เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ซากอดีตป้อมปราการภูมิปัญญาฝ่ายประชาธิปไตย

ธรรมศาสตร์และการเมือง
ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความ ตีพิมพ์ใน "ประชาชาติธุรกิจ"
ในคอลัมน์มองซ้ายมองขวา

ดร.อภิชาติ ได้อ้างถึง บทความ "ทำไมบทบาทของปัญญาชนสาธารณะจึงเสื่อมถอยลง ?" ของอาจารย์ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยไม่เล่นบทบาทปัญญาชนสาธาณะคือ

" ในอุษาคเนย์นั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยมีรายได้ต่ำ จึงต้องหาทางออกด้วยการรับงานโครงการวิจัยของรัฐที่ไร้ประโยชน์ หาลำไพ่พิเศษด้วยการสอนที่มหาวิทยาลัยอื่น เก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และอาศัยช่องทางต่าง ๆ ในสื่อมวลชน เช่น เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ ทำรายการทีวี ฯลฯ อาจารย์เหล่านี้จึงมักละเลยหรือไม่สนใจนักศึกษา หรือไม่ก็ปฏิบัติต่อนักศึกษาแบบราชการ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่ยอมสอนหนังสือเลย แต่เลือกไปกินตำแหน่งในสถาบันวิจัยที่แทบไม่มีผลงานใด ๆ"

ผมขอขยายความว่า การหาลำไพ่พิเศษด้วยการรับจ้างสอนนั้น กระทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพิเศษภาคค่ำในทุกระดับ ตั้งแต่ปริญญาตรี โท เอก ซึ่งเก็บค่าหน่วยกิตแพง ๆ มาจ่ายค่าสอนอัตรา "ตลาด" จนกระทั่งเกิดคำขวัญว่า "จ่ายครบจบแน่" หรือ "Mac University" (มหา'ลัยแดกด่วน) หรือ "การทำไร่เลื่อนลอย"

หมายถึงมหาวิทยาลัยพากันไปเช่าตึก เปิดศูนย์ เปิดสาขาสอนในที่ที่มี "ตลาด" เช่น ย่านกลางเมือง หรือหัวเมืองต่าง ๆ จนกระทั่ง "ตลาดหมด" ก็ปิดตัวไปเปิดที่อื่น ๆ ต่อไป จึงไม่แปลกเลยที่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเคยพบว่า งานเขียนของนักศึกษาปริญญาเอกบางคนมีคุณภาพต่ำกว่างานของนักศึกษาปริญญาตรีภาคปกติที่ผมสอนเสียอีก

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมือง

ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อภิปราย ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

ชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ดร. ผาสุก เปิดประเด็นว่า การเปลี่ยนแปลงในชนบท โดยรวมเกิดขึ้นมานานแล้ว อย่างน้อย 15-20 ปี เพียงแต่ผลการวิเคราะห์ต่างๆ อาจจะตามไม่ทัน

เพราะหากดูสังคมโดยรวม เราจะพบว่า ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายได้ต่อหัวของคนไทยโดยรวม ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก จากปี 2523-2538 แค่ 10 กว่าปี รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าโดยเฉลี่ยในราคาจริง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ที่สำคัญไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะในสังคมเมือง แต่ยังเปลี่ยนในสังคมชนบทด้วย

การเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยว่า ในช่วงรุ่นคนที่ผ่านมา ลูกๆ จะมีฐานะดีกว่ารุ่นพ่อ เขามีทรัพย์สินมากขึ้น มีความมุ่งหวังมากขึ้น และมีสิ่งต่างๆ ที่เขาจะต้องรักษาปกป้องมากขึ้น และต้องแข่งขันกับกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีความต้องการต่างๆ ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสาธารณะ เช่น โรงเรียนที่มีคุณภาพดีขึ้น ระบบตุลาการ ระบบศาลที่เขาสามารถเข้าถึงได้ และได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ชาวบ้านต้องการประปาเข้าไปในบ้าน ต้องการมีอินเทอร์เน็ตในหมูบ้าน ต้องการมีการรักษาสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นดีมานด์สำหรับผู้บริหาร สำหรับรัฐบาลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

นอกเหนือจากการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็คือ เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้คนทั่วประเทศมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างน้อย ในระดับท้องถิ่น 5 ครั้งต่อปี หรือทุกๆ 4 ปี ในระดับชาติ กระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติของผู้คนทั่วประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเขาได้เรียนรู้ในกระบวรการนี้ว่า การเลือกตั้งทั้งหลาย เป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งงบประมาณต่างๆ และเข้าไปมีบทบาทกับกระบวนการ ตัดสินใจนโยบายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กระดูกสันหลังของไทย

ยายสา

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าวส่งออกมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวปีละประมาณ 56-58 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 28-30 ล้านตันข้าวเปลือก อีกทั้งข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท แต่กลับพบว่า อาชีพทำนาเป็นกลุ่มอาชีพที่มีฐานะยากจนมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ซึ่งจากการสำรวจของ สศก.ในปีการผลิต 2547/2548 พบว่า รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 594 บาท/คน/เดือน ซึ่งยังต่ำกว่าเส้นความยากจนในปี 2548 ซึ่งมีค่า 1,230 บาทต่อเดือนต่อคน
ชาวนาไทยต้องแบกภาระความเสี่ยงกันเอาเอง โดยที่รัฐบาลไม่เคยได้เหลียวแลอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะของดินฟ้าอากาศ เวลาที่น้ำท่วม ข้าวก็เสียหาย เวลาที่ฝนแล้งขาดน้ำ ข้าวในนาก็แห้งตาย แต่ก็นับว่าแปลกที่ พื้นที่สนามก๊อล์ฟไม่เคยต้องประสบวิกฤติการณ์เหล่านี้ ความที่ชาวนายากทำให้ไม่มีเงินเสียภาษี แต่ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ยิ่งในภาวะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแกล้งตัดราคาข้าว ในช่วงที่ชาวนาควรจะขายข้าวได้ในราคาดี และมีการเก็บค่าภาษีหยุมหยิม ในขณะที่สมัยก่อนชาวนาไม่ต้องจ่าย

องค์กรตุลาการในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย

ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


รัฐใดที่ประกาศตนเป็นนิติรัฐ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะยอมรับบทบาทขององค์กรตุลาการ ในฐานะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ให้เป็นไปตามอำเภอใจ การควบคุมฝ่ายบริหาร ก็ได้แก่ การควบคุมการความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง ในขณะที่การควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา

องค์กรตุลาการในนิติรัฐสมัยใหม่ จึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่บทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ และการปกปักษ์รักษาประชาธิปไตยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทอันกว้างขวางขององค์กรตุลาการเช่นนี้ นำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองกับคำว่าประชาธิปไตย กล่าวคือ ด้านหนึ่ง นิติรัฐ-ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ก็เรียกร้องให้องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และควบคุมไม่ให้เกิดการปกครองที่เสียงข้างมากใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เมื่อองค์กรตุลาการเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจรัฐเข้า ก็เกิดการเผชิญหน้ากันกับองค์กรที่มีฐานความชอบธรรมทางการเมืองอย่างรัฐสภาและรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่องค์กรตุลาการปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองเช่นว่า ความขัดแย้งดังกล่าว จะมีวิธีการประสานกันอย่างไร?
แน่นอนที่สุด หากเราตัดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตุลาการออกไป นิติรัฐนั้นก็กลายเป็นนิติรัฐที่ไม่สมประกอบ เพราะปราศจากซึ่งองค์กรที่เป็นกลางและอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่นกัน หากแก้ไขให้องค์กรตุลาการมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็คงไม่เหมาะสมเป็นแน่ เพราะจะทำให้องค์กรตุลาการสูญสิ้นความอิสระไปเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการต้องคำนึงถึงคะแนนนิยมตลอดเวลา วิธีเหล่านี้จึงเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

วิธีที่จะพอแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ คือ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรตุลาการและการดำรงตนขององค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย
ในรายละเอียด ผู้เขียนขอแบ่งเป็น ๖ ประการ ดังนี้

การก่อการร้าย 2553 : ความเชื่อหรือความจริง?

รศ.ดร. วรพล พรหมิกบุตร




หลังจากการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามปิดล้อมปราบปรามการชุมนุมของประชาชนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และหน่วยงานราชการประจำของรัฐ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ) แถลงข่าวการจับกุมและประเด็นเกี่ยวกับ “การก่อการร้าย” ด้วยนัยความพยายามเชื่อมโยงให้เป็นความผิดของกลุ่มบุคคลผู้เป็นแกนนำการชุมนุม เช่น การแถลงข่าวภายหลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เพียงเล็กน้อยว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบอาวุธสงครามจำนวนมากในที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ (แต่ไม่สามารถระบุชี้ชัดว่าพบจากที่ซ่อนจุดใดบ้างก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำมากองรวมไว้ให้สื่อมวลชนถ่ยภาพไปเผยแพร่) หรือการแถลงข่าวการจับกุมนายหรั่ง (นามสมมุติ) ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งทางราชการอ้างว่าเป็นบุคคลส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อการร้ายเกี่ยวข้องกับ นปช.

จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 (ขณะเรียบเรียงต้นฉบับข้อเขียนนี้) ประเด็นข่าวสารข้อมูลเรื่อง “การก่อการร้ายของ นปช.” ได้ถูกยกระดับกลายเป็น “ประเด็นข่าวสารสำคัญแห่งชาติ” ด้วยกระบวนการแถลงข่าวของรัฐบาลและการเผยแพร่ข่าวของระบบสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ทั้งสาขาหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ของไทย จนอาจกล่าวได้ว่าประเด็นข่าวสารดังกล่าวสามารถกลบทับประเด็นข่าวสารข้อมูลเรื่อง “การก่อการร้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จากเหตุการณ์พันธมิตรฯกลุ่มดังกล่าวบุกยึดทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการล่ามโซ่ตรวนผู้ถูกกล่าวหาคดีบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ นำตัวออกจากเรือนจำไปปรากฏต่อสาธารณชนเพื่อให้สื่อมวลชนทำข่าวเผยแพร่ภาพไปทั่วประเทศเหมือนกรณีที่คุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่ม นปช. ถูกกระทำหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิบัติการใช้กำลังทหาร หลักการดีแต่ปฏิบัติล้มเหลว

ปฏิบัติล้มเหลว

เปิดบทวิเคราะห์ปฏิบัติการใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมเสื้อแดง อ้างอิงตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ


คุณขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชน ผลสรุปปฏิบัติการใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมเสื้อแดง อ้างอิงตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คือ หลักการดีแต่ปฏิบัติล้มเหลว เมื่อวิเคราะห์จากกราฟแสดงสาเหตุการเสียชีวิตของเหยื่อความรุนแรงจะพบว่า มีการยิงโดยไม่เลือกเป้าหมาย ใช้สัดส่วนกำลังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ขาดการควบคุมอย่างระมัดระวัง และขาดความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการที่ละเมิด

นักสิทธิมนุษชน ขอให้ผู้เสียหายทั้ง ญาติผู้สูญหาย บาดเจ็บ และเสียชีวิต รวมตัวกันเพื่อร้องเรียนผ่านกลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ของสหประชาตชาติด้านสิทธิมนุษยชน

Content by Voice TV

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดเปลี่ยนที่ (ยัง) ไม่มี “ประชาชน”

นักปรัชญาชายขอบ

ความหมายของ “ประชาชน” แยกไม่ออกจากความหมายของ “ประชาธิปไตย” เพราะประชาธิปไตย หรือภาษาอังกฤษ democracy มาจากภาษากรีกโบราณ demos หมายถึง people หรือ ประชาชน กับ kretia ที่หมายถึงการปกครอง (to rule) ประชาธิปไตยจึงหมายถึง “การปกครองโดยประชาชน” หรือ “ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง”

ปัญหาคือ ประชาชนคือใคร? demos ในภาษกรีกหมายถึง “เสรีชน” ที่ไม่ใช่ทาส และไม่ใช่สตรี แสดงว่า ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ในกรุงเอเธนส์เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว ประชาชนหรือเสรีชนที่เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง คือ “สุภาพบุรุษ” เท่านั้น


ในประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่ (ส่วนใหญ่) เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ประชาชน หมายถึง คนทุกคน (ไม่ว่าเพศใดๆ ก็ตาม) ที่เป็นเสรีชน และมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน เพราะเรายอมรับสมมติฐานที่ว่า โดยสภาวะธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมามีเสรีและเท่าเทียมกัน

ฉะนั้น ประชาชนจริงๆ คือ ผู้มีเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ และหรือมีจิตวิญญาณรักเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง มีจิตสำนึกและมีความกระตือรือร้นที่จะปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาคดังกล่าว รัฐประชาธิปไตยจึงต้องวางระบบรองรับการอยู่ร่วมกันของประชาชนเช่นนั้นบนหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1.หลักเสรีภาพ (freedom) ประชาชนต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเท่าเทียม
กัน เช่น เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา การก่อตั้งสมาคม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกดำเนินชีวิตตามความพึงพอใจ ฯลฯ

2.หลักความเสมอภาค (equality) ประชาชนต้องมีความเท่าเทียมภายใต้ขอบเขต
หรือกติกาเดียวกัน มีความเท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ

3.หลักนิติรัฐ หรือหลักความถูกต้องตามกฎหมาย (rule of law or legality or
due process of law) กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอิสระ เที่ยงธรรม และเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติในทางกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จากสยามเป็นไทย : ประชาธิปไตยไปถึงไหนแล้ว

เสวนา “70 ปีประเทศไทย: ประชาชน ประชาชาติ กับประชาธิปไตย”
อ.ไชยยันต์  รัชชกูล
"ไชยันต์" ตั้งคำถามจะรักกันอย่างไร เพราะข่าวเขาใหญ่กลบกรณี 90 ศพ
ประเด็นแรก คือการมองย้อนเข้าไปในอดีต หรือเรามองปัจจุบันจากความเข้าใจอดีต และประเด็นที่สอง มีข้อคิดอะไรบ้างกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ประเด็นแรก วันที่ 19 พฤษภาคม เขาเรียกว่า กระชับวงล้อม ก็ตายไปไม่รู้กี่คน ซึ่งผมเชื่อว่า เรารู้สึกหดหู่ว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่ว่าการประเมินเช่นนี้เป็นการประเมินช่วงสั้น ทำนองเดียวกับการประเมินเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 คือ เมื่อสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจก็ประเมินว่าเป็นการปิดฉากคณะราษฎร จนกระทั่งในสมัย 2516 ก็มีการกลับมาประเมินเรื่อง 2475 และล่าสุดในการเมืองสมัยปัจจุบัน บนเวทีการชุมนุมก็มีการปราศรัยเรื่องคณะราษฎร มีการกล่าวถึงปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแสดงว่า เราก็ได้ประเมิน 2475 ไปตามเวลาเช่นเดียวกับเหตุการณ์วันนี้


ไชยันต์กล่าวต่อไปว่า มรดกความคิดของการเปลี่ยนแปลง หรือ พลวัต อาจจะแสดงในอนาคต เหมือนเราประเมิน 2475 ได้ดีกว่าคณะราษฎร และสมมติว่า วิญญาณปรีดี ส่องกล้องมาจากสวรรค์ ซึ่งอาจารย์ปรีดี มองว่าตอนนั้นฉันทำอย่างนี้ไม่ได้ และคนก็น้อยมากสำหรับคณะราษฎร สื่อก็จำกัด ซึ่งผิดกับยุคปัจจุบันที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีสื่อมากขึ้น อาจถือว่าการขยายเรื่องประชาธิปไตย ของประชาชนก็ขยายกลุ่มคนไปแล้วขบวนการประชาธิปไตยก็สืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย

จะเดินต่อไปอย่างไร ?
บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 3)












เป็นคำถามจากผู้ต้องการประชาธิปไตยอันแท้จริง เจาะจงถามมาที่ผม สืบเนื่องจาก การได้อ่านบันทึกสองฉบับ ผมขอตอบในฐานะของคนธรรมดาที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง ไม่ใช่ แกนนำ นปช. ดังนี้

หนึ่ง / ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรประชาธิปไตยเสื้อแดง (นปช.และหรือ ฯลฯ) กับพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และหรือ ฯลฯ) ให้ดี กล่าวคือ องค์กรประชาธิปไตยต้องสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่ามีข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อถูกต้อง และผิดพลาดอย่างไร (อย่างเป็นระบบ) กล้าที่จะวิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง โดยเฉพาะประเด็น “การนำ” นำไปบนพื้นฐานแห่งหลักการและเหตุผลที่สอดคล้องกับภววิสัยที่เป็นจริง หรือนำไปโดยอัตวิสัยแห่งอารมณ์ความรู้สึก หรือจากแหล่งข้อมูลที่ผิดพลาด


จักต้องยึดกุม “การนำรวมหมู่” ให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้ “การนำโดยบุคคล” อยู่ในฐานะที่ครอบงำ ปัญหายุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เมื่อตั้งไว้แล้วต้องยึดกุมให้ได้ ไม่ใช่วางขั้นตอนไว้ระดับหนึ่ง แล้วไปเปลี่ยนแปลงภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือว่า “อำพราง” กันภายใน ปิดบังกันเอง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความแปลกแยกทางการนำในท้ายที่สุด

ในส่วนของพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และอาจมีพรรคอื่นๆฯลฯ) ต้องจัดความสัมพันธ์ในการเป็น ”แนวร่วม” ต่อสู้ให้เหมาะสม พรรคก็คือพรรค ต้องดำเนินสถานะและบทบาทที่แตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหว เพราะพื้นที่ในการทำงานของพรรคมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพรรคต่อสู้ในระบอบรัฐสภา จะเคลื่อนไหวนอกกรอบแบบองค์กรอิสระคงไม่เหมาะสม จึงควรมีการจัดการทั้งงานเปิดและงานปิดให้ดี อันที่จริง แนวยุทธศาสตร์ “สองขา” ของ นปช. ในทางทฤษฎีที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียน นปช.นั้นถูกต้องแล้ว หากแต่มิได้นำมาปฏิบัติในท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริงอย่างเอาจริงเอาจัง กล่าวคือ เกิดอาการ “สัมพันธ์ขวาง” “สัมพันธ์ซ้อน” “สัมพันธ์แทรกแซง” “เปลี่ยนแปลงการนำ” “ไม่ทำตามมติ” ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย ปัญหานี้ต้องสรุปทบทวน

ฟื้นฟูกรุงเทพ...แล้วจิตใจคนเสื้อแดงใครจะฟื้นฟู

เหตุการณ์ความรุนแรงระดับ “เผาบ้านเผาเมือง” ที่เกิดขึ้นภายหลังการยุติการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) อันเป็นผลจากปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” ของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนกรุงเทพฯและคนไทยทุกคนอย่างมาก


และก็ดีใจที่เห็นความร่วมมือของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯที่ออกไปช่วยทำความสะอาดใจกลางเมืองแถบสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง ต่อจากนี้คงต้องเป็นเรื่องของกระบวนการเยียวยา และการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยที่โอกาสและทางเลือกจะน้อยกว่ารายใหญ่ รัฐบาลต้องเร่งรีบจัดมาตรการที่ทำให้เขาเหล่านั้นมีที่ทำมาหากิน กลับมายืนบนขาตัวเองได้ ระหว่างที่รอการซ่อมแซมอาคารห้างร้านที่ถูกเผาทำลายไป

เชื่อว่าในเวลาอันสั้น ตึกรามอาคารห้างสรรพสินค้าจะฟื้นกลับมาดังเดิม แถมใหม่และสวยงามกว่าเก่า รวมถึงจิตใจของ “คนกรุงเทพฯ” ที่อกสั่นขวัญหาย เมื่อการค้าขายเริ่มต้น โรงเรียนเริ่มเปิด ชีวิตปกติของคนกรุงดำเนินต่อได้ “ขวัญ” นั้นก็จะกลับมาด้วย พร้อมกับความลืมเลือนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ที่น่าห่วงมากกว่า คือ ตึกอาคารที่พังพินาศ สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ชีวิตของคนที่สูญเสียไป ไม่สามารถเรียกคืนมาได้!!

ในช่วง 2 เดือนแห่งการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” มีเหตุการณ์รุนแรงในวันที่ 10 เมษายน และระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม ที่ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตถึง 85 คน และผู้บาดเจ็บอีกนับร้อย ซึ่งปัจจุบันท่าทีของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคง “เหมารวม” ว่าทั้งหมดนั้นเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่ “ต่อสู้” กับเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ผิดไหม ถ้าผมจะไม่รัก “สยาม”

โดย“ทางเท้า”

    ก่อนอื่นผมขอออกตัวก่อนเลยนะครับ ว่าบันทึกนี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะกระทบ เสียดสี หรือมีเจตนาใน แง่ร้ายหรือแง่ลบต่อกิจกรรม "ฟื้นฟูกรุงเทพ" ที่หลายคนได้ร่วมจิตอาสากันไปเก็บกวาดทำความสะอาด "พื้นที่ของพวกเค้า" ด้วยความรักและผูกพัน

ผมเป็นเด็กบ้านนอกครับ แต่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในกรุงเทพได้สิบกว่าปีแล้ว แต่ถ้าถามว่าผมรักกรุงเทพหรือเปล่า ผมก็คงตอบได้ไม่เต็มปากนัก

ผมเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ เพราะที่ต่างจังหวัดบ้านผมไม่มีมหาวิทยาลัยดีดีให้ผมเรียน ตอนนี้ผมทำงานอยู่ที่กรุงเทพ เพราะที่ต่างจังหวัดบ้านผมไม่ได้มีงานมากพอที่จะให้ผม "เลือก" ทำ นั่นคือเหตุผล ที่วันนี้ผมยังคงยืนอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทยที่ชื่อกรุงเทพมหานคร


ในหลายวันที่ผ่านมา กรุงเทพต้องเผชิญกับความเลวร้าย การวางระเบิด การเผาทำลายสถานที่ต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมของ นปช. ที่ราชประสงค์

ภายหลังเหตุการณ์เลวร้ายและควันไฟเริ่มจางลง..
หลายๆ คนบอกว่าเจ็บปวดเหลือเกินที่เห็นโรงหนังสยาม ลิโด้ ถูกเผาทำลาย เพราะมีความผูกพันกันอย่างยิ่งยวดในฐานะที่เป็นโรงหนังเก่าแก่ที่ฉายหนังนอกกระแสแห่งหนึ่งของกรุงเทพ (หรืออาจจะของประเทศไทย)

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์

ดร. เกษียร เตชะพีระ 
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์














๑. การเมืองภาคประชาชน ในงานวิจัยของเสกสรรค์  

     ผมสบโอกาสได้รับเชิญให้ช่วยอ่านและวิจารณ์ร่างรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย" ของอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 55 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา อ่านแล้วก็ตื่นเต้นและประทับใจ อยากเอามาเล่าต่อสู่ท่านผู้อ่าน

     งานวิจัยชิ้นนี้ ได้การสนับสนุนจากทุนปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2545 อาจารย์เสกสรรค์อ่าน ค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลไป ตามสัมภาษณ์ปัญญาชนสาธารณะผู้นำกลุ่มประชาชนและผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน 37 คน จากเหนือจรดใต้ ไปพร้อมกับสอนหนังสือและตรวจข้อสอบของนักศึกษาเป็นร้อยๆ ที่คณะรัฐศาสตร์รวม 7 วิชาไปด้วย กินเวลาปีกว่าจึงเขียนเสร็จ


     แต่หากนับช่วงเวลาที่อาจารย์เสกสรรค์เฝ้าครุ่นคิดใคร่ครวญถึงปัญหามูลฐานต่างๆ เกี่ยวกับรัฐ สังคมและการเมืองไทย จนก่อรูปเป็นแนวความเข้าใจและองค์ความรู้ในงานชิ้นนี้ก็คงจะกว่า 15 ปีตั้งแต่ค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง "TheTransformation of the Thai State and Economic Change(1855-1945) ("การเปลี่ยนรูปของรัฐไทยกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2398-2488) เสร็จ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อปี พ.ศ. 2532 และผลิตงานทางปัญญาและวิชาการแนวเดียวกันแบบเกาะติดสืบเนื่องมา

     ในฐานะข้อเขียนชิ้นหนึ่ง งานเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" จัดเป็นความเรียงขนาดยาว(เนื้อหา 4 บท 158 หน้า) ที่นำเสนอข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างแน่นเนื่อง, ผ่านการบ่มเพาะความคิดมานานจนสุกงอม และเพียบพร้อมด้วยข้อคิดความเข้าใจอันหยั่งลึก

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สื่อกระแสหลักกับการปฏิรูประเทศ

 VOICE FORUM - I

     กิจกรรม เวทีระดมความคิด ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “สื่อกระแสหลักกับการปฏิรูปประเทศ” ได้รับเกียรติจากมืออาชีพระดับแถวหน้า ในแวดวงสื่อสารมวลชน 4 ท่าน ได้แก่ คุณอัชฌา สุวรรณปากแพรก ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการ ด้านงานรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 , คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย , คุณวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา หัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และคุณประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น


นาทีที่ 38.40 เริ่มคำถามแรก โดยคุณพรเทพ  ทองหล่อ สมาชิกสภาฯ


นาทีที่ 34.45 คำถามคุณจิรฐา  มากคณาธนิศร สมาชิสภาฯ

     เวทีระดมความคิดในครั้งนี้ ทั้ง 4 ท่าน ได้แสดงทัศนะถึงบทบาทสื่อมวลชนท่ามกลางวิกฤติแห่งความขัดแย้ง และเสนอแนะถึงหลักการ วิธีปฏิบัติในการปฏิรูปสื่อกระแสหลักให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรับฟังการเสวนา ได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำหน้าของสื่อมวลชนในปัจจุบัน

Content buy Voice TV

" ค่านิยมแห่งชาติ "...หลังไฟมอด

     ความแตกแยกทางความคิดโดยเฉพาะความคิดทางการเมือง ยิ่งต้องคิดถึงการสร้างค่านิยมแห่งชาติ (National Values) หรือค่านิยมประเทศไทย


     จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และในอีกหลายครั้งตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งและความแตกแยกของคนในชาติ ความหวังของสังคมไทยที่จะก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้ จึงอยู่ที่การหันหน้ามาทำความเข้าใจและร่วมกันทั้งคนในเมืองและชนบท

     การสร้างค่านิยมแห่งชาติ (National Values) หรือค่านิยมประเทศไทย (Thailand Core Values) ควรปลูกฝังค่านิยมในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมีความสมานฉันท์ และหาความต้องการร่วมกัน สงวนจุดที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ด้วยการรณรงค์เพียงอย่างเดียว จะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆด้วย เช่น การสร้างสภาวะแวดล้อมให้มีความสอดคล้องรองรับ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆให้กับประชาชนในทุกระดับ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้ค่านิยมแห่งชาติที่ต้องการเกิดขึ้นได้นั้นสิ่งที่สำคัญคือ ความชัดเจนของรัฐบาลที่จะกำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานที่จะไปสู่ความเท่าเทียมและความสมานฉันท์

Content by VoiceTV

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความเหลื่อมล้ำในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง










อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2553

เราทุกคนรับรู้อยู่ว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำกันมานานมากแล้ว คงต้องกล่าวด้วยว่าในอดีตมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาถึงการกระจุกตัวของราย ได้ที่แตกต่างกัน ระหว่างคนยี่สิบเปอร์เซ็นต์ส่วนบนกับยี่สิบเปอร์เซ็นต์ส่วนล่าง และโดยมากแล้วสังคมไทยก็จะ "ฮือฮา" กันช่วงแรกๆ ที่มีงานวิจัยในแต่ละปีแสดงผลความเหลื่อมล้ำนี้ หลังจากนั้นไม่นานก็ลืมกันไป

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าเมื่อก่อนนี้คนไทยที่อยู่ข้างล่างยอมอยู่ และยอมรับสภาพความเหลื่อมล้ำได้ จึงทำให้ไม่เกิดปัญหาของความคับข้องใจแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความไม่เสมอภาคทางชาติพันธุ์

ส่วนคนที่แสดงความใส่ใจเรื่องนี้ ก็มักจะให้ความสนใจเฉพาะหน้า เหมือนกับพวกนายทุนและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ (เช่น บริษัทที่แจกผ้าห่มสีเขียว เป็นต้น) นำผ้าห่มไปแจกชาวบ้านหน้าหนาวโดยที่ไม่เคยสำนึกและแสดงอะไรให้รับรู้ว่าควร จะทำให้ชาวบ้านมีเงินซื้อผ้าห่มที่ดีกว่า (ที่แจกให้) ด้วยตนเอง เพราะความเหลื่อมล้ำกลับเป็นช่องทางที่ทำให้พวกเขาได้แสดงให้สังคมเห็นว่า พวกเขาห่วงใยคนยากจนในสังคม โดยเฉพาะแสดงให้ชนชั้นกลางในสังคมไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจซื้อสูงสุดยอมรับในภาพพจน์ความมีน้ำใจต่อผู้เดือดร้อน


ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจจึงไม่ใช่เรื่องของเฉพาะความเหลื่อมล้ำ หากแต่ต้องพิจารณาให้เข้าใจถึงปฏิบัติการของคนในสังคมกับความเหลื่อมล้ำที่ ผ่านมา และความเปลี่ยนแปลงหมายของความรู้สึกเหลื่อมล้ำ

ชนชั้นกลางในสังคมไทยซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงที่สุดในปัจจุบันไม่ ใช่คนใจไม้ไส้ระกำอะไร รายการโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยชอบเสาะหาผู้ตกทุกข์ได้ยากมาแสดงชีวิตที่ลำเค็ญ เพราะรู้ว่าจะมีความช่วยเหลือมากมายไหลมาจากคนชั้นกลางสู่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งก็จะทำให้การหาโฆษณาง่ายมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางในสังคมไทย (หรือของคนในสังคมไทยเลยก็ว่าได้) เป็นกลุ่มคนที่มีความ "เมตตากรุณา" ฝังอยู่ แต่ความ "เมตตากรุณา" ของสังคมไทยเป็นความรู้สึกที่มีเงื่อนไขกำกับอยู่ ก็คือ เป็นความ "เมตตากรุณา" ต่อผู้ที่อยู่เบื้องล่างและต้องเป็นผู้ที่ไม่เผยตนขึ้นมาเท่าเทียมเป็นอันขาด หากเผยอขึ้นมาเท่าเทียม ก็ไม่สามารถแสดงความเมตตาได้ ปฏิบัติการต่อความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาของสังคมไทย จึงเป็นการแสดงความ "เมตตากรุณา" ต่อผู้ที่ต้องยอมสยบอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำนั้น และเมื่อได้รับ "ความเมตตากรุณา" ไปแล้ว ก็ต้องสำนึกในบุญคุณให้มากด้วย

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อะไรคือก่อการร้าย : Terrorism

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

การก่อการร้ายเป็นอาชญากรรมที่มีมานานแล้ว เพียงแต่มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการให้มีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมที่ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเพียงกลุ่มเดียว แต่อาจเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เพราะการก่อการร้ายไม่จำกัดอยู่เพียงอาณาเขตของรัฐใดรัฐหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าการก่อการร้ายเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดรูปแบบและผลที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการกระทำความผิดทั่วๆ ไปที่เมื่อกล่าวถึงแล้วคนอาจเข้าใจในความหมายของการกระทำได้โดยทันที เช่นการลักทรัพย์ หรือการทำร้ายร่างกาย เป็นต้น


ผู้ก่อการร้ายอาจใช้วิธีการที่แตกต่างกันไปในการก่ออาชญากรรม เช่น การวางระเบิด การใช้อาวุธเคมี การลอบสังหารบุคคลสำคัญ หรือการจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนอาคารดังเหตุการณ์ 9-11 ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่การกระทำของผู้ก่อการร้ายก่อให้เกิดผลเหมือนกันคือ มีการทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต และก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้น

ทางออกวิกฤตคนไทยฆ่ากันเอง

ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ : ชี้ทางออกวิกฤตคนไทยฆ่ากันเอง
ออกเสียงประชามติ ปฎิรูปการเมือง ก่อนยุบสภา
30 เมษายน 2553 : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์***
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ก่อตั้งศาลปกครอง

ในปัจจุบันนี้ คนไทยเรามีความแตกแยกทั้งในด้านความคิดเห็นและในการกระทำ และเรามีพลังมวลชนกลุ่มหนึ่ง(เสื้อแดง)ออกมาชุมนุมกันอยู่ในที่สาธารณะหลายแห่ง และพยายามเรียกร้องให้มี " การยุบสภา" และก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า การชุมนุมนี้จะยุติลงเมื่อใด และอย่างไร รัฐบาลได้พยายามสลายมวลชนและขอพื้นที่คืน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา และแม้ในระยะเวลาต่อมา รัฐบาลได้พยายามที่จะจับตัวแกนนำของพลังมวลชนกลุ่มนี้ ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ที่จะไปจับกุมแกนนำ กลับกลายเป็นฝ่ายที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันเสียเอง ดังเป็นที่ทราบอันอยู่แล้ว. วันนี้ ไม่ว่า กลุ่มพลังมวลชนเหล่านี้จะมาจากที่ใด จังหวัดใด และมาด้วยสินจ้างหรือไม่ แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มพลังมวลชนนี้นั้น มีความแน่นอนคือ เขาต้องการให้มี "การยุบสภา" และให้ยุบเร็วที่สุด



"การเจรจาต่อรองกัน" และถอยกันคนละก้าว ไม่ใช่ทางออก
สิ่งที่ผมประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ แม้แต่ในขณะนี้และวันนี้ หลังจากเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทย เมื่อเย็นวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา แต่ทำไม "วงการวิชาการ" ของเรา จึงยังคงเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วย "การเจรจาต่อรองกัน" และถอยกันคนละก้าว ระหว่างบรรดานักการเมือง นายทุนเจ้าของพรรคการเมืองด้วยกัน ว่า จะ "ยุบสภา" กันเมื่อไร จะยุบสภาในทันที หรือใน 3 เดือน 6 เดือน ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่นักการเมืองเหล่านี้ ก็คือ ผู้ที่แสวงหาประโยชน์และความร่ำรวยจาก "ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)" ด้วยกัน และ ต่างก็แย่งกันและสลับขั้วเข้ามาเพื่อผูกขาดอำนาจรัฐ ทำไมวงการวิชาการและชนชั้นปัญญาของเรา จำนวนมาก จึงไม่คิดเลยไปให้ไกลสักหน่อยว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ในขณะที่มีการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิบัติการ "ล่าแม่มด"

กับการตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคม
พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่ามกลางวาทกรรม "รู้รักสามัคคี" "รักกันไว้เถิด" "อย่าโกรธเกลียดทำร้ายกัน" สิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปก็คือ กระบวนการทำลายความชอบธรรมขบวนการคนเสื้อแดงอย่างเข้มข้นรุนแรงทั้ง โดยรัฐบาล สื่อมวลชนส่วนใหญ่ มวลชนสารพัดสี และเครือข่ายทางสังคมในโลกไซเบอร์


ขบวนการที่ชอบเรียกร้องให้สังคมไทยต้องรู้รักสามัคคีเหล่านี้ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ภาพพจน์ของคนเสื้อแดงมีความหมายเท่ากับ ความรุนแรง ความถ่อย โจรสถุล ผู้หลงผิด ขบวนการล้มเจ้า และผู้ก่อการร้าย ฯลฯ

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้สังคมไทย ที่เราเห็นผ่านจอทีวี วิทยุ และหน้าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ จึงไม่ได้รู้สึกโศกสลดต่อการตายของคนเสื้อแดงแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น 21 ศพเมื่อวันที่ 10 เมษายน หรือกว่า 80 ศพที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ

สำหรับบางคนการสูญเสียโรงหนังสยามอันเก่าแก่ดูน่าโศกสลดเสียยิ่งกว่าการตายของคนเสื้อแดงที่ "เกิดร่วมแดนไทย" กับพวกเขา

ความสำเร็จในการทำลายความชอบธรรมคนเสื้อแดง ทำให้คนในเมืองไม่เคยได้ยินเสียงกู่ร้องทวง "สิทธิและความยุติธรรมทางการเมือง" ของคนเสื้อแดง ไม่เห็นว่าภาวะสองมาตรฐานที่พวกเขาพากันสนับสนุนการรัฐประหารและวิธีการของกลุ่มพันธมิตร เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทักษิณด้วยวิธีนอกระบบ ฯลฯ ได้สร้างความรู้สึก "อยุติธรรม" ให้กับคนเสื้อแดงอย่างไร

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การชุมนุมสาธารณะ (Public Assembly)

ฝ่ายพัฒนากฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ความนำ
     ปรากฏการณ์สำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นต้นมา ได้แก่ การจัดการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่จัดขึ้นกันหลายต่อหลายเวที จนทำให้การชุมนุมสาธารณะหรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า Public Assembly หรือ Public Demonstrations นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว ซึ่งนักวิชาการทั้งไทยและเทศหลายต่อหลายท่านให้ทรรศนะว่าเป็นนิมิตหมายอันดีเพราะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยของไทย ขณะเดียวกันก็ต้องชมเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างยอดเยี่ยมแม้จะมีเสียงบ่นอยู่บ้างว่า "ตำรวจก็ไม่ไหวแล้วครับ"

     อย่างไรก็ดี สภาพการชุมนุมสาธารณะในต้นปี 2549 มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลายปี 2548 มากพอสมควร โดยเปลี่ยนแปลงจากการชุมนุมในสวนสาธารณะ เป็นการเดินขบวน (Processions) ไปตามถนนหนทางและสถานที่ต่าง ๆ มากมายหลายแห่งทั้งในวันหยุดราชการและในวันธรรมดา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจราจรที่ติดขัดอย่างแสนสาหัสและปริมาณขยะในบริเวณสถานที่ชุมนุม นอกจากนี้ การชุมนุม ณ สถานที่หลายแห่งมีการปิดล้อมอาคารสาธารณะ มีการกั้นไม่ให้คนในออกไม่ให้คนนอกเข้า บางแห่งผู้ชุมนุมถึงกับเข้าตรวจค้นรถยนต์ส่วนบุคคลของผู้สัญจรเข้า-ออกอาคารสาธารณะที่ถูกปิดล้อมทีเดียว ซึ่งสองประการหลังนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการเดินทางและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวอย่างชัดเจน จนหลายท่านที่ไม่มีอารมณ์ร่วมกับการชุมนุมถึงกับตั้งคำถามว่าการชุมนุมสาธารณะนี้ควรมีขอบเขตกันบ้างหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน เพียงไร หรือจะปล่อยให้ทำอะไรกันก็ได้อย่างไม่มีขอบเขตตามสไตล์ "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้"

ข้อคิดต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากเวทีสาธารณะ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดเวทีสาธารณะว่าด้วย “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ” วันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่ห้องประชุม 12 ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีภาคประชาชนจากหลายเครือข่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอความเห็น

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2553

สาระร่างพระราชบัญญัติการชุมนุม สาธารณะ
พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวสรุปสาระร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอสู่สภาฯ ว่า พ.ร.บ.นี้จะบังคับเฉพาะการชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ ไม่มีองค์ประกอบด้านจำนวนว่าผู้เข้าร่วมจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นการชุมนุม อย่างไรก็ตาม มีองค์ประกอบคือ เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เปิดให้บุคคลอื่นเข้าฟัง เข้าร่วม สนับสนุนการชุมนุมได้ ส่วน "ที่สาธารณะ" หมายถึงที่ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมในการ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน


สำหรับการชุมนุมที่กฎหมายนี้ยกเว้น ได้แก่ งานพระราชพิธี งานศาสนา การแสดงกิจกรรมมหรสพ การชุมนุมในสถานศึกษา การชุมนุมตามกฎหมาย สัมมนาวิชาการ ข้อยกเว้นตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และการชุมนุมในสถานการณ์การเลือกตั้ง

การชุมนุมในที่สาธารณะที่เข้าองค์ประกอบข้างต้น ซึ่งจะกระทบความสะดวกของประชาชน ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ หรือบุคคลตามที่รัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ วิธีรับแจ้งไม่ได้ระบุใน พ.ร.บ. แจ้งก่อนจัดการชุมนุม 72 ชั่วโมง กรณีฉุกเฉินสามารถผ่อนผันได้ โดยผู้รับแจ้งต้องพิจารณาภายใน 24 ชั่วโมง หากขอผ่อนผันแล้วเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ โดยคำสั่งศาลเป็นที่สุด

การชุมนุมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสะดวกของประชาชน ซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมได้แก่ การชุมนุมสาธารณะที่ขัดขวางความสะดวกของประชาชนที่จะใช้หรือเข้าออกที่ สาธารณะนั้นตามปกติ หรือขัดขวางการให้บริการหรือใช้บริการท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีขนส่งสาธารณะ ระบบการขนส่งสาธารณะ หรือการสื่อสารสาธารณะอื่น หรือกีดขวางทางเข้าออกตามสถานที่ตามมาตรา 8 (การชุมนุมต้องห้ามตามกฎหมาย) ได้แก่ สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน ตลอดจนสถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ

มิติใหม่การชุมนุมทางการเมือง

ในระบอบประชาธิปไตย

"ตลาดนัดรัฐศาสตร์" วันที่ 14 มิ.ย. 2553
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(ประชาไท : ข้อมูลและภาพ)

จัดการเสวนาหัวข้อ “มิติใหม่การชุมนุมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กรณีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ” โดยวิทยากรประกอบด้วย ศ. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ผศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง และ รศ. อภิชาติ สถิตนิรมัย ดำเนินรายการโดย รศ. ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


รศ.อภิชาติ สถิตนิรมัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใครคือเสื้อเหลืองเสื้อแดง ผมทำวิจัยจากหมู่บ้านในจังหวัดนครปฐม หนึ่งหมู่บ้าน เป็นตัวอย่าง โดยการเก็บข้อมูลประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มาจากแบบสอบถาม 100 ชุด ไม่สามารถอ้างความเป็นตัวแทนทางวิทยาศาสตร์หรือมีนัยยะสำคัญทางสถิติใดๆ ทั้งสิ้น แต่เชื่อว่ามันเป็นตัวแทนที่ดีของหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งมีโปรเจ็กต์ต่อไป

กลุ่มคนที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลืองคือข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ และเกษตรกรรมเล็กน้อย มีการศึกษาสูงกว่าแดง จบปริญญาตรีขึ้นไป รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 31,000 บาท

ฝ่ายที่สนับสนุนเสื้อแดงคือ ลูกจ้างและเกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 17,000 บาท โดยสรุปคือเสื้อแดงไม่ใช่คนจนแต่จนกว่าเสื้อเหลือง ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมของเสื้อเหลืองคือมีงานประจำ มีการศึกษาและฐานะทางสังคมสูงกว่า

ประเด็นประชานิยมและความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเหลืองแดงอย่างไรบ้าง - จากการสำรวจในหมู่บ้านดังกล่าวพบว่าส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายเหลืองและแดงตอบว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง แต่คนที่เป็นเหลืองจัดตัวเองว่าเป็นคนจนถึง 26-27 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงคิดว่าตัวเองรวย ทั้งนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนเสื้อเหลืองมีทัศนคติต่อความว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและจนนั้นห่างมากจนรับไม่ได้มากกว่าเสื้อแดง

อย่างน้อยเราสรุปได้ว่าความคับข้องใจของคนเสื้อแดงไม่ได้อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขณะที่คนเสื้อเหลืองรู้สึกมากกว่า สรุปว่าความยากจนในเชิงภาวะวิสัย ไม่ใช่ปัญหาของคนเสื้อแดง คือตัวเลขรายได้เป็นหมื่นบาทต่อเดือน เส้นความยากจนของไทยปัจจุบันตกประมาณเดือนละพันกว่าบาทต่อเดือน คนเหล่านี้ไม่ใช่คนจนแน่นอน สองความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในทางอัตวิสัย เป็นปัญหากับเสื้อเหลืองมากกว่าเสื้อแดง พูดง่ายๆ ว่าเสื้อเหลืองไม่พอเพียงกว่าคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ เพราะเสื้อเหลืองคิดว่าตัวเองจนมากกว่าเสื้อแดง และเห็นว่าช่องว่างทางการกระขายรายได้สูงเกินไปจนรับไม่ได้มากกว่าคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองจึงไม่พอเพียงมากกว่าคนเสื้อแดง