เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเมืองการปกครองของไทยจะไปทางไหน ?

การเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อมนุษย์ เพราะเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ คือ ถ้าไม่อยู่ในฐานะผู้ปกครองก็จะอยู่ในฐานะผู้ถูกปกครอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองตามอัตภาพของตน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปรับตัวอยู่ได้และมีประโยชน์ต่อสังคมและการเรียนรู้ทางการเมืองก็มิใช่ว่าจะเรียนได้เฉพาะที่จัดไว้เป็นหลักสูตรในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวอีกหลายทาง เช่น จากตำรา สื่อสารมวลชน วารสารประชาสัมพันธ์ ครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อนและที่ทำงานเป็นต้น

ความหมายการเมืองการปกครอง
การเมืองการปกครองหรือรัฐศาสตร์หรือศาสตร์แห่งรัฐ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Political Science เป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ นักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ทั้งหลายอาจจะแยกวิชาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

ประการหนึ่งมีลักษณะเป็นศาสตร์ (Science) คือเป็นความรู้ทางวิชาการด้านการเมืองการปกครอง ประการที่สองมีลักษณะเป็นศิลป์ (Arts) วิชารัฐศาสตร์จึงกลายเป็นวิชาที่ประยุกต์เอาลักษณะที่เป็นศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน แล้วนำเอาวิชาการนี้มาใช้ปกครองประเทศ และในขณะเดียวกันวิชาการเมืองการปกครองนี้อาจจะถูกบุคคลบางกลุ่มมองภาพในทางที่ไม่ดี คือ อาจจะมองไปว่าการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสกปรก โหดร้ายทารุณ เข่นฆ่า มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นเรื่องของคนมีเงิน มีการศึกษาและคนที่ใฝ่หาความเป็นใหญ่ แต่สภาพที่เป็นจริงแล้วการเมืองการปกครองเป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคมจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ไม่เป็นเรื่องที่น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่ว่า ถ้ามีความเข้าใจที่ดีและนำมาใช้ให้ถูกต้องตามกระบวนการ เพราะวิชาการเมืองการปกครองนั้น เป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ที่ผู้ปกครองประเทศจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยรวมทั้งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังนั้นเพื่อที่ให้ผู้ศึกษาได้รู้ความหมายอันลึกซึ้งของรัฐศาสตร์ จึงขอนำเอาคำนิยามของนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ทั้งหลายมากล่าวดังต่อไปนี้

Plato นักปราชญ์ทางการเมืองศิษย์ของท่าน Socrates ท่านได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม แต่เล่มที่สำคัญที่สุดคือ อุดมรัฐ (The Republic) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ Plato ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองไว้ว่า “การเมืองคือการอำนวยความยุติธรรมแก่คนทั้งปวง”
Aristotle ได้อธิบายเรื่องการเมือง ในหนังสือ politics ของท่านไว้ว่า การเมืองย่อมเกี่ยวพันกับอำนาจ อำนาจทางการเมืองจะต้องแตกต่างจากอำนาจอื่น องค์การทางการเมืองจะต้องมีอำนาจปกครองเป็นอธิปัตย์ หน่วยการบริหาร (รัฐบาล) แห่งองค์การทางการเมืองจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในกิจกรรมต่างๆ ทุกกรณี ดังนั้นคุณลักษณะของการเมืองจึงกอปรด้วยปัจจัยเด่นชัดอย่างน้อยสองประการคือ อำนาจ (Authority) และการปกครอง

Bernard Crick ให้ความหมายไว้ว่า รัฐศาสตร์เป็นเรื่องของการรวบรวมเอาผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน มารวมไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อความผาสุกของคนในทุกกลุ่ม

Harold D. Lasswell and Abraham Kaplan ได้กล่าวว่า การเมืองเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการใช้อิทธิพล และศึกษากลุ่มคนที่มีอิทธิพลในสังคม

David Easton กล่าวว่า รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเลือกสรรสิ่งที่ดีให้คนในสังคมได้อยู่กิน ใช้อย่างมีคุณภาพ

Max Weber ได้ให้ความหมายไว้ว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มในสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจวาสนา

Aristotle กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มนุษย์จะหลีกเลี่ยงการเมืองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนใ
นชุมชน
Jerame Bentham ได้อธิบายไว้ว่า การเมืองเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถที่จะบรรลุผลประโยชน์ส่วนตัวร่วมกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้ โดยยึดถือหลักคำนวณความผาสุก

จากความหมายและคำจำกัดความของรัฐศาสตร์หรือการเมืองการปกครองที่นักปราชญ์ทั้งหลายได้ให้ไว้นั้น จะเห็นได้ว่า การเมืองการปกครองมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานในแต่ละสังคม เช่น ประชากร สภาพภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศ และทรัพยากร เป็นต้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมของตน ถ้ากลุ่มชนใดหรือรัฐใดมีความสามารถนำทฤษฎีการปฏิบัติในรัฐศาสตร์มาทำให้กลุ่มชนในรัฐเกิดความพอใจ มีความสงบสุข ถือว่ารัฐนั้นได้บรรลุเป้าหมาย

ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าจะกล่าวโดยสรุปในเนื้อหาสาระที่สำคัญของความหมายของรัฐศาสตร์หรือการเมืองการปกครองนั้นจะได้ดังนี้
1. การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจการปกครอง
2. การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์
3. การเมืองการปกครองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับรัฐ
4. การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของการต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจ และผลประโยชน์
5. การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของผู้ปกครองและผู้ใต้การปกครอง

ความหมายและความสำคัญของ การเมือง
ในข้อความที่กล่าวถึงคำจำกัดความ และความหมายของรัฐศาสตร์นั้น มีคำอีกคำหนึ่งที่ในรัฐศาสตร์กล่าวถึงคือ คำว่า การเมือง ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Politics สำหรับความหมายของคำว่า การเมือง นั้น ได้มีนักปราชญ์และนักรัฐศาสตร์หลายท่าน ให้คำนิยาม ไว้แตกต่างกันออกไป ตามทัศนของแต่ละท่าน ซึ่งในที่นี้จะขอรวบรวมไว้พอเป็นแนวทางในการศึกษา ดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2525 อธิบายว่า “ การเมือง คืองานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมืองได้แก่วิชาที่ว่าด้วยรัฐการจัดส่วนแห่งรัฐ และการดำเนินการแห่งรัฐ “

สังข์ พัธโนทัย อธิบายว่า การเมือง คือศิลปศาสตร์การปกครอง ซึ่งมุ่งให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐกับบุคคลในรัฐ ระหว่างรัฐกับหัวเมืองต่างๆ และระหว่างรัฐกับรัฐ การเมืองจึงเป็นทั้งกิจการภายในประเทศและการต่างประเทศ การเมืองเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายและการปกครองเป็นฝ่ายดำเนินการตามนโยบายนั้น

อริสโตเติล ได้อธิบายว่า การเมืองย่อมเกี่ยวพันกับอำนาจ และอำนาจทางการเมืองจะต้องแตกต่างจากอำนาจอื่น องค์กรทางการเมือง จะต้องมีอำนาจปกครองเป็นอธิปัตย์คุณลักษณะทางการเมืองประกอบด้วยปัจจัยที่เด่นชัด 2 ประการ คือ อำนาจ (Authority) และการปกครอง (Ruling) (จรูญ สุภาพ 2514:2)

ในทัศนะของนักรัฐศาสตร์ฝ่ายพฤติกรรมการเมือง (Political Behaviorist) มีความเห็นว่า การเมือง คือการต่อสู้เพื่อแสวงหาอำนาจ (Struggle for Power) หรือเพื่อที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น การเมืองโดยนัยนี้มีความหมายสองประการคือ

1. การเมืองเป็นการต่อสู้เพื่อแสวงหาอำนาจ อำนาจในที่นี้หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งหรือหลายคนมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของบุคคลอื่น
2. การเมืองเป็นการต่อสู้ในอันที่จะปกครองซึ่งกันและกัน และการต่อสู้นั้นจะมีกฎเกณฑ์หรือไม่มีก็ได้ แต่ก็มีเป้าหมายที่จะดูแลจัดการให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ฮาโรลด์ ดี ลาสเวลล์ (Harold D Lasswell) มองการเมืองว่าเป็นเรื่องของอิทธิพลและผู้ทรงอิทธิพล โดยเน้นในเรื่องของใคร ได้อะไร ได้เมื่อไร และอย่างไร และผู้ทรงอิทธิพลตามความเห็นของลาสเวลล์ คือผู้ที่สามารถได้รับหรือกอบโกยสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ในสังคมอันได้แก่ อำนาจ ความเคารพนับถือ ความนิยมชมชอบ ความยุติธรรม ความอยู่ดีกินดี ความมั่นคง ชำนาญ และความรอบรู้ได้มากที่สุด

“ การเมือง เป็นศาสตร์และศิลป์ของการปกครอง และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการงานสาธารณะ “

ฮันส์ เจ มอร์เกนเธา (Morgenthau) กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อการมีอำนาจ

เชลดอน เอส โวลิน(Wolin ) ให้คำจำกัดความของศัพท์ การเมืองว่า “ การเมืองเป็นกิจกรรมที่มีจุดสนใจอยู่ที่การแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการแข่งขันกันในระดับบุคคล, กลุ่มคนต่อกลุ่มคน และสังคมต่อสังคม “

เดวิด อีสตัน (Easton )ได้ให้คำจำกัดความศัพท์การเมืองว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ(Power) อำนาจหน้าที่ (Authority) หรือความขัดแย้ง (Conflict)

วิลเลี่ยม บลุมห์ (Bluhm )อธิบายว่า การเมืองเป็นกระบวนการทางสังคม ในรูปของกิจกรรมที่มีทั้งการแข่งขันและการร่วมมือ ในการใช้อำนาจ

สรุปแล้ว การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพันกับอำนาจและการปกครอง ไม่ว่าสภาวการณ์ใดหรือสถาบันใด หากมีการต่อสู้แข่งขันกัน เพื่อแสวงหาอำนาจที่เหนือกว่ากันแล้ว ก็เป็นการเมืองทั้งสิ้น นอกจากนี้ การเมืองยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครอง การดูแล จัดการให้มนุษย์อยู่กันอย่างเป็นธรรมและเป็นระเบียบ การเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ดี งาม เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการปกครอง ซึ่งสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับศิลปะและศาสตร์สาขาอื่นที่มีอยู่ในโลก

เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งต่อบุคคล ต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ทั้งนี้เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ดังที่อริสโตเติล กล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง อีกทั้งการเมืองยังเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับอำนาจและการแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆในสังคม ถ้ารัฐใด ประเทศใดมีระบบการเมืองที่ดี มีสถาบันทางการเมืองที่มั่นคง มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ รัฐนั้น ประเทศนั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง และพัฒนาก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา