เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

" ทาง 3 แพร่งที่ "ยิ่งลักษณ์" ต้องเจอ หนักกว่าทักษิณ

ปาฐกถา "เกษียร เตชะพีระ"


"รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณคงต้องรอมชอมกับชนชั้นนำเก่า
และเอาใจมวลชน เสื้อแดงไปพร้อมกัน
แต่หากต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง
รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณน่าจะโน้มไปทางรอมชอมกับชนชั้นนำเก่า"

วันที่ 8 กรกฎาคม รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ "บ้านเมืองเรื่องของเรา" วิพากษ์สังคมและการเมืองไทย พร้อมวิพากษ์แนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ ในงานสัมมนา “ขับเคลื่อนประเทศไทย ภายใต้บริบท เศรษฐกิจ สังคม ยุครัฐบาลใหม่” ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์

รศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งมีทิศทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนย้ายอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ จากชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไปสู่ชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (Power shift among the elites:From the unelected traditional elite  the elected political business elite) แสดงออกเป็นรูปธรรมผ่านความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำในระบบราชการและกลุ่มทุน เก่า ที่เป็นพันธมิตร ซึ่งมักเรียกกันว่า “อำมาตย์” กับกลุ่มทุนใหม่ที่เข้าสู่วงการเมืองโดยตรงขนานใหญ่ หลังวิกฤติต้มยำกุ้งผ่านพรรคไทยรักไทย (-พลังประชาชน และเพื่อไทย) ซึ่งมักเรียกว่า “ทุนสามานย์”

2.การเปลี่ยนผ่านจากการเมืองของชนชั้นนำไปสู่การเมืองของมวลชน (Transition from elite political  mass political) แสดงออกผ่านการปรากฏขึ้นและบทบาทโดดเด่นครอบงำสังคมการเมืองของขบวนการมวลชน ระดับชาติ 2 ขบวน ที่ก่อตัวโดยค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐบาล ได้แก่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) การเคลื่อนไหวต่อสู้ ขัดแย้งระหว่าง 2 ขบวนการ ภายใต้ร่มการนำหลวมๆ ของแกนนำ กำหนดให้การเมืองระยะที่ผ่านมา กลายเป็น “การเมืองเสื้อสี” หรือ “สงครามระหว่างสี”

3.การปรับเปลี่ยนระเบียบนโยบายเศรษฐกิจ จากนโยบายการพัฒนาที่ชี้นำโดยเทคโนแครต ไปสู่นโยบายการกระจายความมั่งคั่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังการเมือง (Chang of economic policy regime: From technocratically-guided development policy  politically-driven distributional policy) แสดงออกผ่านการปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องของ “การเมืองบนท้องถนน” หรือ “ม็อบ”

“เหล่านี้ทำให้แบบวิถีการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจแต่เดิม ซึ่งเปรียบประหนึ่ง เทคโน-แครตปิดห้องประชุมวางแผนกันเองตามหลักเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มทุนธุรกิจนั่งคอยล็อบบี้อยู่ข้างห้อง และมีกำลังทหารตำรวจล้อมวงเป็นรปภ. กันม็อบอยู่ภายนอก ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ปรับเปลี่ยนเป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจการเมืองต่างๆ กับทีมที่ปรึกษาเปิดห้องประชุมวางนโยบายเศรษฐกิจกันโดยพยายามปรับหาสมดุลที่ พอรับได้ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมของชาติกับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจ โดยมีกลุ่มข้าราชการเทคโนแครตนั่งคอยเสนอคำแนะนำทางเทคนิค กฎหมายและปฏิบัติตามอยู่ข้างห้อง และมีบรรดา ส.ส. ตัวแทนฐานเสียงกับม็อบสารพัดกลุ่มกดดันอยู่ภายนอก”

การจัดระเบียบอำนาจใหม่จึงส่งผลออกมาเป็นนโยบายประชานิยม – สวัสดิการเบื้องต้น ภายใต้ยี่ห้อสูตรผสมต่างๆ ของรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกชุดทุกฝ่าย อันจะประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยทางการเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป

ประจวบกับบริบทของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคก็เปลี่ยนแปลงไปในทางสอดรับกัน กล่าวคือ วิกฤตซับไพรม์ในอเมริกาและเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกนับ ทำให้ความไม่สมดุลระดับโลกของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับ อเมริกา (“จีเมริกา”: อเมริกานำเข้า/จีนส่งออก อเมริกาบริโภค/จีนอดออม ฯลฯ) ไม่อาจธำรงไว้ยั่งยืน

“ไทยในฐานะที่เข้าร่วมขบวน “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นหัวหน้า” ร่วมกับนานาประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ก็จำต้องปรับตัวตาม โดยค่อยๆ หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างกำลังแรงงานรายได้ดีขึ้นและสวัสดิการสูงขึ้น เพื่อเป็นฐานพลังผู้บริโภคและอุปสงค์ในประเทศแก่เศรษฐกิจไทย ชดเชยช่องทางที่ฝืดเคืองและตีบแคบลงของตลาดโลกตะวันตกที่เคยรองรับเศรษฐกิจ เพื่อการส่งออกแต่เดิม ดังที่ปรากฏประกอบอยู่ในแนวนโยบายหลักทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใหญ่ทุก พรรค ทุกฝ่ายในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางดังกล่าว ดำเนินไปผ่านวิธีการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.การดึงมวลชนเข้าร่วมการเมืองขนานใหญ่ ชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง คือ ฝ่ายชนชั้นนำ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องการรักษาระเบียบการเมืองแบบเดิมไว้ (กลุ่มเสื้อเหลือง) กับฝ่าย ชนชั้นนำทางธุรกิจการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องการสร้างระเบียบการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา (กลุ่มเสื้อแดง) ต่างก็กรุยทางให้มวลชนเข้ามาร่วมต่อสู้ข้างตนอย่างขนานใหญ่ด้วยกันทั้งคู่

2.การใช้วิธีการนอก/ผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายชนชั้นนำเก่า และฝ่ายชนชั้นนำใหม่ ต่างก็พบว่า เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตน ไม่อาจจำกัดวิธีการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองไว้ภายในกรอบ กติกา รัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฝ่ายจึงพร้อมจะล่วงละเมิดกฎกติกาและใช้วิธีการนอก ผิดรัฐธรรมนูญให้ได้มาซึ่งชัยชนะ อันเป็นที่มาของการรัฐประการ ตุลาการธิปไตย ก่อจลาจล ยึดทำเนียบ-สถานีวิทยุ-ดาวเทียม-สนามบิน-ย่านธุรกิจกลางเมือง ฯลฯ

3.การดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมืองในฐานะแหล่ง ความชอบธรรม ต่างไปจากประชาธิปไตย การเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ สะท้อนออกโดยการกล่าวอ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาเข้าข้างฝ่ายตนในบริบทการ ต่อสู้หักโค่นทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม พร้อมทั้งโจมตี กล่าวหา ฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างดกดื่นมากมายมหาศาล เป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“ตัวเลขของคดีที่ทำผิดมาตรา 112 ระหว่างปี 2535 - 2547 มีไม่ถึง10 คดี แต่ในช่วงที่มีความรุนแรงพบว่ามีปีละ100 กว่าคดี ซึ่งผลลัพธ์รวมของปฏิบัติการฉวยโอกาสทางการเมืองเหล่านี้ทำให้สถานะที่อยู่ เหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์กระทบกระเทือน ซึ่งที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุดของสถาบันกษัตริย์ คือ ตั้งอยู่กับประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ”

ปฏิบัติการเหล่านี้ส่งผลให้ระเบียบการเมืองเก่าหรือระบอบความเป็นไทย เสื่อมถอยลง เกิดปรากฎการณ์ อำนาจนิยมของฝ่ายรัฐ-รัฐบาล ควบคู่กับ อนาธิปไตยบนท้องถนน ตลอดระยะรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ไม่ว่าฝ่ายใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่างก็ใช้กฎหมายและกลไกเครื่องมือเผด็จอำนาจ จำกัดสิทธิเสรีภาพและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยมทารุณและไม่พร้อมรับ ผิด เช่น พรก.พ.ศ.2548 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กม.อาญา ม.112 ฯลฯ

รธน.ฉบับวัฒนธรรมไทยใหม่ในยุคการเมืองมวลชน

แนวคิดที่ค่อนข้างรู้จักแพร่หลายในวงวิชาการไทยและเหมาะกับการปรับ ประยุกต์มารับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงแบบเฉพาะที่เราเผชิญอยู่ คือ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอไว้อย่างเฉียบแหลมเป็นระบบเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

“ผมคิดว่าเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยใหม่สำหรับยุคการเมืองมวลชนปัจจุบัน ซึ่งมีแก่นสารสำคัญที่มุ่งทำให้รัฐและการเมืองมวลชนเป็นอารยะหรือศิวิไลซ์”

ทว่า พฤติกรรมที่เป็นจริงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนของฝ่ายต่างๆ รอบหลายปีที่ผ่านมาทำให้ประจักษ์ชัดว่าลำพังการเรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจ อย่างศิวิไลซ์ฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่เพียงพออีกต่อไป จำต้องเรียกร้องให้ขบวนการการเมืองของมวลชนทุกสีทุกฝ่ายเคลื่อนไหวอย่าง ศิวิไลซ์ด้วย

โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ที่จำต้องปรับปรุงใหม่ให้ตอบรับกับยุคการเมืองมวลชนมีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

1.ถือความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมไทย เฉกเช่นเดียวกับโฆษณาทีวีผลิตภัณฑ์รักษาสิว ที่มีประโยคว่า “สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ” จึงอยากให้คนไทยตระหนักดังๆ ได้แล้วว่า “ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ” เพราะความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติพอๆ กับความรู้รักสามัคคี สนิทสนมกลมเกลียว ดังนั้น การยึดมั่นถือมั่นว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องผิดปกติ หรือไม่ธรรมชาติ ก็เปรียบเหมือนการหวาดระแวง เกลียดชัง “สิว”

“ไม่ค้นคว้าเข้าใจสมุฏฐาน หรือเหตุแห่ง “สิว”แก้ไขรักษาผิดๆ ถูกๆ อับอายที่เป็น เกิดปมด้อย พยายามปิดอำพราง เก็บกดกำราบ สุดท้ายก็เที่ยวไล่บี้จนเกิดอาการอักเสบบวมปูด กระทั่งเกิดรอยแผลเป็นปรุพรุนไปทั้งหน้า เฉกเช่น บ้านเมืองของเราในช่วงความรุนแรงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่า เราสิวแตก ใบหน้าปูดบวม”

2.ปฏิเสธเป้าหมายสุดขั้วสุดโต่งทางการเมือง เช่น สงครามครั้งสุดท้าย กวาดล้างทุจริตคอรัปชั่นให้หมดไปจากแผ่นดินแบบม้วนเดียวจบ ขอนายกฯ พระราชทาน ระบอบแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 70 หรือกระทั่งระบอบที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่แม้จะแหลมคมชัดเจนและสะใจมวลชนโดยเฉพาะ เวลาขึ้นไฮด์ปาร์คบนเวที ซึ่งก็คือการถือไมค์ประกาศความคิดเห็นของตัวเองดังสนั่นลั่นถนนอยู่ข้าง เดียว โดยไม่มีใครเถียงได้ นานๆ เข้าก็ชักเคลิ้มว่านั่นคือ “สัจธรรม” แต่ลักษณะนี้มันสุดโต่งขัดฝืนโครงสร้างอำนาจ-ความรู้สึก พื้นฐานทางประวัติศาสตร์และความเป็นจริงของสังคมการเมืองเกินไป

“ผลที่ตามมาจะทำให้ โดดเดี่ยวตัวเอง ไล่มิตร เพิ่มศัตรู เมื่อทำไม่ได้จริงมวลชนก็จะอกหักผิดหวังในราคาคุย ท้อแท้เสื่อมถอย การเมืองแบบสุดโต่งที่มุ่งหวังสิ่งดีงามที่ตัวเองเชื่อ เป็นการทำลายล้างสิ่งดีงามอื่นๆ ทั้งหมด สุดท้ายสิ่งดีงามที่เคยอวดอ้างก็ไม่ได้มาจริง หรือไม่ได้เป็นสิ่งดีงามที่แท้จริง ชัยชนะใดที่ได้มา แม้ฮึกเหิม แต่ก็แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา เพราะคับแคบด้านเดียว ขัดฝืนความเป็นจริงและไม่ยั่งยืนอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราวแล้วหดฝ่อไป”

3.วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย หากเป้าหมายที่ถูกต้องดีงาม เช่น ประชาธิปไตย ปราบคอรัปชั่น ปราบยาเสพติด แต่ใช้วิธีการที่ผิดหรือเลวทรามต่ำช้าอย่างไรก็ได้ไม่เลือก เช่น รัฐประหาร สองมาตรฐาน ฆ่าตัดตอน ผลลัพธ์ในบั้นปลายไม่มีทางจะออกมาดีงามตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ ถ้าไม่เชื่อก็เบิ่งตาดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองที่มาจากวิธีการแย่ๆ สารพัดที่ใช้อย่างสิ้นคิดในหลายปีหลังนี้ว่า “ได้อะไรมาบ้าง เสียอะไรไปบ้าง และเหลืออะไรอยู่บ้าง”

4.เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนโดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำไมบุคคลที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจึงต้องเกลียดชัง เคียดแค้น ดูหมิ่น เหยียดหยามกันราวกับว่าอีกฝ่ายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ผู้ไม่ใช่คน วัฒนธรรมการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งอยู่ในหมู่คนด้วยกันที่ถือว่าเป็น สัตว์ประเสริฐ และอารยชน

แต่น่าเสียดายที่ในบ้านเราวัฒนธรรมดังกล่าวเสื่อมถอยลงมาก ถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมสร้างเสริมพอกพูนความเกลียดชังในหมู่มวลชน เมื่อเห็นฝ่ายตรงข้ามล้มหายตายจาก ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เท่ากับปล่อยให้เส้นแบ่งข้างแบ่งสีแบ่งฝ่ายกลายเป็นเส้นขีดคั่นความเป็นคน และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนไป ถ้าไม่ลบเส้นแบ่งนั้น ก็คงยากที่การเมืองมวลชนจะเป็นแบบศิวิไลซ์

รบ.โคลนนิ่งทักษิณเผชิญกับทาง 3 แพร่ง

รัฐบาลผสมใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และกำลังฟอร์มตัวขึ้นสู่อำนาจก็อยู่ท่ามกลางบริบทแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ใหญ่ ดังที่กล่าวมาข้างต้น และในฐานะที่ประกาศตัวอย่างเปิดเผยชัดเจนแต่แรกว่ารัฐบาลใหม่นี้เป็นรัฐบาล “โคลนนิ่งทักษิณ”

รัฐบาลใหม่ก็อาจคิดและทำผิดพลาด เพลี่ยงพล้ำ ซ้ำรอยรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลนอมินีทักษิณแต่เดิม จนประสบความล้มเหลวในการรับมือและฟันฝ่ากระแสแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ กำลังเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ฐานะ และบทบาทางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลทักษิณ จัดเป็นรัฐบาลเสรีนิยมใหม่รุ่นสอง หรือที่เรียกว่า เสรีนิยมใหม่เชิงสังคม/ชดเชย ปรับแนวนโยบายให้เข้ากับความเป็นจริงของการเมืองเลือกตั้ง แบบประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องความชอบธรรมที่กว้างไปกว่าหลักการตลาดเสรี และต้องการแรงสนับสนุนของประชาชน ผ่านการสร้างนโยบายสัญญาประชาคมใหม่แบบประชานิยม (populist social contracts) นำเสนอสิทธิความเสมอภาคแบบใหม่ เปลี่ยนจากสิทธิจะมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ เป็นสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเสมอภาคในการเข้าถึงตลาด นโยบายประชานิยมต่างๆ

เสรีนิยมใหม่ของรัฐบาลทักษิณ จึงไม่ใช่เสรีนิยมใหม่หรือตลาดเสรีบริสุทธิ์ มีทั้งแง่มุม เชิงสังคมและเชิงอุปถัมภ์กลุ่มทุนพวกพ้อง จึงถูกต่อต้าน คัดค้านจากพลังหลายฝ่าย เช่น พลังฝ่ายขวาภาครัฐหรืออำมาตย์ พลังฝ่ายซ้ายตลาดเสรี (TDRI) และพลังฝ่ายซ้ายที่ต้องการกระจายอำนาจและทรัพยากรออกไปจากภาครัฐและทุนมาให้ ภาคประชาชน (สมัชชาคนจน) ซึ่งตราบใดที่รัฐบาลใหม่โคลนแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่เชิงสังคมและโลกาภิวัตน์ แบบลำเอียงเข้าข้างทุนนิยมพวกพ้อง ตราบนั้นก็คงจะเผชิญกับพลังคัดค้าน ต่อต้าน 3 ฝ่ายดังกล่าวอีก

ในความหมายนี้ รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณน่าจะเผชิญกับทางแพร่ง ด้านแนวนโยบายใหญ่ๆ 3 ประการ คล้ายกับรัฐบาลทักษิณต้นแบบด้วย คือ

แพร่งที่ 1 ระหว่างประชาธิปไตยกับหลักนิติธรรม หรือทางแพร่งระหว่างอาญาสิทธิ์ที่ได้มาจากมติเสียงข้างมากของประชาชนในการ เลือกตั้ง กับการจำกัดอำนาจรัฐไว้ให้อยู่ในกรอบที่ไม่ไปล่วงละเมิดรับธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลและเสียงข้างน้อย รวมทั้งเหล่าสถาบันตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ โดยมีศาลตุลาการอิสระเป็นกรรมการคุมเส้น ซึ่งทางแพร่งนี้แสดงออกอย่างรวมศูนย์เป็นรูปธรรมในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แพร่งที่ 2 ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเครือข่ายกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทางแพร่งนี้แสดงออกอย่างรวมศูนย์เป็นรูปธรรมในปัญหาการทวงคืนทรัพย์สินของ คุณทักษิณและญาติมิตรที่ถูกรัฐยึดไป

แพร่งที่ 3 ระหว่างความจำเป็นสองด้านที่ต้องทั้งหาทางรอมชอม ปรองดองกับชนชั้นนำเก่า กับตอบสนองความเรียกร้องต้องการของฐานมวลชนเสื้อแดง ซึ่งทำให้รัฐบาลใหม่ตกอยู่ในแรงกดดัน 2 ด้านที่หนักหน่วงรุนแรงกว่ารัฐบาลทักษิณ

รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณคงต้องรอมชอมกับชนชั้นนำเก่าและเอาใจมวลชนเสื้อแดง ไปพร้อมกัน แต่หากต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณน่าจะโน้มไปทางรอมชอมกับชนชั้นนำเก่า แทนที่จะตอบสนองมวลชนเสื้อแดงอย่างเต็มที่

“น่าจะหยิบยื่นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องหลักสำคัญที่สุดแก่มวลชนเสื้อ แดงอย่างใจกว้าง เช่น ให้ตำแหน่ง ยกย่องสดุดีหรือชดเชยค่าเสียหายแก่ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความ รุนแรงที่ผ่านมา ซึ่งแพร่งนี้แสดงออกเป็นรูปธรรมชัดเจนและแหลมคมที่สุดในปัญหาความจริง ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อกรณี 92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต 2553 นั่นเอง”

สำหรับข้อเสนอต่อการ “ปรองดอง” มี 3 ประการที่รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณควรให้ความสำคัญ 1.สำหรับทุกพรรค ทุกฝ่าย สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรองดองสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ “การปรองดองกับประชาธิปไตย” สร้างความเข้าใจร่วมกันว่า ต้องอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยให้ได้

2.การปรองดองที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ “การปรองดองกับหลักนิติธรรม” ต้องไม่ใช่อำนาจเกินเลย ไม่กลายเป็นอำนาจนิยมเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ เพราะประชาธิปไตยอำนาจนิยม (การเลือกตั้ง) ที่ใช้อำนาจอย่างไม่จำกัดมาล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็จะเป็นการผลักประชาชนไปสู่ทางออกที่เรียกว่า “รัฐประหาร”

3.สำหรับวิธีการปรองดองกับกลุ่มคนที่เรียกร้องรัฐประหารอยู่ตลอด ต้องไม่ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลายเป็นวีรชน ด้วยการไปรังแกหรือข่มเหงเขา แต่ควรทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลายเป็นตัดตลกมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา