสวัสดิการต่างๆแก่ชาวชนบทผู้ที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด โดยนำหลักเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลดีแก่ประเทศ ดังนั้นจึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและพร้อมที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างแท้จริง

1 ความคิดเห็น:

  1. คนในชนบท ถูกทอดทิ้ง เหมือนคนชายขอบ ห่างไกลการศึกษา ความเจริญ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งมากว่า ๑๐๐ ปี ไม่มีคำตอบว่า ทำไมคนไทยยังด้อยความรู้ ไม่รักการอ่าน ทำให้ถูกข้าราชการ นักการเมือง นักประชาธิปไตยหัวใจอำมาตย์ ครอบงำ ซ้ำซาก ว่าเป็นพวกไม่มีคุณภาพ ไม่รู้เรื่อง บ้านเมือง ไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย รอรับแต่ส่วนบุญ ถ้าคนมีคุณภาพที่ว่ามีจริง ทำไมปล่อยให้ชาติ บ้านเมืองเป็นอย่างนี้มานมนาน เกือบ ๘๐ ปีแล้วที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา คนมีคุณภาพเหล่านั้น ท่านทำอะไรมา ปัจจุบันท่านทำอะไรอยู่

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา