นักปรัชญาชายขอบ
ทำไมความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด มีสมาชิกพรรคที่ดูดีมีคุณภาพที่สุด (อย่างน้อยในสายตาคนกรุงเทพฯ คนภาคใต้ที่ว่ากันว่ามีความตื่นตัวทางการเมืองสูงกว่าภาคอื่น) จึงไม่ได้ช่วยให้ประชาธิปัตย์เอาชนะคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ คุณทักษิณเองก็เป็นนักการเมืองหน้าใหม่เมื่อเทียบกับคุณอภิสิทธิ์ และขนาดคุณทักษิณกลับเข้าประเทศไม่ได้ แค่ส่งคุณยิ่งลักษณ์ที่ไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนเลยลงต่อสู้ก็ทำให้คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์แพ้อย่างหมดรูปผมคิดว่าหากประชาธิปัตย์ไม่ยอมทบทวนตัวเองอย่างตรงไปตรงมา และอย่างจริงจังในประเด็นหลักๆ (อย่างน้อย) ต่อไปนี้ ประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านตลอดไป
1.ตามไม่ทันการแข่งขันเชิงนโยบายและความเป็นนักบริหารแบบมืออาชีพ จะเห็นว่าการแข่งขันเชิงนโยบายและนักบริหารมืออาชีพ คือยุทธศาสตร์หลักในการหาเสียงของคุณทักษิณตั้งแต่เขาลงเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลสมัยแรก ทำให้นโยบายและความเป็นนักบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นรองในทันที แม้ต่อมาจะพยายามแข่งนโยบาย วิสัยทัศน์ สร้างภาพลักษณ์นักการเมืองรุ่นใหม่อย่างคุณอภิสิทธิ์ แต่ก็ยังตามไม่ทันคุณทักษิณ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ยิ่งสะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยทางนโยบาย ภาวะผู้นำ และความเป็นนักบริหารมืออาชีพอย่างชัดเจน
ประชาธิปัตย์อาจต้องกลับไปทบทวนเรื่องนโยบายอย่างหนัก และต้องสามารถสร้างนโยบายก้าวหน้า ขึ้นมาแข่ง เช่น ไปทำนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน และมีขั้นตอนการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
ส่วนนักบริหารมืออาชีพอาจต้องดึงคนเก่งเข้ามาในพรรค ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่ออย่างคุณชวน หลีกภัย ที่ว่า “ความเป็นนักการเมืองมืออาชีพ จะทำให้บริหารประเทศได้อย่างมืออาชีพ” เพราะนักการเมืองมืออาชีพอย่างสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีมากแล้ว แต่นักการเมืองมืออาชีพเหล่านั้น (แม้แต่คุณชวน) ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักบริหารมืออาชีพเทียบเท่าคุณทักษิณได้เลย
2. ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์โจมตีคู่แข่งว่าไม่ซื่อสัตย์ในความหมายของการทุจริตคอร์รัปชัน ซื้อเสียง กระทั่ง “ใช้เงินซื้อประเทศ” ฯลฯ แต่ในความขัดแย้งกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้มองเห็นแล้วว่า (ยืนยันโดยผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา) ความไม่ซื่อสัตย์ที่ก่อความเสียหายแก่ประเทศมากยิ่งกว่าการโกง คือ “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ”
ประชาธิปัตย์อ้างหลักการเสมอ แต่กลับไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ เช่น อ้างหลักการตรวจสอบจนกระทั่งไปขอเสียง ส.ส.จากพรรคไทยรักไทยเพื่อเปิดอภิปรายคุณทักษิณ ซึ่งถ้าอภิปรายแล้วทำให้สังคมเชื่อว่าคุณทักษิณมีความผิดตามข้อกล่าวหาจริง ผลของการอภิปรายก็คือคุณทักษิณลาออกหรือยุบสภา คุณทักษิณไม่ให้ เสียง ส.ส.ของเขาไปสนับสนุนให้ประชาธิปัตย์เปิดอภิปราย แต่ตัดสินใจยุบสภาไปเลย ซึ่งเท่ากับลงโทษตัวเองในทางการเมืองไปแล้ว
แต่เมื่อประกาศเลือกตั้งใหม่ให้ทุกพรรคการเมืองต่อสู้ตามกติกาประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์กลับบอยคอตการเลือกตั้งและชวนพรรคอื่นให้บอยคอตด้วย ต่อมาเมื่อการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ คุณทักษิณเสนอให้เลือกตั้งใหม่ คุณอภิสิทธิ์กลับเสนอ มาตรา 7
มันจึงเป็นการสะท้อน “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” ซึ่งในที่สุดมันเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการเมืองไม่สามารถหาทางออกได้โดยกระบวนการประชาธิปไตย จนนำไปสู่การสนับสนุนให้ใช้วิธีการรัฐประหาร 19 กันยา 49
เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 ประชาธิปัตย์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ต่อมากลับตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายรัฐประหาร โดยกองทัพและอำมาตย์ นี่คือความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยที่ทำให้เครือข่ายรัฐประหารกระชับอำนาจของฝ่ายตนเอาไว้ได้อย่างหนาแน่นจนเป็นอุปสรรคที่ยากยิ่งต่อ “การเปลี่ยนผ่าน” สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยืนยันหลักเสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริง
นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ยังคัดค้านการนิรโทษกรรมคุณทักษิณด้วยการอ้างหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ขัดแย้งในตัวเองอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเมื่อคุณบอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่กลับยอมรับกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหาร เท่ากับยอมรับว่ารัฐประหารสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรมขึ้นมาได้
หรือการค้านนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารและถูกใช้กลไกรัฐประหารเอาผิด ก็เท่ากับคุณกำลังปกป้องหลักนิติรัฐ นิติธรรมของรัฐประหาร ทั้งที่คุณบอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร นี่คือ “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” ที่สะท้อนวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์!
3. การไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการฆ่า 91 ศพ โดยพยายามอธิบายแบบ “ลอยตัวเหนือปัญหา” ว่าฝ่ายตนไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ใช่เงื่อนของความแตกแยก เป็นเพียงผู้รักษากฎหมายและอาสามานำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า
แต่ความจริงก็คือ เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสั่งสลายการชุมนุมของประชาชนที่มาขอการเลือกตั้งด้วย “กระสุนจริง” เป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดีที่จะรักษากฎหมายด้วยการสังหารประชาชนที่มาขอการเลือกตั้ง แม้คุณจะไม่เห็นด้วยที่คนเสื้อแดง “สู้เพื่อทักษิณ” เท่านั้น (ตามข้อกล่าวหาของคุณ) แต่คุณก็ต้องเคารพแนวทางการต่อสู้ของพวกเขาที่ขอต่อสู้บนเวทีการเลือกตั้งตาม “วิถีทางประชาธิปไตย” เท่านั้น ด้วยแนวทางการต่อสู้เช่นนี้ไม่ว่าจะคิดด้วยเหตุผลในแง่มุมใดๆ มันไม่ควรจะถูกตอบโต้ด้วยลูกปืน
ฉะนั้น การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงมันจึงเป็นนโยบายที่ผิดพลาดที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ประชาธิปัตย์นอกจากลอยตัวไม่รับผิดชอบใดๆ แล้วยังกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย ล้มเจ้า และฆ่ากันเอง สะท้อนถึงพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมของพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศที่ประกาศว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
จากรัฐประหาร 49 มันมาถึง 91 ศพ ได้อย่างไร? หากประชาธิปัตย์ไม่ทบทวนตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าควรมีส่วนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร ก็เท่ากับประชาธิปัตย์ได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดไป
หากประชาธิปัตย์ไม่ทบทวนตัวเองอย่างหนักในปัญหาหลักๆ อย่างน้อย 3 เรื่องดังกล่าวนี้ คงยากยิ่งที่จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นคู่แข่งที่เทียบเท่ากับพรรคเพื่อไทยได้ ยกเว้นว่าในอนาคตพรรคเพื่อไทยอ่อนแอ เพลี่ยงพล้ำต่ออำนาจนอกระบบ หรือไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย แตกกันเอง หรือแพ้ภัยตนเอง
แต่หากประชาธิปัตย์จะกลับมาชนะพรรคเพื่อไทยได้อีกเพียงเฉพาะเมื่อเวลาที่พรรคเพื่อไทยอ่อนแอ หรือถูกทำให้อ่อนแอเท่านั้น ชัยชนะเช่นนั้นก็คงไม่มีคุณค่าอะไรต่อประเทศและพรรคประชาธิปัตย์เอง
มันจะเป็นเพียงชัยชนะที่สะท้อนความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ และความพ่ายแพ้ของประเทศ เหมือนชัยชนะในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เพิ่งผ่ามา ซึ่งกลายเป็น “ตราบาป” ตลอดไป!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา